ขอให้มีรัฐมนตรีศึกษาอีก 185 คน
ประกอบ คุปรัตน์
มูลนิธิก้าวไกลในเอเชีย
SpringBoard For Asia Foundation (SB4AF)
Keywords: บันทึกการศึกษา, Education Diary, คุณภาพชีวิต, เศรษฐกิจใหม่
ที่ผ่านมา เรามี “รัฐมนตรีศึกษา 11 ปี 14 คน” ผม ในนามของประชาชน ขอให้มีรัฐมนตรีศึกษาอีก 185 คน
ผมได้เปิดประเด็น "รัฐมนตรีศึกษาฯประเทศไทย 11 ปี 14 คน" ที่ My Words http://pracob.blogspot.com/2009/10/11-14.html
โดยได้นำข้อมูลที่ปรากฏว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา 11-12 ปีหลังนี้ อันเป็นช่วงเวลาที่เราได้ชื่อว่ามีกฎหมาย "ปฏิรูปการศึกษา" (Education Reform) แล้ว แต่ว่า การศึกษาไทยไม่ได้มีอะไรที่ก้าวหน้าขึ้น ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเปรียบเทียบได้ชี้ให้เห็นถึงทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) ของ ไทยนั้นลดขีดความสามารถในการแข่งขันลง ในขณะที่ช่วงก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจไทยเคยได้ชื่อว่าเป็น "เสือตัวที่ห้า" ของเอเซีย เป็นประเทศที่มาแรงในตะวันออกเฉียงใต้ ความชะงักงันเกิดจากคนของเรา อายุเฉลี่ยสูงขึ้น อายุยืนขึ้น สุขภาพอนามัยดีขึ้น แต่เกิดน้อยลง เมื่อเขาเติบโตขึ้น ความสามารถในการทำงานน้อยลง เมื่อเทียบกับรายได้ค่าตอบแทนที่จะต้องสูงขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยในระยะหลังไม่เป็นที่ดึงดูดสำหรับนักลงทุน ที่เข้ามาดำเนินการธุรกิจ
สาเหตุประการหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้น คือ “คุณภาพของการศึกษาไทย” เราสอนกันโดยนับพัฒนาการจากจำนวนปีที่คนได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นเชิงปริมาณว่า เพิ่มขึ้น แต่โดยคุณภาพแท้จริงแล้วลดลง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้มีความพยายามของคนที่เกี่ยวข้องที่จะปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) โดยมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาความเป็นราชการแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง (Centralization) โดยดำเนินการให้มีการกระจายอำนาจ (Decentralization) โดยได้จัดให้มีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในปัจจุบันเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Education Service Area โดยในปัจจุบันได้จัดแบ่งให้มีขึ้น 185 แห่ง
ผมไม่หวังอะไรมากจากการมีรัฐมนตรีศึกษาธิการในส่วนกลางที่ 11 ปี ใช้รัฐมนตรีไปแล้ว 14 คน และพิจารณาระบบและวัฒนธรรมการเมืองในระดับชาติแล้ว เห็นว่าแนวโน้มความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยังเป็นเช่นนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง อีกสิบปีต่อไปนี้ เราอาจมีรัฐมนตรีศึกษาเวียนกันมารับผิดชอบน้อยลงกว่า 14 คน แต่ก็จะยังไม่แน่นอน
ประเทศไทยมีการแบ่งการปกครองเป็น 76 จังหวัด นับรวมกรุงเทพมหานคร แต่เรามีเขตพื้นที่การศึกษา 185 แห่ง ผมขอให้มีการดำเนินการให้ได้มาซึ่ง “ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา” ที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ในท้องที่ๆเขารับผิดชอบ
โดยหลักการแล้ว ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษานี้ ต้องเป็นคนของประชาชน เลือกเข้ามาโดยประชาชน มีเวลาต่อเนื่องสัก 4 ปีต่อวาระ (terms) มีเวลาทำงานให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องตามวาระ มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะคิดถึงการทำงานที่ดีมีหลักวิชาและตอบสนองต่อประชาชน เป็นที่ตั้ง เขาเป็นคนของประชาชน เงินเดือนกำหนดโดยประชาชนในท้องที่นั้นๆ และหากเขาทำงานดี ประชาชนมีความประสงค์ให้เขาทำงานต่อ เขาก็ทำงานต่อไปได้อย่างมีวาระ ทั้งนี้โดยประชาชนในท้องที่ให้ความเห็นชอบ
เขาคือรัฐมนตรีศึกษาแห่งท้องที่นั่นเอง จะเรียกว่า เป็น CEO ทาง การศึกษา หรือนักการศึกษาที่ดำเนินการทางวิชาการและการตอบสนองทางการเมืองอย่างเป็น มืออาชีพ เขาคือรัฐมนตรีศึกษาธิการของท้องที่ และหากเขาทำหน้าที่อย่างดีบรรลุผลเพื่อการศึกษาแห่งท้องที่นั้นๆ เขาควรได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็น “รัฐบุรุษทางการศึกษา” ได้เลยทีเดียว
แล้วผมจะเขียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ทำไมจึงเสนอเช่นนี้ แล้วเราจะทำกันได้หรือไม่ และอย่างไร
แนวคิดมีอยู่ว่า เราจะกระจายอำนาจการศึกษาหรือไม่ หากคิดว่าจะกระจายอำนาจการศึกษา เราต้องยอมทำใจว่า ปล่อยให้ประชาชน และท้องถิ่เเข้ามาดูแลการศึกษา หากมีอะไรผิดพลาด ก็ต้องปล่อยให้ท้องถิ่เขาไปดำเนินการเป็นหลัก
ReplyDeleteต้องทำใจเสียระดับหนึ่งว่า ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการกันไป แต่ด้านหนึ่ง คือการให้ผอ. เขตพื้นที่การศึกษามี Term ที่ชัดเจน และให้เขาได้ใช้ความเป็นนักบริหารมืออาชีพ (Professional Administrators)ที่จะจัดการ ไม่ปล่อยให้มีการเมืองไปมีอิทธิพลต่อเขามากจนเกินไป เขามี Term ของการบริหาร อย่างน้อยสักระยะเวลาหนึ่ง คือ 3-4 ปี มีเวลาที่จะพิสูจน์ตัวเอง ว่าสามารถทำงานอย่างมีแผนงาน มีขั้นตอน และแสดงความโปร่งใสในการจัดการได้ และหากมีอะไรผิดพลาด เขารับผิดชอบตามกฏหมาย