Sunday, October 25, 2009

รัฐมนตรีศึกษฯประเทศไทย 11 ปี 14 คน

รายนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน
ประกอบ คุปรัตน์
ศึกษาและเรียบเรียง

เวลาและความต่อเนื่อง

การศึกษาเหมือนกับการปลูกต้นไม้ ต้องใช้เวลา เราไม่สามารถปั๊มคนออกมาดุจดังเครื่องจักรอัดพลาสติกออกมาจากแม่พิมพ์ได้ การสร้างคนแต่ละคนต้องใช้เวลา เด็กคนหนึ่งกว่าจะเรียนจบอนุบาลต้องใช้เวลา 2 ปี เรียนต่ออีก 6 ปีจึงจะจบประถมศึกษา และเรียนต่ออีก 6 ปีจึงจะจบมัธยมศึกษาบริบูรณ์ และหากศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอีก 4 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี รวมเขาต้องใช้เวลาในระบบการศึกษา 18 ปี

การบริหารการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับใด ก็ต้องใช้เวลา ต้องให้เวลาแก่ฝ่ายบริหารที่จะมีเวลาศึกษา คิด และวางแผน และทำไปตามแผนงาน การบริหารการศึกษาต้องปล่อยให้มีความต่อเนื่อง การเร่งร้อน กดดัน มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากๆ จนทำให้มีการโยกย้ายกันจนไม่เป็นส่ำ ดังนี้ก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการบริหาร และกระทบต่อการดำเนินการด้านการศึกษา

การบริหารราชการแผ่นดินที่ดีประการหนึ่งคือความต่อเนื่อง ในหลายๆงานเขาจึงต้องให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง และให้ได้มีเวลาทำงานเป็นระยะเวลายาวนานพอ เช่นให้เป็นสมัยละ 4 ปี และดำรงต่ำแหน่งติดต่อกันได้อีก 1 สมัย รวมแล้ว 8 ปี นับว่านานพอที่จะทำอะไรให้เป็นมักเป็นผล

ภาพ Charles William Eliot

Charles William Eliot เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1834 เสียชีวิตวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1926 เป็นนักการศึกษา ผู้นำการศึกษาคนหนึ่งของอเมริกัน ได้รับเลือกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University, Boston, Massachusett, USA) ในปี ค.ศ. 1869 และได้ดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องจนถึงปี ค.ศ. 1909 และเขาได้เปลี่ยนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจากความเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ให้กลายเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่โดดเด่นของอเมริกัน อธิการบดี Eliot จัดได้ว่าเป็นอธิการบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติการอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา

ในการบริหารการศึกษาไม่ว่าจะในระดับใด ต้องมีระยะเวลาที่ให้ผู้บริหารทำงาน อธิการบดี Charles Eliot มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งนานถึง 39-40 ปี ระหว่งการดำรงตำแหน่งในช่วงแรก ไม่มีอะไรราบรื่น ต้องต่อสู้ ท้าทายความคิด ทั้งกับคณาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเขา และคนหัวเก่า แต่เพราะการต่อสู้ทางความคิด และไม่ย่นย่อ จนในที่สุดหลายความคิดของเขาได้กลายเป็นที่ยอมรับ ทำให้มีผลงานก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับมหาวิทยาลัย และผลกระทบโดยรวมต่อระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐ อย่างต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
ภาพ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458 จนถึงปี พ.ศ. 2469 หรือประมาณ 11 ปี นานเท่ากับรัฐมนตรี 14 คนในช่วงปี พ.ศ. 2540 ถึงปี พ.ศ. 2552 บริหารราชการรวมกัน

มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (1 ม.ค. 2419 - 1 ก.พ. 2486) นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) ผู้วางรากฐานการศึกษาภาคบังคับพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ผู้ร่วมดำริให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ประกอบกิจการทางการศึกษาอันเป็นคุณูปการไว้ แก่ประเทศไว้มากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานอย่างสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเป็นครู ผู้ตรวจการศึกษา เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิต เจ้ากรมตรวจ ปลัดทูลฉลองจนถึงเสนาบดี โดยเริ่มนำเอาความรู้แผนใหม่เข้ามาในวงการครู เริ่มพัฒนาด้านพุทธิศึกษาอย่างจริงจัง เขียนตำรา เริ่มตั้งแต่ด้านการสุขาภิบาลและสุขศึกษาสำหรับครอบครัว รวมทั้งเน้นด้านปลูกฝังธรรมจรรยาอย่างแท้จริง อบรมสั่งสอนให้คนมีคุณธรรมและจรรยามรรยาท จัดทำแบบสอน-อ่าน-เขียนด้านธรรมจริยาขึ้นใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ นำพลศึกษาและการกีฬาเข้ามาในโรงเรียนเพื่อสร้างลักษณะนิสัยให้เยาวชนรู้จักรู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักอภัยซึ่งกันและกัน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้จัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วถึงกันโดยท่านเชื่อว่า เมื่อให้มวลชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางแล้ว บุคคลที่มีความสามารถก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นเอง ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศรวมทั้งโรงเรียนประชาบาลเพื่อรองรับการจัดการศึกษาภาคบังคับ มีการเริ่มงานด้านหัตถศึกษา คือ นำเอาวิชาอาชีพต่างๆ เข้ามาสอนในโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทั้งด้านวิชาความรู้เพื่อไปรับราชการ และทางด้านวิชาชีพสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพทั่วไป

- นำวิธีการจัดการศึกษาของต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชียบางประเทศมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาของประเทศไทย
- เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461
- เป็นผู้ดำเนินการเพื่อห้ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ประถมศึกษา พ.ศ. 2464
- ริเริ่มให้มีการฝึกหัดเล่นฟุตบอลในโรงเรียนและให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียน
- ริเริ่มส่งเสริมวิชาช่างและหัตถกรรมเพื่อส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการช่างสาขาต่างๆ และจัดตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเพื่อรองรับและเพาะขยายศิลปะและการช่าง ซึ่งต่อมาได้แตกออกไปเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภายหลัง
- ริเริ่มการศึกษาด้านเกษตรกรรมโดยการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแห่งแรก ขึ้นที่บริเวณหอวังหรือบ้านสวนหลวง สระปทุมเมื่อ พ.ศ. 2460 ได้จัดส่งนักเรียนทุนไปศึกษาเกษตรกรรมต่างประเทศและได้กลับมาเป็น “สามเสือเกษตร" เป็นฉายาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ใช้เรียกแทน บุคคลทั้ง ๓ คือหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปการ ภายหลังท่านเหล่านี้ล้วนมีคุณูปการต่อวงการเกษตร
- ด้านการค้าได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนพาณิชยการขึ้นที่วัดมหาพฤฒาราม

การมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิิ์มนตรีเพียงสัก 1 คนในช่วงเวลา 1 ทศวรรษ ก็ดีกว่าที่จะนำคน 14 คนเข้าสู่ตำแหน่ง แล้วทำงานไม่ต่อเนื่องกัน ดังที่ได้เกิดขึ้นในช่วง 11-12 ปีที่ผ่านมา ประเทศขาติได้เสียหายไปกับความไม่ต่อเนื่อง สับสอน และทำลายขวัญและกำลังใจคนทำงาน และแก่ครูอาจารย์ทั่วประเทศ

ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา เฉลี่ยแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 1 คนมีเวลาบริหาราชการแผ่นดินน้อยกว่า 1 ปี และดูรายนามแล้วเป็นอันมากไม่มีพื้นฐานด้านการบริหารการศึกษามาก่อน จีงต้องมีเวลาในการเรียนงาน ต้องใช้เวลาในการจับประเด็นการศึกษา กว่าจะต้องมาคิดเรื่องการใช้ทรัพยากร เงิน การวางระเบียบกฎหมาย นโยบาย ฯลฯ ก็ไม่ทันได้ทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็ต้องจากกระทรวงไป

ในระหว่างนั้น บรรดาข้าราชการประจำในระดับสูงก็ไม่ต้องไปทำอะไรมาก ประคับประคองตนเองไปให้ได้ เดี๋ยวท่านก็ต้องย้ายไปแล้ว หากเข้าไปยุ่งมากๆ อยากจะทำนั่นทำนี่ เดี่ยวท่านนักการเมืองจะผิดใจกัน หรือไม่รัฐมนตรีคนถัดไปเข้าสู่ตำแหน่ง พรรคพวกที่เขาไม่พอใจก็จะฟ้องเจ้านายใหม่เอา เปลืองตัวเปล่าๆ ดังนี้ เขาจึงอยู่อย่างเข้าเกียร์ว่าง คือไม่ต้องทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราว อยู่กันไปวันๆ และนี่คือระบบการเมือง กับการบริหารราชการแผ่นดินในประเทศไทย โดยมีกรณีศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการนี้

แล้วจะให้ประชาชนหวังอะไรกับการเมือง การปกครองประเทศ และระบบการศึกษาของชาติที่ดันต้องไปผูกกับการบริหารงานส่วนกลางอย่างมากๆ

11 ปี 14 รัฐมนตรี

รายนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน

1. นายชิงชัย มงคลธรรม พ.ศ. 2540
2. นายชุมพล ศิลปอาชา พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2541
3. นายปัญจะ เกสรทอง พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2542
4. นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2544
5. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย พ.ศ. 2544
6. พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2544
7. นายสุวิทย์ คุณกิตติ พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2545
8. นายปองพล อดิเรกสาร 8 ตุลาคม พ.ศ. 2545 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2546
9. ดร.อดิศัย โพธารามิก 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2548
10. นายจาตุรนต์ ฉายแสง 2 สิงหาคม พ.ศ. 2548 - 19 กันยายน พ.ศ. 2549
11. ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน 9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
12. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 255 - 1 9 กันยายน พ.ศ. 2551
13. นายศรีเมือง เจริญศิริ 24 กันยายน พ.ศ. 2551 - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551
14. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน

แล้วจะทำอย่างไร


ผมไม่โทษท่านรัฐมนตรีที่มีชื่อ 14 ท่านนี้ เพราะท่านก็เป็นผลพลอยของระบบราชการไทย และการเมืองไทยที่ไร้เสถียรภาพในช่วงเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมานี้ และผมก็เชื่อว่าในช่วงต่อไปนี้อีกยาวนาน ที่การเมืองจะยังไม่นิ่ง และเมื่อไม่นิ่ง การเมืองและระบบราชการจะทรุดโทรมลงไปทุกที แล้วเราจะทำกันอย่างไร

ผมไม่ได้สิ้นหวัง ยังมีความหวัง และเห็นว่ามีวิธีการที่จะพัฒนาการศึกษาไทยในสภาพแบบนี้ได้ หรือใครมีความเห็นอย่างไรก็เข้ามาเสนอได้ครับ

สำหรับบทความนี้เป็นเพียงเริ่มต้นของ "บันทึกการศึกษา" ที่ผมจะเขียนเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ และแลกเปลี่ยนกับทุกท่านที่ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย จะได้ทีการนำเสนอ เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่ในวงการศึกษาไทย

No comments:

Post a Comment