สุภาษิตเยอรมัน - เงินซื้อความสุขไม่ได้
Updated:Saturday, April 11, 2009
Keywords: Cw022 สุภาษิตเยอรมัน, German proverb, เศรษฐกิจพอเพียง, sufficiency economy, happiness ความสุข
มีสุภาษิตเยอรมันหนึ่งกล่าวว่า Geld allein macht nicht glücklich. แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Money doesn't buy happiness.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้อย่างตรงตัวว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้”
เมื่อเด็กๆ เรารู้สึกว่าชีวิตนั้นมีความขาดแคลน ยิ่งในสมัยของผู้เขียนด้วยแล้ว เราเกิดมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เราต้องประหยัด กิน อยู่ และใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ยิ่งในครอบครัวที่มีพ่อแม่มีลูกหลายคนด้วยแล้ว ยิ่งต้องฝึกประหยัดจนเป็นนิสัย
เมื่อโตขึ้นมาหน่อย จะรู้ว่าจริงๆแล้ว ครอบครัวของเรานั้นไม่ได้ประหยัดมากไปกว่าอีกหลายๆครอบครัวที่เขายากจนกว่าเรา ดังเรื่องอาหารการกิน พ่อมีลักษณะว่า อะไรจะประหยัดก็ช่าง แต่เรื่องการกินนั้น ทุกคนต้องมีกินอย่างพอเพียง อาหารต้องมีคุณภาพ มีหมู เห็ด เป็ด และไก่ กินอย่างพอเพียง เพียงแต่ว่าอย่ากินทิ้งกินขว้าง ข้าวนั้นตักมาพอประมาณ หมดแล้วเติมได้ เรื่องของการกินกับข้าว ซึ่งเป็นพวกอาหารโปรตีนนั้น ก็กินได้อย่างเต็มที่ เพราะเห็นว่าเป็นความจำเป็นสำหรับเด็กๆที่จะเติบโต
เรื่องการแต่งกายนั้นเป็นเรื่องที่พอมีพอห่มเท่านั้น เพราะเป็นครอบครัวที่มีลูกหลายคน เพราะในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆนั้น ผ้าและสิ่งทอนั้นเป็นสินค้าต้องนำเข้า แต่สำหรับชุดเครื่องแบบนักเรียนนั้น ก็มีให้ใส่ได้วันละชุด แล้วมีสำรองพอซักได้รวมแล้วไม่เกิน 3-4 ชุด นั่นก็ต้องถือว่าพอเพียงแล้ว
เรื่องการศึกษาเล่าเรียนนั้น ลูกๆทุกคนได้เรียนหนังสือสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ในสมัยก่อน มีแต่มหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ต้องมีการสอบแข่งขันกันอย่างมาก นั่นคือ ต้องพยายามสอบแข่งขันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นให้ได้ เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว ใครอยากจะศึกษาต่อก็ให้ไปคิดอ่านกันเอง
ครอบครัวชนชั้นกลางในยุคผมนั้น มีลักษณะเป็นเช่นนี้อยู่มาก
เราอยู่ในโลกของการมีอย่างจำกัด คือมี แต่ต้องรู้จักกิน อยู่ และใช้จ่ายอย่างจำกัด
ในสมัยการปกครองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม มีกฏหมายจำกัดการถือครองที่ดิน ให้มีได้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ เพราะในสมัยนั้น คนครองที่ดินมาก ก็แสดงความคนอื่นๆไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ต้องเช่าที่ดินเขาทำกิน
ในสมัยการบริหารแผ่นดินเมื่อมีนายกรรัฐมนตรีเป็นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกกฏหมายดังกล่าว และเราได้เข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยม ด้วยคำขวัญที่ว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์” นั้นในราวปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
เมื่อครอบครัวของเรา พี่ๆน้องๆ ได้เติบโตจบการศึกษามาอย่างดีถ้วนหน้า แต่ระหว่างที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น เราก็ยังมีลักษณะประหยัดอยู่ ในบ้านมีคนอยู่นับเป็นสิบคน แต่มีรถใช้อยู่เพียงสองคัน และใช้เพื่อประกอบธุรกิจร่วมกับการใช้ส่วนตัว
พวกผมเมื่อไปเรียนหนังสือ ส่วนใหญ่ใช้รถประจำทาง รถแท๊กซี่มีใช้มากแล้ว แต่ก็ไม่ได้นั่งบ่อยนัก เพราะมีค่าใช้จ่าย เมื่อรุ่นหนุ่มๆ ยังคิดอยู่เลย หากมีรถยนต์ใช้กันคนละคันคงจะดี เหมือนกับอเมริกันในสมัยนั้น ซึ่งในยุคนั้นประเทศไทยต้องสั่งนำเข้ารถยนต์มาทั้งหมด แม้อะไหล่ ก็ยังต้องนำเข้าเช่นกัน
เมื่อผมและภรรยาได้จบการศึกษาสูงสุดจากต่างประเทศกันมาแล้ว เราก็ยังกินอยู่กันอย่างประหยัดตามฐานะ เราทั้งสองรับราชการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีเกียรติ แต่ก็ต้องกินอยู่อย่างประหยัดตามฐานะ ไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไร อาจเป็นเพราะจริงๆเราก็มีทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว แต่ที่ว่าไมฟุ่มเฟือย เพราะบางทีมีทั้งเพื่อนผมและเพื่อนของฝ่ายภรรยาที่เขาเป็นนักธุรกิจ เขามีการกินเลี้ยงกัน เราก็ไปร่วมได้อย่างจำกัด ยิ่งในแบบที่เขาผลัดกันเป็นเจ้าภาพด้วยแล้ว ยิ่งค่อนข้างจะหลีกเลี่ยง เพราะกินกันมื้อละเป็นหมื่นบาท เงินเดือนเราก็ไม่กี่สตางค์ หากจะต้องกินต้องใช้อย่างนักธุรกิจ เราคงชักหน้าไม่ถึงหลัง คือใช้มากกว่าหา
บัดนี้ เราเกษียณอายุราชการแล้ว มาทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ผมอยู่อย่างมีความจำกัด จะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มาได้บทเรียนอย่างที่เป็นชื่อเรื่องบทความนี้ว่า “เงินซือความสุขไม่ได้”
ย้อนกลับไปดูตั้งแต่สมัยเด็กๆ ต้องบอกว่า ก็ได้มีชีวิตที่โดยรวมอย่างมีความสุขที่สุดแล้ว เราได้มีความสนุกสนานร่าเริง เที่ยวเล่น ได้เห็น ได้เรียนรู้
เมื่อหิว ก็ได้กิน และกินเพราะหิว เรียกว่ามี Appetite แม้ผู้ใหญ่ พ่อแม่เห็นพวกเรากินกัน เขาก็ยังมีความสุข เพราะมันดูอร่อยไปหมด อร่อยเพราะมันหิว
เมื่อเป็นนักศึกษา และมาเป็นอาจารย์มหาวิยาลัย ไม่มีเงิน หรือเงินเดือนใช้มากมาย แต่ก็พอเพียง และที่สำคัญได้คิด ได้เรียนรู้ แสวงหา และขีดเขียนอย่างที่เราต้องการ ไม่มีการปิดกั้นทางความคิดมากนัก ต้องนับว่าโชคดี
ครั้นมาจนถึงวัยเกษียณ คนเป็นอันมาก ยังแข็งแรง แต่จะแข็งแรงหรือไม่ หรืออายุจะยืนยาวเพียงใด เงินไม่อาจจะต่อชีวิตของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรา หรือฟาโรต์แห่งอียิปต์โบรษร สุดยิ่งใหญ่ หรือจักรพรรดิ์ของจีนโบราณ อยากมีอายุยืนยาวทั้งสิ้น แต่ก็ไม่มีใครที่จะใช้เงิน อำนาจ หรือวิทยาการใดๆมาต่ออายุของเราได้มากกมายนัก
เอาเป็นว่า คนยุคใหม่อาจมีอายุได้ 100-120 ปี แต่ก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ คนรวยอยากจะซื้ออายุปีละ 1 ล้านบาท ต่ออายุอีก 10 ปี เป็นเงินสิบล้านบาท ก็ไม่มีใครทำได้ หรือมีทรัพย์สินเป็นแสนล้านบาท ก็ไม่สามารถนำเอาทรัพย์สินเหล่านั้นมาแลกกับอายุที่จะเพิ่มขึ้นได้
เมื่อมีทรัพย์สินตายแล้วเอาติดตัวไปไม่ได้ จะฝากไว้ให้กับลูกหลาน แต่นั่นอาจกลายเป็นไปทำลายอนาคตของเขาก็ได้ เด็กๆ ลูกคนชั้นกลางเป็นอันมาก มีมือเท้า แขนขาครบ แต่เมื่อเกิดมาในกองเงินกองทอง กลับทำให้เขาหยุดที่จะใช้สิ่งที่เขามีมากับตัวเขา เช่นความฉลาด ความขยันหมั่นเพียร ความเป็นคนริเริ่มสร้างสรรค์ ความอดทน ความรักและรู้จักแบ่งปันในเพื่อนมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ เงินสร้างไมได้
บางคนยิ่งมีเงินทองทรัพย์สินมาก ยิ่งมีความทุกข์ กลัวคนเขาจะมาปอกลอก ต้องคอยหวาดระแวงคนเขา จะไปไหนมาไหน กลัวคนเขาจะมาปล้น มาลักพาตัว ฯลฯ
ความสุขของคนนั้นมีได้หลากหลายมากมาย มีได้แม้ยากจนเงินทอง
แต่บทเรียนนั้น คือ ความสุขไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงิน เสมอไป
No comments:
Post a Comment