ความเป็นมาของคำว่า Comrade
ประกอบ คุปรัตน์
ศึกษาและเรียบเรียง
คำว่า comrade เกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 16 ซึ่งในระยะนั้นเรียกว่า comerade ในภาษาสเปน คำว่า camarada แปลเป็นภาษาอังกฤษใกล้กับคำว่า room-mate หรือเพื่อนร่วมห้อง หรือคำในภาษาลาตินแต่เดิม คำว่า camera หรือ chamber แปลว่า "ห้อง" อย่างคำว่า การประชุมแบบ in camera ก็๋แปลว่า "การประชุมแบบปิดห้อง"
คำว่า Comrade มีการใช้ในทางการเมืองเริ่มแต่สมัยปฏิวัติฝรั่งเศสที่เรียกว่า French Revolution คือในราวช่วงปี ค.ศ. 1789 ที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ (Republic) ทั้งนี้เพื่อเป็นการเลิกคำที่มีใช้ในระบบสังคมมีชนชั้น ดังเช่นคำว่า นาย (monsieur) หรือคุณนายผู้หญิง (Madame) ในทางปฏิวัติ เขาใช้คำว่า "citoyen(ne) หรือ Citizen พระเจ้าหลุยที่ 16 เมื่อถูกโค่นล้มจากความเป็นกษัตริย์ ก็ถูกเรียกว่า Citoyen Louis Capet มีสถานะเทียบเท่ากับคนหรือประชาชนคนอื่นๆ
เมื่อการเคลื่อนไหวด้านสังคมนิยมได้ขยายวงกว้างขวางในยุโรปในราวกลางศตวรรษที่ 19 ได้มีความพยายามหาคำที่แสดงความเท่าเทียมกันทดแทนคำว่า "Mister", "Miss", or "Missus" ซึ่งคำเหล่านี้มีความหมายว่า "นาย" เขาไปเลือกใช้คำว่า Comrade หรือแปลเป็นไทยได้ว่า "สหาย" หรือเพื่อน เพื่อใช้แทน ในเยอรมันมีการใช้กันในปี ค.ศ. 1875 เมื่อเริ่มมีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า "พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งเยอรมัน" (The Socialist workers' Party of Germany) ในประเทศอังกฤษมีการใช้คำนี้ในปี ค.ศ. 1884 ในวารสารที่ชื่อว่าทางสังคมนิยม ที่ชื่อว่า Justice
ตามความหมายของคำ คำว่า comrade (คอมราด) มักจะใช้ในหมู่ผู้ชาย เป็นคำที่ในภาษาไทยใช้คำแปลว่า "สหาย" เป็นความหมายของเพื่อนในแบบร่วมองค์กร ทำกิจกรรมด้วยกัน ดังเช่น การเป็นทหาร หรือในวัฒนธรรมการเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม เขาจะเรียกคำว่า comrade นำหน้าชื่อ ดังเช่น Comrade Stalin หรือว่า Comrade Petrova เป็นต้น และในยามสงครามที่มีความรุนแรง เขาจะไม่ใช้ชื่อจริงนามสกุลจริง เพื่อป้องกันการไปทำร้ายบุคคลในครอบครัว
ในประเทศไทยในสมัยก่อนที่มีความขัดแย้งทางความคิดด้านการเมืองสูง คนไทยหวาดระแวงภัยจากคอมมิวนิสต์ ใครเรียกเพื่อนๆ ว่า สหาย ดูจะเป็นการเสี่ยง ดูจะทำให้บ้านเมืองสงสัยว่า เป็นพวกเอาใจออกห่าง เป็นพวกในป่า หรือพวกไปเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สำหรับสมัยปัจจุบันที่พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยได้ล่มสลายไปแล้วในทางปฏิบัติ การเรียกใครว่าสหายดูไม่น่ากลัว หรือสร้างความหวาดระแวง แต่กลายเป็นภาษาโบราณ
ในการปราศรัยทางการเมืองในประเทศไทยปัจจุบัน เขาจะเรียกผู้ฟังว่า "พ่อแม่ พี่น้อง" หรือคำว่า "พี่น้อง" อันเป็นการแสดงความใกล้ชิดดังญาติมิตร
ในบรรดาหมู่เพื่อนในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์อยากให้เรียกกันว่ "คุณ ผม" หรือ ดิฉันหากเรียกตัวเองที่เป็นผู้หญิง หรือในบรรดาเพื่อนสนิทกัน เห็นมีกลับไปใช้ภาษาพื้นบ้านว่า "มึง หรือกู" ก็มี ในสมัยก่อนมีเรียกกันว่า"ลื้อ อั๊ว" ถ้าเป็นสมัยก่อนคงต้องโดนครูอาจารย์เรียกมาอบรมว่าใช้ภาษาไม่สุภาพ แต่ก็เห็นหลวงพ่อคูณท่านก็ใช้ภาษาเก่านี้
เดี๋ยวนี้ ถ้าจะสนิทกับใคร เรียกกันเป็นกลางๆ ว่า "เพื่อน" ก็ซึ้งใจพอแล้ว ในโลกที่แข่งขันกัน หวาดระแวงและไม่จริงใจต่อกัน การที่เราจะอยู่ได้อย่างมีเพื่อน เป็นเพื่อนที่ปรารถนาดีต่อกันจริงๆ นั่นก็ถือว่าประเสริฐสุดแล้ว
No comments:
Post a Comment