Thursday, July 30, 2009

10 ความคิดที่เปลี่ยนโลก

HTML clipboard
-->10 ความคิดที่เปลี่ยนโลก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat


ศึกษาและเรียบเรียง

Updated: Tuesday, July 28, 2009
Keywords: Cw00a, บันทึกการศึกษา, อนาคตศึกษา

ความนำ

ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาประสบวิกฤติการทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2008 และต่อเนื่องในปี ค.ศ. 2009 มีการเลือกตั้งที่ทำให้ได้ผู้นำที่เป็นชนผิวสี คือ Barrack Obama ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่กำเนิดประเทศในปี ค.ศ. 1776 อเมริกาต้องสำรวจตัวเอง แสงหาทางเลือกใหม่ สิ่งที่เคยคิดและปฏิบัติมาโดยคิดว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องนั้น อาจไม่ใช่อีกต่อไป

จากแนวคิดที่รัฐบาลที่ดี คือ รัฐบาลที่เล็กที่สุด ทำหน้าที่เท่าที่จำเป็น แต่เมื่อยามวิกฤติ สหรัฐเองก็ต้องหาทางออกที่ไม่ต่างอะไรจากการใช้เศรษฐกิจกึ่งสังคมนิยม (Semi Socialism) ธนาคารและสถาบันการเงินที่ประสบวิกฤติ และต้องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง เมื่อรัฐบาลกลางโดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็ทำให้รัฐบาลกลาง (Federal Government) ต้องเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ บางแห่งกว่าร้อยละ 60 อุตสาหกรรมรถยนต์ที่สหรัฐเคยเป็นเจ้าของบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 1-3 บริษัทเหล่านี้ ท้ายสุดต้องถูกทำให้มีขนาดเล็กลง ขายทิ้งกิจการบางส่วน หรือประกาศล้มละลาย แล้วเกิดการตั้งบริษัทรถยนต์ใหม่ ทีมีขนาดเล็กลงมาก และมีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาสร้างความแข็งแกร่ง

ในยุคปัจจุบัน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาบริหารธุรกิจ อย่างที่เขาเรียกว่า Business Schools หรือ B-Schools ก็ต้องกลับมาสำรวจแนวคิด ทุนนิยมใหม่ (Neo Capitalism) ตลอดจนแนวคิด ตลาดทุนเสรี การเงินเสรี การค้าเสรี ล้วนต้องมีการตรวจสอบความคิดในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมานี้กันใหม่ทั้งสิ้น

ในปัจจุบันนี้จึงต้องมีการระดมความคิดจากนักวิชาการและปัญญาชนหลายๆแขนง และนำเสนอทางเลือกใหม่แก่ประเทศ และแก่โลก และที่น่าสนใจที่จะติดตาม ตรวจสอบ ประการหนึ่ง คือ การศึกษา แนวคิด 10 ประการที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบัน หรือ “10 Ideas Changing the World Right Now - The global economy is being remade before our eyes. Here’s what’s on the horizon, ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Time, ฉบับวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2009 (March 23, 2009) ความจริงการนำเสนอนี้แม้จะตีพิมพ์ลงในนิตยสารไทม์ฉบับพิเศษ คนอ่านสักระยะแล้วก็ผ่านไป และจะมีฉบับใหม่ๆ มานำเสนอในเรื่องที่เป็นประเด็นแต่ละช่วงเวลา แต่แนวคิด 10 ประการที่เขาได้นำเสนอนี้ ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่เราน่าจะลองนำมาศึกษา และให้ถือว่ามองเขาแล้วให้มองย้อนมาที่ตนเอง เพราะประเทศไทยเรานั้น มักจะมีลักษณะนำความคิดของเขามาใช้แบบไม่ได้มีการตรวจสอบ แต่ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องศึกษาสิ่งที่เป็นปัญหาที่ได้เกิดขึ้น และหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ใช้สติปัญญา การคิดวิพากษ์อย่างอิสระ และการต้องมีทางออกที่สร้างสรรค์ อย่างเข้าใจในสภาพความเป็นไปของสังคมไทยเรา

1. งานของท่านคือสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด (Why your job is your most valuable asset)

ในยุคที่บ้านที่เป็นสินทรัพย์ที่มีความหมาย แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ได้ลดลงอย่างมาก การมีเงินเพื่อถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เคยเป็นการลงทุนที่ดี แต่ความผันผวนทำให้ผลตอบแทนที่จะได้รับไม่แน่นอน ราคาหุ้นเองก็ลดลง

แต่สิ่งที่เราทำทุกวัน คืองาน งานที่เราทำอยู่ (Jobs) หากไม่ตกงานไปเสียก่อน จึงเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ งานอย่างไหน และทำงานอย่างไร จึงจะเป็นหลักประกันในชีวิตที่มีคุณค่า
งานที่มีคุณค่ามักจะเป็นงานที่ต้องมีการฝึกฝน ต้องเกิดจากการพัฒนาการศึกษาเพื่อให้สามารถสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีขีดความสามารถใหม่ มันเป็นการคุ้มหรือไม่ที่รัฐบาล ชุมชน ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง และคนแต่ละคนจะลงทุนในการศึกษาเล่าเรียน และการฝึกอาชีพ เพื่อรองรับงานในยุคใหม่

2. การสร้างบ้านแปลงเมืองเสียใหม่ (Repurposing the suburbs)

อเมริกาในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา การคมนาคมระหว่างเมืองกับชานเมือง (Suburb) มีความสะดวกขึ้น มีถนนหนทางดีขึ้น หลายคนจึงหันไปมีบ้านและที่พักอาศัยอย่างหรูหราย่านชานเมือง และตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เขตชานเมืองขยายกว้างและไกลออกไปทุกที ประกอบกับวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ (Automobile Culture) มีกันทุกบ้าน พ่อแม่ และลูกทีเข้าสู่วัยรุ่น แล้วพ่อหรือแม่ที่ทำงานในเมือง ก็ต้องขับรถมาทำงาน แต่ในยุคที่น้ำมันแพงขึ้น รถยนต์จำนวนมากที่ไหลสู่ท้องถนน ทำให้การจราจรคับคั่ง เป็นปัญหา เราจะมีการจัดการเรื่องการเดินทางทุกวัน (Commuting) กันอย่างไร เราจะมีการตั้งถิ่นฐานของประชาชนกันอย่างไร เมืองควรมีขนาดใหญ่สักเท่าใด และเรื่องนี้ในประเทศไทยเองก็กำลังประสบปัญหาไปในทิศทางเดียวกับเขา

กรุงเทพมหานครในประเทศไทยเรา มีประชากรราว 6.5 ล้านคน มีขนาดใหญ่กว่าเมืองที่ใหญ่อันดับสอง 20 เท่า กรุงเทพฯ เมื่อรวมเมืองแวดล้อมอย่างที่เขาเรียกว่า Metropolitan Area แล้วในปัจจุบันมีถึง 12 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เราคิดจะดำเนินการอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความขัดแย้งในชาติที่ผ่านมาไม่นานมานี้ ส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร การพัฒนาประเทศที่เมืองและชนบทยังมีช่องว่าง

3. การจับจ่ายอย่างมีเหตุผล (Survival-store shopping)

สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอย และบางครั้งกลายเป็นการจับจ่ายที่เกินเลยจากความจำเป็น ซื้อและมีของที่ไม่จำเป็นมากมาย มีของที่ผลิตมาแบบใช้แล้วทิ้งได้ (Disposable products) ซึ่งต้องมีการประเมินกันใหม่ว่า อะไรคือสิ่งของจำเป็น อะไรจะจำเป็นสำหรับอนาคต แม้ในปัจจุบันยังมองไม่เห็นค่า สังคมตะวันตกรวมถึงในเกือบทั้งหมดของยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และประเทศพัฒนาอื่นๆ ล้วนดำรงอยู่บนฐานของการใช้จ่ายอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล

ลองหันมาทบทวนสินค้าที่มีความจำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญต่อสินค้าที่เป็นความจำเป็นสำหรับชีวิตในโลกปัจจุบัน และอนาคต

4. เตรียมตัวสำหรับชีวิตที่ยืนยาวขึ้น (Amortality: forever young)

คนในยุคใหม่มีโอกาสที่จะมีอายุยืนยาว หากรู้จักดูแลด้านสุขภาพอนามัย คนอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 120 ปี แต่ปัจจุบัน คนเกษียณอายุที่ 60 ปี และในยุคที่เรามองการเกษียณอายุ คือการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องทำงาน แล้วเราจะใช้ชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไร

มนุษย์ทุกคน เกิดมาแล้วต้องตาย (Mortal) ไม่ช้าก็เร็ว แต่เมื่อโลกยุคใหม่ที่มนุษย์รู้วิธีการดูแลสุขภาพดีขึ้น มีการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น หากรู้จักออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เราอาจมีอายุ 80-90 ปีได้อย่างไม่แปลกอะไร แล้วเวลาที่มีเพิ่มขึ้นนั้น เราจะทำอะไร สังคมจะปรับตัวอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์จากคนที่มีอายุยืนยาว สุขภาพดีแข็งแรง

5. ธนาคารชีวภาพ เก็บชิ้นส่วนของท่านไว้ (Biobanks: saving your parts)

การศึกษาทางด้านชีวศาสตร์กำลังคืบหน้าในโลกยุคใหม่อย่างรวดเร็ว วิศวกรรมพันธุศาสตร์ (Genetic Engineering) อาจเป็นทางเลือกในการรักษาโรคหลายอย่างที่ในปัจจุบันเป็นสาเหตุของการตายก่อนเวลาอันควร โรคเหล่านี้ได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน ไตวาย ตับแข็ง สมองเสื่อม ฯลฯ แต่ชิ้นส่วนหรืออวัยวะหลายอย่างที่ได้เริ่มมีการเก็บสะสม ทำการศึกษา ไขรหัสลับพันธุกรรม (DNA Codes) อาจมีการศึกษาเพื่อใช้ในการรักษา และแก้ปัญหาที่เคยมีมาได้

มนุษย์กำลังทำในสิ่งที่สมัยก่อนเป็นเรื่องของพระเจ้าเท่านั้น แต่การศึกษาทางด้าน DNA อาจทำให้ทัศนะด้านการดูแลรักษาพยาบาลเปลี่ยนไป แต่การศึกษาทางด้าน DNA นั้น หลายประเทศไม่เห็นด้วย แต่ก็มีหลายประเทศที่ได้มีการให้เงินทุนวิจัยสนับสนุน หลายอย่างได้มีการนำความรู้ความเข้าใจในรหัสลับพันธุกรรมมาทดลองและใช้ประโยชน์เพื่อการรักษาพยาบาลแล้ว โดยเริ่มกับผู้ป่วยที่ยอมอาสาอย่างลับๆ และมีหลายรายที่ได้เห็นความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อเกิดขึ้น เรื่องนี้คงต้องมีการติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

6. หากต้องการแผ่นดิน ไปเช่าประเทศใหม่ (Need land? Rent a country)

ในโลกนี้มีอยู่ 223 ประเทศตามการกำหนดโดยสหประชาชาติ มีตั้งแต่ใหญ่ที่สุดอย่างจีน 1,300 ล้านคน อินเดีย 1,100 ล้านคน ไปจนถึงประเทศที่มีขนาดเพียง 2000 คน

ในโลกนี้มีหลายประเทศที่มีที่ดินอย่างจำกัด แต่มีเงินเหลือที่จะลงทุน บางประเทศมีที่ดินและทรัพยากรที่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้เหลืออยู่มาก แต่ขาดการพัฒนา ต้องการการลงทุนทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และอื่นๆ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีที่ดินจำกัด มีประชากรมาก เขากำลังแสวงหาที่ดินในประเทศอื่นๆ และอาศัยกำลังเงินและเทคโนโลยีที่มี เพื่อพัฒนารองรับการผลิตอาหาร และกิจการต่างๆสำหรับประชาชนของเขา

ประเทศไทยอยู่ในฐานะอะไร

7. การฟื้นฟูศาสนาใหม่ (The new Calvinism)

โลกยุคใหม่ประสบปัญหาการดำรงชีวิต ระบบครอบครัวแตกแยก สังคมไร้ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ คนส่วนหนึ่งมีทัศนคติต่อต้านสังคม มีการก่อการร้ายอย่างไร้เหตุผล คนรุ่นใหม่ว้าเหว่ ต้องการที่พึ่งทางจิตใจ ต้องการศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ศาสนาเองก็กลับเสื่อมล้า ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม

หากศาสนาไม่สามารถให้ความหมายแห่งชีวิต แต่ยังคงติดยึดกับสิ่งที่จะนำไปสู่ความเสื่อม ดังในกรณีพุทธศาสนาที่หลงทางไปกับการเล่นพระเครื่อง การทำนายโชคชะตา เล่นหวย เสน่ห์ยาแฝด ฯลฯ ในคริสต์ศาสนาเองก็มีปัญหาที่คนรุ่นใหม่เข้าวัดน้อยลง ในศาสนาอิสลาม ที่ต้องตรวจสอบว่าเหตุใดจึงมีกลุ่มคลั่งศาสนาที่บิดเบือนไปสู่การก่อการร้าย และการทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ได้อย่างที่เกิดขึ้นในหลายแห่งในโลก

ศตวรรษที่ 21 โลกต้องการปฏิรูปศาสนาเพื่อทำให้มนุษย์มีที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อฟื้นฟูและทำให้ศาสนาเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นใหม่ที่ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆแล้ว เขาก็จะมีแนวคิดและวิถีชีวิตที่ทำให้ตนเองแปลกแยกจากศาสนาออกไปทุกที

8. ความฉลาดทางสิ่งแวดล้อม (Ecological intelligence)

จากการสนใจศึกษาความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient – IQ) สู่การทำความเข้าใจในด้านอารมณ์ (Emotional Quotient – EQ) และอื่นๆที่ตามมา แต่ในยุคที่โลกมีวิกฤติด้านสภาพแวดล้อม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมนุษย์สร้าง โลกร้อน วิกฤติพลังงานของโลก น้ำมัน (Petroleum) ราคาแพงและจะหมดจากโลก ปัญหาโรคยุคใหม่ ไวรัสที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ คนและเยาวชนใหม่ ต้องมีความฉลาดที่จะดำรงอยู่ได้ในโลกยุคใหม่ โดยต้องเข้าใจและเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้

ในระดับโลก ประเทศพัฒนาแล้วมองการออกกฏเกณฑ์ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนา ต้องควบคุมการไม่สร้างหรือก่อปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้น โดยต้องลดการใช้พลังงานที่มาจาก Carbon ทั้งมวล แต่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นก็ไม่สามารถทำตามได้ และให้หันไปมมองประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นสัดส่วนที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย อยากได้พลังงานเพิ่มขึ้น ในราคาที่ถูกลง ได้ไฟฟ้าใช้อย่างไม่ขาดแคลน แต่ไม่ต้องการให้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าในท้องที่ของตน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังนิวเคลียร์ ถ่านหิน วัสดุจากเหลือใช้จากการเกษตร คนเมืองต้องการเมืองที่สะอาด แต่ผลักดันให้ไปหาที่ขจัดขยะ แต่ชุมชนเขตชานเมืองไม่ต้องการให้มีโรงขยะ หรือที่เก็บขยะในชุมชนของตนเอง ทางออกอยู่ตรงไหน ทางออกส่วนหนึ่งคือทุกคนทุกฝ่ายต้องมีความฉลาดที่จะทำให้เกิดทามงเลือกใหม่ ทางเลือกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และเกิดการแก้ปัญหาในระยะยาว และนั่นคือต้องมีเรื่องของความฉลาดด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีทั้งในระดับผู้นำและผู้ตาม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งในภาคราชการ เอกชน ชุมชน และแม้แต่ศาสนา

9. อัฟริกา โอกาสใหม่ของการทำธุรกิจ (Africa: Open for business)

ทวีปอัฟริกา จัดเป็นทวีปที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสอง และมีประชากรโดยรวมมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากทวีปเอเชีย

ทวีปที่มีพื้นที่ๆและทรัพยากรที่จะยังพัฒนาได้อีกมาก อย่างอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย พื้นที่ขาดใหญ่ในบราซิลในอเมริกาใต้ ไซบีเรียในการครอบครองของรัสเซีย เหล่านี้ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก แต่ฝ่ายประชาชนและรัฐบาลของเขาจะมีเงื่อนไขมากมายที่จะสกัดคนเข้าประเทศ

ทวีปอัฟริกายังมีช่องทางในการพัฒนาอยู่มาก ยังมีพื้นที่ๆยังไม่ได้พัฒนา แต่พร้อมที่จะเปิดให้มีการพัฒนา และมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาได้หากมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ และโดยรวม แม้ปัจจุบันยังมีปัญหาความอดอยาก แต่แท้จริงแล้ว ยังมีทางในการพัฒนาทางการเกษตรที่จะพึ่งพาอาหารจากการผลิตของภายในประเทศและระหว่างประเทศในอัฟริกาได้อีกมาก

10. การคิดระบบทางหลวงใหม่ (Reinventing the highway)

ทศวรรษที่ 20 หรือประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา นับเป็นยุคความเฟื่องฟูของรถยนต์

Ford Model T นับเป็นการปฏิวัติการผลิตรถยนต์โดยการนำระบบสายพานการผลิตมารใช้ และทำให้มีต้นทุนที่ประหยัด รถมีราคาที่คนชั้นกลางสามารถเป็นเจ้าของได้

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือยุค ค.ศ. 1950 เป็นต้นมาในสมัยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไอเซนเฮาวส์ (Dwight D. Eisenhower National System of Interstate and Defense Highways) ได้มีการสร้างทางหลวงระหว่างรัฐใหม่ ที่เรียกว่า Interstate ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นความเสื่อมถอยของระบบรถไฟ

มีการขยายตัวของประชากรออกมาอยู่บริเวณที่เขาเรียกว่า ชานเมือง หรือ Suburban
ซึ่งระบบทางหลวง หรือเส้นทางขนาดใหญ่ มีการรองรับคนถึง 390,000 คันต่อวัน (vehicles per day) ดังในกรณีของเส้นทาง I-405 ในเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย (Los Angeles, California - 2006 ) ปัญหาที่ตามมาคือ การใช้พลังงานน้ำมันอย่างมากมาย ปัญหาอากาศเป็นพิษ ความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ ตัวอย่าง ในแต่ละวัน คน 1 คนต้องขับรถยนต์ไปทำงานระยะทางรวม 100 ไมล์ เมื่อประกอบกับวัฒนธรรมรถยนต์คันใหญ่ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเปลือง ราคาน้ำมันแพงขึ้น ต้องจ่ายค่าน้ำมันถึงวันละ 500-700 บาท ต้องใช้เวลาอยู่บนถนนนานนับ 2-3 ชั่วโมง

ในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไป เป็นยุคที่สหรัฐอเมริกาเองก็ต้องหวนกลับไปคิดเรื่องการขยายตัวของเมืองใหญ่ การเดินทางในแต่ละวันของประชาชนคนทำงานที่ต้องเดินทางในแต่ละวันเพื่อเข้าไปทำงานในเมือง ประเทศที่มีเมืองขนาดคนกว่า 1 ล้านคนขึ้นไป ต้องหันมาทบทวนการตั้งถิ่นฐานของประชาชนเสียใหม่ และนั่นอาจหมายถึงการต้องมีระบบทางหลวงใหม่

แนวทางในการดำเนินการ

แนวคิดในการเขียน คือ

1. ได้หัวเรื่องจากแนวคิด 10 เรื่องดังกล่าว ตรวจสอบความคิดและสาระที่เขานำเสนอ

2. ศึกษาอย่างทำความเข้าใจ ใช้เวลาและประสบการณ์ที่มีในต่างแดน และในประเทศไทยใช้เพื่อตรวจสอบ

3. มองย้อนกลับมายังประเทศไทย แล้วใช้แนวคิดดังกล่าวในการวิเคราะห์ และหาทางออกที่สร้างสรรค์สำหรับสังคมไทย

4. เขียนและนำเสนอใน Website: www.itie.org/eqi/, http://pracob.blogspot.com ใครจะนำไปเผยแพร่ต่อก็ไม่ขัดข้อง และขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอความคิด ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้าน โดยเฉพาะหลายคนมีประสบการณ์และตัวอย่างที่สามารถจะแลกเปลี่ยนกันได้ จึงเรียนมาเพื่อเชิญทุกท่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทาง Blog ที่มีอยู่ได้

5. อาจรวบรวมสรุปเป็นเล่ม จัดพิมพ์ขายเพื่อเผยแพร่ ก็อาจจะทำอยู่

Sunday, July 12, 2009

การศึกษายามมี การศึกษายามยาก

HTML clipboard
การศึกษายามมี การศึกษายามยาก

ประกอบ คุปรัตน์
มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย

SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)

Keywords: บันทึกการศึกษา, คุณภาพชีวิต, เศรษฐกิจใหม่
Updated: Monday, July 13, 2009

ห้อง 2 -106 (อาคาร 2 ชั้น 1) เลขที่ 2/1
ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5, โทรสาร 0-2354-8316
(ตั้งอยู่ในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ)
Website: www.sb4af.org; http://pracob.blogspot.com
E-mail: info@sb4af.org

ความนำ

นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา โลกได้เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจใหม่ ในสหรัฐอเมริกา วิกฤติเศรษฐกิจของเขานั้นรุนแรงที่สุดนับแต่ยุคที่เรียกว่า Great Depression ในปีค.ศ. 1929 ที่เศรษฐกิจตกต่ำ และต่อเนื่องจนปีค.ศ. 1933

ประเทศไทยประสบปัญหารุมเร้าที่ไม่น้อยไปกว่ากัน คือทั้งสภาพเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่ไม่มีความแน่นอน ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการท่องเที่ยวที่หดตัวลง แต่เพราะไทยมีรายได้หลักส่วนหนึ่งจากการท่องเที่ยว ในช่วงหลังก็คือเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 หรือที่เรียกว่า H1N1 ที่ได้ระบาดไปทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยก็รับผลกระทบมาเต็มๆเหมือนกัน

โชคดีของประเทศไทย เรามีพื้นฐานเศรษฐกิจแบบสมดุล ยามเศรษฐกิจแบบใหม่ทรุด แต่เศรษฐกิจเดิม คือการเกษตรของเรายังแข็งแรง คนไทยอาจมีตกงาน แต่เราจะไม่มีวันอดตาย งานในเมืองมีปัญหา ก็ยังหันกลับไปอยู่กับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ในชนบทยังมีความอบอุ่นรองรับเราอยู่เสมอ ลูกๆของเรา ยังมีทั้งปู่ย่า ตายาย มีพี่ป้า น้า อา ที่ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กๆ อยู่เสมอ

สำหรับความขัดแย้งในบ้านเมือง ความรุนแรงเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว แต่มันไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทยที่จะสนุกหรือสะใจกับความขัดแย้งแบบไม่มีวันจบสิ้น หากใส่เสื้อสีบางสีแล้วขัดแย้ง ก็เลิกใส่เสียสักระยะ หาอะไรที่สร้างสรรค์ทำ คุยกับญาติพี่น้อง คุยการเมืองกันไม่รู้เรื่อง ก็หันไปคุยกันเรื่องอื่นๆบ้าง แต่ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนฝูงก็ยังคงมีต่อไป เพียงแต่ต้องยอมรับในความแตกต่าง และเรียนรู้ที่จะเข้าใจกันให้มากขึ้น

ในปัจจุบัน ใครมาเป็นรัฐบาลก็คงต้องลำบาก และต้องมีกำลังใจ ต้องกล้าที่จะทำ ต้องตัดสินใจโดยยึดเอาความถูกต้องเป็นที่ตั้ง และโดยสวนใหญ่ เขาก็ได้เดินมาถูกทางแล้ว แต่ความรู้สึกของประชาชน ก็เหมือนกับคนป่วย คนรับการผ่าตัด อยากจะหายป่วยหายไข้โดยเร็ว

ที่ห้างขายอุปกรณ์ก่อสร้าง

การพัฒนาคนคือประโยชน์ของทุกฝ่าย

ที่ห้าง Super store ที่ขายอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องใช้ในบ้านที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ที่ผมเป็นลูกค้าไปเดินซื้อของบ้าง ดูอุปกรณ์ที่เขาออกแบบพัฒนามาใหม่ๆบ้าง

ทุกอย่างยังเหมือนเดิม มีพนักงานจำนวนมากกว่าคนไปซื้อสินค้า อาจเป็นเพราะผมไปจับจ่ายในช่วงวันปกติ เพราะวันเสาร์และอาทิตย์ผมต้องไปทำงานสอนหนังสือ

ต้องขอบคุณเจ้าของกิจการ ที่เขาไม่ปลดคนงาน หรือให้คนงานต้องหยุดทำงานในช่วงนี้การก่อสร้างลดลงมาก แม้อุปกรณ์การก่อสร้างจะราคาลดลง เหล็กเส้น ปูน หิน ดินถมที่ กรวด ทราย ใครมีเงินเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงนี้ ก็จะได้งานที่มีต้นทุนที่ลดลง

ร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านสรรพสินค้า งานและรายได้จะลดลง แต่การที่เขายังกัดฟันรักษาคนทำงาน ไม่ปลดออก หรือให้หยุดงาน ผมในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่งก็ต้องขอบคุณเขา แต่ก็นั่นแหละ ภาคธุรกิจต้องทำให้ได้มากกว่านั้น

ดังในกรณีของห้างอุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องใช้สอยในบ้าน

เมื่อไม่มีงาน ก็ควรจัดกิจกรรมการศึกษาแบบเป็นภายใน เพื่อให้คนขายได้มีความเข้าใจในสินค้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกค้าที่จะต้องเลือกซื้อสินค้าอย่างถูกต้องมากขึ้น ทำให้ผู้ซื้อไม่ซื้อสินค้าไปแบบผิดๆ เสียเงิน เสียโอกาส ซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไป

การศึกษานั้นไม่จำเป็นต้องส่งไปเรียนภายนอก แต่บริษัทห้างร้านสามารถให้การศึกษาแก่คนทำงานได้หลากหลายรูปแบบ (Corporate Education) ให้ความรู้แก่คนทำงานที่จะทำให้เขาทำงานบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น (Consumer Education)

บริการอาหาร

คนไทยเราเก่งเรื่องบริการ ความเป็นคนยิ้มง่าย รักความสนุก และเก่งเรื่องการดูแลต้อนรับ แต่กระนั้นในกิจการบริการท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน หรืออย่างที่เขาเรียกว่า Hospitality Management นั้น ยังมีทางที่จะพัฒนาได้อีกมาก

ที่ร้านอาหารขนาดใหญ่ย่านชายทะเลตากอากาศแห่งหนึ่ง ในช่วงวันหยุดยาว ผมและครอบครัวไปพักผ่อน หาอาหารอร่อยรับประทาน สั่ง เครื่องดื่ม (Drink) อาหารมา 4 อย่าง มีของว่าง (Appetizer, Entrée) 1 รายการ ของว่าง หมายถึงของเรียกน้ำย่อย ซึ่งต้องมาก่อน และตามมาด้วยกับข้าวหลัก (Main course) ข้าว ที่จะเป็นของที่มาควบคู่ (Side dish) ถ้าเป็นอาหารแบบฝรั่ง ก็จะได้แก่ มันทอด (French fries), มันฝรั่งบด (Baked potatoes) หรือผักสดหรือผักต้มต่างๆ (Various vegetables) หรือพวกซุป (Soups), พวกขนมปัง (Dinner rolls or other breads), พวกแป้งแผ่นปิ้ง (Pastas) หรือพวก สลัด (Salad) ที่จะกินก่อนอาหารหลัก เสร็จแล้ว จะตามด้วยขนม (Dessert) และเครื่องดื่มส่งท้าย ซึ่งอาจเป็นกาแฟ โดยเฉพาะพวกคนต้องเดินทาง มักจะสั่งกาแฟส่งท้าย

ลำดับของอาหารเป็นเรื่องสำคัญ อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง

แต่ปรากฏว่า จานกับข้าวหลัก ที่เป็นพวกเนื้อ ผัก และแกง มาก่อนทั้ง 3 รายการอย่างรวดเร็วพอใช้ อาหารอร่อยใช้ได้ เรารับประทานจนอิ่มแล้ว แต่ของว่างที่ควรจะมาก่อนภายในไม่เกินสัก 10 นาที แต่ปรากฏว่าอีกถึง 30 นาที่จึงมาถังโต๊ะอาหาร ยังดีที่ไม่ได้สั่งของหวาน แล้วของว่างอย่างปอเปียะทอดมาปิดท้าย

เรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นในร้านอาหารในต่างประเทศ พนักงานเสิร์ฟและคนทำอาหารเขาจะต้องประสานกัน ที่จะทำให้อาหารถึงโต๊ะลูกค้าอย่างสด ร้อน หรือเย็นตามลักษณะของมัน ตลอดจนมีคนมาติดตามถามว่าทุกอย่างโอเคไหม มีอะไรยังขาดตกบกพร่องบ้าง แต่ในบ้านเรา เราไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดดังนี้มากนัก แต่ก็ยังอยู่กันไปได้

แต่สำหรับร้านอาหารไทยที่จะบริการฝรั่ง ปรากฏว่าอาหารมาที่โต๊ะสลับกันอย่างไม่น่าจะเกิด เข่นเขารับประทานอาหารเสร็จแล้ว ของว่างก็รับแล้ว แต่แกงเผ็ดเป็ดย่างมาถึงท้ายสุด

นักศึกษาเพิ่มขึ้นที่มหาวิทยาลัย

ที่มหาวิทยาลัยที่ผมไปสอนหนังสือในหลักสูตรระดับปริญญาเอก มีคนเรียนไม่มากนัก ซึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะการศึกษาระดับสูงนั้น ไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน เพียงแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เรียนและสอนได้อย่างมีคุณภาพ

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น คือการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปีการศึกษา 2552 มีผู้เรียนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 60-66 ในขณะที่จำนวนผู้มาลงทะเบียนเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา หรือปริญญาโท การศึกษาบัณฑิต และระดับดุษฎีบัณฑิตโดยรวมอยู่ในระดับไม่เพิ่มขึ้น

ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก ในช่วงเศรษฐกิจยามยากนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าใจว่าการหางานเป็นเรื่องยากนั้น แทนที่จะปล่อยบุตรหลานวิ่งหางานที่ก็หายาก มีโอกาสได้งานน้อยนั้น หากพอมีฐานะ ก็จะส่งลูกหลานให้ได้เล่าเรียนต่อไป ดีกว่าปล่อยให้ตกงาน เที่ยวเตร่ หรือมั่วสุมกันอยู่ตามราวสะพาน หรือเข้ากลุ่มเข้าแก๊ง

คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คิดถูกแล้วที่กัดฟันส่งลูกหลานเข้ารับการศึกษา

แต่สำหรับมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ทั้งส่วนของรัฐบาลและเอกชน ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจึงจะเน้นไปที่การพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น การศึกษาที่ทำให้เขามีความสามารถในการเรียน (Learning Capacity Enhancement) มีพื้นฐานภาษาอังกฤษ ทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ทักษะด้านตัวเลข ทักษะและพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Education) ที่เขาจะต้องใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน

การศึกษาต้องสัมพันธ์กับชีวิต และการมีงานทำ แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้เยาวชนไม่เพียงออกไปมีงานทำ แต่ทำอย่างไรเขาจึงจะไปสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นได้ในสังคม และสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศได้

สุขภาพดีถ้วนหน้า

การดูแลสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิดเป็นเรื่องต้องให้การศึกษา (Health Education)

ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ รู้จักกลั่นกรอง หลีกเลี่ยงโอกาสเจ็บป่วย การดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย และเมื่อใดที่ควรต้องไปหาแพทย์ หรือเข้าโรงพยาบาล ทำไมในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น เขาป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่อัตราการตายจะน้อยมากหรือไม่มี แต่ทำไม อัตราการตายและเสียชีวิตของเราจึงพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 [58] (อังกฤษ: 2009 new-strain influenza) หรือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอชวันเอ็นวัน [58] (อังกฤษ: influenza A (H1N1)) ไข้หวัดใหญ่จากสุกร (อังกฤษ: swine-origin influenza) ก็เรียก ได้ระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา โดยเริ่มปรากฏครั้งแรกในนครเม็กซิโกซิตีกับส่วนอื่นๆ ของประเทศเม็กซิโก (ช่วงแรกจึงเรียกว่า ไข้หวัดเม็กซิโก) และในพื้นที่อีกหลายส่วนของสหรัฐอเมริกา อนึ่ง หน่วยงานสาธารณสุขหลายแห่งยังรายงานว่าในประเทศนิวซีแลนด์ยัง พบกรณีคล้ายจะเป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวอีกสิบกรณี แต่ยังไม่มีการรับรองรายงานดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพบผู้ต้องสงสัยว่าจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อีกหนึ่งพันรายทั่วโลก และเนื่องจากยังไม่อาจรับรองว่าผู้ป่วยดังกล่าวทุกคนเป็นไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลกจึงเรียกภาวะเช่นนี้โดยรวมว่า "ภาวะเจ็บป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่" (อังกฤษ: influenza-like illnesses)

ณ เวลาปัจจุบัน (Monday, July 13, 2009) มีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 3555 คน เสียชีวิตแล้ว 19 คน นับว่ามากที่สุดในเอเชีย ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยมีการรายงานผลอย่างถี่ถ้วนและตรงไปตรงมา ในขณะที่บางประเทศไม่มีระบบที่ทันสมัยเท่า หรือมีการปิดบังข้อมูลข้อเท็จจริง หรืออาจจะยังเป็นเพราะประเทศไทยเองก็ยังไม่มีมาตรการป้องกัน ดูแล หรือการให้การศึกษาแก่ประชาชนที่จะรู้จักดูแลตัวเองได้ดีพอ

การมีนโยบายรักษาฟรีเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เพียงพอ ทำอย่างไรจึงจะให้การศึกษา ที่ทำให้ประชาชนได้มีขีดความสามารถในการดูแลตนเอง ป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บ และเมื่อเจ็บป่วย ก็รู้ว่าจะทำอย่างไร

จากช่างซ่อมเครื่องซักผ้า

ครูไม่ใช่เพียงคนที่ยืนอยู่หน้าชั้นเรียน

เมื่อผมกลับจากต่างประเทศ หลังจากที่ได้ห่างบ้านไปถึง 2 เดือนครึ่งในช่วงปิดภาคการศึกษาในฤดูร้อน

เครื่องซักผ้า (Washing machine) ราคาแพงขนาด 3 หมื่นกว่าได้เสียลง ที่ซื้อมาแพง ก็เพราะคิดกันว่า ของแพงสักหน่อย แต่ว่าใช้ได้ทน ก็จะคุ้ม เพราะค่าซ่อมมีแต่จะยิ่งแพงขึ้นทุกวัน

เมื่อเครื่องซักผ้าเสีย ได้ลองให้ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้าข้างบ้านช่วยมาดูว่าจะซ่อมได้อย่างไรหรือไม่ ได้ความว่า Main board ที่ควบคุมการทำงานเครื่องที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์เสีย เขาถามหาว่ามีคู่มือแผง Main board หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี และผมก็ไม่ได้เก็บเอกสารใดๆไว้อย่างเป็นระบบ

ถามไปที่บริษัทผู้จำหน่ายเครื่อง เขาไม่ให้ข้อมูล ท้ายสุดใช้บริการซ่อมของบริษัทเขา ซึ่งเขาก็ส่งช่างมาซ่อมให้ภายในเวลาไม่นาน โดยแจ้งว่ามีค่าแรง 600 บาท ส่วนค่าอะไหล่นั้นจะทราบเมื่อช่างได้ตรวจปัญหาแล้ว

เดี๋ยวนี้ข่างซ่อมเครื่องไฟฟ้าแบบเครื่องซักผ้าหรือตู้เย้นราคาแพงนี้ เขามีช่างแบบ Subcontract รับงานแบบมีค่าตอบแทนตามจำนวนงาน มีงานมากก็ได้รายได้มาก มีงานน้อยก็มีรายได้น้อย ช่างจะเดินทางไปซ่อมเครื่องโดยขี่มอเตอร์ไซค์ มีกระเป๋าเครื่องมือเล็กๆติดไปด้วย มีโทรศัพท์มือถือ (Mobilephone) ที่ติดตัวไป สื่อสารได้กับบริษัทฯ เขาบอกว่าปัจจบันแทบไม่มีที่จะใช้วิธีการยกเครื่องกลับไปซ่อมที่บริษัท เพราะต้องใช้คนช่วยยกอีกอย่างน้อย 1-2 คน กับต้องมีรถ Pickup อีกหนึ่งคัน วิ่งฝ่าจราจรไปกลับระหว่างบ้านลูกค้ากับบริษัท ที่ๆจะจอดรถก็หายาก

หลังจากข่างเขาดูเครื่อง พบว่า Main board เสีย เขาจึงแจ้งว่าค่าอุปกรณ์นั้นราคาประมาณเกือบ 9,000 บาท จะซ่อมหรือไม่ แต่เปลี่ยนแล้วจะเหมือนเดิมทุกประการ ผมนิ่งไปสักพักใหญ่ แล้วก็ตัดสินใจสั่งซ่อม แต่มารู้สึกว่าราคามันเกือบจะไปซื้อเครื่องซักผ้าใหม่ได้อีกเครื่องหนึ่งแล้ว ผมคุยกับเขาอยู่สักระยะเพื่อขอความรู้ ท้ายสุดเขาบอกกับผมว่ามีทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือไปซื้ออะไหล่จากจีน เป็นอุปกรณ์อย่างเดียวกัน แต่หน้าปัดเป็นภาษาจีน มี Features ที่ทำงานลดลงบ้าง เช่นจากมีให้ใช้การปั่นที่ 600-1200 รอบต่อนาที เป็นมีให้เลือก 600-800 รอบต่อนาที แต่เขาบอกว่าความเร็วของการปั่นที่ 800 รอบนั้นก็เพียงพอสำหรับเครื่องซักผ้าทั่วไปแล้ว ราคาแผงอุปกรณ์จากจีนที่ทดแทนกันได้นี้ ประมาณ 3500 บาท ผมก็เลยเลือกทางเลือกนั้น

ความผิดพลาดเป็นครู

อีก 2 วันต่อมา ช่างซ่อมเครื่องซักผ้า โทรมาแจ้งว่าเขาซื้ออุปกรณ์ได้แล้ว และจะมาติดตั้งให้ในวันที่กำหนด ซึ่งเราต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลให้เขาเข้ามาซ่อมได้ ระหว่างที่เขาใช้เวลาซ่อมเครื่องซักผ้า ซึ่งก็คล้ายๆกับเมื่อเรานำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปให้ช่างซ่อมแถวพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ถอดฝาพลาสติกออก เปลี่ยนอุปกรณ์ต่อสายไฟ แล้วก็ทดสอบเครื่อง

ช่างซ่อมเครื่องซักผ้า ตู้เย็นรุ่นใหม่ เหล่านี้ เขาเรียนมาคล้ายกับช่างซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นเอง ระหว่างซ่อม ผมก็คุยขอความรู้ พอดีเขาก็เป็นคนช่างคุยด้วย จึงเล่าให้ฟัง เขาบอกว่า เขาก็อึดอัดเหมือนกัน ที่ลูกค้าต่อว่า ทำไมค่าซ่อมจึงสูงนัก เขาเล่าให้ฟัง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการศึกษาสำหรับผมและสมาชิกในบ้าน

(1) เพราะเวลาไปซ่อมเครื่องซักผ้าที่ Brand มาจากยุโรป อุปกรณ์ต่างๆจะราคาสูงมากด้วยค่าเงิน Euro ที่สูงขึ้น ทำให้ค่าอุปกรณ์ต่างๆมีราคาแพงตามไปด้วย ส่วนเวลาเครื่องจะเสียนั้น ไม่ว่าเครื่องที่มี Brand จากประเทศใด มีโอกาสเสียใกล้เคียงกัน อุปกรณ์หลายส่วนก็มาจากจีนหรือเกาหลีคล้ายกัน

สรุปว่า ของแพงอาจไม่ใช่ของที่ดีสำหรับเราก็ได้

(2) เครื่องซักผ้าแบบที่เปิดฝาด้านข้างที่เป็นระดับปานกลาง ไม่มี Function อะไรที่ซับซ้อนมากนัก จะสะดวกในการซ่อม คนใช้มาก อุปกรณ์ซ่อมราคาไม่แพง และไม่จำเป็นต้องใช้อะไหล่ตรงจากบริษัทฯ หาซื้อได้ทั่วไป ราคาค่าซ่อมจะถูกกว่ามาก นอกจากนี้ คือเครื่องซักผ้าราคาไม่แพงจากญี่ปุ่น เกาหลี เขาเปิดช่องให้มีอะไหล่ทดแทนได้ง่ายกว่า

สรุปว่า ของถูกอาจเป็นของที่ดีสำหรับเราก็ได้ เราในที่นี้หมายถึงผู้บริโภคต้องเรียนรู้ตั้งแต่ตอนซื้อ ตอนใช้ และตอนที่จะต้องซ่อม

(3) ช่างซ่อมเขาเห็นบริเวณที่ตั้งเครื่องซักผ้าที่บ้านของเรา ซึ่งมักจะเปียกชื้น และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีความชื้นไปสะสมอยู่ในบริเวณ Mainboard ของเครื่อง ยิ่งเวลาใช้เครื่องเสร็จ มีพลาสติกคลุม ก็เลยเก็บความชื่นไว้ในเครื่อง เขาเลยแนะนำให้มีผ้าขนหนูแห้งๆ คลุมเครื่องไว้ ก่อนที่จะคลุมเครื่องด้วยพลาสติกอีกที่หนึ่งกันเปียกฝน

สรุปรวมความก็คือ อย่าให้มีการสะสมความชื้น (Humidity) ในเครื่องซักผ้า เพราะบริเวณหน้าปัดเครื่องนั้น มันก็มีสภาพคล้ายกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์มือถือ หรือนาฬิกาข้อมือของเรา ที่ต้องระวังอย่าให้มีความชื้นสะสม

ต้องทำได้มากกว่าการศึกษาฟรี

ผมต้องเดินทางไปแถวอีสานใต้บ่อย ได้ฟังคนเขาพูดกันก็มาก

โดยธรรมชาติแล้ว คนอีสานเป็นคนซื่อ รักใครรักจริง มีความกตัญญูแบบไทยๆเรา ใครทำอะไรที่ดีๆให้เขา เขาก็จะจดจำไว้ตลอดไป

คนอีสานรุ่นเก่า ยังระลึกถึงอดีตนายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่แม้จะเป็นเผด็จการทหาร แต่การที่มีนโยบาย น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์ เฉพาะการที่ทำให้มีการพัฒนาประเทศ ทำให้มีถนนหนทางในชนบท และเป็นรากฐานในการพัฒนาจนถึงปัจจุบัน เขาขอบคุณและระลึกถึง

นโยบายในสมัยนายกฯทักษิณ ชินวัตร ดังเช่น กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาท รักษาทุกโรค หรือที่เรียกว่า Universal Healthcare นั้น เป็นเรื่องโดนใจเขา แม้คุณทักษิณจะมีปัญหาด้านผลประโยชน์ทับซ้อน การไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน การแทรกแซงองค์กรที่ต้องเป็นอิสระ การเล่นพรรคเล่นพวก การทุจริตที่ได้เกิดขึ้นในวงการเมือง ที่สร้างความหมางใจให้กับชนชั้นกลาง ปัญญา นักวิชาการ และคนเมือง หรือแม้แต่คุณทักษิณจะยังต้องโทษ หนีคดี คนอีสานก็ยังขอบคุณและซึ่งใจในสิ่งดีๆที่ได้เคยหาเสียง และได้ทำตามนั้น

นโยบายการศึกษาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้การศึกษาฟรี 12 ปีนั้น นับว่ายังไม่โดนใจคนอีสาน สำหรับครูจำนวน 600,000 คน ก็ไม่โดนใจเขา โดยรวมๆ ครูไม่ได้ชอบรัฐบาลทักษิณ เพราะในยุคนี้ วงการครูมีการแทรกแซง การล้วงลูกเอาพรรคพวกของตนเข้าสู่ระบบการศึกษา นำระบบพรรคพวก (Spoil System) แทนที่จะใช้หลักคุณธรรม (Merit System) เพื่อส่งเสริมคนเก่ง คนตั้งใจทำดี แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่ก็ไม่ถูกใจครูอาจารย์และนักการศึกษา นโยบาย การศึกษาฟรี ยังไม่ถูกใจครู ผูกใจครูได้เหมือนที่รัฐบาลทักษิณเคยได้ใจจากตำรวจ เพราะหนุนหลังตำรวจเป็นพิเศษ

การทำให้เด็กๆมีชุดนักเรียนฟรี ตำราเรียนฟรี ยังไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองพอใจ เขาต้องการมากกว่านั้น พ่อแม่เขาต้องการคุณภาพการศึกษา (Quality Education) แม้ในยามเศรษฐกิจฟืดเคือง แต่ผมเห็นโรงเรียนกวดวิชา (Cram Schools) เกิดขึ้นมากมาย ยิ่งโรงเรียนจัดกิจกรรมการศึกษา เก็บเงินพิเศษ เพื่อพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนแบบปกติไม่ได้ เขาก็เลยไปจัดการศึกษาข้างนอก ครูอาจารย์ก็ไปเปิดโรงเรียนกวดวิชา พ่อแม่ผู้ปกครองก็ตามไปจ่ายเงินไม่น้อยไปกว่าเดิม เด็กๆก็ต้องใช้เวลาเรียนมากเพิ่มขึ้นไปอีก กลายเป็นว่า นโยบายการศึกษาใหม่ เป็นพันธมิตรทางอ้อมกับระบบโรงเรียนกวดวิชา

กระทรวงศึกษาธิการต้องคิดใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ต้องตรวจสอบนโยบายการศึกษาใหม่

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ลูกหลานประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ คุ้มกับเงินลงทุนทั้งของรัฐและประชาชน (Effectiveness of Education) ทำอย่างไรจึงจะมีครูที่ดี มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ครูได้รับการส่งเสริม มีเงินเดือนค่าจ้างที่เหมาะแก่ผลงานของเขา

ทำอย่างไรจึงจะทำให้ภาคเอกชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง ทำอย่างไรจึงจะระดมทรัพยากรในระดับท้องถิ่นเพื่อการศึกษาได้ในสัดส่วนที่มากขึ้น นอกเหนือจากเงินงบประมาณจากส่วนกลาง ซึ่งก็มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศนั้นเอง

การศึกษาต้องเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ รัฐบาล ท้องถิ่น ภาคเอกชน ศาสนา การศึกษาต้องไม่เป็นเรื่องที่แบ่งฝักฝ่ายตามลักษณะพรรคการเมือง แต่ทำให้เกิดความร่วมมือแบบข้ามพรรคได้ เหมือนกับนโยบายด้านสุขภาพ สุขภาพดีถ้วนหน้า เป็นความจำเป็นสำหรับประเทศ

เช่นเดียวกับการศึกษา การศึกษาคุณภาพสำหรับทุกคน ไม่ใช่เพียงเสื้อผ้าชุดนักเรียนฟรี นมกลางวันฟรี หนังสือเรียนฟรี แต่การศึกษาคุณภาพ คือสัญลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย ที่มีคนเกิดน้อยลง คนมีอายุยืนนานขึ้น ทำอย่างไรจึงจะทำให้การศึกษามีส่วนในการพัฒนาคุณภาพคน คุณภาพชีวิตของเขาอย่างต่อเนื่องยาวนาน การศึกษาเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

Thursday, July 9, 2009

โรงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ สาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ขอแนะนำโรงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Program) อีกโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลักสูตรภาษาอังกฤษ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Demonstration School of Ramkamhaeng University, English Program" หรือเรียกย่อๆว่า DSRU English Program
เปิดการเรียนการสอนมาได้ 4 ปีแล้ว

รับเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลักสูตรมัธยมศึกษามี 6 ปี

โครงการฯ รับนักเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษ 2 ห้องเรียน ห้องเรียนละไม่เกิน 15 คน โดยโครงสร้างหลักสูตรแบบ English Program ต่างจากโรงเรียนนานาชาติตรงที่มีการสอนในภาษาไทยร้อยละ 30 และเป็นหลักสูตรที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษร้อยละ 60 ในขณะที่โรงเรียนนานาชาติ (International Program) นั้นจะไม่มีการจัดการเรียนการสอนในภาษาท้องถิ่น (Thai Language) ผู้เรียนเป็นบุคคลไ่ม่จำกัดเชื้อชาติ หรือสัญชาติ แต่หลักสูตร "ภาษาอังกฤษ" ยังมีลักษณะเป็นลูกประสม เหมาะสำหรับคนที่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้ในทั้งสองภาษาและสองวัฒนธรรม

ค่าเล่าเรียนปีละประมาณ 200,000 บาท ค่าแรกเข้า หรือเรียกว่า Enrollment Fees คนละ 100,000 บาท
รวม 6 ปีมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,300,000 บาท

ในระหว่างเรียน มีกิจกรรมไปค่ายฤดูร้อนในต่างประเทศ 2 ครั้งๆละ 2 เดือน โดยค่าเล่าเรียนได้รวมถึงค่ากิจกรรมพิเศษนี้ด้วยแล้ว ซึ่งประมาณการได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการไปศึกษาหรือร่วมกิจกรรมต่างประเทศนี้คิดเดือนละประมาณ 100,000 บาท หรือประมาณว่าค่าใช้จ่าย 2 เดือนประมาณ 200,000 บาท บวกค่าเครื่องบินอีกประมาณ 40,000-50,000 บาท หรือประมาณ 400,000-500,000 บาท ต่อกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษในต่างประเทศ 2 ครั้งในโปรแกรม

หากมองภาพโดยรวมสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ประสงค์จะให้บุตรหลานมีทักษะความสามารถด้านภาษา ตลอดจนเข้าใจในวัฒนธรรมนานาชาติที่นับวันจะมีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นแล้ว หลักสูตรนี้จัดว่ามีค่าใช้จ่ายไม่แพง มีเหตุผลพอรับได้ ประเด็นจะขึ้นอยู่กับว่าโดยรวมๆ จะสามารถจัดกิจกรรมการศึกษาในทั้งสองภาษาอย่างมีคุณภาพอย่างน่าพอใจหรือไม่ และได้อย่างไร และจะมีประสิทธิผลคุ้มกับการลงทุนของผู้ปกครองหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อไป

Saturday, July 4, 2009

กรณีศึกษาเกี่ยวกับผู้เรียนที่สอบ Password

กรณีศึกษาเกี่ยวกับผู้เรียนที่สอบ Password

Yee Sin Lee กำลังวางแผนที่จะไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ เธอสอบได้คะแนนดีในโรงเรียนมัธยม จึงเลือกรับการทดสอบภาษาอังกฤษในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2009 และได้คะแนนที่ Password 5.5 ตามตารางเปรียบเทียบ เธอมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ แต่ยังต้องพัฒนาอีกระดับหนึ่ง ทางเลือกของเธอคือเลือกเรียนในโปรแกรม pre-sessional course เธอจึงเลือกสมัครไปยังมหาวิทยาลัยที่มีโปรแกรมเตรียมความพร้อม และมีโปรแกรมวิศวไฟฟ้าอย่างที่เธอต้องการ เกือบทุกแห่งรับเธอเข้าศึกษาต่อในแบบ Pre-sessional prorgramme ในสายวิศวกรรมไฟฟ้า ถึงเวลานี้ เธอเพียงจะต้องเลือกว่าจะไปศึกษาต่อ ณ ที่ใด

Omar Shehab จบโรงเรียนมัธยมศึกษาเมื่ออายุได้ 17 ปี ด้วยคะแนนที่ดีพอใช้ เขาต้องการศึกษาต่อในระดับพื้นฐานนานาชาติ (International Foundation Programme IFP) ซึ่งมีเปิดสอนในมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ

Omar เข้ารับการทดสอบ Password เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2009 และได้คะแนนที่ระดับ Password 4.0 แต่มหาวิทยาลัยที่มีโปรแกรม IFP ต้องการคะแนนผ่านภาษาอังกฤษที่ 5.0 หรือสูงกว่า Omar จึงรู้ว่า เขาต้องเรียนภาษาอังกฤษอีกสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะสามารถเลือกเรียนในสายวิชาที่ตนต้องการ เขาใช้เวลาเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังที่เมืองที่เขาอยู่อีก 3 เดือน แล้วจึงไปรับการทดสอบอีกครั้ง คราวนี้เขาได้คะแนน Password 5.0 เขาจึงสามารถเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษได้กว้างขวางยิ่งขึ้น คราวนี้ เขาเป็นฝ่ายเลือกว่า เขาจะไปศึกษาต่อในที่ใด ซึ่งเขามีทางเลือกที่กว้างขวางยิ่งขึ้น

Jong Gi Kim ต้องการใช้เวลา 6 เดือนในประเทศอังกฤษ เพื่อจะเรียนและพัฒนาภาษาอังกฤษ เขาเลือกสอบ Password ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 และได้รับคะแนนผ่านที่ Password 3.0 คะแนนในระดับนี้ เพียงพอที่จะขอวีซ่า ในสถานะเป็นนักศึกษาทั่วไป (General Student Visa) และเขาก็มีทางที่จะหาการสนับสนุนทางการเงินในการศึกษาเพิ่มความสามารถด้านภาษาของเขา

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
ห้อง 2 -106 (อาคาร 2 ชั้น 1) เลขที่ 2/1
ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5
โทรสาร 0-2354-8316
(ตั้งอยู่ในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ)
Website: www.sb4af.org
E-mail: info@sb4af.org

ทำไมจึงเหมาะที่จะที่จะใช้ Password เพื่อทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ

ทำไมจึงเหมาะที่จะที่จะใช้ Password เพื่อทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษ

ง่ายที่จะรับการทดสอบ

ระบบทดสอบ Password มีบริการให้ตามความต้องการจากทุกศูนย์ให้บริการทดสอบของ Password (Accredited Password test centres) ที่มีอยู่ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องจองหรือลงทะเบียนล่วงหน้าเป็นเวลานาน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกล เพื่อจะไปทดสอบ เพราะระบบทดสอบ Password สามารถให้บริการทดสอบได้ โดยไม่จำกัดเรื่องเวลา และสถานที่

ง่ายที่จะทดสอบ

ระบบทดสอบ Password ใช้เวลาในการทดสอบเพียง 60 นาที ในระบบทดสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตช่วยนี้ มีระบบนำทาง (Navigate) และมีข้อทดสอบตัวอย่างในแต่ละส่วนที่ชัดเจน ทำให้ท่านรู้ชัดว่าในแต่ละส่วน ท่านต้องทำอะไรบ้าง

รู้ผลทันที

ระบบทดสอบ Password แสดงผลทันที่เมื่อทำการทดสอบเสร็จ ท่านจะได้รับทั้งผลทดสอบ และใบรับรอง (Certificate) ไม่จำเป็นต้องรอผลเป็นอาทิตย์เพื่อจะรู้ผลของคะแนนความสามาราถภาษาอังกฤษ การได้รู้ผลทันทีทำให้ท่านสามารถดำเนินการด้านต่างๆของท่านได้อย่างต่อเนื่องทันที

ค่าใช้จ่าย

ระบบทดสอบ Password มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าระบบทดสอบภาษาอังกฤษโดยทั่วไป
ท่านพร้อมที่จะรับการทดสอบด้วย Password หรือยัง

หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม เข้าไปที่ http://pracob.blogspot.com แล้วพิมพ์คำว่า "Password" ในช่องสืบค้นทางมุมบนด้านซ้ายของ website เพื่อหาข้อเขียนต่างๆที่เกี่ยวกับ Password และหากท่านต้องการทราบรายลเเอียดเกี่ยวกับ Password ที่เป็นภาษาอังกฤษ จากแหล่งโดยตรง ให้เข้าไปที่ www.englishlanguagetesting.co.uk

หรือติดต่อได้ที่

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
ห้อง 2 -106 (อาคาร 2 ชั้น 1) เลขที่ 2/1
ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5
โทรสาร 0-2354-8316
(ตั้งอยู่ในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ)
Website: www.sb4af.org
E-mail: info@sb4af.org

Friday, July 3, 2009

ระบบการจัดกา้รด้านงานพิมพ์ของมูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย (SB4AF)

เรียนท่านผู้อยู่ในวงการการตลาดของหนังสือและตำราเรียน

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย ได้รับสิทธิการจัดพิมพ์ และำจำหน่ายหนังสือ และคู่มือการเรียนการสอนทักษะคอมพิวเตอร์ ตามมาตรฐาน International Computer Driving Licence (ICDL) ที่ได้รับความเชื่อถือในระบบทดสอบทั่วโลก และมีการจัดสอบไปแล้วกว่า 30 ล้านครั้ง มีผู้สอบผ่านไปแล้วกว่า 9 ล้านคน

มูลนิธิฯ ต้องการ Strategic Partner ที่เสริมความเข้มแข็งที่จะดำเนินกิจการไปในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นสำนักพิมพ์ ศูนย์หนังสือ สายส่งการจัดจำหน่าย สนใจมีรายละเอียดตาม Link ที่ให้ต่อไปนี้ั

http://www.itie.org/eqi/modules.php?name=Journal&file=display&jid=1143

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
ห้อง 2 -106 (อาคาร 2 ชั้น 1) เลขที่ 2/1
ถ.พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์. 0-2354-8254-5
โทรสาร 0-2354-8316
(ตั้งอยู่ในวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ)
Website: www.sb4af.org
E-mail: info@sb4af.org