Wednesday, September 28, 2011

กฎข้อที่ 48 ทำตัวอย่างไร้รูปแบบ

ฎข้อที่ 48 ทำตัวอย่างไร้รูปแบบ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Assume Formlessness
การเน้นสภาพไร้รูปแบบ

การทำตนอย่างมีรูปแบบ มีแผนที่ปรากฏชัดทั้งหมด ทำให้ท่านถูกโจมตีได้โดยง่าย ดังนั้นจงทำตัวอย่างไร้รูปแบบ เคลื่อนไหวได้อย่างศัตรูไม่สามารถคาดเดาได้ ต้องเข้าใจความจริงว่าไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีกฏเกณฑ์ใดที่จะแข็งกระด้างไม่ยืดหยุ่น วิธีการที่จะปกป้องตนเองได้ดีที่สุดประการหนึ่งคือทำตนให้ไหลลื่น ไม่ติดรูปแบบ เป็นเหมือนน้ำ อย่าไปเน้นที่ความมั่นคง หรือคำสั่งหรืออำนาจที่จะคงไปได้ตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

การทำตัวเปิดเผย และการทำให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นแบบแผนมากเกินไป ท้ายสุดก็ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามได้อาศัยเป็นช่องโหว่ในการโจมตี ดังนั้นฝ่ายท่านจึงต้องทำตนที่ไม่ติดกับแบบแผนที่ทำให้คนจับทิศทางได้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ต้องยอมรับความจริงว่าในโลกความเป็นจริงไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่จะตายตัว

พระนเรศวรมหาราช ก็ไม่เพียงใช้กองทัพรบในแบบจัดทัพปกติ ในบางยามที่จะต้องบั่นทอนกองทัพข้าศึก ก็ต้องใช้วิธีการแบบกองโจร บุกเข้าตีค่ายยามค่ำคืน เข้าโจมตีระหว่างทางเพื่อตัดกำลังฝ่ายข้าศึก

สงครามปฏิวัติมักจะเริ่มจากฝ่ายที่อ่อนแอกว่า มีกำลังน้อยกว่า และมีอาวุธสงครามล้าสมัยกว่าฝ่ายทีมีอำนาจ แต่จะใช้หลากหลายวิธีเพื่อที่จะเอาชนะฝ่ายที่มีความเหนือกว่า

เลนินกับปฏิวัติรัสเซีย

เริ่มจากความคิดแบบไม่มีตัวตน ฝ่ายปฏิวัติรัสเซียอยู่นอกประเทศ การก่อร่างของแนวคิด Marx และ Lenin การก่อตัวของกลุ่มปฏิวัติโดยมีฐานจากคนรุ่นใหม่ กรรมกรในเมือง สู่การสุกงอมทางความคิด การขยายการต่อสู้ด้วยการสไตรค์ และการจับอาวุธสู้ และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ จนเป็นความสำเร็จของการปฏิวัติรัสเซีย และเกิดประเทศสังคมนิยมแห่งแลกในโลก ประวัตินักคิดคนสำคัญคนหนึ่งที่ควรศึกษา คือ เลนิน


ภาพ วลาดิเมียร์ อิลลิช เลนิน (Vladimir Ilyich Lenin)

เลนิน หรือ Vladimir Ilyich Lenin เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1870 และเสียชีวิตในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1924 เป็นนักปฏิวัติชาวรัสเซีย นักประพันธ์ นักกฏหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักทฤษฎี และนักปรัชญาการเมือง เป็นผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต เป็นผู้นำในการปฏิวัติตุลาคม ค.ศ. 1917 (1917 October Revolution) และเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียต (USSR) ในฐานะเป็นผู้นำฝ่ายปฏิวัติบอลเชวิค (Bolsheviks) เขาได้นำกองทัพแดง (Red Army) และนำในการทำสงครามต่อสู้กับฝ่ายกษัตริย์ ที่เรียกว่าสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War) นับเป็นประเทศสังคมนิยมแรก (Socialist state) ในโลก ในฐานะเป็นนักทฤษฎี เขาได้สร้างพื้นฐานทางทฤษฎีและปรัชญาของลัทธิมาร์กส (Marxism) และลัทธิเลนิน (Leninism) อันเป็นรากฐานสำคัญในการบริหารสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นผู้นำในโลกสังคมนิยม

1. การเอาชนะทางความคิด การต้องมียุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะ โดยเริ่มจากแนวความคิดของ Marx และ Lenin ซึ่งนอกจากจะให้แนวคิดทฤษฎีแล้ว ยังมีคำตอบในด้านวิธีการเปลี่ยนแปลงต่างๆด้วย

ภาพ การประชุมในระดับกลุ่มนำของบอลเชวิค คนที่นั่งขวาสุดคือ Lenin

2. เริ่มจากการได้กรรมกรและคนยากจนในเมือง และเริ่มจากเมืองใหญ่ คนหนุ่มคนสาวที่เรียนรู้อุดมการณ์ แล้วขยายไปสู่ภาคชนบท

3. ต้องมีแกนนำ พลังสำคัญในการเคลื่อนไหว คำว่า บอลเชวิค หรือ Bolsheviks มีความหมายว่า “คนส่วนใหญ่” (Majority) ซึ่งเป็นซีกหนึ่งของพรรคมาร์กซิสต์แรงงานสังคมนิยมแห่งรัสเซีย (Marxist Russian Social Democratic Labour Party - RSDLP) ซึ่งเป็นส่วนที่แยกออกจาก Menshevik ในการประชุมพรรคครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1903

บอลเชวิค เป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัสเซีย สมาชิกของพรรคในปี ค.ศ. 1907 ร้อยละ 22 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 37 อายุระหว่าง 20-24 ปี และ ร้อยละ 16 อายุระหว่าง 25-29 ปี ในปี ค.ศ. 1905 สมาชิกร้อยละ 62 เป็นกรรมกรในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งในขณะนั้นกรรมกรในอุตสาหกรรมเป็นเพียงร้อยละ 3 ของประชากรประเทศ การปฏิวัติสังคมนิยมของรัสเซียอาศัยพลังคนหนุ่มสาวในเมือง และขยายไปสู่กลุ่มคนอื่นๆ

4. คนระดับฝ่ายนำไม่มีชื่อหรือตัวตน ทำให้ยากที่ฝ่ายบ้านเมืองจะจัดการ หรือคุกคามญาติพี่น้องได้ นามที่ใช้ในการสื่อสาร ดังเช่น เลนิน ไม่ใช่ชื่อจริง

5. เป้าหมายการล้มล้างคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจ คือกษัตริย์ ชนชั้นปกครอง เจ้าที่ดิน ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย เมื่อประเทศเข้าสู่สภาวะข้าวยากหมากแพง คนกลุ่มนี้คือเป้าหมายถูกโจมตีในฐานะต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ยากในแผ่นดิน

เวียตกง (Vietcong)

การรบและทำสงครามในแบบไม่เห็นตัวตน

ในสงครามเวียตนาม กองทัพของเวียตกง แท้จริงยามกลางวันคือชาวบ้านธรรมดา แต่ตอนกลางคืนสามารถรวมตัวกันจับอาวุธเข้าโจมตีค่ายทหารของสหรัฐและกองทหารฝ่ายเวียตนามใต้ โจมตีเสร็จแล้วก็กลับไปเป็นชาวบ้านชาวนาตามเดิน ยากที่ทหารอเมริกันจะสามารถสืบรู้ได้

เวียตกง หรือในภาษาอังกฤษเขียนว่า Vietcong (Vietnamese: Việt cộng) หรือ กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติของเวียตนาม หรือ National Liveration Front (NLF) เป็นองค์กรทางการเมืองและเป็นกองทัพในเวียตนามใต้ (South Vietnam) และกัมพูชา (Cambodia) เพื่อทำการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลฝ่ายขวาของเวียตนามใต้ในช่วงสงครามเวียตนาม (Vietnam War) ในช่วงปี ค.ศ. 1959 ถึงปี ค.ศ. 1975 ก่อนที่สหรัฐจะถอนทหารออกจากเวียตนามใต้ และเวียตนามเหนือและใต้ได้รวมเป็นหนึ่ง

เวียตกงเป็นทั้งกองกำลังสำหรับสงครามกองโจร (guerrilla) และมีสถานะเป็นหน่วยงานในกองทัพบกของเวียตนามเหนือ และเป็นเครือข่ายในการเกณฑ์ทหารใหม่ที่ได้มาจากชาวนาในพื้นที่ๆได้เข้าไปมีอิทธิพล ทหารเป็นอันมากเป็นการเกณฑ์จากภายในเวียตนามใต้ แต่ส่วนอื่นๆก็ได้มาจากกองทัพประชาชนแห่งเวียตนาม หรือ People's Army of Vietnam (PAVN) ซึ่งก็เป็นทหารกองทัพบกของเวียตนามเหนือในขณะนั้น ในระหว่างสงคราม ฝ่ายโฆษกคอมมิวนิสต์และกลุ่มต่อต้านสงครามบอกว่าเวียตกงเป็นกองกำลังจัดตั้งเองโดยฝ่ายเวียตนามใต้รักชาติ เพื่อทำให้เวียตนามเหนือในขณะนั้นไม่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับฝ่ายสหรัฐ ส่วนฝ่ายสหรัฐและเวียตนามใต้ในขณะนั้นฉายภาพพวกเวียตกงเป็นเครื่องมือของเวียตนามเหนือ ในการรุกรานเวียตนามใต้ แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังก็เป็นที่ทราบดีว่า ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ต่างได้รับคำสั่งมาจากโครงสร้างเดียวกัน

ภาพ การใช้ปืนครกยิงส่งใบปลิวไปยังฝ่ายตรงข้าม และส่งไปยังประชาชน

ภาพ กองกำลังฝ่ายเวียตกงมีทั้งชายและหญิง

ภาพ การสังหารพวกเวียตกงโดยทหารฝ่ายเวียตนามใต้ ในปี ค.ศ. 1968
Execution of a Viet Cong Guerrilla [1968]

การต่อสู้ของพวกเวียตกงนั้นมีลักษณะเหมือนไร้ตัวตน ในตอนกลางวันเขาอาจเป็นชาวนาที่ทำไร่ทำนาอยู่โดยทั่วไป แต่ในตอนกลางคืน เมื่อเขาได้รับการเรียกตัวและสื่อสารกันเพื่อรวมตัวโจมตีฝ่ายสหรัฐและกองทหารของรัฐบาลเวียตนามใต้ เขาก็จะกลายเป็นกองทหารในรูปสงครามกองโจร เป็นรูปแบบสงครามกองโจรที่ไร้ตัวตน และยากที่ฝ่ายสหรัฐจะรบชนะในสงครามเวียตนามนี้ได้

การรบครั้งสำคัญที่สุด คือการบุกใหญ่ที่เรียกว่า Tet Offensive โดยมีการบุกโจมตีศูนย์กลางเมืองสำคัญ 100 จุดพร้อมกัน รวมทั้งสถานทูตสหรัฐในกรุงไซงอน (Saigon) ในระยะหลังเมื่อสหรัฐอ่อนแรงสนับสนุนลง การทำสงครามส่วนใหญ่จะเป็นกำลังจากเวียตนามเหนือ จนในปี ค.ศ. 1976 ที่ฝ่ายเวียตนามเหนือได้คืบเข้ายึดครองเวียตนามใต้ และเป็นการรวมชาติอย่างสมบูรณ์ พวกเวียตกงก็สลายตัวไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียตนาม

การขยายตัวของเศรษฐกิจยุคใหม่

ในโลกธุรกิจยุคใหม่ จึงมียุทธศาสตร์การดำเนินการ บางทีบริษัทข้ามชาติจากประเทศตะวันตก เขาไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ก็ไม่ต้องไปสร้างโรงงาน เพียงนำต้นแบบการผลิต และที่ปรึกษาควบคุมคุณภาพเข้าไปดำเนินการ ไม่ต้องเสียค่าก่อสร้างโรงงาน ไม่เสียค่าสวัสดิการ ถ้าการลงทุนผลิตในประเทศหนึ่งไม่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถพับโรงงาน เลิกธุรกิจ แล้วย้ายไปทำการผลิตในประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนการดำเนินการถูกกว่า

ดังนั้น กิจการผลิตสินค้าจึงเป็นลักษณะออกแบบและควบคุมคุณภาพโดยฝ่าย QC และวิจัยและพัฒนาที่บริษัทแม่จะควบคุม แต่ในส่วนการผลิตได้ส่งไปยังโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่ค่าแรงงานยังต่ำอยู่ อย่างในจีน อินเดีย อเมริกาใต้ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สินค้าที่กลายมาเป็นผลิตในประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า ได้แก่สินค้าประเภท เสื้อผ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ ส่วนรถยนต์ก็หันมาผลิตในประเทศอื่นๆ แต่ใช้ชิ้นส่วนที่ต้องมีเทคโนโลยีระดับสูงร่วมด้วย โดยผลิตในประเทศแม่ แล้วส่งชิ้นส่วนไปประกอบ ณ โรงงานต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วโลก

GM การอยู่รอดของบริษัทยักษ์ใหญ่

การปรับตัวและปรับโครงสร้าง เพื่อความอยู่รอดของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2008

จีเอ็ม หรือ General Motors Company (NYSE: GM, TSX: GMM.U), มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า General Motors หรือ GM เป็นบริษัทข้ามชาติของอเมริกันที่มีกิจการด้านการผลิตรถยนต์ (multinational automotive) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองดีทรอยต์ (Detroit) ในรัฐมิชิแกน (Michigan) ในปัจจุบันจัดเป็นบริษัทรถยนต์ใหญ่อันดับสองของโลก ก่อนหน้านี้จัดเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาเป็นเวลานาน

จากที่เคยมีคนทำงานสูงสุดกว่า 700,000 คน ปัจจุบัน GM มีคนทำงานประมาณ 209,000 คน ทำงานอยู่ใน 157 ประเทศทั่วโลก ผลิตรถยนต์ชื่อ Buick, Cadillac, Chevrolet, GMC, Opel, Vauxhall, และ Holden และมีความร่วมมือในการผลิตรถยนต์กับบริษัทในประเทศจีน

ในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2009 GM ได้ยื่นขอปรับโครงสร้างใหม่ ตามกฏหมายสหรัฐ Chapter 11, Title 11, United States Code ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้จะล้มละลายต้องปิดกิจการ แต่ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 บริษัทได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเงินจากรัฐบาลกลางด้วยก้อนเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ คือ 20,000 ล้านเหรียญ และรัฐบาลกลางสหรัฐได้เข้ามาถือหุ้นร้อยละ 27 รัฐบาลแคนาดาเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 12 และรัฐบาลของรัฐออนทาริโอในแคนาดาเข้าถือหุ้นร้อยละ 3.8 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009

ภาพ รถยนต์ขนาดเล็ก Opel Corsa เป็นรถยนต์ขนาดเล็กที่ได้รับความนิยมในยุโรป

GM ต้องปรับตัว ลดรูปแบบ ต้องขายกิจการบางส่วนไป เช่นบริษัท Opel ที่มีอยู่ในยุโรป ก็ขายให้กับเยอรมัน บริษัท Isuzu ก็ขายคืนไปกับญี่ปุ่น ซึ่งเขามีความแข็งแกร่งที่จะดำเนินการเองได้อยู่แล้ว

จากความที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นฝ่ายครอบงำตลาดในอเมริกาที่ผลิตแต่รถขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานสิ้นเปลือง แต่ก็ต้องถูกรัฐบาลและตลาดรถยนต์ใหม่ที่ต้องการถยนต์ทางเลือกมากขึ้น เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม (Hybrid electric vehicles), รถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ (All-electric vehicles), รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เติมพลังงานด้วยการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างรวดเร็ว (Battery packs for electric vehicles), รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen initiative) โดยการใช้ไฟฟ้าแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออซิเจน, รถยนต์ที่ใช้พลังงานได้อย่างยืดหยุ่น (Flexible-fuel vehicles)

รถยนต์ไฟฟ้าลูกประสม Chevy Volt โดย General Motors

ในโลกที่พลังงานจากฟอสซิลและปิโตรเลียมกำลังค่อยๆหมดไปจากโลก ทุกค่ายรถยนต์ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด GM ถูกรัฐบาลกลางผลักดันให้ต้องให้ความสนใจต่อรถยนต์ประหยัดพลังงาน เมื่อทุกค่ายรถยนต์ของอเมริกันเองต้องยอมรับแนวทางของรัฐบาลที่จะทำให้รถยนต์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2025 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า จะต้องมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานเทียบเท่ากับ 50 ไมล์ต่อแกลลอน หรือประมาณ 20 กิโลเมตรต่อลิตร ในทางทฤษฎีและแนวโน้มเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ในอดีตไม่เคยได้ทำ เพราะบริษัทค่ายรถยนต์เป็นฝ่ายครอบงำตลาดมาตลอด แต่เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น และทางเลือกเหลือน้อยลง GM ก็ต้องมีการปรับตัวเหมือนกับทุกบริษัท

เหตุผลที่การเปลี่ยนแปลงทำให้คนมีอำนาจ

ในศตวรรษที่ 21 จัดได้ว่าเป็นศตวรรษที่เป็นโลกของเทคโนโลยีใหม่ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทางชีวภาพ วัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสาร ประเทศใดครอบครองเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ก็ย่อมมีความได้เปรียบ และสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนบางส่วนมีอำนาจ ซึ่งมีเหตุดังต่อไปนี้

1. คนมีอำนาจนั้นมักจะได้แก่คนที่ในช่วงวัยหนุ่มสาวได้แสดงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในการแสดงออกบางอย่าง โดยผ่านรูปแบบของเขา

2. สังคมให้อำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะหิวกระหายที่จะได้รางวัลจากความใหม่

3. อำนาจจะเติบโตได้เมื่อมันยืดหยุ่นและไร้รูปแบบ

4. การทำตนให้ไม่มีรูปแบบ (Formless) นั้น ไม่ใช่หมายความว่าเป็นไม่มีตัวตนเสียเลยทีเดียว ทุกสิ่งล้วนมีรูปแบบ แต่เพียงรูปแบบนั้นๆจะออกมาในรูปแบบใด ที่ทำให้ไม่สามารถสังเกตุได้ง่าย

5. อำนาจจะมีลักษณะไร้รูปแบบ เหมือนกับน้ำหรือปรอท แท้จริงมันมีรูปแบบเหมือนภาชนะที่บรรจุมัน

6. การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทำนายได้ยาก (Unpredictability)

7. คนมีอำนาจนั้นสร้างรูปแบบใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และอย่างสม่ำเสมอ บริษัทต่างๆจะเจริญและพัฒนาอยู่ได้ ก็คือต้องมีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ลองยกตัวอย่าง บริษัท Google ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการระบบสืบค้นผ่านอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็ผันตัวเองไปสู่ การผลิตซอฟแวร์ให้กับคอมพิวเตอร์ที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อใช้ใน SmartPhone, Tablet PC, Netbook, ฯลฯ และเมื่อเติบใหญ่แล้ว ก็สามารถเข้าไปแข่งในตลาดฮาร์ดแวร์ โดยในระยะแรกอาศัยความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ

8. อำนาจมาจากความรวดเร็ว (Rapidity) ที่เขาจะปรับเปลี่ยนไปได้มากเท่าที่เขาจะทำ ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการสื่อสาร เมื่อ 10-15 ปีก่อน เราจะยังนึกไม่ออกว่า เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ Tablet PCs นั้นจะมีความจำเป็นในการใช้สอยอย่างไร

9. ความที่ไร้ตัวตน ฝ่ายศัตรูมองไม่เห็น และไม่รู้ว่าเผชิญกับอะไร จึงไม่สามารถโจมตีได้อย่างถนัด

สรุป

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์การที่เราเห็นเฟื่องฟูในวันหนึ่ง แต่อีกเพียง 10 ปีให้หลัง องค์การเหล่านั้นอาจได้สูญหายตายจากไปแล้ว ส่วนองค์การที่จะดำรงอยู่ได้นั้น ไม่ใช่ว่าใหญ่ที่สุด จะดีที่สุด แต่บางทีหมายถึงอาจจะใหญ่หรือเล็กก็ได้ แต่ต้องมีความคล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ เพื่อความอยู่รอด

ความไม่ติดยึด ไม่ตายตัวคือความอยู่รอด รัสเซียประสบความสำเร็จในการโค่นล้มระบบกษัตริย์ และดำรงอยู่ได้เพียงช่วงหลายทศวรรษ แต่เพราะการมีโครงสร้างการบริหารประเทศที่แข็งกระด้าง ตายตัว และท้ายสุดไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน จึงต้องล่มสลายไปภายในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ศตวรรษ

โครงสร้างขององค์การเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น กฏเกณฑ์ต่างๆก็เช่นกัน เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาและเพื่อความอยู่รอด ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนได้ และเปลี่ยนได้เร็วอย่างทันการณ์ อย่างพร้อมและเข้าใจในความจำเป็นที่จะต้องตอบสนอง มิฉะนั้นก็จะไม่ทันกาลที่จะทำให้ดำรงอยู่ได้

Tuesday, September 27, 2011

กฎข้อที่ 47 รู้จักที่จะชนะ และรู้จักที่จะหยุด

กฎข้อที่ 47 รู้จักที่จะชนะ และรู้จักที่จะหยุด

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Do not go Past the Mark you Aimed for; In Victory, Learn when to Stop
อย่าไปไกลเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ท่ามกลางชัยชนะ ต้องเรียนรู้ที่จะหยุด

ในยามที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือยามที่อันตรายที่สุด เพราะมีความฮึกเหิมเกินเหตุขึ้น บางครั้งคนที่ชนะ จะมีความรู้สึกกร่าง และมั่นใจเกินไป สามารถผลักด้นให้ทำในสิ่งที่เกินเลยไป จนสู่จุดที่จะนำความล้มเหลวมาสู่ตนและหมู่พวก

หากเราจะศึกษาดูในอดีต ประเทศเยอรมันภายใต้ Hitler นั้น หากไม่ขยายวงรบไปทั่วยุโรป เมื่อขยายดินแดนและอิทธิพลพอระดับหนึ่งแล้วหยุด ก็อาจไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และท้ายสุดนำความหายนะมาสู่เยอรมันและจุดจบของ Hitler และ Nazi เอง

บทเรียนแรก

The Lesson First

ไม่มีอะไรที่เป็นพิษและเป็นอันตรายเท่ากับความสำเร็จ เพราะความสำเร็จนำมาซึ่งความชะล่าใจ

เมื่อมีอำนาจ ท่านต้องอาศัยเหตุผลเป็นเครื่องนำทาง ไม่ใช่ใช้อารมณ์และความรู้สึก

การปล่อยให้อารมณ์ฮึกเหิมกับชัยชนะหรือความสำเร็จมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การก้าวไปข้างหน้าด้วยความฮึกเหิมนั้นเป็นเรื่องอันตราย เมื่อท่านประสบความสำเร็จ ต้องหยุดแล้วหันกลับมาดูสภาพแวดล้อมรอบๆตัวสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะก้าวต่อไป ซึ่งต้องกระทำอย่างรอบคอบใช้เหตุผล ไม่ใช่ด้วยความฮึกเหิม

ความสำเร็จไม่สามารถผลิตซ้ำได้ในทุกๆที่ เมื่อประสบความสำเร็จ ณ ที่หนึ่งในเรื่องๆหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์นั้นอาจไม่สามารถนำไปใช้ในที่อื่นๆได้

ยกตัวอย่างทางธุรกิจ

บริษัท Walmart เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หรือ Supermall ที่ประสบความสำเร็จมากในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อจะขยายกิจการมาในเอเชีย กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

กิจการร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ไม่เติบโตในสหรัฐ จนในที่สุดกลุ่มเจ้าของใหญ่กลายเป็นญี่ปุ่น และกลับมาขยายตัวในเอเชีย ดังในญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และโดยเฉพาะในประเทศไทย

ห้างวอลมาร์ท


ภาพ ห้างสรรพสินค้า Wal-Mart ที่เปิดทั่วไปในสหรัฐอเมริกา มีลักษณะคล้าย Tesco-Lotus, Big C ในประเทศไทย

Wal-Mart Stores, Inc. (NYSE: WMT), ใช้ชื่อในทางพาณิชย์ว่า Walmart ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ส่วนก่อนหน้านั้นจะใช้คำว่า Wal-Mart เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีฐานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา (public multinational corporation) ที่มีธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่พร้อมระบบโกดังเก็บสินค้า จัดเป็นบริษัทขนาดใหญ่อันดับที่ 18 ของโลก ตามการจัดอันดับโดยนิตยสารโฟร์บส์ (Forbes Global 2000) และจัดเป็นบริษัทจ้างงานใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีคนงานทั้งสิ้นทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน

ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven

ภาพ ตราสัญญลักษณ์ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven

ภาพ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ที่มีอยู้ทั่วโลกเกือบ 40,000 แห่ง



7-Eleven เป็นบริษัทดำเนินการร้านสะดวกซื้อ หรือเรียกว่า convenience stores โดยเป็นบรัทที่มี Seven & I Holdings Co ของญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ เป็นกิจการประเภทที่ให้สัมปทาน (franchise) แก่ผู้รับดำเนินการ (Licensor) เพื่อดำเนินการร้านสะดวกซื้อ โดยมีร้านทั่วโลกทั้งหมด 39,000 แห่ง เฉพาะในประเทศไทยจัดเป็นอันดับ 3 ของโลก มีร้าน 7-Eleven ทั้งสิ้นกว่า 6000 แห่ง โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

อย่าทำซ้ำในความสำเร็จแบบเดิมๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมันอาจไม่ได้ผลดีเหมือนเดิมเสมอไป เหมือนดังในเกมอเมริกันฟุตบอล (American Football) การจะรุกในแต่ละครั้งต้องทำให้คู่ต่อสู้ไม่รู้ว่าจะพบกับอะไรในครั้งต่อไป ว่าจะวิ่งนำพาบอล หรือจะขว้าง และจะกระทำในแบบ (Pattern) ใด สิ่งสำคัญคือจะเรียกแต่ละครั้งนั้น ต้องมีลักษณะเฉพาะ และเมื่อใดที่กระทำซ้ำๆกันบ่อยครั้ง ฝ่ายตรงข้ามก็จะจับทางถูก และการแพ้อย่างหมดรูปหลายครั้งเกิดจากฝ่ายตรงข้ามจับทางได้ว่า การเคลื่อนไหวต่อไปนั้นจะออกมาในรูปแบบใด

ให้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์ เราจะพบอาณาจักรมากมายที่กลายเป็นสิ่งปรักหักพัง และศพของผู้นำที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ว่าเมื่อใดที่เขาควรหยุด แล้วหันมาทำให้สิ่งที่ได้มานั้นตกผลึก และทำให้มันเข้มแข็งขึ้น ตัวอย่างความสำเร็จการขยายอาณาจักรของกรีกในสมัยอเลกซานเดอร์มหาราชที่ขยายไปด้วยการรับจนถึงอินเดีย แต่เมื่อพระองค์เสียชีวิตไปในวัยไม่ถึง 30 พรรษา อาณาจักรนั้นก็แตกสลายไปอย่างรวดเร็ว

การจะประสบความสำเร็จจะต้องปรับรูปแบบและจังหวะ เปลี่ยนเวที ปรับสภาพแวดล้อม และเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เหมือนกับแม่ทัพที่จะต้องศึกษาทุกการรบอย่างมียุทธศาสตร์ (Strategic) เขาจึงต้องมีตำราพิชัยสงคราม แต่ไม่ใช่ตำรากับข้าว หรือ Cook book

เป็นครั้งคราว ท่านต้องถอยออกมา แล้วมองว่าท่านกำลังยืนอยู่ ณ จุดใด

ต้องควบคุมอารมณ์ (Emotion) และหยุดบ้าง เมื่อได้ประสบความสำเร็จแล้ว ทำให้ตัวเองสงบนิ่ง ให้ตนเองมีช่องว่างที่จะได้คิดสะท้อนกลับไปว่าได้มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตและการทำงานของเราบ้าง สภาพอย่างนี้เขาเรียกว่า Life reflection เหมือนผู้นำเป็นระยะๆ จะหยุดทำงาน แล้วไปพักร้อน แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย ไปใช้ชีวิตสักระยะในแบบที่มีแต่ความว่างเปล่า เพื่อสะท้อนภาพกลับมาว่า สิ่งที่ได้ทำผ่านมานั้นเป็นเช่นไร และสิ่งที่จะก้าวเดินต่อไปนั้นจะเดินไปอย่างไร

อย่าทำตนเองให้ต้องพึ่งพาโชค ตรวจสอบบทบาทของเหตุการณ์แวดล้อมและโชค (Luck) ที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จ เพราะคำว่าโชคดีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อมีโชคดีได้ ก็จะมีโชคร้ายที่มาควบคู่กัน เหมือนกับคนเล่นการพนัน ที่เขาบอกว่า “ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย” เมื่อโชคดี ก็ไม่ประมาท และเมื่อมีโชคร้ายเข้ามา ก็ต้องทำใจได้ และพร้อมที่จะรับสิ่งร้ายๆที่จะพบ และดำรงอยู่ได้อย่างมีสติ

ท่านต้องควบคุมตนเองให้ได้ ก่อนที่ท่านจะถูกควบคุมโดยคนอื่นๆ

เกมส์อันตราย

ความสำเร็จเป็นเหมือนกลลวงที่อันตราย

ความสำเร็จทำให้ท่านรู้สึกเหมือนอยู่ยงคงกะพัน และเมื่อมีใครถาม หรือตั้งข้อสังเกต ท่านก็จะรู้สึกโกรธ และมองเห็นว่ามันเป็นการท้าทายอำนาจ

ความสำเร็จทำให้ท่านขาดความสามารถในการปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์

การที่ประสบความสำเร็จทำให้ท่านเข้าใจว่ามันเกิดจากบุคลิกภาพและความเป็นส่วนตัวของท่าน ทำให้ท่านไม่ให้ความสำคัญของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในแต่ละครั้ง และวางยุทธศาสตร์และแผนอย่างเหมาะสม

สิ่งดีๆก็ต้องมีจุดสิ้นสุด

All Good Things Must Come to an End

เมื่อประสบความสำเร็จแล้วต้องตระหนักว่า ในช่วงแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่นั้น ยิ่งต้องทำให้คิดว่าในการก้าวต่อไปนั้น ต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ที่ยิ่งต้องลึกซึ้งไปกว่าเดิม และจะหยุดอยู่ ณ ที่เดิมไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงมักจะต้องมาควบคู่กับการทำให้เป็นปึกแผ่น (Consolidation) เหมือนกับการรบขยายอาณาเขตเสร็จแล้วก็ต้องหยุดเป็นระยะๆ เพื่อปรับพื้นที่ๆได้ครอบครองนั้น ให้มีความสงบสุข ได้ให้ผู้คนได้ทำมาหากินกันอย่างปกติ และเกิดความเชื่อมั่นในฝ่ายยึดครอง และประวัติศาสตร์จะสอนว่า การรบชนะนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่าคือการรักษาชัยชนะนั้นไว้ให้ได้นานหรือตลอดไป

ยามที่เรารบ เราต้องการทหารที่มีความกล้าหาญ และเก่งทางการยุทธ แต่เมื่อบ้านเมืองสงบ เราต้องการคนเก่งอีกแบบหนึ่ง คือคนที่มีความสามารถในการพัฒนา และเป็นอันมาก คนที่เก่งในการรบนั้นจะไม่มีความสามารถในการพัฒนา เหมือนกับฝ่ายทหาร (Military) กับฝ่ายพลเรือน (Civil) ที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน

เรื่องโชคดีและโชคร้าย

Good Luck V. Bad Luck

มีคำกล่าวว่าโชคดีนั้นอันตรายเสียยิ่งกว่าโชคร้าย เพราะโชคดีนั้นทำให้ท่านไม่ได้เตรียมพร้อม แต่โชคร้ายนั้นทำให้ท่านคุ้นเคยกับสิ่งไม่ดีที่ได้เกิดขึ้น เหมือนกับวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้งนั้น วิกฤติมีความรุนแรงมาก เพราะนักธุรกิจไทยคิดถึงโอกาสเสี่ยงที่ได้เพิ่มขึ้นทุกขณะ แต่ในวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2008 ไทยกลับมีความพร้อมที่จะรับปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้มากกว่า เหมือนกับเราได้เคยรับวัคซีนป้องกันโรคมาแล้ว

โชคร้าย หรือ Bad luck นั้นเป็นดังบทเรียนที่สอนเราให้ต้องอดทน ต้องใช้จังหวะเวลา และทำให้เราต้องเตรียมตัวต่อสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น

โชค เหมือนกับกระแสน้ำ มีขึ้นและมีลง การที่เราเตรียมตัวสำหรับขาลง เตรียมตัวสำหรับสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นนั้น จะทำให้เราไม่ถึงกับพังย่อยยับ เมื่อสิ่งร้ายๆนั้นได้มาถึงจริงๆ เพราะเราจะเตรียมความพร้อม และเตรียมใจไว้แล้ว ปัญหาของโชคร้ายที่รุนแรงที่สุดประการหนึ่ง คือเราไม่ได้เตรียมตัวที่จะเผชิญกับมัน เราเผลอตั้งตัวเองอยู่ในความประมาท

จอร์จ วอชิงตัน

เมื่อเป็นผู้นำต้องรู้จักคำว่า “หยุด” และคำว่า “พอ

ภาพ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)

จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1732 และเสียชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1731 เขาเป็นนักการทหารและผู้นำการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงก่อตั้งประเทศ ในช่วงปี ค.ศ. 1775 ถึงปี ค.ศ. 1799 เขาเป็นคนนำฝ่ายปฏิวัติของอเมริกันรับกับฝ่ายอังกฤษ ในตำแหน่งผู้นำทัพสูงสุด เขานั่งเป็นประธานในการเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศในปี ค.ศ. 1787 และในฐานะผู้นำทัพสู่ชัยชนะ เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานาธิบดีของประเทศใหม่โดยไม่มีคู่แข่ง

บทเรียนสำคัญที่เขาประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ คือเขารู้จักพอ และรู้จักหยุด

เขาหยุดสงครามเมื่อได้มีการประกาศสงบศึกแล้ว และเขาหยุดที่จะเป็นศัตรูกับอังกฤษ ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร” เมื่ออังกฤษประกาศสงบศึกกับอเมริกาไปแล้ว แต่ก็มีเรื่องให้บาดหมางกันต่อมาเป็นระยะๆ แต่เขาจะเป็นฝ่ายที่ประกาศชัดเจนว่า สงครามได้สงบแล้ว และสหรัฐจะไม่เข้าสู่สงครามอีก แม้เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสอันเป็นพันธมิตรสำคัญนั้น ต้องต่อสู้กับอังกฤษที่ยุโรป ก็อยากชวนอเมริกันทำสงครามกับอังกฤษในทวีปอเมริกา แต่อเมริกาก็จะไม่เข้าข้างฝ่ายใด เขาเห็นความจำเป็นมากกว่าที่อเมริกาจะต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาประเทศใหม่

เขาหยุดที่จะคิดในกรอบระบบการปกครองแบบเดิมโดยมีกษัตริย์เป็นผู้นำ แต่ยอมรับในความเป็นสาธารณรัฐ (Republic) ของประเทศใหม่ แม้มีบางส่วนอยากให้เขาเป็นกษัตริย์คนแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศ เขามีส่วนร่วมร่าง แต่ที่สำคัญเขาใช้อำนาจเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญนั้นกำหนด แต่ไม่ก้าวเกินไปกว่านั้น

เมื่อเขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีซึ่งมีวาระละ 4 ปี เขาได้รับเลือกโดยไม่มีคู่แข่งทั้งสองสมัย เขาได้ทำหน้าที่ในช่วงอันยุ่งยากนั้นอย่างเต็มความสามารถ แต่เขาก็หยุดที่จะทำหน้าที่ประธานาธิบดีเพียงไม่เกิน 2 สมัย แม้มีหลายคนอยากให้เขาทำหน้าที่เป็นผู้นำต่อไป และการที่เขาไม่รับตำแหน่งเกิน 2 วาระนี้ ก็ได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติแก่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในระยะต่อมา ตราบจนในสมัยของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลท์ (Franklin Delano Roosevelt) ที่ดำรงตำแหน่งคาบเกี่ยวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และต่อด้วยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งดำรงตำแหน่งติดต่อกันถึง 4 สมัย หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย

กฎข้อที่ 46 อย่าทำตัวให้สมบูรณ์แบบนัก

กฎข้อที่ 46 อย่าทำตัวให้สมบูรณ์แบบนัก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Never appear too Perfect
อย่าทำตัวให้สมบูรณ์แบบนัก

ภาพ ศิลปินสร้างภาพบุคลิกของคนที่เป็นพวก Perfectionist

หากเราเป็นผู้นำ ก็ต้องไม่ทำตัวให้สมบูรณ์แบบจนเกินไปนัก จะเป็นอันตราย อันตรายที่สำคัญที่สุดคือการทำตนดังไม่มีจุดบกพร่องหรือจุดอ่อนเลย เพราะมันจะสร้างความอิจฉา และจะนำไปสู่การมีศัตรูมากมาย มันจึงเป็นเรื่องปกติที่ในบางขณะก็แสดงความบกพร่องให้เห็นเสียบ้าง การยอมรับในความบกพร่องบ้างไม่เป็นอันตราย บางครั้งเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มต้องช่วยกันดูแล ไม่ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้นำแต่เพียงฝ่ายเดียว

ในสุภาษิตตะวันตก เขากล่าวว่า “เพียงพระเจ้าและคนตายแล้วเท่านั้นที่สมบูรณ์แบบและไม่มีข้อบกพร่อง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนที่ยังมีลมหายใจอยู่นั้น ล้วนทำสิ่งบกพร่องมาแล้วทั้งนั้น ในองค์การก็เช่นกัน ไม่มีใครที่จะเก่งและสมบูรณ์ไปเสียทั้งหมด และทุกคนต้องตระหนัก และช่วยกันตรวจสอบซึ่งกันและกัน

ผู้ต้องการความสมบูรณ์แบบ

Perfectionist = ผู้ที่พอใจแต่สิ่งดีเลิศ

Perfectionism = ลัทธิพอใจแต่สิ่งดีเลิศ

ผู้ที่พอใจแต่สิ่งดีเลิศ หรือ Perfectionist ในทางจิตวิทยา คือพวกที่เชื่อว่าความสมบูรณ์แบบหรือสิ่งที่ดีเลิศนั้นควรได้มา หรือในความเชื่อที่ว่า อะไรที่ไม่ดีเลิศ ไม่สมบูรณ์แบบ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และด้วยความเชื่อเช่นนี้ถือว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ดีต่อสุขภาพกายและจิต และนักจิตวิทยาจำแนกคนประเภทนี้ว่าเป็นพวกที่พอใจแต่สิ่งดีเลิศแบบปรับตัวไม่ได้ (Maladaptive perfectionists)

การไม่กระจายความรับผิดชอบ

เพราะความเชื่อว่าต้องทำในสิ่งที่ดีเลิศ และเชื่อว่ามีตนเองเท่านั้นที่รู้งานดังกล่าวดี ไม่มีใครรู้งานดังกล่าวได้ดีไปกว่าตน หากให้คนอื่นทำ ก็จะไม่สามารถทำได้อย่างที่ตนเองต้องการ ดังนั้นจึงต้องลงมือทำ และเข้าไปทำเอง จึงไม่มีการแบ่งงานให้ลูกน้องหรือคนอื่นๆทำ เพราะไม่เชื่อใจเขา ความเชื่อและพฤติกรรมดังนี้ ก็จะขาดโอกาสที่จะกระจายงาน กระจายความรับผิดชอบ คนที่ทำงานด้วยก็จะรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า เจ้านายหรือผู้ใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ

ขาดความสามารถในการปรับตัว

ภาพ คนต้องการความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) คือคนที่มีความทุกข์ มีความเครียดสูง แล้วนำความเครียดและปัญหานั้นๆส่งต่อไปสร้างความเครียดกับคนอื่นๆ

เพราะคาดหวังในสิ่งที่สมบูรณ์แบบ อยากจะทำอะไรสักอย่าง ทุกสภาพแวดล้อมจะต้องได้อย่างที่ต้องการ และหากไม่ได้ดังที่ต้องการนั้น ก็จะทำอะไรได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงปล่อยวาง และไม่ใส่ใจที่จะทำในสถานะที่ไม่ได้อย่างที่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่แสวงหาสิ่งที่สมบูรณ์แบบนัก เช่น

ในสภาพแวดล้อมของระบบ มีตัวป้อน (Inputs) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Outputs) และสภาพแวดล้อมภายนอก (External environment) หากต้องการผลผลิตหรือบริการที่เป็นเลิศ แล้วเขาเป็นผู้รับผิดชอบ เขาก็ต้องการทั้งตัวป้อน อาจเป็นวัตถุดิบ กำลังคนมีฝีมือที่เพียงพอ และมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบ จึงจะทำให้เขาทำงานที่ได้ผลิตภาพที่สมบูรณ์แบบ แต่เมื่อในสภาพความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ มันมักมีข้อจำกัดนานาประการ แล้วเขาก็จะรับไม่ได้ จึงเป็นเหตุที่ทำให้ทำงานไม่ได้ดังต้องการ และอะไรที่ไม่ได้อย่างต้องการ ก็จะไม่อยู่ในวิสัยที่เขาจะทำงานนั้นๆ

คิดเป็นตัวอย่างง่ายๆ อยู่ในต่างประเทศ คนไทยต้องรู้จักปรับตัว

จะทำอาหารไทยเพื่อรับประทาน ดังเช่น ส้มตำ ไม่มีมะละกอดิบ ก็ใช้แครอททดแทนได้ หากจะทำแกงแบบไทย ไม่มีกะทิ ก็ใช้นมสดทดแทนได้ คนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบจนไม่คิดยอมที่จะปรับตัวเองหรือความคาดหวังนั้น จะทำให้ทำอะไรก็จะมีแต่อุปสรรค เพราะสภาพแวดล้อมจะไม่มีทางเป็นไปอย่างที่เราต้องการ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ และปรับตัวและงานให้สอดคล้องบ้าง

ขาดความสามารถในการเสี่ยง

พวกที่เชื่อในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionists) มักจะคาดหวังความแน่นอนในอนาคต โดยอาจคิดและคาดเดาว่าอนาคตจะเป็นไปอย่างที่ตนคาดหวัง แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน และเมื่ออนาคตไม่ได้เป็นไปดังคาดหวัง ทำให้งานที่ตามมาผิดพลาด และเมื่อผิดพลาดแล้วก็ไม่คิดที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ได้แต่มานั่งเสียใจกับสิ่งที่ได้ผิดพลาดไปแล้ว เรียกว่า เป็นพวกที่คิดว่า “รู้อย่างนี้ก็จะไม่ทำอย่างนั้น ถ้ารู้อย่างนั้นก็จะไม่ทำอย่างนี้” พวกนี้จะนั่งเสียใจกับสิ่งที่ตนเองได้ทำผิดพลาดไป จมตัวเองกับอดีต แทนที่จะหาทางเรียนรู้ ยอมรับข้อผิดพลาด แล้วก้าวต่อไปในอนาคตอย่างที่มีบทเรียนมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ได้โทษตนเอง แต่โทษทุกสิ่งที่แวดล้อมที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตนคาดหวัง เช่น คนทำงานไม่ดี เครื่องมือที่ได้ไม่ดี อะไรก็ดูไม่ดีไปหมด แต่ไม่ได้หันกลับมาวิเคราะห์ตนเอง

สรุป

คนที่จะเป็นผู้นำ ต้องเข้าใจว่าจำเป็นที่สุดคือต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ซึ่งมีความไม่แน่นอน มีเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา สภาพแวดล้อมทั้งในวงแคบและในวงกว้างออกไป และที่สำคัญคือการต้องวิเคราะห์องค์กรหรือระบบสังคมที่เรารับผิดชอบให้ออก แล้วจึงวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินการให้ดีที่สุด และขณะเดียวกัน ก็ต้องทำใจว่า หลายสิ่งอาจไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ ก็ต้องมีสติและใช้ปัญญา ที่จะปรับตัวปรับระบบ เพื่อให้สามารถเดินต่อได้

ไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปทั้งหมด มีดี 70 มีเสีย 30 ก็ต้องถือว่าดีพอแล้ว หากท้ายสุดมันบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ

Monday, September 26, 2011

สุภาษิตชาวออสเตรเลีย - หมวกยิ่งใหญ่ ทรัพย์สมบัติยิ่งเหลือน้อย

สุภาษิตชาวออสเตรเลีย - หมวกยิ่งใหญ่ ทรัพย์สมบัติยิ่งเหลือน้อย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: proverb, สุภาษิต, วัฒนธรรม, ออสเตรเลีย, อังกฤษ, hat, หมวก

"The bigger the hat, the smaller the property. ~ Australian proverb
หมวกยิ่งใหญ่ ทรัพย์สมบัติยิ่งเหลือน้อย ~ สุภาษิตชาวออสเตรเลีย

ภาพ วัฒนธรรมหมวกในสมัยก่อนที่แสดงความหรูหรา แต่ในปัจจุบัน สัญญลักษณ์ความหรูหราได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นๆได้อีกมาก

หมวกในวัฒนธรรมของชาวอังกฤษและผู้มีเชื้อสายอังกฤษดังชาวออสเตรเลียในสมัยก่อน คือสัญลักษณ์ของความสวยงาม และชนชั้น หมวกเป็นส่วนของการแต่งตัวที่ต้องมาโชว์กัน ดังในวันที่มีการแข่งม้า แข่งกีฬา หรือการแต่งงานของผู้มีฐานะและวงศ์ตระกูลทั้งหลาย แต่ขณะเดียวกัน ในสังคมอังกฤษที่บรรดาผู้ดีที่แสดงความหรูหราก็ค่อยๆหมดไป คนที่จะไปแต่งตัวโชว์ความมั่งมีกันก็คงจะลดลง
ในวัฒนธรรมของชาวออสเตรเลียและอเมริกันเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การต่อต้านระบบชนชั้น การมีระบบขุนนาง (Aristocrats) ดังในอังกฤษ คนที่จะประสบความสำเร็จร่ำรวยได้ในอเมริกาและในออสเตรเลีย คือคนที่ต้องทำงานหนัก เขาให้ค่านิยมคนที่ทำงานหนัก สร้างตัวจากไม่มีอะไรเลย จนสามารถมั่งมีได้ภายในชั่วคนเดียว เรียกว่า “From rags to rich.”

ดังนั้นการที่จะไปฉุยฉาย ทำตัวสำอางแบบผู้ดีอังกฤษ ก็มักจะเป็นพวกที่ไม่ทำงานเป็นเรื่องเป็นราว และเขาก็จะสังเกตว่า คนพวกนี้มักจะเป็นพวกผู้ดีที่กำลังจะตกยากในอนาคต เพราะไม่รู้จักทำมาหากินเหมือนคนอื่นๆเขา ดังพวกเศรษฐีเก่าที่เคยเป็นเจ้าของปราสาท ก็ต้องค่อยๆขายสมบัติเก่า แล้วก็ไปดำรงตนลดสถานะลงเรื่อยๆ

ในวัฒนธรรมที่อาจแตกต่างกัน ในเมืองไทยสมัยผมยังเป็นหนุ่ม รถยนต์หรูๆ เป็นเรื่องแสดงถึงสถานะในสังคม ในสมัยก่อน รถยนต์ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ คนพวกนั่งรถเมล์ก็พวกหนึ่ง แต่ใครขับรถไปมหาวิทยาลัยถือว่าหรูหรามาก เพราะในสมัยนั้นมีนักศึกษาขับรถไปมหาวิทยาลัยไม่ถึงร้อยละ 1 เรื่องนี้ลามไปถึงพ่อแม่ เพราะในระยะหลังเมื่อลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็เรียกร้องหารถส่วนตัวขับไปมหาวิทยาลัย ยิ่งหรูยิ่งแพงยิ่งดี แต่บางครั้งการที่เยาวชนไปติดกับค่านิยมฟุ้งเฟ้อเกินจำเป็น ก็เป็นการไปก่อภาระแก่ตนเองและครอบครัว เช่นทำงานมีเงินเดือน แต่ก็แทบจะไม่พอจ่ายค่าน้ำมันรถ ค่าซ่อมรถ แล้วจะเรื่องการอยู่กินกันอย่างไร จึงทำให้เยาวชนคนหนุ่มสาวบางส่วนมีสภาพการใช้ชีวิตที่เกินความพอดี

คำว่า “หมวกใหญ่” หรือ Big hat มิได้หมายความเพียงหมวก แต่หมายถึงสิ่งที่เป็นความหรูหรา ฟุ่มเฟือย มันจึงอาจหมายถึงการมีบ้านขนาดใหญ่หลายสิบห้อง รถที่มีจอดอยู่เต็มโรงรถ เรือสำราญ เครื่องบินส่วนตัว การมีสตรี (Mistress) คอยปรนเปรออย่างมากหน้าหลายตา และการกินอยู่ใช้จ่ายอย่างเกินตัวทั้งปวง

ภาพ หมวก เป็นเรื่องของแฟชั่น ที่ปัจจุบัน สตรีและบุรุษทั่วไปไม่ได้ใช้ใส่กันมากนัก หรือใส่ก็เป็นเพื่อประโยขน์่่อื่นๆ แต่ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม

ภาพ รถสปอร์ตหรูที่บรรดาหนุ่มๆไฝ่ฝันอยากมี

ภาพ รถสปอร์ตหรู Aston Martin 2008

ภาพ เรือสำราญที่เรียกว่า Yacht ขนาด ความเร็ว และความทันสมัยเป็นสัญลักษณ์ของคนมีฐานะ
คำสอนที่ว่า “หมวกยิ่งใหญ่ ทรัพย์สมบัติยิ่งเหลือน้อย” จึงเป็นการเตือนสติคนว่า อย่าคิดไปฟุ้งเฟ้อ ทำตัวหรูหรา แต่ไม่ใส่ใจลงมือทำงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มิฉะนั้นก็จะต้องยากจนลงเรื่อยๆ จนไม่เหลือสมบัติอะไรเลย