การเมืองใหม่คือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ จิตวิญญาณใหม่
ประกอบ คุปรัตน์
นำเสนอ
Updated: Thursday, April 09, 2009
การเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยเป็นอันมากเกิดความเครียด ความอึดอัด เพราะเหมือนไม่มีทางออกให้บ้านเมืองในสงบ และอยู่กันอย่างสามัคคี ผมได้ถามผู้ใหญ่บางท่านที่ได้อยู่ในวงการเมืองมานาน เป็นที่เคารพนับถือ ท่านมองว่าการเมืองในช่วงดังกล่าว คือการศึกษา คือการที่คนในประเทศไทยต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาระบบของเรา ที่จำเป็นต้องมีความหลากหลายทางความคิด และขณะเดียวกัน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
ลองอ่านบทความนี้ที่ได้เขียนเมื่อประมาณเมื่อช่วงการเมืองระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดงกำลังอยู่ในช่วงของการต่อสู้กันทางวิวาทะ และทางความคิด
การเมืองใหม่ คือ การสร้างวัฒนธรรมใหม่ จิตวิญญาณใหม่
วัฒนธรรมใหม่ คือการยอมรับในความหลากหลาย รับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก และร่วมกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออก
วัฒนธรรมใหม่ คือการยืนหยัดให้สังคมช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ (Truth and Reconciliation) เราประณีประนอมกันได้ แต่ก็ด้วยต้องทำให้ความจริงปรากฎเสียก่อน เราจะไม่ยอมให้มีการลืมประวัติศาสตร์ที่เราต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อ เมื่อมีความบกพร่องผิดพลาด เรายอมรับ และต้องเรียนรู้
การเรียนประวัติศาสตร์ ต้องมีการปฏิรูป การทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้น แม้สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด แต่ความจริงนั้นจะทำให้คนได้เรียนรู้ และสิ่งที่ไม่ดี ก็จะได้ไม่มีคนนำไปปฏิบัติต่อไป ส่วนสิ่งที่ดีๆ คนดีๆที่ได้ทำสิ่งที่เป็นคุณแก่บ้านเมือง ก็จะได้รับการดูแลและให้เกียรติอันควร
การต้องไม่ปล่อยให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย โดยการอภัยโทษ หรือการยกเว้นไม่เอาโทษกับคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญ หากคนทำผิดแล้วได้รับการยกเว้น คงมีคนคิดอยากฉีกรัฐธรรมนูญ กระทำการปฏิวัติรัฐประหาร ตัดสินทางการเมืองกันด้วยอำนาจกันเป็นระยะๆ
วัฒนธรรมใหม่ คือ การต้องไม่เงียบเฉย เราต้องไม่ยอมให้มีความอยุติธรรมเกิดขึ้น เพียงเพราะมีการคุกคาม แล้วเราเกรงกลัว เราพร้อมที่จะเผชิญหน้า (Confrontation) เผชิญหน้าด้วยว่า “เรารักท่าน เราเคารพในความเป็นมนุษย์ของท่าน แต่หากท่านทำไม่ถูก ท่านฉ้อราษฎร์บังหลวง ท่านเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้ระบบบริหาราชการแผ่นดินเสียหาย เราก็จะพูดและแสดงออก เราจะนำความจริงมาตีแผ่ เราจะทำกันทุกคน ทำอย่างถ้วนหน้า เราไม่ยอมปล่อยแผ่นดินอันเป็นที่รักของเรานี้ต้องเสื่อมถอย เราทำมันเพราะมันเป็นของเรา เป็นของทุกๆคน
วัฒนธรรมการเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง
การส่งเสริมให้มีมูลนิธิ การจัดตั้งองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงประโยชน์ (Non-Governmental Organizations – NGO) การมีองค์การธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ทำธุรกิจได้แบบเอกชน แต่ไม่ได้แสวงกำไรเป็นเป้าหมายหลัก แต่ทำให้สามารถทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นได้
การมีวัฒนธรรม Assertiveness หรือการเผชิญหน้า ไม่ปล่อยให้สิ่งไม่ดี หรือความเกรงใจ ดังที่คนไทยมักจะมี คือ เกรงใจ ไม่เป็นไร
Assertive เป็นคำที่หาคำแปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ยาก เพราะไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมไทย แต่เป็นหลักสำคัญในคุณสมบัติบุคลิกภาพที่มีศึกษาอย่างจริงจังในวิชาจิตวิทยา
คำว่า Assertive หรือ Assertion หมายถึง ยืนยัน รักษาสิทธิ การแสดงสิทธิ การยืนยันในสิทธิ และในภาษาไทยมีแปลเป็นคำว่า ทะลึ่ง หรือเสือก ก็มี ขึ้นอยู่กับการมองว่าดี หรือไม่ดี
แต่ในทางประชาธิปไตยนั้น การยืนยันในสิทธิ การปกป้องในสิทธิทั้งของเราและของคนอื่นๆที่จะต้องไม่ถูกเบียดเบียน เป็นวัฒนธรรมที่ต้องมี
ตัวอย่าง
นักการเมืองที่ขี้โกงเขามา ซื้อสิทธิ ซื้อคะแนนเลือกตั้ง มีการฮั้วหรือสมยอมทางการเมือง หากเรารรับรู้ก็ต้องนำความจริงมาตีแผ่ มาฟ้องร้องกันในศาล นำคนผิดมาดำเนินคดีให้เกิดการหลาบจำ
ชาวบ้านด้วยกัน มีคนที่ปฏิบัติตนขัดกับผลประโยชน์ของส่วนรวม มีการปิดกั้นทางน้ำเพื่อที่ดินของตน มีการทำลายป่า เพื่อเพาะปลูก รุกล้ำในที่สาธารณะ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ ดังนี้ก็ต้องมีการนำความสู่กระบวนการยุติธรรม
การรุกล้ำทางเดินสาธารณะ เพื่อทำการค้าขาย แม้กีดกันทางเดินของคนอื่นๆ แล้วเพียงอ้างความยากจน ทั้งๆที่จริงก็มีฐานะ แต่ค้าขายข้างทางได้เงินดีกว่า ก็จะทำไปเรื่อยๆ คนที่ค้าขายอย่างถูกต้อง ก็เสียเปรียบ อย่างนี้ก็ต้องไม่ไห้เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน คนที่เขายากจน ไม่มีทางดำรงชีวิต หากเรารู้ก็ต้องต่อสู้นำเสนอให้เขาได้รับการเหลี่ยวแลจากสังคมและบ้านเมือง
คนขับรถโดยดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เกินกำหนด ไม่ว่าจะเป็นคนมีตำแหน่งหน้าที่ใด หรือมีอำนาจอิทธิพลอย่างไร ก็ต้องถูกดำเนินการไปตามกฎหมาย
เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น เมื่อคนต้องรอรับบริการซื้อของ การรอขึ้นรถเมล์ รถแทกซี่ ระบบขนส่งสาธารณะ การขึ้นหรือลงเครื่องบิน แต่มีคนที่ลัดคิว แทรกแถว มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ต้องเรียนรู้ โดยได้รับการเตือนการบอก ไม่ปล่อยให้กระทำอย่างซ้ำซาก
วัฒนธรรมใหม่ที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยนั้น คือสิ่งที่แม้ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย แต่ต้องรับรู้และสำนึกกันโดยทั่วไปในสังคม เปรียบเหมือนกฏหมายเป็นดังอิฐ หิน ปูน ทราย แต่ วัฒนธรรมประชาธิปไตย คือ น้ำ และการนำอิฐ หิน ปูน ทรายมาใส่น้ำ ประสมกันอย่างพอเหมาะ กระทำจนทำให้ส่วนต่างๆเหล่านี้เกาะเกี่ยวกันแน่น จนเป็นสิ่งก่อสร้างที่แข็งแกร่ง
No comments:
Post a Comment