Saturday, September 28, 2013

เหตุการณ์จับตัวประกันชาวอเมริกันในอิหร่าน ปี ค.ศ. 1979


เหตุการณ์จับตัวประกันชาวอเมริกันในอิหร่าน ปี ค.ศ. 1979

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, international relation, สหรัฐอเมริกา, United States, USA, อิหร่าน, Iran

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “The 1979 Iran hostage crisis” ใน Wikipedia

สัมพันธภาพระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านไม่เคยพัฒนาขึ้นเลย หลังจากการปฏิวัติศาสนาในอิหร่าน และอิทธิพลของอเมริกันในประเทศนี้ก็เปลี่ยนเป็นลบ ตราบจนถึงปัจจุบัน ความจริงสหรัฐอเมริกามีความสนใจและเคยมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ ทั้งทางด้านความเป็นแหล่งพลังงานน้ำมันขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ในปัจจุบัน อิหร่านเป็นประเทศมีขีดความสามารถจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งยิ่งทำให้เป็นที่กังวลของมหาอำนาจตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ กลุ่มสหภาพยุโรป และรวมถึงอิสราเอล แต่ทั้งหมดนี้ การเผชิญหน้ากัน และความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอาจคลี่คลายลงไปในยุคที่อิหร่านได้เปลี่ยนผู้นำทางการบริหารใหม่


ภาพ ภาพอย่างเป็นทางการของ ฮัสซัน รูฮาห์นี (Hassan Rouhani) ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของอิหร่าน ผู้เป็นผู้นำสายกลาง มีนโยบายประณีประนอมกับตะวันตก และลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

เหตุการณ์จับตัวประกัน 1979

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1979 กลุ่มนักศึกษาปฏิวัติมุสลิมเคร่งศาสนา โกรธที่สหรัฐอเมริการับอดีตกษัตริย์ชาห์ ปาห์เลวี (Shah Pahlavi) แห่งอิหร่านให้ลี้ภัยในแผ่นดินสหรัฐอเมริกาได้ จึงได้จับตัวผู้ทำงานสถานฑูตสหรัฐในกรุงเตหะราน (Tehran) ผู้ทำงานด้านการทูตอเมริกัน 52 คน ถูกกักตัวไว้นาน 444 วัน

เหตุการณ์นี้ นับเป็นความรุนแรงที่ทำให้มีการตัดความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน และอิทธิพลของอเมริกันต่อชาวอิหร่านสายกลางได้สิ้นสุดลง นายกรัฐมนตรี Mehdi Bazargan ผู้ไม่เห็นด้วยกับการจับตัวประกันได้ลาออกในเวลาต่อมา ส่วนฝ่ายที่จับตัวประกันให้เหตุผลว่า เป็นการตอบโต้ต่อสหรัฐ อันเป็นผลจากการที่สหรัฐหนุนหลังให้มีการรัฐประหารล้มอำนาจของนายกรัฐมนตรี Mosaddeq ในอิหร่านในปี ค.ศ. 1953 โดยกล่าวว่า “ท่านไม่มีเหตุผลใดที่ได้จับประเทศอิหร่านเป็นตัวประกันในปี ค.ศ. 1953” นอกจากนี้ ชาวอิหร่านบางส่วนกังวลว่าสหรัฐอเมริกาจะวางแผนรัฐประหารในปี ค.ศ. 1979


กษัตริย์ชาห์ ปาห์เลวี (Shah Pahlavi) ผู้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ในยุคสงครามเย็น เพื่อครองอำนาจโดยผ่านรัฐประหาร


อิมาม รูโฮลลาห์ โคไมนี (Ruhollah Khomeini) ผู้นำทางศาสนาคนแรกที่เรียกว่า Supreme leader ผู้เป็นศูนย์กลางในการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน

ในที่สุดตัวประกันการทูตของสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่การกักตัวทูตและผู้ทำงานการทูตในครั้งนั้น นับเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายนานาชาติ เป็นการรุกล้ำเขตที่ถือเป็นอธิปไตยของประเทศ

ส่วนในช่วงการกักตัวประกันไว้ในสถานทูต สหรัฐอเมริกาได้ใช้ความพยายามช่วยตัวประกัน โดยมี “ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์” (Operation Eagle Claw) ในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1980 แต่ล้มเหลว ทำให้เสียทหารไป 8 นาย และต้องล้มเลิกแผนงาน เหตุวิกฤติจบลงในที่สุด เมื่อมีการลงนามในสัญญา Algiers Accords ในประเทศอัลจีเรียในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1981 และมีการปล่อยตัวประกัน ในข้อตกลง มีการปล่อยตัวคนอเมริกันที่ถูกกักตัวในอิหร่าน และอีกด้านหนึ่ง มีการปล่อยตัวคนสัญชาติอิหร่านที่ต้องโทษในสหรัฐอเมริกา

แต่สนธิสัญญานี้ครอบคลุมเพียงด้านกฎหมาย แต่ในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1980 สหรัฐอเมริกาได้ตัดสัมพันธ์กับอิหร่าน ในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1981 รัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์สหรัฐในอิหร่าน และสถานทูตปากีสถานในกรุงวอชิงตันดีซี ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอิหร่านในสหรัฐอเมริกา แต่เพื่อเป็นการตอบโต้ต่ออิหร่าน จึงมีการลงโทษทางเศรษฐกิจ ทรัพย์สินของรัฐบาลอิหร่านในต่างประเทศ ในธนาคารต่างประเทศถูกอายัด มีการห้ามทุกประเทศทำการค้าขายกับอิหร่าน ด้วยเหตุดังกล่าว อิหร่านจึงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ฝ่ายรัฐบาลกลับยิ่งใช้นโยบายกร้าวต่อประชากรที่เอนเอียงไปทางการรับวัฒนธรรมตะวันตก และกลุ่มที่เรียกร้องเสรีภาพ

สังคมอิหร่านเริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ในอิหร่าน ประธานาธิบดีสายเหยี่ยวที่กร้าวต่อตะวันตกหมดอำนาจไป ส่วนผู้ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามารับตำแหน่งคนใหม่ ฮัสซัน รูฮาห์นี (Hassan Rouhani) ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของอิหร่าน ซึ่งเป็นพวกเดินสายกลาง และต้องการมีสัมพันธภาพใหม่กับทางตะวันตก

คงจะต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลังความขัดแย้งแตกหักตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 และสืบเนื่องยาวนาน นับเป็นเวลาถึง 34 ปีแล้ว

ภูมิหลังประเทศอิหร่าน

อิหร่าน (Iran) หรือที่รู้จักกันในนาม “เปอร์เชีย” (Persia) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republicof Iran) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 จัดเป็นประเทศหนึ่งในเอเซียตะวันตก (Western Asia) มีเขตแดนทางเหนือติดกับประเทศอาร์เมเนีย (Armenia), อาเซอร์ไบจัน (Azerbaijan) และเติร์กเมนิสตาน (Turkmenistan), และทางเหนือติดกับคาซัคสถาน (Kazakhstan) และรัสเซีย (Russia) ตลอดไปจนถึงทะเลแคสเปียน (Caspian Sea) และอ่าวโอมาน (Gulf of Oman) ในทางตะวันตกติดกับอิรัค (Iraq) และทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับเตอรกี (Turkey)

อิหร่านจัดเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ 1,648,195 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับที่ 18 ของโลก มีความหลากหลายทางชนชาติ (Ethnically diverse) มีประชากร 77 ล้านคน มีพื้นที่เป็นภูเขามาก นับเป็นเขตที่มีความสำคัญทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical significance) ด้วยมีพื้นที่สัมผัสทาง 3 เขตของเอเชีย อิหร่านมีเมืองหลวงและมีประชากรมากที่สุด ชื่อ เตหะราน (Tehran) นับเป็นศูนย์กลางทางการเมือง วัฒนธรรม การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศ อิหร่านจัดเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค มีผลต่อความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจโลก เพราะความเป็นแหล่งพลังงานปิโตรเลียม ทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติขนาดใหญ่ มีแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่เป็นที่ 4 ของโลก

อิหร่านเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดี ด้วยมีผลิตผลน้ำมัน มีรายได้ปราชาชนต่อหัว/ปี ที่ประมาณ USD13,000 จัดอยู่ในระดับกลางค่อนข้างสูงของโลก ใกล้เคียงกับมาเลเซีย บราซิล และเมกซิโก
อิหร่านเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง มีราชวงศ์แรกที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงราชวงศ์อีลามไมท์ (Elamite kingdom) ในช่วง 2800 ปีก่อนคริสตกาล ในยุค Iranian Medes อิหร่านได้มีการรวมประเทศเป็นอาณาจักรในปี 625 ก่อนคริสตกาล ไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) ได้ก่อตั้งอาณาจักรอาเมนิด (Achaemenid Empire) ในช่วง 550-330 ปีก่อนคริสตกาล มีอาณาบริเวณใหญ่สุดในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล นับเป็นอาณาจักรโบราณขนาดใหญ่เหยียดยาวจากหุบเขาอินดัส (Indus Valley) ไปทางตะวันออก ถึง เธรส (Thrace) และมาซีดอน (Macedon) ทางตะวันออกเฉียงเหนือไปจนจรดกรีก (Greece) นับเป็นอาณาจักรใหญ่สุดเท่าที่โลกเคยเห็น

ในช่วง 633 หลังการเริ่มคริสตกาล กองทัพมุสลิมได้บุกอิหร่าน และได้ปกครองเขตนี้ในปี ค.ศ. 651 ในปี ค.ศ. 1501 ได้เกิดราชวงศ์ซาฟาวิด (Safavid dynasty) ที่ได้ส่งเสริมอิสลามนิกายชีอะ (Twelver Shia Islam) ถือเป็นศาสนาหลักของอาณาจักร นับเป็นช่วงสำคัญของประวัติอิสลามในประเทศอิหร่าน
ในปี ค.ศ. 1906 อิหร่านได้มีการปฏิวัติรัฐธรรมนูญ (Persian Constitutional Revolution) ทำให้ประเทศมีรัฐสภาเป็นครั้งแรก โดยมีระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในปี ค.ศ. 1953 ด้วยอิทธิพลของสหรัฐกับอังกฤษ ได้มีการก่อรัฐประหาร ซึ่งทำให้อิหร่านค่อยๆกลายเป็นรัฐเผด็จการ ประชาชนเริ่มปฏิเสธอิทธิพลของต่างชาติ และเมื่อมีการปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolution) ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1979 จึงได้เกิดสาธารณรัฐอิสลาม (Islamic republic) ปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตก และเกิดการต่อต้านสหรัฐอเมริกา จนถึงระดับจับตัวนักการทูตเป็นตัวประกันในปี ค.ศ. 1979 ดังได้พรรณนามาแล้ว

อิหร่านเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง สหประชาชาติ (United Nations - UN), ประเทศผู้ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement - NAM), องค์การความร่วมมือศาสนาอิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation  - OIC) และองค์การประเทศผู้ส่งออกปิโตรเลียม (Organization of the Petroleum Exporting Countries - OPEC) ระบบการปกครองของอิหร่านปัจจุบัน อาศัยรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1979 ซึ่งมีองค์ประกอบของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (parliamentary democracy) ผสมกับอำนาจจากศาสนจักร (Religious theocracy) โดยมีฝ่ายศาสนาเป็นผู้บริหารประเทศ อำนาจสูงสุดอยู่ภายใต้ผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) อันมาจากฝ่ายศาสนา ศาสนาอย่างเป็นทางการของอิหร่านคือชีอะ (Shia Islam) และมีภาษาเปอร์เซีย (Persian) เป็นภาษาทางการ






No comments:

Post a Comment