Wednesday, November 30, 2011

โฟล์คสวาเกนตกลงวางมาตรฐานกลางแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ากับจีน

โฟล์คสวาเกนตกลงวางมาตรฐานกลางแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ากับจีน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Electric cars, EV, PHEV, battery, Germany, China, Volkswagen

เก็บความจาก “Volkswagen Settles on Standard Electric Car Battery, From China” Car21.com, plugincars - 2011-11-30

โฟล์คสวาเกน (Volkswagen – VW) จะใช้โมดูลแบตเตอรี่ที่ออกแบบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะใช้ทั่วโลกได้โดยไม่จำกัดยี่ห้อ ตามคำให้สัมภาษณ์ของ Dr. Tobia Giebel หัวหน้าฝ่ายวิจัยของโฟล์คสวาเกนที่ตั้งอยู่ในเมืองเซียงไฮ (Shanghai) โดยแบตเตอรี่เหล่านี้คาดว่าจะมีการผลิตในประเทศจีนเป็นแหล่งใหญ่

“เราต้องเน้นการพัฒนาแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ (Cell level)” กล่าวโดย Giebel ในงานประชุมเรื่องแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแห่งเอเชียที่จัดขึ้นในเมืองเซียงไฮ งานประชุมมีขึ้นในช่วงวันที่ 7-9 เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011

ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric cars นั้น มีค่าใช้จ่ายและเทคโนโลยีอยู่สองด้าน ส่วนหนึ่งคือตัวโครงสร้างและระบบอื่นๆโดยทั่วไป คล้ายกับรถยนต์ทั่วไป แต่อีกส่วนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงไม่น้อยไปกว่าส่วนแรก คือ เรื่องของการผลิตและใช้แบตเตอรี่ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องทั้งวัสดุและเทคโนโลยีที่ใช้ การกำหนดมาตรฐานร่วมกัน ระบบชาร์ตไฟ การบริหารจัดการให้เกิดสถานี (Charging Stations) และสถานที่ชาร์ตไฟรถยนต์ที่เหมาะสม ที่อาจเป็นที่บ้าน ที่พักอาศัยแบบชุด หรือตามศูนย์การค้า ฯลฯ

Tuesday, November 29, 2011

เจ้าชายญี่ปุ่นเสนอให้มีเกษียณอายุสำหรับพระจักรพรรดิ

เจ้าชายญี่ปุ่นเสนอให้มีเกษียณอายุสำหรับพระจักรพรรดิ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: Japan, emperor, politics, ประเทศญี่ปุ่น, สถาบันกษัตริย์, การเมือง

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “Japan prince urges retirement age for emperor” Published: 30/11/2011 at 01:32 PM, Online news: Asia เก็บความจาก Bangkok Post

เจ้าชายอากิชิโนะ (Akishino) ทรงกล่าวว่า ควรมีการกำหนดเกษียณอายุสำหรับตำแหน่งพระจักรพรรดิ ทั้งนี้หลังจากพระบิดา ผู้เป็นพระจักรพรรดิได้ออกจากโรงพยาบาล หลังต้องพักรักษาตัวอยู่เป็นเวลานาน

ภาพ จากซ้าย Japanese Emperor Akihito (L), Empress Michiko (2nd L), Crown Prince Naruhito (3rd R), Prince Akishino (2nd R) and his wife Princess Kiko (R) greet guests during the imperial autumn party in Tokyo on October 13, 2011.

เจ้าชายอากิชิโนะเป็นรัชทายาทอันดับสอง ได้ให้ความเห็นที่ไม่บ่อยนักต่อนักข่าวในวันที่พระองค์ทรงมีอายุ 46 ปี

“ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นความจำเป็น” พระองค์กล่าวเมื่อถูกถามโดยผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความคิดที่จะให้มีกำหนดเกษียณอายุสำหรับตำแหน่งพระจักรพรรดิของประเทศญี่ปุ่น

ความคิดเห็นของพระองค์ได้ถูกถ่ายทอดในสื่อของญี่ปุ่นในวันพุธที่ผ่านมา เมื่อพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงอายุได้ 77 ปี และต้องกลับมาทำหน้าที่หลังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 19 วัน ด้วยทรงประชวรด้วยโรคหลอดลมอักเสบและมีไข้สูง

“เมื่อท่านมีอายุมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง ก็จะเป็นการยากสำหรับคนที่จะทำงานบางอย่าง ข้าพเจ้าคิดว่า ควรมีการกำหนดอายุเกษียณจากตำแหน่ง” เจ้าชายอากิชิโนะกล่าว

นับเป็นเรื่องแปลกที่พระราชวงศ์จะแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ของพระองค์เอง แต่ความคิดเห็นของพระองค์ ก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันมาหาทางเลือกในการปรับตัวเพื่อดำรงอยู่ในยุคใหม่

เจ้าชายอากิชิโนะมีพระโอรสชื่อ ฮิซาฮิโตะ (Hisahito) อายุได้ 5 ปี นับเป็นชายที่เกิดแก่ราชวงศ์ของจักรพรรดิ์ เจ้าชายอากิชิโนะ พระองค์เองจัดเป็นพวกจารีตนิยมที่สนับสนุนชายเท่านั้นที่จะสืบราชวงศ์

ในสมัยก่อน ตำแหน่งพระจักรพรรดิมีสถานะดังเป็นเทพ แต่ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จักรพรรดิญี่ปุ่นได้มีบทบาทเพียงในพิธีกรรม เป็นประมุขของประเทศ แต่เป็นศูนย์รวมของความภักดีของประชาชนอย่างเหนียวแน่น

พระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (Akihito) ได้รับการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากในปี ค.ศ. 2003 และปัจจุบันก็ยังต้องรับการรักษาพยาบาลอยู่

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ พระจักรพรรดิไม่สามารถเข้าร่วมพิธีต้อนรับพระราชาและพระราชินีแห่งพูฐาน นับเป็นครั้งแรกที่พระจักรพรรดิไม่สามารถเข้าร่วมในงานพระราชพิธีได้นับตั้งแต่ได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 1989 หลังการสวรรคตของพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (Hirohito) พระบิดา

Thursday, November 24, 2011

Toyota Prius C รถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมรุ่นใหม่สำหรับปี ค.ศ. 2013

Toyota Prius C รถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมรุ่นใหม่สำหรับปี ค.ศ. 2013

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org

Keywords: รถยนต์ไฟฟ้า, EV, hybrid car,

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “2013 Toyota Prius C: Higher MPG, Lower Price, And Sportier” เขียนโดย Bengt Halvorson นำเสนอในระบบออนไลน์ในวันที่ November 15, 2011

ภาพ รถยนต์โตโยต้า Prius C หรือเรียกว่า Baby Prius เป็นรถ Prius รุ่นที่เล็กที่สุด

รถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมของโตโยต้าที่จะเปิดตัวในงานแสดงรถยนต์ที่โตเกียวเดือนหน้าและในอเมริกาเหนือที่เมืองดีทรอยท์ในเดือนมกราคมปีหน้า ซึ่งโตโยต้าได้เผยตัว มีลักษระสปอร์ตโฉบเฉี่ยว เจาะตลาดคนรุ่นหนุ่มสาวมากขึ้น ประหยัดพลังงานขึ้นด้วยเทคโนโลยีไฮบริดของโตโยต้า และด้วยขนาดของรถที่เล็กลง

Prius C หมายถึงรถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมรุ่นที่ 3 และเป็นรุ่นที่เล็กที่สุด มีความยาว 157 นิ้วและกว้าง 67 นิ้ว มีขนาดภายนอกใกล้เคียงกับ Toyota Yaris ที่มีใช้กันอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เป็นรถ 5 ประตูที่เรียกกันว่า Hatchback มีขนาดสั้นกว่ารถรุ่น Matrix หรือ Altis ในประเทศไทยประมาณ 19 นิ้ว และแคบว่าประมาณ 2 นิ้ว มีขนาดความสูงที่ 57 นิ้วซึ่งทำให้มีลักษณะใกล้เคียงกับ Honda Fit หรือ Jazz มีลักษณะเปรียวไม่ต้านลม ทำให้วิ่งได้ไกลกว่า ใช้น้ำมันน้อยกว่า

เครื่องยนต์ใช้ขนาด 1.5 ลิตร 4 สูบ ใช้ระบบไฟฟ้าลูกประสมของโตโยต้าที่เรียกกว่า Hybrid Synergy Drive system ส่วนแบตเตอรี่มีขนาดน้ำหนักลดลงกว่า Prius รุ่นมาตรฐาน 90 ปอนต์ ซึ่งต้องติดตามกันด้วยว่า เพราะลดสมรรถนะลง หรือเพราะหันไปใช้ Lithium-ion ซึ่งมีสมรรถนะสูงขึ้นโดยมีน้ำหนักที่เบาลง

โตโยต้ายังไม่เปิดเผยว่าประสิทธิภาพการใช้น้ำมัน (EPA fuel economy) จะเป็นเช่นใด แต่ที่แน่ๆจะดีกว่า 50 mpg ในการวิ่งในเมือง และจะเป็นรุ่นที่มีประสิทธิภาพการใช้น้ำมันดีที่สุดของโตโยต้า ซึ่งจะดีกว่า 52 mpg หรือสูงกว่าสำหรับการวิ่งในเมือง

Prius C มีระบบ Bluetooth ที่ทำให้ไม่ต้องใช้การเชื่อมต่อกับระบบอิเลคโทรนิกส์ด้วยสาย ทำให้มือเป็นอิสระ ไม่ต้องไว้ถือมือถือขณะขับรถ ใช้ต่อเชื่อมกับ Smartphone ทำให้ติดตามสภาพการจราจร อากาศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หรือจะใช้จัดการระบบเครื่องเสียง รวมทั้งสามารถใช้ระบบวิทยุผ่าน SiriusXM satellite radio หรือเป็นรถยนต์ที่ใช้วิทยุผ่านอินเตอร์เน็ต

โตโยต้าเองยังไม่เปิดเผยราคาที่ตั้งไว้ในอเมริกาว่าจะถูกกว่า Prius รุ่นหลักอย่างไร แต่คาดว่าจะประมาณ $20,000 หรือต่ำกว่า ซึ่งเท่ากับเป็นเงินไทยที่ 600,000 บาทในราคาที่ยังไม่รวมภาษี หรืออาจจะถูกกว่ารถ Prius มาตรฐานหลายพันเหรียญก็เป็นได้

Monday, November 21, 2011

ดวงอาทิตย์จะส่งแสงจ้าทุกหลังฝนใหญ่

ดวงอาทิตย์จะส่งแสงจ้าทุกหลังฝนใหญ่

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
pracob@sb4af.org

Keywords: การบริหารยามวิกฤติ, Crisis management, น้ำท่วม, flood, น้ำแล้ง, draughts

มีสุภาษิตเยอรมันหนึ่งกล่าวว่า “Auf jeden Regen folgt auch Sonnenschein.ซึ่งเทียบเป็นภาษาอังกฤษว่า “There is sunshine after every rainfall.”

มีสุภาษิตที่เป็นที่รู้จักในวัฒนธรรมอังกฤษที่ใกล้เคียงกันว่า “April showers bring May flowers.” หรือ “หลังฝนในเดือนเมษายน ก็จะตามมาด้วยดอกไม้บานสะพรั่งในเดือนพฤษภาคม”

ในประเทศไทย เรามักจะประสบภัยน้ำท่วมในช่วง 4 เดือน อันได้แก่เดือนสิงหาคม, กันยายน, ตุลาคม และ พฤศจิกายน โดยทั่วไปแล้ว หลังเดือนกันยายนแล้วจะเป็นช่วงสิ้นฤดูฝน แต่น้ำจากเหนือจะยังทยอยไหลมายังส่วนกลางและทำให้เกิดน้ำท่วมจากการระบายน้ำไม่ทันต่อเนื่องไปในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน แต่กระนั้นก็ตาม ในที่สุดช่วงน้ำท่วมก็จะผ่านไป และช่วงที่พื้นดินจะแห้งแล้งเพราะไม่มีฝนในช่วงเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนเมษายน จึงจะเริ่มมีเมฆตั้งเค้าเข้ามาอีก

ในชีวิตของคนเราก็เป็นดังฤดูกาล หากเราผจญกับน้ำท่วม ก็ให้อดทนไปสักระยะเถิด น้ำท่วมก็จะผ่านไป หากเราเข้มแข็งพอ ก็จะได้ฟื้นตัวตอนพื้นที่ต่างๆแห้งพอที่จะสะดวกในการเดินทางแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากเราต้องการฝนเหมือนเกษตรกรต้องการน้ำในฤดูเพาะปลูก ช่วงฤดูแล้งสัก 3-4 เดือนนั้น ก็ให้ทนไปสักระยะ แล้วเดี๋ยวฝนก็จะมาตามฤดูกาล เราก็ต้องเตรียมปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ชีวิตมนุษย์มีขึ้นมีลง เหมือนกับที่โลกมีฤดูกาล เราต้องเข้าใจโลก เข้าตนเอง แล้วปรับตัว มีความอดทนที่จะรอโอกาสดีๆที่จะมาถึง และเมื่อนั้น เราก็ต้องใช้ความสามารถในการเก็บเกี่ยวจากจังหวะเวลาที่มันพร้อมแล้ว ข้อสำคัญ เราต้องมีความอดทน รู้จักจังหวะเวลา เตรียมความพร้อม มีความหวัง แล้วชีวิตเราก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้

อย่าทำเหมือนเป็นวัวลังเลที่หน้าโรงนา

อย่าทำเหมือนเป็นวัวลังเลที่หน้าโรงนา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การบริหารยามวิกฤติ, Crisis management, น้ำท่วม, flood, น้ำแล้ง, draughts

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Wie der Ochs' vorm Scheunentor" แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Like the ox in front of the barn door" หรือเหมือนวัวที่ลังเลอยู่ที่หน้าโรงนา จะเข้าไปข้างในก็ไม่เข้า จะออกไปข้างนอกก็ไม่ออก เป็นเรื่องค้างคากันอยู่อย่างนั้น

เป็นคำสุภาษิตที่มักจะพูดถึงคนยามมองเห็นหนทางแล้ว แต่ก็ยังลังเลไม่กล้าที่จะดำเนินการต่อไป เปรียบเหมือนคนที่ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่คุ้นกับการต้องรับผิดชอบ นอกจากจะต้องมีคนไปกระตุ้นให้ดำเนินการ

เรื่องดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคนที่เป็น “นักวิชาการ” (Academics) ที่มักต้องการอะไรทุกอย่างที่สมบูรณ์แบบไปหมด ถ้ายังไม่มีข้อมูลชัดแจ้งก็จะไม่กล้าตัดสินใจ แต่สำหรับนักบริหารแล้ว แม้จะไม่มีข้อมูล หรือสถานะที่สมบูรณ์แบบ แต่ด้วยประสบการณ์ทางการจัดการแล้ว จะรู้ว่าหากถึงจุดดังกล่าวแล้วไม่มีคนตัดสินใจดำเนินการ ปัญหาร้ายแรงอาจตามมา การตัดสินใจบางอย่างไม่ใช่ว่าจะถูกต้องเสียทั้งหมด แต่การที่ลังเลไม่ตัดสินใจอะไรเลยนั้น กลับเป็นอันตรายเสียยิ่งกว่า เพราะบางครั้งการตัดสินใจไป หากผิดพลาด ยังมีโอกาสปรับแก้ได้ แต่หากไม่ตัดสินใจ หลายอย่างก็จะค้างเติ่ง แม้จะดำเนินการในระยะต่อมา แต่บางครั้งก็จะสายเสียแล้ว

ตัวอย่างมีเรื่องของชายคนหนึ่ง ชื่อสมบูรณ์ เขาอยากได้ที่ดินแปลงหนึ่งใกล้บ้านเขา ผู้ขายเสนอขายมาในราคาตารางวาละ 50,000 บาท ตามราคาประเมินเขาพบว่าราคาถูกกว่าที่มีการเสนอขาย ซึ่งก็เป็นปกติที่ราคาประเมินนั้นไม่ใช่ราคาซื้อขายกันจริงๆ แต่เขาลังเลที่จะเสนอซื้อ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ราคาที่ถูกที่สุดหรือไม่ ไม่รู้จะต่อรองกันอย่างไร จึงพยายามไปสืบหาข้อมูล แต่ก็ยังไม่กล้าไปต่อรองกับคนขาย เพราะเกรงว่าหากเขาขายจริง แล้วพบว่าราคาสูงเกินไป เขาก็จะเสียเปรียบ เขารีรออยู่นานเป็นเดือน จนท้ายสุดสอบถามจากหลายแหล่ง ก็พบว่าที่ดินนี้มีศักยภาพที่ดี ราคาไม่แพง ทำให้เขามั่นใจว่าเขาควรจะต่อรองในราคาตารางวาละ 40,000 บาท แล้วหากได้ราคาสัก 45,000 บาท เขาก็จะตกลงซื้อ

เมื่อตัดสินใจซื้อ เขาจึงโทรศัพท์ไปหาเจ้าของที่แล้วเสนอราคาต่อรอง แต่เจ้าของได้บอกว่า ได้ตกลงซื้อขายกันไปเรียบร้อยแล้ว โดยได้ขายไปในราคาตารางวาละ 45,000 บาท และได้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว

การซื้อขายที่ดินนั้นเป็นของมีราคา ไม่เหมือนไปนั่งรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ซึ่งไม่ต้องคิดมาก แต่การซื้อขายที่ดินอาจนับเป็นเงินหลายล้านหรือหลายสิบล้านบาท แต่สำหรับคนเป็นนักธุรกิจ เมื่อถึงเวลา ก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง สำคัญที่ว่าเมื่อจะตัดสินใจ ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีที่สุด มองหาทางเลือกหลายๆด้าน แล้วก็ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

หลักสำคัญ “อย่าทำเหมือนเป็นวัวลังเลที่หน้าโรงนา” แล้วก็ต้องเสียโอกาสดีๆไป

ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว

ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การบริหารยามวิกฤติ, Crisis management, น้ำท่วม, flood, น้ำแล้ง, draughts

มีสุภาษิตชาวเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Zwei Fliegen mit einer Klappe schlagen.” ซึ่งแปลตามภาษาเป็นอังกฤษได้ว่า “Hit two flies with one fly swatter.หรือ “ตบครั้งเดียวได้แมลงวันสองตัว” ซึ่งหมายความว่า ในการแก้ปัญหาที่แยบยลบางอย่าง กระทำเพียงอย่างเดียว แต่แก้ได้สองปัญหา

ในภาษาอังกฤษมีสุภาษิตหนึ่งที่เราคุ้นๆ กล่าวว่า “Kill two birds with one stone.หรือ ฆ่านกสองตัวด้วยกระสุนนัดเดียว

ยกตัวอย่าง น้ำ เป็นทั้งภัยอันตรายที่สามารถทำให้พื้นที่ต่างๆเกิดน้ำท่วม ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนและเศรษฐกิจของพื้นที่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ในช่วงฤดูแล้ง น้ำกลายเป็นทรัพยากรสำคัญที่ขาดแคลน หากสามารถจัดเก็บน้ำไว้ใช้ได้อย่างดีเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม อาจเรียกว่าสร้าง “แก้มลิง” (Reservoir) เพื่อเก็บน้ำในช่วงมีมากเกินต้องการ แล้วใช้ปลูกพืชได้ในช่วงฤดูแล้ง ทำให้สามารถเพาะปลูกได้ 2 ฤดู มันจะก่อให้เกิดคุณค่ามหาศาล

ผู้เขียนลองสังเกตเขตน้ำท่วมยาวนานย่านลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งท่วมยาวนานเพราะเขตส่วนใกล้กรุงเทพฯ ทางการตัดสินใจวางแนวถุงทรายยักษ์ (Big bags) แบ่งเขตลำลูกกาให้รับน้ำท่วมหนักขึ้นและยาวนาน ส่วนเขตตอนใต้ลงไปก็สามารถปลอดจากน้ำท่วมได้ในเวลาอันสั้น แต่หากแก้ปัญหาในอีกแบบหนึ่ง ให้มีการกักน้ำไว้ส่วนที่สูงขึ้นไปที่อยู่ในเขตนครนายกที่เป็นที่สูงกว่าไม่ให้น้ำไหลลงมา และพอน้ำเริ่มแล้งในนครนายก ก็ผันน้ำขึ้นที่สูงไปเก็บไว้ที่นครนายก เพื่อใช้ในการเกษตร แทนที่จะต้องปล่อยลงทางใต้ลงมาตลอด และผลักลงทะเล ซึ่งก็เสียคุณค่าของน้ำจืดไป การกักเก็บน้ำไว้ในที่สูงไม่ว่าในรูปแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อนเพื่อการเกษตร ดังนี้หากทำได้ ก็จะเรียกว่า “ยิงนกสองตัวด้วยกระสุนเพียงนัดเดียว”