ผมได้เขียนบทความเล็กและใหญ่รวมกว่า 1,800 รายการ ปัจจุบันอาศัยการเชื่อมโยงการเขียนงานกับ Facebook > Pracob Cooparat บทความใดที่ดูจะเป็นประโยชน์และต้องการการขยายความ ก็จะรวบรวมเขียนไว้ใน Webiste: My Words นี้ ซึ่งสามารถค้นหาได้ด้วย Google ตามลักษณะเนื้อหาที่สนใจ
Friday, April 30, 2010
มองโลกในแง่ดี
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
Keywords: Cw022, Proverbs, สุภาษิต
Kahlil Gibran: กล่าววจีที่น่าจดจำเป็นภาษาอังกฤษว่า “The optimist sees the rose and not its thorns; the pessimist stares at the thorns, oblivious of the rose.” หมายความ ได้ดังนี้
ในกุหลาบช่อเดียวกัน คนที่มองโลกในแง่บวก (Optimist) เขาจะมองเห็นดอกกุหลาบที่สวยงาม โดยมองข้ามส่วนที่เป็นหนามแหลม แต่สำหรับคนที่มองโลกในแง่ลบ (Pessimist) เขาจะจ้องมองแต่หนาม โดยลืมมองเห็นดอกกุหลาบที่สวยงามนั้น
ท่านทั้งหลาย ในวันนี้ หากเราอ่านข่าวการเมือง เราจะพบมีแต่ความขัดแย้ง เรื่องของเสื้อสีเหลือง สีแดง พรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลออกมาโจมตีกัน แต่เราอาจมองในอีกแง่หนึ่ง มองในแง่ดีที่เขาออกมาโจมตีกันด้วยวาจา ยังไม่ได้ใช้อาวุธเข้าประหัตประหารกัน เราได้ยินข่าวคนสูงอายุ ญาติผู้ใหญ่ที่กำลังจากไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราต้องคิดถึงว่าในแต่ละปี เรามีเด็กเกิดในในประเทศไทยเกือบปีละล้านคน ในวันนี้เรามีอาหารการกินดี ไม่มีอดอยาก คลื่นลูกเก่ากำลังจะหมดไป คลื่นลูกใหม่ก็เข้ามาแทนที่ และดูเหมือนจะแรงมีพลังมากกว่าเดิม
ผมเป็นคนเกษียณแล้ว ผมมองอนาคตอย่างไม่สิ้นหวัง เราได้ทำสิ่งต่างๆให้ดีที่สุด แล้วอะไรมันจะเกิด มันก็เกิด แต่ระบบสังคมมันจะมีกลไกการแก้ปัญหา มีการส่งต่อกันไป จะมีคนรับผิดชอบใหม่ๆเข้ามา หากเราเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ เราก็มอบงานให้เขา ส่งต่องานและความรับผิดชอบให้เขา พร้อมให้คำแนะนำเป็นพี่เลี้ยงเขาไปสักระยะ แล้วเขาก็จะเดินทางต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง การห่วงมาก ไม่ปล่อยมือนั่นแหละจะเป็นตัวปัญหา
สำหรับประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา สังคมไทยมีความแข็งแรงพอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้เราเชื่อมั่นในคนรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา ให้กำลังใจเขา สำหรับตัวเราเอง เราก็เลือกใช้ชีวิตอย่างที่เราปรารถนา ทำงานในสิ่งที่เรารัก ไม่ใช่ด้วยความกังวล หากจะเหน็ดเหนื่อย ก็ขอให้เหนื่อยอย่างสนุก โลกจะสดใส หากเรามองโลกในแง่ดี “What a Wonderful World.”
บทบาทของสื่อสารมวลชนในประเทศไทย
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การเมืองการปกครอง, conflict, ความ ขัดแย้ง, สื่อสารมวลชน
“ความคิดเห็นที่ผิดๆ ยังพอรับได้ หากที่นั้นการใช้เหตุผลยังเป็นไปได้อย่างเสรีเพื่อหักล้างสิ่งผิดพลาดเหล่านั้น” Thomas Jefferson
Errors of opinion may be tolerated where reason is left free to combat it. - Thomas Jefferson
ในสมัยก่อนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศฝรั่งเศส ในราวปี ค.ศ. 1789 จะมีคนประเภทเป็นนักพูด เวลามีศัตรูการเมืองที่ไหน ก็ชักจูงคนด้วยวาจาให้ไปถล่มคู่ต่อสู้ อำนาจจึงขึ้นอยู่กับปากและปลายปากกา ส่วนฝูงชนนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมืออย่างหนึ่งของนักการเมืองที่จะลากจะจูงไปจุดมุ่งหมายดังประสงค์ และเพราะการเมืองที่ไม่รับผิดชอบ และคนขาดการศึกษา จึงนำพาประเทศไปสู่ความสับสน จนท้ายสุด ระบบสาธารณรัฐ (Republic) ของฝรั่งเศสก็ไม่เข้มแข็งและกลายเป็นมีระบบกษัตริย์กลับมาปกครองในระยะต่อมา
ในสหรัฐอมริกา แม้เป็นประเทศใหม่ที่ยังป่าเถื่อน แต่เขารักษาหลักการของประชาธิปไตยในแบบสาธารณรัฐอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่เริ่มประกาศอิสรภาพ ในค.ศ. 1776 ขณะเดียวกันก็คือการเริ่มประชาธิปไตยอย่างที่คนรุ่นแรกเริ่มงานอย่างเสียสละ George Washington เป็นผู้ได้รับความเคารพที่ไม่ยอมรับตำแหน่งเกินกว่า 2 สมัยหรือรวม 8 ปี อ้นเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้นำในยุคหลังๆ นักต่อสู้ผู้รักชาติที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในยุคแรกต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศใหม่นี้จึงได้รับฉายาว่า “บิดาผู้ก่อตั้ง” หรือ The Founding Fathers
ส่วน Thomas Jefferson ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สามของประเทศ ก็มีความเป็นนักหลักประชาธิปไตย ทั้งพูดและเขียนที่เป็นหลักการของประชาธิปไตยที่ทำให้คนได้รับรู้ เรียนรู้ และเดินตาม ในหลักการประการหนึ่ง คือเสรีภาพของคนที่จะแสดงออกได้อย่างเสรี แม้จะไม่ถูกต้อง แต่ใช้หลักว่า ตราบเท่าที่คนทุกฝ่ายมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี คนฟังได้มีสิทธิฟังอย่างกว้างขวางหลากหลายและมีทางเลือกที่จะพิจารณา ประกอบกับฝ่ายมีอำนาจ ก็จะไม่สามารถมีอำนาจอย่างล้นฟ้า อำนาจสามฝ่าย อันได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ล้วนดำรงอยู่อย่างมีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน และฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือ ดังประธานาธิบดี ก็ไม่อยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานานเกินจำเป็น ดังนั้นประชาธิปไตยของสหรัฐจึงอยู่ยั้งยืนยงอย่างมีดุลยภาพมาจนถึงปัจจุบัน
ระบบเสรีภาพของสื่อ ก็เป็นเสรีภาพที่คนยึดถือเป็นหลักการ และทำให้สิทธิในการแสดงออก และการรับรู้เป็นหลักการประชาธิปไตยที่สำคัญตราบจนปัจจุบัน นั่นคือการยืนอยู่บนหลักการที่ว่า “สื่อต้องเป็นสื่อที่เสรี และรับผิดชอบ” และขณะเดียวกัน ต้องสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี โดยปราศจากการคุกคามข่มขู่
Thursday, April 29, 2010
สงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War)
สงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War)
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การเมืองการปกครอง, conflict, ความขัดแย้ง
“ฉันเดินช้า แต่ไม่เดินถอยหลัง” Abraham Lincoln
ในราวปี ค.ศ. 1862 ลินคอล์น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ยึดหลักการต้องเลิกระบบทาสในสหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินใจในการมอบหมายคนผิดหลายครั้ง เมื่อรัฐฝ่ายใต้ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับการเลิกทาส จึงได้เกิดการแยกออกเป็นฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ กลายเป็นสงครามกลางเมือง (American Civil War) ที่ขมขื่นที่สุดของประเทศสหรัฐ สงครามกลางเมืองไม่ได้จบง่ายๆอย่างที่ต้องการ แต่ในท้ายที่สุดก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล และได้ทำให้กฎหมายเลิกทาสเป็นความศักดิ์สิทธิ
สงครามเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 และยุติลงเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1865 บริเวณที่มีการรบพุ่งกัน คือ Atlantic Ocean ไปจนจรด Pacific Ocean และจบลงด้วยชัยชนะของรัฐบาลในฝ่ายเหนือ และทำให้เกิดการเลิกทาส และการต้องปรับปรุงประเทศใหม่ซึ่งใช้เวลายาวนานจนถึงปี ค.ศ. 1877
สงครามกลางเมืองอเมริกัน หรือ The American Civil War (ค.ศ. 1861–1865) เป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐ โดยรัฐทางฝ่ายใต้ ซึ่งมีอยู่ 11 รัฐได้ประกาศแยกตัว (secession) ออกจากประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วเรียกตัวเองว่า Confederate States of America หรือเรียกว่า “Confederacy” ซึ่งนำโดย Jefferson Davis ซึ่งต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลที่ยังคงเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเรียกว่า the Union ซึ่งเป็นรัฐที่เรียกว่า “รัฐเสรี” (free states) ซึ่งมีรัฐที่มีชายแดนติดกับรัฐที่ยังไม่เลิกทาส 5 รัฐ (five border slave states)
ในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในนามพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ซึ่งนำโดย Abraham Lincoln ได้รณรงค์ต่อต้านการขยายการมีทาสไปยังรัฐนอกจากที่ได้มีการค้าทาสอยู่แล้ว พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะ ก่อนที่ประธานาธิบดีลินคอล์นจะเข้าสู่ตำแหน่งในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1861 ประธานาธิบดี James Buchanan ที่กำลังจะหมดวาระและลินคอล์นที่จะเข้าสู่ตำแหน่งล้วนต่อต้านการยอมรับการมีทาส และเห็นว่ารัฐที่ยังคงค้าทาสนั้นเป็นฝ่ายกบฏ (rebellion)
James Buchanan
ความขัดแย้งรุนแรงได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 เมื่อกองทหารฝ่ายใต้ได้เข้าโจมตีกองทหารของรัฐบาลที่ประจำ ณ Fort Sumter และ South Carolina ประธานาธิบดีลินคอล์นจึงประกาศเกณฑ์ทหาร จากแต่ละรัฐ จึงทำให้มีรัฐอีก 4 รัฐได้ประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐ และแต่ละฝ่ายได้ระดมกำลังจัดตั้งกองทัพของตนเอง ฝ่ายรัฐบาล หรือ The Union ได้เข้าควบคุมรัฐบริเวณชายแดนก่อนแล้วมีการปิดกั้นทางกองเรือ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1862 ลินคอล์นได้ประกาศเลิกทาสที่เรียกว่า Emancipation Proclamation เป็นการประกาศเลิกทาสในรัฐทางใต้เป็นเป้าหมายของสงคราม และบอกให้ฝ่ายประเทศอังกฤษไม่ให้เข้ายุ่งเกี่ยวกับสงคราม
ฝ่ายใต้ได้แม่ทัพชื่อ Robert E. Lee ได้รับชัยชนะในทางตะวันออก แต่ในปี ค.ศ. 1863 แต่การรุกไปทางเหนือได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงและพบกับความเสียหายหนักหลังสงครามสำคัญที่ Battle of Gettysburg และในทางตะวันตก ฝ่ายเหนือได้ชัยชนะในบริเวณแม่น้ำ Mississippi River สามารถเข้าครอง (capture) Vicksburg,ในรัฐ Mississippi ทำให้ฝ่ายใต้ต้องแยกเป็นสองส่วน ทำให้ฝ่ายเหนือได้รุกคืบทั้งกำลังคนยุทโธปกรณ์
ในขณะที่นายพลนำทัพฝ่ายเหนือ โดย William Tecumseh Sherman สามารถเข้ายึดครองเมือง Atlanta ในรัฐ Georgia แล้วรุกคืบไปจนถึงฝั่งทะเล ฝ่ายใต้ได้ต่อสู้แต่ก็ต้องยอมแพ้ไปในที่สุดและนายพล Lee ได้ยอมจำนนต่อนายพล Grant ที่ Appomattox Court House
สงครามกลางเมืองได้เข้าสู่ยุค “สงครามอุตสาหกรรม” (industrial wars) มีการใช้รถไฟ เรือกลไฟ มีการผลิตอาวุธและยุทโธปกรณ์อื่นๆแบบอุตสาหกรรม สงครามนำความเสียหายอย่างรุนแรง มีทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต 620,000 คน ส่วนพลเรือนเสียชีวิตนับไม่ถ้วน ชายในฝ่ายเหนือในวัย 20-45 ปี ร้อยละ 10 เสียชีวิต ในส่วนของฝ่ายใต้ ร้อยละ 30 ของคนในวัย 18-40 ปีที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเสียชีวิต การที่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายเหนือได้รับชัยชนะ จึงทำให้ยกเลิกการมีทาส การค้าทาส และเพิ่มความแข็งแกร่งของการมีรัฐบาลกลาง (federal government) ส่วนการฟื้นฟูประเทศนั้นใช้เวลายาวนานจนถึงปี ค.ศ. 1877
Thursday, April 22, 2010
มารู้จักประเทศฟิจิ (Fiji)
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การเมืองการปกครอง, ประเทศ ฟิจิ, Fiji, ความเป็นผู้นำ
ภาพ ภาพถ่ายชนพื้นเมืองนักรบชาวฟิจิความนำ
ฟิจิอาจเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกด้วยการมีทีมรักบี้ที่แข็งแกร่งระดับแข่งขันกับประเทศที่เป็นสุดยอดอย่างนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อัฟริกาใต้ ฝรั่งเศส หรืออังกฤษได้ ทั้งๆที่เป็นประเทศชาวเกาะขนาดเล็กๆแห่งหนึ่ง คนฟิจิโดยทั่วไปที่เราพบคือมีผิวดำหรือเข้ม ร่างกายใหญ่โต แข็งแรง อดทนแบบชนพื้นเมืองชาวเกาะ
ฟิจิ (Fiji) เป็นชาติที่มีความเป็นเกาะ อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ (South Pacific Ocean) อยู่ห่างจากประเทศนิวซีแลนด์ (New Zealand's North Island) ไปทางตอนเหนือประมาณ 2000 กิโลเมตร มีเพื่อนบ้านโดยรอบ คือ Vanuatu, New Caledonia, Kermadec, Tonga, Wallis and Futuna และ Tuvalu
ประเทศฟิจิมีเกาะรวมกว่า 300 เกาะ มีที่มีคนอาศัยอยู่เป็นหลัก 110 เกาะ มีพื้นที่รวม 18,300 กิโลเมตร มีเกาะหลักอยู่สองแห่ง คือ Viti Levu และ Vanua Levu ซึ่งสองแห่งนี้มีคนรวมกันเป็นร้อยละ 87 ของทั้งหมดของประชากรที่มีอยู่ 850,000 คน โดยมีเมืองใหญ่สุดและเป็นเมืองหลวง คือ Suva หรือใหญ่กว่าบรูไน (Brunei) ประมาณ 2 เท่า
การเมืองของประเทศฟิจิมีความสับสนด้วยการอยู่ร่วมกันของชนกลุ่มต่างๆไม่ราบรื่น ระหว่างชนพื้นหลักและชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะพวกเชื้อสายอินเดีย และเป็นเหตุให้มีการทำปฏิวัติรัฐประหารกันมาในปี ค.ศ. 1987, อีกหนึ่งครั้งต่อมาในปี ค.ศ. 2000, และในปลายปี ค.ศ. 2006 โดยที่อิทธิพลของฝ่ายทหารได้มีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 โดยชนกลุ่มน้อยที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจได้ลดลง อาจโดยการย้ายไปประกอบอาชีพและการลงทุนในประเทศอื่นๆ
ในปี ค.ศ. 2006 ได้มีการยึดอำนาจโดยทหารอีกครั้ง โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดชื่อ Josaia Voreqe (Frank) Bainimarama โดยยึดอำนาจในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ซึ่งยังคงมีอำนาจอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่เพราะความเป็นประเทศเผด็จการทหาร จึงไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกโดยเฉพาะสังคมตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดความชะงักงัน
ผู้นำประเทศ
ภาพ Frank Bainimarama
ผู้ปกครองของฟิจิในปัจจุบัน Commodore Josaia Voreqe Bainimarama, CF, MSD, OStJ, Fijian Navy, รู้จักกันในชื่อ Frank Bainimarama และบางทีเรียกกันในชื่อตำแหน่งว่า Ratu[2] เกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1954 เป็นผู้นำทหาร นักการเมือง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รักษาการนายกรัฐมนตรี เขารับหน้าที่ตำแหน่งบริหารเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ดังได้แก่ กระทรวงข่าวสาร (Information), มหาดไทย (Home Affairs), กระทรวงคนเข้าเมือง (Immigration),[3] บริการสาธารณะ (Public Service), กระทรวงดูแลคนเผ่าต่างๆ (Indigenous and Multi-Ethnic Affairs),[4] กระทรวงการคลัง (Finance),[5] และกระทรวงการต่างประเทศ (Foreign Affairs).[6]
ในวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2009 ฟิจิเป็นชาติแรกที่ได้ถูกขับออกจากการเป็นสมาชิก Pacific Islands Forum เพราะไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ภายในวันเวลาที่กำหนด
ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2009 ฟิจิได้ถูกถอนความเป็นสมาชิกของชาติ Commonwealth of Nations เพราะไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ตามเวลาที่กำหนด
แต่ Bainimarama ได้ให้เหตุผลว่า การที่เขาไม่เร่งให้มีการเลือกตั้งนั้นเป็นเพราะระบบออกเสียงให้ความได้เปรียบแก่ชาวฟิจิที่เป็นชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่เป็นเชื้อสายอินเดีย ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 38 ส่วนคนส่วนใหญ่ของประเทศคือร้อยละ 54.3 เป็นพวกเชื้อสายชาวเกาะพวก Melanesians
เศรษฐกิจของฟิจิ (Economy)
ภาพ ลักษณะประเทศชาวเกาะในแปซิฟิกใต้
รองมาพิจารณาสภาพเศรษฐกิจของฟิจิ เศรษฐกิจของฟิจิขึ้นอยู่กับทรัพยากรป่าไม้ แร่ธาตุ ปลาในทะเล และจัดเป็นประเทศชาวเกาะที่พัฒนาแห่งหนึ่งในหมู่เกาะแปซิฟิก ในด้านทรัพยากรธรรมชาติมีป่าไม้ ปลาและสัตว์น้ำ ทอง ทองแดง มีน้ำมันนอกชายฝั่ง มีเขื่อนพลังน้ำ ในช่วงปีทศวรรษที่ 1960s และปี 1970s ได้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่มาหดตัวในช่วงปีทศวรรษที่ 1980s การรัฐประหารในปี ค.ศ. 1987 ได้ทำให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก แต่ในระยะหลังจากนั้นได้มีการปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นเสรียิ่งขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (Garment industry) แม้จะมีความไม่แน่นอนในเรื่องที่ดินและอุตสาหกรรมน้ำตาล การที่สัญญาเช่าที่ดินสำหรับปลูกอ้อยได้หมดลง ขนาดของฟาร์มและประสิทธิภาพโรงงานลดลง ได้ทำให้ผลิตผลน้ำตาลลดลง แม้จะมีการสนับสนุนราคาน้ำตาลโดยกลุ่มประเทศ EU ประเทศฟิจินอกเหนือจาก Mauritius ได้เป็นผู้รับประโยชน์มากเป็นอันดับที่สองรองจาก Mauritius ในด้านการสนับสนุนราคาน้ำตาลนี้
นอกจากนี้ การขยายตัวของเขตเมืองและกิจการด้านบริการ (Service sector) ได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว มีการส่งออกน้ำตาลและการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยว โดยในปี ค.ศ. 2003 และปีต่อมามีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 430,800 คน แต่เพราะสัญญาเช่าที่ดินและสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินที่ไม่แน่นอน ประกอบกับความสับสนทางการเมืองเรื่องรัฐประหารทำให้เศรษฐกิจหดตัวในปี ค.ศ. 2000 และในปี ค.ศ. 2001 เศรษฐกิจเติบโตเพียงร้อยละ 1 แต่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วโดยกลับมาเท่ากับเมื่อก่อนการรัฐประหาร ในปี ค.ศ. 2003 และ 2004 เศรษฐกิจได้เติบโตปีละ 1.7 ปี ค.ศ. 2005 และ 2006 ปีละ 2.0 อัตราอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 3.5 แต่ก็ไม่ช่วยทำให้ประเทศลดภาวะหนี้สิน และการลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ช่วยทำให้เพิ่มอัตราการส่งออก แต่เพราะเป็นประเทศชาวเกาะที่มีธรรมชาติที่สวยงามทั้งป่าเขาและท้องทะเล และการที่ราคาจำนองที่ดินอสังหาริมทรัพย์ (Commercial Mortgage Rate) ที่ลดลง ทำให้มีการลงทุนเข้ามาซื้อที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น
ระบบการค้าของฟิจิได้ถูกวิพากษ์จากการปกครองภายใต้เผด็จการทหารจากนานาประเทศ ในปี ค.ศ. 2008 นายกรัฐมนตรีรักษาการและหัวหน้าคณะปฏิวัติ Frank Bainimarama ได้ประกาศว่าเขาต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ทำให้ต้องถอนตัวจากกลุ่มประเทศ Pacific Islands Forum ในระหว่างนี้ Bainimarama ได้พบกับนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Kevin Rudd และนายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ Helen Clark ซึ่งเป็นแรงกดดันที่ต้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
Tuesday, April 20, 2010
เป็นผู้นำต้องใจกว้าง
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การเมือง การปกครอง, ผู้นำ, คำขวัญ
“The best way to destroy an enemy is to make him a friend.” Abraham Lincoln
“ทางที่จะทำลายศัตรู คือการทำให้เขาเป็นมิตร” คำกล่าวของประธานาธิบดี Abraham Lincoln ผู้นำสหรัฐในช่วงสงครามกลางเมือง (American Civil War) หรือสงครามเลิกทาส
การทำลายศัตรูในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการต้องใช้อาวุธไปประหัสประหารผู้คน แต่การที่เราสามารถเปลี่ยนคนที่เขาไม่เห็นด้วยกับเรา ไม่เข้าใจเรา แต่เขาอาจเป็นคนดีที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองหรือสิ่งที่ใหญ่กว่า แล้วเรานำเขามาใช้งาน ให้เขาได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สังคมส่วนใหญ่ก็ได้ประโยชน์ เราเองก็เหนื่อยน้อยลง
ในช่วงแห่งความวิกฤติก่อนและระหว่างสงครามกลางเมือง ลินคอล์นได้แต่งตั้งคนที่เคยเป็นคู่แข่งทางการเมืองของเขาเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ หากคิดแบบไทยๆก็คือการมี “หอกข้างแคร่” แต่เพราะความที่เขาเป็นคนยิ่งใหญ่ และไม่ได้คิดเฉพาะเรื่องที่เป็นตัวของเขาเอง การแต่งตั้งคู่แข่งที่เป็นคนมีความสามารถ มีพลังทางการเมือง แม้จะแพ้เขาในการแข่งขันไปแล้ว แต่ความสามารถเฉพาะของคนๆนั้น ย่อมสำคัญกว่าความสวามิภักดิ์เป็นส่วนตัว
ในเรื่องการใช้คนให้เหมาะกับงานนี้ เขาจึงมีคำแนะนำว่า ให้เลือกคนหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากกว่าเพื่อนซี้ (Crony, buddy) อันว่า เพื่อนซี้หรือเพื่อนกินเพื่อนเที่ยวนั้น ก็ให้ถือว่าเป็นเพื่อนส่วนตัว แต่หากเขาไม่มีความสามารถ เราแต่งตั้งคนที่ไม่มีความสามารถเข้าไปทำหน้าที่ เพราะความใกล้ชิดเป็นส่วนตัวนั้น ท้ายที่สุดเท่ากับไปสร้างศัตรู แต่ในทางตรงกันข้าม การแต่งตั้งคนที่เป็นฝ่ายที่เคยเป็นปรปักษ์ต่อกัน แต่อาจมีอุดมการณ์บางอย่างร่วมกัน เกิดการแบ่งปันอำนาจ ลดแรงต้านจากศัตรู ดังนี้ก็จะเป็นผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในยุคของประธานาธิบดี Barrack Obama แห่งสหรัฐอเมริกา ก็ได้แต่งตั้ง Hilary Clinton คู่แข่งในการเป็นตัวแทนพรรค Democrat เป็นประธานาธิบดี ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นหน้าตา และกระบอกเสียงของประเทศ และในการแต่งตั้งนี้ เท่ากับไปลดความบาดหมางจากฝ่ายต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและชนกลุ่มน้อยดังพวกเชื้อสายเมกซิกันและลาติน (Mexican American, Latino) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ในทางการเมืองนั้น จึงมีคำขวัญว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร” แม้คนที่เคยเป็นศัตรูกัน รบกัน แต่เพื่อประโยชน์ของสิ่งที่ใหญ่กว่า การที่ต้องกลับมาคืนดีกัน ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ ต้องไม่นำเรื่องส่วนตัวให้กลายเป็นความบาดหมางที่ขยายวงกว้างออกไป และในด้านกลับกัน ต้องไม่นำเรื่องการเมืองที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าตนเอง ให้กลายเป็นความบาดหมางต่อกันในบ้าน ในชุมชน
Monday, April 19, 2010
วิวาทะประชาธิปไตย
วิวาทะประชาธิปไตย
Updated: Monday, April 19, 2010
บันทึกจากชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2553
ฉาก – วินมอเตอร์ไซค์ในตรอกแห่งหนึ่ง มีคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลุ่มหนึ่งประมาณ 4-6 คนกำลังนั่งรอลูกค้าในช่วงบ่ายวันหนึ่ง
รถบรรทุกทหารขับออกจากหน่วยงานราชการหนึ่งที่เป็นเวรสับเปลี่ยน รถ GMC ขนาดกลาง มีทหารนั่งมาด้วยสัก 7-10 คน เสียงดีงกระหึ่มไปทั่วถนน
“เมื่อไรมันจะไปตายห่าซะ” หนึ่งในคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างบ่นออกมาไม่ดังนัก
ชายผู้ใหญ่ทำการค้าย่านนั้นคนหนึ่ง ที่คุ้นเคยกับมอเตอร์ไซค์โดยใช้บริการส่งจดหมายและเอกสารด่วนจากวินมอเตอร์ไซค์ย่านนั้นดี จึงเข้าไปถามว่า “ทำไมคุณถึงต้องไปเกลียดทหารเขา เขาเป็นผู้น้อยต้องไปทำหน้าที่” ชายผู้ใหญ่กล่าวต่อไปว่า "คุณรู้ไหม หากการชุมนุมนานวันไปเรื่อยๆ ใครจะเดือดร้อน ก็พวกคุณทุกคน ผมด้วย แล้วมีใครได้อะไร"
หนุ่มวินมอเตอร์ไซค์คนหนึ่งเงยหน้าขึ้นมา ไม่คิดว่าจะมีใครกล้ามาถาม
“พวกผมก็ไม่ได้อะไร แต่ก็จะไม่ยอมเลิกชุมนุมเหมือนกัน ก็อยู่กันไปอย่างนี้แหละ” เขากล่าวถึงการชุมนุมโดยคนเสื้อแดงที่ถนนราชประสงค์ที่ดำเนินต่อเนื่องกันมา "ผมก็เรียกร้องเพื่อให้ยุบสภา และเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว"
“ทำไมจะรอให้ถึงเวลา สัก 6-9 เดือนแล้วมาเลือกตั้งกัน มันจะต่างกันตรงไหน” ชายผู้ใหญ่ถาม
“แล้วถ้าการเลือกตั้งช้าออกไป พวกพรรครัฐบาลก็จะได้ไปโกงกิน มีเงินงบประมาณตั้งมากมาย หลายแสนล้านบาท พวกนี้ก็ไปคอรัปชั่นกัน” หนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ให้เหตุผล และบรรดาเพื่อนกลุ่มเขาต่างแสดงสีหน้าท่าทางเห็นด้วย “รัฐบาลปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน ดูสิอดีตนายกฯ (พลเอกสุรยุทธ จุฬานนท์) มีที่ดินบ้านที่เขายายเที่ยง ที่ผิดกฏหมาย ทำไมไม่โดนจับ ที่คนจนอยู่ข้างล้างโดนจับกันหมด คนอยู่บนยอดเขากลับไม่โดน”
ชายผู้ใหญ่จึงตอบไปว่า “ก็แล้วเขาก็ยึดที่ดินคืนไปแล้วมิใช่หรือ”
กลุ่มเด็กหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์จึงตอบว่า “ก็ยึดคืนไปแล้ว ไม่เห็นต้องไปติดคุกเหมือนคนจนตีนเขาเลย อย่างนี้ก็สองมาตรฐาน” เขาคงหมายความว่า "ต้องให้อดีตนายกฯ สุรยุทธต้องไปติดคุกด้วย เพราะคุณทักษิณ มีเรื่องไปรับทราบการซื้อที่ดินจากราชการบริเวณถนนรัชดา ก็ซื้อมาถูกต้อง ทำไมนายกทักษิณต้องได้รับโทษติดคุกสองปี แต่อดีตนายกอีกคนหนึ่ง ไม่ติดคุก"
ชายผู้ใหญ่มองเห็นว่า หากจะต้องเถียงเรื่องนี้ต่อไป คงอีกนาน และไม่มีทางแพ้ชนะ จึงกลับไปที่เรื่องการชุมนุมที่ยืดเยื้อ
“คุณรู้ไหมหากการชุมนุมยืดเยื้อออกไป ทุกคนก็เดือดร้อน เศรษฐกิจทรุดอีกที ทุกคนก็ต้องเดือดร้อน” ชายผู้ใหญ่ถามซ้ำอีก
“ก็ไม่เป็นไร เราก็ทนๆกันไป” หนุ่มวินมอเตอร์ไซค์กล่าว หมายความว่า เขาไม่สนใจ มองอีกที เขาอาจจะอยากบอกว่า พวกผมมันจนอยู่แล้ว ไม่มีอะไรจะจนไปกว่านี้อีก
“คุณกำลังต่อสู่ให้กับคุณทักษิณหรือ” ชายผู้ใหญ่ถาม
“ผมไม่ได้ต่อสู้ให้กับพี่เขาหรอก แต่ก็อยากถามว่า แล้วทำไมต้องไปรังแกพี่เขา” หนุ่มมอเตอร์ไซค์ถาม “เขาทำผิดอะไรก้นหนักหนา จึงได้ไล่ทำร้ายเขา อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน อีกอย่างหนึ่ง ทีพวกพันธมิตร (พวกเสื้อเหลือง PAD) ไปปิดสนามบิน (Suvarnabhumi International Airport) จนเดี๋ยวนี้ ยังไม่เห็นมีใครต้องไปรับผิดสักคน” เรื่องนี้ คงต้องเถียงกันอีกนานเหมือนกัน
“ผมขอถามพวกคุณทุกคนที่นั่งอยู่นี้ มีใครสักคนไหมที่ได้อ่านคำพิพากษาคุณทักษิณ” (กรณีที่ถูกพิพากษายึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท จากยอมเงินทั้งหมด 76,000 ล้านบาท) ชายผู้ใหญ่ถาม
กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ได้แต่นั่งยิ้มเจื่อนๆ ไม่มีใครตอบ ชายผู้ใหญ่ได้ที จึงชี้นิ้วกวาดไปทุกคน “มีใครสักคนไหมได้อ่าน อ่านสักหน้าหนึ่งมีไหม” ไม่มีคำตอบ จริงๆ เขาคงไม่มีใครได้อ่านคำพิพากษากันสักคน และอาจไม่มีใครได้ฟังคำพิพากษานั้นๆด้วย และอาจรวมถึงชายผู้ใหญ่ที่ถามด้วย อาจได้อ่านคำพิพากษาอย่างย่อในหน้าหนังสือพิมพ์ ได้ฟังคำพิพากษาทางสื่อโทรทัศน์ แต่ก็คงไม่ได้อ่านทั้งเล่ม
วิวาทะจบลงอย่างไม่มีใครแพ้ชนะ แต่อย่างน้อยก็เป็นบรรยากาศที่ยังพูดกันได้ในชุมชนแต่ละแห่ง ชายผู้ใหญ่คนนั้นก็เดินเข้าร้านตนเอง ส่วนหนุ่มมอเตอร์ไซค์ ก็รอเวลาเลิกงาน เพื่อขับรับส่งผู้โดยสารอย่างที่เคยในแต่ละวัน
Sunday, April 18, 2010
เรื่อง คนเลี้ยงไก่ จาก หลวงพ่อชา
มีคนเลี้ยงไก่ 2 คน
คนที่ 1 ทุกเช้าจะเอาตะกร้า เข้าไปใน โรงเรือนเลี้ยงไก่ แล้วก็ เก็บ "ขี้ไก่" ใส่ตะกร้ากลับบ้าน!! แล้วทิ้งไข่ไก่ ให้เน่าไว้ในโรงเรือน เมื่อเขาเอาขี้ไก่กลับถึงบ้าน ทั้งบ้านก็เหม็นหึ่ง ไปด้วยกลิ่นขึ้ไก่ !!!
คนทั้งบ้านต้องทนกับกลิ่นเหม็น!!!
คน เลี้ยงไก่คนที่ 2 เอาตะกร้าเข้าไปในโรงเรือนเลี้ยงไก่ เก็บไข่ไก่ใส่ตะกร้าเอากลับบ้าน เขาเอาไข่ไก่ลงเจียว กลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบ้าน คนทั้งบ้านได้กินไข่เจียวแสนอร่อย ไข่ไก่ที่เหลือ เขาก็เอาไปขาย แล้วได้เงินมาใช้จ่ายในบ้าน ทุกคนในบ้านมีความสุขมาก.....
ในชีวิตของเรา พวกเรา เป็นคนเก็บ "ไข่ไก่ " หรือ เก็บ"ขี้ไก่"
เราเป็นคนเก็บ "ขี้ไก่" โดยเฝ้าแต่เก็บ เรื่องร้ายๆ แย่ๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเราไว้ในหัวของเรา และมีความทุกข์ตลอดเวลาที่คิดถึงมัน!!!
หรือเราเป็นคนที่เก็บ"ไข่ไก่" เราจดจำสิ่งที่ดีๆที่เกิดในชีวิตของเรา และมีความสุขทุกครั้งที่คิดถึงมัน!!
คน เราส่วนใหญ่ชอบเป็นคนเก็บ "ขี้ไก่"
เราถึงต้องเป็นทุกข์ตลอดเวลา เรื่องความเสียใจ ความผิดพลาด ความเจ็บใจฯลฯ มักจะติดอยู่ในใจของเรานานเท่านาน
ถ้าเราอยากมีความสุขในชีวิต เลือกเก็บ"ไข่ไก่" กับชีวิต
ทิ้ง "ขี้ไก่" ไปเถอะ ชีวิตของเราจะได้มีความสุขซักที...
บรรณาธิการ
ผมได้รับบทความนี้ที่ได้เวียนไปในกลุ่ม E-mail ทั้งหลาย เป็นเรื่องเล่าที่ทำให้คนเราได้สติถึงการจะดำรงชีวิตต่อไปว่า เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร เราจะปล่อยวางอะไรไปได้บ้าง และอะไรที่เราควรยังต้องรับผิดชอบ
สำหรับราษฎรในวัยอาวุโสอย่างผมและเพื่อนๆเป็นอันมาก ผมก็ถามตนเองอยู่เหมือนกันว่า เราจะดำรงชีวิตไปอย่างไร ปล่อยวางทุกอย่างในโลก เหมือนถือบวช หรือเราจะพอเลือกปล่อยวางในบางอย่าง และเลือกที่จะทำในบางอย่าง ผมเป็นครู และมีความสุขกับการสอน การให้ความรู้คน แต่การสอนของผมเปลี่ยนไป ผมเลือกที่จะสอนในสิ่งที่ผมไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องกังวลมาก ทำอะไรดีๆ แล้วก็แผ่เมตตา ไม่ยึดไม่ถืออะไรให้ต้องเหนื่อยใจ ควบคุมความโกรธหรือเกลียดในเรื่องใดๆ ให้ต้องมากระทบจิตใจ แล้วก็รู้สึกสบายใจ ชื่นชมกับโลกใบนี้ที่ไม่สมบูรณ์หรอก รักในบ้านเมืองนี้ที่ก็ไม่สมบูรณ์อีกเช่นกัน แต่หากเห็นว่าอะไรไม่ถูก ไม่ดี ก็จะแสดงความคิดเห็นอย่างไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเกรงใจ แต่ต้องด้วยความรักและปรารถนาดี ผมชอบท่องเที่ยว ได้เห็นในสิ่งใหม่ๆ ที่แม้เราอายุมากแล้ว แต่เราก็ยังเพิ่งเคยไป ไปแล้วก็มาเล่าให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็นได้ฟัง
ถูกหรือผิดไม่ทราบ แต่ผมก็มีความสุขในชีวิตที่เพียงพอ และไม่ต้องไปกังวลอะไรมากแล้ว มันเป็นชีวิตที่ผมได้เลือก และผมพอใจกับมัน
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
เรื่องของตำรวจ - เลี้ยงพังพอนเพื่อสู้กับงูเห่า
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: การเมืองการปกครอง, ธรรมชาติ, ตำรวจ, BKK-PD
พังพอน (Mongoose) มีธรรมชาติของการต่อสู้กับสัตว์ร้ายอย่างงูเห่า (Cobras) ได้ดี ดังนั้นจะเห็นได้จากชาวนาเกษตรกรในประเทศเอเชียใต้อย่างอินเดีย และชมพูทวีป จึงได้มีวัฒนธรรมการมีงูไว้ตามธรรมชาติเพื่อกำจัดหนู แต่ขณะเดียวกัน ก็มีพังพอน เอาไว้ควบคุมประชากรงู โดยเฉพาะงูใกล้บ้าน
ภาพ พังพอนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีหลายพันธุ์ ขนาดใหญ่กว่าแมว เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดเล็ก ขนาดความยาวหัวจดหางประมาณ 100-120 เซนติเมตร
ภาพ พังพอนกำลังต่อสู้กับงูเห่า
นายอำเภอยุคตะวันตก
ในทางการเมืองการปกครอง ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการขยายดินแดนไปทางตะวันตกเมื่อกว่า 150 ปีมาแล้ว ในยุคนั้น โอกาสในการทำมาหากินเป็นของทุกคน ตั้งแต่การเกษตร การขุดทอง การทำเหมืองแร่ แต่เพราะความที่มีแต่ชาวบ้านที่จะทำมาหากิน ไม่มีกลไกในการดูแลปกป้องตนเอง เมื่อมีอันธพาลเข้ามาครองเมือง ก็ไม่มีวิธีการที่จะดูแล หากปล่อยให้มีคนมีอาวุธมาข่มขู่เรียกเก็บค่าคุ้มครองกันตามใจชอบ เมื่อนั้นก็เท่ากับให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้กฎหมาย จึงมีการตกลงกันในระดับเมืองทั้งหลายที่จะมีนายอำเภอ (Sheriff) และผู้ช่วยที่จะทำหน้าที่ดูแลเมืองของเขา หากเมืองใหญ่น้อยก็จะมีการจ้างผู้ช่วยนายอำเภอ (Deputy) เพื่อช่วยงาน ในสภาพปกติ การดูแลความเรียบร้อยดังกล่าวก็พอเป็นไปได้ แต่หากกำลังพวกกลุ่มนอกกฎหมาย (Outlaws) มีมากและแข็งแกร่งกว่า นายอำเภอ ก็สามารถแต่งตั้งผู้ช่วยนายอำเภอจากชาวบ้านอาสาสมัครนั้นแหละเข้ามาช่วยงาน
ภาพ ตราที่นายอำเภอกลัดติดที่หน้าอก การแต่งกายในยุคแรกๆ ไม่มีเครื่องแบบที่ชัดเจน แต่ในปัจจุบันมีการแต่งเครื่องแบบที่ได้ออกมาในแต่ละเมือง เพื่อให้รู้ได้ชัดถึงความเป็นเ้จ้าหน้าีที่
นายอำเภอและผู้ช่วยเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นพังพอนที่คอยควบคุมประชากรงูเห่า หรือพวกโจร หรือพวกนอกกฎหมาย ชาวเมืองโดยผ่านนายกเทศมนตรีของเมืองทำหน้าที่เป็นนายจ้าง มีเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ชาวบ้านช่วยกันจ่ายในระบบภาษีอากร
แต่ในยามที่เมืองมีอันธพาลหรือกองโจรมากันเป็นสิบเป็นร้อย การที่คนทำหน้าที่ดูแลกฎหมายเพียงหยิบมือ ก็จะไม่เพียงพอ ก็ต้องมีการแต่งตั้งชาวบ้านชาวเมืองนี้แหละที่จะเป็นผู้ช่วยเพิ่มเติม เพราะบางครั้งจะรอให้กองกำลังทหารม้ามาลาดตระเวนนั้น คงไม่พอหรือไม่ทันกาล ดังนั้นการที่ชาวบ้านชาวเมืองเขารักษาสิทธิในการดูแลเมืองของเขาเองเป็นหลักนี้ จึงมีอยู่ในวัฒนธรรมและสายเลือด เมืองใหญ่ขึ้น เขาก็พัฒนาระบบ จากนายอำเภอ กลายเป็นระบบตำรวจประจำเมือง เขาไม่นิ่งดูดายปล่อยให้ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลระดับรัฐ (State Government) หรือรัฐบาลกลาง
ระบบการดูแลรักษากฎหมาย จึงเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เมืองแต่ละเมืองต้องมีระบบดูแลความเรียบร้อยของตนเองเป็นหลักพื้นฐานไว้ก่อน และเมื่อที่ใดมีปัญหา มีการดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญจึงค่อยเป็นหน้าที่ของรัฐบาลรัฐ หรือรัฐบาลกลางเข้าไปทำหน้าที่ดูแล ปัจจุบันเมืองในสหรัฐอเมริกามีขนาดใหญ่มีประชากรนั้นเป็นล้านๆคน แต่เขาก็ดูและเมืองของเขากันเอง โดยการเลือกนายกเทศมนตรี (Mayors) แล้วนายกเทศมนตรีนั้น ก็รับผิดชอบในหลายบริการของเมือง ตั้งแต่ระบบขนส่งมวลชน การศึกษา การสาธารณสุข การปกครองท้องถิ่น
การดูแลเมืองในปัจจุบัน
การดูแลเมืองในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก ในสหรัฐอเมริกามีประชากรกว่า 300 ล้านคน มีคนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกรต่ำกว่าร้อยละ 10 คนส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ที่มีขนาดแตกต่างกันไป เป็นเมืองเล็กๆ หรือเรียกว่า Towns หรือถ้าเป็นขนาดใหญ่ ก็จะเรียกว่า Cities
ภาพ สัญญลักษณ์ของกรมตำรวจแ่ห่งเมืองนิวยอร์ค (New York Police Department - NYPD)
เมืองใหญ่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา อย่าง New York City มีประชากรกว่า 8.5 ล้านคน มีหน่วยงานตำรวจของตนเอง เรียกว่า New York Police Department (NYPD) กำลังตำรวจของตนเองกว่า 35,000 คน มีกองกำลังตั้งแต่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ตำรวจสุนัข ตำรวจตรวจอ่าว หน่วยสนับสนุนท่าอากาศยาน หน่วยปลดระเบิด หน่วยต่อต้านการก่อการร้าย หน่วยสืบราชการลับ หน่วยต่อต้านแก๊งอันธพาล ยาเสพติด หน่วยดูแลระบบการขนส่งมวลชน หน่วยตรวจลาดตระเวนย่านที่พักอาศัย และในปัจจุบันมีหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ หน่วยตำรวจติดตามมีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเดอร์ หน่วยงานตำรวจนี้เป็นของเมือง กำกับดูแลผ่านนายกเทศมนตรี ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เสียภาษีเพื่อดูแลตำรวจ
ภาพ ตำรวจในเมืองอย่างนิวยอร์ค ใช้รถยนต์ในการลาดตระเวนไปตามถนน เพื่อดูแลรักษาความสงบ
เมืองในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดมีลักษณะดูแลความเรียบร้อย โดยเป็นกิจกรรมของเมืองเอง บางครั้งบ้านเมืองอ่อนแอ ถูกปกครองโดยอิทธิพลของมาเฟีย แต่ท้ายสุด ชาวบ้านก็ต้องใช้กลไกทางการเมือง เลือกคนอย่างที่เขาต้องการมาบริหารสร้างความเชื่อมั่นให้กับเมืองของเขา
มารู้จักพังพอน (Mongoose)
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
แปลและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia
Common Dwarf Mongoose, Helogale parvula
ความนำ
พังพอน หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Mongooses (Herpestidae) เป็นสัตว์จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันดับสัตว์กินเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Herpestes javanicus ในวงศ์ Herpestidae มีขนาดเล็ก ขนบนหัวมีสีน้ำตาลแดงจนถึงน้ำตาลเข้ม ขามีสีเดียวกับลำตัวหรือเข้มกว่าเล็กน้อย หางยาวประมาณ 2 ใน 3 ของลำตัส เมื่อตกใจจะพองขนทำให้ดูตัวใหญ่กว่าปกติ เพศเมียจะมีเต้านมทั้งหมด 3 คู่
มีความยาวลำตัวและหัว 35-41 เซนติเมตร ความยาวหางประมาณ 25-29 เซนติเมตร
พังพอนมีการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางมากตั้งแต่อิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย พม่า เนปาล รัฐสิกขิม บังกลาเทศ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซียและเกาะชวา จึงทำให้มีชนิดย่อยมากถึง 12 ชนิด
พังพอนชอบกินอาหารที่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่นแมลง ( insects), ปู (crabs), ใส้เดือน (earthworms), จิ้งจก (lizards), งู (snakes), ไก่ และลูกไก่ (chickens), สัตว์พวกหนูนา (rodents). พังพอนยังกินไข่ (eggs) และสิ่งเน่าเปื่อย ทรากสัตว์ (carrion)
พังพอนกับงูเห่า
ชาวนากับงูเห่า
งูมีคุณต่อชาวนา งูมีธรรมชาติที่เป็นสัตว์ลำตัวยาวเป็นเส้น สามารถเข้าไปอยู่ในโพลงต่างๆได้ดี และโดยธรรมชาติงูในภูมิภาคเอเซียตอนใต้อย่างไทยเราที่มีอากาศร้อนชื้นนี้ ชาวนามักจะผจญกับปัญหาหนูในนาระบาด หนูมักจะมากัดกินต้นข้าวและเมล็ดข้าวก่อให้เกิดความเสียหาย เขาจึงมักปล่อยให้มีงูไว้ตามทุ่งนา เอาไว้ควบคุมปริมาณหนู ซึ่งงูเหล่านี้มักจะเป็นงูที่เกิดและเติบโตตามธรรมชาติ ชาวนาไม่ได้เลือกเลี้ยง
แต่ในขณะเดียวกัน งูหลายๆพันธุ์ที่มีอยู่ตามธรรมชิตและในทุ่งนามีพิษร้าย เช่นในตระกูลงูเห่า (Cobras) งูจงอาง (King cobras) พิษร้ายระดับที่เมื่อคนถูกกัดแล้ว หากไม่มีเซรุ่มป้องกันพิษได้ทัน ก็จะถึงแก่ชีวิตได้ง่าย
แต่พังพอน (Mangoose) เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายแมว ขนาดจะโตกว่าแมวธรรมดาสักเล็กน้อย เกษตรกรบางส่วนดังในประเทศอินเดียหรือเอเซียใต้ จึงเลี้ยงพังพอนเอาไว้ควบคุมหรือจัดการกับงูเห่า หรืองูมีพิษทั้งหลาย และโดยธรรมชาติแล้ว พังพอนไม่กลัวงูเห่า เพราะมีความไว คล่องตัวในการหลบการฉกของงู แต่มีความเร็วเพราะมีเท้าสี่เท้าที่วิ่งประชิดงูได้จากหลายมุม
ภาพ พังพอนที่อยู่รวมกันเป็นฝูง
พังพอนเป็นสัตว์กินเนื้อ และสามารถล่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองได้ เพราะมีลักษณะกัดกิน ไม่ต้องกลืนเหยื่อทั้วตัวเหมือนกับงู โดยทั่วไปตามธรรมชาติจะมีลักษณะดุ แต่เมื่อมีคนที่ฝึกเลี้ยง ก็จะเชื่องเป็นสัวต์เลี้ยงในบ้านได้ ใช้เพื่อการควบคุมหนูและงูได้
ชาวนาในอินเดียที่มีงูในทุ่งนามากและก่อความเสียหาย จึงมีการเลี้ยงพังพอน และเลี้ยงก้นมากจนมีทักษะในการเลี้ยงเพื่อวัตถุประสงค์ และมีเสมอที่จะแสดงกิจกรรมเรียกคนดูและเก็บเงินดูจากคนในการดู “พังพอนสู้กับงูเห่า”
พังพอนจะสูญพันธุ์
สำหรับในประเทศไทยนั้น คนไทยมีวัฒนธรรมแปลกอย่างหนึ่งคือ การจับสัตว์มาทำเป็นอาหาร ดังนั้น ไม่ว่างูเห่า หรืองูประเภทใดก็มีการจับมาเป็นอาหาร และเมื่อมีหนูนาระบาด ก็มีชาวนาจับหนูมากินเป็นอาหาร โปรตีนสูงเหมือนกับกินไก่นา ยิ่งกว่านั้น คือเมื่อมีตั๊กแตนระบาด ชาวนาไทยก็สามารถจับตั๊กแตนมาทำเป็นอาหาร จนกลายเป็นอาหารราคาแพงเสียด้วย
คนไทยบางส่วนชอบกินอาหารป่าแปลกๆ ดังเช่น หมูป่า กวาง เม่น งู และรวมถึงพังพอนด้วย ดังนั้นสัตว์หายากหลายประเภที่สมัยก่อนมีอยู่ทั่วไป ในปัจจุบัน ต้องกลายเป็นสัตว์ป่าที่ต้องได้รับการคุ้มครอง
ปัจจุบันพังพอนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
Saturday, April 17, 2010
Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์
Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
From Wikipedia, the free encyclopedia
Facebook, Inc. | |
การก่อตั้ง
| |
ผู้ก่อตั้ง
| Mark Zuckerberg
|
สำนักงานใหญ่
| Palo Alto, California
|
เขตให้บริการ
| |
บุคคลหลัก
| Mark Zuckerberg (CEO)
|
รายได้ต่อปี
| |
คนทำงาน
| 1000+[3] |
การจัดอันดับ
| 2[4] |
ประเภทของ Site
| |
การโฆษณาAdvertising | |
การลงทะเบียน
| Required |
ภาษาที่ใช้
| |
เริ่มเมื่อ
| February 4, 2004 |
สถานะปัจจุบัน
| Active |
Facebook เป็นเครือข่ายสังคมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต(social networking) ดำเนินการโดยบริษัท Facebook, Inc อันเป็นเอกชน เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2006 โดยมีระบบเครือสมาชิกที่กว้างขวาง ใครก็ตามที่มีอายุกว่า 13 ปีมีระบบที่อยู่ไปรสณีย์ (E-mail address) แต่โดยทั่วไปจะมีสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กหรือวัยรุ่น ผู้เป็นสมาชิกสามารถเพิ่มสมาชิกที่เขารู้จักเข้าไปในเครือข่าย เพื่อให้เพื่อนเหล่านี้ได้ทราบว่า เขาได้เข้ามาสู่เครือข่ายสังคมแล้ว และสามารถส่งต่อข่าวสารกันผ่านเครือข่าย และขณะเดียวกัน ข่าวสารนั้นก็สามารถส่งสัญญาณผ่านไปยัง E-mail ที่ได้สมัครเข้าไป สำหรับสมาชิกนั้น สามารถจัดกลุ่มเครือข่ายสังคมตามสถานที่ทำงาน โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่เราสังกัด ลักษณะชื่อ Facebook กลายมาจากหนั้งสือที่สะสมหน้าของผู้เรียนในแต่ละมหาวิทยาลัยในแต่ละปี เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้จักกันและกันดีขึ้น
Facebook เริ่มโดย Mark Zuckerberg โดยร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นที่เรียนมาทางคอมพิวเตอร์ร่วมก้น Eduardo Saverin, Dustin Moskovitz แล Chris Hughes. นระยะเริ่มต้น สมาชิกผู้ก่อตั้งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาล้ยชั้นนำอย่าง Harvard ซึ่งอยู่ในบริเวณเมือง Boston และขยายไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำเก่าแก่ Ivy League, และ Stanford University แลต่อมได้ขยายไปย้งนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ และรวมไปถึงนักเรียนมัธยมศึกษา และท้ายที่สุดรวมไปถึงใครก็ตามที่มีอายุเกิน 13 ปี จนในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก