Monday, January 17, 2011

ปฏิวัติดอกมะลิ (The Jasmine Revolution)

ปฏิวัติดอกมะลิ (The Jasmine Revolution)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

เก็บความจาก "The Jasmine Revolution" Financial Time ตีพิมพ์เมื่อวันที่ January 16 2011 19:26 และจาก Wikipedia

ตูนิเซีย (Tunisia) มีเมืองหลวงและเมืองใหญ่สุด คือ Tunis มีภาษาอาหรับ (Arabic) เป็นภาษาประจำชาติ มีภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สอง มีระบบการปกครองที่เรียกว่า Presidential republic โดยปัจจุบันมีประธานาธิบดี (รักษาการ) คือ Fouad Mebazaa มีนายกรัฐมนตรีชื่อ Mohamed Ghannouchi ตูนิเซียได้รับเอกราชจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1956 มีพื้นที่ 163,610 ตารางกิโลเมตร จัดเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่ 92 ของโลก มีประชากร 10,432,500 คน โดยมีความหนาแน่นของประชากรที่ 63 คนต่อตารางกิโลเมตร มีรายได้ประชาชาติที่ USD 8,254 ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศไทย

ปฏิวัติดอกมะลิ - ดอกมะลิเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของตูนิเซีย ไม่ได้มีความหมายอื่นใด หรือก็คือ "การปฏิวัติตูนิเซีย"

ปฏิวัติดอกมะลิ - ไม่มีชาติใดที่จะทนต่อการกดขี่ การปฏิเสธสิทธิเสรีภาพ และการคอรัปชั่นของผู้ปกครองไปได้ตลอดไป ในที่สุดชาวตูนิเซียก็ลุกฮือขึ้นขับไล่ผู้ปกครอง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหญ่ หลังประเทศได้รับเอกราชเมื่อปีค.ศ. 1956

การลงจากอำนาจของประธานาธิบดี Zein al-Abidine Ben Ali ซึ่งได้ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ต้องลงจากอำนาจและลี้ภัยไปอยู่ประเทศซาอุดิอาเรเบีย การลงจากอำนาจส่วนหนึ่งมาจากประชาชน คนชั้นกลาง และชาวเมืองต่างๆ แต่อีกส่วนมาจากฝ่ายทหารที่ได้อดทนมาตลอดในช่วงของความรุนแรงหลายสัปดาห์ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 2010

เพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือด ฝ่ายที่ยังครองอำนาจในตูนิเซียสัญญาว่าจะจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยมีตัวแทนฝ่ายค้านเข้าร่วมในรัฐบาล และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วที่สุด

การปฏิวัติไล่ล้างระบบเดิมนั้น เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดโทรม ข้าวยากหมากแพง และสิ่งที่ชาวตูนิเซียทนไม่ได้คือการที่รัฐบาลของ Ben Ali ที่มีการคอรัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง มีการแผ่วงกว้างไปยังบรรดาข้าราชการและสมาชิกในครอบครัวของผู้นำ

การคอรัปชั่นได้ทำให้ชีวิตการทำธุรกิจในประเทศ ถูกครอบงำด้วยระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ และได้กัดกร่อนลงไปในวิถีชีวิตของประชาชน และการดำเนินงานของรัฐ เมื่อคนตูนิเซียที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น มันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ฝ่ายปกครอง ราชการเดิมที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี Ben Ali จะยังคงมีอำนาจไปได้เรื่อยๆ ในเมื่อคนตูนิเซียเอง ก็ได้รับการศึกษาทั้งจากภายในประเทศ และต่างประเทศกันมากขึ้น ในปัจจุบันเศรษฐกิจของตูนิเซีย ซึ่งมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ประชาชนมีรายได้ประชาชาติใกล้ระหว่างฟิลิปปินส์และไทย แต่ก็ยังนับว่าอยู่ดีกินดีกว่าประเทศอียิปต์ที่อยู่ใกล้กัน

ในประเทศใดๆ การเมืองการปกครองจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนมักต้องอาศัยเวลาในการพัฒนา แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องระวังคือการเปลี่ยนแบบกวัดแกว่ง ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เท่าที่หวัง คือ ประเทศตูนิเซีย จะมีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาสัก 10 ปี ปรับเปลี่ยนไปอย่างปฏิรูป และมีผลสร้างความแข็งแกร่งในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และทำให้ประเทศชาติได้พัฒนา ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเสถียรภาพในภูมิภาค

จะมีคำถามอยู่ว่า การจะปรับเปลี่ยนสู่วัฒนธรรมใหม่ที่จะสมานแผลจากเผด็จการเดิมได้สำเร็จหรือไม่ และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ชาวโลกโดยเฉพาะชาติอิสลามหลายๆประเทศ ที่ได้มีการปกครองในแบบเผด็จการมาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษแอบมองด้วยความกังวลว่าสักวันการปฏิวัติดังกล่าวจะก้าวสู่ประเทศของตน ตลอดจนประเทศตะวันตกที่ยังกังวลว่า ตูนิเซียอาจเปลี่ยนจากเผด็จการเดิม ไปสู่มือของพวกอิสลามหัวรุนแรง หรือหัวอนุรักษ์ กลายเป็นความไม่มั่นคงในภูมิภาค และมีความซับซ้อนในตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายๆประเทศ

No comments:

Post a Comment