Wednesday, August 31, 2011

กฎข้อที่ 17 ทำให้คนตระหนกและกลัวความไม่แน่นอน

กฎข้อที่ 17 ทำให้คนตระหนกและกลัวความไม่แน่นอน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

Keep Others in Suspended Terror: Cultivate an Air of Unpredictability
ทำให้คนตระหนกและกลัวความไม่แน่นอน

กฎข้อ 17 นี้ไม่อยากให้ใช้ หากต้องใช้ก็ต้องเข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร แต่ที่แน่ๆมีคนเป็นอันมากที่เขาใช้กฏข้อนี้ เมื่อเขาไม่สามารถใช้วิถีทางปกติในการต่อสู้ได้

ตามคำอธิบายของกฎข้อนี้ มนุษย์มีนิสัยที่ต้องการเห็นสิ่งที่เขาคาดเดาคนอื่นๆได้ การที่เราเป็นคนมีนิสัยคาดเดาได้ (Predictability) ทำอะไรเป็นกิจวัตรตลอดเวลา ก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกควบคุมเราได้ ในทางกลับกัน หากเราเปลี่ยนเป็นคาดเดาไม่ได้ มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยคงเส้นคงวากับวัตถุประสงค์ จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามสับสนทำนายไม่ถูก และเขาจะเหน็ดเหนื่อยกับการต้องพยายามอธิบายว่าเราเคลื่อนไหวอย่างไร กฎข้อนี้คือ “ทำให้คนตระหนกและกลัวความไม่แน่นอน

ตัวอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแม้ในสังคมสหรัฐอเมริกา

เมื่อจะใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์ ก็ทำตนให้เป็นคนทำนายได้ยาก คู่ต่อสู้ไม่รู้ว่าจะทำจริงเมื่อใด หรือเมื่อใดเป็นของไม่จริง ในยุค ค.ศ. 1960s ที่ฝ่ายขวาที่เขาเรียกว่า Establishment เป็นคนรุ่นเก่าที่นิยมสงครามในสหรัฐ อเมริกาต้องเข้าเกี่ยวข้องทั้งสงครามเกาหลี และสงครามเวียตนาม คนหนุ่มถูกส่งไปรบ หญิงสาวต้องกลายเป็นหม้าย สงครามเวียตนามที่ถล่ำตัวเข้าไปดูเหมือนไม่มีทางออก แต่รัฐบาลและคนุร่นพ่อก็ต้องตระหนกและเป็นฝ่ายหวาดผวา กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ รุ่นลูกรุ่นหลานของเขาที่ใช้นโยบายการต่อต้านในทุกรูปแบบในประเทศ และปฏิเสธสิ่งที่คนรุ่นพ่อและแม่เคยเชื่อ

นักปฏิวัติในสังคมอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อ Saul D. Alinsky ได้เสนอแนวคิดของเขาชื่อ Rules for Radicals: A Pragmatic Primer for Realistic Radicals ซึ่งเสนอแนะให้ฝ่ายต่อสู้ใช้วิธีการเผชิญหน้า (confrontation) ใช้วิธีการที่สร้างความตระหนกให้คนชั้นกลางทั่วไป แต่ก็สามารถเรียกร้องความสนใจ และในท้ายสุดคือการกลับมาสนใจในปัญหาสังคม สงคราม และความไม่เท่าเทียมกันของคนในประเทศ

ในยุคปัจจุบัน มีฝ่ายใช้ความรุนแรง เรียกร้องให้คนส่วนใหญ่ต้องหันมาให้ความสนใจต่อประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเชื่อด้านศาสนาอย่างรุนแรงและสุดโต่ง ดังพวกที่เรียกว่า Muslim Extremists การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกชนชาติและประเทศ การเรียกร้องสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือความเชื่อด้านความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อย่างสุดขั้ว

Y2K Panic

ภาพ Y2K Panic มีพวกนักคอมพิวเตอร์เป็นอันมากที่สร้างความตระหนกจนกระทั่งเกือบทำให้สังคมหยุดนิ่ง เครื่องบินไม่บิน รอให้ผ่านพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านจากปีเริ่มต้นด้วย 19XX เป็น 20XX คือปีค.ศ. 2000

ในช่วงก่อนเปลี่ยนปี 2000 อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นักคิดคอมพิวเตอร์ไม่ได้เตรียมรองรับข้อมูลปีคริสตกาล ที่มีเลขนำหน้าว่า 19 XX ฐานข้อมูลเป็นอันมากจึงยึดถือเฉพาะ 2 เลขหลัง แต่เมื่อเปลี่ยนสู่ยุค 2000 จึงสร้างวิกฤติให้เกิดขึ้น เนื่องจากยุคนี้ได้เข้าสู่ยุคที่คอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันไปแล้ว

ภาพ Saul D. Alinsky

การข่มขู่ด้วยความรุนแรง Rules for Radicals: Apragmatic Primer for Realistic Radicals เป็นหนังสือที่เขียนโดย Saul D. Alinsky ก่อนที่เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1972 หนังสือของเขามีอิทธิพลต่อนักต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงในช่วงที่ทศวรรษ 1970 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบต่อต้านการส่งทหารไปรบในสงครามเวียตนามในหลายๆวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

กัดดาฟี (Gaddafi)

ภาพ Muammar Muhammad al-Gaddafi แห่งลิเบีย

Muammar Muhammad al-Gaddafi อดีตผู้นำของลิเบีย (Libya) ซึ่งครองอำนาจตั้งแต่ค.ศ. 1969 ถึงปี ค.ศ. 2011 แน่นอนว่าเขาปกครองด้วยวิธีการเผด็จการ แต่สิ่งที่เขาใช้ร่วมด้วยคือ การใช้กำลังทหารหลายกลุ่มรวมทั้งทหารรับจ้าง ใช้ความรุนแรง และการทำให้คนไม่สามารถคาดการได้ว่าเขาคิดอะไร เขาจะเดินทางไปที่ไหน และเขาจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป เขาจึงครองอำนาจอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 42 ปี

ในปี ค.ศ. 1973 กัดดาฟีสร้างคณะกรรมการปฏิวัติ (Revolutionary committees) ขึ้นเพื่อควบคุมดูแลไม่ให้มีคนต่อต้านในประเทศ ชาวลิเบียร้อยละ 10-20 ทำงานเป็นสายสืบให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการนี้ การสอดแนมสืบข้อมูล และรายงานข้อมูลลับโดยตรงต่อคณะกรรมการ มีทั้งในระบบราชการ โรงงาน และระบบการศึกษา รัฐบาลเองมีทั้งแสดงการลงโทษฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยด้วยการแขวนคอประจานสาธารณะ การลงโทษแบบเหี้ยมโหด ทำร้ายร่างกาย (Mutilations) และนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์ของรัฐ ในปี ค.ศ. 2011 สื่อในลิเบียจัดได้ว่ามีการเซนเซอร์มากที่สุดในตะวันออกกลางและในอัฟริกาเหนือ

การใช้ไฟดับไฟ

การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการทำงานแบบผู้ร้ายคาดเดาไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันสามารถหาข่าวจากฝ่ายคนร้ายได้ว่ากำลังจะทำอะไร

ในเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามผู้ร้าย หากใช้การตรวจตราแบบกำหนดเวลาเป็นกิจวัตร เช่นตรวจทุกวันเสาร์ เวลาตามเวลาราชการ คนร้ายหรือผู้ทำผิดกฎหมายก็สามารถคาดเดา และสามารถหลบหนีได้ ด้วยเหตุดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีประสิทธิผลมักจะมีวิธีการทำงานที่ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ วิธีการ และที่สำคัญคือทำในสิ่งที่คนร้ายคาดเดาไม่ได้ ซึ่งรวมไปถึงการมีสายสืบเข้าไปในกลุ่มผู้ร้ายด้วย เพื่อให้สามารถคาดเดากิจกรรมของฝ่ายอาชญากรว่ากำลังจะทำอะไรต่อไป

ในบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ เขาจะพบปัญหาจากไวรัสในคอมพิวเตอร์ การเจาะเข้าไปล้วงข้อมูลลับ ซึ่งเป็นการทำลายธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่มีความเสียหายอย่างมาก แต่ฝ่ายบริษัทเหล่านี้เขาก็มีวิธีการที่จะต้องจ้างมือปราบผู้ร้ายในระบบ โดยต้องเฟ้นหา Hackers ที่มีความเฉลียวฉลาด เพื่อมาทำหน้าที่ปราบพวกอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และในทุกวันพวกโปรแกรมเมอร์ นักต่อต้าน Hackers ทั้งหลายนี้ ก็จะต้องเข้าไปทดสอบเจาะระบบ แล้วรายงานให้กับบริษัททราบว่าโปรแกรมนั้นๆมีประตูโหว่ที่ไหนบ้าง และจะแก้ไขได้อย่างไร

สรุป

โลกเป็นโลกที่จะไม่มีความบริสุทธิ์ ไม่มีขาวหรือดำแท้ๆ และเมื่อโลกมีเชื้อโรค ก็ต้องมีการสร้างภูมิต้านทาน เหมือนที่ต้องมีการสร้างวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทาน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเองเห็นว่าวิธีการใช้ไฟดับไฟ แบบเกลือจิ้มเกลือ หรือตาต่อตา ฟันต่อฟัน ดังกล่าวนี้ ต้องเป็นการใช้อย่างมีวัตถุประสงค์ ไม่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ

และทุกคนต้องตระหนักว่า ในที่สุดไม่มีผู้ใช้อำนาจเผด็จการใด หรือคนใช้ความรุนแรงใด จะนำมาซึ่งความสำเร็จและสันติสุขได้อย่างถาวรในระยะยาว แต่หากท่านจะต้องเป็นผู้นำ เป็นนักบริหารการเมืองการปกครอง ท่านคงต้องเรียนรู้และเข้าใจฝ่ายตรงข้ามที่เขาใช้วิธีการเหล่านี้ เพราะในทางการบริหาร ความซื่ออาจกลายเป็นความโง่เขลา การใจดีและยอมตาม อาจกลายเป็นส่งเสริมให้คนทำไม่ดีมากยิ่งขึ้น

สำหรับกฏข้อนี้ จึงอยากแนะนำให้นักบริหารและผู้นำทั้งหลาย ต้องเข้าใจเพื่ออ่านเกมส์ออก และหาทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ต้องรู้เท่าทันกาล ไม่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นและบานปลายไปจนยากที่จะแก้ไข

กฎข้อที่ 16 ทำตัวให้ปรากฏอย่างพอเหมาะ

กฎข้อที่ 16 ทำตัวให้ปรากฏอย่างพอเหมาะ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

Use Absence to Increase Respect and Honor
การไม่เห็นเสียบ้างจะเป็นการเพิ่มความเคารพและเกียรติยศ

การจะทำให้คนเห็นคุณค่าของเรา ก็ต้องรู้จักเล่นตัว หรือไว้ตัวบ้างเป็นครั้งคราว

การทำตนให้คนเห็นมาก ค่าตัว หรือความสำคัญก็จะตกลง เหมือนดาราที่คนเขาเห็นในทีวีมากๆ เขาก็จะเบื่อหรือไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องจ่ายเงินไปดูภาพยนตร์ที่แสดง

หากเราเป็นคนมีความสามารถ เราเสนอตัวทำงานให้ตลอดเวลา หรือให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งเกินไป หรือเข้าไปยุ่งในทุกเรื่อง คนจะไม่เห็นคุณค่า แต่หากรับทำงานบ้าง ไม่รับบ้าง ส่วนที่รับงานมาแล้ว ก็ทำอย่างดีและทุ่มเท เพื่อให้คนเขาเห็นความแตกต่างระหว่างมีหรือไม่มีเรานั้น จะทำให้คนได้เปรียบเทียบ และกลับมาเห็นคุณค่าของเรา

ในอีกด้านหนึ่ง หากทำตัวเองให้เงียบหายไปจากวงการเลย คนก็จะลืม ครั้นอยากจะกลับมาทำอะไร ก็จะไม่มีใครรู้จักเสียแล้ว ดังนั้นจึงต้องวางระยะตัวเองกับวงการให้พอเหมาะ

กฎข้อที่ 15 อย่าตีงูเพียงให้หลังหัก

กฎข้อที่ 15 อย่าตีงูเพียงให้หลังหัก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

Crush your Enemy Totally แปลความได้ว่า จงทำลายศัตรูให้ราบคาบ

จะตีงูเขาว่าต้องตีให้ตาย เพราะงูแม้จะหลังหัก แต่เมื่อไม่ตาย มีโอกาสกลับมาแว้งกัดได้ พิษร้ายนั้นก็จะยังคงมีอยู่ และอาจทำให้ถึงตายได้ ในยามสงครามจึงพบว่าในการรบชนะนั้น มีเป็นอันมากต้องการชัยชนะอย่างเด็ดขาด ไม่มีเงื่อนไข และในส่วนหนึ่งนั้น คือการทำลายหรือสังหารผู้นำฝ่ายตรงกันข้าม ดังในกรณีของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับฝ่ายอักษะ อันมีเยอรมันและอิตาลีในยุโรป จึงมีการคิดแผนสังหารผู้นำอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งแน่ชัดว่า Hitler และ Mussolini ได้เสียชีวิตแล้ว ไม่มีทางกลับมานำได้อีก

ในสงครามเป็นเรื่องของการเอาแพ้เอาชนะ และเมื่อชนะแล้ว ก็ต้องตามติดเพื่อให้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ในเกมส์กีฬา ดังเทนนิส มวย ฟุตบอล เมื่อได้เปรียบแล้วเขาจะไม่หย่อนข้อ จะต้องรีบใช้ช่วงที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังขวัญเสีย รีบบุกอยางไม่ให้ตั้งตัวติด จะรุกจนกระทั่งได้ชัยชนะเด็ดขาดแล้วนั่นแหละ เพราะมีหลายครั้งที่ดูเหมือนจะชนะแล้ว เลยหย่อนกำลังลงไปเพราะคิดว่าจะชนะแน่ๆ แต่การกลับไม่เป็นไปดังนั้น เพราะฝ่ายเสียเปรียบสามารถกลับมาตั้งตัวใหม่ได้ บางคนเล่นกีฬาแบบเหมือนม้าตีนปลาย ตอนต้นๆ ก็มักจะปล่อยให้นำไปก่อน เพราะเครื่องยังไม่ร้อน ยังปรับตัวไม่ได้ดีนัก แต่หากฝ่ายตรงข้ามชะล่าใจ ไม่รีบรุกจนชนะขาด ท้ายที่สุดฝ่ายเสียเปรียบจะกลับมากู้สถานการณ์ได้ และมีให้เห็นในลักษณะดังกล่าวนี้มากมายในวงการกีฬา

ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เราจะเห็นได้ว่าฝ่ายที่เสียเปรียบจะเป็นฝ่ายที่อยากจะเปิดเจรจา แต่ฝ่ายที่ได้เปรียบนั้น อยากที่จะเอาชนะให้ได้โดยเร็ว ดังเช่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายพันธมิตรไม่ได้เปิดช่องให้เจรจายุติสงคราม แต่เมื่อรบกันถึงระดับรุนแรงแล้ว ไม่มีเจรจาจนกว่าจะได้ชัยชนะเด็ดขาด ญี่ปุ่นไม่เคยคิดจะยอมวางอาวุธจนกระทั่งเมื่อได้มีการหย่อนระเบิดนิวเคลียร์ลงไปยังสองเมืองในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข

ภาพ Napoleon จักรพรรดิของฝรั่งเศส ที่ทำสงครามกับนานาประเทศในยุโรป ท้ายสุดเมื่อแพ้สงคราม ก็ถูกจำคุกบนเกาะชื่อ Saint Helena ซึ่งอยู่ห่างจาก Bight of Cuinea ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ในช่วงหลัง 15 ตุลาคม ค.ศ. 1815 เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เขาจะไม่สามารถกลับมามีอำนาจในฝรั่งเศสได้อีก

ภาพ Czar Nicholas II

ภาพ Czar Nicholas II ภาพถ่ายปี ค.ศ. 1913 กษัตริย์ แห่งราชวงศ์ Romanov และครอบครัว ถูกสังหารหลังกองทัพของรัฐบาลต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพของฝ่ายคอมมิวนิสต์

ในการแข่งขัน ในการรบ เมื่อจะทำลายคู่ต่อสู้ ก็ต้องทำลายอย่างสิ้นเชิง ไม่มีโอกาสกลับมาต่อสู้ได้อีก ในการทำลายคู่ต่อสู้นั้น อาจไม่เป็นเพียงทางร่างกาย แต่หมายถึงในทางจิตวิญญาณ หรือโอกาส ในบางทีเขายังอาจมีชีวิตอยู่ แต่ในทางการเมืองได้ถูกทำลาย ตัดเขี้ยวตัดเล็บไปหมดแล้ว ไม่มีโอกาสกลับมานำได้อีก ดังกรณีของ Napoleon แห่งประเทศฝรั่งเศส เมื่อเป็นฝ่ายแพ้สงครามในที่สุด ก็ต้องถูกนำไปปล่อยเกาะที่ Saint Helena ซึ่งอยู่ห่างจาก Bight of Cuinea ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้

ในทางธุรกิจ เราจะเห็นมีการซื้อกิจการฝ่ายตรงกันข้าม ซื้อเพื่อนำเอาแบรนด์ของฝ่ายตรงกันข้ามพร้อมกับวิทยาการมาเป็นของตนแล้วใช้ประโยชน์ต่อ หรือในหลายๆกรณี คือซื้อแล้วค่อยๆสลายแบรนด์นั้น ทำให้คู่แข่งขันในตลาดหมดไป และทำให้บริษัทของตนมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก

กฎข้อที่ 14 ทำตนเป็นมิตร แต่ใช้สายลับ

กฎข้อที่ 14 ทำตนเป็นมิตร แต่ใช้สายลับ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

“Pose as a Friend, Work as a Spy.” แปลเป็นไทยได้ว่า “ทำตนเป็นมิตร แต่ใช้สายลับ

มีสุภาษิตจีนบทหนึ่งของซุนวูกล่าวว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”

ในประวัติของสงครามและการเมือง ไม่มีมิตรที่เชื่อถือได้ตลอดเวลา และไม่มีศัตรูที่จะเป็นศัตรูไปตลอดกาล ประเทศที่เคยรบกัน สักวันก็ต้องทำดีต่อกัน และในส่วนนี้กิจกรรมสายลับจึงยังคงมีอยู่ สายลับหรือ Spy ในภาษาอังกฤษ และในอีกด้านหนึ่งเขาเรียกว่า Intelligence หรือการสืบความลับจากฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งการสืบราชการลับนั้นมีให้เห็นกันทั้งภาคการเมืองระหว่างประเทศ เขามีสถานฑูตกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีการสอดไส้ มีการส่งสายลับไปประจำการ หรืออย่างน้อยก็มีงานจัดทำข้อมูลสถานภาพของประเทศนั้นๆ ส่งกลับมายังประเทศของตน

ในสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นพันธมิตรกับรัสเซียซึ่งมีการปกครองในแบบคอมมิวนิสต์ แต่เพื่อจะมีกำลังร่วมกันที่จะรบกับเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น แต่หลังสงคราม เมื่อรบชนะแล้ว สหรัฐเองก็ต้องกลับมาทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียตอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1989 สหภาพโซเวียตจึงล่มสลาย ในช่วงเวลาความตึงเครียดนั้น แม้จะไม่มีการรบกันโดยตรงระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต แต่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องแสวงหาข้อมูล มีการสืบราชการลับของกันและกันอยู่ตลอดเวลา

ประเทศมหาอำนาจ แม้จะทำตัวเป็นมิตรกับหลายๆ ประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่วายเว้นที่จะต้องมีหน่วยสืบราชการทั้งลับและไม่ลับประจำอยู่ในประเทศนั้นๆ

ในทางธุรกิจก็มีการสืบความลับฝ่ายตรงกันข้ามเหมือนกัน (Corporate Intelligence) บางอย่างรุนแรงผิดกฎหมาย แต่บางอย่างที่มีสิทธิกระทำได้และอยู่ในกรอบจริยธรรมทางธุรกิจ กล่าวโดยง่ายคือ เมื่อเราทำธุรกิจ ก็ต้องหาทางรู้ให้ได้ว่าฝ่ายคู่แข่งขันนั้นเขาคิดและมีแผนจะทำอะไร หากจะอยู่ในวงการแฟชั่น ก็จะต้องรู้ว่าแนวโน้ม หรือ Trends ของการแต่งกายในฤดูข้างหน้านั้น จะออกมาในรูปใด พวกที่เป็น Trend Setters หลักๆ เขาคิดกันอย่างไร

กฎข้อที่ 13 ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ไปขอความเมตตาหรือกรุณา

กฎข้อที่ 13 ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ไปขอความเมตตาหรือกรุณา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

When Asking for Help, Appeal to People’s Self-Interest, Never to their Mercy or Gratitude แปลเป็นไทยได้ว่า “ถ้าต้องการความช่วยเหลือ ต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ไปขอความเมตตาหรือกรุณา

เมื่อจะไปขอความช่วยเหลือจากพันธมิตร อย่าไปอ้างบุญคุณเก่าที่เคยทำไว้ ว่าเราเคยช่วยเขามาอย่างไร เพราะเจาอาจไม่ฟัง หรือหาทางหลีกเลี่ยงได้ ในทางตรงกันข้าม หากต้องการความช่วยเหลือจากเขา ให้อธิบายว่าเมื่อเขาร่วมมือด้วยแล้ว เขาจะได้อะไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ฝ่ายที่เราเจรจานั้น เขาจะสนใจในสิ่งที่เขาจะได้ประโยชน์ มากกว่าที่จะทำอะไรให้เราเพราะความสงสารหรือเห็นใจ

หากเราต้องการความช่วยเหลือ อย่าไปมัวพูดถึงความปรารถนาดี หรือขอความเมตตา จงทำฝ่ายที่เราไปขอความช่วยเหลือนั้น เขาต้องการอะไร และเรามีอะไรจะไปแลกเขา ที่ชัดที่สุดคือ การไปขอเงินกู้จากธนาคาร แม้นายธนาคารอาจเป็นเพื่อนเรา หากเขาจะให้ความร่วมมือ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือหลักประกันว่าเงินของเขาจะไม่สูญเสีย จึงต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และในอีกส่วนหนึ่งคือการมีผลประโยชน์จากดอกเบี้ย หรือในอีกด้านหนึ่ง หากไม่มีหลักทรัพย์ เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ มีความคิดดีๆ ที่จะไปเสนอ ก็ต้องจัดทำแผนงานธุรกิจ (Business Plan) ที่ชัดเจน และเราต้องมีวิธีการอธิบายว่า เราแม้ไม่มีหลักทรัพย์ แต่สิ่งที่เรากำลังดำเนินการนั้นมันสำคัญอย่างไร บางทีคนมีความคิดดีๆ แต่ไม่สามารถอธิบายให้คนรู้ได้

โปรดระลึกว่า การเป็นเพื่อนกันก็ส่วนหนึ่ง แต่การมีบทบาทเป็นนักธุรกิจก็อีกส่วนหนึ่ง แต่กระนั้นเราจะต้องแสดงตนให้เห็นว่า เราสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าจะไปขอความเมตตา หรืออนุเคราะห์จากพรรคพวกเพียงอย่างเดียว