Friday, May 1, 2009

หน่วยที่ 9. อยู่อาศัยอย่างฉลาด (Residential sector)

หน่วยที่ 9. อยู่อาศัยอย่างฉลาด (Residential sector)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat

มูลนิธิก้าวไกลในเอเซีย
SpringBoard4Asia Foundation (SB4AF)
Tel: +66 2 3548254, +66 2 3548255
Fax: +66 2 3548255
Email: pracob@sb4af.org
Blogger: http://pracob.blogspot.com

Keywords: cw310, พลังงาน, energy, energy, conservation

อยู่อาศัยอย่างฉลาด (Residential sector)

ในการอยู่อาศัย (Residential Sector) ประชาชนมีทางเลือกที่จะกินอยู่ใช้จ่ายอย่างประหยัด และก็สามารถประหยัดพลังงานได้มาก การใช้พลังงานตามบ้านเรือนนั้นมีความหลากหลายและแตกต่างกันมากในด้านการใช้พลังงาน ในแต่ละประเทศในโลกมีมาตรฐานการใช้พลังงานที่แตกต่างกันออกไป ในสหรัฐมีมาตรฐานการใช้พลังงานที่สูงกว่าทีอื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะในเขตที่มีอากาศหนาว จะมีการใช้พลังงานสูงกว่าในที่อากาศลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ โดยเฉลี่ย ถึงเป็นเท่าตัว

อยู่แบบไทยไม่ต้องใช้เครื่องทำความร้อน

เครื่องทำความร้อนด้วยไฟฟ้า

ในซีกโลกส่วนเหนือ เปลืองพลังงานด้วยการทำความร้อนและอบอุ่น ซึ่งบางแห่งจะเลือกติดเฉพาะที่ เช่นในห้องน้ำที่ต้องการความอบอุ่นมากกว่าที่อื่นๆ

การทำน้ำร้อนด้วยแสงอาทิตย์ (Solar Hot Water)

การอาบน้ำ ไม่จำเป็นไม่ต้องใช้น้ำอุ่น แต่สำหรับคนชรา หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องอาบน้ำอุ่น โดยเฉพาะในยามหน้าหนาว เครื่องทำน้ำร้อนที่ใช้แสงอาทิตย์ จะประหยัดพลังงานได้โดยตรง

ในเกือบทุกที่ในประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องทำความอบอุ่น แม้ในบ้านเรือนทางภาคเหนือ ในยามหน้าหนาว เพียงสร้างบ้านเรือนให้สามารถกันลมได้ดี ก็จะปลอดภัยจากอากาศหนาวได้ดีพอแล้ว เครื่องทำน้ำอุ่นสำหรับอาบน้ำ มีใช้กันตามโรงแรมเพื่อตอบสนองต่อลูกค้า แต่สำหรับบ้านทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้

การใช้เครื่องปรับอากาศ (Air Conditioning)

หากเป็นไปได้ สร้างบ้านเรือนให้อยู่อาศัยได้อย่างเย็นสบายในทุกฤดูกาล และไม่ใช้หรือใช้เครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุด และหากจำเป็นต้องใช้ ก็ใช้อย่างฉลาดและประหยัด

เครื่องปรับอากาศ (Air-conditioner)

ในเขตร้อน ร้อนชื้นอย่างไทย จะเปลืองด้วยการปรับอากาศร้อนให้เย็น
(เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่าง)

การตั้งอุณหภูมิที่เหมาะสม

ในประเทศที่มีอากาศทั้งหนาวในฤดูหนาว และร้อนในฤดูร้อน เขาจะกำหนดอุณหภูมิ เมื่อหนาว ก็ใช้ Heater อย่างประหยัด กำหนดอุณหภูมิที่ 68 F และเมื่ออากาศร้อน ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ก็กำหนดอุณหภูมิที่ 78 F

หลักการใช้เครื่องปรับอากาศอย่างเหมาะสม

1. เลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่ไม่กินไฟ เลือกใช้ที่มีสัญลักษณ์เบอร์ 5 ซึ่งมีการรับรองโดยมาตรฐานอุตสาหกรรมแล้ว
2. ล้างเครื่องปรับอากาศตามเวลาที่กำหนด เครื่องที่มีการอุดตัน แม้จะใช้ได้ แต่จะใช้พลังงานแบบสูญเปล่ามาก
3. ใช้เฉพาะในห้องที่จำเป็น เช่นห้องนอน ดังนั้นทำหรือเลือกห้องนอนที่มีขนาดเล็กหรืออยู่แบบพอตัว ห้องยิ่งใหญ่ เพดานยิ่งสูง
4. ห้องนอนมีการใช้เครื่องปรับอากาศกันมากกว่าห้องอื่นๆ และมักจะอยู่ชั้นบนในกรณีที่เป็นบ้าน 2 ชั้นหากไม่มีการออกแบบบ้านและใช้วัสดุและหลังคาที่ช่วยกันความร้อน หรือระบายความร้อนที่ดี จะทำให้ใช้พลังงานเปลือง
5. เลือกตั้งอุณหภูมิให้พอเหมาะ คือประมาณไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส

การนอนโดยใช้ผ้าห่มที่เหมาะสม

เลือกผ้าห่มนอนที่เหมาะสม

ผ้าห่มนอน หรือ Blanket นั้นในต่างประเทศเขาจะใช้ผ้านวมหนา เพราะต้องช่วยให้ความอบอุ่นในยามหลับนอน และเป็นการทำให้ไม่ต้องใช้ความร้อนสร้างความอบอุ่นในบ้านมากเกินไป แต่ในประเทศไทยที่เป็นเขตร้อนชื้น การใช้ผ้าห่มที่มีขนาดบางพอเหมาะ จะช่วยทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ

เลือกใช้ผ้าห่มที่เหมาะสม

ในประเทศเขตร้อน การนอนไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าห่ม (Blanket) ที่มีขนาดหนา หรือเป็นพวกขนสัตว์ หรือสารสังเคราะห์ อาจเป็นพวกผ้าฝ้ายก็ได้

อยู่เมืองไทย แต่งกายแบบไทย

คนไทยอยู่ในเมืองเราบ้านเรามานานหลายร้อยปี โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ส่วนหนึ่งเพราะเราแต่งกายแบบเหมาะสมสำหรับเมืองเขตร้อน คือใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาหนัก ไม่ใช้ผ้าขนสัตว์หรือผ้าที่สังเคราะห์เพื่อเก็บรักษาความร้อน ผ้าที่ใส่เมืองร้อนคือผ้าประเภทบางเบา ระบายอากาศได้สะดวก

เน๊คไทแบบตะวันตก

หากไม่จำเป็น ไม่ต้องใส่เสื้อนอก ผูกเน๊คไท (Necktie) ในสถานที่ทำงาน นับว่าเป็นความเพียงพอ แต่เมื่อต้องใส่ชุดเสื้อนอกทำงานด้วย จะทำให้ต้องใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น

เครื่องแต่งกายแบบตะวันตก

การแต่งกายในแบบตะวันตก ที่สุภาพคือใส่เสื้อเชิร์ตด้านใน ผูกเน็คไทเรียบร้อย และใส่เสื้อนอก (Suits) และบางครั้งผ้าที่ใช้ตัดใส่แล้วดูเข้าทรงสวยงาม จะเป็นพวกผ้าขนสัตว์ การแต่งกายในแบบนี้ไม่เหมาะแก่อากาศร้อนในประเทศไทย

เสื้อผ้าในแบบสบายๆ (Casual Dress)

เสื้อผ้าในแบบสบายๆ เวลามีงาน แทนที่จะให้คนมางานรื่นเริงแต่งแบบฝรั่ง ก็แนะนำให้แต่งกายแบบ Casual Dress สบายๆ สะดวกสำหรับแขก และจัดงานในที่แจ้งได้

เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายประจำชาติฟิลิปปินส์

ด้วยความที่อากาศร้อน และการแต่งกายแบบตะวันตกในที่ทำงานจะทำให้ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ จึงส่งเสริมการแต่งกายแบบประจำชาติ ที่เสื้อผ้าผู้ชายเป็นแบบบางเบา ใส่แล้วสบายๆ

เสื้อครุยจุฬาฯ

เสื้อครุยแบบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นลักษณะผ้ามุ้ง โปร่งเบา เหมาะแก่เมืองร้อน สมัยก่อนพิธีประสาทปริญญานั้นกระทำกันในที่ๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ

การซักเสื้อผ้า (Laundry)

เมื่อต้องแต่งกาย ก็ต้องมีการซักเสื้อผ้า หากใช้ผ้าหนา ก็ต้องเปลืองผงซักฟอกมาก และในการซักผ้ายุคใหม่เพื่อประหยัดเวลา จึงมีการใช้เครื่องซักผ้ากันมากขึ้น

เครื่องซักผ้าร่วมกัน

(Laundromat)

ร้านซักเสื้อผ้าแบบช่วยตัวเอง เรียกว่า Laundromat ทำให้แต่ละบ้านไม่จำเป็นต้องมีเครื่องซักผ้า ซึ่งเปลืองสถานที่จัดวาง และทำให้ควบคุมความร้อน ความชื้นในบ้านไม่ได้ดีนัก ในประเทศตะวันตกจึงมีบริการร้านซักผ้าแบบช่วยตัวเองนี้

เครื่องอบผ้า (Drying Machine)

เครื่องอบผ้าจำเป็นสำหรับเขตหนาว ไม่สามารถไปตากผ้าภายนอกอาคารได้

แต่สำหรับประเทศไทยหากสามารถตากผ้าในที่กลางแจ้ง โดยใช้แสงแดดปกติ นับว่าประหยัดและถูกสุขอนามัยที่สุด

แต่หากจำเป็นต้องใช้เครื่องอบผ้า ใช้ติดต่อกันจะไม่เสียค่าพลังงานมากเท่ากับใช้หยุดๆ สลับกันไป ทำให้สูญเสียความร้อนไป

อยู่เมืองไทย อากาศร้อน มีแสงอาทิตย์ตลอดปี เกือบไม่มีความจำเป็นต้องมีเครื่องอบผ้า หากหาที่โล่งที่จะตากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มได้ จะเป็นการดีที่สุด

นกน้อยสร้างบ้านแต่พอตัว

แนวโน้มคนไทยจะอยู่อาศัยร่วมกันในขนาดครอบครัวที่เล็กลง คือมีพ่อแม่และลูก โอกาสที่จะมีคนรับใช้มีลดลงเป็นลำดับ เพราะค่าแรงงานจะสูงขึ้น ค่านิยมเป็นลบมากขึ้นสำหรับการทำงานเป็นคนรับใช้ตามบ้าน เมื่อมีสมาชิกในบ้านลดลง ก็เลือกที่จะมีบ้านขนาดเล็กลง อยู่อาศัยกันแบบพอตัว

บ้านสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก

ห้องขนาดพื้นที่กว้างขวาง และมีเพดานห้องยิ่งสูง ก็จะทำให้เปลืองเครื่องปรับอากาศ ที่เห็นนี้เป็นห้องในแบบที่เรียกว่า Studio ที่เป็นที่พักผ่อน ห้องนั่งเล่น ห้องทำงานไปด้วยในตัว

คอนโดมีเนียม (Condominium)

บ้านพักอาศัยชนิดเป็นกรรมสิทธิ์ อยู่ร่วมกันได้มาก โดยมีการสร้างอาคารในทรงสูงหลายชั้น เหมาะเป็นที่พักอาศัยในเมือง

บ้านเช่าแบบในเมือง (Apartments)

อพาร์ทเมนท์ เป็นที่พักอาศัยแบบให้เช่า อาจเป็นรายเดือน หรือเช่าระยะยาวเป็นปีตามสัญญา อาจมีเครื่องเฟอร์นิเจอร์ (Furnished) หรือฝ่ายผู้เช่าต้องจัดหาเอง (Unfurnished)

การมีระบบขนส่งมวลชนรองรับ

การเลือกทำเลที่พักอาศัย ปัจจุบันมีผู้เลือกบ้านพัก Apartment, Condominium ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟฟ้า ผ่านกันมากขึ้น เพราะต้องการความสะดวกในการเดินทาง

(ภาพสถานีรถไฟฟ้า BTS ในกรุงเทพฯ)
สวนสาธารณะ (Public Park)

ในเมืองขนาดใหญ่ ที่พักอาศัยมีราคาแพง จะอยู่อาศัยกันก็ต้องประหยัดพื้นที่ จึงต้องมีการใช้พื้นที่ส่วนกลาง (Public Area) ดังเช่นสวนสาธารณะร่วมกัน

เมื่อมีบ้านหรือห้องพักอาศัยขนาดเล็ก ก็จะทำให้อยู่อาศัยกันเป็นชุมชนที่ใช้บริการส่วนกลางที่ลดลง ความจำเป็นที่จะใช้ยานพาหนะส่วนตัว เช่นรถยนต์ลดลง

การใช้พลังงานในบ้านเรือน

จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งเขตหนาว อบอุ่น และร้อน

การปรับอากาศให้ร้อน/เย็น (space conditioning) 44%
การทำน้ำร้อน (water heating) 13%
การให้แสงสว่าง (lighting) 12%
การใช้ตู้เย็น (refrigeration) 8%
การใช้ไฟฟ้าในบ้าน (home electronics) 6%
การใช้เพื่อการซักผ้า (laundry appliances) 5%
การใช้ในครัว (kitchen appliances) 4%
อื่นๆ (other uses) 8%

พบว่าการใช้พลังงานในบ้านที่มากที่สุดคือเพื่อการปรับอากาศ คือทำให้อากาศอบอุ่นในหน้าหนาว และทำอากาศในบ้านให้เย็นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งต้องใช้พลังงานถึงร้อยละ 44 และนอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำน้ำอุ่น เพื่อการอาบน้ำ การล้างชาม และการซักเสื้อผ้า แต่ในประเทศไทยซึ่งเป็นเขตร้อนชื้น เราจะไม่มีปัญหาด้านค่าพลังงานทำความอบอุ่น แต่จะหนักไปทางการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งหากเป็นไปได้ การสร้างบ้านให้พึ่งเครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุด หรือไม่ใช้เลย ก็จะช่วยด้านการลดพลังงานไปได้มาก

มีเครื่องใช้ในบ้านหลายประการที่เป็นตัวใช้พลังงานไฟฟ้ามากเป็นพิเศษ บางอย่างเป็นเรื่องจำเป็น แต่หากรู้จักเลือกซื้อ และเลือกใช้อย่างประหยัด ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก

เตียงน้ำ

หากห้องนอนเป็นห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ก็ต้องคำนึงถึงว่าทำอย่างไรห้องนั้นจะใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ในการนี้ เตียงนอนเป็นอุปกรณ์หนึ่งในห้องนอนที่อาจมีผลต่อการประหยัดหรือไม่ประหยัดพลังงาน

เตียงน้ำ (Water Bed)

เตียงน้ำคือเตียงสำหรับผู้ป่วยบางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ไม่สามารถใช้เตียงที่มีวัสดุปกติ เตียงน้ำมีวัสดุบุด้านนอกที่เป็นพวกไวนิล น้ำไม่รั่วซึม สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี แต่ว่าต้องใช้พลังงานในการทำให้น้ำอุ่นหรือทำให้น้ำเย็น

เตียงน้ำมีข้อดีสำหรับคนในส่วนภูมิอากาศหนาว เพราะสามารถทำความอบอุ่นผ่านน้ำในที่นอน (Mattress) ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งคือค่าไฟฟ้าในการทำความอบอุ่นนั้นจะเทียบเท่ากับตู้เย็น 1 ตู้ขนาดใช้ไฟฟ้า 300-500 kW หรือเทียบเท่ากับเปิดหลอดไฟธรรมดา 10 ดวง

ในทางตรงกันข้าม หากใช้เตียงน้ำ ก็จะต้องทำให้ที่นอนเย็น ซึ่งจะดูดซับความเย็นในห้อง ซึ่งก็ต้องใช้เครื่องปรับอากาศทำความเย็นมากและนานขึ้นกว่าปกติ

ขนาดห้องนอน

ห้องนอน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Bedroom คนทั่วไปใช้เวลานอนประมาณ 6-8 ชั่วโมง ห้องนอนจึงเป็นห้องที่คนเราใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากที่สุด และจึงต้องการให้มีความสะบายที่สุด จึงมักจะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ห้องนอนควรมีขนาดใหญ่โดสักเพียงใด

เตียงเดี่ยวทั่วไปมีขนาดกว้าง 3.0-3.5 ฟุต (1.10 เมตร) ยาว 6.0-6.5 ฟุต (ประมาณ 2.00 เมตร) ห้องที่พอจะอยู้ได้เพื่อนอนเป็นหลัก คือประมาณ 4 X 4 เมตร หรือประมาณ 16 ตารางเมตร

ห้องนอนในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย มักติดเครื่องปรับอากาศ ห้องนอนในประเทศเขตหนาว มักจะต้องมีระบบทำความอบอุ่น หรือ Heater ซึ่งทั้งสองสภาพแวดล้อม ล้วนต้องใช้พลังงาน

ขนาดพื้นที่ของห้องนอนที่ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ นับว่ามีความสำคัญ จึงควรออกแบบให้มีขนาดพอเหมาะ ไม่ใหญ่เกินไป ห้องนอนที่มีทางลมเข้าและออกสะดวก ก็อาจลดความจำเป็นในการต้องใช้เครื่องปรับอากาศลงได้บ้าง

ห้องขนาดใหญ่มาก มีเพดานสูง ทำให้ดูหรูหรา แต่เมื่อใดที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ก็จะเปลืองพลังงานเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะคำนวณการใช้ขนาดของเครื่องปรับอากาศได้จากปริมาตรความจุของห้องนับเป็นลูกบาตรเมตร

ในประเทศไทย ห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศมากที่สุดสำหรับบ้านชนชั้นกลางคือ ห้องนอน (Bedrooms) เพราะเวลาคนนอนนั้นต้องการสภาพอากาศที่เย็นพอควร และอุณหภูมิสม่ำเสมอตลอดคืน ไม่ใช่ร้อนบ้าง หนาวบ้าง

ในประเทศไทยหากต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ และห้องนอนขนาดไม่ใหญ่นัก สามารถใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 8000 BTU ก็เพียงพอ แต่ถ้าเป็นห้องนอนขนาดใหญ่ และมีความสูง อาจต้องใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 25000-30000 BTU หรือมากเป็น 3 เท่า

อย่าให้ห้องที่ปรับอากาศมีความชื้น

ห้องที่มีความชื้น เช่นมีไม้ประดับที่ต้องใช้น้ำ หรือมีตู้ปลาในห้องปรับอากาศ ก็จะทำให้มีความชื้นในอากาศ ทำให้เปลืองไฟฟ้าในการใช้เครื่องปรับอากาศ

โถเลี้ยงปลา

หรือตู้ปลาสวยงามนั้น จะเพิ่มความชื้นในห้อง และทำให้การปรับอากาศทำงานไม่ได้เต็มที่ การปลูกต้นไม้ในบ้าน เลี้ยงไม้มีชีวิตในห้องปรับอากาศ เช่นห้องนอน ก็เช่นเดียวกัน จะเพิ่มความชื่นในอากาศ และสำหรับบางคนทำให้เกิดความเสี่ยงในโรคภูมิแพ้ นอกเหนือไปจากการเปลืองพลังงานในการปรับอุณหภูมิในอากาศ

อย่าเปิดโทรทัศน์หรือวิทยุทิ้งเอาไว้ในขณะนอนหลับ

เวลานอนไม่เปิดไฟทิ้งไว้

ไม่เปิดเครื่องทีวีทิ้งไว้ นอนจะไม่หลับสนิท มีเด็กๆ และเยาวชนเป็นอันมากที่มักมีนิสัยเปิดทีวีหรือวิทยุเอาไว้ก่อนนอน และหลับไปพร้อมกับทีวี นอกจากจะเปลืองไฟฟ้าแล้ว ยังทำให้แม้หลับก็หลับไม่สนิท และกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี หรือเป็นคนต้องนอนแล้วเปิดไฟ เป็นต้น

ช่วยกันสร้างบ้านอย่างฉลาด ( Best building practices)

บ้านและที่พักอาศัยเป็นแหล่งที่ใช้พลังงานมากที่สุด ทั้งไฟฟ้า และในบางประเทศรวมไปถึงการใช้ก๊าสธรรมชาติ ก๊าสหุงต้มเพื่อการให้พลังความร้อน ทั้งในการทำความอบอุ่น การอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย การประกอบอาหาร ฯลฯ บ้านจึงเป็นแหล่งใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากอีกแห่งหนึ่ง

แต่ที่บ้าน ก็มีแนวทางในการประหยัดพลังงาน บางอย่างต้องไปปรับปรุงตั้งแต่การออกแบบชุมชน บางอย่างเมื่อจะสร้างบ้าน ก็ต้องคิดเรื่องการประหยัดพลังงานเอาไว้แต่แรก บางอย่างแม้สร้างเสร็จแล้ว ก็สามารถปรับวิถีชีวิต และทำให้ชีวิตที่บ้านกลายอยู่ในแนวทางประหยัดพลังงานได้

บางอย่างต้องลองเรียนรู้บทเรียนจากที่ได้ทำมาแล้วในต่างประเทศ แต่บางอย่างต้องคิดกันเอง และริเริ่มสร้างสรรค์ และทดลองดำเนินการขึ้นในบ้านเรา

บ้านในประเทศไทย มีอายุได้สัก 25-30 ปีก็นับว่าคุ้มการใช้งานแล้ว แต่ในยุโรปนั้น บ้านหรืออาคารต่างๆ เขาสร้างขึ้นมาแล้วใช้กันไปเป็นร้อยปี การสร้างอาคารบ้านเรือนที่เตรียมไว้เพื่อการประหยัดพลังงานจึงเป็นประโยชน์ เพราะจะช่วยประหยัดและขณะเดียวกัน มีชีวิตอยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพและมีความสุขได้อย่างยั่งยืน

บ้านในแนวคิดใหม่

ลองดูแนวคิดใหม่ในการสร้างบ้านแปลงเมืองดังต่อไปนี้

บ้านแบบ Passive House

อาคารที่มีลักษณะเป็น Apartment ใช้ผนังร่วมกัน ลดโอกาสสูญเสียความร้อน
One of the original Passive Houses at Darmstadt, Germany

บ้านใช้ฟางเป็นส่วนประกอบ

บ้านหรืออาคารที่ใช้ฟางเป็นส่วนฉนวน (Insulation) กันความร้อน และรักษาความอบอุ่นในบ้าน เป็นลักษณะบ้านในเขตหนาว

อาคารฉนวนพิเศษ (Superinsulation)

เป็นการออกแบบบ้านและอาคารที่ใช้ในเขตอากาศหนาว มีการป้องกันการสูญเสียความร้อนในหน้าหนาว และขณะเดียวกัน ป้องกันความร้อนจากภายนอกด้วยวิธีการฉนวนพิเศษ (Superinsulation)
เน้นฉนวนที่หลังคา ที่พื้นล่าง ที่พื้นด้านบน

อาคารประหยัดพลังงาน

การสร้างให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติ ให้ใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ใช้พลังงานที่สร้างขึ้นเองได้ เข่น พลังแสงอาทิตย์ พลังจากกังหันลม และเมื่อมีขยะ หรือของเสีย ให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ หรือนำไปทำให้เกิดเป็นพลังงานได้

บางที่จึงเรียกอาคารในแนวคิดนี้ว่า Green Building

บ้านประหยัดพลังงาน

เป็นบ้านในเขตหนาว มี 5 ชั้น ชั้นล่างอยู่ใต้ดิน ในส่วน 4 ชั้นมีด้านหนึ่งรับแสงอาทิตย์ ทำให้อบอุ่นในหน้าหนาว และกลายเป็นบริเวณโล่งที่มีการกันลมและอากาศหนาว

Apartment ในตะวันตก

Telecommuting

การใช้ระบบการสื่อสารยุคใหม่ เพื่อช่วยทำให้ลดความจำเป็นในการเดินทาง ทำให้สามารถเลือกที่พักอาศัยอย่างที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองใหญ่ แต่สามารถจะเลือกอยู่ในชุมชนเมืองบริวาร แล้วทำงานติดต่อสื่อสารได้ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อินเตอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ
โทรศัพท์บ้าน

การเลือกเดินทางเท่าที่จำเป็น

แม่บ้านในสหรัฐ เลือกทำงานโดยใช้อินเตอร์เน็ต และมีเวลาอยู่ดูแลลูกที่บ้าน สถานที่ทำงานอาจเป็นในห้องพักอาหาร

การเลือกใช้ Telecommuting

Orville Hector ทำงานให้กับสำนักข่าว Associated Press, และ Bill Rocco ทำงานที่บ้านของเขาในเมือง Ashland รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา

ADSL .ในอิตาลี

การทดแทนการสื่อสารติดต่อด้วยโทรศัพท์ และการใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งในปัจจุบันได้มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ ADSL ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก

การอยู่อาศัยอย่างใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน มีอากาศชื้นที่ต้องการระบบระบายอากาศที่ระบายความชื้นได้ด้วย
ทำอย่างไรจึงจะอยู่อาศัยได้อย่างสะบาย และขณะเดียวกันประหยัดการใช้พลังงาน เช่นเครื่องปรับอากาศที่ลดลง การใช้แสงสว่างตามธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

บ้านแบบเมืองร้อน

เป็นอาคารอิฐก่อ มีความหนา และมีหน้าต่าง ช่องระบายลม

บ้านในเขตอากาศร้อน (Tropical)

ออกแบบมาในลักษณะให้มีอาคารมีบริเวณกันแดด หรือกันสาด ผนังมีรูโปร่ง ระบายอากาศได้ดี รอบๆ ตัวอาคารจะปลูกต้นไม้ให้ร่มเย็นครึ้ม กันความร้อนจากแสง และอาศัยความชื้นจากสภาพแวดล้อมเป็นตัวระบายความร้อนไปในตัว

บ้านในมาเลเซีย

บ้านในแบบชนบทดั่งเดิมของมาเลเซีย บริเวณรอบอาคารปล่อยโปร่ง เพื่อรับลม และขณะเดียวกัน บ้านจะมีหน้าต่างอยู่โดยรอบ เพื่อใช้ลมตามธรรมชาติเป็นตัวปรับอากาศ

บ้านในมาเลเซีย

ในบ้านเขตอากาศร้อน บ้านจะมีหน้าต่างมาก และเปิดทุกด้าน เพื่อระบายอากาศ พื้นบ้านยกสูง ป้องกันน้ำท่วมเพราะฝนตกหนักและเร็ว บ้านชนบทในประเทศไทยก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน

หลังคามุงด้วยจากหรือใบไม้

เป็นฉนวน ทำให้ใต้ร่มหลังคา อากาศเย็นสบาย เพิงริมทะเลดังนี้มีให้เห็นทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และในเขตร้อนชายทะเลทั่วไป

การอยู่อาศัยในเขตร้อนหรือร้อนชื้นอย่างประเทศไทยนั้นมีปัญหาประการหนึ่งคือสถาปนิกที่ได้รับการอบรมมาในแบบตะวันตก จะคิดและสร้างบ้านหรูหราในแบบตะวันตก แล้วก็จะมีปัญหาด้านระบบระบายอากาศ (Ventilation) โดยแทนที่จะคิดหาทางปรับอากาศตามแบบธรรมชาติ กลับไปใช้วิธีการใส่เครื่องหรือระบบปรับอากาศแทน

การใช้พัดลม

พัดลมไฟฟ้า (Electric Fans) นับเป็นระบบปรับอากาศที่ประหยัดกว่าเครื่องปรับอากาศ และในบางสถานะ แทนที่จะต้องใช้เครื่องปรับอากาศ เราสามารถใช้พัดลมเพื่อทำให้อากาศเคลื่อนไหว แม้อุณหภูมิจะไม่ลดลง แต่การเคลื่อนไหวของอากาศในที่ๆร่มจากแดด ก็ทำให้สามารถระบายความร้อนจากร่างกายได้พอสมควร ลดความจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศลง

พัดลมตั้งพื้นหรือตั้งโต๊ะ (Electric Fans)

ในห้องที่มีทางลมระบายอากาศตามธรรมชาติอยู่แล้ว การมีพัดลมช่วยทำให้อากาศเกิดความเคลื่อนไหว ก็จะเป็นการลดความร้อนลงได้ และประหยัดกว่าใช้เครื่องปรับอากาศ

พัดลมติดเพดาน (Ceiling Fans)

ในบางสถานที่ พบว่าไม่มีระบบระบายอากาศที่ดี ไม่สามารถดึงอากาศร้อนออกจากห้องได้ มีพัดลมติดเพดาน ก็เป็นเพียงผลักลมร้อนด้านบนลงสู่เบื้องล่าง

เครื่องดูดอากาศ (Ventilator)

ในห้องที่อากาศมีระบาย มีความชื้นสูง การมีเครื่องดูดอากาศออก จะทำให้อากาศที่เย็นกว่าไหลเข้าแทนที่ อาจไม่จำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ

พัดลมระบายอากาศ (Ventilator)

พัดลมระบายอากาศติดด้านบนของหลังคาอาคาร เพื่อให้อากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นสูง และไปทำให้ตัวพัดลมหมุนและไปเร่งการระบายอากาศร้อนภายในสู่ภายนอก ส่วนใหญ่ใช้ติดเสริมอาคารขนาดใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมในเขตร้อน มีไม่มากนักที่จะใช้ติดอาคารประเภทบ้านเรือน

เรื่องเกี่ยวกับที่พักอาศัย

- บ้านพักอาศัย และหมู่บ้าน
- บ้านประหยัดพลังงาน
- หลังคาที่ไม่ร้อน ทำได้อย่างไร – ventilation and roofing หากหลังคาไม่ร้อน บริเวณด้านล่างก็จะไม่ร้อนจนเกินไป
- นำความเย็นมาจากดิน และกำแพง (Earth House) ดินจะช่วยเก็บความเย็นจากยามค่ำคืนมาสู่ตอนกลางวัน ขณะเดียวกัน ทำให้เกิดการซืมซับความอบอุ่นในตอนกลางวันไว้สำหรับตอนกลางคืน ยามอากาศหนาว
- การกำจัดขยะในหมู่บ้านขนาดเล็ก โดยนำไปใช้ให้เกิดพลังงาน
- การดูแลน้ำทิ้งอย่างธรรมชาติ การนำกลับไปใช้ในการรดน้ำต้นไม้
- การใช้เครื่องทำน้ำอุ่น จำเป็นหรือไม่ สำหรับบ้านในประเทศไทย หรือในเขตอากาศร้อน

การใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (Electric Rice Cooker, Rice Cooker) เป็นอุปกรณ์คู่บ้านคู่ครัวในสังคมเอเชียและตะวันออกทั่วไป

คนเอเซีย เช่นคนไทยเป็นพวกบริโภคข้าวเจ้า หรือข้าวสวย (Rice) เหมือนกับพวกตะวันตกที่มักต้องกินข้าวสาลีในรูปขนมปัง (Bread) คนตะวันตก หรือฝรั่งจะพึ่งเครื่องปิ้งขนมปัง แต่คนเอเชียโดยเฉพาะพวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมด จะกินข้าว และกินกันเกือบจะทุกมื้อ ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมือหุงข้าวอย่างง่ายๆ ซึ่งในปัจจุบัน หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่ขาดเสียไม่ได้ และมีใช้กันทั่วโลกที่มีคนเอเชียอยู่

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เรียกว่า Rice Cooker

หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (Electric Rice Cooker)

อย่างมาตรฐาน ราคาประหยัด ปัจจุบันมีผลิตขายทั่วไป ทั้งที่เป็นผลิตในประเทศ และที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง แต่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนไทยและคนเอเชียอย่างมาก

ข้อแนะนำ

1. เลือกใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าให้พอเหมาะกับขนาดครอบครัว หรือกลุ่มคน หม้อใบโตเกินความจำเป็น ก็ใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็น
2. กะว่าหม้อ 1 ใบหุง 1 ครั้งใช้กินใน 1 วันหมดพอดี นั่นคือความเหมาะสม
3. หุงมือเช้า กินมื้อเช้า เหลือเก็บใส่ตู้เย็น จะกินใหม่ใช้อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟได้ แม้เหลือก็เก็บไว้ได้สัก 2-3 วันไม่เสียของ
4. บางคน บางบ้าน ใช้วิธีการหุงข้าวสวยร้อนๆ แต่ซื้อกับข้าวจากภายนอก แล้วนำมาอุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ จัดทำเป็นมื้ออาหาร

การใช้เตาไมโครเวฟ (Microwave Ovens)

เตาไมโครเวฟ (microwave oven) เป็นอุปกรณ์ในครัวที่ใช้พลังคลื่นไมโครเวฟในการประกอบอาหาร หรืออุ่นอาหาร เตาไมโครเวฟได้ทำให้วิธีการประกอบอาหารและการกินอาหารเปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา แต่สำหรับพ่อครัวมืออาชีพแล้ว บางส่วนยังเห็นว่าเตาดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในการประกอบอาหารระดับมืออาชีพ

เตาไมโครเวฟ (Microwave Oven)

เป็นอุปกรณ์ในครัวที่มีใช้กว้างขวาง มีทั้งที่เป็นแบบใช้เป็นเตาอบ ทำหน้าที่ร่วมกับคลื่นไมโครเวฟ สามารถปิ้ง ย่าง อบร่วมด้วยได้ เรียกว่า Combo

เตาไมโครเวฟ หากใช้เพื่ออุ่นอาหาร หรือเครื่องดื่มแล้ว จัดเป็นการประหยัดพลังงานได้อย่างดี เพราะเป็นการให้ความร้อนเพียงพอ และใช้เวลาสั้น คือเพียงประมาณ 60 วินาทีสำหรับอาหารหลายอย่าง ก็ทำให้อุ่นพอรับประทานได้แล้ว และเพราะการให้ความร้อนผ่านคลื่นไมโครเวฟ จึงไม่ทำให้ภาชนะจานรองหรือแก้วที่ใส่อาหารต้องร้อนไปด้วย เป็นการร้อนเฉพาะส่วนอาหาร หรือส่วนที่มีความชื้น

หากใช้เตาไมโครเวฟอย่างเหมาะสมแล้ว จะเป็นการประหยัดพลังงาน และอาหารนั้นๆ ก็ยังคงมีคุณค่าบริโภคได้อย่างปลอดภัย

แต่เพราะเป็นการให้ความร้อนในระยะเวลาสั้น และเป็นการให้ความร้อนด้วยคลื่นไมโครเวฟ จึงบางครั้งดูเหมือนสุก แต่สุกไม่ทั่วถึง ดูเหมือนร้อนเพราะมีอาการเดือด แต่ไม่ได้ให้ความร้อนพอ และไม่นานพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้อย่างสมบูรณ์ จึงอาจทำให้เป็นอันตราย ทำให้ผู้บริโภคอาหารเจ็บป่วยได้

แต่โดยรวมแล้ว เตาไมโครเวฟเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ประหยัดเวลา และปลอดภัยหากใช้อย่างเข้าใจและเหมาะสม

ขัอแนะนำในการใช้อย่างง่ายๆ

1. ใช้ภาชนะพลาสติก ต้องเลือกเกรดที่เขาให้ใช้กับเตาไมโครเวฟได้ แต่กระนั้น การใช้ภาชนะพลาสติกทุกชนิด ก็ต้องใช้ในช่วงเวลาสั้น เช่นไม่เกิน 3-5 นาที เพราะพลาสติกจะหลอมละลาย หรือเสียหายได้

2. หากใช้พวกเครื่องเคลือบ (Chinaware) ให้เลือกที่มีความบาง และสีขาว จะประหยัดไฟฟ้า ดีกว่าที่เป็นสี หรือมีวัสดุพวกโลหะเจือปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ อย่าหลงลืม ช้อนส้อม วัสดุโลหะเข้าไปในเตา

3. การทำไข่ให้สุก มักจะประสบกับปรากฏการณ์ไข่ระเบิด ทางแก้คือต้องใช้ความร้อนพอประมาณ

4. อย่าใช้เพื่อการอบแห้ง เช่นทำให้ของแห้งอยู่แล้ว แห้งหรือกรอบยิ่งขึ้น ดังนี้ต้องระวัง เพราะอาจเกิดการไหม้จากส่วนใน อาหารหรือของที่มีความแห้งมากๆ เช่น นมผง หรือแป้ง มักจะเกิดการไหม้ เสียของได้

การใช้ตู้เย็น (Refrigerators)

ตู้เย็น หรือ Refrigerators เป็นความจำเป็นสำหรับการอยู่อาศัยยุคใหม่ แต่ตู้เย็นไม่ว่าจะเป็นแบบประหยัดไฟฟ้ามากน้อยเพียงไร แต่มันต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จึงควรต้องเลือกใช้ให้พอเหมาะ ใช้ขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป ไม่เก็บของในตู้เย็นมากจนเกินความจำเป็น

ตู้เย็น (refrigerator) หรือจะพบเรียกอย่างย่อๆว่า fridge เป็นอุปกรณ์ในครัวเรือนที่จำเป็น ใช้ในการเก็บอาหารและของที่เน่าเปื่อยได้ ซึ่งเพราะความเย็นจึงทำให้ของที่มีเชื้อแบคทีเรียได้ จะหยุดยั้งการเติบโต ตู้เย็นมีส่วนที่จัดเก็บอาหารไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส (freezing point) ส่วนนี้เรียกว่า Freezer ถ้าเก็บน้ำ น้ำก็จะกลายเป็นน้ำแข็ง ส่วนอีกด้านหนึ่ง เป็นส่วนจัดเก็บอาหารที่อุณหภูมิต่ำ แต่ไม่ถึง 0 องศาเซลเซียส ดังใช้ในการเก็บพวกผัก ผลไม้ นม ฯลฯ หากเก็บผักที่อุณหภูมิต่ำเกินไป เกิดการแข็งตัวจับเป็นเกร็ด ก็จะทำให้อาหารเสื่อมคุณภาพ ไม่น่ารับประทาน

ปกติเราจ่ายของที่ต้องจัดเก็บในตู้เย็นในสัก 1 สัปดาห์สักเท่าใด ก็ควรใช้ตู้เย็นขนาดไม่เกินไปกว่านั้น การเก็บของมากเกินความจำเป็น นานเกินจำเป็นก็เป็นความสิ้นเปลือง

ตู้เย็นขนาดเล็ก

ขนาด 3-4 ลูกบาตรฟุต ใช้ห้องพักในโรงแรม หรือในอพาร์ทเมนต์พักอาศัยคนเดียว ไว้ใส่น้ำหรือของกินเล็กๆ น้อยๆ

ตู้เย็นโดยทั่วไป (General Refrigerator)

ส่วนบนมีไว้เก็บอาหารแช่แข็ง เรียกว่า Freezer

ส่วนล่างไว้เก็บอาหารที่ป้องก้นการเน่าเสีย เป็นอุณหภูมิต่ำ แต่สูงกว่าเยือกแข็ง

หากต้องการใช้ตู้เย็นสำหรับบ้านขนาดกลางๆ มีสมาชิก 3-4 คน นั้นขนาดตู้เย็น 6-10 ลบ.ฟุต ก็จะเพียงพอแล้ว

ตู้เย็นขนาดใหญ่ (Large Refrigerator)

แบบมีฝาเปิดสองด้าน มีระบบควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดใหญ่ และอยู่ในที่ๆ เขาจับจ่ายซื้อวัสดุอาหารต่างๆ กันนานๆ ครั้ง แต่สำหรับคนไทยที่มีของกินอยู่ทั่วไป และมีตลาดไว้จับจ่ายได้โดยไม่ยาก การใช้ตู้เย็นขนาดใหญ่เกินไป นอกจากจะเปลืองไฟแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการจัดซื้อ เพราะจะต้องเป็นสินค้านำเข้าเกือบทั้งหมด

ตู้เย็นสำหรับอุตสาหกรรม

สำหรับ อุตสาหกรรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือ Super Market ตู้เย็นขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิและคุณภาพอาหารนั้นเป็นความจำเป็น

ระดับอุณหภูมิ

Some refrigerators are now divided into four zones to store different types of food:
-18 °C (0 °F) (freezer) เป็นช่องแช่แข็ง ใช้ใส่พวกน้ำแข็ง ไอศกรีม หรือเนื้อสัตว์ประเภทแช่แข็งได้
0 °C (32 °F) (meats) ใช้แช่เนื้อสัตว์ประเภทที่ไม่ต้องการให้แข็งมาก เพื่อรักษาคุณภาพของอาหารตามความสด
4 °C (40 °F) (refrigerator) เป็นช่องใส่สิ่งที่แช่เย็นปกติ ในอุณหภูมิที่ไม่ทำให้อาหารแข็ง แต่จะเก็บของไว้ได้ในเวลาไม่เกินกำหนด ใช้เพื่อการแช่ นมสด น้ำผลไม้ อาหารที่ปรุงแล้ว และเก็บไว้ได้เพียงใน 1-3 วัน เป็นต้น
10 °C (50 °F) (vegetables) เป็นการจัดเก็บพวกผักและผลไม้ สามารถเก็บให้สดได้ในช่วงเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ พวกนี้ต้องระวังไม่ให้เย็นจัดจนแข็ง หรือมีความชื้นมากไป และไม่สะอาด ก็จะเกิดเชื้อรา หรือเชื้อโรคอื่นๆ แพร่ขยายได้

ข้อแนะนำในการใช้

การใช้ตู้เย็นเป็นความจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในยุคใหม่ แต่ถ้าจะใช้ให้เลือกประเภทประหยัดพลังงาน และใช้ขนาดที่พอเหมาะกับบ้าน เลือกใช้พอเก็บของเท่าที่จำเป็น หากมีของที่จะต้องเก็บมาก และยิ่งเก็บนาน ค่าไฟฟ้าก็จะยิ่งมาก

1. เลือกซื้อตู้เย็นและอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหลายที่มีเครื่องหมายเบอร์ 5 อันเป็นเครื่องหมายรับประกันการประหยัดไฟ ตู้เย็นอาจมีราคาแพงสักหน่อย แต่การประหยัดไฟฟ้าในระยะยาว จะคุ้มค่ากว่า นอกจากนี้ การใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ต้องซ่อมบ่อยๆนั้นจะเป็นการประหยัด เพราะสินค้าไฟฟ้าปัจจุบัน ค่าซ่อมจะสูงจนบางครั้งต้องปล่อยทิ้งไปเลย เพราะไม่คุ้มที่จะต้องซ่อม

2. อย่าใส่ของในตู้เย็นมากจนเกินไป ของกินบางอย่าง จัดเก็บเพียงภายในแต่ละสัปดาห์ มีบางส่วนที่จัดเก็บไว้ไม่ควรเกินเดือน หากหลงลืมไม่นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะเปลืองพื้นที่

3. หมั่นทำความสะอาดตู้เย็นทั้งตู้เป็นระยะๆ และนำของที่เก็บนานแล้วมาใช้ก่อน และขณะเดียวกัน การทำความสะอาดเป็นระยะจะลดปัญหาการเกิดเชื้อราในตู้เย็น

4. ทำความสะอาดช่องน้ำแข็ง (Freezer) อย่าให้มีน้ำแข็งเกาะหนาเป็นเวลานาน จะทำให้ตู้เย็นทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และใช้ไฟฟ้าเปลือง หากเป็นไปได้ เลือกซื้อตู้เย็นที่มีระบบระลายน้ำแข็งอัตโนมัติ จะลดภาระในการต้องล้างตู้ลงไปได้มาก

5. ตั้งตู้เย็นในที่โปร่ง ด้านหลังไม่มีควรมีอะไรไปบังทางระบายลม เพื่อให้มีการระบายลมร้อนออกไปได้สะดวก จะประหยัดไฟ

6. ไม่จำเป็นอย่าตั้งตู้เย็นในห้องปรับอากาศ จะทำให้เปลืองไฟฟ้าเป็นสองเท่า เพราะต้องมีการระบายความร้อนจากตู้เย็น และต้องระบายความร้อนจากในห้องนั้นออกนอกอาคาร หากวางตู้เย็นในห้องที่เป็นอากาศโปร่งตามธรรมชาติ ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศเพิ่ม

7. ใส่อาหารและสิ่งของในตู้เย็นให้เหมาะแก่บริเวณ เช่นถ้าเป็นพวกเนื้อ ให้ใส่ในช่องที่เป็น Freezer หรือห้องแช่แข็งได้ หากเป็นพวกนม ต้องการอุณหภูมิต่ำ เช่นประมาณ 5.0 องศาเซลเซียส แต่ต้องไม่แข็งจนเป็นเกร็ด หากเป็นพวกผลไม้และผัก ต้องให้มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ อยู่ในตู้ส่วนกลาง

8. อย่านำของร้อนไปใส่ในตู้เย็น รอให้ของนั้นๆ เย็นลงตามธรรมชาติ แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น

9. อย่าเปิดตู้เย็นทิ้งไว้นาน เปิดหยิบของแล้วให้ปิดตู้ หรือเมื่อปิดตู้ ต้องดูว่าฝาตู้เย็นปิดสนิท มิฉะนั้นจะทำให้เปลืองไฟฟ้า และที่สำคัญของภายในตู้เย็นอาจเสียหายได้

การดูแลเรื่องแสงสว่าง (Lighting)

แสงสว่าง เป็นเรื่องการใช้พลังงานที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การเลือกหลอดไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างอย่างเหมาะสมนั้นจะช่วยในการประหยัดพลังงานได้อีกด้านหนึ่ง

หลอดไฟทั่วไป

หลอดไฟฟ้าทั่วไปเรียกว่า incandescent light bulb ให้พลังงานออกมาเป็นความร้อนเสียร้อยละ 85 มีที่ให้เป็นแสงเพียงร้อยละ 5 และเพราะมันให้ความร้อนมาก จึงทำให้วัสดุที่ใช้เสื่อมอายุ หลอดขาดได้โดยเร็ว จึงทำให้เกิดความสิ้นเปลืองมากตามไปด้วย

หลอดไฟประเภทประหยัดพลังงาน ( Compact Fluorescent )

ไฟหลอด fluorescent ประหยัดไฟ ทำให้มีขนาดเล็กเท่ากับหลอดไฟทั่วไป

หลอดไฟฟ้า fluorescent lamp หรือที่เรียกว่าหลอดนีออน มีประสิทธิภาพเป็นร้อยละ 20 คือมากกว่าหลอดไฟธรรมดา 4 เท่า

หลอดไฟประเภทประหยัดพลังงาน

ไฟหลอด fluorescent ประหยัดไฟ ปัจจุบันมีการพัฒนาหลอดนีออนให้สามารถมีขั้วเสียบเข้ากับขั้วของหลอดไฟธรรมดาได้

หลอด fluorescent bulb ขนาด 23 watt สามารถให้พลังงานได้เท่ากับหลอดไฟธรรมดาขนาด 100 watt ยิ่งหากเป็นการใช้ในสถานที่ๆต้องมีการปรับอากาศ การใช้หลอดนีออนก็จะไปลดความร้อนลง ทำให้ไม่ต้องไปเปลืองเครื่องปรับอากาศ

โคมไฟอ่านหนังสือ (Desk Lamp)

ใช้หลอดไฟประเภท Halogen

หลอด halogen incandescents มีประสิทธิภาพร้อยละ 9 หรือประมาณเกือบ 2 เท่าของหลอดธรรมดา (แต่ยังต่ำกว่าหลอดนีออน) และจากการวิจัยเป็นความเสี่ยงด้านความร้อนและทำให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ได้ จึงมีการห้ามใช้ในบ้านเรือน

แสงไฟที่ใช้ในถนน (Street Lightning)

ไฟฟ้าตามถนนกลายเป็นความจำเป็นสำหรับถนนที่ต้องเน้นความปลอดภัยยามค่ำคืน หลอดไฟที่ใช้ จึงต้องเน้นความสว่าง และมีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เขาเรียกหลอดประเภทนี้ว่า high-intensity discharge lamps, และมักจะเป็นประเภท HPS หรือเป็น high pressure sodium lamps.

หลอดไฟแบบ LED

หลอดไฟแบบ LED มาจากคำว่า light-emitting diode (LED) is a semiconductor device that emits incoherent narrow-spectrum light when electrically biased in the forward direction. This effect is a form of electroluminescence.

นอกจากจะมีประสิทธิภาพการให้แสงสว่างที่ดีกว่าแล้ว ยังมีความคงทน มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า เพราะมีความร้อนที่ทำให้วัสดุเสื่อมน้อยและเสื่อมช้ากว่า

หลอดแบบ LED ที่เป็นสี

หลอดไฟแบบ LED มีที่เป็นสี มีได้หลายสี และมีอายุการใช้งานยาวนานยิ่งกว่าแบบสีขาว เป็นหลอดใช้เพื่อวัตถุประสงค์โดยเฉพาะ

ความประหยัดไฟฟ้า

เปรียบเทียบความสิ้นเปลืองของการใช้หลอดแบบธรรมดา และหลอดแบบ Fluorescent
หลอดธรรมดาขนาด 60 W ใช้หลอด Fluorescent ขนาด 14 W ให้แสงได้เท่ากัน
ใช้งาน 8000 ชั่วโมง รวมแล้วหลอดแบบธรรมดาแพงกว่า 5 เท่า แม้ราคาหลอด Fluorescent จะแพงกว่าถึง 7 เท่า แต่เพราะการประหยัดไฟ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญ แต่หากลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ จะเป็นการประหยัดได้ดีที่สุด

Electricity Cost
(for 800–900 lumens at a rate of $0.10/kWh)


- หลอดไฟประเภท LED Bulb มีอายุการใช้งานยืนยาวถึง 30,000-60,000 ชั่วโมง
- สามารถให้แสงสว่างได้มีประสิทธิภาพมากกว่าหลอดแบบดั่งเดิมถึง 4 เท่า
- แม้จะมีราคาแพงกว่า เช่นจะพบว่ามีวางขายในราคาประมาณ 160 บาท/หลอด คือแพงกว่าหลอดธรรมดา 7-8 เท่า แต่ก็มีอายุการใช้งานนานกว่า และประหยัดไฟได้มากกว่า

No comments:

Post a Comment