Sunday, February 6, 2011

จังหวะต่อไปนี้ ฝ่ายมูบารัค กับฝ่ายประท้วง ใครจะอึดกว่ากัน

จังหวะต่อไปนี้ ฝ่ายมูบารัค กับฝ่ายประท้วง ใครจะอึดกว่ากัน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ในภาษาอังกฤษมีคำหนึ่งเรียกว่า Impasse แปลว่า ทางตัน ไม่คืบหน้า และไม่ได้ถอยหลังหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ที่เริ่มประทุตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 นั้นต่างจากในตูนีเซียที่ได้ประทุก่อนหน้านี้ไม่นานที่เรียกว่า ปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution) มีลักษณะแยกออกต่างหาก ไม่มีบทบาทต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องมาก

แต่สำหรับการครองอำนาจของเผด็จการในอียิปต์อาจเป็นเรื่องที่แตกต่างกัน เพราะอียิปต์เป็นที่ๆปกครองมาตั้งแต่ได้รับเอกราชด้วยการปกครองโดยเผด็จการ (Autocrat) โดยมีทหารค้ำจุน มีผลประโยชน์ร่วมจากหลายฝ่าย มีคลองซูเอส ( Suez Canal) เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียน กับมหาสมุทรอินเดีย โดยผ่านทางทะเลแดง (Red Sea) ที่เป็นทางผ่านของการขนส่งสินค้าข้ามทวีป เกี่ยวข้องกับหลายชาติ

อียิปต์เป็นประเทศที่เคยขัดแย้งกับอิสราเอล จนต้องมีการยุติสงคราม และมีฝ่ายสหรัฐทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน โดยต้องมีการจ่ายเงินสนับสนุนถึงปีละ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ 65 หรือ 1300 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเพื่อการช่วยเหลือทางการทหาร สหรัฐและโลกตะวันตกมองอียิปต์ว่ามีความเสี่ยงที่อาจสวิงไปสู่มือของฝ่ายต้องการใช้ความรุนแรง ดังที่ประเทศอิหร่านเมื่อฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหลายได้โค่นล้มพระเจ้าชาห์แล้ว อำนาจก็ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายอิสลามหัวเคร่งครัด ซึ่งฐานเสียงมาจากคนระดับล่างของประเทศ

ฝ่ายอิสราเอล ประเทศที่เคยสู้รบกับอียิปต์มาสองครั้ง ก็ไม่อยากที่จะเห็นรัฐบาลใหม่ที่ไม่เป็นมิตรกับอิสราเอล เพราะเท่ากับทำให้ชาติเขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ต้องประสบกับความไม่ลงรอยกับปาเลสไตน์ อิหร่าน และหากรวมถึงอียิปต์เข้าไปอีก อาการของชาตินี้คงหนักหนา แม้จะยังมีสหรัฐทำหน้าที่เป็นชาติลูกพี่คอยคุ้มภัยอยู่

แม้สื่อตะวันตกเองในระยะแรกๆ ก็ไม่กล้าออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับอียิปต์มากนัก จะนำเสนออย่างระมัดระวังตัวเอง จนกระทั่งภาพและข้อมูลที่ปรากฏชัดว่าได้มีพวกอันธพาลการเมือง (Thugs) ที่ได้รับจ้างมาทำร้ายผู้ประท้วง

ดังนั้น หลายฝ่ายจึงรีๆรอๆ อียิปต์ภายใต้มูบารัคเอง ก็พร้อมจะฝืนคำแนะนำของสหรัฐ เพราะแม้อียิปต์จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ แต่ในปัจจุบันมีมูลค่าเพียงร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติ ไม่ใช่มากถึงร้อยละ 20 ดังเมื่อต้องได้รับความช่วยเหลือระยะแรกๆ มูบารัคอาจจะใช้การดื้อเงียบๆ และขณะเดียวกัน ก็มีฝ่ายทหาร ตำรวจ ข้าราชการที่มีผลประโยขน์ร่วมกับฝ่ายมีอำนาจ ที่ไม่อยากให้อำนาจปล่อยหลุดมือไปอยู่กับส่วนอื่นๆ

ในด้านหนึ่ง ฝ่ายมูบารัคได้แสดงการยอมถอยมาระดับหนึ่งแล้ว ด้วยการประกาศว่าเขาและรวมทั้งบุตรชาย กามาล มูบารัค (Gamal Mubarak) จะไม่ลงรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยหน้า แต่ที่จะไม่ยอมถอยต่อไปอีก คือการต้องลาออก และเดินทางลี้ภัยไปต่างประเทศ เพราะประธานาธิบดีกล่าวว่า จะเขาจะขอตายในแผ่นดินอียิปต์นี้

ในอีกด้านหนึ่ง ฝ่ายต่อต้านมูบารัค และผู้ประท้วงที่ปักหลักอยู่ที่จุตรัสทาเฮียร์ (Tahrir Square) ต่างเห็นว่าพวกเขาได้เสียมามากแล้ว และการต้องเลิกรากลับไป โดยที่มูบารัคยังอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น เขาอาจมาตามล้างตามเก็บได้อีก และด้วยความไม่ไว้วางใจนี้ วิธีการเดียว คือ ตีงูต้องตีให้หลังหัก หรือต้องแพ้ชนะกันเด็ดขาด มูบารัคต้องสละตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศ

สำหรับฝ่ายบ้านเมือง ทหารตำรวจ เมื่อผู้ประท้วงชุมนุมอยู่ ณ ที่หนึ่งแม้มีจำนวนหลายๆแสนคน แต่เป็นไปด้วยความสงบ และรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไร หากปล่อยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ทุกวันมีรถวิ่งตามถนน ราชการ และร้านค้าสามารถเปิดบริการได้ ให้เหตุการณ์กลับสู่ปกติ ท้ายสุด คนจะอารมณ์เย็นลง อำนาจฝ่ายเรียกร้องก็จะลดลง เพราะคนส่วนใหญ่ที่ต้องทำมาหากิน ก็จะไม่อยากให้มีความขัดแย้งแบบยืดเยื้อ และในขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลเองยังไม่มีแผนการปฏิรูปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ชัดเจน ทุกอย่างยังล่องลอย ทำให้ไม่มีใครไว้ใจพอที่จะยอมรับการปฏิรูปให้ดำเนินไปภายใต้รัฐบาลมูบารัค

ดังนี้จึงเรียกว่า อียิปต์ได้เข้าสู่ทางตัน คงต้องรออีกสักระยะหนึ่ง เพราะสนามเล่นเกมนี้ไม่ได้อยู่ที่เพียงจัตุรัสทาเฮียร์ กลางกรุงไคโร แต่อยู่ในหลายๆที่ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

No comments:

Post a Comment