Monday, December 30, 2013

ทนายสมชาย-ทนายนกเขา ปฏิปักษ์รัฐโจร


ทนายสมชาย-ทนายนกเขา ปฏิปักษ์รัฐโจร

กวนน้ำให้ใส สารส้ม, แนวหน้า, วันอังคาร ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Keywords: การเมือง, การปกครอง, ประชาธิปไตย, Democracy, ไสว บุญมา, ระบอบทักษิณ (Thaksinocracy, Taksinocracy), อัตตาธิปไตย (Autocracy), ขโมยาธิปไตย, โจราธิปไตย (Kleptocracy, Cleptocracy), ธนาธิปไตย (Plutocracy), ญาติกาธิปไตย (Cronyismocracy, Cronyism, Nepotism), ประชานิยมาธิปไตย (Populismocracy, Populist Policy), ประชานิยม, ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง (Reform Before Election), นิติธร ล้ำเหลือ, ทนายสมชาย ลีละไพจิตร
------------

ระบอบทักษิณ (Taksinocracy) ดำรงอยู่ได้ด้วยการต้องมีเสียงสนับสนุนในระบอบรัฐสภา สร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งมีนักวิชาการให้คำจำกัดความว่า Majoritarianism มีการใช้นโยบายประชานิยม สร้างคะแนนนิยมในหมู่คนระดับรากหญ้า เพราะต้องการเสียงสนับสนุนเพื่อการเข้าครองอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จทแม้นโยบายดังกล่าวไม่สามารถดำรงอยู่ได้และเป็นผลเสียต่อประเทศชาติในระยะยาว แต่อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับระบอบนี้ คือ กระทำสิ่งที่ที่เข้าข่ายปกครองแบบ ขโมยาธิปไตย หรือ โจราธิปไตย (Kleptocracy, Cleptocracy) ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย การข่มขู่ หรือฆ่าปิดปากฝ่ายตรงกันข้าม

 จะด้วยมีคำสั่งโดยตรง หรือการมีอิทธิพลโดยอ้อมก็ตาม ผลจะคล้ายๆกัน คือไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ลองติดตามข่าว ทนายสมชาย-ทนายนกเขา ปฏิปักษ์รัฐโจร การปฏิบัติการที่ใกล้กับลักษณะอุ้มไปฆ่า - ประกอบ คุปรัตน์ (31 ธันวาคม2556)
--------------


ภาพ ทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ


ภาพ ทนายสมชาย นีละไพจิตร


กลางดึกของคืนวันที่ 29 ธันวาคม 2556 เกิดเหตุร้ายกับ ทนายนกเขานายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษา คปท. ผู้มีบทบาทเป็นแนวหน้าของการต่อสู้กับระบอบทักษิณในขณะนี้

ตอกย้ำความชั่วร้ายของระบอบทักษิณว่าสันดานไม่เคยเปลี่ยน

ทนายนกเขาเล่าว่า ออกพื้นที่ชุมนุมก่อนถึงแยกนางเลิ้งมีรถประกบเข้ามา 2 คัน เรารู้สึกผิดสังเกตจึงให้คนขับรถเร่งความเร็ว รถคันดังกล่าวเร่งความเร็วตามเหมือนกัน พอพ้นนางเลิ้งข้ามสะพานมาแยกอุรุพงษ์รถติดไฟแดง รถคันนั้นจะเข้าประกบผมจึงให้คนขับฝ่าไฟแดงไปเลย พอพ้นข้ามแยกมาก็มีรถมาประกบเพิ่มขับไล่กันไปถึงแยกราชเทวี เลี้ยวซ้ายก่อนถึงรถไฟฟ้าพญาไท รถกระบะแซงขวาขึ้นมาปาดหน้าและมีชายฉกรรจ์หลายคนใช้อาวุธปืนประเภท M 4 ติดลำกล้อง มีคุณสมบัติเก็บเสียง ปาดหน้ารถเรา จึงให้คนขับรถฉีกออกขวาก็ยังมีรถเก๋งอีกคันมาปิดหน้า จึงให้ฉีกขวาอีกเพื่อยูเทิร์นรถกลับทันที รถเก๋งจะวิ่งตามแต่พอดีมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างวิ่งมาชน จึงไม่สามารถตามได้ทัน แต่คนที่กระโดดลงจากกระบะวิ่งข้ามเกาะกลางถนนมายืนเอาอาวุธปืนเล็งมาที่เราผมบอกให้ขับฝ่าขึ้นไปไม่ต้องจอดอะไรทั้งสิ้นและตีกลับเข้าทางเดิมมาถึงพื้นที่ชุมนุม

ทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือรอดพ้นเงื้อมมืออำมหิตมาได้อย่างฉิวเฉียด!

เมื่อพิจารณารูปแบบการใช้กำลังอาวุธคุกคาม เล่นงานฝ่ายตรงข้ามอย่างอุกอาจในลักษณะนี้แล้ว ตอกย้ำว่านี่คือ ประทุษกรรมหรือ วิธีการทำงานของสมุนรับใช้ระบอบทักษิณอย่างแท้จริง

1) ก่อนหน้านี้เพียงคืนเดียว 28 ธันวาคม 56 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัยบนเวที กล่าวถึงเหตุการณ์ลอบยิงการ์ด คปท.ด้วยปืนเอ็ม 16 กลางดึก ทำให้นายยุทธนา องอาจ เสียชีวิต ว่าตำรวจชั่วรู้เห็นเป็นใจ เป็นสุนัขลอบกัด

นายสุเทพระบุด้วยว่า มีคนมารายงานว่าตำรวจลูกน้องของ พล.ต.อ.อดุลย์ พล.ต.ท.วรพงษ์ และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ วันนี้ขึ้นบัญชีหมายหัวต้องจัดการตนนายนิติธร ล้ำเหลือ และนายชุมพล จุลใส (ลูกหมี) พิพากษากันโดยไม่ผ่านศาลแล้วจะมีกฎหมายไปทำไมบ้านนี้เมืองนี้จะฆ่าใครก็ได้

2) เหตุระทึกที่เกิดขึ้นแล้วกับทนายนกเขา ทำให้นึกย้อนไปถึงเหตุอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร
ครั้งนั้น เป็นพฤติกรรมของตำรวจขี้ข้าระบอบทักษิณ ลงมือกับคนที่ตนมองว่าเป็นศัตรูของระบอบทักษิณ โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายบ้านเมือง หลักมนุษยธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นอดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและอดีตรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความทำหน้าที่ทนายความให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คดีกูเฮงเผาโรงเรียนเมื่อปี 2537 คดีหมอแวพัวพันกลุ่มก่อการร้ายเจไอ (เจมาอิสลามียา)เป็นต้น

การทำงานของทนายสมชายหลายคดี เปิดโปงพฤติกรรมชั่วร้ายของตำรวจ อาทิ ผู้ต้องหาตำรวจถูกทำร้ายร่างกายและทรมานเพื่อให้การรับสารภาพ เป็นต้น

คืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 ทนายสมชายขับรถยนต์ส่วนตัว ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 5-6 คนขับรถยนต์สะกดรอยติดตามในระยะกระชั้นชิด ก่อนจะขับชนท้าย เมื่อทนายสมชายหยุดรถเพื่อลงมาพูดคุยกลุ่มชายฉกรรจ์ได้ทำร้ายร่างกายชกท้องผลักตัวของทนายสมชายให้เข้าไปในรถยนต์ของกลุ่มชายฉกรรจ์ แล้วขับรถพาตัวทนายสมชายหลบหนีไป

หลังเกิดเหตุ ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเฉไฉว่า นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความผู้ต้องหาในคดีเจไอ ไม่ได้หายตัวไปไหนเพียงแต่มีปัญหา ทะเลาะกับภรรยา จึงหลบมาอยู่กรุงเทพฯและตัดขาดการติดต่อจากคนอื่น

ทักษิณยังออกมาให้สัมภาษณ์บิดเบือนประเด็น ตัดตอนการสืบสวนทำให้เกิดความไขว้เขวใน
กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไปอีกด้วย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2547 กล่าวว่าจากการสืบสวนและหาข่าวเบื้องต้นรับรองว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องขอสื่อมวลชนว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับภาพลักษณ์ของประเทศ อย่าด่วนสรุปเพราะเท่าที่สืบสวนเบื้องต้นยังไม่ปรากฏชัดเลยว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่าลืมนะ เจ้าหน้าที่และประชาชนบริสุทธิ์ถูกฆ่าเยอะแยะไปหมดเรายังไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับคนเหล่านั้นนะ เพราะคนเหล่านั้นไม่เท่หรือไงใช่ไหม เราอย่าไปคิดอย่างนั้น

รัฐบาลทักษิณล้มเหลวสิ้นเชิงในการสืบสวนสอบสวน แถมไม่ให้ความร่วมมือกับกลไกตรวจสอบต่างๆ อาทิ คณะกรรมาธิการของวุฒิสภา เป็นต้น

สุดท้าย เมื่อทักษิณพ้นอำนาจ คดีไปถึงศาลยุติธรรม ศาลพิพากษาชัดเจนว่า ผู้กระทำการหรือทีมอุ้มทนายสมชายเป็นตำรวจ อาทิ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี เป็นต้น

คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า พ.ต.ต.ทินกร เกษรบัว พยานขึ้นเบิกความว่าขณะเดียวกันนั้นการข่าวของฝ่ายสืบสวนมีข้อมูลที่ พ.ต.ท.ชาญชัย ลิขิตคันธศร สารวัตรกองปราบปราม ได้เล่าให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่องซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาที่ภายหลังย้ายไปกรมสอบสวนคดีพิเศษฟังว่าก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ท.ชาญชัย ลิขิตคันธศร สารวัตรกองปราบปรามได้พบกับกลุ่มบุคคลที่รู้จักกันที่หน้ากองปราบฯ ซึ่ง พ.ต.ท.ชาญชัยได้สอบถามกลุ่มคนนั้นว่ามาทำอะไรกัน กลุ่มบุคคลตอบว่าจะไปอุ้มทนายโจร

ทนายสมชายถูกฝ่ายตำรวจระบอบทักษิณหมายหัวโดยกล่าวหาว่าเป็นทนายโจร

เช่นเดียวกับทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ ต่อสู้กับอำนาจรัฐ ช่วยเหลือชาวบ้านมาโดยตลอด ขณะนี้ถูกตำรวจของระบอบทักษิณหมายหัว กล่าวหาว่าเป็นพวกกบฏ เนื่องจากแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ระบอบทักษิณ

3) ที่ผ่านมา ยังมีกรณีลอบสังหาร อุ้มฆ่า ฆาตกรรมนอกระบบกฎหมาย เกิดขึ้นอีกมากมายภายใต้อำนาจของระบอบทักษิณ

โดยเฉพาะแกนนำประชาชนที่ประท้วงฝ่ายรัฐบาล ผู้นำชุมชน ผู้ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิชุมชนสิทธิมนุษยชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถูกฆ่าตายด้วยมือสังหารนอกระบบกฎหมายในหลายพื้นที่ เช่นคุณจุรินทร์ ราชพล (อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต) คุณนรินทร์ โพธิ์แดง (อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง) คุณพิทักษ์ โตนวุธ (เภอเนินมะปรางจังหวัดพิษณุโลก) คุณฉวีวรรณ ปึกสูงเนิน (อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)คุณแก้ว ปินปันมา (กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่) คุณสุวัฒน์ วงศ์ปิยะสถิตย์ (อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ) คุณสมพร ชนะพล (อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี) คุณบุญสม นิ่มน้อย (อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี) คุณปรีชา ทองแป้น (อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช)คุณบุญฤทธิ์ ชาญณรงค์ (อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี) คุณบุญยงค์ อินต๊ะวงศ์ (อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย) คุณคำปัน สุกใส (อำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่) คุณชวน ชำนาญกิจ (อำเภอฉวาง จังหวัดนครราชสีมา)คุณสำเนา ศรีสงคราม (อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น) คุณเจริญ วัดอักษร (บ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) คุณสุพล ศิริจันทร์ (จังหวัดลำปาง)คุณพักตร์วิภา เฉลิมกลิ่น (อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) พระสุพจน์ สุวโจ (อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่) เป็นต้น

รวมถึงกรณีฆ่าชิปปิ้งหมู หรือนายกรเทพ วิริยะ พยานปากสำคัญในคดีเลี่ยงภาษีการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารของบริษัทชินแซทเทิลไลท์

สะท้อนการปล่อยปละละเลย หรือรู้เห็นเป็นใจ ทำให้เกิดการสังหารฝ่ายตรงข้ามอำนาจระบอบทักษิณ
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการฆาตกรรมในสงครามยาเสพติด 2,500 ศพ

แม้แต่กรณีสังหารฝ่ายตรงข้ามระบอบทักษิณในยุครัฐบาลหุ่นเชิดทักษิณ ทั้งด้วยน้ำมือเสื้อแดงอย่างเปิดเผยและกองกำลังติดอาวุธชุดดำ หรือแม้แต่การอุ้มฆ่านายเอกยุทธ ก็เพิ่มครหาให้กับระบอบทักษิณยิ่งขึ้น

รัฐที่ใช้กำลังอำนาจอย่างอำมหิต ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คือ รัฐโจร!

กองกำลังที่รับใช้รัฐบาลทรราช ไม่รับอำนาจศาล ละเมิดรัฐธรรมนูญ คือ โจร!

สารส้ม

ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง (Reform Before Election) – อุทัย พิมพ์ใจชน


ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง (Reform Before Election) – อุทัย พิมพ์ใจชน

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, ประชาธิปไตย, Democracy, เผด็จการรัฐสภา, ระบอบทักษิณ, Taksinocracy, คณาธิปไตย, Oligarchy, ทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พรรคเพื่อไทย, คอรัปชั่น, Corruption, ปฏิรูปประเทศไทย, Thailand Reform, Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ), อุทัย พิมพ์ใจชน,

ความนำ



ภาพ นายอุทัย พิมพ์ใจชน

ข้อความที่โพสต์ลงใน Facebook ของ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2556 ปรากฏว่ามีคนเข้ามากด Like แล้ว 46,967 คน คือข้อความไม่ยาว เขียนโดยนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

เด็กๆและเยาวชน แม้สนใจการเมืองในช่วงหลังบ้าง แต่อาจไม่ทราบประวัติความเป็นมาของนายอุทัย พิมพ์ใจชน ซึ่งเป็นคนในวัย 75 ปี รุ่นเดียวกันกับนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อุทัย พิมพ์ใจชน ครั้งหนึ่งในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองวีรบุรุษประชาธิปไตย เพราะกล้ายอมติดคุก เพื่อคัดค้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ผมจึงได้นำประวัติของอุทัย พิมพ์ใจชนอย่างย่อที่มาจาก Wikipedia มานำเสนอ เพราะมันจะมีส่วนในการให้น้ำหนักในสิ่งที่เขาพูดหรือเขียน – ประกอบ คุปรัตน์ (31 ธันวาคม 2556)
--------------

ผมเห็นว่าต้องมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่ผมเห็นด้วยกับ กปปส.แต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว วันนี้เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับว่าบ้านเมืองมีปัญหาต้องปฏิรูป ทำไมไม่หันหน้ามาร่วมมือกัน เลือกตั้งไปก็เสียเปล่า มีการต่อต้านเวลาไปหาเสียง เมื่อเลือกตั้งไปไม่ได้ จะดึงดันไปทำไม ตอนนี้การเมืองมี 2 พวก คือ ราษฎรที่มีตัวตน เป็นของจริง กับผู้บริหาร พวกนี้เป็นสิ่งสมมุติ แต่กลับมีการติดยึดในสิ่งสมมุติ ตำแหน่งนายกฯ ก็เป็นสิ่งสมมุติ อย่าไปยึดติด ออกแล้วสงบก็ออกไปเถอะ คนที่จะแก้ไขปัญหาได้คือนายกฯเท่านั้นว่าจะให้บ้านเมืองเกิดกลียุคหรือไม่ ถ้ารักษาตำแหน่งไว้กลียุคแน่ ต้องดูพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นตัวอย่าง ตำแหน่งกษัตริย์ท่านยังสละได้

อุทัย พิมพ์ใจชน
อดีตประธานสถาผู้แทนราษฎร์
อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

You and 44,967 others like this. ณ เช้าวันที่ 31 ธันวาคม 2556

ประวัติบุคคล



ภาพ นายอุทัย พิมพ์ใจชน


นายอุทัย พิมพ์ใจชน เกิดวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2481 ที่จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันอายุ 75 ปี เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ สำเร็จการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต สำนักการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

อุทัย พิมพ์ใจชน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากการชักชวนของนายธรรมนูญ เทียนเงิน สมาชิกพรรค จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ยึดอำนาจตัวเอง นายอุทัย พิมพ์ใจชน พร้อมด้วย ส.ส. อีก 2 คน คือนายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏ ถือเป็นท้าทายอำนาจของผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา แต่แล้วศาลได้ตีความ และทำให้ทั้งสามคนตกเป็นจำเลย และถูกจำคุก โดยเฉพาะส่วนนายอุทัยจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งต่อมาในยุครัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดก็ได้รับการปลดปล่อย

ในปี พ.ศ. 2522 เมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พ้นวาระและประกาศวางมือการเมือง นายอุทัยได้ลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป กับ นายชวน หลีกภัย เพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นเดียวกับ และ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่าย โดยนายอุทัยได้รับการสนับสนุนจาก นายธรรมนูญ เทียนเงิน อดีตเลขาธิการพรรค ด้วยความเป็นคนชลบุรีด้วยกัน ปรากฏว่า ที่ประชุมพรรคได้เลือก พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป หลังจากนั้นไม่นาน นายอุทัยก็ได้ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเองคือพรรคก้าวหน้า และต่อมาได้ตั้งพรรคอีกพรรคหนึ่ง คือ พรรคเอกภาพ

นายอุทัย ได้ตกเป็นข่าวฮือฮาในปี พ.ศ. 2537 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อถูกติวเตอร์คนหนึ่ง ปาถุงอุจจาระ ใส่ขณะแถลงข่าว หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น นายอุทัย ไม่ได้ดำเนินคดี หรือตอบโต้ใด ๆ กับผู้ก่อเหตุ ซึ่งส่งผลดีกับภาพลักษณ์ของนายอุทัย ในฐานะเป็นผู้มีอาวุโส ที่ไม่ใช้อำนาจกับผู้ด้อยอำนาจกว่า

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 นายอุทัยได้รับเลือกให้เป็น ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

ในปี พ.ศ. 2544 เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง นายอุทัยก็ได้ย้ายตัวเองเข้าสังกัด พรรคไทยรักไทย ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาในการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ท้องสนามหลวง นายอุทัยได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ต่อมาในการเลือกตั้งวุฒิสภาชิกเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 นายอุทัยก็ได้ลงรับสมัครในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่ 12 ได้คะแนน 25,407 คะแนน

ก่อนการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 นายอุทัยเป็นบุคคลหนึ่ง ที่แสดงความเห็นอย่างชัดแจ้ง ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ปัจจุบัน นายอุทัยได้ยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิงแล้ว โดยไปทำสวนเกษตรกรรมที่จังหวัดชลบุรี บ้านเกิด

อภิสิทธิ์เตรียมโพสต์เฟสบุค เขียนจม. เชิญ ปชช. ปฏิรูปประเทศ


อภิสิทธิ์เตรียมโพสต์เฟสบุค เขียนจม. เชิญ ปชช. ปฏิรูปประเทศ

30 ธ.ค. 2556

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, ประชาธิปไตย, Democracy, เผด็จการรัฐสภา, ระบอบทักษิณ, Taksinocracy, คณาธิปไตย, Oligarchy, ทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พรรคเพื่อไทย, คอรัปชั่น, Corruption, ปฏิรูปประเทศไทย, Thailand Reform, พรรคประชาธิปัตย์, Democrat Party
----------------------


ภาพ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 (30 ธ.ค. 56) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ว่า ขณะนี้ทุกคนมีความกังวลต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้น แต่ก็มีความหวังอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ตั้งใจจะโพสต์เฟสบุค พูดเรื่องวาระการปฏิรูปว่าจะต้องมีอะไรบ้าง และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตั้งใจว่าจะขึ้นเฟสบุค เขียนจดหมายถึงพี่น้องประชาชนส่งท้ายปีเก่า เพราะว่าผมมีความรู้สึกว่าขณะนี้ทุกคนก็มีความกังวลต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้น แต่ก็มีความหวัง เพราะว่าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะฉะนั้นข่าวสารเราทุกวันนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการชุมนุม เรื่องการเลือกตั้ง เรื่องการปฏิรูป

ที่จะเขียนเฟสบุคนี้ เป็นจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนใช่หรือไม่ จะมีเนื้อหาอย่างไร

ผมก็เขียนเวลาอำนวยครับ เป็นคนไม่ค่อยชอบเขียนเท่าไหร่ ก็จะพูดถึงการปฏิรูป ก็จะเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาปฏิรูป พูดถึงว่า วาระการปฏิรูปนี้คงจะต้องมีอะไรบ้าง แล้วก็ขณะเดียวกันนั้นมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และผมกับพรรคประชาธิปัตย์จะมีความตั้งใจอย่างไร เกี่ยวกับการปฏิรูป

สถานการณ์การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาทุกอย่างเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แต่พอมีการเปิดการรับสมัครวันแรก ดูมีกระแสความรุนแรงเกิดขึ้น คุณอภิสิทธิ์มองบรรยากาศขณะนี้อย่างไร

ตกลงมีมือที่สามเหรอครับ ผมมีความรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เราใช้คำว่ามือที่สามกันง่ายเกินไป คำว่ามือที่สามนี้ความจริง หมายความว่า อย่างสมมติว่า ผมกับคุณวิทเยนทร์มีกรณีกันอยู่ แต่ปรากฏว่า คุณถนอมซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง อาจจะไม่ได้รู้เรื่อง รู้ราวหรืออาจจะจงใจอยากจะแกล้งให้ 2 คนทะเลาะกันหนักขึ้นเข้าไปก็มาทำอะไร แต่ว่าเดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่ามือที่สามพยายามที่จะถูกใช้ให้เป็นตัวที่ เวลาที่ไม่มีคำตอบว่า ใครเป็นคนทำ แล้วก็พอคนเขาสงสัยว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำ ก็โยนมือที่สามเข้าไปก่อน อย่างเช่นกรณีของภาพที่ถ่ายจากมุมสูง บ่งบอกชัดว่ามีกลุ่มบุคคลซึ่งมีอาวุธ แล้วก็ทำร้ายประชาชนจากตึกสูง แล้วก็ตึกนั้นก็อยู่ในบริเวณอาคารที่มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรณีอย่างนี้ผมนึกไม่ออกว่ามันจะเป็นมือที่สามได้อย่างไร เพราะว่าถามว่าในพื้นที่ตรงนั้นใครเข้าไปได้บ้าง ถ้าเข้าไปกันได้ง่ายๆ ก็คงสมัครรับเลือกตั้งกันเรียบร้อยไปหมดนั่นแหละครับ

แล้วก็จำนวนคนก็เยอะ อาวุธก็มี หรือแม้กระทั่งภาพที่มีการมาทุบรถอาสา แต่งกายก็ชัดเจนว่าแต่งกายแบบไหน อย่างไร มันจะเป็นไปได้เหรอครับที่คนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับความขัดแย้งทั้งหลายจะแต่งตัวอย่างนั้น มีอุปกรณ์อย่างนั้น ไปอยู่ในสถานที่ตรงนั้นแล้วก็ทำการอย่างนั้น ผมว่ามันไม่ใช่

เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็อยากจะเรียกร้องให้ ผบ.ตร. ต้องคลี่คลายเรื่องเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพราะว่ามันมีคลางแคลงใจ แล้วก็ที่สำคัญก็คือว่า ยิ่งมันยืดเยื้อออกไปโดยไม่มีคำตอบ หรือไม่มีการดำเนินการอะไร ก็กลายเป็นว่ามีการไปยุยงส่งเสริมให้ประชาชน หรือผู้ชุมนุมเป็นการเฉพาะ มีความขัดแย้งกับตำรวจ
ผมก็เชื่อนะครับว่า ถ้ามันมีการกระทำในลักษณะนั้น ผบ.ตร. คงไม่มีทางที่จะให้ตำรวจนั้นปฏิบัติการณ์ในลักษณะนั้น ถ้าใช่ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก แต่แสดงให้เห็นว่ามันมีหน่วยที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือมีความพยายามไปใช้นอกรูปแบบ เอาคนอื่นเข้ามา หรือว่ามีหน่วยพิเศษอยู่ แล้วมาทำการอย่างนี้ ซึ่งไม่ควรปล่อยไป หรือถ้าไม่ใช่จริงๆ บอกว่าเป็นกลุ่มไหนเข้ามาแฝงตัว ก็ต้องจัดการให้ได้สิครับ เพราะมันไม่น่าจะยาก เพราะว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุนั้นความจริงต้องถือว่าทางเจ้าหน้าที่ควบคุมไว้ทั้งสิ้น

คุณอภิสิทธิ์เคยชื่นชม พล.ต.อ.อดุลย์ ในวันแรกๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ตร. ถึงบัดนี้ผิดหวังกับคนนี้หรือไม่

ผมก็อยากให้ ผบ.ตร. คนนี้ยังพิสูจน์ให้เห็น เพราะว่าต้องยอมรับว่า หลายคนซึ่งก็เคยแสดงความชื่นชม คุณสุเทพก็ยังเคยชมบนเวทีเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมว่าหลายคนขณะนี้ก็มีเครื่องหมายคำถามเยอะ เพราะฉะนั้น ผบ.ตร. ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองครับคราวนี้

ถ้าพูดท่าทีของตำรวจที่มีต่อประชาชน และประชาชนที่มีต่อตำรวจ คุณอภิสิทธิ์มองอย่างไร
เป็นห่วง เป็นห่วงเพราะว่ามันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์ตรงนี้เป็นปัญหามากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นก็อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายตั้งสติว่า กรณีแบบนี้อย่าไปเหมารวม สมมติว่ามีประชาชนอาจจะเป็นผู้ชุมนุม หรือไม่ใช่ผู้ชุมนุม สมมติว่ามีตำรวจที่ไปทำอะไรที่ไม่ดี เราก็ต้องพยายามแยกแยะ อย่าไปมองว่า เพราะฉะนั้นถ้าใครใส่เครื่องแบบตำรวจนั้นเป็นปัญหา หรือใครมาชุมนุมก็เป็นปัญหา ต้องทำอย่างนั้น แต่ผมเห็นในโซเชียลมีเดียนั้นก็มีการขึ้นข้อความอะไรหลายอย่าง ซึ่งดูแล้วมันก็มีแต่จะทำให้เกิดความเกลียดชัง แล้วก็ไม่แยกแยะ ขนาดพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังโดนลากเข้าไปด้วย

การให้ข่าว อย่างเช่นการแถลงข่าวของ ศอ.รส. ที่มีต่อที่ชุมนุม ว่าตำรวจที่เสียชีวิตนั้นเกิดจากผู้ชุมนุม หรือการมีการโยนประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง ทำให้การ์ด คปท. ได้รับบาดเจ็บวานนี้ ล่าสุดตำรวจโพสต์ขึ้นเฟสบุคว่าเป็นการคาดการณ์ว่าเป็นระเบิดตัวเอง

คือนี่ครับ การให้ข่าวที่ผ่านมา ของ ศอ.รส. ก็เป็นปัญหามาโดยตลอด แล้วก็ใช้คำว่ามีขบวนการที่พยายามสร้างความเข้าใจผิด อย่างวันก่อนก็มีเรื่องของรูป ที่เอารูปปี 51 มา อยู่ดีๆ ก็มาสวมใส่ตรงนี้มันไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติเลย ที่จะผิดพลาดกันอย่างนั้น เพราะว่ารูปก็เป็นรูปซึ่ง หรือกรณีที่เอารูปมาใช้นี้ก็เป็นกรณีซึ่งค่อนข้างที่จะโด่งดังพอสมควรในขณะนั้น มันก็ดูว่าเป็นการจงใจ มันก็เหมือนกับตัว ศอ.รส. เอง ท่าทีที่ผ่านมาก็มีลักษณะอย่างนี้มาโดยตลอด

พ.ต.ท.ทักษิณตอนนี้อยู่ที่ฮาร์บิน เสมือนหนึ่งว่าเสี้ยมให้ประชาชน กับตำรวจชนกัน

คือผมเคยพูดนะครับว่า คุณทักษิณนั้นพออยู่นอกประเทศ ก็ต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น เพราะว่าไม่ได้มาอยู่ที่นี่ด้วย ไม่ได้มาประสบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย อันนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่พูดมาตลอด

คุณอภิสิทธิ์เห็นการสูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงคนที่ยังระบุฝ่ายไม่ได้ ทำให้ย้อนนึกถึงปี 53 หรือไม่ว่าเป็นยุทธศาสตร์แบบเดียวกัน

ผมว่าในเชิงข้อเท็จจริง เรายังไปพูดอะไรมากไม่ได้นะครับ เพราะว่ามันก็ต้องมีการคลี่คลายให้เห็นภาพทั้งหมดก่อน แล้วมันไปเปรียบเทียบกับปี 53 เสียทีเดียวมันก็ลำบาก เพียงแต่ว่าผมพูดเปรียบเทียบให้เห็นอย่างหนึ่งก็แล้วกันว่า การชุมนุมครั้งนี้ ก็เหมือนกับตอนที่พันธมิตรมีการชุมนุม จะเห็นว่าการยิง หรือการก่อเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมในบริเวณการชุมนุมหลัก จะเป็นที่มีการกราดยิง M16 วันก่อน จะเป็นการลอบยิงก่อนหน้านั้นอะไรต่างๆ แต่ในปี 53 จะไม่มี ปี 53 มีแต่อาวุธออกมาจากที่ชุมนุม ยิงระเบิดไปที่ BTS ยิงระเบิดออกมาที่พระราม 4 อย่างนี้เป็นต้น มันก็จะมีความแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งก็เป็นตัวบ่งบอก ทีนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

แต่ว่าทั้งหมดนี้ที่เราพูดกันอยู่นี้ ที่มันแปลกก็คือว่า ผู้ที่มีอำนาจ ยังไม่คิดที่จะแสวงหาแนวทางในการคลี่คลายปัญหา จะเห็นได้ว่ากลายเป็นว่าขณะนี้ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำอย่างเดียวขณะนี้คือ ขู่ กกต. ว่าคุณต้องเดินหน้าอย่างนั้นอย่างนี้ ในขณะที่ กกต. กลับมาทำหน้าที่ในการพยายามแสวงหาทางออก อย่างเช่นที่เขาพยายามจะนัด เห็นว่านัดคุยกับทางรัฐบาลไปเรียบร้อย 1 กลุ่มอย่างนี้เป็นต้น ตรงนี้ครับที่ผมคิดว่ามันน่าเป็นห่วงว่ายังมีคนที่คิดว่า ก็ไม่เป็นไร ลุยกันไปอย่างนี้

คุณอภิสิทธิ์ดูสถานการณ์การรับสมัครการเลือกตั้งขณะนี้แล้วมีความเห็นอย่างไร

เคยบอกไปนะครับ ผมพูดง่ายๆ ว่า สำหรับ กกต. ทุกคน ผมก็ต้องให้กำลังใจในการทำหน้าที่ เมื่อรัฐบาลยืนยันเดินหน้าแล้วก็การรักษาการตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาทำร่วมกัน แต่ว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แล้วจะต้องดำเนินการถ้ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไร ตราบเท่าที่รัฐบาลไม่ยอมพิจารณาเลย เขาก็ต้องมีหน้าที่ในการที่จะต้องพยายามจัด นั่นก็หมายถึงว่าพอรับสมัคร เขาก็ต้องพยายามดำเนินการให้มันประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ต้องเห็นใจเขา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องบอกเช่นเดียวกันนะครับว่า เจ้าหน้าที่คนไหนก็ตามในการที่พยายามที่จะปฏิบัติภารกิจนี้แล้วปรากฏว่าไปทำผิด คำว่าทำผิดก็คือว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไปสมคบกับผู้สมัคร อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ใช้ไม่ได้แล้วก็ในที่สุดก็จะเป็นคนที่สร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมา

การรับสมัครเขตก็เหมือนกันนะครับวันนี้ อาจจะไม่เหมือนกับการรับสมัครของบัญชีรายชื่อ ตรงที่ว่าไม่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาในการเปลี่ยนแปลงสถานที่หรืออะไร แต่ก็มีกฎ ระเบียบ ที่บังคับใช้อยู่ โดยหลักแล้วการประกาศรับสมัครการเลือกตั้ง ก็ต้องประกาศให้คนทั่วไปทราบ มิฉะนั้นแล้วคนที่จะไปสมัครจะทราบได้อย่างไร ในขณะนี้นอกเหนือจากความมีพิรุธ หรือการดำเนินการซึ่งอาจจะไม่ชอบก่อนหน้านี้ในเรื่องการสมัครบัญชีรายชื่อ การสมัครเขตในหลายจังหวัดที่ผมติดตามอยู่ก็เริ่มจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน แล้วก็เริ่มเป็นปัญหากับเจ้าหน้าที่ กกต. เอง ที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งบางคนก็ไม่ยอมที่จะทำอะไรที่มันผิดด้วย ครั้นที่จะออกไปก็ถูกกล่าวหาอีกว่าละทิ้งหน้าที่อะไรทำนองนั้น

ถ้าดูจากบรรยากาศตอนนี้ ดูเหมือนว่าประชาชนถูกบังคับให้ต้องไปเลือกตั้ง และต้องไปเลือกคนที่ประชาชนไม่อยากเลือก แล้วมันเป็นประชาธิปไตยตรงไหน

คือขณะนี้เราก็ได้ยืนยันไปแล้วในส่วนของพรรคฯ ว่าบรรยากาศ และสถานการณ์ของบ้านเมือง มันไม่เอื้อให้เกิดการเลือกตั้งที่มีความเรียบร้อย กกต. ก็ออกมาย้ำว่ามันจะไม่เป็นการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นผมก็ยังยืนยันว่า ทุกฝ่ายต้องพยายามมาหาทางออกแก้ปัญหาตรงนี้กัน จะหลับหูหลับตาทำเป็นไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็เดินหน้ากันไปดุ่ยๆ อย่างนั้น ผมว่ามันไม่ได้ครับ

ถ้าคุณอภิสิทธิ์ออกจากบ้านจะเห็นป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ขอโอกาส พรรคเพื่อไทย เดินหน้าทำงานสานต่อนโยบายเดิมให้สำเร็จฟังดูน่ากลัวหรือไม่

น่ากลัวมากครับ ไม่รู้จะกี่ล้านล้านครับ สำหรับจำนำข้าวครับ แต่ว่าที่ผมหงุดหงิดนิดหน่อย คือพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันประชุมใหญ่ ผมก็ได้กำหนดคำขวัญเอาไว้สำหรับช่วงนี้ว่า ประชาธิปัตย์ ขจัดคอร์รัปชั่น มุ่งมั่นปฏิรูป ปรากฏว่าเริ่มมีป้ายขึ้นใช่มั้ย เริ่มมีป้ายขึ้นว่าอะไรนะ

ปฏิรูปประเทศไทย มุ่งขจัดภัยคอร์รัปชั่น ของพรรคเพื่อไทย

ลอกหรือเปล่าไม่ทราบนะครับ แต่ต้องดูว่า เอ๊ะ ผมว่ากล้าพูดนะ กล้าพูดว่า ในขณะที่เขาเรียกร้องกันให้ปฏิรูป ให้ปฏิรูป ก็พยายามที่จะเบี่ยงเบนปฏิเสธ หรือว่าทำแบบขอไปที ล้มเหลวมาแล้วกี่ครั้งก็ไม่ทราบเรื่องปฏิรูป ของเขานั้น เขาใช้ขจัดภัยคอร์รัปชั่น เขาอาจจะไปขจัดภัยที่เกิดขึ้นกับคอร์รัปชั่นมั๊งครับ ใช้ถ้อยคำแปลกดี

สมมติว่ามีการจัดการเลือกตั้งสำเร็จ คุณยิ่งลักษณ์ก็กลับมาเป็นนายกฯ อีก แล้วจะยุบสภาทำไม

ก็เวลานี้ทุกคนก็ตั้งคำถามนะครับกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ตั้งแต่มีการพยายามล้าง ออกกฎหมายล้างความผิดให้คนโกง ซึ่งผมไม่รู้ว่า ขจัดภัยคอร์รัปชั่น ทำกันแบบนี้หรือเปล่า มันไม่มีความเปลี่ยนแปลงในแง่ของจุดยืนท่าทีสำนึกของฝ่ายรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็ยังเดินหน้ากันไปในลักษณะนี้ นี่ก็เป็นปัญหาครับ

เพื่อไทยกำลังใช้กระบวนการการเลือกตั้ง ฟอกตัวเองหรือไม่

คือเขาก็ถือว่าเขาก็ทำตามระบบ เพียงแต่ว่า ทำไมเขาไม่ตั้งคำถามว่าขณะนี้ระบบมันมาถึงจุดที่มันน่าจะต้องมีการปรับ มีการเปลี่ยน เพื่อแก้ไขปัญหา แล้วก็ที่สำคัญก็คือว่า อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อดำเนินการมาถึงขณะนี้ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่อาจเป็นคำตอบ แล้วก็คงไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับใครก็ตามซึ่งจะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง ซึ่งก็มองเห็นกันอยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร

จากคำพูดของนายนพดล ปัทมะ ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่บอกว่า ยอมสุดซอยแล้ว จะไม่ถอยอีกแล้ว คำพูดแบบนี้ส่งสัญญาณอะไร

ผมยังไม่เห็นว่ามันมีการยอมอะไรตรงไหน กฎหมายล้างผิดก็ยังค้างอยู่ในสภา แล้วก็จากเดิมซึ่งพยายามจะบอกว่า เดี๋ยวมีเสียงไม่พอใจ มีเสียงเรียกร้องว่า พรรคการเมืองเป็นของตระกูลๆ เดียว บัญชีรายชื่อก็ยืนยันเหมือนเดิม มันถอยตรงไหนครับ

ถ้าเขารู้สึกว่าเขาถอยแล้ว และจะไม่ถอยอีกต่อไปแล้ว จากนี้ไปจะมีแต่ความรุนแรงหรือไม่

ก็คงไม่ค่อยเป็นผลดีหรอกครับ ก็หมายถึงเป็นการยืนยันว่าจะเผชิญหน้า ยืนยันว่าจะสู้ ใช้คำนี้ก็แล้วกัน ก็ผมก็คิดว่า พี่น้องประชาชนที่เขาต่อสู้ คัดค้าน เขาก็คงไม่ยอมเหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้นก็น่าเป็นห่วงครับ

ปกติแล้ว เขาสละชีพเพื่อชาติ ทำไมครั้งนี้ สละชาติเพื่อชีพ

ผมคิดว่าเราจะคาดหวังอะไรครับ กับกลุ่มบุคคลซึ่งกล้าทำหลายสิ่งหลายอย่างในอดีตครับ

เรียนรู้การเสื่อมสลายของระบอบทักษิณจากอียิปต์


เรียนรู้การเสื่อมสลายของระบอบทักษิณจากอียิปต์

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, ประชาธิปไตย, Democracy, เผด็จการรัฐสภา, ระบอบทักษิณ, Taksinocracy, คณาธิปไตย, Oligarchy, ทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พรรคเพื่อไทย, คอรัปชั่น, Corruption, ปฏิรูปประเทศไทย, Thailand Reform, อียิปต์, Egypt, และฮอสนี มูบารัค, Muhammad Hosni El Sayed Mubarak, รัฐประหาร, Coup d' tat, ทหารกับการเมือง, Military,

อียิปต์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนมักเปรียบความขัดแย้งในประเทศไทยว่ามีความเหมือน

การเสื่อมสลายของระบอบทักษิณต้องศึกษาเปรียบเทียบกับยุคมูบารัค (Mubarak Regime) ครองอำนาจในอียิปต์ แต่มีความแตกต่างกันด้วยบุคลิกภาพผู้นำ ของทักษิณ ชินวัตรในประเทศไทย และฮอสนี มูบารัค (Muhammad Hosni El Sayed Mubarak) วัย 85 ปีของอียิปต์ ทักษิณเลือกหนีไปอยู่ต่างประเทศเมื่อต้องโทษข้อหาคอรัปชั่น แต่มูบารัคดื้อรั้นที่จะอยู่และยอมตายในประเทศของตน ไม่ว่าจะเป็นในคุก บ้านพัก หรือโรงพยาบาล

ในวันที่ 25 มกราคม 2011 หลังจากที่ครองอำนาจมานาน 30 ปี การประท้วงโดยประชาชนชาวอียิปต์ต่อรัฐบาลภายใต้มูบารัคก็รุนแรงยิ่งขึ้น และเรียกร้องให้มูบารัคลาออก แต่มูบารัคกล่าวปราศรัยว่า เขาจะไม่ลาออก และจะขอตายในแผ่นดินอียิปต์นี้ ฝ่ายต่อต้านมูบารัค อย่างโมฮัมเหม็ด เอลบาราเดย์ (leader Mohamed ElBaradei) แสดงความไม่เห็นด้วยกับมูบารัค และกล่าวว่ามันเป็นเพียงความพยายามของมูบารัคที่จะยังคงอยู่ในอำนาจเท่านั้น สื่อโทรทัศน์ถ่ายทอดการปราศรัยของมูบารัคในระยะต่อมาว่า เขาจะไม่ลงเลือกตั้งในสมัยต่อไปในเดือนกันยายน หรืออีก 7-8 เดือนต่อไป โดยประสงค์จะทำงานจนจบวาระ และสัญญาว่าจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การยื้อเช่นนี้เรามักได้ยินกันคุ้นๆในประเทศไทย

ข้อเสนอเพื่อประนีประนอมนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายผู้ประท้วง และได้มีการเดินขบวนไปประท้วงที่ทำเนียบประธานาธิบดี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ รองประธานาธิบดีโอมา สุไลมาน (Omar Sulaiman) ประกาศว่ามูบารัคได้ลาออกจากตำแหน่ง และอำนาจได้ถ่ายโอนสู่ฝ่ายกองทัพของอียิปต์ ซึ่งเป็นที่ขานรับยินดีจากประชาชนชาวอียิปต์โดยทั่วไป

ในประเทศไทย ระบอบทักษิณเข้าครอบงำระบบการเมือง ราชการ และเครือข่ายธุรกิจหลัก นานนับสิบปี แต่ไม่นานถึง 30 ปีดังอิทธิพลมูบารัคในประเทศอียิปต์ ประเทศไทยมีวัฒนธรรมอ่อนโยนกว่าอียิปต์ เผด็จการทหารในประเทศไทยเองก็ไม่เคยมีใครที่จะมีอำนาจต่อเนื่องได้ยาวนาน  สังคมมีหลายสถาบันที่ยังเป็นอิสระ และยังมีกลุ่มคนดังเช่นชนชั้นกลาง นักวิชาการ นักวิชาชีพ ที่ระบอบทักษิณไม่สามารถครอบงำได้ และที่ประเทศไทยจะไม่เหมือนอียิปต์ก็คือ การปล่อยให้สถาบันทหารมามีอำนาจ คนไทยคงไม่เห็นดีเห็นชอบกับการรัฐประหารแน่ และประเทศไทยต้องมีนวตกรรม (Innovation) ที่จะพาสังคมผ่านพ้นระบอบทักษิณอย่างสร้างสรรค์ และก่อเกิดความขัดแย้งให้น้อยในระดับที่สังคมรับได้ แต่เปลี่ยนแล้วเกิดผลดีอย่างถาวร แม้จะค่อยเป็นค่อยไป

ปี 2557 นี้ คือช่วงของการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยอย่างแท้จริง แต่ก็ต้องเรียนรู้ว่า สังคมไทยจะไม่ปล่อยให้เป็นความขัดแย้งแบ่งขั้วอย่างที่เกิดขึ้นในอียิปต์ เมื่อกลุ่มมุสลิมภราดรภาพซึ่งเป็นกลุ่มเน้นเครือข่ายศาสนา มีฐานเสียงในกลุ่มคนยากจน เข้าสรวมรับอำนาจต่อ และใช้เผด็จการทางรัฐสภาหวังครอบงำประเทศ กลายเป็นความร้าวฉานอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในระยะต่อมา และการที่กลุ่มทหารเลือกวิธีการรัฐประหาร หวังเข้ามายุติความขัดแย้ง อียิปต์ดูจะยังไม่มีทางออกของสังคมประเทศโดยง่าย เพราะเมื่อทหารทำรัฐประหาร หวังใช้กำลังทัพเข้ายุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ฝ่ายมอร์ซีอดีตประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง และได้รับการหนุนหลังโดยกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ แม้ถูกจับกุม ก็ไม่ยอมสงบง่ายๆ

แต่สำหรับประเทศไทย เราคงจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านของสังคมที่วางแผนมาอย่างรู้เท่าทัน และไม่ทำให้สังคมไทยถลำลึกไปในกับดักความขัดแย้ง ช่วงต่อไปนี้ คือช่วยเวลาแห่งการเรียนรู้


ภาพ จตุรัสทาเรียร์ Tahrir Square ยามที่มีการชุมนุมทางการเมืองอย่างยืดเยื้อ คล้ายกับถนนราชดำเนินในกรุงเทพฯ


ภาพ ทักษิณเลือกที่จะไม่อยู่ในเมืองไทย แต่สามารถชักใยอำนาจมายังพรรคพวก ผ่านตัวแทน คือ นายกรัฐมนตรีในเครือญาติ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบรรดาสมาชิกพรรคเพื่อไทย


ภาพ ฮอสนี มูบารัค ครองอำนาจยาวนานกว่า 30 ปี


ภาพ ทหารในอียิปต์ยังมีอำนาจและอิทธิพล แม้ทำรัฐประหาร แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังให้ความไว้วางใจ


ภาพ มูบารัค ขณะที่ต้องขึ้นศาล ต้องอยู่ในกรงขัง ตามมาตรฐานพิจารณาคดีของอียิปต์




Sunday, December 29, 2013

ภาวะผู้นำแบบกระจายอำนาจ (Distributed Leadership)


ภาวะผู้นำแบบกระจายอำนาจ (Distributed Leadership)

สุริยา เผือกพันธ์ แปลและเรียบเรียง

Keywords: ภาวะผู้นำแบบกระจายอำนาจ (Distributed Leadership), Empowering style, ภาวะผู้นำแบบวีระบุรุษ (Heroic),  การแบ่งปันภาวะผู้นำ (Shared of leadership), ความเป็นอิสระและความรับผิดชอบ (Accountability and autonomy), การกระจายภาวะผู้นำ
------------

Distributed leadership อาจแปลได้ว่า ภาวะผู้นำแบบกระจาย หรือภาวะผู้นำแบบกระจายอำนาจ มีนักวิชาการบางท่านใช้คำแปลว่า “การกระจายภาวะผู้นำ” ดังนั้นยังไม่มีความลงตัวด้านศัพท์ในภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ นอกจากคำว่า Distributed leadership แล้วยังมีคำว่า Empowering style, Shared leadership ซึ่งคำเหล่านี้ในภาษาไทยจึงยังเป็นคำที่ไม่ลงตัวเสียทีเดียวอีกเช่นกัน แต่เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ณ เวลานี้ คำว่า Distributed leadership ในภาษาไทย หากใช้คำว่า ภาวะผู้นำแบบกระจายอำนาจ แล้วกำหนดให้เป็นคำศัพท์เพื่อการวิจัยครั้งดี (Operational definition) หากพบคำที่นักวิชาการด้านภาวะผู้นำ การบริหาร การจัดการ แล้วค่อยกลับมาทำความตกลงกันในหมู่ผู้ศึกษาทั้งหลายอีกทีหนึ่ง ประกอบ คุปรัตน์ (30 ธันวาคม 2556)

ภูมิหลัง (Background)

ภาวะผู้นำแบบกระจายอำนาจ (Distributed Leadership) ได้กลายเป็นแนวคิดที่สำคัญ ผ่านการสอนและบรรยายของริชาร์ด เอลมอร์ (Richard Elmore) ศาสตราจารย์แห่งภาวะผู้นำทางการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) ความหมายดั้งเดิมของภาวะผู้นำคือ การใช้วิสัยทัศน์ของคน ๆ เดียวที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม บอกทิศทาง สอนและสนับสนุนคนอื่น ๆ อย่างไรก็ตามในความหมายนี้ก็คือ เป็นภาวะผู้นำแบบวีระบุรุษ (Heroic) ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลังยุคสมัยดังกล่าว (Post-heroic) ได้เกิดภาวะผู้นำแบบกระจาย (Distributed Leadership) ที่เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

 “ภาวะผู้นำแบบกระจายอำนาจ” คือ การแบ่งปันภาวะผู้นำ (Shared of leadership) ระหว่างคนสองคนหรือมากกว่าหนึ่งคน ลักษณะของภาวะผู้นำแบบนี้มีหลายลักษณะ เช่น ภาวะผู้นำแบบแบ่งปัน (Shared) กระจาย (Dispersed) การมีปฏิสัมพันธ์ (Relational) การเคลื่อนที่ (Roving) การเป็นกลุ่มก้อนร่วมกัน (Collective) การใช้กลุ่มเป็นศูนย์กลาง (Group-centered) การใช้คณะกรรมการเป็นฐาน (Broad-based) การมีส่วนร่วม (Participatory) ความยืดเหยุ่น (Fluid) ไม่ตายตัว การรวมเข้าด้วยกัน (Inclusive) ไม่ใช่การแบ่งแยกเป็นพวกเขาพวกเรา และการส่งเสริม (Supportive) โรงเรียนในปัจจุบันนี้ ผู้บริหารมีงานมากและได้เพิ่มมากขึ้นอย่างคงเส้นคงวา การแบ่งปันภาวะผู้นำ (Shared leadership) จึงได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง

ประโยชน์ที่ได้รับ (Benefits)

ผู้บริหารไม่สามารถที่จะไปได้ในทุก ๆ ที่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาจึงเริ่มใช้ภาวะผู้นำแบบนี้ บางโรงเรียนอำนาจของภาวะผู้นำได้กระจายระหว่างผู้อำนวยการสองคน ในขณะที่บางโรงเรียนอาจกระจายไปยังครูและผู้ปกครองนักเรียนด้วย โดยการสร้างกลุ่มที่ไม่มีผู้นำเป็นศูนย์กลาง ผลลัพธ์คือ งานที่มีอยู่มากมายหรือระบบของโรงเรียน ได้รับความสนใจและพัฒนาอย่างเต็มที่อย่างมีนัยสำคัญ

การกระจายภาวะผู้นำ ทำให้งานของผู้บริหารเหลืองเพียง 2 – 3 งานและเกิดผลกระทบที่แท้จริง ด้วยผลงานที่ดีขึ้น งาน 2 – 3 งานนี้ทำได้ดีมากกว่าที่จะดูแลงานทั้งหมดที่เกี่ยวกับการบริหารตามหน้าที่ (Administrative duties) และงานรับผิดชอบเกี่ยวกับครูและนักเรียน ในทางกลับกันผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะทำงานได้สมบูรณ์แบบมากขึ้นและมีความรู้สึกดีที่พวกเขาได้ทำในสิ่งที่มีความแตกต่าง การแบ่งปันภาวะผู้นำ อาจช่วยลดจำนวนงานที่ผู้บริหารดูแลไม่ทั่วถึงลงไปได้อีกด้วย

ตัวอย่าง (Example)

บางโรงเรียน ความรับผิดชอบของภาวะผู้นำได้ถูกแบ่งปันระหว่างผู้อำนวยการสองคน คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการการสอน ขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการการบริหารทั่วไป ผลลัพธ์คือ พวกเขาได้เพิ่มประสิทธิภาพในงานของพวกเขา ครูและนักเรียนได้รับความเอาใจใส่เพิ่มมากขึ้น

ในแวดวงธุรกิจก็ได้เริ่มมีการใช้แนวคิดการแบ่งปันภาวะผู้นำแบบนี้เช่นกัน บ่อยครั้งจะพบว่าการบริหารโครงการได้ใช้การกระจายภาวะผู้นำข้ามกลุ่ม แต่ละกลุ่มได้แยกและมีความรับผิดชอบที่แตกต่างกันออกไป ทำให้งานทุกงานของบริษัทประสบความสำเร็จ

ตามแนวคิดนี้เกือบทั้งหมด มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันภาวะผู้นำอยู่ 2 – 3 อย่าง กอรปด้วย ความเป็นอิสระและความรับผิดชอบ (Accountability and autonomy) อย่างไรก็ตามแม้จะกลับย้อนไปที่จุดเริ่มต้น จะพบว่า ทักษะที่จำเป็นสำหรับการแบ่งปันภาวะผู้นำคือ การประสานงานกับผู้ปฏิบัติงานที่จะทำให้เพิ่มความสามารถในการจัดการ ประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับคือ การที่ผู้บริหารสามารถลดปริมาณงานของพวกเขาลงและมีโอกาสได้เน้นและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จะทำให้เป็นผู้นำสามารถดูแลนักเรียนและปฏิรูปโรงเรียนให้ได้รับการพัฒนาตามที่ต้องการ

อ้างอิงจาก http://www.e-lead.org/resources/resources.asp?ResourceID=12#links (December 8, 2013)

ปี 2557 จะเป็นปีเสื่อมสลายของระบอบทักษิณ หรือไม่ และอย่างไร?

ปี 2557 จะเป็นปีเสื่อมสลายของระบอบทักษิณ หรือไม่ และอย่างไร?

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, ประชาธิปไตย, Democracy, เผด็จการรัฐสภา, ระบอบทักษิณ, Taksinocracy, คณาธิปไตย, Oligarchy, ทักษิณ ชินวัตร, Thaksin Shinawatra, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พรรคเพื่อไทย, คอรัปชั่น, Corruption, ปฏิรูปประเทศไทย, Thailand Reform, การวิจัยเชิงคุณภาพ, Qualitative research, Interviewing technique


ภาพ การสัมภาษณ์ด้วยวิธีการโทรศัพท์ Telephone Interview


ภาพ การสัมภาษณ์บางส่วน อาจใช้ LINE เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารได้ หากมีระบบ SmartPhone อยู่แล้ว ใช้อินเตอร์เน็ตได้ไมจำกัดเวลา

ความนำ

ผมใช้ช่วงเวลาก่อนปีใหม่ 2557 นี้ ทำการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) อย่างง่ายๆ โดยใช้โทรศัพท์สัมภาษณ์คนที่รู้จักกัน และมีฐานข้อมูลนับเป็นพันๆที่มีอยู่ แต่ผมเลือกศึกษาเพยงไม่เกิน 10 คน ต่อไปอาจใช้ LINE แล้วให้ตอบมาผ่าน LINE หรือ Message ใน Facebook

การศึกษาของผมเป็นการเรียนรู้แบบแสวงหา (Inquiry Learning) โดยไม่ใช่เพียงการอ่านตำรา หรือการฟังข่าวสารจากวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งในปัจจุบันไม่ใช่ทางรับรู้ข่าวสารได้อย่างเสรี การศึกษาแบบแสวงหา คือการเข้าถึงแหล่งข้อมูล คือประชาชนทั่วไปโดยตรงให้ได้มากที่สุด สำหรับผมเลือกใช้กลุ่มคัดสรร (Elites) ที่มีการศึกษา เป็นคนรู้เรื่องวงใน ผ่านทางระบบราชการ หรือธุรกิจที่เขาทำเกี่ยวข้องกับราชการในยุคระบอบทักษิณในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

คนทั่วไปอยากรู้อนาคต และความไม่รู้อนาคตทำให้เกิดความกังวล ความไม่แน่ใจ (Future-related anxiety) คนบางคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะเขาไม่รู้ว่าประเทศชาติกำลังเดินไปทางไหน กิจกรรมวิจัยแบบที่ผมทำนี้ ทำให้คนเข้าใจอนาคตของชุมชนและสังคมประเทศ ผมแนะนำให้คนที่อาจเกิดความกังวลในอนาคต ได้ใช้วิธีการวิจัยแบบของผม ใช้การสื่อถามตรงไปยังคนที่เรารู้จัก หรือในอนาคตรวมคนอื่นๆในชุมชน เน้นการฟัง และบันทึกข้อความช่วยการจำ ไม่ไปโต้แย้ง ฝึกทักษะการฟังให้ดีที่สุด

กิจกรรมอย่างที่ทำนี้ ทุกคนสามารถทำได้ แล้วนำผลมาสัมมนาร่วมกัน (Seminar) นำมาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ในวงกว้างมากขึ้น โดยมีการนัดพูดคุยกันกับกลุ่มที่ไปเก็บข้อมูลมา อย่าลืม เน้นการเปิดใจ (Open-mindedness) ที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันให้ได้มาก และกว้างขวางเสียก่อน

การศึกษาครั้งนี้เป็นเรื่องการรับรู้และทัศนคติ (Perception & Attitudes) ยังไม่ใช่การไปรับรู้ข้อเท็จจริง (Truth) เสียทีเดียว แต่หากได้มีการเข้าใกล้แหล่งข้อมูลแท้จริงมากขึ้นเรื่อยๆ คนกล้าบอกกล้าเล่าความจริง ก็จะทำให้เราได้รับรู้ข้อเท็จจริง มากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่จะพูดคุยกับเรา เขาต้องไว้ใจเราเสียก่อน หากเขาเห็นต่างจากเรา ก็ให้เน้นการรับฟังไว้ แล้วไปประมวลความคิดเห็นส่วนใหญ่อีกทีในภายหลัง

การวิจัยนี้ เป็นแรงกระตุ้นให้คนเข้าร่วมการศึกษาทางการเมืองอย่างมีส่วนร่วม (Participative Democracy) อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงการรับฟังและเฝ้าดูอยู่ห่างๆ การเปิดใจรับฟังกัน และเรียนรู้ที่จะเข้าใจความเป็นจริง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบการเมืองไทยในยุคต่อๆไป

ผู้ตอบทั้งหมดเป็นผู้มีการศึกษา และมีความรู้ในภาคส่วนของตนเอง อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3 คน ส่วนที่เหลืออยู่ในส่วนภูมิภาค

การวิจัยอย่างง่ายๆ

ผมตั้งคำถามดังนี้

ส่วนแรก ว่า ในปี 2557 นี้ จะเป็นปีที่ระบอบทักษิณจะเป็นอย่างไร (1) คงอำนาจไว้ได้เหมือนเดิมหรือเพิ่มขึ้น (2) ระบอบทักษิณเสื่อมถอยลงแต่ยังคงอยู่ (3) ระบอบทักษิณล่มสลาย และให้ตอบ

ส่วนที่สอง ต่อจากส่วนแรก ด้วยว่าเพราะเหตุใด? เป็นการให้ตอบเสรี และแจ้งผู้ตอบว่าให้ตอบได้โดยอิสระ ไม่นำข้อมูลเปิดเผยให้กระทบต่อตัวบุคคล ขณะที่เขาตอบ มีการประมวลเป็นระยะ เพื่อให้ชัดว่าเขาตอบโดยรวมมีลักษณะดังนี้ ใช่ไหม?

ส่วนผู้ที่ผมถาม โดยใช้โทรศัพท์นี้ เป็นคนที่เขาและผมรู้จักกันมาก่อนแล้ว เขาจึงให้สัมภาษณ์ได้โดยง่าย

ผมลองสัมภาษณ์คนรู้จักในฐานข้อมูลโทรศัพท์นับพันคน ได้สัมภาษณ์รวม 8 คน ซึ่งทุกท่านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

คำตอบ

คนแรก เป็นชาย คนวัยเดียวกับผม เคยเป็นข้าราชการทหารระดับสูง เป็นระดับเข้าร่วมในการประท้วงที่ถนนราชดำเนินอยู่เป็นประจำ –

ระบอบทักษิณอยู่ไม่ได้ เพราะความเกลียดชัง เพราะคนเกลียดเขาและพรรคพวก คนที่เคยชอบก็กลายเป็นเกลียดและเกลียดมากขึ้น ตัวแปรที่จะเร่งความเสื่อม คือพรรคพวกของเขาเองที่ใช้ความรุนแรง คนที่เกลียดก็เพราะเขาไม่ชอบการคดโกงที่เพิ่มขึ้น เล่นพรรคเล่นพวกในระบบราชการ  ไม่เว้นแม้ทหารหรือตำรวจ

คนที่สอง เป็นชาย คนวัยเพิ่งเกษียณ เคยเป็นผู้บริการโรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดภาคอีสาน สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ –

ระบอบทักษิณอยู่ไม่ได้ แต่เพราะมีกลไกหยั่งรากลึก ความเสื่อมของระบอบทักษิณจะคืบเข้ามาแบบใช้เวลา เป็นแบบปรับตัว อ่อนกำลังลง แต่ยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง แต่มองเห็นแนวโน้มที่จะเปลี่ยนอย่างเร็ว ก็ต้องด้วยมีกำลังทหาร (ไม่ได้ระบุว่าด้วยการรัฐประหาร หรือการกดดันหรือไม่) แต่ให้เหตุผลว่าโดยทั่วโลกไม่เห็นมีที่ไหนเปลี่ยนโดยไม่ใช้กำลัง การเปลี่ยนโดยสันติและปราศจากอาวุธกระทำได้ยาก และต้องใช้เวลา จึงต้องมีพลังการเปลี่ยนจากส่วนอื่นๆด้วย

คนที่สาม เป็นชาย อาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดในปัจจุบัน ในเขตฐานนิยมทักษิณแต่เดิม เคยทำงานในระบบการศึกษาภายใต้กระทรวงศึกษาธิการมาก่อน –

ระบอบทักษิณอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าคงอยู่ต่อไป ประเทศไทยก็ต้องล่มสลาย เพราะการหยั่งรากลึกดังที่เห็นในระบบการศึกษา มีการซื้อตำแหน่ง เปิดทางเอาพรรคพวกเข้าไปทำงาน ทำลายระบอบคุณธรรม ระบบการศึกษาเองก็ได้รับผลกระทบทางลบ แต่ทางจะปรับเปลี่ยนได้นั้น ต้องมี "ฮีโร่" เข้ามาจัดการ ยังเชื่อในเรื่องความเป็นผู้นำ (ยังไม่ได้ถามลึกไปกว่า แล้วฮีโร่ หรือวีรบุรุษนี้เป็นใคร มาจากไหน)

คนที่สี่ เป็นหญิง อาจารย์มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ในเขตฐานนิยมทักษิณแต่เดิม วัย 30 กว่า เคยมีประสบการณ์ทำงานด้านการวิจัยกับเอกชนมาก่อน –

ระบอบทักษิณอยู่ไม่ได้ เพราะคนรู้จักทักษิณและระบอบทักษิณมากขึ้น ที่เคยหลงชอบเขาก็เริ่มตาสว่าง แล้วเปลี่ยนเป็นต่อต้านทักษิณ คนที่ทำธุรกิจคบค้าได้ประโยชน์จากระบอบนี้ในส่วนภูมิภาค ก็เริ่มไหวตัว และถอนตัวออกเป็นลำดับ

คนที่ห้า เป็นชาย ยังรับราชการ ทำงานบริหารระบบการศึกษา ในเขตฐานนิยมทักษิณแต่เดิม
ระบอบทักษิณจะเสื่อมลง แต่ยังคงไม่หายไป ทั้งนี้ในทัศนะของคนระดับรากหญ้า กับระดับนายทุนที่ทำงานร่วมกัน ยังได้ประโยชน์จากระบอบทักษิณ ดังกรณีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาได้ 40% นายทุนพ่อค้าได้ 60% ส่วนที่เป็นเรื่องทุจริตและความไม่โปร่งใส ชาวบ้านไม่ค่อยได้รับรู้ เขามองว่าระบอบทักษิณก็ยังมีส่วนดีอยู่มาก สำหรับเขาแต่ละคน

ตอบลึก – ทักษิณวางเครือข่ายไว้อย่างแน่นหนา ดังโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจานสีดำ มีการแจกกัน และชาวบ้านก็รับข่าวสารผ่านช่องที่เป็นพวกสนับสนุนทักษิณกันมาก ประชาชนมีการแบ่งออกเป็นสองขั้ว ได้รับข้อมูลจากฝ่ายของตน ดังเช่น เงินรับจำนำข้าวไม่ถึงชาวบ้าน ชาวบ้านก็รับข้อมลว่า เพราะพวกสุเทพ (กปปส.) และกลุ่มต่อต้านทำให้ไม่สามารถเอาเงินออกมาจ่ายคืนให้กับชาวบ้านได้

คนที่หก – นักธุรกิจชาย ในวัย 60-70 ปี ทำงานธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับวงการราชการ เคยทำงานกับบริษัทต่างประเทศ รู้ระบบราชการและระบอบทักษิณในแนวลึกดี

ระบอบทักษิณเสื่อมลง และเสื่อมลงไปเรื่อยๆ สังเกตว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการทุจริตในวงราชการก็มีอย่างชัดแจ้ง มีคนออกมาแฉ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเฉยอยู่ แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม-ธันวาคม 2556) คนตื่นตัวออกมาต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นล้านๆคน แสดงว่าคนจะไม่อยู่เฉยอีกต่อไปแล้ว ในปี 2557 ระบอบทักษิณจะเสื่อมไปเรื่อยๆ แต่ไม่รู้ว่าจะหมดอิทธิพลไปในเมื่อใด อาจเป็นเวลา 2-3 ปี เพราะยังมีรากหยั่งลึกไปในสังคมไทย

ตอบลึก – เหตุความเสื่อมของระบอบทักษิณ เพราะความหลงตนเอง ย่ามใจ ทำอย่างไม่เกรงใจใคร จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการที่ทักษิณและพรรคพวกผลักดัน “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบสุดซอย” ที่กลายเป็นจุดพลิกผัน มีคนออกมาร่วมขบวนต่อต้านเป็นล้านๆคน

สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แม้จะมีการเลือกตั้งได้ แต่ก็เป็นเพียงการซื้อเวลาได้สักระยะหนึ่ง แต่ในที่สุด ระบอบทักษิณก็จะหลุดจากอำนาจไป สำหรับตัวที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือระบบราชการ โดยเฉพาะราชการทหาร ส่วนตำรวจนั้นเขาอยู่กับระบบผลประโยชน์อยู่แล้ว ใครเป็นใหญ่ก็จะต้องเกี่ยวข้องกับตำรวจ

ส่วนทหารยังมีระเบียบวินัย และฟังผู้บังคับบัญชา แต่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงจะแสดงบทบาทลอยตัว ในช่วงที่ยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อชัดเจนแล้วว่าฝ่ายใดจะชนะ ทหารจะเป็นตัว Tipping point เมื่อสถานการณ์ชัดแจ้ง เขาจึงจะเลือกแสดงบทบาท และเลือกข้างที่จะชนะ ซึ่งก็เป็นอย่างที่เขาบอก เขาเลือกข้างประเทศไทย หรือข้างประชาชนผู้ต้องการเปลี่ยนแปลง โค่นล้มระบอบทักษิณ

คนที่เจ็ด – นักธุรกิจชาย ผู้เคยทำงานเป็นพนักงานระดับสูงของบริษัทต่างประเทศและเป็นเจ้าของกิจการเอง ภูมิลำเนากรุงเทพฯ เกษียณอายุการทำงานแล้ว

ระบบทักษิณจะเสื่อมลง แต่ปี 2557 จะเป็นปีที่ต้องมี “การต่อสู้กันอย่างหนัก” ทักษิณจะไม่ยอมแพ้ไปง่ายๆ เพราะ (1) ทักษิณต้องการเงิน 46,000 ล้านบาทคืน ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยก็จะมากกว่านี้ (2) การยิ่งอยู่นานและอยู่ห่างไกล ก็มีแต่คนหลอกใช้เงิน เปลืองเงินไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ผลงาน และทักษิณเองก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงในเมืองไทย และ (3) การพ่ายแพ้ของระบอบทักษิณหมายถึงการต้องเสียกิจการธุรกิจของเขา ที่หากไม่มีการเมืองปกป้อง ก็จะทำธุรกิจได้ลำบาก และอาจต้องมีความเสียหายในธุรกิจนั้นๆอย่างหนักไปด้วย

ตอบลึก - แต่โดยรวมในที่สุดระบอบทักษิณก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะรับรู้ข้อเสียของระบอบทักษิณ แต่ระยะเวลาเสื่อมถอย อาจใช้เวลานานเป็น 2-3 ปี โดยเมื่อรับรู้ว่าแรงต้านจะมีมากขึ้นจนทักษิณต้านไม่ไหว ในที่สุดเมื่อรู้ว่าแพ้แน่แล้ว ทักษิณเป็นนักธุรกิจที่รู้จักเจรจาต่อรอง เพื่อยังรักษาส่วนที่พอจะยังคงมีอยู่ มิฉะนั้นก็จะเสียหายหนัก จนไม่มีอะไรเหลือ

แรงผลักดันที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ไม่ใช่ระบบราชการ ไม่ใช่ทหารที่จะกระทำรัฐประหาร เพราะทหารระดับสูงก็จะไม่เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนกว่าจะรู้ว่าฝ่ายใดจะชนะชัดเจน ซึ่งก็เป็นประชาชนนี้แหละที่จะเป็นแรงเปลี่ยน แต่กำลังที่จะเปลี่ยนสำคัญในหมู่ประชาชน จะมาจากคนจนถึงในระดับล่าง ซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นที่เมื่อรู้ความจริง ก็จะเลือกไม่ยืนข้างหลังสนับสนุนระบอบทักษิณอีกต่อไป

คนที่แปด – ชาย วัยเกษียณแล้ว อดีตนักบริหาร ทำงานองค์กรธุรกิจมหาชนขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันพักอาศัยในบริเวณกรุงเทพและปริมณฑล

ในปี 2557 ระบอบทักษิณจะเสื่อมถอยลง แต่จะยังไม่หมดไป ความซับซ้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ยาก และอ่อนไหว เพราะวิเคราะห์อย่างคร่าวๆ คนไทยมี 3 ระดับ คนระดับสูง มักไม่แสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผย และความนึกคิดของเขาไม่สำคัญเท่าการดูแลธุรกิจของเขาให้อยู่รอดและเจริญเติบโต คนระดับกลาง คนชั้นกลาง นักธุรกิจระดับกลาง SMEs คนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่กับระบอบทักษิณอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญ คือคนระดับรากหญ้า ความสำคัญอยู่ที่คนระดับรากหญ้ามักขาดการรับรู้ข่าวสาร ข้อมูลที่จะไปถึงคนกลุ่มนี้ซึ่งอยู่ในชนบท จะมีการบิดเบือนไปได้ง่าย ซึ่งคนกลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นจำนวนคนกลุ่มใหญ่ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลง

ตอบลึก – การจะเปลี่ยนแปลงนี้ ต้องมียุทธศาสตร์ที่จะเข้าถึงคนระดับล่าง ต้องมีคนระดับทีมงานหลัก หรือ Core Team ที่จะเข้าถึง “แกนของกลุ่มรากหญ้า” ซึ่งคนระดับนี้อาจเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ระบบสาธารณสุขพื้นบ้าน พระ แม้แต่รวมไปถึงหมอผี  รวมๆ คือคนที่มีชาวบ้านศรัทธา เชื่อถือ และเชื่อฟัง
คนระดับ Core Teams ของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนี้ จะต้องเป็นคนที่รู้วิธีการสื่อสารไปยังแกนกลางของคนในระดับชุมชนรากหญ้านี้ เขาต้องรู้สภาพผู้รับฟังข่าวสาร รู้วัฒนธรรมว่าอะไรที่เขามีคุณค่าอย่างไร เข้าใจแรงจูงใจของคนรากหญ้า และมีทักษะในการสื่อสาร

Friday, December 27, 2013

ความพยายามสร้าง "ความชอบธรรม" แบบดูถูกประชาชนทุกสีเสื้อ


ความพยายามสร้าง "ความชอบธรรม" แบบดูถูกประชาชนทุกสีเสื้อ

โดย : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์


ภาพ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ผมไม่เข้าใจจริงๆ ว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรี (รวมทักษิณและกุนซือด้วย) คิดอะไรอยู่จึงหาทางออกทางการเมืองแบบนี้...การเสนอสภาปฏิรูปประเทศที่เลียนแบบสภาสนามม้าเมื่อ พ.ศ.2516 ซึ่งใช้คนจำนวนมากไปเลือกคนจำนวนหนึ่งมาทำงานโดยที่กรอบเวลาไม่มีและกรอบการคิดในการทำงานเป็นเรื่องที่ทำการศึกษามานานแล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่าจะยึดโยงกับประเด็นที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้ว่ารัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาจะมีระยะเวลาปีหรือปีครึ่งแล้วจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ (โปรดอ่านข้อเสนอห้าข้อที่นายกรัฐมนตรีแถลง)

การเสนอสภาปฏิรูปประเทศเช่นนี้ คนทุกคนก็รู้ดีว่าเป็นเพียงเกมที่คิดว่าจะผ่อนคลายความคับข้องใจของกลุ่มคนที่ชุมนุมอยู่ และเป็นหมากที่ปล่อยออกมาเพื่อหวังจะสร้างความชอบธรรมให้แก่พรรคเพื่อไทย รัฐบาล นายกรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง...แต่การเสนอความคิดสภาปฏิรูปประเทศทั้งหมดเช่นนี้กลับส่งผลไปในทางลบมากขึ้นกว่าเดิม เพราะคนที่มีสมองทุกคนก็จะรู้ดีว่านี้เป็นเกมเล่นๆ เท่านั้น โดยที่คณะผู้เสนอทั้งหมดไม่มีความจริงใจ (และบริสุทธิ์ใจ) ที่จะแก้ปัญหาอะไรเลย ประชาชนที่รวมกลุ่มเคลื่อนไหวร่วมกับคณะสุเทพ เทือกสุบรรณ ยิ่งจะทวีความโกรธแค้นมากขึ้น ผมเชื่อว่าหลายกลุ่มที่อยากจะกลับบ้านไปพักผ่อนสักพัก ก็จะเลิกคิดพักผ่อนแต่จะออกมาบ่อยขึ้นถี่ขึ้น และดุร้ายมากขึ้น

ส่วนพี่น้องประชาชนเสื้อแดงที่หวังว่าจะมีการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการผูกขาดการเมืองและอยากเห็นตัวแทนของพวกเขามีอำนาจอย่างแท้จริงก็หมดหวัง การจะเร้าให้พี่น้องเสื้อแดงออกมาชุมนุมช่วยเหลือรัฐบาลเป็นเรือนแสนเรือนล้านก็จะประสบปัญหามากขึ้น ในวันนี้ ผมรู้สึกว่าพี่น้องเสื้อแดงฉลาดมากขึ้นที่ไม่ยอมเป็นเบี้ยให้แกนนำเสื้อแดงเบี้ยวอีกแล้ว ผมว่าพี่น้องเสื้อแดงฉลาดในการจัดการแกนนำได้ดีว่าพี่น้องคนชั้นกลางที่มีความรู้มากๆ ในกรุงเทพฯ เสียอีก (เพื่อนพ้องน้องพี่ผมทั้งนั้นแหละที่ไปเดินตามสุเทพ เทือกสุบรรณ ล้วนแล้วแต่จบปริญญาตรี โท เอก กัน)

กลุ่มประชาชนที่เป็นกลางๆ เห็นด้วยกับรัฐบาลบางเรื่อง คัดค้านบางเรื่อง และหวังว่าจะมีการแก้ปมปัญหาการเมืองหมักหมมและทำให้ลดความขัดแย้งลงไปบ้าง ก็จะรู้สึกทันที่ว่ารัฐบาลนี้ทำงานการเมืองไม่เป็น แทนที่จะแก้ปัญหากลับเพิ่มปัญหาให้มากขึ้นมาโดยตลอด ลองคิดดูซิครับ ตั้งแต่กว่าจะแก้ไขปัญหาการออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรม ก็ช้าจนกลายเป็นการจุดไฟขึ้นมา กว่าจะตัดสินใจยุบสภาก็รอเอาจนกลุ่มสุเทพดึงคนมามากมายมหาศาล...ที่สำคัญ เมื่อเห็นคนรวมการเคลื่อนไหวไม่ลดลงในวันที่ 22 ธันวาคม ก็หันมาเสนอการตั้งสภาปฏิรูปประเทศแบบ หน่อมแน้มนี้ ผมคิดว่าไม่เสนอเลยยังจะเข้าท่ากว่า เพราะคนจำนวนหนึ่งก็เห็นว่าการเลือกตั้งพร้อมการเสนอแนวทาง/นโยบายการปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนเลือกก็เหมาะสมกับระบบประชาธิปไตยดีแล้ว

ผมมีคำถามง่ายๆ แก่ ทักษิณ นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และกุนซือทั้งหลาย หากพวกคุณยังทำอะไรเป็นเกมเล่นๆ ที่ไม่มีความจริงใจแบบนี้ แล้วพวกคุณชนะการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คุณจะทนเป็นรัฐบาลอยู่ในสังคมที่มีคนเกลียดชังคุณเป็นล้านๆ คนได้หรือ?

มันยากมากๆ ที่จะดำเนินงานการเมืองในเงื่อนไขที่มีคนเป็นล้านเกลียดพวกคุณอยู่ แล้วทำไมคุณไม่คิดจะแสดงความจริงใจ (เสแสร้งว่าจริงใจด้วยก็ได้) ที่จะเห็นสังคมเดินไปข้างหน้า เพื่อที่จะดึงเอาคนอีกเป็นล้านค่อยๆ กลับมาชอบคุณมากขึ้น แม้พวกคุณจะไม่ได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสมัยหน้า แต่ในอนาคต พวกคุณจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลที่มีคนรักและศรัทธามากกว่ารัฐบาลอื่นๆ (คงต้องบอกกับทักษิณว่าโอกาสกลับบ้านเร็วๆ นี้ไม่มีหรอก อย่าหวังว่าลิ่วล้อของคุณจะทำอะไรให้คุณกลับมาอย่างผิดปรกติได้ จงคิดให้ยาวๆ หวังไว้เพียงแต่ว่าให้มีโอกาสกลับบ้านก็พอแล้ว)

คงต้องบอกคนในพรรคเพื่อไทยว่าต้องคิดยาวๆ อย่าคิดอะไรสั้นๆ เพราะในที่สุดแล้วมันจะส่งผลเสียให้แก่นายทักษิณของพวกคุณมากขึ้นๆ...หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองแบบทุ่มสุดตัวหรือเรียกภาษานักเลงไพ่ก็ว่าเป็นการเล่นแบบเทหมดหน้าตัก ผมก็คิดว่าทางออกมันก็ตีบตันมากขึ้น แต่ก็พยายามภาวนาและหวังไว้ว่ารัฐบาลจะตั้งสภาปฏิรูปที่กำหนดช่วงเวลาที่พอเหมาะแก่การที่พรรคการเมืองจะหยิบไปเป็นพันธสัญญาในการหาเสียงเลือกตั้ง และเป็นสภาที่ไม่ยุ่งยากในการจัดหาคนมาร่วมเป็นกรรมการและเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เสนอต่อสังคมก่อนการเลือกตั้ง เพื่อที่จะทำให้คนกลางๆ จำนวนมากรู้สึกว่าพอจะเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์กันบ้าง แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ กลับเป็นการโยนน้ำมันเข้ากองไฟเพิ่มขึ้นไปอีก

การที่รัฐบาล พรรคเพื่อไทย ทักษิณ และกุนซือทำแบบนี้ เท่ากับการดูถูกประชาชนทุกสีเสื้อ เพราะทำเหมือนกับประชาชนทุกคนในสังคมไทยกินแกลบต่างข้าว...เลือกตั้งคราวหน้าผมไม่มีทางเลือกพรรคการเมืองที่ทำแบบนี้เพราะผมไม่ได้กินแกลบ !!!


ข้อมูลเกี่ยวข้อง -

ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ประชาชนไม่ว่าจะกลุ่มใด ต้องการความจริง ความคิด และวิทยาการ เพื่อช่วยในการคิดการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะจากศาสตร์ด้านใด ซึ่งจะต้องรวมถึงทำความเข้าใจในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และต้องเข้าใจความเป็นไป ไม่ใช่เพียงภายในชุมชนของตน ของประเทศ หรือโลกภายนอก ลองอ่านบทความเกี่ยวกับระบอบทักษิณ จากนักวิชาการหนึ่งในกลุ่ม “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” เชียงใหม่ ดูครับ – ประกอบ คุปรัตน์ (28 ธันวาคม 2556)
-------------

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ 'ศาสตราจารย์'หมาดๆ วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8195 ข่าวสดรายวัน

สํานักนายกรัฐมนตรี มีประกาศเรื่องการแต่งตั้งศาสตราจารย์ เมื่อ 30 เม.ย. 2556 โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ พนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ สังกัดภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ในสาขา วิชาประวัติศาสตร์ สังกัดภาควิชามนุษย ศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2554

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เกิดเมื่อ 1 พ.ย. 2502 จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อปี 2523; อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2531; และ เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัย นาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2547

ได้รับแต่งตั้งเป็น อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มช. เมื่อ 6 ก.ค. 2532 ลาไปปฏิบัติราช การในฐานะ Visiting scholar ที่มหาวิทยา ลัยโตเกียว ญี่ปุ่น เมื่อ 30 ก.ย.-1 เม.ย.2537

มี.ค.2544 ได้ รับแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ในสาขาประวัติศาสตร์ ไปปฏิบัติราชการในฐานะ Visiting fellow ที่สถาบันการศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ญี่ปุ่น เมื่อ 1 เม.ย.-1 ก.ค.2551

หนึ่งคณาจารย์ที่ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาทิ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชัชวาล บุญปัน สมชาย ปรีชาศิลปกุล ฯลฯ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

เคยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ประธานศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ล่าสุด ได้รับแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์