Sunday, September 27, 2015

ความเป็นผู้นำ - มองโดยไม่เห็น สู่เห็นโดยไม่ต้องมอง

ความเป็นผู้นำ - มองโดยไม่เห็น สู่เห็นโดยไม่ต้องมอง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การจัดการ, Management, ความเป็นผู้นำ, leadership, มองโดยไม่เห็น, เห็นโดยไม่ต้องมอง, ตำรวจ, ทหาร, การสืบราชการลับ


ภาพ จากภาพยนตร์เรื่อง The Untouchables (1987)  มาโลน (Sean Connery) คือคนที่สองจากซ้าย สารวัตรเนส (Kevin Costner) คนที่สามจากซ้าย

คนจะเป็นผู้นำ และนำในหมู่คนที่มีทั้งดีและไม่ดี ดังเช่นในวงการตำรวจและทหาร จะทำอย่างไร เพื่อนผู้มีประสบการณ์คนหนึ่งเขาแนะเทคนิค

บางทีการไปแสดงความสนิทสนมกับพวกคนไม่ดี ก็มีผลเสีย คนอื่นๆที่เขาเป็นคนดี เขาก็สงสัยว่าทำไมไปสุงสิงกับคนไม่ดี ทำไมต้องไปง้อคนไม่ดี คนดีๆที่จะร่วมงานด้วยก็ไม่มั่นใจในตัวเรา

คนเป็นผู้นำจึงต้องรู้จักวางตัว วางระยะห่างจากผู้คน “ต้องฝึกเห็นโดยไม่ต้องมอง” แทนที่เราจะไปมอง หรือจ้องมอง แล้วจริงๆก็ไม่เห็น แต่เป็นในอีกลักษณะหนึ่ง คือฝึกสมาธิ พัฒนาส่วนรับรู้ต่างๆ ใช้เครื่องมืออื่นๆ และมุมมองอื่นๆ ที่ทำให้เห็นโดยไม่ต้องมอง โดยสายตาเรามองเห็นทั้งหมดใน 120 องศาขึ้นไป แม้เราไม่จ้องไปที่จุดนั้นๆ แต่เราก็มองเห็นเพียงพอ การติดตามดูพฤติกรรมของเจ้านาย เพื่อน หรือลูกน้องก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องไปเฝ้าดูเขา แต่ก็มีวิธีการที่จะรู้ได้ว่าเขามีพฤติกรรมอย่างไร

เล่าตัวอย่างจากภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ The Untouchables (1987) เกี่ยวกับอเมริกาในยุคอาชญากรครองเมืองราวๆ ทศวรรษ 1930s ในการปราบเจ้าพออาชญากรครองเมืองดังเช่น แอล คาโปน (Al Capone) สารวัตรเอลเลียต เนส (Eliot Ness) แสดงโดย Kavin Costner จากหน่วยปราบของรัฐบาลกลาง เขาไม่รู้สภาพความเป็นไปในเมืองที่พวกโจรได้ซื้อตำรวจส่วนหนึ่งเอาไว้แล้ว อะไรที่เขาอยากจะทำ แล้วใช้กำลังตำรวจในท้องที่เข้าบุกค้น ก็มีแต่ความล้มเหลว เพราะโจรได้รับข้อมูลจากตำรวจไปก่อนแล้ว

สารวัตรเนสพยายามมอง แต่ไม่เห็น เขาเปลี่ยนใหม่ เป็นเห็นโดยไม่ต้องมอง เขาเลือกทีมงานของเขาเอง เขาเลือกทีมงานเล็กๆของเขาเอง เขาเริ่มด้วยเลือก จิมมี มาโลน (Jimmy Malone) แสดงโดย Connery ตำรวจน้ำดีสูงวัยที่ไม่ถูกซื้อเหมือนคนอื่นๆ มาโลนคือตาของสารวัตรเนส ที่ทำให้เขาเห็นเบื้องลึกของวงการตำรวจ รู้เห็นมากมายในสิ่งที่สารวัตรเนสเองไม่อาจเห็น เขาเลือกคนร่วมงานอื่นๆจากระบบของท้องที่ ชนิดที่ไม่มีอะไรผูกพันกับโครงสร้างตำรวจท้องที่เดิม


และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของ “เห็นโดยไม่ต้องมอง”

Wednesday, September 2, 2015

อะไรคือสาเหตุของการคอรัปชั่นในแต่ละประเทศ?

อะไรคือสาเหตุของการคอรัปชั่นในแต่ละประเทศ?

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, governance, คอรัปชัน, corruption, ยากจน ไร้เงินทอง, penniless, สิ้นหวัง, hopelessness, รู้สึกไร้อำนาจ, powerlessness,

ภาพ การรณรงค์ต่อต้านคอรัปชันนานาชาติ


ภาพ ซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซีย ผู้นำและนักการเมือง 1 ใน 10 ที่โกงมากที่สุดในโลก


ภาพ โมบูตู เซเซ เซโกะ (Mobutu Sese Seko) ทำหน้าที่ประธานาธิบดีของประเทศคองโก จากปี ค.ศ. 1965 ถึง ค.ศ. 1997 เป็นผู้นำและนักการเมือง 1 ใน 10 ที่โกงมากที่สุดในโลก


ภาพ เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส อดีตประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ ผู้นำและนักการเมือง 1 ใน 10 ที่โกงมากที่สุดในโลก

ในโลกนี้ ประเทศที่มักจะตกอยู่ในวงจรอุบาท (Vicious circles) ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร หรือเผด็จการรัฐสภา เกิดปัญหาคอรัปชัน แล้วก็อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นความสิ้นหวังของชาติ 

สาเหตุอย่างน้อย 4 ประการ ที่มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ

1.    ยากจน ไร้เงินทอง (Penniless) ประเทศในอัฟริกา หลายประเทศในอาหรับ ลาตินอเมริกา และรวมถึงเอเซียมักมีปัญหาความยากจน แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาและหลุดพ้นจากความยากจน ปัญหาคอรัปชัน และเผด็จการก็จะลดลงไป ดังเช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ท้ายสุดนำไปสู่การพัฒนาทางการเมืองได้

2.    ไร้ความหวัง (Hopeless) แม้ประเทศที่เคยเป็นประชาธิปไตยมาก่อน ดังเช่นฟิลิปปินส์ แต่เพราะความสับสนทางการเมือง เปิดโอกาสให้มีการยืดอำนาจ และในที่สุดก็เข้าสู่วงจรเผด็จการเบ็ดเสร็จ ดังในสมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส เผด็จการในแบบนี้มักจะรู้จักวิธีการให้ความหวัง แม้เป็นความหวังที่ลมๆแล้งๆไปเรื่อยๆ

3.    ไร้อำนาจ (Powerless) ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่ประชาชนคนชั้นกลางไม่ใส่ใจในการเมือง รู้สึกว่าตัวเองสู้ไปก็ไม่ชนะ สู้การเมืองแบบประชานิยมไม่ได้ และเพราะความรู้สึกไร้อำนาจจึงไม่อยากเข้าไปมีบทบาททางการเมืองใดๆ ซึ่งก็ยิ่งเปิดโอกาสในการเมืองถลำลึกเข้าไปวงจรอุบาทมากยิ่งขึ้น

4.    ไร้การศึกษา (Educationless) คำว่าการศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงการศึกษาอย่างเป็นทางการ การวัดกันด้วยปริญญา หรือประกาศนียบัตรต่างๆ แต่หมายถึงการศึกษาที่ทำให้คนรับรู้สภาพแวดล้อม รู้การอาชีพ พัฒนาการอาชีพ รู้บทบาทและความรับผิดชอบของตนเองในสังคมและประเทศชาติ หากประเทศใดขาดการศึกษาในลักษณะดังกล่าว ก็จะยิ่งทำให้ประเทศถลำลึกไปสู่วงจรอุบาท ในหลายประเทศในอาหรับ คนมีการศึกษา แต่กลับไม่มีงาน อยู่ในประเทศตนเองก็นับว่าจะยิ่งยากจน เพราะไม่มีงานทำ แถมเสี่ยงในเรื่องความขัดแย้งของคนในชาติอย่างไม่รู้จบ ดังนี้คนในชาติก็จะยิ่งอ่อนแอ ไร้อำนาจ เผด็จการก็จะคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ


ย้อนกลับมาประเทศไทย เราจะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทได้ ก็ต้องร่วมกันพัฒนา ส่งเสริมให้คนมีการศึกษา หลุดพ้นจากความยากจน มีความหวังในชีวิต และกระจายอำนาจ ให้เขามีอำนาจในการปกครองตนเอง ให้เขาได้เรียนรู้ในความสำเร็จและล้มเหลวในการเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองทั้งในระดับล่าง ชุมชน จนไปถึงในระดับชาติ