Wednesday, November 19, 2014

การถึงจุดหมายที่เท่าเทียมกัน (Equifinality)

การถึงจุดหมายที่เท่าเทียมกัน (Equifinality)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: จิตวิทยา, psychology, การเรียนรู้, learning, บุคลิกภาพ, personality, Euifinality

อีควิไฟนาลิตี (Equifinality) คือหลักการของระบบเปิดที่ (Open systems) การถึงวาระสุดท้าย หรือจุดมุ่งหมายที่เท่าเทียมกัน


ภาพ โธมัส เอดิสัน (Thomas Alva Edision 1804-1896,) นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกัน เมื่อเป็นเด็กไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน เพราะเขาหูหนวกจากโรค Scarlet fever จนในที่สุดแม่ต้องนำเขาออกจากโรงเรียน และให้เขาได้เรียนนอกระบบที่บ้าน แต่สิ่งที่แม่มีอยู่ตลอดเวลา คือเชื่อว่าเด็กชายโธมัส มีพรสวรรค์ที่คนอื่นๆมองไม่เห็นและเขาจะประสบความสำเร็จในชีวิต


ภาพ เกนนาดี โกลอฟกิน (Gennady Golovkin, 1982 - ) เป็นนักชกอาชีพชาวรัสเซีย เชื้อสายคาซักและเกาหลี ชีวิตในวัยเด็กเขาเต็มไปด้วยเรื่องการชกต่อย พี่ชายสองคนเสียชีวิตในราชการสงคราม แต่ในที่สุดโกลอฟกินเอาดีทางการเป็นนักมวยอาชีพ ฝึกซ้อมอย่างหนัก มีลีลาดุดัน อดทน รวดเร็วและหมัดหนัก มีการป้องกันตัวที่ดี เขามีสถิติชกอาชีพ 31 ครั้ง ชนะทุกครั้ง และชนะน๊อก 28 ครั้ง ปัจจุบันเป็นแชมเปียนโลกในรุ่น 160 ปอนด์ของหลายสถาบัน

เด็กสองคนที่ไม่เหมือนกัน


เด็กชาย ก. เป็นคนชอบอยู่เงียบๆ เขารักการอ่านหนังสือ ชอบสังเกต ชอบเขียน แต่เป็นเด็กขี้อาย ไม่ค่อยกล้าพูดกับคน เขาจะรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องออกมาแสดงความคิดเห็นหน้าชั้น ในทางจิตวิทยา อาจเรียกเด็กคนนี้ว่า Introvert

เด็กชาย ข. เป็นคนอยู่เฉยๆไม่ได้ ชอบพูด แต่พูอย่างไม่ค่อยได้คิด ร่าเริง สนุกสนานท่ามกลางเพื่อนฝูงชอบเล่นกีฬา แต่ไม่ชอบเรียนหนังสือ โดยเฉพาะเรียนในห้องเรียนสีเหลี่ยมที่ทุกคนต้องนั่งนิ่งเงียบ ในทางจิตวิทยาอาจเรียกบุคลิกภาพของเด็กคนนี้ว่า Extrovert

เด็กสองคนนี้มีสิทธิมีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิต เพียงแต่เส้นทางเดินของเขาแตกต่างกัน จุดสำคัญ พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูผู้ใกล้ชิดเขาต้องเข้าใจธรรมชาติของทั้งสองคน และจัดประสบการณ์ชีวิตและการเรียนให้สอดคล้องแก่แต่ละคน อย่านำสองอย่างที่แตกต่างกัน มาประเมินบนฐานเดียวกัน ทุกคนมีคุณค่า และสิทธิประสบความสำเร็จในชีวิตตามเส้นทางเดินของเขา

เด็กชาย ก. อาจกลายเป็นนักเขียน นักคิด นักวิทยาศาสตร์ แม้เขาเป็นคนไม่ชอบพูดจากับคนในช่วงเด็กๆ แต่เมื่อโตขึ้น เขาจะเรียนรู้วิธีการเข้าสังคมได้ในเวลาต่อมา เมื่อเขาโตขึ้น

เด็กชายข. แม้เป็นเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือในช่วงหนึ่งของชีวิต เขาอาจกลายเป็นนักแสดง ผู้ประกอบการ นักบริหาร ฯลฯ เมื่อเขามีวุฒิภาวะมากขึ้น เขาอาจมีวิธีการเรียนรู้ชีวิตและการทำงานในวิธีการของเขา
อย่างไรเสียให้เข้าใจอีกว่า จุดสุดท้ายของทุกคน ท้ายสุดก็จะมาถึงจุดเดียวกัน แม้ในชีวิตจะเดินไปกันคนละทิศละทาง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของ Equifinality ในชีวิตของเราคือ ประสบการณ์จากการเจ็บ การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ว่าเราจะดูแลอย่างไร แต่เราจะหนี 3 สิ่งนี้ไปไม่พ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง มันจะมาถึงเรา โดยเฉพาะการตาย ความแตกต่างคือเราจะมีเส้นทางที่จะดำเนินชีวิตที่เรามีสิทธิเลือกอย่างไร ก่อนที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางนั้น

เราอาจมีวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ็บป่วยได้ ด้วยการดูแลด้านสุขภาพ อาหารการกิน และการออกกำลังกาย เมื่อเจ็บป่วย เราก็ต้องรู้จักดูแลรักษาตนเอง รู้จักใช้บริการสาธารณสุขที่จำเป็น เราสามารถทำให้ชีวิตเราแก่ช้าลง มีอายุที่ยืนยาวขึ้น แต่ในที่สุด เราก็จะหนีความตายไปไม่พ้น

สำหรับคนที่อ่านหนังสือธรรมะไม่เข้าใจ หรือรู้สึกเบื่อหน่ายในศัพท์บาลีหรือสันสกฤต ก็ลองศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเปิดก็ได้ครับ แล้วเราจะบรรลุธรรมะแห่งชีวิต เช่นเดียวกัน

การประยุกต์ใช้


สำหรับพ่อแม่เด็ก ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนมีสิ่งดีๆที่รอการค้นพบของเรา อย่าไปเร่งร้อนผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จตามที่ผู่ใหญ่คิด เพราะเด็กแต่ละคนสามารถมีเส้นทางเดินของเขาที่อาจไม่เหมือนกัน รอให้เขาได้แสดงความเป็นตัวตนของเขา แล้วค่อยหาทางปรับแต่งเขาแต่ละคนตามพรสวรรค์หรือความถนัดอย่างที่เขามีอยู่

No comments:

Post a Comment