Sunday, May 3, 2020

การศึกษาทั่วไปในยุคใหม่ (New General Education)


การศึกษาทั่วไปในยุคใหม่
(New General Education)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat

Updated: Sunday, May 03, 2020
Keywords: การศึกษาทั่วไป, General Education

ความนำ

ทำไม่จึงสนใจเขียนเรื่องนี้ เขียนเพื่ออะไร

เมื่อคุยกับหน่วยงานผู้รับบัณฑิตว่า เขาต้องการบัณฑิตที่มีคุณลักษณะอย่างไร มีส่วนหนึ่งเขาบอกว่า ต้องการ “คนดีมากกว่าคนเก่ง” เขาเชื่อว่าการจะสร้างคนเก่งนั้น แม้เรียนมาไม่ตรง แต่ถ้าตั้งใจและขวนขวายที่จะเรียนรู้ ก็จะไม่เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าได้คนไม่ดี ไม่มีความรับผิดชอบ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ ไม่ซื่อสัตย์ต่องานที่ทำ ต้องการค่าจ้างค่าตอบแทนสูง แต่ไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ได้ตามเป้าหมายข้อตกลง หาโอกาสทุกสถานการณ์ที่จะแสวงหาประโยชน์ใส่ตน คนในลักษณะหลังนี้จะพัฒนาได้ยาก

นอกจากนี้คือความคาดหวังต่อบัณฑิต ที่ดูยากที่จะทำได้ เช่น ต้องการคุณสมบัติที่เหมือนจะตรงข้ามกัน เช่น ต้องการคนรู้ลึกและรู้กว้าง ให้รู้ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ให้เป็นคนทำงานได้ เป็นวิศวกร ก็ให้เป็นคนมือเปื้อนได้ และก็เป็นคนทำงานนั่งโต๊ะได้ วางแผน เป็นหัวหน้างาน เป็นนักคิดได้ คนในลักษณะดังกล่าวพัฒนาได้ แต่ในช่วงเวลาที่ยาวนานของชีวิต เช่นเมื่อยังเยาว์วัย เป็นคนรู้ลึก ทำอะไรทำให้ได้จริง แต่เมื่ออายุมากขึ้น มาพัฒนาใหม่ให้เป็นคนรู้กว้าง จากรู้บางเรื่อง เป็นรู้หลายๆเรื่องที่สัมพันธ์กัน ทำให้ทำงานระดับใหญ่ได้

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเองสับสน คือเมื่อคิดถึงลักษณะบัณฑิต ดังเช่น Thailand 4.0 คือการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากยุคเกษตรกรรม 1.0 สู่ ยุคอุตสาหกรรมเบา 2.0  สู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก 3.0 และสู่ยุค Thailand 4.0  (ไทยแลนด์ 4.0) คือวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ผู้เขียนเห็นว่า การจะเปลี่ยนบัณฑิตไทยให้ก้าวหน้า และนำสังคมใหญ่สู่ความเป็น Thailand 4.0 เป็นเรื่องที่ดีและท้าทาย แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดสถาบันทุกแห่งจะดำเนินการตามไปได้ในในช่วงเวลาสั้นๆพร้อมๆกัน คงจะมีบางส่วนอยู่ในสังคมเกษตร แต่ก็เป็นสังคมเกษตรพัฒนา และไม่ทิ้งการพัฒนาชุมชนชนบทและสิ่งแวดล้อม บางส่วนยังคงอยู่ในระบบอุตสาหกรรมเบา แต่ก็ไม่ถึงกับล้าหลังจนเสียเปรียบ ไปแข่งขันกับระบบผลิตที่เขาก้าวสู่ยุคหุ่นยนต์และสมองกลแล้ว และเมื่อสังคมไทยก้าวผ่านสังคมอุตสาหกรรมหนัก และก้าวสู่โลกยุคข้อมูลข่าวสาร เราก็ต้องมาคิดว่า แล้วเราจะดูแลคนส่วนใหญ่ของประเทศกันอย่างไร เพราะโลกนี้และประเทศไทยนี้ก็ยังต้องมีระบบงานที่แบ่งปันรายได้และผลประโยชน์เพื่อการยังชีพแก่ทุกๆคน และทุกคนยังทำงานในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้

หลักความหลากหลาย

หลักของการอุดมศึกษา คือ ต้องให้ระบบมีความหลากหลาย (Diversity) เรามมีสถาบันคัดสรรพิเศษ (Elite Universities) มีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษา มีมหาวิทยาลัยเปิดที่ให้โออกาสคนจำนวนมากได้ศึกษาในระดับสูง คงเป็นเรื่องที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องไปศึกษาและออกแบบยุทธศาสตร์การศึกษาของตนเอง สามารถพัฒนาบัณฑิตให้ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเอง โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป เขาก็สามารถพัฒนาตนเองไปได้ ไม่ติดอยู่กับโลกที่ล้าหลังและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเสมอไป

สังคมมหาวิทยาลัยก็ต้องเรียนรู้ว่ามีสถาบันอยู่นับเป็นพันแห่ง แต่ละแห่งก็ต้องมีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีสิ่งเก่าๆที่ดีมากมายที่เรายังต้องรักษาไว้ และมีสิ่งใหม่ๆที่สถาบันแต่ละแห่งต้องเรียนรู้ที่จะก้าวตามทัน หรือก้าวหน้าแบบเตรียมสังคมให้พร้อมสำหรับก้าวต่อๆไป

มีอีกประการหนึ่ง แต่ละมหาวิทยาลัยล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาทั่วไป แต่ก็ไม่เหมือนกัน สถาบันประเภทคัดสรร ต้องสร้างบัณฑิตที่เก่ง ก็ต้องขอให้สร้างได้อย่างมีความคุ้มแก่ค่าการลงทุน

การสร้างบัณฑิตที่ดี

ในบทความนี้ ขอจำกัดเป้าหมายผลิตบัณฑิตที่เก่งเอาไว้ก่อน ขอเน้นเรื่องการสร้างบัณฑิตที่ดี และดีอย่างไร เรื่องนี้แม้มหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือสถาบันในท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณหรือรายได้อย่างจำกัด ก็สามารถดำเนินการได้
คุณลักษณะบัณฑิตมี 2 ส่วนที่น่าสนใจ และเป็นเป้าหมายที่ดี คือ การเป็นผู้นำ (Leaders) และการเป็นนักประดิษฐ์ (Inventors)

ในด้านความเป็นผู้นำ เขามักจะกล่าวถึงคุณสมบัติต่อไปนี้ที่ผู้นำควรมี คือ

การสื่อสาร (Communication) ในที่นี้คือทั้งการฟัง การอ่าน การพูด และการเขียน ; ความซื่อสัตย์ ความมีศักดิ์ศรี (Integrity) คือทำดีได้โดยแม้ไม่มีคนเห็น ; ความรับผิดชอบ (Accountability) รับคำรับงานแล้ว ต้องทำให้ได้ ; ความเอาใจใส่ (Empathy) ไม่ว่าจะได้รับมอบหมาย หรือเลือกทำอะไร ก็ทำด้วยความเอาใจใส่ ; ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) คนไทยตั้งแต่ในอดีตมามีสิ่งนี้ติดตัวมาเหมือนชาวเอเซียทั่วไป ; ความยืดหยุ่นและทนทาน (Resilience) รู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบา เหมือนกับการกีฬา ที่ผู้เล่นต้องรุกเป็น และบางช่วงก็ต้องถอยเป็น ; วิสัยทัศน์ (Vision) ; มีอิทธิพล (Influence) ; มองโลกในแง่บวก (Positivity) ; รู้จักกระจายอำนาจ มอบหมายงาน (Delegation) ; มีความมั่นใจในตนเอง (Confidence) และมั่นใจในสิ่งที่ทำ

ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะมีคุณสมบัติดังที่กล่าว ผู้เขียนคิดว่า มีเพียงสักครึ่งของที่ได้กล่าวมานี้ก็นับว่าดีพอแล้ว แต่ก็อย่าให้ขาดแคลนจนถึงกับเป็นปัญหาในชีวิต ยกตัวอย่าง คนไทยและคนเอเชีย เราสอนกันมาให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนจนถึงมหาวิทยาลัยจึงจะมี คนโดยหลักแล้วยิ่งเรียนเราจะยิ่งรู้ว่า เรารู้อะไรมากมาย แต่นั่นเป็นเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย และที่คิดว่ารู้นั้นก็อาจจะรู้มาผิด หรือสรุปผิด

ในทุกหน่วยของสังคม ไม่ว่าเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานร้านค้าเล็กๆ หรือเติบใหญ่ดูแลบริษัทขนาดใหญ่ หรือทำหน้าที่บริหารประเทศ เขาล้วนต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ และต้องค่อยๆพัฒนาไปเป็นลำดับ ความเป็นผู้นำเป็นเหมือนศักยภาพที่คนมี แต่อาจแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว แต่ประสบการณ์จะเริ่มมีส่วนขัดเกลา ทำให้เรามองเห็นความเป็นผู้นำที่มีมากขึ้น

จอร์จ วอชิงตัน มหาตมะ คานธี นโปเลียน อับราฮัม ลินคอล์น เหมา เจอตุง บุคคลเหล่านี้จัดได้ว่ามีความเป็นผู้นำ บางมหาวิทยาลัยชั้นนำ ดังเช่น Harvard University หรือ Yale Universityของสหรัฐอเมริกา Oxford University และ Cambridge University ของอังกฤษ ล้วนมีประวัติศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ ได้เป็นผู้บริหารประเทศมากกว่าแห่งอื่นๆ แต่การได้ศึกษาในสถาบันดังกล่าว ก็ไม่ใช่หลักประกันที่จะได้พัฒนาความเป็นผู้นำ แต่การไม่ว่าจะเรียนที่ไหน แต่มีการพัฒนาตนเองอยางไม่หยุดยั้ง เขาก็ก้าวสู่ความเป็นผู้นำที่ดีได้ ไม่มีมหาวิทยาลัยใดมีหลักสูตรเฉพาะที่สอนคนเป็นผู้นำหรอก นักศึกษาที่เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องอาศัยทักษะและทัศนคติที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต แสวงหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ และเขาต้องมีโอกาส เขาจึงจะเป็นผู้นำที่แท้จริง

ในอีกด้านหนึ่ง คือ การผลิตหรือพัฒนาคนให้เป็นนักประดิษฐ์ (Inventors) เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สถาบันการศึกษาใดๆ จะสร้างคนให้มีคุณลักษณะนี้ภายในช่วงเวลาที่เขาเป็นนักศึกษา 4-5 ปี สถาบันอุดมศึกษามีส่วนช่วยให้ผู้เรียนริเริ่ม ทำโครงการที่ล้มเหลวได้ โดยการเรียนการสอนด้วยโครงการ และอื่นๆ ทำแล้วยังไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อไป

มหาวิทยาลัยมีส่วนในการค้นพบสิ่งต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ แต่ก็กล่าวได้ว่า ไม่มีสถาบันแห่งใดประสบความสำเร็จในการผลิตนักประดิษฐ์โดยตรง ตรงกันข้าม นักประดิษฐ์ อย่าง โธมัส เอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) เฟอร์ดินาน พอช (Ferdinand Porsche)  ในระยะหลัง เช่น สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs)  บิล เกตส์ (Bill Gates) อีลอน มาสค์ (Elon Musk) คนเหล่านี้คือคนที่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย มีหลายราย เข้ามาเรียนแล้ว แต่เลือกที่จะออกไปคิดค้นงานของตนเอง โดยไม่ได้กลับเข้ามาศึกษาต่ออีกเลย

คุณสมบัติของนักประดิษฐ์ที่มีการรวบรวมกันมามีดังนี้ เช่น - สามารถทนต่อความล้มเหลว (Able to tolerate failure) นักประดิษฐ์ต้องมีความมั่นคง ไม่ท้อแท้ ; มุ่งเน้นที่ความสำเร็จ (Achievement oriented) ซึ่งอาจเป็นความสำเร็จเล็กๆ แล้วค่อยๆก้าวต่อไป ; แข่งขัน (Competitive) นักประดิษฐ์มักต้องจับตามองคู่หรือกลุ่มแข่งขัน หากคู่แข่งเขาทำสำเร็จแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าแล้วขั้นต่อไปที่ยังไม่รู้ หรือทำไม่ได้นั้นคืออะไร ; สร้างสรรค์ (Creative) ; เรียกร้อง (Demanding) เมื่อรับงานใด ก็ต้องรู้ว่าจำเป็นต้องใช้คนและทรัพยากรอย่างไร ; มุ่งเน้นเป้าหมาย (Goal oriented) ; มีพลังมาก (Highly energetic) พลังนี้เป็นส่วนทั้งทางร่างกายและจิตใจ และต้องดำเนินไปควบคู่กับการพักผ่อน ; เป็นอิสระ (Independent) นักประดิษฐ์ต้องคิดได้อย่างอิสระ ; มีนวัตกรรม (Innovative) คิดใหม่ทำใหม่ ; อยากรู้อยากเห็น (Inquisitive) นักประดิษฐ์จึงต้องเป็นคนที่เต็มไปด้วยคำถาม อะไร ที่ไหน ใครทำ ทำอย่างไร ฯลฯ ; เปิดรับความคิดเห็น (Open to feedback) ; หมั่น ดื้อ ไม่ยอมลดละ (Persistent) ; เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย (A risk-taker) ; มีความมั่นใจในตนเอง (Self-confident) แต่ต้องไม่เป็นคนหลงตน ; และมีแรงจูงใจด้วยตัวเอง (Self-motivated) นักประดิษฐ์ที่ดี ต้องมีแรงจูงใจที่ไม่ใช่เพียงเงิน ชื่อเสียง ลาภยศ หรือสรรเสริญ

มหาวิทยาลัยภาคประชาชน

ไม่มีประเทศใดพัฒนาไปได้ด้วยการส่งเสริมเพียงมหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนน้อย (Elite Universities) แล้วบ้านเมืองจะเจริญไปได้อย่างต่อเนื่อง ประเทศอังกฤษมีการศึกษาแบบเพื่อชนคัดสรร คนระดับฐานราก ก็เรียนทางวิชาชีพไป แต่ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ความคาดหวังของประชาชนต้องการการอุดมศึกษาใหม่ ที่คนระดับทั่วไปมีสิทธิได้รับประโยชน์ จึงได้มีการขยายระบบอุดมศึกษาออกไปอย่างกว้างขวาง

ลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องให้ความสำคัญต่อระบบอุดมศึกษาอย่างครอบคลุม
สหรัฐอเมริกา มีขนาดประชากร 330 ล้านคน มีสถาบันอุดมศึกษา 5,300 แห่ง มีนักศึกษา 20.22 ล้านคน มีสถาบันที่เป็นลักษณะคัดสรรพิเศษประมาณ 300 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย (Research Universities) ที่เป็นที่รู้จักกันทั่้วโลก และในอีกด้านหนึ่ง เขาก็มีมหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ตลอดจนมีวิทยาลัยชุมชน (Community colleges) จำนวนถึง 1,132 แห่ง มีผู้เรียน 13 ล้านคน วิทยาลัยประเภทนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และเมือง จึงมีค่าเล่าเรียนต่ำ สถาบันเหล่านี้ถือเป็นฐานรากในการอาชีพของสังคมยุคใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงานทางเลือก เช่น พลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ คนงานที่จะไปคุมระบบหุ่นยนต์ในโรงงาน เหล่านี้ต้องอาศัยการผลิตกำลังคนในแบบใหม่ หรือผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ พ่อครัวร้านอาหาร ฯลฯ เหล่านี้ต้องการการอุดมศึกษาในแบบใหม่

การอุดมศึกษาภาคประชาชน (Mass Higher Education) นี้ มีส่วนสร้างฐานรากของอุตสาหกรรมหนัก และภาคธุรกิจบริการ

เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนทุกระดับของประเทศ คนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ของสหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์จาก Mass Higher Education นี้ แต่สถาบันอุดมศึกษาทุกประเภททุกระดับต่างต้องแสวงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีระดับการจัดอันดับ และทุกฝ่ายต้องขวนขวายพัฒนามหาวิทยาลัยของตนให้อยู่ในสถานะที่ดีที่สุด

ในประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ พวกได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างอุดมสมบูรณ์ (The Have) ดังเช่นมหาวิทยาลัยวิจัย มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่ตั้งมาก่อนคนอื่นๆ และอีกพวกหนึ่งเป็นพวกที่ได้รับงบประมาณอย่างกระพร่องกระแพร่ง (The Have Not)
ประเทศไทยมีประชากร 69 ล้านคน มีสถาบันอุดมศึกษา 310 แห่ง มีผู้เรียนตามการแจ้ง 2.2 ล้านคน หากนับรวมการอาชีวศึกษา หลังมัธยมศึกษา และรวมมหาวิทยาลัยเปิด คงประมาณ 3.4 ล้านคน

The Have มีสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการคัดสรรพิเศษ (Elite universities) ในประเทศไทย คงมีประมาณ 30 แห่ง ที่ได้รับงบประมาณในระดับสัดส่วนพิเศษ ดังเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม. ธรรมศาสตร์ ม. มหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีต่างๆ มหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค ดังเช่น ม. เชียงใหม่ ม. ขอนแก่น ม. สงขลานครินทร์ เป็นต้น มหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตทางการแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์นั้นมีต้นทุนการผลิตต่อหัวสูง

The Have Not สิ่งที่สังคมควรจะให้ความสนใจ คือ การให้ความสำคัญแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา ที่มีนักศึกษามาก ได้รับงบประมาณของแผ่นดินเมื่อเทียบรายหัวน้อย แต่เป็นฐานรากในการพัฒนาประเทศ ดังเช่น ม. ราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเปิด หรือไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐโดยตรงเลย ดังในกรณีของมหาวิทยาลัยเอกชน

ผู้เรียนร้อยละ 80 เรียนอยู่ในสถาบันประเภทดังกล่าว ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า “มหาวิทยาลัยภาคประชาชน” หากพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่งและคนดีได้บ้าง ก็ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเขาเอง และต่อสังคม

การศึกษาทั่วไป

การศึกษาทั่วไป (General Education) คือโปรแกรมการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาให้มีบุคลิกภาพนอกเหนือไปจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นการปลูกฝังและส่งต่อทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม เปรียบได้เหมือนศิลปศึกษา (Liberal Education)

หากสถาบันอุดมศึกษาสร้างคนดี แต่ไม่เก่ง หรือเก่ง แต่เป็นคนไม่ดี ก็ล้วนเป็นสิ่งที่สังคมและตลาดงานไม่ต้องการ ชาวบ้านไม่ได้สนใจว่าแล้วมีการศึกษาทั่วไปที่ดีหรือไม่
สำหรับสถาบันอุดมศึกษาภาคประชาชน สำหรับร้อยละ 80 ของสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากใช้วิธีการคิดงบประมาณไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยกลุ่มได้รับการคัดสรร แต่ค่าใช้จ่ายนี้อาจมาจากหลายแหล่ง แต่สถาบันก็ต้องมีหลักคิดถึงความคุ้มนการลงทุน (Accountability) มหาวิทยาลัยต้องมียุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยที่ทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด

“แมวดำแมวขาวไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้”

จุดหมายปลายทางถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ส่วนวิธีการนั้น ให้เป็นเรื่องของสถานศึกษา และชุมชนไปมีความยืดหยุ่นในการจัดการ

สถาบันอาจไม่ได้คิดการพัฒนาวิชาการอย่างแยกส่วน เพราะต้องคิดไปถึงเมื่อผลิตคนให้จบการศึกษาไปนั้น เขามีคุณสมบัติโดยองค์รวม ผู้จบการศึกษามีงานทำที่ดี เป็นกำลังให้กับหน่วยงานต่างๆได้ดีหรือไม่ สิ่งที่สอนอาจไม่ใช่เป็นรายวิชา เพราะการเรียนการสอนอาจต้องมีการคาบเกี่ยวระหว่างภาควิชา (Inter-disciplinary)
อาจต้องใช้คนเชี่ยวชาญทั้งจากภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย อาจทั้งจากภาคธุรกิจ ชุมชน และองค์กรอื่นๆ สถานที่เรียนอาจต้องเปลี่ยนไป บางส่วนต้องใช้วิทยาการใหม่ที่ทำให้เรียนแบบออนไลน์ได้ เรียนจากที่บ้าน หรือที่ทำงานได้

มหาวิทยาลัยอาจไม่ต้องไปส่งเสริมอาจารย์ให้เขียนตำรา ซึ่งอาจเป็นไปแบบซ้ำๆกับที่อื่นๆ แต่เลือกพัฒนาและผลิตไปตามความถนัดของตนเอง วิชาหรือเนื้อหาที่ใช้สอน อาจเป็นส่วนที่มีพัฒนาอยู่แล้ว ในรูปของ Courseware หาเรียนได้จากออนไลน์ อาจต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์บ้าง แต่ก็จะถูกกว่าต้องมานั่งผลิตงานวิชาการทุกอย่างเอง

เนื้อหาวิขาร้อยละ 20-50 ผู้เรียนหาเรียนได้จากออนไลน์ ความสำคัญคือเรื่องของการทดสอบ การสอบ (Examination) จึงต้องเป็นเรื่องจริงจัง หากต้องสอบแบบออนไลน์ ก็ต้องมีศูนย์ทดสอบตรวจสอบอัตลักษณ์ของบุคคลผู้เข้าสอบได้ วิชาใดที่ต้องการสมรรถนะอย่างชัดเจน ก็สามารถกระทำได้อย่างมีวิทยาการ ยกตัวอย่าง การทดสอบความสามารถด้านภาษา ดังภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หรือภาษาต่างประเทศทั้งหลายนั้น เราสามารถใช้ระบบทดสอบมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันในโลกได้ หรือสมรรถนะด้านการช่าง การดนตรี ศิลปะ การทำอาหาร เหล่านี้เราก็ต้องมีรูปแบบการทดสอบและวิทยาการเกี่ยวข้องที่เหมาะสม

การเรียนควบคู่กับการทำงาน

Work-Study Programs

การแบ่งแยกว่าวิชาการส่วนใดจะเป็นส่วนของวิชาชีพ หรือเป็นการศึกษาทั่วไป จะไม่สำคัญเท่ากับการได้พัฒนาคุณลักษณะและความสามารถของผู้เรียน

การเรียนบางอย่างอาจเป็นเพียงการส่งนักศึกษาเข้าไปรับประสบการณ์ ทำงานอย่างง่ายๆ ได้ค่าตอบแทนมาเพียงพอ ใช้ทักษะวิชาชีพขั้นเบื้องต้น แต่ผู้เรียนก็จะได้ประสบการณ์จากโลกของการทำงาน ได้ค่าตอบแทนมาบ้าง ก็ทำให้เห็นคุณค่าของเงิน และเริ่มเรียนรู้ว่า เขาต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อจะได้ทำงานอย่างที่เขาประสงค์ นอกจากนี้คือการที่เขาได้ทำงานร่วมกับคน หากได้พี่เลี้ยงงาน (Mentorship) ที่ดี ให้คำแนะนำในการทำงานเป็นระยะ ครูฝึกงานนี้อาจมีจากหน่วยงานหรือองค์การที่นักศึกษาไปฝึกงานหรือทำงาน เวลาเขามีประชุมภายในหน่วยงาน ก็ได้ร่วมรับฟังรับรู้ไปด้วย บางส่วนที่เป็นวิชาการเฉพาะ อาจมีอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญจากสถานศึกษาเข้าไปเยี่ยม และให้การศึกษาเสริมการทำงานไปด้วย

สู่ความเป็นคนดี คือการเสริมสร้างในสิ่งที่นอกเหนือจากการอาชีวศึกษา หรือวิชาชีพ หรือการเรียนเพื่อนำไปสู่การมีงานทำ เขาพัฒนางานนั้นๆต่อเนื่องได้ ในด้านความเป็นคนดี เขาทำงานของเขาอย่างขยันหมั่นเพียร ผลงานที่มีความเป็นเลิศ เป็นนายก็ไม่เอาเปรียบลูกน้อง ทำการค้า ก็ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาต่อลูกค้า ทำงานก็ไม่หยุดนิ่ง คิดพัฒนางานใหม่ๆไปได้เรื่อย ทำได้อย่างมีความสุข ไม่ย่อท้อ มีปัญหาก็เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหานั้นๆไป

คนในลักษณะนี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นเจ้าของร้านอาหาร ทำกิจการโรงแรม ทำไร่ทำสวน เขาก็จะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นอีก 10-20 ปีข้างหน้า แล้วหันมาดูสิ่งที่เราผลิตจากสถาบันอุดมศึกษาโดยทั่วไปในปัจจุบัน ขอยกตัวอย่างสักหนึ่งรายการ คือ ด้านการเกษตร ชาวนาและเกษตรกรทั้งหลายมีที่ดินเฉลี่ยระหว่าง 8-40 ไร่ พ่อแม่ที่ส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา หากเรียนทางด้านการเกษตร ผู้เรียนก็เรียนแบบที่จะไปรับราชการ หรือเป็นลูกจ้างให้กับบริษัทขนาดใหญ่ เรียนไปเพื่อเป็นมนุษย์เงินเดือน ยิ่งเรียนมาก ก็ยิ่งไม่อยากอยู่ในท้องไร่ท้องนา หากเขารับมรดกจากพ่อแม่ เขาคงขายที่ดิน แล้วหันไปทำงานในเมือง เป็นลูกจ้างเขาไปเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการศึกษาไปลดค่าคุณสมบัติของชาวนาที่มี เช่นความอดทน ความขยันหมั่นเพียร และรักธรรมชาติ

ลดต้นทุนทางการศึกษา

สถาบันอุดมศึกษามีปัญหาไปเพิ่มราคา (Price/Cost) ให้กับการศึกษา แต่ไม่ได้เพิ่มคุณค่า (Value)

สถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนล้วนมีราคา ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ค่าเล่าเรียนตกปีละ 30,000-70,000 บาท และมีที่ราคาขึ้นไปถึง 700,000 บาท/ปี ดังในกรณีของหลักสูตรการศึกษานานาชาติ หากมาจากต่างจังหวัด มีเป็นอันมากต้องย้ายที่พักไปอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย ต้องเสียค่าที่พักอีกเดือนละ 2,000-6,000 บาท ค่าอาหารวันละ 2-3 มื้อ 100 บาท หากเป็นในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเดินทางวันละ 20-100 บาท หลายคนได้รับคำแนะนำให้ไปใช้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา คนที่ไม่มีการไตร่ตรอง ก็กู้มาก ถือโอกาสได้เงินมาใช้ แล้วค่อยไปหาทางออกในภายหลัง ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่พ่อแม่ต้องลงทุนอีกประมาณ 120,000-150,000 บาท/ปี ระยะเวลาในการเรียน 4 ปี ใช้เงินลงทุนเท่ากับ 500,000-600,000 บาท

แต่เมื่อจบมาทำงาน ก็มักจะไม่ได้ค่าตอบแทนมากอย่างที่หวัง เพราะหน่วยงานเขาจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานที่ทำ และเมื่อผู้เรียนไม่ได้งานที่มีค่าตอบแทนพอ ก็ไม่อดทนทำงานนั้นๆ กลายเป็นคนตกงาน

พ่อแม่หลายคนจึงเปลี่ยนความคิดใหม่ ให้เรียนอะไรก็ได้ที่จบแล้วมีงานทำก่อน ดังการเรียนมัธยมศึกษาสายอาชีวะ แล้วค่อยไปหาทางศึกษาเล่าเรียนในภายหลัง เราจึงพบปรากฏการณ์บัณฑิตใหม่ตกงาน เพราะเขาเลือกงาน ต้องการได้ค่าตอบแทนสูง เพราะเขาและครอบครัวได้ลงทุนไปมากแล้ว ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังจึงพบผู้จบมัธยมศึกษา แล้วไม่เรียนต่อในมหาวิทยาลัย อัตราผู้เรียนอุดมศึกษาจึงลดลงมากถึงร้อยละ 20-40 และเมื่อเรียนไปแล้ว ก็ยังมีการออกกลางครันอีกจำนวนหนึ่ง

มหาวิทยาลัยระดับกลางและล่างไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับผู้เรียนและผู้ปกครอง

ลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ “ลดราคาการศึกษา แต่ไปเพิ่มคุณค่า” (Lower Cost, Higher Value)

กิจกรรมลดราคาการศึกษา (Lower Cost) กิจกรรมนี้ให้เป็นทางเลือกของนักศึกษาและผู้ปกครองในทุกสถาบัน เช่น ด้านค่าเล่าเรียน ลดค่าเล่าเรียนลงได้เท่ากับ 1 ใน 4 ปี โดยผู้เรียนใช้การสอบเทียบ มีหลายวิชาที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น ทักษะภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์ วิชาที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสอบเทียบได้ เหมือนมหาวิทยาลัยเปิด ดังม. รามคำแหง ม. สุโขทัยธรรมาธิราช ไม่ต้องมาชั้นเรียนก็สามารถสอบเทียบได้ ด้านเวลาเรียนจากที่ต้องมาเรียน 5 วัน/สัปดาห์ ก็ลดลงไป ให้จัดตารางเรียนใหม่ ลดเวลามาสถาบันลงไป 2 วันต่อสัปดาห์ ทำให้สามารถใช้เวลาเพื่อทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย หากต้องการเพิ่มโอกาสให้กับผู้เรียน ให้เขาเรียนในภาคพิเศษ นอกเวลาทำงาน และเสาร์-อาทิตย์ ที่สำคัญคือการฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน การค้นหาความรู้ ใช้เพื่อการแปลภาษา ฯลฯ

ในด้านเพิ่มคุณค่าของการศึกษา (Value) แต่ละสถาบันต้องถามตนเองว่า เมื่อผู้เรียนมาเรียนและจบการศึกษาไปนั้น เขาได้มีอะไรติดตัวไปบ้าง มีอะไรที่เป็นคุณค่าใหม่ ทำให้เขาทำงานที่มีค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เขาได้ริเริ่มงานใหม่ ที่หากไม่ได้มาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วจะทำไม่ได้
มหาวิทยาลัยต้องหันกลับไปดูสภาพแวดล้อมของผู้เรียน มีอะไรที่จะไปลดค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษาได้บ้าง มีอะไรที่เรียนแล้วมีความสามารถพิเศษ ทำให้ทำงานใหม่ๆ เช่น รู้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศ รู้การวางแผนการลงทุน รู้ทักษะการจัดการ ทั้งทางด้านการจัดการคน และการจัดการทรัพยากร

การที่ผู้เรียนได้ทำงานในระหว่างเรียน เขาจะเห็นคุณค่าของงาน รับผิดชอบมากขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น ได้เห็นตัวอย่างการทำงานในองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ตัวเขาเองก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้น

การศึกษาทั่วไปที่เปลี่ยนไป

สถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่และขนาดเล็กมองการจัดการศึกษาทั่วไปไม่เหมือนกัน

ในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ วิชาการศึกษาทั่วไป เป็นเหมือนสินค้าในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ (Academic Supermalls) มีทุกอย่างให้เลือกเรียนตามความสนใจและความเหมาะสม มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในสหรัฐ ดังเช่น Ohio State University มีผู้เรียน 66,444 คน มีวิชาเปิดสอนกว่า 12,000 วิชา Penn State University มีผู้เรียน 98,783 คน มีสาขาวิชาเอกเสนอถึง 275 สาขาวิชา มีมหาวิทยาลัยในลักษณะนี้ ผู้เรียนต้องรู้ว่าตนเองต้องการอะไร และเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนเข้า หากมองความต้องการของตนเองไม่ชัดเจน เขาไปแล้วก็มีเป็นอันมากต้องออกกลางครัน กลายเป็น Dropouts

มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในประเทศไทยก็มีลักษณะเช่นนี้ ผู้เรียนใหม่เข้ามาเรียนก็เหมือนกับคนไปหาซื้อสินค้าในห้างใหญ่ แล้วเสียเวลาเดินหลงไป แต่แล้วไม่ได้สิ่งของอย่างที่ต้องการ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มักเหมาะกับการเรียนเพื่อเป็นคนเก่ง แต่ไม่เหมาะในการบ่มเพาะการเป็นคนดี การศึกษาคือประสบการณ์ที่ต้องแข่งขัน โดดเดี่ยว

มหาวิทยาลัยขนาดเล็กและขนาดกลาง ต้องไม่คิดแบบมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยขนาด 1,000-3,000 คนจะมีปัญหาด้านความอยู่รอด หากคิดถึงรายได้หลักของมหาวิทยาลัยต้องขึ้นกับค่าเล่าเรียน มหาวิทยาลัยจะอยู่ได้ต้องมีแหล่งรายได้จากหลายๆที่ ต้องมีวิธีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ

มหาวิทยาลัยขนาดเล็กและกลางมักมีปัญหาด้านทรัพยากร ต้องมีวิธีการบริหารที่ดี การศึกษาอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจการ หรือไม่ก็ต้องมีหุ้นส่วนหรือองค์การให้การสนับสนุนที่ชัดเจน และสถาบันสามารถทำงานและหน้าที่ได้ดังที่ได้รับการคาดหวัง

ด้านประสิทธิภาพการจัดการ เมื่อเนื้อหาวิชาการที่ต้องการความเข้มแข็ง ก็ต้องไปหาทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมมาสอน อาจจะเป็นจากมหาวิทยาลัย หรือจากองค์กรที่เขามีคนและความเชี่ยวชาญ วิธีการสอนก็อาจมาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า เดินทางมาสอนตามความร่วมมือให้กับที่ต่างๆ หรือไม่ก็เป็นการสอนในระบบออนไลน์

การเรียนการสอนแบบบูรณาการ (Integrated learning) เกี่ยวกับเนื้อหาแบบข้ามวิชาการ มหาวิทยาลัยต้องเริ่มจากมีโจทย์ทางวิชาการที่ท้าทาย ดังในประเทศจีน มหาวิทยาลัยสามารถตั้งบริษัท รับงานจากภายนอก เช่น ทำความร่วมมือกับท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายเทคนิค นำวิชาการไปร่วมกับชุมชนการเกษตร หรืออุตสาหกรรมของท้องถิ่น ผลประโยชน์เป็นการแบ่งส่วนกำไร ส่วนหนึ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัย หรือเพื่อสนับสนุนการศึกษาของผู้เรียน

มหาวิทยาลัยยุคใหม่ต้องตอบโจทย์ที่ท้าทาย และมีความสำคัญต่อสังคม

โจทย์ที่ 1 ทำฟาร์มในทะเลทราย

การเปลี่ยนทะเลทรายให้กลายฟาร์มที่มีผลิตผลในระดับเลี้ยงตัวเองได้

วัสดุที่ช่วยทำให้ดินหรือทรายมีลักษณะอุ้มน้ำ และเก็บความชื้นได้ เป็นการคิดค้นของมหาวิทยาลัย เมื่อผสมกับดินหรือทรายแล้ว ทำให้ดินมีสภาพอุ้มน้ำ พืชที่ใช้ปลูก ต้องผ่านการเพาะชำ ให้มีความทนต่อความแล้ง แต่เมื่อออกผล จะให้ผลิตผลที่เป็นที่ต้องการของตลาด

นักศึกษาซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชน ทำงานเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย และชุมชนการเกษตร ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้วิทยาการประยุกต์ เรียนรู้วิธีการทำงานแบบประสานงานกัน
ครูอาจารย์ผู้สอน ทำงานแบบเป็นทีม (Team teaching) มีบุคคลจากนอกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมได้ หรือจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เขาสามารถมาเรียนรู้ร่วมกันได้

สถานที่เรียนให้เปลี่ยนไป (Changing learning environment) ไม่จำกัดเฉพาะในห้องบรรยายในมหาวิทยาลัย - โรงงาน ไร่นา ป่า เขา ท้องทะเล ชุมชน เมื่อสถานที่เรียนเปลี่ยนไป ระบบสนับสนุนก็ต้องปรับตาม

โจทย์ที่ 2 ชุมชนเป็นมิตรกับผู้สูงวัย

การพัฒนาชุมชนที่ให้การดูแลผู้สูงวัยในแบบใช้ชุมชนเป็นฐาน

ปัจจุบัน ในประเทศตะวันตกมีศูนย์ดูแลผู้สูงวัย เรียกว่า Nursing Home หรือ Care Home แต่สภาพที่เป็นก็คือเหมือนเอาผู้ใหญ่ พ่อแม่ยามชรา มีอาการหลงลืม ไม่มีคนดูแล แล้วเอาไปฝากไว้กับสถานดูแลผู้สูงวัย ฝากแล้วก็เหมือนฝากลืม ยามเกิดโรคระบาดดังโรคไวรัสทางเดินหายใจ Covid-19 คนสูงวัยที่อ่อนแอมีโรคแทรกซ้อนอยู่แล้ว ก็จะเสียชีวิตได้ง่าย และอย่างรวดเร็ว

ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีชุมชนแบบผู้สูงวัยยังอยู่ในชุมชน ลูกหลานมาเยี่ยมได้ มาพักร่วมด้วยได้ เมื่อแข็งแรงก็กลับไปอยู่บ้านได้ หน่วยงานที่จะดูแลกิจกรรมดังนี้ได้ดี ส่วนหนึ่งคือชุมชนศาสนา และอีกส่วนหนึ่งคือชุมชนวิชาการ ชุมชนที่มีนักศึกษาเป็นแรงงานที่ได้เรียนรู้ไปกับกิจกรรมด้วย

ตัวอย่างโจทย์ทั้งสองข้อนี้ ล้วนเป็นความต้องการของสังคม หากมหาวิทยาลัยทำสำเร็จ ก็จะได้รับรางวัลที่เปลี่ยนมาเป็นเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัย

ระบบค่าตอบแทนที่เปลี่ยนไป

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

ระบบค่าตอบแทน เปลี่ยนไป (Changing remuneration scheme) เมื่อความเป็นเจ้าของเปลี่ยนไป มีหุ้นส่วนใหม่เข้ามาร่วมรับผิดชอบ เช่น องค์การอุตสาหกรรม การค้า องค์กรส่วนท้องถิ่น หรือมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ แหล่งเงินที่ใช้เป็นค่าตอบแทนก็เปลี่ยนไป และต้องเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็ต้องสามารถแสดงความโปร่งใส และมีความคุ้มค่าต่อเม็ดเงินลงทุน

ค่าตอบแทนผู้สอน ค่าเดินทาง ค่าที่พักหากจำเป็น ผู้สอนบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในความร่วมมือ ด้านค่าใช้จ่ายนี้ ต้องเข้าใจว่าอย่าให้เป็นภาระแก่ผู้สอน เพราะหากเป็นไปนานๆเข้า ผู้สอนก็จะล้าและถอยห่างออกไป

การเรียนเป็นแบบโครงการ (Project-Based Learning) โครงการบางอย่างที่เป็นกิจกรรมจำเป็นหรือเร่งด่วนของชุมชน ก็ปรับให้กลายเป็นกิจกรรมการเรียน มีหน่วยกิตเป็นค่าน้ำหนักให้

กิจกรรมที่มีจุดเริ่มต้น และมีจุดสิ้นสุด เช่น การดับไฟป่า การปลูกป่า การทำฝายน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน

รายงานผลการเรียน ลดความเป็นรายวิชา แต่เรียนจบเป็นโครงการ รายงานผลเป็นแบบ Portfolio บางอย่างเป็นเรื่องใหม่ ต้องมีการฝึกอบรม และสร้างแบบฟอร์มในการรายงาน เพื่อทำให้การรายงานง่ายขึ้น

สรุปท้าย

การศึกษาทั่วไปเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า แต่ในโลกยุคใหม่ ปัญหาวิกฤติบางอย่างทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีการมอง และต้องอาศัยการปฏิรูปยุทธศาสตร์การจัดการอุดมศึกษาใหม่
ปัญหาผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ประโยชน์ของการอุดมศึกษากลับไม่ชัดเจน คนมองไม่เห็นคุณค่า ทางออกคือต้องดึงฝ่ายต่างๆเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ระดมความคิดและเปลี่ยนวิธีการจัดการ

การให้ความสำคัญต่อสถาบันการศึกษาระดับล่าง ที่รับผิดชอบต่อผู้เรียนจำนวนมาก ต้องมีการสนับสนุนการเงิน แต่แหล่งเงินจะมาจากหลายที่ หลายหุ้นส่วนในกิจกรรม ทั้งจากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ท้องถิ่น หรือในบางกรณีคือสถานศึกษาจากต่างประเทศ

การระดมนักคิด เพื่อให้มองเห็นปัญหาร่วมกัน และต้องมีนักคิดบางส่วนที่มีทักษะการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในระดับสถาบัน ซึ่งกิจกรรมการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์นี้จะนำไปสู่การรับรู้ในระดับกรรมการบริหารสถาบัน การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และการแสวงหานักบริหารอุดมศึกษาที่มีประสบการณ์จากที่ต่างๆ

โดยการเปลี่ยนแปลงนั้น มักจะต้องได้แรงเปลี่ยนจากภายนอกสถาบัน และคนในชุมชนต้องเรียนรู้ศักยภาพของสถาบัน และเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการปฏิรูปสถาบัน การเปลี่ยนแปลงต้องการนักบริหารและผู้นำที่บริหารอย่างมืออาชีพ การเล่นพวก (Nepotism) เพื่อให้ได้คนคุ้นเคย แต่ไม่ใส่ใจคนดีมีความสามารถ ก็จะทำให้งานไม่สามารถบรรลุผลได้ เราจึงต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการบริหารไปด้วย



ประวัติผู้เขียน

รศ.ดร. ประกอบ คุปรัตน์ (Asso Prof Dr. Pracob Cooparat) เกิดปี พ.ศ. 2489
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางครุศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและ Specialist Degree ทางด้านบริหารการศึกษาจาก Kansas State Teachers College, Kansas, USA และ Ph.D. ทางบริหารอุดมศึกษา จาก The University of Oklahoma, USA
ประวัติการทำงานในอดีต - เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, อาจารย์ประจำภาควิชาอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มีประสบการณ์บริหาร โดยเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองผู้อำนาวยการสำนักเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Secretariat) ผู้อำนวยการหลักสูตรความเป็นผู้นำและการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (SRRU)