ประกอบ คุปรัตน์ (Pracob Cooparat)
ศึกษาและเรียบเรียง
มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard4Asia Foundation (SB4AF)
Tel: +66 2 3548254, +66 2 3548255
Fax: +66 2 3548255
Email: pracob@sb4af.org
Blogger: http://pracob.blogspot.com
Keywords: ไข้หวัดนก, Bird Flu
หน่วยที่ 15. ปรากฏการณ์ไข้หวัดนกในประเทศไทย
เราเคยคิดว่าประเทศไทยปลอดจากโรคไข้หวัดนก
หลังจากปฏิเสธปรากฏการณ์ไก่ตายเป็นจำนวนมากในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดสุพรรณบุรี และในอีกหลายๆ จังหวัด ในที่สุด วันที่ 23 เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ยอมรับว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไข้หวัดนก 2 ราย แต่นับว่าเป็นความล่าช้ามาก เพราะมีผู้สงสัยว่าจะมีการระบาดมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 คาดว่าเริ่มระบาดที่จังหวัดนครสวรรค์ สันนิฐานว่ามาจากนกอพยพย้ายถิ่นที่มาอาศัยอยู่ที่บึงบอระเพ็ด และจากนกธรรมชาติสู่ไก่ที่เลี้ยงไว้ ความรุนแรงจะอยู่ที่ต้องฆ่าไก่ ประมาณ 20-40 ล้านตัว
ผลกระทบการส่งออก
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ อาหาร และการส่งออก ประมาณการณ์ที่ 60,000 ล้านบาท แต่ผลกระทบในเชิงลูกโซ่ยังไม่ทราบแน่ชัด ตลาดหุ้นในช่วงสัปดาห์แห่งความสับสนดรรชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ลดลงถึงร้อยละ 10 ซึ่งเป็นการสะท้อนความตระหนกของประชาชน ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตไก่เนื้อส่งออกในอันดับที่ 4 ของโลก และร้อยละ 40 ของผลผลิตไก่เนื้อนั้น ก็คือการส่งออกไปในตลาดใหญ่ 3 แห่งคือ ประเทศสหรัฐ สหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น เมื่อสินค้าไก่เนื้อทั้งหมดถูกปฏิเสธ และคนในประเทศเองก็ตระหนกที่จะไม่บริโภคไก่และไข่ในช่วงดังกล่าว ผลกระทบจึงรุนแรงและเฉียบพลัน การมีหนี้สินเพิ่มขึ้นสำหรับคนบางกลุ่ม บางคนอาจต้องล้มละลาย สูญหายตายจากไปในกิจการด้านการเกษตรดังที่ก็เป็นอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้จึงต้องมีการเข้าไปแก้ปัญหาด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงอย่างจริงจัง
การบริโภคภายในประเทศลดลง
ในช่วงปลายเดือนมกราคม และต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ประชาชนไทยเองได้รับข้อมูลข่าวสารด้วยความตระหนัก คนไม่กล้ากินไก่ ใน Supermarket ทางร้านไม่กล้านำไก่สดขึ้นขายหลายแห่ง ด้วยกลัวจะไปทำให้ผู้ซื้อสินค้าเนื้อสัตว์อื่นๆ ตกใจ ร้านอาหารเองต้องตัดรายการอาหารที่ทำจากไก่และไข่ ร้านอาหารจีนหลายแห่งงดสูตรอาหารที่ต้องใช้ไก่และไข่
ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นทันทีร้อยละ 15-20 แต่ในไม่ช้า อาหารโปรตีนทั้งหลายก็มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ไก่ต้องขาดหายไปจากตลาด
ผลกระทบเชิงลูกโซ่
ในโลกยุคใหม่ ข้อมูลข่าวสารสามารถทำให้คนเด่นดังได้ในเวลาอันสั้น และขณะเดียวกัน คนที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ก็จะกลายเป็นตัวร้ายได้ในเวลาอันสั้น
ปรากฏการณ์ผลกระทบเชิงลูกโซ่ได้ปรากฏขึ้น เกษตรกรและครอบครัวจำนวน 300,000 คนต้องกลายเป็นคนตกงานอย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง และไก่ที่หายไปจากเล้าทั่วประเทศกว่า 25 ล้านตัว ทำให้สินค้าอาหารสัตว์เช่นข้าวโพด ปลาป่น ได้รับผลกระทบไปด้วย ผู้ผลิตข้าวโพด และอาหารสัตว์อื่นๆ ซึ่งก็เป็นเกษตรกรด้วยกันก็ต้องปรับตัว หาตลาดอื่นๆ
No comments:
Post a Comment