Wednesday, October 6, 2010

สุภาษิต - เมื่อทำดีแล้ว อย่าหมดกำลังใจ ตำนาน "ปลาสลิดทอง" บางบ่อ

สุภาษิต - เมื่อทำดีแล้ว อย่าหมดกำลังใจ ตำนาน "ปลาสลิดทอง" บางบ่อ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: proverbs, สุภาษิต, ความขยันหมั่นเพียร, ปลาสลิด, gourami, สุมทรปราการ, บางบ่อ, Bang Bo District, Samut Prakan, นายผัน, ปลาสลิดทอง

เมื่อท่านทำดีอะไรไว้ให้กับใครแล้ว อย่ากลัวว่าจะเสียเปล่า สักวันหนึ่ง ผลดี และความดีที่ท่านได้กระทำไว้ จะทำให้ท่านได้สิ่งตอบแทนที่บางทีก็คาดไม่ถึง ดังสุภาษิตที่ว่า

"You think you lost your horse? Who knows, it may bring a whole herd back to you someday". แปลเป็นความได้ว่า "ท่านคิดว่าท่านเสียม้าไปหนึ่งตัว ใครจะรู้ ม้าตัวนั้นอาจจะพาม้าทั้งฝูงกลับมาหาท่านก็ได้"

สุภาษิตนี้เป็นการให้กำลังใจแก่คนที่ตั้งใจทำดี มีการกระทำใดๆ ไว้ อย่าไปท้อแท้เร็วเกินไป ขอให้มีความพยายาม มีความมั่นใจในสิ่งที่ท่านทำลงไป ความมุ่งมั่น ความอดทน และยังมีความหวังนั้น สักวันหนึ่ง สิ่งที่ท่านได้ทำดีนั้น ก็จะตอบสนองกลับมาหาท่าน


ภาพ ปลาสลิด (Gourami) ขนาดยาวประมาณ 15 ซม. ขนาดกำลังเหมาะกับตลาดคือ 10-12 ตัว/กิโลกรัม หากตัวใหญ่มากไป จำทำให้ตากแห้งยาก เก็บแล้วหืน หรือมีกลิ่นตุๆ

กาลครั้งหนึ่ง หลายทศวรรษมาแล้ว มีชาวนาคนหนึ่งในที่ลุ่มภาคกลาง เขาทำนาข้าวก็มีแต่หนี้สิน มีหนี้มากจนปีหนึ่ง ไม่มีควายจะไถนา ไม่มีเงินจะไปจ้างคนมาช่วยไถนา มาดำหว่านข้าว ได้แต่ปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่่า ย่างเข้าหน้าฝน ฝนตกหนัก น้ำท่วมนองที่นา หญ้าก็พลอยงอกงามท่วมที่ ดูแล้ววังเวงชอบกล แต่ความที่มีน้ำท่วม มีหญ้าขึ้นเต็มไปหมด ก็ทำให้มีปลานานาชนิดเข้ามาอยู่ในนาข้าว ในปลาเหล่านั้นก็มีปลาสลิด ที่อาศัยอยู่พงรกร้างได้ดี เขามองรอดผ่านใต้ถุนบ้านไป สังเกตเห็นว่าน้ำที่ท่วมนั้นไม่ท่วมเปล่า มันมีอะไรใหม่ๆ ให้ได้สังเกต เขาใช้เวลาศึกษาธรรมชาติของปลาชนิดต่างๆ ปลาอะไรชอบและไม่ชอบอะไร ท่ามกลางทุ่งหญ้า นาข้าวที่น้ำท่วมเจิ่งนี้ เขาคิดดูว่าจะทำประโยชน์อะไรจากที่ดินต่อไปได้ คิดแล้วก็ลองตัดหญ้า แหวกหญ้าเป็นช่องๆ เพื่อทำพื้นที่ให้มีช่องอากาศ ปลาได้แหวกว่ายกว้างขึ้น เขานำหญ้าที่ตัดไว้มากองรวมกันแล้วปล่อยหญ้าให้เน่าเพื่อลองทำเป็นอาหารปลา ก็รู้สึกว่าได้รับการตอบสนองดี เขาปิดล้อมคันนา เสริมให้เกิบน้ำได้นานขึ้น ใช้ระหัดวิดน้ำเข้าที่ให้เลี้ยงปลาได้นานขึ้น ปลาเบญจพันธุ์เหล่านั้น รวมทั้งปลาสลิด ก็เติบโตพอที่จะได้ขนาดขายได้

ในหน้าแล้งปีนั้น ปีที่เขาหมดหวังจากการปลูกข้าว เขาสามารถวิดน้ำ เก็บจับปลาได้หลายตัน ได้รายได้ส่วนเหลือมากกว่าปลูกข้าว 2 - 3 เท่า เพราะเขาไม่ต้องลงทุนใดๆ ไม่เหมือนกับการปลูกข้าว ในปีถัดไปเขาได้เปลี่ยนอาชีพจากทำนาข้าว เป็นทำนาปลา ขุดดินเสริมค้นให้ใหญ่ขึ้น หนาขึ้น เพื่อเก็บน้ำไว้ภายในแปลงนาให้ได้มากและนานขึ้น บริเวณคันร่องก็ใช้เป็นที่เก็บปลายามลดน้ำ แต่คราวนี้เขาเลี้ยงเพาะพันธุ์ปลาสลิดมากขึ้น มีการวางแผนฟันหญ้าให้ล้มเน่าเป็นแพลงตอนให้กับปลาได้มากขึ้น ฟันหญ้าไปเรื่อยๆ จนหมดทั้งที่ พอดีกับถึงระยะจับปลา ปรากฎว่าได้ผลดีกว่าปีก่อนไปอีก เขาจับปลาได้เป็นกอบเป็นกำ ในไม่กี่ปีต่อมา เงินที่ได้มา มากพอที่จะไถ่ถอนที่ดินที่ไปจำนองจำนำไว้ได้หมด

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้ยามที่เราคิดว่าได้สูญเสียอะไรไปแล้ว อย่าท้อใจ ตั้งสติ และใชัความคิดอย่างมีเหตุมีผล แล้วเราก็จะแก้ปัญหานั้นได้ เรื่องนี้ ถ้าใครไม่รู้ ก็ลองไปแถวบางบ่อ สีล้ง จังหวัดสมุทรปราการ แล้วถามหา "คุณตาผัน ปลาสลิดทอง" ท่านจะได้ฟังตำนานของเกษตรกรนักคิด นักสู้ แม้ในวันนี้ บ่อปลาสลิดในย่านนั้น แทบจะไม่มีเหลือแล้ว แต่ตำนานของคุณตาผันก็ยังคงอยู่


ภาพ ปลากสลิดเมื่อเขาทำการตากแห้ง จะตัดส่วนหัวออก ล้างส่วนใส้ออก ส่วนที่เป็นไข่ เขาจะทำไข่ปลาสลิดตากแห้ง เป็นของอร่อยที่คนชอบกิน แต่ก็จะหายาก

ข้อมูลปลาสลิดบางบ่อ

อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ (Bang Bo District, Samut Prakan Province) เคยมีชื่อเสียงในการผลิต “ปลาสลิดตากแห้ง” ที่ดีที่สุด เพราะเป็นย่านที่ลุุ่ม น้ำอมจืดอมกร่อย น้ำในแถบนี้สีจะออกเป็นชาเข้ม แสดงว่ามีแพลงตอนสัตว์ (Zooplankton) สูงน้ำและดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเลี้ยงปลาน้ำจืดนานาชนิด

ที่นี่ปลาสลิดตัวใหญ่ เขาต้องมีวิธีการทำให้ไม่เค็มจัดจนเกินไป ต้องได้แดดจัด ตากแล้วแห้งเร็ว ไม่หืนเมื่อต้องเก็บนานๆ

ข้อมูลจาก Wikipedia ภาษาไทย

ปลาสลิด (Gourami) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster pectoralis ในวงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (Osphronemidae) มีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ (T. trichopterus) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกัน แต่มีลำตัวที่หนาและยาวกว่า หัวโต ครีบหลังในตัวผู้มีส่วนปลายยื่นยาวเช่นเดียวกับครีบก้น ครีบอกใหญ่ ตาโต ปากเล็กอยู่สุดปลายจะงอยปาก ครีบหางเว้าตื้นปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือสีน้ำตาลคล้ำ มีแถบยาวตามลำตัวตั้งแต่ข้างแก้มจนถึงกลางลำตัวสีดำ และมีแถบเฉียงสีคล้ำตลอดแนวลำตัวด้านข้างและหัว ครีบมีสีคล้ำ

ขนาดโดยเฉลี่ย 10-16 เซนติเมตร พบขนาดใหญ่สุดถึง 25 เซนติเมตร นับเป็นปลาในสกุล Trichogaster ที่ใหญ่ที่สุด

มีถิ่นอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งที่มีพืชน้ำและหญ้ารกริมตลิ่งของภาคกลาง, ภาคอีสานและภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในประเทศรอบข้าง

พฤติกรรมในการสืบพันธุ์เริ่มขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม โดยจะวางไข่โดยการก่อหวอดตามผิวน้ำติดกับพืชน้ำหรือวัสดุต่าง ๆ มักวางไข่ในช่วงกลางวันที่มีแดดรำไร หลังวางไข่เสร็จแล้วตัวพ่อปลาจะเป็นผู้ดูแลไข่จนฟักเป็นตัว ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 4,000-10,000 ฟอง ในการเลี้ยงทางเศรษฐกิจนิยมให้เป็นการผสมพันธุ์หมู่

ปลาสลิดนับเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของไทย นิยมแปรรูปเป็นปลาแห้งหรีอปลาเค็มที่รู้จักกันดี โดยเกษตรกรจะเลี้ยงในบ่อดิน โดยฟันหญ้าให้เป็นปุ๋ยและเกิดแพลงก์ตอนเพื่อเป็นอาหารปลา โดยพื้นที่เลี้ยงปลาสลิดที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ อำเภอบางบ่อและอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่เรียกว่า "ปลาสลิดบางบ่อ" นอกจากนี้ยังมีอีกแหล่งหนึ่งที่เคยมีชื่อในอดีต คือที่ ตำบลดอนกำยาน 

อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ปัจจุบันพื้นที่เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
มีชื่อเรียกในภาษามาเลย์ว่า "Sepat siam" ภาษาอังกฤษเรียกว่า "กระดี่หนังงู" (Snakeskin gourami) และมีชื่อเรียกในราชาศัพท์อีกว่า "ปลาใบไม้" ทั้งนี้เนื่องจากคำว่า "สลิด" เพี้ยนมาจากคำว่า "จริต" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงได้ทรงแนะนำให้เรียกปลาสลิดในหมู่ราชบริพารว่า ปลาใบไม้ เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้

No comments:

Post a Comment