Saturday, December 23, 2023

การยื่นคำรร้อง จากผู้ได้รับผลกทบจากโครงการขยายถนนทางลัด จากถนนพระราม 6 ผ่านกระทรวงการคลัง - กรมประชาสัมพันธ์ - มาออกที่ปากซอยพหลโยธิน 5

 การยื่นคำรร้อง จากผู้ได้รับผลกทบจากโครงการขยายถนนทางลัด จากถนนพระราม 6 ผ่านกระทรวงการคลัง - กรมประชาสัมพันธ์ - มาออกที่ปากซอยพหลโยธิน 5

ตามที่ทางฝ่ายบริหาร กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโครงการจะขยายทางลัด จากถนนพระราม 6 ปากซอย 31 ผ่านกระทรวงการคลัง - กรมประชาสัมพันธ์ มาออกซอยพหลโยธิน 5 (ซอยราชครู)  ในปัจจุบัน ให้เป็นทางขนาดกว้าง 16 เมตรตลอดสาย จากปัจจุบันมีความกว้างที่สุดอยู่ประมาณครึ่งซอย คือด้านกระทรชวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ และสอบแคบเข้า เหลือเป็นทางรถวิ่งได้ขนาดไปได้ 1 ช่องทาง และกลับ 1 ช่องทาง

โครงการนี้จะมีผลกระทบต่อประชาชนในท้องที่ ต้องมีการเวรคืนที่ดินมากมายเกือบตลอดสาย มีผลเป็นทางบวก ก็แต่กับผู้ต้องการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นอาคารสูง แต่ก็จะสร้างความคับคั่งต่อถนนพหลโยธิน เพิ่มรถยนต์ในกรุงเทพฯ ที่มีมากเกินความต้องการอยู่แล้ว ไม่มีพื้นผิวถนนให้รถวิ่ง ไม่มีที่จอดรถ

หนทางการใช้เงินงบประมาณของกทม. ให้เกิดประโยชน์ จึงควรเน้นไปที่ การมีถนนคนเดินเพิ่มมากขึ้น มีทางรถจักรยานแบบใช้ร่วมกับยานพาหนะที่มีอยู่แล้ว ส่งเสริมการสัญจรของผู้สูงวัย ลดปัญหาความคับคั่งบนท้องถนน


ลงนาม ผู้คัดค้านโครงการขยายถนนทางลัดฯ


ผู้ลงนาม     ..........................................................................................  ชื่อ   นามสกุล      บ้านเลขที่ บ้านพักอาศัย หรือสถานที่ประกอบการ



Sunday, May 3, 2020

การศึกษาทั่วไปในยุคใหม่ (New General Education)


การศึกษาทั่วไปในยุคใหม่
(New General Education)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat

Updated: Sunday, May 03, 2020
Keywords: การศึกษาทั่วไป, General Education

ความนำ

ทำไม่จึงสนใจเขียนเรื่องนี้ เขียนเพื่ออะไร

เมื่อคุยกับหน่วยงานผู้รับบัณฑิตว่า เขาต้องการบัณฑิตที่มีคุณลักษณะอย่างไร มีส่วนหนึ่งเขาบอกว่า ต้องการ “คนดีมากกว่าคนเก่ง” เขาเชื่อว่าการจะสร้างคนเก่งนั้น แม้เรียนมาไม่ตรง แต่ถ้าตั้งใจและขวนขวายที่จะเรียนรู้ ก็จะไม่เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าได้คนไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ ไม่ซื่อสัตย์ต่องานที่ทำ ต้องการค่าจ้างค่าตอบแทนสูง แต่ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ได้ตามเป้าหมายข้อตกลง หาโอกาสทุกสถานการณ์ที่จะแสวงหาประโยชน์ใส่ตน คนในลักษณะหลังนี้จะพัฒนาได้ยาก

นอกจากนี้คือความคาดหวังต่อบัณฑิต ที่ดูยากที่จะทำได้ เช่น ต้องการคุณสมบัติที่เหมือนจะตรงข้ามกัน เช่น ต้องการคนรู้ลึกและรู้กว้าง ให้รู้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้เป็นคนทำงานได้ เป็นวิศวกร ก็ให้เป็นคนมือเปื้อนได้ และก็เป็นคนทำงานนั่งโต๊ะได้ วางแผน เป็นหัวหน้างาน เป็นนักคิดได้ คนในลักษณะดังกล่าวพัฒนาได้ แต่ในช่วงเวลาที่ยาวนานของชีวิต เช่นเมื่อยังเยาว์วัย เป็นคนรู้ลึก ทำอะไรทำให้ได้จริง แต่เมื่ออายุมากขึ้น มาพัฒนาใหม่ให้เป็นคนรู้กว้าง จากรู้บางเรื่อง เป็นรู้หลายๆเรื่องที่สัมพันธ์กัน ทำให้ทำงานระดับใหญ่ได้

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเองสับสน คือเมื่อคิดถึงลักษณะบัณฑิต ดังเช่น Thailand 4.0 คือการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากยุคเกษตรกรรม 1.0 สู่ ยุคอุตสาหกรรมเบา 2.0  สู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก 3.0 และสู่ยุค Thailand 4.0  (ไทยแลนด์ 4.0) คือวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ผู้เขียนเห็นว่า การจะเปลี่ยนบัณฑิตไทยให้ก้าวหน้า และนำสังคมใหญ่สู่ความเป็น Thailand 4.0 เป็นเรื่องที่ดีและท้าทาย แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดสถาบันทุกแห่งจะดำเนินการตามไปได้ในในช่วงเวลาสั้นๆพร้อมๆกัน คงจะมีบางส่วนอยู่ในสังคมเกษตร แต่ก็เป็นสังคมเกษตรพัฒนา และไม่ทิ้งการพัฒนาชุมชนชนบทและสิ่งแวดล้อม บางส่วนยังคงอยู่ในระบบอุตสาหกรรมเบา แต่ก็ไม่ถึงกับล้าหลังจนเสียเปรียบ ไปแข่งขันกับระบบผลิตที่เขาก้าวสู่ยุคหุ่นยนต์และสมองกลแล้ว และเมื่อสังคมไทยก้าวผ่านสังคมอุตสาหกรรมหนัก และก้าวสู่โลกยุคข้อมูลข่าวสาร เราก็ต้องมาคิดว่า แล้วเราจะดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศกันอย่างไร เพราะโลกนี้และประเทศไทยนี้ก็ยังต้องมีระบบงานที่แบ่งปันรายได้และผลประโยชน์เพื่อการยังชีพแก่ทุกๆคน และทุกคนยังทำงานในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้

หลักความหลากหลาย

หลักของการอุดมศึกษา คือ ต้องให้ระบบมีความหลากหลาย (Diversity) เรามมีสถาบันคัดสรรพิเศษ (Elite Universities) มีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษา มีมหาวิทยาลัยเปิดที่ให้โออกาสคนจำนวนมากได้ศึกษาในระดับสูง คงเป็นเรื่องที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องไปศึกษาและออกแบบยุทธศาสตร์การศึกษาของตนเอง สามารถพัฒนาบัณฑิตให้ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเอง โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป เขาก็สามารถพัฒนาตนเองไปได้ ไม่ติดอยู่กับโลกที่ล้าหลังและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเสมอไป

สังคมมหาวิทยาลัยก็ต้องเรียนรู้ว่ามีสถาบันอยู่นับเป็นพันแห่ง แต่ละแห่งก็ต้องมีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีสิ่งเก่าๆที่ดีมากมายที่เรายังต้องรักษาไว้ และมีสิ่งใหม่ๆที่สถาบันแต่ละแห่งต้องเรียนรู้ที่จะก้าวตามทัน หรือก้าวหน้าแบบเตรียมสังคมให้พร้อมสำหรับก้าวต่อๆไป

มีอีกประการหนึ่ง แต่ละมหาวิทยาลัยล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาทั่วไป แต่ก็ไม่เหมือนกัน สถาบันประเภทคัดสรร ต้องสร้างบัณฑิตที่เก่ง ก็ต้องขอให้สร้างได้อย่างมีความคุ้มแก่ค่าการลงทุน

การสร้างบัณฑิตที่ดี

ในบทความนี้ ขอจำกัดเป้าหมายผลิตบัณฑิตที่เก่งเอาไว้ก่อน ขอเน้นเรื่องการสร้างบัณฑิตที่ดี และดีอย่างไร เรื่องนี้แม้มหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือสถาบันในท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณหรือรายได้อย่างจำกัด ก็สามารถดำเนินการได้
คุณลักษณะบัณฑิตมี 2 ส่วนที่น่าสนใจ และเป็นเป้าหมายที่ดี คือ การเป็นผู้นำ (Leaders) และการเป็นนักประดิษฐ์ (Inventors)

ในด้านความเป็นผู้นำ เขามักจะกล่าวถึงคุณสมบัติต่อไปนี้ที่ผู้นำควรมี คือ

การสื่อสาร (Communication) ในที่นี้คือทั้งการฟัง การอ่าน การพูด และการเขียน ; ความซื่อสัตย์ ความมีศักดิ์ศรี (Integrity) คือทำดีได้โดยแม้ไม่มีคนเห็น ; ความรับผิดชอบ (Accountability) รับคำรับงานแล้ว ต้องทำให้ได้ ; ความเอาใจใส่ (Empathy) ไม่ว่าจะได้รับมอบหมาย หรือเลือกทำอะไร ก็ทำด้วยความเอาใจใส่ ; ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) คนไทยตั้งแต่ในอดีตมามีสิ่งนี้ติดตัวมาเหมือนชาวเอเซียทั่วไป ; ความยืดหยุ่นและทนทาน (Resilience) รู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบา เหมือนกับการกีฬา ที่ผู้เล่นต้องรุกเป็น และบางช่วงก็ต้องถอยเป็น ; วิสัยทัศน์ (Vision) ; มีอิทธิพล (Influence) ; มองโลกในแง่บวก (Positivity) ; รู้จักกระจายอำนาจ มอบหมายงาน (Delegation) ; มีความมั่นใจในตนเอง (Confidence) และมั่นใจในสิ่งที่ทำ

ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะมีคุณสมบัติดังที่กล่าว ผู้เขียนคิดว่า มีเพียงสักครึ่งของที่ได้กล่าวมานี้ก็นับว่าดีพอแล้ว แต่ก็อย่าให้ขาดแคลนจนถึงกับเป็นปัญหาในชีวิต ยกตัวอย่าง คนไทยและคนเอเชีย เราสอนกันมาให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจนถึงมหาวิทยาลัยจึงจะมี คนโดยหลักแล้วยิ่งเรียนเราจะยิ่งรู้ว่า เรารู้อะไรมากมาย แต่นั่นเป็นเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย และที่คิดว่ารู้นั้นก็อาจจะรู้มาผิด หรือสรุปผิด

ในทุกหน่วยของสังคม ไม่ว่าเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานร้านค้าเล็กๆ หรือเติบใหญ่ดูแลบริษัทขนาดใหญ่ หรือทำหน้าที่บริหารประเทศ เขาล้วนต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ และต้องค่อยๆพัฒนาไปเป็นลำดับ ความเป็นผู้นำเป็นเหมือนศักยภาพที่คนมี แต่อาจแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว แต่ประสบการณ์จะเริ่มมีส่วนขัดเกลา ทำให้เรามองเห็นความเป็นผู้นำที่มีมากขึ้น

จอร์จ วอชิงตัน มหาตมะ คานธี นโปเลียน อับราฮัม ลินคอล์น เหมา เจอตุง บุคคลเหล่านี้จัดได้ว่ามีความเป็นผู้นำ บางมหาวิทยาลัยชั้นนำ ดังเช่น Harvard University หรือ Yale Universityของสหรัฐอเมริกา Oxford University และ Cambridge University ของอังกฤษ ล้วนมีประวัติศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ ได้เป็นผู้บริหารประเทศมากกว่าแห่งอื่นๆ แต่การได้ศึกษาในสถาบันดังกล่าว ก็ไม่ใช่หลักประกันที่จะได้พัฒนาความเป็นผู้นำ แต่การไม่ว่าจะเรียนที่ไหน แต่มีการพัฒนาตนเองอยางไม่หยุดยั้ง เขาก็ก้าวสู่ความเป็นผู้นำที่ดีได้ ไม่มีมหาวิทยาลัยใดมีหลักสูตรเฉพาะที่สอนคนเป็นผู้นำหรอก นักศึกษาที่เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องอาศัยทักษะและทัศนคติที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต แสวงหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ และเขาต้องมีโอกาส เขาจึงจะเป็นผู้นำที่แท้จริง

ในอีกด้านหนึ่ง คือ การผลิตหรือพัฒนาคนให้เป็นนักประดิษฐ์ (Inventors) เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สถาบันการศึกษาใดๆ จะสร้างคนให้มีคุณลักษณะนี้ภายในช่วงเวลาที่เขาเป็นนักศึกษา 4-5 ปี สถาบันอุดมศึกษามีส่วนช่วยให้ผู้เรียนริเริ่ม ทำโครงการที่ล้มเหลวได้ โดยการเรียนการสอนด้วยโครงการ และอื่นๆ ทำแล้วยังไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อไป

มหาวิทยาลัยมีส่วนในการค้นพบสิ่งต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ แต่ก็กล่าวได้ว่า ไม่มีสถาบันแห่งใดประสบความสำเร็จในการผลิตนักประดิษฐ์โดยตรง ตรงกันข้าม นักประดิษฐ์ อย่าง โธมัส เอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) เฟอร์ดินาน พอช (Ferdinand Porsche)  ในระยะหลัง เช่น สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs)  บิล เกตส์ (Bill Gates) อีลอน มาสค์ (Elon Musk) คนเหล่านี้คือคนที่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย มีหลายราย เข้ามาเรียนแล้ว แต่เลือกที่จะออกไปคิดค้นงานของตนเอง โดยไม่ได้กลับเข้ามาศึกษาต่ออีกเลย

คุณสมบัติของนักประดิษฐ์ที่มีการรวบรวมกันมามีดังนี้ เช่น - สามารถทนต่อความล้มเหลว (Able to tolerate failure) นักประดิษฐ์ต้องมีความมั่นคง ไม่ท้อแท้ ; มุ่งเน้นที่ความสำเร็จ (Achievement oriented) ซึ่งอาจเป็นความสำเร็จเล็กๆ แล้วค่อยๆก้าวต่อไป ; แข่งขัน (Competitive) นักประดิษฐ์มักต้องจับตามองคู่หรือกลุ่มแข่งขัน หากคู่แข่งเขาทำสำเร็จแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าแล้วขั้นต่อไปที่ยังไม่รู้ หรือทำไม่ได้นั้นคืออะไร ; สร้างสรรค์ (Creative) ; เรียกร้อง (Demanding) เมื่อรับงานใด ก็ต้องรู้ว่าจำเป็นต้องใช้คนและทรัพยากรอย่างไร ; มุ่งเน้นเป้าหมาย (Goal oriented) ; มีพลังมาก (Highly energetic) พลังนี้เป็นส่วนทั้งทางร่างกายและจิตใจ และต้องดำเนินไปควบคู่กับการพักผ่อน ; เป็นอิสระ (Independent) นักประดิษฐ์ต้องคิดได้อย่างอิสระ ; มีนวัตกรรม (Innovative) คิดใหม่ทำใหม่ ; อยากรู้อยากเห็น (Inquisitive) นักประดิษฐ์จึงต้องเป็นคนที่เต็มไปด้วยคำถาม อะไร ที่ไหน ใครทำ ทำอย่างไร ฯลฯ ; เปิดรับความคิดเห็น (Open to feedback) ; หมั่น ดื้อ ไม่ยอมลดละ (Persistent) ; เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย (A risk-taker) ; มีความมั่นใจในตนเอง (Self-confident) แต่ต้องไม่เป็นคนหลงตน ; และมีแรงจูงใจด้วยตัวเอง (Self-motivated) นักประดิษฐ์ที่ดี ต้องมีแรงจูงใจที่ไม่ใช่เพียงเงิน ชื่อเสียง ลาภยศ หรือสรรเสริญ

มหาวิทยาลัยภาคประชาชน

ไม่มีประเทศใดพัฒนาไปได้ด้วยการส่งเสริมเพียงมหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนน้อย (Elite Universities) แล้วบ้านเมืองจะเจริญไปได้อย่างต่อเนื่อง ประเทศอังกฤษมีการศึกษาแบบเพื่อชนคัดสรร คนระดับฐานราก ก็เรียนทางวิชาชีพไป แต่ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ความคาดหวังของประชาชนต้องการการอุดมศึกษาใหม่ ที่คนระดับทั่วไปมีสิทธิได้รับประโยชน์ จึงได้มีการขยายระบบอุดมศึกษาออกไปอย่างกว้างขวาง

ลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องให้ความสำคัญต่อระบบอุดมศึกษาอย่างครอบคลุม
สหรัฐอเมริกา มีขนาดประชากร 330 ล้านคน มีสถาบันอุดมศึกษา 5,300 แห่ง มีนักศึกษา 20.22 ล้านคน มีสถาบันที่เป็นลักษณะคัดสรรพิเศษประมาณ 300 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (Research Universities) ที่เป็นที่รู้จักกันทั่้วโลก และในอีกด้านหนึ่ง เขาก็มีมหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ตลอดจนมีวิทยาลัยชุมชน (Community colleges) จำนวนถึง 1,132 แห่ง มีผู้เรียน 13 ล้านคน วิทยาลัยประเภทนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และเมือง จึงมีค่าเล่าเรียนต่ำ สถาบันเหล่านี้ถือเป็นฐานรากในการอาชีพของสังคมยุคใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงานทางเลือก เช่น พลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ คนงานที่จะไปคุมระบบหุ่นยนต์ในโรงงาน เหล่านี้ต้องอาศัยการผลิตกำลังคนในแบบใหม่ หรือผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ พ่อครัวร้านอาหาร ฯลฯ เหล่านี้ต้องการการอุดมศึกษาในแบบใหม่

การอุดมศึกษาภาคประชาชน (Mass Higher Education) นี้ มีส่วนสร้างฐานรากของอุตสาหกรรมหนัก และภาคธุรกิจบริการ

เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนทุกระดับของประเทศ คนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ของสหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์จาก Mass Higher Education นี้ แต่สถาบันอุดมศึกษาทุกประเภททุกระดับต่างต้องแสวงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีระดับการจัดอันดับ และทุกฝ่ายต้องขวนขวายพัฒนามหาวิทยาลัยของตนให้อยู่ในสถานะที่ดีที่สุด

ในประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ พวกได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างอุดมสมบูรณ์ (The Have) ดังเช่นมหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่ตั้งมาก่อนคนอื่นๆ และอีกพวกหนึ่งเป็นพวกที่ได้รับงบประมาณอย่างกระพร่องกระแพร่ง (The Have Not)
ประเทศไทยมีประชากร 69 ล้านคน มีสถาบันอุดมศึกษา 310 แห่ง มีผู้เรียนตามการแจ้ง 2.2 ล้านคน หากนับรวมการอาชีวศึกษา หลังมัธยมศึกษา และรวมมหาวิทยาลัยเปิด คงประมาณ 3.4 ล้านคน

The Have มีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการคัดสรรพิเศษ (Elite universities) ในประเทศไทย คงมีประมาณ 30 แห่ง ที่ได้รับงบประมาณในระดับสัดส่วนพิเศษ ดังเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม. ธรรมศาสตร์ ม. มหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีต่างๆ มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ดังเช่น ม. เชียงใหม่ ม. ขอนแก่น ม. สงขลานครินทร์ เป็นต้น มหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตทางการแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์นั้นมีต้นทุนการผลิตต่อหัวสูง

The Have Not สิ่งที่สังคมควรจะให้ความสนใจ คือ การให้ความสำคัญแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา ที่มีนักศึกษามาก ได้รับงบประมาณของแผ่นดินเมื่อเทียบรายหัวน้อย แต่เป็นฐานรากในการพัฒนาประเทศ ดังเช่น ม. ราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเปิด หรือไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐโดยตรงเลย ดังในกรณีของมหาวิทยาลัยเอกชน

ผู้เรียนร้อยละ 80 เรียนอยู่ในสถาบันประเภทดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า “มหาวิทยาลัยภาคประชาชน” หากพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่งและคนดีได้บ้าง ก็ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเขาเอง และต่อสังคม

การศึกษาทั่วไป

การศึกษาทั่วไป (General Education) คือโปรแกรมการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาให้มีบุคลิกภาพนอกเหนือไปจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นการปลูกฝังและส่งต่อทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม เปรียบได้เหมือนศิลปศึกษา (Liberal Education)

หากสถาบันอุดมศึกษาสร้างคนดี แต่ไม่เก่ง หรือเก่ง แต่เป็นคนไม่ดี ก็ล้วนเป็นสิ่งที่สังคมและตลาดงานไม่ต้องการ ชาวบ้านไม่ได้สนใจว่าแล้วมีการศึกษาทั่วไปที่ดีหรือไม่
สำหรับสถาบันอุดมศึกษาภาคประชาชน สำหรับร้อยละ 80 ของสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากใช้วิธีการคิดงบประมาณไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยกลุ่มได้รับการคัดสรร แต่ค่าใช้จ่ายนี้อาจมาจากหลายแหล่ง แต่สถาบันก็ต้องมีหลักคิดถึงความคุ้มนการลงทุน (Accountability) มหาวิทยาลัยต้องมียุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด

“แมวดำแมวขาวไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้”

จุดหมายปลายทางถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ส่วนวิธีการนั้น ให้เป็นเรื่องของสถานศึกษา และชุมชนไปมีความยืดหยุ่นในการจัดการ

สถาบันอาจไม่ได้คิดการพัฒนาวิชาการอย่างแยกส่วน เพราะต้องคิดไปถึงเมื่อผลิตคนให้จบการศึกษาไปนั้น เขามีคุณสมบัติโดยองค์รวม ผู้จบการศึกษามีงานทำที่ดี เป็นกำลังให้กับหน่วยงานต่างๆได้ดีหรือไม่ สิ่งที่สอนอาจไม่ใช่เป็นรายวิชา เพราะการเรียนการสอนอาจต้องมีการคาบเกี่ยวระหว่างภาควิชา (Inter-disciplinary)
อาจต้องใช้คนเชี่ยวชาญทั้งจากภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย อาจทั้งจากภาคธุรกิจ ชุมชน และองค์กรอื่นๆ สถานที่เรียนอาจต้องเปลี่ยนไป บางส่วนต้องใช้วิทยาการใหม่ที่ทำให้เรียนแบบออนไลน์ได้ เรียนจากที่บ้าน หรือที่ทำงานได้

มหาวิทยาลัยอาจไม่ต้องไปส่งเสริมอาจารย์ให้เขียนตำรา ซึ่งอาจเป็นไปแบบซ้ำๆกับที่อื่นๆ แต่เลือกพัฒนาและผลิตไปตามความถนัดของตนเอง วิชาหรือเนื้อหาที่ใช้สอน อาจเป็นส่วนที่มีพัฒนาอยู่แล้ว ในรูปของ Courseware หาเรียนได้จากออนไลน์ อาจต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์บ้าง แต่ก็จะถูกกว่าต้องมานั่งผลิตงานวิชาการทุกอย่างเอง

เนื้อหาวิขาร้อยละ 20-50 ผู้เรียนหาเรียนได้จากออนไลน์ ความสำคัญคือเรื่องของการทดสอบ การสอบ (Examination) จึงต้องเป็นเรื่องจริงจัง หากต้องสอบแบบออนไลน์ ก็ต้องมีศูนย์ทดสอบตรวจสอบอัตลักษณ์ของบุคคลผู้เข้าสอบได้ วิชาใดที่ต้องการสมรรถนะอย่างชัดเจน ก็สามารถกระทำได้อย่างมีวิทยาการ ยกตัวอย่าง การทดสอบความสามารถด้านภาษา ดังภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาต่างประเทศทั้งหลายนั้น เราสามารถใช้ระบบทดสอบมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันในโลกได้ หรือสมรรถนะด้านการช่าง การดนตรี ศิลปะ การทำอาหาร เหล่านี้เราก็ต้องมีรูปแบบการทดสอบและวิทยาการเกี่ยวข้องที่เหมาะสม

การเรียนควบคู่กับการทำงาน

Work-Study Programs

การแบ่งแยกว่าวิชาการส่วนใดจะเป็นส่วนของวิชาชีพ หรือเป็นการศึกษาทั่วไป จะไม่สำคัญเท่ากับการได้พัฒนาคุณลักษณะและความสามารถของผู้เรียน

การเรียนบางอย่างอาจเป็นเพียงการส่งนักศึกษาเข้าไปรับประสบการณ์ ทำงานอย่างง่ายๆ ได้ค่าตอบแทนมาเพียงพอ ใช้ทักษะวิชาชีพขั้นเบื้องต้น แต่ผู้เรียนก็จะได้ประสบการณ์จากโลกของการทำงาน ได้ค่าตอบแทนมาบ้าง ก็ทำให้เห็นคุณค่าของเงิน และเริ่มเรียนรู้ว่า เขาต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อจะได้ทำงานอย่างที่เขาประสงค์ นอกจากนี้คือการที่เขาได้ทำงานร่วมกับคน หากได้พี่เลี้ยงงาน (Mentorship) ที่ดี ให้คำแนะนำในการทำงานเป็นระยะ ครูฝึกงานนี้อาจมีจากหน่วยงานหรือองค์การที่นักศึกษาไปฝึกงานหรือทำงาน เวลาเขามีประชุมภายในหน่วยงาน ก็ได้ร่วมรับฟังรับรู้ไปด้วย บางส่วนที่เป็นวิชาการเฉพาะ อาจมีอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญจากสถานศึกษาเข้าไปเยี่ยม และให้การศึกษาเสริมการทำงานไปด้วย

สู่ความเป็นคนดี คือการเสริมสร้างในสิ่งที่นอกเหนือจากการอาชีวศึกษา หรือวิชาชีพ หรือการเรียนเพื่อนำไปสู่การมีงานทำ เขาพัฒนางานนั้นๆต่อเนื่องได้ ในด้านความเป็นคนดี เขาทำงานของเขาอย่างขยันหมั่นเพียร ผลงานที่มีความเป็นเลิศ เป็นนายก็ไม่เอาเปรียบลูกน้อง ทำการค้า ก็ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาต่อลูกค้า ทำงานก็ไม่หยุดนิ่ง คิดพัฒนางานใหม่ๆไปได้เรื่อย ทำได้อย่างมีความสุข ไม่ย่อท้อ มีปัญหาก็เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหานั้นๆไป

คนในลักษณะนี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นเจ้าของร้านอาหาร ทำกิจการโรงแรม ทำไร่ทำสวน เขาก็จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นอีก 10-20 ปีข้างหน้า แล้วหันมาดูสิ่งที่เราผลิตจากสถาบันอุดมศึกษาโดยทั่วไปในปัจจุบัน ขอยกตัวอย่างสักหนึ่งรายการ คือ ด้านการเกษตร ชาวนาและเกษตรกรทั้งหลายมีที่ดินเฉลี่ยระหว่าง 8-40 ไร่ พ่อแม่ที่ส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา หากเรียนทางด้านการเกษตร ผู้เรียนก็เรียนแบบที่จะไปรับราชการ หรือเป็นลูกจ้างให้กับบริษัทขนาดใหญ่ เรียนไปเพื่อเป็นมนุษย์เงินเดือน ยิ่งเรียนมาก ก็ยิ่งไม่อยากอยู่ในท้องไร่ท้องนา หากเขารับมรดกจากพ่อแม่ เขาคงขายที่ดิน แล้วหันไปทำงานในเมือง เป็นลูกจ้างเขาไปเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการศึกษาไปลดค่าคุณสมบัติของชาวนาที่มี เช่นความอดทน ความขยันหมั่นเพียร และรักธรรมชาติ

ลดต้นทุนทางการศึกษา

สถาบันอุดมศึกษามีปัญหาไปเพิ่มราคา (Price/Cost) ให้กับการศึกษา แต่ไม่ได้เพิ่มคุณค่า (Value)

สถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนล้วนมีราคา ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ค่าเล่าเรียนตกปีละ 30,000-70,000 บาท และมีที่ราคาขึ้นไปถึง 700,000 บาท/ปี ดังในกรณีของหลักสูตรการศึกษานานาชาติ หากมาจากต่างจังหวัด มีเป็นอันมากต้องย้ายที่พักไปอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย ต้องเสียค่าที่พักอีกเดือนละ 2,000-6,000 บาท ค่าอาหารวันละ 2-3 มื้อ 100 บาท หากเป็นในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเดินทางวันละ 20-100 บาท หลายคนได้รับคำแนะนำให้ไปใช้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา คนที่ไม่มีการไตร่ตรอง ก็กู้มาก ถือโอกาสได้เงินมาใช้ แล้วค่อยไปหาทางออกในภายหลัง ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่พ่อแม่ต้องลงทุนอีกประมาณ 120,000-150,000 บาท/ปี ระยะเวลาในการเรียน 4 ปี ใช้เงินลงทุนเท่ากับ 500,000-600,000 บาท

แต่เมื่อจบมาทำงาน ก็มักจะไม่ได้ค่าตอบแทนมากอย่างที่หวัง เพราะหน่วยงานเขาจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานที่ทำ และเมื่อผู้เรียนไม่ได้งานที่มีค่าตอบแทนพอ ก็ไม่อดทนทำงานนั้นๆ กลายเป็นคนตกงาน

พ่อแม่หลายคนจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ ให้เรียนอะไรก็ได้ที่จบแล้วมีงานทำก่อน ดังการเรียนมัธยมศึกษาสายอาชีวะ แล้วค่อยไปหาทางศึกษาเล่าเรียนในภายหลัง เราจึงพบปรากฏการณ์บัณฑิตใหม่ตกงาน เพราะเขาเลือกงาน ต้องการได้ค่าตอบแทนสูง เพราะเขาและครอบครัวได้ลงทุนไปมากแล้ว ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังจึงพบผู้จบมัธยมศึกษา แล้วไม่เรียนต่อในมหาวิทยาลัย อัตราผู้เรียนอุดมศึกษาจึงลดลงมากถึงร้อยละ 20-40 และเมื่อเรียนไปแล้ว ก็ยังมีการออกกลางครันอีกจำนวนหนึ่ง

มหาวิทยาลัยระดับกลางและล่างไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับผู้เรียนและผู้ปกครอง

ลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ “ลดราคาการศึกษา แต่ไปเพิ่มคุณค่า” (Lower Cost, Higher Value)

กิจกรรมลดราคาการศึกษา (Lower Cost) กิจกรรมนี้ให้เป็นทางเลือกของนักศึกษาและผู้ปกครองในทุกสถาบัน เช่น ด้านค่าเล่าเรียน ลดค่าเล่าเรียนลงได้เท่ากับ 1 ใน 4 ปี โดยผู้เรียนใช้การสอบเทียบ มีหลายวิชาที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น ทักษะภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์ วิชาที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสอบเทียบได้ เหมือนมหาวิทยาลัยเปิด ดังม. รามคำแหง ม. สุโขทัยธรรมาธิราช ไม่ต้องมาชั้นเรียนก็สามารถสอบเทียบได้ ด้านเวลาเรียนจากที่ต้องมาเรียน 5 วัน/สัปดาห์ ก็ลดลงไป ให้จัดตารางเรียนใหม่ ลดเวลามาสถาบันลงไป 2 วันต่อสัปดาห์ ทำให้สามารถใช้เวลาเพื่อทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย หากต้องการเพิ่มโอกาสให้กับผู้เรียน ให้เขาเรียนในภาคพิเศษ นอกเวลาทำงาน และเสาร์-อาทิตย์ ที่สำคัญคือการฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน การค้นหาความรู้ ใช้เพื่อการแปลภาษา ฯลฯ

ในด้านเพิ่มคุณค่าของการศึกษา (Value) แต่ละสถาบันต้องถามตนเองว่า เมื่อผู้เรียนมาเรียนและจบการศึกษาไปนั้น เขาได้มีอะไรติดตัวไปบ้าง มีอะไรที่เป็นคุณค่าใหม่ ทำให้เขาทำงานที่มีค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เขาได้ริเริ่มงานใหม่ ที่หากไม่ได้มาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วจะทำไม่ได้
มหาวิทยาลัยต้องหันกลับไปดูสภาพแวดล้อมของผู้เรียน มีอะไรที่จะไปลดค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษาได้บ้าง มีอะไรที่เรียนแล้วมีความสามารถพิเศษ ทำให้ทำงานใหม่ๆ เช่น รู้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศ รู้การวางแผนการลงทุน รู้ทักษะการจัดการ ทั้งทางด้านการจัดการคน และการจัดการทรัพยากร

การที่ผู้เรียนได้ทำงานในระหว่างเรียน เขาจะเห็นคุณค่าของงาน รับผิดชอบมากขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น ได้เห็นตัวอย่างการทำงานในองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ตัวเขาเองก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้น

การศึกษาทั่วไปที่เปลี่ยนไป

สถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่และขนาดเล็กมองการจัดการศึกษาทั่วไปไม่เหมือนกัน

ในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ วิชาการศึกษาทั่วไป เป็นเหมือนสินค้าในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ (Academic Supermalls) มีทุกอย่างให้เลือกเรียนตามความสนใจและความเหมาะสม มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในสหรัฐ ดังเช่น Ohio State University มีผู้เรียน 66,444 คน มีวิชาเปิดสอนกว่า 12,000 วิชา Penn State University มีผู้เรียน 98,783 คน มีสาขาวิชาเอกเสนอถึง 275 สาขาวิชา มีมหาวิทยาลัยในลักษณะนี้ ผู้เรียนต้องรู้ว่าตนเองต้องการอะไร และเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนเข้า หากมองความต้องการของตนเองไม่ชัดเจน เขาไปแล้วก็มีเป็นอันมากต้องออกกลางครัน กลายเป็น Dropouts

มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในประเทศไทยก็มีลักษณะเช่นนี้ ผู้เรียนใหม่เข้ามาเรียนก็เหมือนกับคนไปหาซื้อสินค้าในห้างใหญ่ แล้วเสียเวลาเดินหลงไป แต่แล้วไม่ได้สิ่งของอย่างที่ต้องการ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มักเหมาะกับการเรียนเพื่อเป็นคนเก่ง แต่ไม่เหมาะในการบ่มเพาะการเป็นคนดี การศึกษาคือประสบการณ์ที่ต้องแข่งขัน โดดเดี่ยว

มหาวิทยาลัยขนาดเล็กและขนาดกลาง ต้องไม่คิดแบบมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยขนาด 1,000-3,000 คนจะมีปัญหาด้านความอยู่รอด หากคิดถึงรายได้หลักของมหาวิทยาลัยต้องขึ้นกับค่าเล่าเรียน มหาวิทยาลัยจะอยู่ได้ต้องมีแหล่งรายได้จากหลายๆที่ ต้องมีวิธีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยขนาดเล็กและกลางมักมีปัญหาด้านทรัพยากร ต้องมีวิธีการบริหารที่ดี การศึกษาอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจการ หรือไม่ก็ต้องมีหุ้นส่วนหรือองค์การให้การสนับสนุนที่ชัดเจน และสถาบันสามารถทำงานและหน้าที่ได้ดังที่ได้รับการคาดหวัง

ด้านประสิทธิภาพการจัดการ เมื่อเนื้อหาวิชาการที่ต้องการความเข้มแข็ง ก็ต้องไปหาทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมมาสอน อาจจะเป็นจากมหาวิทยาลัย หรือจากองค์กรที่เขามีคนและความเชี่ยวชาญ วิธีการสอนก็อาจมาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า เดินทางมาสอนตามความร่วมมือให้กับที่ต่างๆ หรือไม่ก็เป็นการสอนในระบบออนไลน์

การเรียนการสอนแบบบูรณาการ (Integrated learning) เกี่ยวกับเนื้อหาแบบข้ามวิชาการ มหาวิทยาลัยต้องเริ่มจากมีโจทย์ทางวิชาการที่ท้าทาย ดังในประเทศจีน มหาวิทยาลัยสามารถตั้งบริษัท รับงานจากภายนอก เช่น ทำความร่วมมือกับท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายเทคนิค นำวิชาการไปร่วมกับชุมชนการเกษตร หรืออุตสาหกรรมของท้องถิ่น ผลประโยชน์เป็นการแบ่งส่วนกำไร ส่วนหนึ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัย หรือเพื่อสนับสนุนการศึกษาของผู้เรียน

มหาวิทยาลัยยุคใหม่ต้องตอบโจทย์ที่ท้าทาย และมีความสำคัญต่อสังคม

โจทย์ที่ 1 ทำฟาร์มในทะเลทราย

การเปลี่ยนทะเลทรายให้กลายฟาร์มที่มีผลิตผลในระดับเลี้ยงตัวเองได้

วัสดุที่ช่วยทำให้ดินหรือทรายมีลักษณะอุ้มน้ำ และเก็บความชื้นได้ เป็นการคิดค้นของมหาวิทยาลัย เมื่อผสมกับดินหรือทรายแล้ว ทำให้ดินมีสภาพอุ้มน้ำ พืชที่ใช้ปลูก ต้องผ่านการเพาะชำ ให้มีความทนต่อความแล้ง แต่เมื่อออกผล จะให้ผลิตผลที่เป็นที่ต้องการของตลาด

นักศึกษาซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชน ทำงานเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย และชุมชนการเกษตร ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้วิทยาการประยุกต์ เรียนรู้วิธีการทำงานแบบประสานงานกัน
ครูอาจารย์ผู้สอน ทำงานแบบเป็นทีม (Team teaching) มีบุคคลจากนอกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมได้ หรือจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เขาสามารถมาเรียนรู้ร่วมกันได้

สถานที่เรียนให้เปลี่ยนไป (Changing learning environment) ไม่จำกัดเฉพาะในห้องบรรยายในมหาวิทยาลัย - โรงงาน ไร่นา ป่า เขา ท้องทะเล ชุมชน เมื่อสถานที่เรียนเปลี่ยนไป ระบบสนับสนุนก็ต้องปรับตาม

โจทย์ที่ 2 ชุมชนเป็นมิตรกับผู้สูงวัย

การพัฒนาชุมชนที่ให้การดูแลผู้สูงวัยในแบบใช้ชุมชนเป็นฐาน

ปัจจุบัน ในประเทศตะวันตกมีศูนย์ดูแลผู้สูงวัย เรียกว่า Nursing Home หรือ Care Home แต่สภาพที่เป็นก็คือเหมือนเอาผู้ใหญ่ พ่อแม่ยามชรา มีอาการหลงลืม ไม่มีคนดูแล แล้วเอาไปฝากไว้กับสถานดูแลผู้สูงวัย ฝากแล้วก็เหมือนฝากลืม ยามเกิดโรคระบาดดังโรคไวรัสทางเดินหายใจ Covid-19 คนสูงวัยที่อ่อนแอมีโรคแทรกซ้อนอยู่แล้ว ก็จะเสียชีวิตได้ง่าย และอย่างรวดเร็ว

ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีชุมชนแบบผู้สูงวัยยังอยู่ในชุมชน ลูกหลานมาเยี่ยมได้ มาพักร่วมด้วยได้ เมื่อแข็งแรงก็กลับไปอยู่บ้านได้ หน่วยงานที่จะดูแลกิจกรรมดังนี้ได้ดี ส่วนหนึ่งคือชุมชนศาสนา และอีกส่วนหนึ่งคือชุมชนวิชาการ ชุมชนที่มีนักศึกษาเป็นแรงงานที่ได้เรียนรู้ไปกับกิจกรรมด้วย

ตัวอย่างโจทย์ทั้งสองข้อนี้ ล้วนเป็นความต้องการของสังคม หากมหาวิทยาลัยทำสำเร็จ ก็จะได้รับรางวัลที่เปลี่ยนมาเป็นเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัย

ระบบค่าตอบแทนที่เปลี่ยนไป

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

ระบบค่าตอบแทน เปลี่ยนไป (Changing remuneration scheme) เมื่อความเป็นเจ้าของเปลี่ยนไป มีหุ้นส่วนใหม่เข้ามาร่วมรับผิดชอบ เช่น องค์การอุตสาหกรรม การค้า องค์กรส่วนท้องถิ่น หรือมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ แหล่งเงินที่ใช้เป็นค่าตอบแทนก็เปลี่ยนไป และต้องเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็ต้องสามารถแสดงความโปร่งใส และมีความคุ้มค่าต่อเม็ดเงินลงทุน

ค่าตอบแทนผู้สอน ค่าเดินทาง ค่าที่พักหากจำเป็น ผู้สอนบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในความร่วมมือ ด้านค่าใช้จ่ายนี้ ต้องเข้าใจว่าอย่าให้เป็นภาระแก่ผู้สอน เพราะหากเป็นไปนานๆเข้า ผู้สอนก็จะล้าและถอยห่างออกไป

การเรียนเป็นแบบโครงการ (Project-Based Learning) โครงการบางอย่างที่เป็นกิจกรรมจำเป็นหรือเร่งด่วนของชุมชน ก็ปรับให้กลายเป็นกิจกรรมการเรียน มีหน่วยกิตเป็นค่าน้ำหนักให้

กิจกรรมที่มีจุดเริ่มต้น และมีจุดสิ้นสุด เช่น การดับไฟป่า การปลูกป่า การทำฝายน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน

รายงานผลการเรียน ลดความเป็นรายวิชา แต่เรียนจบเป็นโครงการ รายงานผลเป็นแบบ Portfolio บางอย่างเป็นเรื่องใหม่ ต้องมีการฝึกอบรม และสร้างแบบฟอร์มในการรายงาน เพื่อทำให้การรายงานง่ายขึ้น

สรุปท้าย

การศึกษาทั่วไปเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า แต่ในโลกยุคใหม่ ปัญหาวิกฤติบางอย่างทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการมอง และต้องอาศัยการปฏิรูปยุทธศาสตร์การจัดการอุดมศึกษาใหม่
ปัญหาผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ประโยชน์ของการอุดมศึกษากลับไม่ชัดเจน คนมองไม่เห็นคุณค่า ทางออกคือต้องดึงฝ่ายต่างๆเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ระดมความคิดและเปลี่ยนวิธีการจัดการ

การให้ความสำคัญต่อสถาบันการศึกษาระดับล่าง ที่รับผิดชอบต่อผู้เรียนจำนวนมาก ต้องมีการสนับสนุนการเงิน แต่แหล่งเงินจะมาจากหลายที่ หลายหุ้นส่วนในกิจกรรม ทั้งจากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ท้องถิ่น หรือในบางกรณีคือสถานศึกษาจากต่างประเทศ

การระดมนักคิด เพื่อให้มองเห็นปัญหาร่วมกัน และต้องมีนักคิดบางส่วนที่มีทักษะการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในระดับสถาบัน ซึ่งกิจกรรมการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์นี้จะนำไปสู่การรับรู้ในระดับกรรมการบริหารสถาบัน การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และการแสวงหานักบริหารอุดมศึกษาที่มีประสบการณ์จากที่ต่างๆ

โดยการเปลี่ยนแปลงนั้น มักจะต้องได้แรงเปลี่ยนจากภายนอกสถาบัน และคนในชุมชนต้องเรียนรู้ศักยภาพของสถาบัน และเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการปฏิรูปสถาบัน การเปลี่ยนแปลงต้องการนักบริหารและผู้นำที่บริหารอย่างมืออาชีพ การเล่นพวก (Nepotism) เพื่อให้ได้คนคุ้นเคย แต่ไม่ใส่ใจคนดีมีความสามารถ ก็จะทำให้งานไม่สามารถบรรลุผลได้ เราจึงต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริหารไปด้วย



ประวัติผู้เขียน

รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์ (Asso Prof Dr. Pracob Cooparat) เกิดปี พ.ศ. 2489
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางครุศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและ Specialist Degree ทางด้านบริหารการศึกษาจาก Kansas State Teachers College, Kansas, USA และ Ph.D. ทางบริหารอุดมศึกษา จาก The University of Oklahoma, USA
ประวัติการทำงานในอดีต - เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, อาจารย์ประจำภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มีประสบการณ์บริหาร โดยเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองผู้อำนาวยการสำนักเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Secretariat) ผู้อำนวยการหลักสูตรความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (SRRU)


Monday, July 15, 2019

ระลึกถึงเพื่อน ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ จากประกอบ คุปรัตน์


ระลึกถึงเพื่อน ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
ประกอบ คุปรัตน์
Updated: Wednesday, July 10, 2019

ความนำ

เมื่อได้รับโทรศัพท์จากเพื่อน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ เพื่อให้เขียนคำนำในหนังสือ..... ผมก็ตอบรับด้วยความยินดี ทั้งๆที่ขณะนี้ทักษะการเขียนของผมได้ลดลงไปอย่างมาก เพราะผมได้ถอยจากความเป็นครูอาจารย์ ไปสู่การเป็นนักศึกษา สิ่งที่สนใจศึกษาคือสิ่งที่ไม่รู้ และไม่คิดอยากจะสนใจในช่วงที่ผ่านมา แต่ในระยะนี้ ได้ทำตัวให้มีเวลาว่างมากขึ้น ยังพยายามรักษาสุขภาพกายและจิตให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

การเขียนเพื่อให้รู้จักดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ครั้งนี้ของผมที่จะเขียนในส่วนที่เป็นวิชาชีพวิชาการที่เราเคยทำผ่านมา ชีวิตผมในส่วนของความเป็นนักวิชาการในหลายส่วนที่เหมือนหรือคล้ายกันกับอ. ไพฑูรย์ แต่ก็มีเป็นอันมากที่ต่างก็มีความเป็นตัวของตัวเอง และคิดต่างกัน

ผมถือสุภาษิตจีนที่ว่า “Same bed but different dream.” แม้คนจะนอนเตียงเดียวกัน แต่ก็ยังฝันคนละฝัน ในบทความนี้ แม้ผมมีเจตนาที่จะเขียนแสดงความชื่นชมอ.ไพฑูรย์ที่ได้ทำงานวิชาการมากว่า 50 ปี เขามีผลงานวิชาการต่างๆมากมายที่ควรแก่การยกย่อง แต่ก็มีบางส่วนที่มีคนวิจารณ์ หรือไม่เห็นด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลย อ.ไพฑูรย์ เป็นคนดีของสังคม เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศชาติ เป็นคนฉลาด ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตนเอง คือเป็นนักวิชาการ ครูอาจารย์ผู้สอน อุทิศตนทำงานในกับวงการวิชาการ โดยเฉพาะด้านการศึกษาอย่างไม่ได้รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ล้าหรือท้อ

ในที่นี้ ผมจึงถือโอกาสเขียนในส่วนที่ทั้งเห็นด้วยและชื่นชม และในอีกส่วนก็เขียนเพื่อให้มองเห็นเหรียญอีกด้านหนึ่ง ได้นำทัศนะคนที่เห็นต่างออกไปมานำเสนอ หวังว่าคงจะได้มองเป็นภาพสะท้อนสู่ทางเลือกการปฏิบัติงานต่อไป

ครุศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 07

อ. ไพฑูรย์ ผม และเพื่อนรุ่นเดียวกัน อ. ไพฑูรย์เกิดวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2489 นับเป็นคนเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ  มีคนที่อั้นเกิดมามากมายที่เมื่อปลอดจากสงครามแล้ว ก็เกิดมาพร้อมๆกันในรุ่นนี้ ซึ่งในช่วงหลังสงครามโลกใหม่ๆ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศไทยกว่าร้อยละ 4 เป็นยุคที่เรียกว่า “ทารกสะพรั่ง” (Baby boomers) ในช่วงดังกล่าว ประเทศไทยยังคงมีความขาดแคลนอยู่มาก จัดเป็นประเทศไม่พัฒนา ยังไม่ก้าวสู่ความเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาของรัฐ แต่ก็ไม่พอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ครั้นจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่ค่อยมีมหาวิทยาลัยเอกชน การจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็ต้องมีการสอบแข่งขัน มีเพียงร้อยละไม่ถึง 5 ที่ได้เข้าเรียน

นิสิตที่สอบเข้าเรียนและได้ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มีราว 250 คน กว่าร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง อ. ไพฑูรย์เป็นพวกกลุ่มเรียนดี ซึ่งเรียกว่าเป็นส่วนร้อยละ 10 เลือกสอบเข้าเรียนคณะทางการแพทย์ แต่มาสอบติดอันดับท้ายๆที่คณะครุศาสตร์ คนในกลุ่มนี้มักเป็นพวกที่เรียนดี

รองศาสตราจารย์ ดร. ชุมพร ยงกิติกุล อดีตอาจารย์ประจำ ภาควิชาวัดและประเมินผลการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์ ดรเพ็ญพิไล (จิรอิทธิวรรณา) ฤทธาคณานนท์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ ที่ปรึกษา สหพันธ์สมาคม YWCA แห่งประเทศไทย กรรมการพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร. พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ (ภาคีสมาชิก) อดีตคณบดีคณะจิตวิทยาคนแรก ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิตประจำวิชาจิตวิทยา

ดร. สมชาย ประเสริฐศิริพันธ์ อดีตผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (1 ส.ค. 2533 ถึง 4 พ.ย. 2539)
รองศาสตราจารย์ ดร.สุพิตร สมาหิโต อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย 

ผมรู้จักอ. ไพฑูรย์ตั้งแต่เมื่อเรียนชั้นปีที่หนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นผู้ชายด้วยกัน เพราะคณะวิชาทางครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษาทั้งหลาย ร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง ส่วนที่เป็นผู้ชาย นอกจากคบกับเพื่อนทั่วๆไปแล้ว ก็มีการรวมตัวกันในกลุ่มผู้ชายด้วยกัน พูดคุยกัน สังสรรค์กันมากกว่าทั่วๆไป เพราะหากไม่ได้พบปะพูดคุยกันแบบผู้ชายแล้วจะรู้สึกเหงา อ. ไพฑูรย์เลือกเข้ากลุ่มนอกคณะ และนอกจุฬาฯ คือกลุ่มสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งจะเล่าให้ฟังระยะต่อไป

กลุ่มตั้งใจเรียน และเรียนได้ดีของรุ่น เมื่อเลือกเรียนแล้วตั้งใจเรียน ก็มักจะประสบความสำเร็จในการงานที่เลือก กลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ 25 จัดเป็นกลุ่ม Academic Subculture จบการศึกษาแล้ว ก็เลือกเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด

อีกส่วนหนึ่งคือเป็นนิสิตส่วนใหญ่  เมื่อได้เข้าเรียนในคณะครุศาสตร์แล้ว แม้ไม่ได้ตั้งใจเลือกเข้าเรียนเป็นอันดับแรกๆ แต่ก็เรียนต่อมาอย่างพอไปได้ เรียนให้จบภายในเวลาที่กำหนด สนุกสนานบันเทิงกับกิจกรรมนิสิตที่เขามี ได้กินได้เที่ยวสนุกสนานกันตามสมควร มีเพื่อนผู้ชายในกลุ่มนี้ที่เลยไปติดเหล้า ติดการพนันก็มี แต่ก็เป็นส่วนน้อย มีร้อยละสัก 70-80 กลุ่มนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Collegial Subculture ส่วนในภาษาไทย จะเรียกว่า กลุ่มสุขนิยม กลุ่มสนุกสนานเฮฮา มีความสนใจในการเรียนบ้าง เลือกเรียนเพื่อพอให้สอบผ่าน ในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในอเมริกา เย็นวันศุกร์และวันเสาร์ จะได้ยินเสียงเฮฮาจากร้านเหล้าร้านเบียร์ หรือขว้างกระป๋องเบียร์กันทั่วไป ก็คือพวกนี้

ผมจัดตัวเองในกลุ่ม Collegial Subculture นี้ แต่หนักกว่าคนอื่นๆ ตรงที่ได้รับการเลือกเข้าทีมกีฬาสำคัญของมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง คือ Rugby เมื่อเรียนอยู่เป็นปีที่ 2 และร่วมทีมมหาวิทยาลัยต่อมาจนจบการศึกษา ในปีที่ได้เข้าร่วมทีมรักบี้นับเป็นปีที่สองของการเรียน ผมแทบไม่ได้สนใจเรียนหนังสือเอาเลย วิชาที่ต้องอ่านหนังสืออย่างมาก และไม่ชอบก็คือวิชาภาษาไทย เพราะมีการบ้านให้อ่านหนังสือนอกเวลา อย่างพระอภัยมณี หรือสามก๊ก นับจำนวนหน้าอ่านเป็นพันๆหน้า ไม่ได้อ่าน และไม่รู้จะเลือกอ่านตรงไหน และวิชาภาษาอังกฤษที่เคยชอบ ซึ่งควรต้องเข้าห้องเรียนและขยันอ่าน เขียน และฝึกฝนการพูดบ้าง ผมชอบวิชานี้ แต่ก็ไม่ได้เข้าเรียนอีกเช่นกัน ผลคือในปีที่ 2 คือสอบตกได้ F ใน 17 หน่วยกิต จากประมาณ 40 หน่วย ผลคะแนนสะสมได้ 1.8 ชะตาคงยังดีบ้าง ที่พวลกลับมาสนใจเรียนเหมือนคนอื่นๆ แต่กระนั้น ก็ยังจบการศึกษาได้ด้วยคะแนน 2.3 จาก GPA ของนิสิตครุศาสตร์ทั่วไปที่ 2.5-2.8

สังคมศาสตร์ปริทัศน์

มีอีกกลุ่มหนึ่งที่อ. ไพฑูรย์ได้เข้าไปร่วม แต่ไม่ใช่กลุ่มในมหาวิทยาลัย คือกลุ่ม “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” จัดเป็นเยาวชนกลุ่มปัญญาชน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Intellectual Subculture เป็นกลุ่มเยาวชนนอกคณะ และไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยใด หรือไม่ได้เป็นนักศึกษาเลย

อ. ไพฑูรย์ เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเยาวชนสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่มีกิจกรรมหลักหนึ่งคือการออกวารสารราย 3 เดือน และต่อมาเมื่อได้รับการรตอบรับจากสังคมมากข็นก็ออกเป็นรายเดือน

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เป็นวารสารวิชาการด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2506 มีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ เป็นปัญญาชนอิสระ และเป็นบรรณาธิการคนแรก และรับช่วงต่อโดยนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ในปี 2515 ก่อนที่จะถูกปิดตัวลงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

อาจกล่าวได้ว่าบทบาทที่สำคัญที่สุดของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์และ สังคมศาสตร์ปริทัศน์คือการสร้างหรือเปิดพื้นที่สาธารณะให้ปัญญาชนของสังคมไทยต่างรุ่น ต่างสถานะ ต่างอุดมการณ์แนวคิด มาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างเสรีและเปิดกว้าง ความคิดและบทนำอันเฉียบคมของสุลักษณ์นั้นมีความสำคัญในตัวมันเอง แต่เขาคนเดียวย่อมไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงทางปัญญาให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยได้อย่างแท้จริง เครือข่ายของปัญญาชนที่สุลักษณ์สร้างขึ้นต่างหากที่สำคัญกว่า และทำให้ความตื่นตัวที่เริ่มขึ้นได้รับการสืบทอดไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเขาจะออกจากตำแหน่งบรรณาธิการไปในปี 2512

อ. สุลักษณ์ นอกจากจะเป็นนักพูที่เร้าใจ ไม่กลัวใคร กร้าวและกล้า แต่ในอีกส่วนหนึ่ง อาจารย์เป็นครูและพี่เลี้ยงที่ดี คนได้เข้าใกล้และทำงานร่วมด้วยมักจะได้นิสัยดีๆติดตัวมา เช่นเรื่องการเป็นนักอ่าน นักวิเคราะห์ และการเขียนที่มีความเป็นอิสระทางความคิด

อ. ไพฑูรย์ในยุคนั้นมีเพื่อนนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และยังรู้จักกันมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งได้แก่ นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการสาธารณสุขในประเทศไทย ประธานกรรมการมูลนิธิโกมล คีมทอง; คุณพิภพ ธงไชย ผู้จัดการมูลนิธิเด็ก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก นักเคลื่อนไหวทางสังคม หนึ่งในแกนนำเคลื่อนไหวของ กปปส. ซึ่งมีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข; และรองศาสตราจารย์ ดร. อุทัย ดุลยเกษม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร นักคิดและนักวิภาคทางสังคม

ในคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นรุ่นหลังสัก 2 ปี ก็มีอีกคนหนึ่งที่อยู่อย่างมีอุดมคติที่จะเป็นครูในชนบท ในชุมชนที่ด้อยโอกาส คือครูโกมล คีมทอง ซึ่งได้เสียชีวิตจากการลอบสังหารในช่วงความรุนแรงทางการเมือง และเป็นการจุดประกายให้เกิดการก่อตั้งมูลนิธิโกมล คีมทอง

สังคมและกิจกรรมรอบๆ วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์

ในระยะแรกๆ วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นราย  3 เดือน แต่ต่อมาในช่วงที่บ้านเมืองยังคงติดยึดกับเผด็จการทหาร ประชาชนทั่วไปถูกจำกัดด้านสิทธิการแสดงออก คนกลุ่มปัญญาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวทางสังคมก็อาศัยกิจกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ทางปัญญานี้ มีการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการของบรรดาคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย กิจกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานและแรงคิดจากคนเหล่านี้เช่น การหาต้นเรื่อง การทำรูปเล่ม การพิสูจน์อักษร การเรียนรู้จากสิ่งที่อ่าน และขยายความคิดออกไปตามสังคมมหาวิทยาลัยและกลุ่มอิสระต่างๆ ในส่วนกลางก็มีที่นัดพบปะกัน ดังเช่นที่ร้านหนังสือศึกษิตสยาม

ศึกษิตสยาม ร้านหนังสือที่ไม่ธรรมดา

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กล่าวว่า

ศึกษิตสยามคือร้านหนังสือของ ส.ศิวรักษ์ ดังนั้น จึงมีลักษณะพิเศษ ไม่ใช่ร้านหนังสือธรรมดา หากเป็นร้านหนังสือที่มุ่งหาหนังสือสำหรับคอหนังสือที่เป็นนักอ่านระดับจริงจัง หรือ Serious Reader ไม่ใช่หนังสือทั่วไป นอกจากนี้ ทางผู้ก่อตั้งยังไม่ได้มุ่งทำร้านหนังสือให้มีกำไรแต่ทำให้อยู่ได้ เพราะศึกษิตสยามไม่ใช่ร้านหนังสือธรรมดาแต่เป็นที่เสวนาของปัญญาชนยุคนั้น
"ตอนที่เราจัดปริทัศน์เสวนาซึ่งอาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้ก่อตั้ง จบแล้วหลายคนก็ยังไม่อยากจะแยกย้ายกัน เพราะจะรู้สึกว้าเหว่ทางปัญญา ก็ได้ที่ร้านศึกษิตสยามเป็นที่จัดศึกษิตเสวนาที่ชั้นสอง มาทำสิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์เรียกว่า Intellectual Masturbation หาความสุขจากการที่พบปะเสวนาทางปัญญากัน ที่นี่มันเป็นมากกว่าร้านหนังสือ มันเหมือนเป็นคลับหรือสโมสรที่พบปะกันของคนที่ว้าเหว่ทางปัญญา" 

นอกจากนี้ ร้านศึกษิตสยามยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานของมูลนิธิโกมลคีมทอง และมูลนิธิเด็ก เป็นสถานที่ "ก่อหวอด" ทางปัญญา ...

ในช่วง อ. ไพฑูรย์ และเพื่อนๆนิสิตนักศึกษาได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสังคมศาสตร์ปริทัศน์นั้น ก็พอดีกับการเริ่มก่อตัวของคนรุ่นหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา และประชาชน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคมไทย คือในช่วงก่อน “ปฏิวัตินักศึกษา 13-14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

ผมเพียงเคยเข้าไปฟังการปาฐกถาของอ. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มรับกลิ่นอายทางการเมืองและสังคม ก็เมื่อเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้อยู่ในแวดวงการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย จวบจนช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผมยังอยู่วงนอกวงการ แต่มีความคิดความอ่านไปในทางเดียวกัน ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ พอจะจัดตัวเองได้ว่าเป็น “พวกสังคมนิยมประชาธิปไตย” (Social Democrat)  อ. ไพฑูรย์ คงจัดได้ว่ามีความคิดในลักษณะเดียวกันนี้ และมีนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอันมากก็จัดอยู่ในพวกนี้ ส่วนตัวผมเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมอีกครั้งก็ช่วงหลัง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นช่วงรุกกลับของฝ่ายขวาและทหารทำรัฐประหาร

ในช่วงนี้มีภาควิชาที่เกี่ยวข้องในคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คือภาคบริหารการศึกษา ซึ่งมีดร. ภิญโญ สาธร และดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นผู้บุกเบิก

ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ดูตามประวัติ อาจารย์ไพฑูรย์อยู่ในระยะเตรียมเติบโตในทางอาชีพนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2516 เขาจบปริญญาโททางบริหารการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และหลังจากนั้น เขาได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และจบการศึกษาดุษฏีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยพิทส์เบอร์ก (University of Pittsburgh) ในรัฐวิสคอนซิน

ยุคฝ่ายขวาและทหารสายอนุรักษ์ครองอำนาจ อ. ไพฑูรย์และผมอยู่ต่างประเทศ กำลังศึกษาเล่าเรียน ก็พอดีกับการก่อตั้งภาควิชาอุดมศึกษาในปี พ.ศ. 2519 การเมืองหลังจากนั้น เริ่มมีความผ่อนคลายบ้าง ในราวๆปี พ.ศ. 2522-23 เกิดประกาศ 66/2523 อันเป็นการเปลี่ยนนโยบายการเมืองให้ผ่อนคลาย โดยให้นักศึกษาที่ต้องหลบหนีเข้าป่าไป ได้ออกมาอย่างไม่มีความผิด มหาวิทยาลัยสามารถรับเขาเหล่านั้นเข้าเรียนต่อจนจบการศึกษา

อ. ไพฑูรย์ได้ยึดการเป็นนักวิชาการเป็นหลัก เขาได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2522 ด้วยวัยเพียง 33 ปี ส่วนผมอยู่ในช่วงความสับสนทางการเมืองทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง อาจารย์มหาวิทยาลัยมีความเป็นนักการเมืองมากขึ้นไปทุกที ผมได้เลือกการโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นภาควิชาเปิดใหม่ มีทั้งการสรรหาและเลือกอาจารย์จากภายในและภายนอกมาเป็นอาจารย์

ในทางสังคมและการเมือง ผมเลือกทำงานอาสาสมัครให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน ส่วนหนึ่งด้วยความรู้สึกผิดในใจที่สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนยากจนและคนมีอย่างมาก และตัวเองก็ยังไม่ได้สัมผัสสังคมไทยอย่างเพียงพอ

ผมได้รับเชิญจากครูประทีป อึ้งทรงธรรม ให้มาช่วยทำงานทางวิชาการและวิจัย และต่อมาได้เป็นกรรมการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม และด้วยคำเสนอแนะของ อ. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ให้ผมทำหน้าที่เลขาธิการของมูลนิธิฯ ตามมาด้วยการเป็นกรรมการให้กับมูลนิธิเด็ก มูลนิธิโกมล คีมทอง และองค์กรเอกชนพัฒนา (Non Governmental Organization – NGO) อื่นๆอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังเขียนบทความทางวิชาการลงในหนังสือพิมพ์ ที่มากๆและคุ้นเคยกัน ก็มีหนังสือพิมพ์มติชน

ภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2523 ผมได้มาสนิทกับอ. ไพฑูรย์ สินลารัตน์อีกครั้ง เมื่อย้ายจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใช้ชีวิตอาจารย์ประจำในระบบราชการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั้งลาออกจากจุฬาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2542 ในช่วงเวลา 19 ปีที่ได้ทำงานที่ภาควิชาอุดมศึกษานี้

ขอกล่าวถึงความเป็นมาของภาควิชาอุดมศึกษา ที่เปรียบเสมือนบ้านของเรา ในคณะครุศาสตร์สักเล็กน้อย

 เมื่อดำเนินการร่างหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว ในปี พ.ศ. 2519 รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สาธรเป็นประธานกรรมการก่อตั้งภาควิชา ซึ่งได้ใช้เวลาอีกหนึ่งปีในการดำเนินการ ภาควิชาอุดมศึกษา จึงได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เป็นภาควิชาหนึ่งในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2520 และได้รับอนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรระดับมหาบัณฑิต เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2520 โดยเปิดรับนิสิตปริญญาโทรุ่นแรกในปีการศึกษา 2521 ส่วนหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตได้รับอนุมัติให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2531 เป็นรุ่นแรก สำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาการจัดการอุดมศึกษา หลักสูตรนานาชาติ ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนปีการศึกษา 2542 เป็นรุ่นแรก

คณาจารย์ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาภาควิชามาในช่วงเวลาดังกล่าว ประกอบด้วย

1.    ศาสตราจารย์ ดร. วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.    รองศาสตราจารย์ ดร. ทองอินทร์ วงศ์โสธร อดีตหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อดีตรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
3.    ศาสตราจารย์ ดร. ปทีป เมธาคุณวุฒิ อดีตหัวหน้าภาควิชา มีพื้นฐานทางด้านหลักสูตร การวิจัย และเป็นนักวิจัยที่ดี
4.    ศาสตราจารย์ ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต อดีตประธานองค์การคุรุสภา
5.    รศ. ดร. ประกอบ คุปรัตน์ อดีตหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO)
6.    รองศาสตราจารย์ ดร. วราภรณ์ บวรศิริ นักวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านการศึกษา
7.    รองศาสตราจารย์ ดร. สุกัญญา โฆวิลัยกุล พื้นฐานทางด้าน ธุรกิจศึกษา การวิเคราะห์ระบบ
8.    รองศาสตราจารย์ ดร. ธิดารัตน์ บุญนุช พื้นฐานทางด้านกิจการนิสิตนักศึกษา
9.    รองศาสตราจารย์ ดร. พรชุลี อาชวอำรุง พื้นฐานทางด้านอุดมศึกษา ทั้งการบริหาร แนวคิดใหม่ทางการอุดมศึกษา และความเป็นนานาชาติ และ
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ ตันธนะเดชา พื้นฐานทางด้านวิจัยการศึกษา บริหารการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในทางการศึกษา

และเพื่อให้เข้าใจบรรยากาศชีวิตของอ. จะขอเล่าเรื่องในการบริหารเพื่อก่อร่างภาคมา

อ. ทองอินทร์ วงศ์โสธร เมื่อเป็นหัวหน้าภาควิชานั้น ทุกคนที่เข้ามายังใหม่อยู่ อ. ทองอินทร์ เป็นคนนุ่มนวล มีอารมณ์ครื้นเครงสนุกสนาน และมีประสบการณ์ทำงานกับฝ่ายทบวงมหาวิทยาลัย และกิจการต่างประเทศด้านการศึกษาอยู่แล้ว แม้ อ. ทองอินทร์ได้ย้ายไปเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังติดต่อไปมาหาสู่กัน

อ. วัลลภา เป็นทั้งอาจารย์และรุ่นพี่ในคณะครุศาสตร์อยู่แล้ว อาจารย์ส่วนหนึ่งในรุ่นพวกผมและไพฑูรย์ ก็เคยเป็นลูกศิษย์อาจารย์กันมา

อ. ปทีป อยู่ในลักษณะเดียวกัน เป็นอาจารย์ที่แม้อยู่ในรุ่นใกล้กัน แต่เป็นรุ่นพี่ในคณะครุศาสตร์ รุ่นก่อนผมและอ. ไพฑูรย์ 2 ปี อาวุโสนับว่ามีผลต่อการทำงานร่วมกัน เราให้ความเคารพและเกรงใจกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะอาวุโส

ท่านเหล่านี้ได้เคยมีประสบการณ์การเป็นหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษามาแล้ว บรรยากาศการทำงานยังเป็นแบบพี่ๆน้องๆ และร่วมมือกันดี

อ. ไพฑูรย์ แบบอย่างของครู

บรรดาอาจารย์ทั้งหลาย คือภาพสะท้อนของการรวมเป็นภาควิชา ภาควิชาจะดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาจารย์ อ. ไพฑูรย์ เป็นตัวอย่างหนึ่ง และเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาภาควิชา
อ. ไพฑูรย์ในฐานะอาจารย์ผู้สอน เขาใช้หลักวิชาการด้านการเรียนการสอน ทำให้เกิดผลดีในการจัดการเรียนการสอน เขาเป็นแบบอย่างของการไม่สอนแบบใช้การบรรยาย หรือบอกความรู้เป็นหลัก

การจัดการเรียนการสอนแบบ OLE

เขาคิดถึงวัตถุประสงค์ในการสอนว่า ต้องการสอนผู้เรียนให้บรรลุอะไร (O - Objectives) เนื้อหาความรู้ที่จะจัดเตรียมนั้น ก็คัดสรรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เขาคิดถึงกิจกรรมในการเรียนการสอน (L - Learning activities) กิจกรรมที่จะนำไปสู่การเรียนรู้นั้นมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ต้องเตรียมเนื้อหาอย่างอัดแน่น แล้วก็บรรยายให้ผู้เรียนได้รับ มีหลายอย่างที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หากเขามีแรงจูงใจ หรือมองเห็นการเรียนนั้นมีความหมาย และเป็นเรื่องสนุก แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนได้เรียนแล้วบรรลุอะไร ในเรื่องนี้เขาต้องคิดเกี่ยวกับกิจกรรม เนื้อหา และวิธีการที่จะประเมินผล (E - Evaluation)
แนวทางดังนี้ ทั้งหมดเรียกว่า OLE ตามชื่อของลูกอมอมแก้เจ็บคอ

การอุดมศึกษาคืออะไร เรียนแล้วได้อะไร

อ. ไพฑูรย์ในฐานะวิทยากร ให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน เพราะมีภาควิชาแล้ว แต่คนยังไม่รู้จักภาควิชา การเปิดภาควิชาแล้วไม่ใช่ว่าจะมีคนมาเรียน ไม่ใช่ว่าใช้ชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วจะได้รับการยอมรับในทันที สังคมจะต้องเห็นความสำคัญของศาสตร์ คือ การอุดมศึกษา (Higher Education) ว่าคืออะไร ในเรื่องนี้ อ. ไพฑูรย์ทำหน้าที่เป็นเหมือนฝ่ายการตลาดให้กับภาควิชามากที่สุด เพราะคนจะเชิญให้เขาไปบรรยาย หรือจัดกิจกรรมทางด้านการเรียนการสอนยุคใหม่ ลูกค้าซึ่งมักจะเป็นพวกสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนทั้งหลาย ที่เชิญมาจากทั่วประเทศ สิ่งที่อ. ไพฑูรย์ไปบรรยายและจัดกิจกรรมให้นั้น ก็มักจะเป็นเรื่องจะจัดการเรียนการสอยอย่างไรในสถาบันอุดมศึกษา ให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แล้วก็เป็นเรื่องจะบริหารอย่างไร สถาบันอุดมศึกษาควรมีหลักการในการจัดการคน เงิน สถานที่ วิทยาการ ฯลฯ อย่างไร เหมือนหรือไม่เหมือนกับบริษัทห้างร้าน

สิ่งที่ต้องชื่นชมอ. ไพฑุรย์ส่วนหนึ่งคือความสามารถนำเสนอวิชาการด้านการเรียนการสอนให้กับหลากหลายกลุ่ม  แม้กลุ่มคนที่ยากที่สุด คืออาจารย์ทางการแพทย์ พวกแพทย์ และพวกที่จบการศึกษาจากสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ มักเป็นคนเรียนเก่ง เชื่อมั่นในตนเอง สไตล์ของอ. ไพฑูรย์ ไม่ครอบงำความคิด มีงานวิจัย และตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จมาแสดงให้ดู อ. ไพฑูรย์ปกติไม่ใช่คนผ่อนคลายนัก แต่เมื่อขึ้นเวทีพูดหรือสอนเมื่อใด ก็จะแจ่มใส คึกคัก มีอารมณ์ขัน อีกส่วนหนึ่งคือการตอบคำถาม คือไม่รู้สึกหวั่นไหวที่จะตอบได้หรือไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งคือการเตรียมทัศนคติ เขามองผู้เข้ารับการอบรมอย่างเป็นมิตร การเตรียมจิตใจแบบ ฉันเป็นคนดี/คนเก่ง ท่านก็เป็นคนดี/คนเก่ง (I am ok, you are ok) เมื่อมีการพูดคุยซักถามกัน ก็ไม่เกิดรู้สึกเกร็งหรือถูกลองภูมิ

ในช่วงความเฟื่องฟูของบริการทางวิชาการจากมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันสังคมไทยก็มีความเติบโตทางธุรกิจ เขาต้องการคนเก่งๆในมหาวิทยากรไปจัดการเรียนการสอน การฝึกอบรมให้กับเขาภาคธุรกิจทั้งหลาย ด้านอาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีความขัดสนจากรายได้แบบราชการที่น้อยนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง จึงได้ผันตัวเองไปรับงานบริการที่มีค่าตอบแทนสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการเปิดบริษัทด้านฝึกอบรม ให้คำปรึกษาทางวิชาการ ในขณะที่ยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ ผมไม่ตำหนิอาจารย์เหล่านี้นัก เพราะส่วนหนึ่งเป็นความจำกัดของมหาวิทยาลัยในแบบราชการ การเริ่มต้นเป็นอาจารย์ แม้จะเรียนมาสูง แต่เงินเดือนจะได้ต่ำเกินคาดคิด อาจารย์ใหม่ต้องปรับตัวเองเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้ในการเป็นอาจารย์

แต่อ. ไพฑูรย์ก็ยังยืดหลักไม่ยึดติดกับวัตถุนิยม เขารับไปเป็นวิทยากร และทำงานวิชาการให้กับบุคคลและองค์กรภายนอกแบบที่ไม่มองผลประโยชน์เป็นหลัก ลูกค้าของเขาคือสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่ไม่แสวงกำไร มีค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งที่ไม่มาก ลูกค้าที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ก็ยังมักมีระเบียบราชการ หรือองค์การเป็นข้อจำกัด

อ. ไพฑูรย์ มีความเป็นครูที่ไม่ได้มองผลประโยชน์เงินทองมากกว่าหน้าที่ด้านการเรียนการสอน และเขาได้ประพฤติตัวอย่างเสมอต้นเสมอปลายมาตลอดชีวิต

หลายมิติของการทำงาน

หน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ สอน ทำวิจัย และให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และยังมีอื่นๆอีกมาก

อ. ไพฑูรย์ เป็นคนมีความรู้ความสามารถ เขาทำงานได้ดีในหลายๆด้าน เขาสอนได้ดี ไปเป็นวิทยากรก็มีคนอยากฟัง เขียนหนังสือ ตำรับตำรา ก็ทำได้ดี มีคนอ่านกันมากมาย งานบรรณาธิการเป็นอีกงานที่เขาชอบ ดังเช่น เขารับงานเป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็รับทำให้ เพราะเขาเป็นคนชอบหนังสือ

ใครให้ทำอะไรในด้านเป็นวิชาการที่เขาถนัด เขามักไม่ปฏิเสธ แต่เพราะชอบและทำอะไรได้หลายๆอย่าง งานเขียนตำรา งานบรรณาธิการจัดทำหนังสือหรือตำราเรียน งานวิจัย แต่งานเหล่านี้ใช้เวลา แต่หากจะเลือกทำ เขาก็ต้องตัดงานอื่นๆ รวมทั้งงานบริหารออก อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนสามารถขอตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ได้ตั้งแต่อายุ 40 ต้นๆ หากมีเส้นทางวิชาชีพที่แคบสักหน่อย เช่น เริ่มทำงาน ก็สอนแต่น้อยหน่อย และมุ่งเน้นที่การวิจัย มีเหมือนกันที่อาจารย์ในสายการแพทย์ เขาทำวิจัยไม่มาก ไม่แตกต่างไปจากงานรักษาที่ทำเป็นประจำ แต่เขามีความก้าวหน้า บันทึกงานที่ทำอย่างเป็นระบบ แล้วเสนอผลงานในแวดวงวิชาชีพ เหล่านี้เขาเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์ได้อย่างรวดเร็ว

แต่อ. ไพฑูรย์ได้ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 32 ปีก็จริง แต่เพราะรับงานบริหาร เป็นคณบดีถึง 2 สมัย งานบริการวิชาการ งานเป็นวิทยากร ทำอย่างไม่ขาด จึงไม่มีเวลาวิจัยอย่างลึกๆ เขียนงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  กว่าจะขอตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ ก็เมื่อจะเกษียณอายุราชการแล้ว

ในมหาวิทยาลัยวิจัยในต่างประเทศ อาจารย์จะได้ตำแหน่งศาสตราจารย์กันได้ภายในอายุไม่เกิน 40-45 ปี การทำงานหลังจากนั้น ก็อาจเป็นการบริหารวิชาการ หัวหน้ากลุ่มวิจัย หรืองานที่ปรึกษาทางวิชาการแก่หน่วยงานภายนอก

สภาพชีวิตอ. ไพฑูรย์ในช่วงอายุ 40-60 ปีนี้ เป็นลักษณะ Role overload คือรับงานจนเกินกว่าที่ตัวเองจะรับได้ แต่เมื่อมุ่งมั่นจะทำให้ได้ ก็ต้องไปเบียดเอาเวลาที่ควรใช้พักผ่อน มานั่งหลังขดหลังแข็งทำงาน คนที่ทำงานในองค์การแบบญี่ปุ่นก็มีสภาพเป็นแบบนี้ คนเป็นนักบริหารก็จะมีชีวิตสั้น สุขภาพไม่ดีเท่าคนญี่ปุ่นทั่วๆไป

งานบริหารภาควิชา

ภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ช่วงที่มีบุคลากรครบถ้วน พร้อมที่จะเปิดการเรียนการสอน และเป็นแหล่งอ้างอิงทางการอุดมศึกษาได้ มีคณาจารย์จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา 10 คนในระยะใกล้เคียงกัน มีการศึกษาและความสนใจที่ต่างกัน แม้บางท่านอาจจะไม่ได้ศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับการอุดมศึกษาโดยตรง แต่ก็นำความรู้ความเชียวชาญมาใช้ในการทำงานร่วมกันได้
มีหลายคนได้เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาอุดมศึกษา คนละ 2 ปีหรือ 4 ปี ทั้งหมดเป็นผลจากการเลือกตั้งจากเพื่อนร่วมงาน

อ. ทองอินทร์ วงศ์โสธร และอ. วัลลภา มีอาวุโสแตกต่างชัดเจนจากส่วนที่เหลือ เป็นผู้ที่รู้ทิศทางดีว่าภาควิชาที่ก่อตั้งใหม่นี้ควรจะเดินไปทางไหน

อ. ไพฑูรย์ และผม คือคนรุ่นที่มีอาวุโสไม่มาก เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2489

อ. ไพฑูรย์ ได้เป็นหัวหน้าภาควิชารุ่นแรกๆ ทำงานเป็นหัวหน้าแบบมีบารมีติดตัวมา คือเป็นวิทยากรทางด้านการเรียนการสอนทางอุดมศึกษาที่มีคนรู้จักและให้ความนับถือ ส่วนผมเรียนมาทางบริหารการศึกษา เคยทำงานบริหารวิชาการระดับคณะวิชาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ก็ไม่ใช่ความสำเร็จอะไรมากมาย อ. ไพฑูรย์มีวิธีบริหาร คือหาเงินทุนสนับสนุนงานวิจัย แล้วมาแบ่งกันทำ หรือการเป็นบรรณาธิการในเรื่องเกี่ยวกับการอุดมศึกษา แล้วก็จัดสรรแบ่งให้อาจารย์ช่วยกันเขียน อาจารย์ส่วนใหญ่เมื่อมอบหมายให้ทำอะไรที่เป็นวิชาการ มีผลดีต่อการพัฒนาวิชาชีพ เขาก็ร่วมมือกันทำ

การเป็นพี่เลี้ยง (Mentorship)

ในช่วงผมรับหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาราวปี พ.ศ. 2529 อ. ไพฑูรย์ได้ช่วยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้อย่างไม่เป็นทางการ

ในช่วงอ. ไพฑูรย์รับผิดชอบระดับภาควิชา จึงยังไม่มีความขัดแย้ง แต่สมัยเมื่อผมเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา ผมอาจเป็นหัวหน้าภาคที่มีความขัดแย้งมากที่สุด เริ่มตั้งแต่ก่อนผมเข้ารับตำแหน่งได้ทราบว่า ระบบพิจารณา 2 ขั้นภาค หรืออาจารย์ทั้งหลายได้ใช้ระบบเวียนกันรับตำแหน่ง และใครจะได้ 2 ขั้นนั้น ก็ให้ไปรับงานเป็นเลขานุการภาควิชา จดรายงานการประชุม ผมไม่เห็นด้วย ขอให้ยืนหลักอำนาจการพิจารณาความชอบให้ 2 ขั้นเป็นของผู้บังคับบัญชา คือหัวหน้าภาค แต่ในการพิจารณานี้หัวหน้าภาค หรือผู้บริหารจะไม่เสนอตนเองเข้ารับความชอบนี้ หากจะมีการให้ความชอบก็ให้คณบดี หรือผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป เป็นคนตัดสิน ส่วนงานเลขานุการภาควิชา ผมยกให้เจ้าหน้าที่ธุรการของภาคทำหน้าที่นี้
และเพราะต่างคนต่างจบการศึกษามาในระดับสูง ล้วนมีอัตตะสูง ไม่มีใครยอมฟังใคร สรุปก็คือได้รับการต่อต้าน ผมปรึกษาไพฑูรย์ สินลารัตน์ ว่าควรจะทำอย่างไรดี

อ. ไพฑูรย์ได้แนะนำว่า งานสอนของอาจารย์ เขาก็สอนอย่างตั้งใจกันอยู่แล้ว ส่วนงานควบคุมวิทยานิพนธ์ อาจารย์เขาอยากทำกันอยู่แล้วทุกคน ส่วนงานที่จะริเริ่มใหม่ ดังเช่นการเสนอเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก ก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าภาคที่จะไปเสนอให้กับคณะกรรมการแต่ละระดับ ซึ่งต้องผ่านไปในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับคณะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และกรรมการของทบวงมหาวิทยาลัย เชื่อว่าเมื่อเปิดสอนได้จริงก็คงจะได้รับความร่วมมือ

ส่วนการสร้างบารมีและชื่อเสียงของภาควิชา ก็ให้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ โดยทำที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ นี้แหละ ใครร่วมมือก็มาช่วยกันทำ ส่วนคนที่ไม่ร่วมมือ ก็ไม่เป็นไร เขาคงไม่มาขัดขวางอะไร

เพราะอ. ไพฑูรย์มีประสบการณ์มามากกว่าผม เขาแนะนำว่า ก็ทำกันไปด้วยคนเท่าที่มีและให้ความร่วมมือ งานทดสอบคือการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ ใช้สถานที่ของคณะครุศาสตร์นั้นเอง เป็นการจัดแบบเก็บเงินค่าใช้จ่ายแบบกพอคุ้มทุน เพียงคนละ 700 บาทสำหรับค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าเอกสาร ตลอดเวลา 4 วัน อ. ไพฑูรย์เป็นคนออกความคิด จะมีแนวทางเสวนาอย่างไร จะเชิญใครมาพูดเรื่องอะไรบ้าง ส่วนงานแรงงานผมรับผิดขอบเอง งานจัดการด้านสถานที่ งานยกโต๊ะเก้าอี้ และร่วมจัดงานก็อาศัยจากนิสิตที่มาเรียนนั้นเอง นิสิตเองเมื่อต้องมีการยกโต๊ะยกเก้าอี้ หรือทำงานระดับล่าง เขาก็อิดเอื้อนอยู่บ้าง แต่ผมใช้หลักนำยกโต๊ะเก้าอี้เองเลย หลังจากนั้นนิสิตปริญญาโทเหล่านั้นเขาก็เข้ามายกแทน และบอกว่า “อาจารย์ไม่ต้องหรอกครับ” พวกผมทำกันเอง

งานประสบความสำเร็จเกินคาด จากที่คาดว่าจะมีคนมาร่วมสัก 60-70 คนก็พอ ก็กลายเป็น 170 คน เข้าร่วมงานแล้ว และก็อยู่อย่างตลอด ไม่ใช่มาในวันแรกแล้ว วันต่อๆมาก็หลบไปกิจกรรมอื่นๆ ทั้งหมดนี้ต้องนับว่า อ. ไพฑูรย์มีบทบาทอย่างมาก ให้คำปรึกษาให้ทำงานท่ามกลางความขัดแย้งได้อย่างเป็นประโยชน์

งานวิทยากร

ในด้านการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน ผมก็ออกไปเป็นวิทยากรร่วมกับอ. ไพฑูรย์

อ. ไพฑูรย์ เป็นเหมือนหัวหน้าวงดนตรีและนักร้องนำ เปิดการแสดงทั่วราชอาณาจักร ไปด้วยรถไฟก็ไป ลูกค้าคือบรรดาสถาบันอุดมศึกษา มีที่เป็นวิทยาลัยครู หรือสถาบันอย่างราชภัฏ เขากำลังอยู่ในช่วงปรับตัวไปสู่ความเป็นสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนหลายสาขาวิชา นอกเหนือจากศาสตร์การพัฒนาครู เขาเชิญมา เดินทางไปด้วยเครื่องบินก็เริ่มมีบ้าง เพื่อนร่วมภาควิชาไม่มีใครตำหนิว่าออกไปทำมาหากิน เพราะไปให้บริการแก่หน่วยงานแบบราชการ ที่ส่วนใหญ่เขามีกรอบค่าตอบแทนที่น้อยนิด ไม่เหมือนกับไปทำงานให้กับเอกชน ซึ่งในระยะหลังนั้น มีเป็นอันมาก ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยหันไปหาลูกค้าจากภาคเอกชน ที่เขาก็ต้องการวิทยากรเพื่อไปช่วยงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การจัดกิจกรรมพัฒนาคณาจารย์ มักจะเป็นการจัดแบบประชุมเชิงปฏิบัติการ

มีกิจกรรมหลากหลาย มักจะเริ่มต้นด้วยกิจกรรมละลายน้ำแข็ง (Break the ice) ผู้เรียนแนะนำตนเอง หรือระดมสมอง (Brainstorming) ดังเช่นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้นำเสนอปัญหาการเรียนที่เขาประสบ ส่วนการบรรยาย ก็บรรยายเป็นช่วงๆ ละ 10-20 นาที และมีการตอบข้อซักถาม ไม่จำเป็นก็ไม่บรรยาย

อ. ไพฑูรย์ เหมือนเป็นนักร้องนำ ผมเป็นนักร้องประสานเสียงตาม อ. ไพฑูรย์เขาจัดกิจกรรม บรรยาย และที่สำคัญ คือสรุปหลักการที่สำคัญ ในระยะต่อๆมา ผมเริ่มรู้จังหวะการทำงานร่วมกัน ผมจะทำหน้าที่ด้านการวิเคราะห์ นำเสนอในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารและหลักการอุดมศึกษาบางประการ แต่ก็จะเรียนรู้จากอ. ไพฑูรย์ว่า  จะไม่ไปวิจารณ์อะไรรุนแรง หรือทำให้ผู้รับการอบรมเสียหน้า เมื่อจะตอบคำถามอะไรที่ไม่รู้ ก็ตอบว่าไม่รู้ แล้วไปศึกษามาเพิ่มเติม เพื่อตอบในวันต่อไป ในด้านการนำเสนอของวิทยากร ผมมักมีแนวโน้มพูดมากเกินจำเป็น ซึ่งอาจทำให้บรรยากาศน่าเบื่อได้ เราก็จะมีการส่งสัญญาณกัน ว่าควรหยุดแล้ว

ผมไม่ได้รู้เรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนมาก่อน ก็เปิดอ่านตำราจากต่างประเทศเอา เมื่อดำเนินการ จะมีกิจกรรมให้ผู้รับการอบรมนำเสนอทั้งเป็นรายบุคคลและกลุ่มต้องคอยฟังและจดประเด็น และเสนอให้ข้อมูลสะท้อนกลับแก่ผู้เข้ารับการอบรม อ. ไพฑูรย์นอกจากจะนำเสนอหลักการ เขาจะเป็นคนตอบข้อซักถาม และสรุปปิดประเด็น

มองรอบด้าน

ด้วยเกรงว่าจะมองอ. ไพฑูรย์อย่างไม่รอบด้าน เพราะมีบางช่วงที่ผมได้ลาออกจากราชการแล้ว จึงได้โทรศัพท์สัมภาษณ์คนที่น่าจะให้ภาพประเมินอ. ไพฑูรย์ได้ดี มีเพื่อนอาจารย์ และศิษย์เก่าภาควิชาอุดมศึกษาที่ให้ข้อมูลในด้านที่โต้แทนอ. ไพฑูรย์ ท่านเหล่านี้ได้แก่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชวเลิศ เลิศโอฬาร เพื่อนที่เรียนครุศาสตร์รุ่น 07 มาด้วยกัน และเคยเป็นหัวหน้าภาควิชาโสตทัศนศึกษา ครุศาสตร์ เมื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็ไปเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ศาสตราจารย์ ดร. ปทีป เมธาคุณวุฒิ ผู้เคยทำงานหลังเกษียณในยุคที่อ. ไพฑูรย์ เป็นคณบดี
รองศาสตราจารย์ ดร. วัลลภา เทพหัสดิน อดีตอาจารย์ภาควิชาอุดมศึกษา จุฬาฯ และเคยทำงานหลังเกษียณด้วยกันมากับอ. ไพฑูรย์ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

รองศาสตราจารย์ ดร. อัจฉรา ภานุรัตน์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นิสิตดุษฎีบัณฑิต ผู้ริเริ่มบุกเบิกกงานด้านความเป็นนานาชาติ เป็นประธานจัดงาน Surin International Folklore Festivval หรือ SIFF ซึ่งจัดดำเนินการมากว่า 15 ปีแล้ว ได้ขยายกิจกรรมไม่ใช่เพียงในจังหวัดสุรินทร์ แต่ได้ผลัดเวียนกันไปในที่ต่างๆด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ไพฑูรย์ สนใจเรื่องงานด้านประวัติศาสตร์ และปรัชญา ซึ่งนำไปสู่งานค้นคว้าและเขียนเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การศึกษา และปรัชญาการศึกษา

ก่อนที่จะเขียนบทความนี้ ผมได้โทรศัพท์ถึงเพื่อนนักวิชาการ และเพื่อนรุ่นน้องที่เคยเป็นศิษย์ของภาควิชาอุดมศึกษา เพื่อให้มองอย่างอิสระ บางคนเขียนตอบมาเลย ซึ่งต้องขอบพระคุณมานะที่นี้ และผมจะได้นำเสนอทั้งหมดผ่านทาง Web blog และมีการนำเสนอต่อไปทางวิชาการอย่างง่ายในประเด็นที่ขยายความต่อจากที่อ. ไพฑูรย์ได้นำเสนอ

บุคคลต้นแบบ

ใครเป็นครูหรือบุคคลต้นแบบที่ทำให้อ. ไพฑูรย์เป็นดังที่เป็นในปัจจุบัน? ในการเขียนบทความนี้ อ. ไพฑูรย์ได้เอ่ยถึงบุคคลต้นแบบ 3 ท่าน ที่เขาเคารพ และเป็นแบบอย่างให้กับเขา คือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ และศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสะอ้าน

หนึ่ง คือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งอ. ไพฑูรย์ได้รับประสบการณ์จากการเข้าร่วมในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มาร่วมวงเสวนาและกิจกรรมอื่นๆของวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ รวมถึงการนัดพบและเสวนากันที่ร้านหนังสือศิกษิตสยาม ซึ่งอ. สุลักษณ์เป็นเจ้าของ อ. สุลักษณ์ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ จบปริญญาตรีทางด้านปรัชญาประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม จากมหาวิทยาลัยแลมปีเตอร์ ในแคว้นแวลส์ สหราชอาณาจักร และ ปี พ.ศ. 2503 สำเร็จการศึกษา และสอบเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักเดอะมิดเดิล เทมเปิล

ในส่วนของความเป็นปัญญาชน การคิดอย่างอิสระ การเขียน และการส่งเสริมงานเขียน และการเป็นบรรณาธิการ สิ่งเหล่านี้น่าจะมีอิทธิพลมาจากอ. สุลักษณ์

สอง ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน™ อมรวิวัฒน์ (เกิด 2475) อดีตอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ ปัจจุบันเป็นราชบัณฑิตภาคีสมาชิกศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน™ อมรวิวัฒน์ (ราชบัณฑิต) สำนัก : ธรรมศาสตร์และการเมือง อ. สุมน เกือบเหมือนอาจารย์ที่ปรึกษาของอ. ไพฑูรย์เมื่อเขาเป็นนิสิตปริญญาตรีอยู่ นับเป็นครูต้นแบบของเขา เป็นคณาจารย์ผู้ใหญ่ที่เขาให้ความเคารพ และเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาต่อมา และ

สาม ศาสตราจารย์พิเศษ วิจิตร ศรีสอ้าน (22 ธันวาคม พ.ศ. 2477 — ) อ. วิจิตร เป็นผู้มีคุณูปการต่อภาควิชาอุดมศึกษา เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อดีตรองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

อ. วิจิตร เป็นผู้มองเห็นความสำคัญของการต้องพัฒนาระบบบริหารอุดมศึกษา ทั้งทางด้านการจัดการ การเรียนการสอน การวิจัย และการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน ท่านเป็นคนพูดได้ดีเยี่ยม และเป็นบุคคลสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดภาควิชาอุดมศึกษาขึ้นที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรวม อ. วิจิตร คือ นักการอุดมศึกษา เป็นผู้รู้ที่ชี้ทิศทางของการอุดมศึกษา ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ได้อำนาจรัฐ อำนาจราชการ และหลักวิชาการ ที่จะทำงานใหม่ทางการศึกษาให้บรรลุผล

เล่าเกร็ด

ต่อไปนี้จะเป็นเล่าเกร็ดชีวิตการเป็นนักวิชาการ ของอ.ไพฑูรย์ ในส่วนที่ผมมีประสบการณ์ร่วมด้วย

กรุณาใช้ภาษาไทย

ในช่วงที่เราก้าวสู่ความเป็นไทย จะเรียกว่า “ไทยนิยม” หรือ Thainization ก็ได้

ที่สถาบันราชภัฏแห่งหนึ่งในภาคใต้ ในยุค 30-40 ปีมาแล้วที่เรายังใช้แผ่นโปร่งใสเป็นสื่อในการสอน เราเตรียมสื่อที่ใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก แต่ก็คิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยน่าจะเข้าใจ วิทยากรอ. ไพฑูรย์และผมบรรยายและดำเนินการไปไม่ได้เท่าใด ก็มีเสียงดังฟังชัดจากด้านหลังของห้องประชุม “อาจารย์ครับ กรุณาใช้ภาษาไทย”

วัฒนธรรมทางภาคใต้ หากเขามีข้อขัดข้องอะไร เขาจะพูดเลย

ไม่ใช่เรื่องใหญ่ วิทยากรปรับตัว ให้เป็นไปตามคำขอ สำหรับอ. ไพฑูรย์ยิ่งเป็นเรื่องง่าย เขาเป็นอาจารย์ภาษาไทยมาก่อน เขาเป็นผู้ยืนหยัดให้ไทยต้องมีแบบฉบับการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่เอาแต่เดินตามฝรั่ง
ในยุคไทยนิยมนี้ วิทยากรเองก็จะแต่งชุดพระราชทาน ไม่ใส่เสื้อนอก หรือใส่เสื้อเชิร์ตแล้วผูกเนคไทร์ ก็ยังไม่เป็นไทยแท้ อ. ไพฑูรย์ และผมก็แต่งกายไปตามสมัย ใส่เสื้อชุดพระราชทานแขนสั้นสีขาว

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในประเทศมาเลเซีย ทางตอนใต้ลงไปอีกของเรา เขาก็เข้าสู่ยุค “มาเลย์นิยม” หรือ Malaysianization ก่อนประกาศอิสรภาพ มาเลเซียใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร แต่ในทางการเมือง เมื่อประเทศเป็นอิสระแล้ว เขาต้องปลุกความรักชาติ ไม่ใช่จะต้องเดินตามตะวันตก
แต่ในวันนี้ มาเลเซียได้ปรับเปลี่ยนไปแล้ว นายกรัฐมนตรีมหาเธ บิน โมฮัมหมัด (Mahathir Bin Mohamad) ในวัย 94 ปีเปรยว่า “นโยบายใช้ภาษามาเลเซียในสถาบันการศึกษาเสียทั้งหมดนั้น น่าจะไม่เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ชาวมาเลเซียต้องมีทักษะในการสื่อสารกับนานาชาติมากขึ้น ต้องก้าวทันวิทยาการ จะมานั่งแปลตำราเป็นภาษามาเลเซีย คงจะไม่ทันกาล การสอนในสายวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีเหล่านี้ ตำราเปลี่ยนกันทุกครึ่งปี หรือหนึ่งปี ควรจะสอนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วใช้ตำราภาษาอังกฤษโดยตรงไปเลย

วิทยากรตกเครื่อง

อ. ไพฑูรย์และผม เป็นคนตรงต่อเวลา รับนัดบรรยายแล้ว ก็จะไปตามเวลา หรือก่อนเวลา

ในการทำงานร่วมกัน เราเป็นทีมวิทยากรขนาด 2 คนบ่อยครั้ง มีบางมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการพัฒนาคณาจารย์ ดังที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขามีคนที่เล่นเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนอยู่หลายคน แต่เวลาจัดการฝึกอบรมทางด้านนี้ เขาก็ขอความอนุเคราะห์จากอาจารย์ไพฑูรย์

ในยุคที่ค่าเครื่องบินลดลงแล้ว เขาสามารถจัดค่าเดินทางด้วยเครื่องบินได้แล้ว กิจกรรมการเดินทางของเราจึงใช้เวลาน้อยลง ไม่เหมือนรถไฟที่ต้องใช้เวลาทั้งคืนเพื่อเดินทาง

มีครั้งหนึ่งที่ต้องไปจัดฝีกอบรมที่ใช้เวลา 2-3 วัน เขาก็จัดบริการเดินทางให้เหมือนเดิม วิทยากรอ. ไพฑูรย์และผมก็ทำเหมือนเคยทำมาแล้วสัก 10 ครั้ง สำหรับวิทยากร คือตื่นแต่ตี 3 ครึ่ง ไปถึงสนามบินให้ได้ทัน 90-100 นาทีก่อนเครื่องออก ซึ่งราวๆ 6:00 น. แต่ในช่วงหนึ่งอากาศไม่ดีเนื่องจากมีมรสุมพัดผ่าน ไม่ปลอดภัยที่จะบินลงที่สนามบินขอนแก่น นักบินตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไปลงที่สนามบินอุบลราชธานี แล้วก็ใช้รถโดยสารพาคนไปส่งที่สนามบินขอนแก่น ปรากฏว่าแทนที่จะถึงที่สนามบินขอนแก่นภายใน 7:30 น. ก็กลายเป็นไปถึงในเลาบ่าย 14:00 น. แทนที่จะได้เริ่มสอนเวลา 9:00 น. ก็กลายเป็นช้าไป 4-5 ชั่วโมง อาจารย์ผู้จัดงานต้องจัดกิจกรรมแก่ขัดไป ผู้เข้ารับการอบรมกว่า 150 คนได้รับผลกระทบ ทางผู้จัดและวิทยากรต้องปรับแผนการฝึกกอบรมในอีก 2 วันต่อมา

จากนั้นมา ผมเองเปลี่ยนนโยบายว่า จะไปทำงานที่ไหน ระยะทางสัก 400 กม. ขึ้นไป หากเราเป็นคนหลัก ขอให้ได้เดินทางล่วงหน้าก่อน 1 วัน จะเป็นเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร หรือขับรถไปเอง ก็ยังพอได้ ยังมีเวลาปรับเปลี่ยนทัน คนจัดงานเองก็จะได้ไม่เครียด คนเป็นวิทยากรเองก็ผ่อนคลายหน่อย

วิทยากรใช้ภาษาอะไรนะ?

ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (Assumption University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ เขาเชิญให้ไปจัดกิจกรรมด้านการเรียนการสอน ซึ่งก็เหมือนกับที่อื่นๆ คณะผู้จัดบอกว่า “บรรยายเป็นภาษาไทยปนอังกฤษได้” วิทยากรอ. ไพฑูรย์และผมก็ไม่หนักใจอะไร เตรียมตัวไปเหมือนกับหลายๆแห่งที่เชิญไปในลักษณะเดียวกัน ในสมัยก่อนนี้ อุปกรณ์การสอนที่สำคัญคือแผ่นโปร่งใส ต้องใช้ปากกาเขียนเอา
แต่เมื่อไปในชั้นเรียน ผู้รับการอบรมเป็นอาจารย์ที่บางส่วนเป็นคนไทย แต่เป็นอันมาก เป็นอาจารย์ชาวต่างชาติ ซึ่งเราควรต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ

อ. ไพฑูรย์กับผมต้องมาปรับตัว เอาแผ่นโปร่งใสมาเตรียมใหม่ เป็นภาษาอังกฤษ แบสลับกันสอนไป แล้วก็เตรียมกันไป บางส่วนบรรยายไป เขียนไป ผ่านครึ่งวันแรก จึงได้เตรียมแผ่นโปร่งใสของวันแรกหมด
วิทยาการทั้งอ. ไพฑูรย์และผมมีประสบการณ์ในเรื่องที่บรรยายมาพอควรแล้ว จึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ และนับเป็นครั้งแรกที่ได้ฟังอ. ไพฑูรย์บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เขาพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่มีสำเนียงคล้ายหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงพูดภาษาอังกฤษ ในยุคนั้นเทคโนโลยีการสอนยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตบริการ มิฉะนั้น เราคงใช้การเปิดจอและเรียกไฟล์มาใช้ในการสอน

ทำบุญร่วมกันมา

ครอบครัวนักวิชาการ การเป็นนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นอาชีพที่มีสถานะทางสังคมสูง แต่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำ หากนับรวมการเตรียมตัวสู่วิชาชีพครูและนักการศึกษานี้ คงกว่า 50 ปี ส่วนผมได้ออกจากจุฬาลงกรณ์มา แต่ก็ยังอยู่ในแวดวงวิชาการอยู่สัก 40 ปี

ย้อนกลับมาสู่ความเป็นเพื่อนกันมา อ. ไพฑูรย์และผม เป็นนักวิชาการเหมือนกัน มีแตกต่างกันบ้างในเรื่องของครอบครัว โดยหลักๆ ทำงานอยู่ ณ ในกรุงเทพฯ ผมเคยทำงานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนย้ายมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนอ. ไพฑูรย์ทำงานที่จุฬาฯ มาตลอดจนเกษียณอายุราชการ
อ. ไพฑูรย์ เริ่มเป็นอาจารย์ครั้งแรกก็ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเขาเลือกซื้อบ้านนั้นเขาเลือกบ้านที่ฝ่ายภริยาจะได้เดินทางไปทำงานได้อย่างสะดวก คือที่หมู่บ้านสัมมากร อ. ไพฑูรย์เองมีพื้นเพเป็นคนชานเมืองกรุงเทพฯอยู่ก่อนแล้ว คือเป็นคนหนองจอก บ้านของเขาในปัจจุบันก็คือหลังเดิมที่ได้จัดหามาเมื่อครั้งแต่งงานกับคุณอภิรัตน์ บ้านอยู่ห่างจากที่ทำงานของภรรยา คือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเพียง 8.8 กม. ใช้เวลาการเดินทางตามการคำนวณของ Google Map เพียง 24 นาที

อ. ไพฑูรย์ และภรรยาที่ได้อยู่กินร่วมกันมา ไม่มีบุตร และอ. ไพฑูรย์ไม่คิดจะขอเด็กมาเลี้ยง ทั้งสองยังคงอยู่ด้วยกัน 2 คน ภรรยาเกษียณราชการแล้ว ก็อยู่บ้านเป็นหลัก ทำงานบ้านเอง เหมือนแม่บ้านของฝรั่ง ชีวิตของผมเมื่อเป็นอาจารย์กว่า 26 ปี ก็คล้ายๆกัน ต้องกินอยู่อย่างเรียบง่ายและประหยัด การรับประทานอาหารกลางวัน ก็กินที่โรงอาหาร ส่วนอาหารเช้าและเย็น ส่วนใหญ่ก็รับประทานที่บ้าน อย่างง่ายๆ มีกับข้าวสัก 2-3 อย่าง ถือหลักมีรายได้น้อยก็ใช้น้อย และปฏิบัติจนชิน ไม่รู้สึกเป็นความยากลำบากอะไร
อ. ไพฑูรย์ เป็นนักวิชาการ ได้มีโอกาสได้ไปทำงาน เสนอผลงานหรือไปประชุมในต่างประเทศ ก็ชวนภรรยาไปด้วยทุกครั้ง ส่วนนี้ถือเป็นรางวัลของนักวิชาการ

เมื่อเร็วๆนี้ผมเคยคุยกับคุณอภิรัตน์ว่า “ต่อไปนี้ควรมีเวลาพักผ่อน น่าจะชวนกันไปเที่ยวให้มากๆนะ” คุณอภิรัตน์ “บอกว่าไปมามากแล้ว จนไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน เพราะไปมาหลายประเทศทั่วโลก ทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก รวมถึงเอเชีย อย่างจีน อินเดีย ASEAN

ผมบอกว่า “ไปเที่ยวแบบใกล้ๆในเมืองไทยสิ”

อ. ไพฑูรย์เป็นคนสมถะแม้ในปัจจุบัน เขาก็ยังคงทำงานสอน ใครมาเชิญไป ซึ่งมักจะได้แก่ลูกศิษย์ ก็ให้มีรถมารับส่ง ในระยะหลังมีปัญหาโรคกระดูกพรุน กระดูกสันหลังทรุดตัว ต้องผ่าตัดเสริมหมอนรองกระดูกเป็น Titanium 7-8 ข้อ จึงเดินหรือเคลื่อนไหวได้น้อยลง ระยะแรกๆก็ใช้ไม้เท้า แต่ระยะหลัง “จัดหารถเข็นมาให้ ก็เลยใช้รถเข็นตลอด ไม่ได้เดินเองเลย” คุณอภิรัตน์เล่าให้ฟัง “ชาติก่อน เขาคงดูแลเรามามาก ชาตินี้คงถึงคราวที่เราจะต้องเป็นฝ่ายดูแลเขา”

ปัจจุบันนี้คุณอภิรัตน์เป็นทั้งภรรยา เพื่อน เลขานุการ และพยาบาลผู้ดูแลใกล้ชิด

ไพฑูรย์ไม่ได้มองสภาพที่เกิดขึ้นว่าเป็นความทุกข์ยากอะไรพิเศษ เขามองตัวเองว่าต้องปรับสภาพการใช้ชีวิตให้สอดรับกับข้อจำกัดที่เกิดขึ้น ดังเมื่อไปเป็นวิทยากร เดินทางไปเองไม่ได้ แต่ถ้ามีคนไปรับ/ส่ง ก็จะไปได้ เมื่อสภาพร่างกายจำกัด เดินไม่ได้ แต่ถ้ามีคนช่วยเข็นรถให้ ก็ไปได้อย่างไม่จำกัด

การเจ็บป่วยในลักษณะอ. ไพฑูรย์เกิดขึ้นได้กับทุกคน ในช่วงที่เราอายุเลย 70 ปีขึ้นไป ไม่ป่วยด้วยโรคนั้น ก็เป็นโรคนี้ มีเพื่อนบางคนที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ความจำเริ่มถดถอยลงไปทุกที แม้สภาพร่างกายจะดูเป็นปกติ ที่ผมพูดเรื่องนี้ไม่ใช่เพื่ออ.ไพฑูรย์ แต่เพื่อเตือนสติคนทำงานรุ่นหลังๆ ที่ยังไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ไม่ต้องไปหักโหมชีวิตกับงานมากนัก กำหนดปริมาณงานที่จะรับให้พอเหมาะกับตัวเอง ทำให้ดีที่สุด แต่ก็ให้นึกถึงมิติอื่นๆของชีวิตด้วย

ในสุดท้ายนี้ ขอถือโอกาสอวยพรไปยังลูกศิษย์ทั้งหลายว่าต้องดูแลสุขภาพ การตั้งใจทำงานเป็นสิ่งที่ดี ทุ่มเทให้กับงานเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องรู้จักออกกำลังกาย ต้องนอนหลับพักผ่อน อย่าให้มีโรคที่คืบคลานมาแบบไม่รู้ตัวดังโรคกระดูกพรุน

ทำงานให้ได้สัก 1 ใน 3 ของไพฑูรย์ก็นับว่าพอแล้ว มีอะไรมากกว่านี้ก็ถือว่าให้รู้จักศิลปะของการปฏิเสธ และเลือกรับ ที่เหลือเวลาก็ให้ทุ่มเทกับงานที่รัก ต้องรู้จักดูแลสุขภาพ การพักผ่อน ออกกำลังกาย และหาสันทนาการของชีวิต  สนุกสนานบ้าง ทำงานที่รักจนวันสุดท้ายของชีวิตก็ดีไม่เป็นไร แต่ควรดูแลผ่อนหนักผ่อนเบา ปล่อยวางบ้าง

ทำงานยังไม่เสร็จอย่างที่ต้องการ ก็ไม่เป็นไร เก็บไว้ทำชาติหน้าก็แล้วกัน