ผมได้เขียนบทความเล็กและใหญ่รวมกว่า 1,800 รายการ ปัจจุบันอาศัยการเชื่อมโยงการเขียนงานกับ Facebook > Pracob Cooparat บทความใดที่ดูจะเป็นประโยชน์และต้องการการขยายความ ก็จะรวบรวมเขียนไว้ใน Webiste: My Words นี้ ซึ่งสามารถค้นหาได้ด้วย Google ตามลักษณะเนื้อหาที่สนใจ
Saturday, March 31, 2012
สุภาษิตโปแลนด์: อย่าพูดในขณะที่กำลังกินของเต็มปาก
แม้สุนัขก็ยังมีวันของมัน
แม้สุนัขก็ยังมีวันของมัน
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: Proverb, สุภาษิต, Polish, Poland, โปแลนด์,
โปแลนด์มีสุภาษิตหนึ่งกล่าวว่า “Fortuna kołem się toczy." ซึ่งตรงกับในภาษาอังกฤษว่า “Every dog has its day." แปลเป็นไทยได้ว่า “แม้สุนัขก็ยังมีวันของมัน” ~ สุภาษิตชาวโปแลนด์
สุนัขที่ว่าเป็นสัตว์ต่ำต้อย มันก็ยังมีวันของมัน เกิดมาเป็นมนุษย์ก็นับว่าเป็นโชคแล้ว แม้มนุษย์บางคนที่ว่าอับโชค แต่ก็ใช่ว่าจะอับโชคตลอดไป มันจะมีวันที่โชคเข้าข้างบ้างเสมอ เมื่อเกิดเป็นคน จึงอย่าอยู่อย่างสิ้นหวัง เพราะแม้เราจะโชคไม่ดีมาตลอด แต่ตราบที่เราไม่อยู่อย่างสิ้นหวัง และมีความพยายามในทุกโอกาสของชีวิต สักวันโอกาสก็จะเป็นของเราเข้าจนได้
Friday, March 30, 2012
90 มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริการ่วมกันห้ามขายน้ำดื่มในขวดพลาสติก
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: Environment, สิ่งแวดล้อม, ขวดพลาสติก
เรียบเรียงจากข่าว PITTSBURGH (KDKA) — “A local university is banning the sale of bottled water on campus.” March 28, 2012 10:50 PM
มหาวิทยาลัย 90 แห่งในสหรัฐอเมริการ่วมกันห้ามขายน้ำดื่มในขวดพลาสติก ด้วยเหตุผลการกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เพราะขวดพลาสติกบรรจุน้ำร้อยละ 60 กลายเป็นขยะที่ไม่ได้นำกลับมาใช้อีก
มหาวิทยาลัย Chatham University เป็นหนึ่งใน 90 แห่งที่ไม่มีร้านขายน้ำเปล่าในขวดพลาสติก
“ฉันดีใจที่เราเป็นพวกแรกๆที่แสดงให้เห็นว่าเราจริงจังกับการดูแลสิ่งแวดล้อม Mary Whitney ผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาที่ยั่งยืนกล่าว ที่มหาวิทยาลัย นักศึกษาจะใช้ขวดพลาสติกที่นำกลับไปใช้ใหม่ได้ และเมื่อเขาเข้ามาเป็นนักศึกษาที่นี่ จะมีสถานที่เติมน้ำสะอาดกระจายอยู่ทั่วมหาวิทยาลัย
“ฉันคิดว่านี่เป็นหนึ่งในหลายวิธีที่จะต้องดำเนินการ เพื่อลดความสิ้นเปลืองในกิจการบรรจุภัณฑ์” Rachel McNorton นักศึกษาชั้นปีที่สองของมหาวิทยาลัยกล่าว
นอกจากการรณรงค์เรื่องลดปัญหาขวดน้ำพลาสติกแล้ว ที่มหาวิทยาลัยยังมีแผงพลังแสงอาทิตย์เพื่อการทำให้น้ำร้อน และมีสวนเก็บฝนที่ใช้น้ำที่แทนที่จะปล่อยให้ไหลลงยังท่อระบายน้ำทิ้งอย่างสูญเปล่า ก็ให้สามารถนำน้ำทิ้งนี้กลับมาใช้เพื่อการเกษตรได้
Thursday, March 29, 2012
จิตวิญญาณนั้นมุ่งมั่น แต่กล้ามเนื้อนั้นล้าเสียแล้ว
จิตวิญญาณนั้นมุ่งมั่น แต่กล้ามเนื้อนั้นล้าเสียแล้ว
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: Proverb, สุภาษิต, Polish, Poland, โปแลนด์
มีสุภาษิตในภาษาโปแลนด์บทหนึ่งกล่าวว่า "Duch chętny lecz ciało mdłe." ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษว่า “The spirit is willing but the flesh is weak" ซึ่งเมื่อแปลเป็นไทยจะได้ความว่า “จิตวิญญาณนั้นมุ่งมั่น แต่กล้ามเนื้อนั้นล้าเสียแล้ว” ~ สุภาษิตชาวโปแลนด์
สุภาษิตนี้เป็นคำรำพันของคนสูงอายุ และเพื่อเตือนสติคนสูงอายุด้วยกันว่า อย่าไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะแล้วสำหรับวัยที่สูงขึ้น เช่น ไปเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงที่เราเคยคุ้นเคยเมื่อก่อน เช่นฟุตบอล รักบี้ฟุตบอล เทนนิส มวยปล้ำ ชกมวย ฯลฯ แข่งกับคนที่หนุ่มหรือสาวกว่า และอย่างไม่ตระหนักในวัยของตนเอง อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อฉีก หรือแม้แต่หัวใจวายได้
เมื่ออายุมากขึ้น เป็นวัยที่ไม่ควรไปทำในกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาและกำลังกายในการลงมือทำ เพราะร่างกายเราจะไม่แข็งแรงเหมือนกับคนหนุ่มสาว อะไรที่ต้องใช้กำลังทุ่มเทอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ก็ควรให้คนหนุ่มคนสาว ลูกน้อง หรือคนรุ่นลูกหรือหลานเป็นคนทำ แต่คนสูงอายุทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้กำลังใจ เตือนสติ คอยอาศัยประสบการณ์เดิมช่วยชี้แนะ
ในอีกด้านหนึ่งคืองานการเมือง ซึ่งดูเหมือนไม่ได้จำกัดด้วยอายุ คนทำงานในรัฐสภา มีบางคนเป็นวุฒิสมาชิกจนวัยกว่า 90 ปี ทำหน้าที่ดุจดังเป็นตำนาน ทำจนถึงวันตายอย่างไม่บกพร่อง ก็มีให้เห็น คนทำงานเป็นผู้ดำเนินการข่าวที่เรียกว่า Anchorman หรือ News presenter ตามสถานีโทรทัศน์มีจนอายุเกือบ 80 ปี ก็มีให้เห็น สิ่งเหล่านี้เป็นการประสมประสานกันระหว่างประสบการณ์ทำข่าวภาคสนาม กับความรู้รอบและความเชี่ยวชาญหลายด้าน ประกอบกับมีบารมีที่ผู้คนยอมรับ ซึ่งหาคนทดแทนได้ยาก ในต่างประเทศ งานเป็นผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินความในคดีสำคัญ เขาจะเลือกคนสูงอายุมีประสบการณ์ ทำงานใหญ่ได้อย่างสงบนิ่ง มีสมาธิ และมีหลักการ ขึ้นนั่งบัลลังก์ตัดสินความแล้วคนมั่นใจ และอาจารย์มหาวิทยาลัยในบางสายวิชาการ มหาวิทยาลัยจะจ้างจนอายุถึง 75 ปี
แต่อย่างไรก็ตาม มิใช่ทุกคนจะทำหน้าที่ได้อย่างเสมอเหมือนกัน บางคนรักษาสุขภาพดี ยังตื่นตัวอย่างรอบด้าน บางคนสภาพร่างกายไม่ให้เสียแล้ว พลังถดถอย ความจำเริ่มเสื่อมลดและเลือนไป มีตัวเราเองเท่านั้นที่จะรู้ว่า เราจะทำอะไรได้บ้างและทำไปได้จนระดับใด คนบางคนได้ทำงานแล้วสุขภาพโดยรวมจะดี ร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตแจ่มใส คนเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือ แม้เกษียณอายุแล้ว มีทรัพย์สินเงินทองเพียงพอจะใช้ชีวิตให้สบายตามอัตภาพ แต่ก็ยังอยากทำงานวิชาการอย่างที่เคย หากหยุดทำงานใช้สติปัญญาเมื่อใดแล้วจะรู้สึกว่าขาดหาย สูญเสียศักดิ์ศรีในตนเอง จะกลายเป็นคนเศร้าซึมไปก็มีให้เห็น
ดังนั้นใครก็ตามที่เมื่อมีอายุที่มากขึ้น นอกจากสังคมและตัวงานเป็นตัวตรวจสอบเราแล้ว ตัวเราเองก็ต้องตระหนักถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเราเองเป็นระยะๆ ใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่เรามี เลือกทำในสิ่งที่มีความสุข เรามีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว แต่ขณะเดียวกัน อย่าไปทำในสิ่งที่ธรรมชาติจะทำให้เรามีจุดอ่อนได้ดังเช่นอายุ ต้องคอยเตือนสติตัวเราเองเป็นระยะๆว่า “จิตวิญญาณนั้นมุ่งมั่น แต่กล้ามเนื้อนั้นล้าเสียแล้ว” อย่าเป็นเหมือนนักมวยยอดแชมป์ที่ต่อยจนกระทั่งกลายเป็นนักมวยเมาหมัด สมองเสื่อมตามัว ขอให้เลือกทำในสิ่งที่เรามีความถนัด ทำได้อย่างดีมากตามธรรมชาติ และสิ่งใดที่เราจะล้าไปด้วยพลังร่างกายที่ร่วงโรยไปตามวัย ก็ให้ทำใจเสีย ถึงเวลาต้องเลิกก็ต้องเลิก อย่าไปฝืน ขอให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม และมีความสุขใจนั่นก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว
29 มีนาคม ค.ศ. 1973 อเมริกันได้ถอนทหารออกจากเวียดนาม
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก History.com “March 29, 1973: U.S. withdraws from Vietnam”
วันนี้ในอดีต 29 มีนาคม ค.ศ. 1973 อเมริกันได้ถอนทหารออกจากเวียดนาม
นับเป็นเวลา 2 เดือนหลังการลงนามสันติภาพเวียดนาม กองกำลังรบสุดท้ายของสหรัฐได้ถอนออกจากเวียดนามใต้ เมื่อฝ่ายฮานอยเวียดนามเหนือได้ปล่อยทหารอเมริกันที่ถูกจับเป็นเฉลย ในเมืองไซ่ง่อน อเมริกันยังมีพลเรือนอีก 7,000 คนที่ทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมที่ยังคงอยู่ เพื่อคอยช่วยเหลือชาวเวียดนามใต้ที่ยังคงมีสงครามสู้รบอย่างรุนแรงต่อไปกับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ
ในปี ค.ศ. 1961 เป็นต้นมา นับเป็นเวลา 2 ทศวรรษที่อเมริกันได้มีการช่วยเหลือทางทหารโดยทางอ้อม โดยในครั้งแรก ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ได้ส่งกองกำลังทหารขนาดใหญ่เข้าไปในเวียดนาม เพื่อช่วยรัฐบาลของเวียดนามใต้ต่อสู้กับเวียดนามเหนือ โดยจัดเป็นกองกำลังเพื่อให้คำปรึกษาด้านการสู้รบ หลังจากนั้น 3 ปี รัฐบาลของฝ่ายเวียดนามใต้ก็ล่มสลาย ประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) จึงได้เพิ่มบทบาทของกองทัพสหรัฐเป็นจำกัดเพียงเป็นที่ปรึกษา และได้มีการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือ และต่อมารัฐสภาสหรัฐได้อนุมัติให้ส่งทหารอเมริกันเข้าสู่สมรภูมิรบโดยตรง แต่ไม่ได้ทำให้สงครามมีท่าทีว่าจะยุติลง ในปี ค.ศ. 1965 ฝ่ายเวียดนามเหนือได้เพิ่มระดับการโจมตี จนประธานาธิบดีสหรัฐมีเพียงสองทางเลือก คือยกระดับการเข้าร่วมสงคราม กับการถอนทหาร จอห์นสันได้ตัดสินใจสั่งเพิ่มกำลังรบโดยส่งทหารอเมริกันเข้ารบมากกว่า 300,000 นาย และสั่งให้กองทัพอากาศเข้าโจมตีทิ้งระเบิดในเวียดนามอย่างติดต่อกันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
ในช่วงการสู้รบหลายปีต่อมา สงครามก็ยังยืดเยื้ออย่างไม่มีวันจบ ทหารสหรัฐในเวียดนามได้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และทำให้สหรัฐมีสถานะเสี่ยงต่อการเป็นชาติอาชญากรสงคราม ดังกรณีการสังหารหมู่ที่ “มีไล” (Massacre at My Lai) ทำให้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยต่อการเข้าสู้รบของสหรัฐในเวียดนาม ในปี ค.ศ. 1968 การรุกใหญ่ของฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามที่เรียกว่า Tet Offensive ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าโอกาสที่สหรัฐจะชนะสงครามนั้นเหลือน้อยมาก เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ในเวียดนามที่เลวร้ายยิ่งขึ้น ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ประกาศว่า เขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยต่อไป และเขาเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของเขาที่ทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกแยกกันอย่างหนักของคนภายในชาติในประเด็นสงครามเวียดนาม และเขาได้ให้อำนาจอเมริกันเข้าร่วมในการประชุมเพื่อสันติภาพ
ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1969 ในขณะที่การเดินขบวนต่อต้านสงครามโดยคนหนุ่มสาวและประชาชนชาวอเมริกันเอง ได้ขยายวงไปทั่วประเทศ ส่วนกองกำลังสหรัฐเองในเวียดนามก็ได้เพิ่มขึ้นจนใกล้ 550,000 คน ประธานาธิบดีคนต่อมา คือ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ได้เริ่มกระบวนการถอนทหารออกจากเวียดนาม โดยใช้นโยบายว่าการต่อสู้ภายในเวียดนามให้เป็นเรื่องระหว่างเวียดนามด้วยกันเอง (Vietnamization) แต่สหรัฐกลับมาใช้นโยบายสนับสนุนด้านการทิ้งระเบิด แต่มีการถอนทหารออกจากเวียดนามเพิ่มมากขึ้น แต่มีการขยายการโจมตีทางอากาศไปยังประเทศลาวและกัมพูชาในช่วงเริ่มต้นของทศวรรษ 1970s ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่าเพื่อตัดการส่งกำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือลงมายังเวียดนามใต้ การปรับเปลี่ยนลดกำลังรบลงก็จริง แต่เท่ากับเป็นการขยายเขตสู้รบเข้าไปในอีกสองประเทศยิ่งไปเพิ่มกระแสการต่อต้านสงครามภายในสหรัฐเอง
ในที่สุดในเดือนมกราคม ค.ศ. 1973 ตัวแทนสหรัฐ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ และฝ่ายเวียดกง คือกองกำลังรบต่อต้านรัฐบาลเวียดนามใต้ ได้ร่วมลงนามในสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส อันเป็นการยุติการเข้ามีส่วนสู้รบในสงครามจากฝ่ายสหรัฐ โดยมีการถอนกำลังรบทั้งหมด มีการปล่อยนักโทษสงคราม และปล่อยให้เกิดสันติภาพรวมเวียดนามเหนือและใต้ด้วยกระบวนการสันติภาพ โดยฝ่ายรัฐบาลเวียดนามใต้ที่สหรัฐสนับสนุนยังคงรักษาการณ์จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และฝ่ายกองกำลังทั้งของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้จะไม่มีการรุกคืบหน้าหรือเสริมกำลัง
แต่ในความเป็นจริง ข้อตกลงนั้นเป็นเพียงเพื่อรักษาหน้ารัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ต้องมีการถอนทหารออก แม้ในช่วงที่มีการถอนทหารสหรัฐจบสิ้นในวันที่ 29 มีนาคม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ได้ฝ่าฝืนมติหยุดยิง และในต้นปี ค.ศ. 1974 ฝ่ายเหนือได้มีการขยายแนวรบรุกลงใต้ ฝ่ายรัฐบาลเวียดนามใต้แจ้งว่าทหารและพลเรือนเวียดนามใต้ได้เสียชีวิตไปกว่า 80,000 คนในช่วงปีดังกล่าว และทำให้เป็นช่วงที่มีการสูญเสียมากที่สุดในสงครามเวียดนาม
ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1975 ชาวอเมริกันกลุ่มสุดท้ายได้ถูกอพยพออกจากเวียดนามใต้ทางอากาศ ในขณะที่ทั้งประเทศได้ตกอยู่ในการครอบครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ นายพันเอกบุย ทิน (Colonel Bui tin) แห่งกองทัพเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายรับการยอมแพ้สงครามของฝ่ายเวียดนามใต้ภายในเวลาต่อมาของวันนั้น พร้อมกล่าวแก่ฝ่ายเวียดนามใต้ว่า “ท่านไม่มีอะไรต้องวิตก ระหว่างเราเวียดนาม ไม่มีผู้ชนะและผู้แพ้ มีเพียงอเมริกันเท่านั้นที่พ่ายแพ้” สงครามเวียดนามนับเป็นสงครามที่ไม่ได้รับความชื่นชมที่สุดที่ได้กระทำในต่างแดนในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ทำให้อเมริกันเสียชีวิตไปรวม 58,000 คน มีชาวเวียดนามทั้งทหารและพลเรือนถูกสังหารไปมากถึง 2 ล้านคน
Wednesday, March 28, 2012
มารู้จักรถโดยสารนักเรียน (School bus)
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก From Wikipedia, the free encyclopedia
Keywords: การศึกษา, รถโดยสารนักเรียน, School bus
รถโดยสารนักเรียน | |
| |
บริษัทผู้ผลิตManufacturer | รายชื่อบริษัทผู้ผลิตรถโดยสารนักเรียน |
ขนาดความจุผู้โดยสาร | จุได้ 10-90 คน ขึ้นอยธู่กับขนาดและรุ่น10-90 passengers, depending on model |
ผู้ดำเนินการ | เขตพื้นที่การศึกษา (school districts), ผู้รับจ้างเหมา (school bus contractors) |
ข้อกำหนดรายละเอียด | |
ขนาดความยาว | Up to 45 feet (14 m) |
ความกว้าง | Up to 102 inches (2,600 mm) |
ประตู | ประตูเข้าและออกด้านหน้า (Front entry/exit door); มีประตูฉุกเฉินด้านหลัง (rear emergency exit door) |
น้ำหนักรถ | ≤10,000–36,000 pounds (4,500–16,000 kg) (GVWR) |
ข้อกำหนดทางเลือก | ในแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาอาจมีข้อกำหนดและเงื่อนไขพิเศษที่แตกต่างกันออกไป |
รถโดยสารนักเรียน (School bus) เป็นรถโดยสารประเภทหนึ่งที่ออกแบบและผลิตมาเพื่อการรับส่งนักเรียน นำเด็กและวัยรุ่นไปโรงเรียนและจากโรงเรียนกลับบ้าน และในกิจกรรมอันเกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียน รถโดยสารนักเรียนคันแรกเป็นรถที่ลากด้วยม้า มีขึ้นในปี ค.ศ. 1827 โดย George Shillibeer สำหรับสถานศึกษาชื่อ Newington Academy for Girls อันเป็นโรงเรียนในคริสต์ศาสนานิกายเควกเกอร์ (Quaker School) ที่เมือง Stoke Newington ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร (UK) ออกแบบมาเพื่อรับเด็กๆได้ครั้งละ 25 คน
ในอเมริกาเหนือ รถโดยสารนักเรียน (School buses) ถูกออกแบบให้แตกต่างจากรถโดยสารประเภทอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลของรัฐ/จังหวัด ในสหรัฐอเมริการัฐบาลกลางมีข้อกำหนดให้รถโดยสารนักเรียนต้องใช้สีเหลืองที่เรียกว่า “เหลืองรถโดยสารนักเรียน” (School Bus Yellow) มีอุปกรณ์เตือนภัยและรักษาความปลอดภัย บริการรถโดยสารนี้เป็นบริการที่เกือบจะไม่คิดค่าใช้จ่ายจากครอบครัว การรับส่งนักเรียนไปและกลับจากโรงเรียน ในช่วงหนึ่งซึ่งมีการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม ได้มีการบังคับการเดินทาง (Desegregation busing) เพื่อทำให้เด็กนักเรียนต่างสีผิวกัน ต้องมีการได้เรียนร่วมกัน (Racial integration) รถโดยสารนักเรียนนี้มีลักษณะคล้ายกับรถโดยสารทั่วไปอื่นๆในอเมริกาเหนือ แต่มีการออกแบบเฉพาะบางอย่าง เช่นลักษณะที่นั่งแข็งแรง อาจมีเข็มขัดนิรภัย นั่งไม่สบายนัก เพราะเป็นการเดินทางช่วงสั้นระหว่างบ้านกับโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับกฏเกณฑ์ที่ได้มีกำหนดขึ้นทั้งโดยรัฐบาลกลาง และรัฐบาลของแต่ละรัฐ อาจมีข้อกำหนดเรื่องไฟสัญญาณ หรือระบบติดตามควบคุมการเดินทางด้วยระบบสื่อสาร และหรือระบบนำทาง GPS (Global Positioning System)
ในที่อื่นๆของโลก รถโดยสารนักเรียนอาจมีรูปแบบและสีที่แตกต่างกันออกไป บางแห่งอาจใช้ประโยชน์แบบอเนกประสงค์ นอกเหนือจากการรับส่งนักเรียน บางแห่งอาจไม่มีกฏเกณฑ์จากรัฐบาลกลางมากนัก ดังเช่นในประเทศไทย มีการใช้รถกระบะ รถสองแถว รถตู้โดยสาร แม้แต่รถอีแต๋นมาใช้เพื่อการขนส่งโดยสารนักเรียน บางที่มีการแจกรถจักรยานสองล้อ เพื่อเป็นการเสริมกับระบบการศึกษาของราชการ
ในสหรัฐอเมริกากิจการรับส่งนักเรียนนับว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ละปีประมาณว่ามีการขนส่งนักเรียนกว่า 10,000 ล้านเที่ยว ใช้รถโดยสารนักเรียนกว่า 480,000 คัน ขนนักเรียนประมาณ 26 ล้านคนไปและกลับจากโรงเรียน และในกิจกรรมเพื่อการศึกษาอื่นๆ มีนักเรียนกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้บริการรถโดยสารนักเรียน รถโดยสารนักเรียนนี้อาจได้มาด้วยการเช่า หรือซื้อโดยเขตพื้นที่การศึกษา (School districts) แต่บางเขตพื้นที่การศึกษาอาจใช้สัญญาเช่าเหมา (School bus contractors) ในกิจการรับส่งนักเรียน ในสหรัฐอเมริกาประมาณร้อยละ 40 ของเขตพื้นที่การศึกษาใช้การจ้างเหมาบริษัทเอกชน เพื่อการรับส่งนักเรียน ส่วนในแคนาดาใช้บริการจ้างเหมาเกือบจะทั้งหมด
ภาพ ด้านหน้าของรถโดยสารนักเรียนที่ใช้กันโดยทั่วไปในอเมริกาเหนือ
ภาพ ภายในรถโดยสารนักเรียนในสหรัฐอเมริกา
ภาพ รถโดยสารนักเรียนแบบ D (Type D) แบบเดียวกับรถโดยสารที่วิ่งในเมือง หรือระหว่างเมืองในสหรัฐอเมริกา (Transit-style)
ภาพ รถโดยสารแบบ C (Conventional) เป็นแบบดั่งเดิมที่มีใช้มากที่สุด ใช้โครงสร้างของหัวรถบรรทุก แล้ววางห้องโดยสารแบบยาวในแบบกล่องทางด้านหลัง
ภาพ รถโดยสารนักเรียนแบบ B (Type B) ซึ่งเลิกผลิตและไม่มีการใช้ไปแล้ว
ภาพ รถโดยสารนักเรียนแบบ A (Type A) เป็นรถโดยสารขนาดเล็กใช้วิ่งในเส้นทางที่ไม่มีนักเรียนมากนัก
ภาพ ที่นั่งภายในของรถโดยสารนักเรียน จะเป็นเบาะแบบสูงเพื่อรองรับการกระแทก หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
ภาพ ส่วนบนเป็นภาพรถโดยสารนักเรียนที่มีพบกันทั่วไปในสหรัฐอเมริกา ส่วนตอนล่าง เป็นภาพรถโดยสารนักเรียนที่มีใช้ในสหราชอาณาจักร
Sunday, March 25, 2012
อดีตรองประธานาธิบดี Dick Cheney วัย 71 รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก ABC News, “Is Dick Cheney Too Old for a Heart Transplant?” By KATIE MOISSE (@katiemoisse) and OLIVIA KATRANDJIAN, March 25, 2012
Keywords: health, สุขภาพ, อนามัย, การแพทย์
ดิค เชนีย์ (Dick Cheney) อดีตรองประธานาธิบดีวัย 71 ปี ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เมือง Falls Church, รัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาอยู่ในรายชื่อรอรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมานานกว่า 20 เดือน
ดิค เชนีย์ มีชื่อเต็มว่า Richard Bruce "Dick" Cheney เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1941 ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี George W. Bush 2 สมัยในช่วงปี ค.ศ. 2001-2009
ในทางการแพทย์มีประเด็นถกเถียงกันว่า กรณีคนอายุมากในวัย 70 ขึ้นไปแล้ว ควรได้รับการพิจารณาให้ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจหรือไม่? บางศูนย์การแพทย์จะไม่รับผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับบุคคลที่มีอายุเกิน 65 ปี แต่หลายๆแห่งจะยังรับผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้กับผู้ป่วยที่มีอายุได้ไม่เกิน 72 ปี
จากจำนวนผู้ป่วยรอรับผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ และได้รับการผ่าตัดจำนวน 332 รายในเครือข่ายแลกเปลี่ยนอวัยวะ (United Network for Organ Sharing) มีเพียงร้อยละ 14 ที่มีอายุเกิน 65 ปี
สำหรับผู้ป่วยตั้งแต่วัย 18 ปีจนถึงวัย 71 ปีจะอยู่ในรายชื่อระดับชาติที่จะได้รับบริการรีบด่วน นายแพทย์ Jonathan Chen รองศาสตราจารย์ด้านการศัลยกรรมที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในเมืองนิวยอร์คกล่าว
นายแพทย์ Richard Besser บรรณาธิการของฝ่ายข่าวสุขภาพสถานีโทรทัศน์ ABC กล่าวว่าระยะเวลารอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัย UCLA คือประมาณ 3-6 เดือน แต่ดิค เชนีย์ อดีตรองประธานาธิบดีต้องรอนานถึง 20 เดือนจึงได้รับโอกาสรับการผ่าตัด
ผู้เชี่ยวชาญโดยทั่วไปเห็นว่าการรอรับผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจนาน 20 เดือน นับว่ายาวนานกว่าปกติ แต่ Dr. Keith Aaronson ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจล้มเหลวแห่ง University of Michigan กล่าวว่าการรอรับการผ่าตัดนาน 20 เดือนสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจวายระดับต้องมีเครื่องปั้มช่วยสูบฉีดโลหิต (LVAD) นั้นถือว่ารอนานเกินไป
LVAD มาจากคำว่า Left Ventricular Assist Device เป็นเครื่องปั๊มโลหิตแทนหัวใจที่ไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้อย่างมีประสิทธิผลตามที่ร่างกายต้องการ เครื่องนี้มีไว้ใช้เพื่อช่วยผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรือในบางกรณีคือการต้องใช้ไปตลอดชีวิต
Dr. Aronson ให้ความเห็นว่าเชนีย์ต้องรอนานกว่าปกติ อาจเป็นเพราะไตของเขาไม่ทำงานตามปกติ หรือเพราะเขามีอาการความดันโลหิตสูงเกินปกติในระหว่างใช้เครื่อง LVAD ช่วยปั้มโลหิตแทนหัวใจ ซึ่งผู้ป่วยในลักษณะดังกล่าวพบได้ทั่วไปในกรณีของหัวใจวายมาหลายๆครั้ง การใช้ LVAD ช่วยทำให้ผู้ป่วยปรับตัวมีสภาพร่างกายที่ดีขึ้นก่อนที่จะรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจริง
เชนีย์เคยได้รับการผ่าตัดหัวใจก่อนหน้านี้มาสองครั้ง คนไข้เป็นอันมากเสียชีวิตจากการที่ร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่ จากการอักเสบติดเชื้อ หรืออาการแซกซ้อนจากการผ่าตัด
หากการผ่าตัดของเชนีย์ล้มเหลว เขามีสองทางเลือก คือ เปลี่ยนหัวใจใหม่อีกครั้ง แต่ศูนย์แพทย์ทั่วไปจะปฏิเสธผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้ใหม่อีกครั้งในกรณีที่คนไข้ที่มีวัยระดับเขา และในอีกกรณีคือรับการผ่าตัดใส่ LVAD แล้วใช้เครื่องช่วยปั๊มโลหิแทนหัวใจนี้ไปตลอดชีวิต
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคอื่นๆ เช่นเบาหวาน ปอด และโรคไตมักจะได้รับการปฏิเสธการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ในกรณีของเชนีย์เขาได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เพราะปัญหาของเขาคือโรคหัวใจอย่างเดียว ไม่มีโรคอื่นๆ
เมื่อผ่าตัดแล้ว เชนีย์จะต้องรับยาลดการปฏิเสธอวัยวะใหม่ (Anti-rejection drugs) เพื่อกดสภาพภูมิต้านทานไม่ให้มากระทบการทำงานของหัวใจ ในกรณีผู้ป่วยสูงวัย ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจำนวนมากจะเลือกลดการใช้ยาลดปฏิเสธอวัยวะใหม่ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ หลังผ่าตัดเชนีย์จะได้รับการตัดตรวจชิ้นส่วนเนื้อ (Biopsies) เพื่อตรวจหาสัญญาณการเสี่ยงติดเชื้อ แล้วหากไม่มีอะไรผิดปกติ การตรวจชิ้นส่วนเนื้อก็จะลดลงจนหยุดตรวจในที่สุด
การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แม้จะได้ก้าวหน้ามามากแล้ว แต่มันก็ยังเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยง มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และทีมแพทย์ผู้ผ่าตัดก็ต้องรับการฝึกฝนมาอย่างมาก สิ่งที่คนทั่วไปควรจะคิดคือ ทำอย่างไรเราจึงจะปลอดจากการป่วยเป็นโรคหัวใจ ทำให้มีร่างกายแข็งแรง กินอาหารอย่างเหมาะสม ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเพียงพอ งดบุหรี่ ลดการเสพสุรา ลดความเสี่ยงจากไขมันอุดตันในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน ตับ ไต ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวพันกับหัวใจ
ต้องเข้าใจว่า การป้องกันคือกระบวนการรักษาโรคที่ดีที่สุด
หากมีเงินมากพอ คนจะยอมขายแม้พี่น้องของตนเอง
หากมีเงินมากพอ คนจะยอมขายแม้พี่น้องของตนเอง
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: Proverb, สุภาษิต, Polish, Poland, โปแลนด์
มีสุภาษิตชาวโปแลนด์บทหนึ่งกล่าวว่า “Za dukata brat sprzeda brata." ซึ่งเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษได้ว่า “For a ducat, a man will sell his own brother.”
ซึ่งแปลเป็นไทยตามความหมายของสุภาษิตคือ “หากมีเงินมากพอ คนจะยอมขายแม้พี่น้องของตนเอง” ~ สุภาษิตชาวโปแลนด์ หรือในความหมายหนึ่ง คือ เรื่องเงินทองนั้นไม่เข้าใครออกใคร จะทำกิจการใดๆ ก็ต้องใส่ใจในเรื่องนี้
Ducat = เงินโบราณแบบหนึ่ง หรือความหมายก็คือเงินนั่นเอง
Ducat หรือ Dukat เป็นเหรียญทองที่ใช้เป็นค่าเงินเพื่อการค้าขายได้ทั่วทั้งยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มันมีน้ำหนัก 3.4909 กรัมของทองความบริสุทธิ์ที่ .986 หรือ 0.1107 ทรอยออนซ์ในค่าเงินจริง
คำสุภาษิตนี้เป็นการเตือนคนทำงานที่จะต้องระวัง ไม่ให้เรื่องเงินทองนั้นทำให้เกิดความแตกแยกที่ทำให้งานไม่สามารถบรรลุผลได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะเงินนั้นสามารถซื้อคนบางคนได้อย่างมากจริงๆ เพราะเงิน สามารถทำให้ข้าราชการที่เรามองว่าน่าจะเป็นคนทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต แต่ก็เงินก็สามารถทำให้เขากระทำทุจริตคอรัปชั่นได้ เพราะเงิน หลายคนเชื่อว่าสามารถซื้อการตัดสินของผู้พิพากษาบางคนได้ ดังนั้นหากใครเป็นผู้นำ ผู้ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมใหญ่ ก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญในด้านนี้ อะไรที่เกี่ยวกับเงิน ต้องกระทำอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในคนส่วนใหญ่ได้ เพราะหากคนไม่เชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตของการนำแล้ว ปัญหาการนำก็จะเกิดปัญหาได้
ในหลักการจัดการ เงินเป็นมิติหนึ่งที่สำคัญยิ่งของนักบริหาร เขาเรียกว่า Financial Management หรือการบริหารการเงิน องค์การจะอยู่ได้ ก็ต้องมีรูปแบบการบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ใช้เงินเพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่ควรได้รับการพัฒนา ไม่ส่งเสริมให้ทำในสิ่งที่ไม่มีอนาคต สำหรับคน เงินต้องไปสู่คนที่มีความสามารถ ให้รางวัลในการทำงานและความสำเร็จอันควรของเขาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ แต่หากใช้เงินผิด ให้รางวัลแก่คนผิดที่ผิดทาง ท้ายสุดก็นำมาซึ่งขวัญในการทำงานของทั้งองค์การที่ตกต่ำ
คนจะเป็นผู้นำ จะต้องหาคนมือดีที่จะมาช่วยงานบริหารการเงินการคลัง ที่ต้องมีความเก่งและความดีควบคู่กัน ที่ว่าดี คือต้องซื่อสัตย์ตามวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจมหภาค หรือจุลภาค กล้าตัดสินใจกระทำในสิ่งที่มีทั้งคนเกลียดและคนชอบ หากสิ่งนั้นเป็นความจำเป็นทางการบริหาร กล้าพอและดีพอที่จะไม่ใช้ระบบเล่นพรรคเล่นพวก (Nepotism) ให้รางวัลเฉพาะกลุ่มพวกของตนเอง คนเก่งในลักษณะเช่นนี้ ความดีนี้ทำให้งานหลายอย่างที่ว่ายากนั้น สามารถกระทำได้ เพราะเป็นฐานที่ทำให้คนจำนวนมากเชื่อถือ และที่สำคัญที่สุด คือคนดีและเก่งนี้ เขาจะพร้อมเสมอที่จะให้คนตรวจสอบความโปร่งใสของเขา หากทำงานในบริษัท ก็จะต้องมีระบบรายงานการเงินที่ละเอียดถี่ถ้วน รายงานให้ทราบทุกเดือน หรือในบางกรณี รายงานได้ทันทีที่มีสัญญาณอันตรายบางอย่างเกิดขึ้น
อันที่จริง เงินเป็นเครื่องมือของมนุษย์ แต่หากเราไม่ระวัง เงินจะกลายเป็นปีศาจที่มาควบคุมมนุษย์ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียไปทั้งระบบได้
Saturday, March 24, 2012
ชีวิตการเดินทางที่จำกัดลง (Limited Mobility)
ชีวิตการเดินทางที่จำกัดลง (Limited Mobility)
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: Diary, บันทึกชีวิต
ในช่วงชีวิตของผมและคนวัยผม การเดินทางไปในที่ต่างๆจะลดน้อยลง มันจำกัดไปตามธรรมชาติ เฉพาะผม ผมเลือกเพิ่มกิจรรมในโลกเสมือน (Virtual World) แต่สำหรับการพบปะมีกิจกรรมร่วมกันจริงๆ ก็สงวนไว้เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม นอกจากนี้ผมก็จะจัดเวลาบางส่วนไว้เพื่อพบปะเพื่อนฝูงเก่าๆเป็นครั้งคราว และเมื่อพบกันแล้ว ก็จะเก็บภาพเอาไว้เป็นที่ระลึก และเพื่อให้ลูกหลานของเราได้ใช้อ้างอิง ศึกษา
การไปร่วมงานรวมรุ่นนักรักบี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.facebook.com/media/set/?set=a.163359713781308.33554.100003218417057&type=3
การไปกินเลี้ยงประจำเดือนของเทพศิรินทร์ รุ่น 04-06 http://www.facebook.com/media/set/?set=a.109216142528999.10837.100003218417057&type=3
การไปงานทำบุญของครอบครัว คุปรัตน์ และเครือญาติ ที่วัดแสนภูดาษ http://www.facebook.com/media/set/?set=a.176768909107055.37357.100003218417057&type=3
การขับรถยนต์ยังเป็นความสนุก หากเป็นการขับไปต่างจังหวัดที่สามารถขับและพักได้เป็นช่วงๆ อันที่จริงชอบขับรถ แต่ไม่อยากขับในช่วงหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ เพราะมันง่วง แต่หากมีคนอื่นขับสัก 1 ชั่วโมง แล้วที่เหลือผมขับต่อ อย่างนี้ทำได้ จะขับไปไกลถึงเชียงราย หรืสงขลาก็ไม่เกี่ยง แต่หากต้องขับรถในกรุงเทพฯ ขับแล้วยังไม่พอ ต้องไปวนหาที่จอดรถ ดังการไปงานแต่งงาน หรืองานศพที่วัดที่หาที่จอดรถยากด้วยแล้ว นับเป็นความทุกข์ ชอบเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า แล้วเดินเอามากกว่า
ผมชอบสอนหนังสือ ชอบที่จะพูดในสิ่งที่ตนเองศึกษามาใหม่ๆ ไม่ชอบพูดในสิ่งที่เขาว่าเราเชี่ยวชาญ แต่พูดซ้ำมาแล้วสัก 40 ครั้ง ดังนี้นับว่าไม่ใช่ความสนุก หากต้องไปต่างจังหวัด เพื่อบรรยายสัก 2 ชั่วโมง แต่เดินทางในเวลารวม 2 วัน ดังนี้ ผมนั่งเขียนในสิ่งที่ผมมีความสุขที่บ้าน เขียนในสิ่งที่เราและคนอ่านพอจะแลกเปลี่ยนกันได้ดีกว่า ปัจจุบันผมมีกิจกรรมฝึกสมอง เรียกว่า Brain exercise พยายามที่จะเขียนสิ่งที่เป็นสาระ วันหนึ่งเขียนประมาณสัก 1 หน้ากระดาษ ซึ่งอาจเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรืออื่นๆที่มีความสนใจ
ออกกำลังกายทุกวัน ผมหาทางออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 วัน โดยเลือกไปออกกำลังที่ Fitness Center ใกล้บ้าน โดยให้ลูกชายมารับไปในช่วงเช้า แล้วไปออกกำลังกายด้วยกัน ผมจริงจังกับการออกกำลังกาย ใช้เวลาประมาณ 60-70 นาที เทียบเท่ากับเดินสัก 5-6 กิโลเมตร โดยใช้เครื่องออกกำลังกายที่เขาเรียกว่า Treadmill เดินบนสายพาน หรือจักรยานปั่นอยู่กับที่ โดยตั้งความฝืดหรือหนักตามต้องการ แล้วก็ยกน้ำหนักระดับปานกลาง รวมแล้วออกกำลังกายเทียบเท่ากับใช้พลังงานสัก 550-600 แคลอรี่ เท่ากับผลาญพลังงานจากดื่มนมสด 3 แก้วเต็ม
แต่โดยรวมๆแล้ว ก็ต้องบอกว่าชีวิตการเดินทางจำกัดลง มันคงเป็นไปตามธรรมชาติ
Friday, March 23, 2012
ความสามัคคีทำให้เกิดความแข็งแกร่ง
ความสามัคคีทำให้เกิดความแข็งแกร่ง
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
Keywords: สังคม, วัฒนธรรม
มีสุภาษิตชาวโปแลนด์บทหนึ่งกล่าวว่า "Gdzie zgoda tam i siła." ซึ่งตรงกับในภาษาอังกฤษว่า “English Translation: With unity there is strength.” อันแปลเป็นไทยได้ว่า “ความสามัคคีทำให้เกิดความแข็งแกร่ง” ~ สุภาษิตชาวโปแลนด์
คนโบราณเคยสอนด้วยวิธีการสาธิตให้ดู โดยใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวก้านหนึ่ง หยิบขึ้นมา แล้วก็หักเป็นชิ้นๆให้เห็นได้โดยง่าย แต่เมื่อนำก้านไม้กวาดทางมะพร้าวมารวมเป็นกำใหญ่ แล้วลองให้คนหักดู ก็ไม่สามารถหักได้โดยง่าย ซึ่งแสดงเปรียบเทียบให้เห็นความสำคัญของการทำงานอย่างมีพลังร่วมกัน การอยู่ด้วยกันด้วยหลักสามัคคีธรรม
แต่สุภาษิตนี้ต้องไม่ใช้ตีความอย่างเกินเลย เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจจะแตกต่างกัน เพราะมันยังมีตัวแปรอื่นๆที่จะต้องคิดร่วมกัน
ยกตัวอย่างในระดับครอบครัว
ครอบครัวเกษตรกรหนึ่งมีพี่น้อง 5 คน มีที่ดินหลักผืนเดียวของครอบครัวรวม 100 ไร่ คิดอย่างใช้หลักแบบคนจีน ซึ่งเรียกว่า “กงสี” แม้สิ้นบิดาผู้เป็นหลักของครอบครัวไปแล้ว เขาจะรักษาที่ดินทั้งแปลงเอาไว้เป็นหนึ่ง แล้วให้พี่ชายคนโต ซึ่งเรียกว่า “ตั้วเฮีย” ทำหน้าที่แทนบิดามารดา แล้วน้องๆทุกคนต้องมาร่วมแรงกันทำไร่ทำนา หรือจะทำกิจกรรมอื่นใดในที่ดินนั้น แล้วนำผลประโยชน์มารวมกัน ทุกคนได้รับเงินเดือนตามงานที่ทำ ข้อดีคือที่ดินขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรกลมาช่วยงานได้ แรงงานร่วมกันกลุ่มใหญ่ ก็ทำงานได้มาก ส่วนทุกครอบครัวนั้น ก็ต้องยอมรับความเป็นผู้นำของพี่ชายคนโตที่จะดูแลจัดสรรผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างยุติธรรม พี่ชายคนโตบางทีต้องเสียสละได้เรียนหนังสือน้อย เพราะต้องมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากินตั้งแต่ยังอายุน้อย ปล่อยให้น้องๆได้เล่าเรียนหนังสือไปเต็มที่ ดังนี้ก็มี
ในหมู่คนจีน การทำธุรกิจเป็นอันมากเป็นธุรกิจครอบครัว การทำกิจการขนาดใหญ่ เช่น โรงสี โรงเลื่อยไม้ เหมืองแร่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินทุน หากจะทำอย่างตามลำพัง ก็จะไม่มีทรัพยากรที่จะลงทุนได้ แต่เขาใช้การดำเนินการร่วมกัน ทุกคนต้องทุ่มเททำให้กับครอบครัวก่อน โดยอาศัยฝ่ายชายเป็นตัวหลัก ส่วนภรรยาก็ต้องอยู่ในวินัยของครอบครัวฝ่ายชาย มีหน้าที่การบ้าน ดูแลการกินการอยู่ให้กับสามีและลูกๆไป
ในอีกด้านหนึ่ง ในครอบครัวแบบไทยรุ่นใหม่ เลี้ยงลูกกันมาอีกแบบหนึ่ง เลี้ยงลูกอย่างอิสระ คำว่าพี่ชายหรือพี่สาวคนโตจะได้รับเกียรติเป็นพี่ แต่ในด้านสิทธิประโยชน์ พ่อแม่มักจะต้องมองการจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สมบัติอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน เพราะลูก 5 คนก็เหมือนนิ้วมือ 5 นิ้วที่ยังมีความสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป การจัดแบ่งมรดกจึงจะออกมาเป็นลักษณะจัดแบ่งให้ในมูลค่าที่เท่าๆกัน แต่ถ้าคิดก้าวหน้าหน่อย ก็มีการพัฒนาที่ดินให้มีถนนเข้าถึงที่ทุกแปลงอย่างไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ส่วนใครจะได้ที่ดินติดถนนใหญ่ หรือในส่วนที่ลึกถัดไปนั้น ก็สามารถกำหนดเป็นอัตราส่วนที่แตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วผลประโยชน์จะไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้บางทีเขาจะจัดแบ่งให้ได้ที่ดินอย่างใกล้เคียงกันแล้วใช้วิธีการจับฉลากก็มี
ในการคิดและทำแบบที่สองนี้ เขาใช้หลักสุภาษิตที่ว่า “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ” อะไรที่จะเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งกัน ก็ให้รีบตัดสินใจจัดการเสีย ดังเช่นเรื่องผลประโยชน์ ส่วนเมื่อตัดสินใจจัดแบ่งไปแล้ว ใครจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็เป็นความรับผิดชอบส่วนตัวไป พี่น้องคนไหนไปทำงานที่อื่นๆ อยากขายที่ดินนั้นๆ ก็ทำได้ โดยให้เลือกขายกันเองในหมู่พี่น้องก่อน แต่หากขายให้กับคนภายนอกก็สามารถกระทำได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของแต่ละคนแล้ว ส่วนสัมพันธภาพระหว่างพี่น้องกันนั้นก็จะยังคงมีอยู่ตามสภาพโดยจะไม่เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์แล้ว เพราะแต่ละคนก็อาจจะไปมีครอบครัวของตนเองมีสามี ภรรยา หรือบุตรธิดาที่ต่างต้องรับผิดชอบแยกกันไป
คิดแบบจีนหรือแบบไทยก็ไม่ผิด ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ฝ่ายไทยนั้นไม่ได้มองว่าทรัพย์สมบัติเป็นเรื่องสำคัญไปกว่าสัมพันธภาพของพี่น้องที่จะมีต่อกัน เพราะมีตัวอย่างให้เห็นที่เพราะสมบัติของครอบครัวนี้ ทำให้เกิดศึกสายเลือดกันทำร้ายกันเอง ก็มีให้เห็น และไม่ได้มีผลดีต่อฝ่ายใด ทรัพย์สมบัติจึงกลายเป็นทุกขลาภ คือลาภอันมาซึ่งความทุกข์
ในอีกด้านหนึ่ง ในทางธุรกิจยุคใหม่ แต่ละคนมีทางเลือกในการพัฒนาธุรกิจโดยเริ่มอย่างอิสระจากครอบครัว เริ่มจากเล็กๆได้ โดยไปพัฒนาเครือข่ายธุรกิจของตน ทำงานร่วมกันคนที่มีความคิดเห็นและค่านิยมไปในทิศทางเดียวกัน นำความรู้ความสามารถที่ต่างกันมารวมกันเพื่อเสริมจุดแข็งให้แก่กัน เมื่อคิดที่จะทำอะไรที่แปลกใหม่ก้าวหน้า ก็ทำได้โดยไม่มีใครมาขัดขวาง ทำให้สามารถทำงานบางอย่างได้อย่างรวดเร็ว มีโอกาสประสบความสำเร็จ มีประสิทธิผลมากกว่าจำกัดกรอบทรัยากรเงินและคนเพียงในครอบครัว
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือองค์กรจัดตั้ง ความสามัคคีและการทำงานอย่างอุทิศตัวเพื่อส่วนรวมนั้น ก็ยังเป็นหัวใจของการดำเนินการ ดังคำที่ว่า “ความสามัคคีทำให้เกิดความแข็งแกร่ง”
BTS ต้องทำมากกว่าไล่รปภ.ที่มีเรื่องกับชาวต่างชาติ
BTS ต้องทำมากกว่าไล่รปภ.ที่มีเรื่องกับชาวต่างชาติ
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
Keywords: บันทึกชีวิต, รถไฟฟ้า, BTS
ผมได้ติดตามข่าวทางช่อง 3 ที่ลงภาพวงจรปิดเกี่ยวกับชาวต่างชาติ หรือฝรั่งถูกทำร้าย เพราะนำลูกโป่งที่เป็นของบุตรสาวขึ้นรถไฟฟ้า BTS แล้วได้รับการปฏิเสธจนมีการใช้กำลัง ทำให้ชาวต่างชาตินั้นตาบวม และศรีษะมีบาดแผลต้องเย็บ เพราะมีการใช้กำปั้นและมีของหนักฟาด
ตามข่าวทางฝ่ายบริหารบอกว่าได้ไล่รปภ.ที่มีเรื่องนั้นออกจากงานแล้ว ซึ่งผมว่าน่าจะต้องมีการสืบสาวราวเรื่องให้ได้ชัดเจนกว่านี้ และให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยทั่วไปรถไฟฟ้าของไทยไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นไปกำกับดูแลความปลอดภัย ไม่เหมือนดังต่างประเทศ ในมหานิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ในระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน เขาใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจริงๆ มาดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งผู้โดยสารทุกคนต้องเชื่อฟัง และเขาจะเคร่งครัดและระมัดระวังเรื่องผู้ก่อการร้ายมาก การขัดขืนนั้นถือว่าส่อเจตนาการก่อการร้ายได้อย่างง่าย ในเมืองใหญ่อย่างลอนดอน หรือปารีสก็เหมือนกัน การให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ถือเป็นสิ่งสำคัญ
ในประเทศไทยดังรถไฟฟ้า BTS เราใช้เจ้าหน้าที่รปภ. เป็นลูกจ้างของระบบรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นของเอกชน แต่กระนั้นก็นับเป็นความจำเป็นที่ผู้โดยสารก็ยังจะต้องให้ความร่วมมือในระเบียบที่เขามี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้โดยสารทั่วไปที่เป็นคนไทยก็ให้ความร่วมมือ เช่นเขาไม่อนุญาตให้นำอาหารและเครื่องดื่มไปกินบนรถไฟฟ้า คนก็ปฏิบัติตาม แต่ในนิวยอร์คเขาไม่ห้าม เด็กๆที่เดินทางกลับบ้านนั่งในรถโดยสารนานถึง 20 นาที จึงต้องมีของว่างและเครื่องดื่มกินรองท้อง แต่เด็กๆและแม้ผู้ใหญ่ที่จะกินอาหารบนรถ ก็ต้องกินอย่างไม่รบกวนคนอื่นๆ และไม่ทำของหกเลอะเทอะ แต่ในสิงค์โปร์ ไม่ใช่เพียงห้ามอาหารและเครื่องดื่ม แต่หมากฝรั่งก็ห้ามเคี้ยวแล้วเที่ยวไปบ้วนทิ้ง จะโดนจับและปรับแน่ แต่ที่สถานีรถโดยสารหมอชิต เราจะเห็นฤทธิของหมากฝรั่งที่บ้วนทิ้งตามพื้น แกะไม่ออก เป็นดวงๆไปทั้งทางเดิน ดูสกปรกสิ้นดี
ในระบบขนส่งมวลชนที่มีคนใช้บริการวันหลายแสนคน จึงเห็นด้วยที่ให้มีกฎระเบียบเพื่อรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารทั้งมวล แต่กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างควรกระทำอย่างมีวิจารณญาณ การไปกระชากผู้โดยสารลงจากรถต่อหน้าลูกสาวตัวเล็กๆของเขา จนกระทั่งวิวาทกัน ชกต่อยรุมทำร้ายผู้โดยสารกันนั้น ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่อันควร ในกรณีเช่นนี้ เจ้าหน้าที่สามารถปล่อยไป แล้วไปแจ้งหน่วยเหนือให้ทราบเอาไว้เป็นหลักฐาน
สิ่งที่น่าเห็นใจก็คือมันมีเรื่องของภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเจ้าหน้าที่ไทย บรรดารปภ.ทั้งหลายก็ไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศเอาเสียเลย การจะพูดคุยสื่อสารกันอย่างสุภาพชนก็เป็นไปได้ยาก เมื่อพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็จะทำให้ขัดแย้งกันได้ง่ายขึ้นไปอีก สิ่งที่ฝ่ายบริหาร BTS ต้องระวังก็คือ มีผู้โดยสารจำนวนมากขึ้นที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งในบางช่วงเวลา มีมากถึงร้อยละ 20 ของผู้โดยสาร ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีของการท่องเที่ยวไทย แต่การมีเรื่องในลักษณะวิวาทกันแล้วไปโผล่ใน Social Media บ่อยๆ ไม่เพียงจะไม่ดีต่อ BTS มันเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของกรุงเทพฯ และประเทศไทยด้วย
ในด้านการสื่อสาร ภายในตู้รถ BTS และตามสถานีมีโทรทัศน์โฆษณาและข่าวอยู่แล้ว ก็ควรได้ใช้เพื่อชี้แจงกฎระเบียบ และวัฒนธรรมที่คาดหวังในการใช้รถไฟฟ้าร่วมไปด้วย ไม่ใช่มีไว้โฆษณาอย่างเดียว
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความเครียดของเจ้าหน้าที่รปภ.ทั้งหลาย คือรถไฟฟ้ายามเร่งด่วนยิ่งมีปัญหาคนจำนวนมาก จำนวนรถเท่าที่มีระบายคนไม่ได้เร็วพอ เพราะ BTS เองก็ไม่ได้เพิ่มตู้รถอย่างเพียงพอกับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น เรื่องนี้หากฝ่ายบริหารจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานด้วยอารมณ์ที่ไม่เครียดจนเกินไป ให้รู้จักผ่อนคลายบ้าง มีเจ้าหน้าที่หญิง และคนรู้ภาษาอังกฤษมาช่วยบ้างเป็นบางจุดก็จะเป็นประโยชน์ เพราะโดยส่วนใหญ่ ผู้โดยสารต่างชาติเอง ก็พร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้วหากเขารู้และเข้าใจในกฏระเบียบที่มี ไม่มีใครเขาอยากมาเที่ยวแล้วมามีเรื่องชกต่อยกันในประเทศไทยหรอก
Thursday, March 22, 2012
สุภาษิตโปแลนด์ - ท่านรอให้วัวกลับบ้าน ก่อนที่จะไปตกอกตกใจ
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com