Wednesday, September 11, 2013

ครอบครัวเผด็จการเกาหลีใต้ยอมจ่ายค่าปรับ 4620 ล้านบาทพร้อมขออภัยต่อประชาชน


ครอบครัวเผด็จการเกาหลีใต้ยอมจ่ายค่าปรับ 4620 ล้านบาทพร้อมขออภัยต่อประชาชน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, เกาหลีใต้, South Korea, ชุน ดูวาน (Chun Doo-hwan, คือคิม แดจุง (Kim Dae-jung),

ศึกษาและเรียบเรียงจากข่าว “South Korean ex-dictator's family to settle $154m in fines.” BBC News, September 10, 2013


ภาพ นายชุน แจคุก (Chun Jae-kook) คนกลาง ได้กล่าวว่าครอบครัวของเขาจะชดใช้หนี้ค่าปรับของบิดา อดีตประธานาธิบดีชุน ดูวาน ในความผิดที่ผ่านมา

ครอบครัวของอดีตประธานาธิบดีเผด็จการชุน ดูวาน (Chun Doo-hwan) แห่งเกาหลีใต้ ผู้ต้องคำตัดสินฐานคอรัปชั่นในอดีต ตกลงยอมจ่ายเงินคืนรัฐเพิ่มเติมอีก USD154 ล้าน หรือ 4620 ล้านบาทไทย ในฐานที่รับเงินคอรัปชั่นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการประนอมหนี้และชดใช้สิ่งที่ผิดพลาดในอดีต
บุตรชายของนายพลชุน ดูวานกล่าวว่า ครอบครัวของเขาจะคืนเงินและทรัพย์สินหลายส่วนเพื่อชดใช้แก่รัฐตามค่าปรับ

ชุน ดูวานได้เป็นผู้นำของเกาหลีใต้หลังจากเกิดรัฐประหาร เขาครองอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จในช่วงปี ค.ศ. 1979 ถึงปี ค.ศ. 1988


ภาพ นายพลชุน ดูวาน ขณะถูกพิจารณาคดี


ภาพ นายพลชุน ดูวาน ขณะหมดอำนาจแล้ว

ในปีค.ศ. 1996 ชุน ดูวานต้องข้อกล่าวหาเป็นกบฏ คอรัปชั่น แต่ได้รับการอภัยโทษในปี ค.ศ. 1997 และได้รับคำสั่งให้จ่ายทดแทนเงินที่ได้เบียดบังเป็นส่วนตัวในช่วงมีอำนาจ ส่วนของการกล่าวโทษสำหรับนายพลวัย 82 ปี อดีตผู้นำเกาหลีใต้ คือการเบียดบังเงินติดสินบนที่ได้รับในช่วงที่เขามีอำนาจ
ในครั้งแรก เขาถูกสั่งให้จ่ายเงิน 220,000 ล้านวอน หรือเทียบเท่ากับ USD202 ล้าน คืนแก่รัฐ ซึ่งเขาได้จ่ายไปบางส่วน แต่เขาบอกว่าไม่มีเงินพอที่จะจ่ายชดเชยส่วนที่เหลือ ในคราวนี้ลูกๆของชุน ดูวาน 4 คน ได้รวบรวมทรัพย์สินส่วนที่เหลือ ซึ่งรวมถึงงานศิลปะและบ้านพักในกรุงโซล ที่ซึ่งนายพลและภริยาพำนักอยู่

บุตรชายคนโตของชุน ดูวานได้เปิดให้สัมภาษณ์ เพื่อขอโทษต่อประเทศชาติ เมื่อฝ่ายอัยการได้เริ่มความพยายามใหม่ในการเรียกเงินที่ยังค้างกลับคืน

 ผมขอก้มศีรษะขอโทษในนามของครอบครัวที่เป็นเหตุให้สร้างความกังวลในการชดใช้ทรัพย์สิน นายชุน แจคุก (Chun Jae-kook) บุตรชายคนโตของชุน ดูวานกล่าวที่เมืองโซลในวันอังคารที่ผ่านมา
 “ครอบครัวของเราจะร่วมมือให้มากที่สุดกับฝ่ายบ้านเมืองที่จะคืนเงินและทรัพย์สิน เพื่อชดใช้ให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น และพร้อมที่จะร่วมมือด้วยจิตสำนึกอันดีในการสืบสวนใดๆหากจะมีขึ้น

ชุน ดูวาน (Chun Doo-hwan)

ชุน ดูวาน (Chun Doo-hwan) เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1931 เป็นนายพลของกองทัพบกที่ได้ก้าวสู่อำนาจและเป็นเผด็จการของเกาหลีใต้ในช่วงปี ค.ศ. 1979 จนถึงปี ค.ศ. 1988 เป็นผู้ปกครองประเทศโดยอาศัยอำนาจจากกองทัพในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1979 และครองอำนาจจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1980 จัดเป็นประธานาธิบดีคนที่ห้าของประเทศเกาหลีใต้ในช่วงปี ค.ศ. 1980 ถึงปี ค.ศ. 1988

ชุด ดูวานถูกตัดสินประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1996 ในฐานะที่เขามีบทบาทสำคัญในการสังหารหมู่ที่กวางจู (Gwangju Massacre) แต่ในระยะต่อมาได้รับการอภัยโทษโดยประธานาธิบดีคิม ยองซัม (Kim Young-sam) โดยคำแนะนำของประธานาธิบดีผู้จะเข้าสู่ตำแหน่งในขณะนั้น คือคิม แดจุง (Kim Dae-jung) ที่ถูกรัฐบาลของชุน ดูวานตัดสินลงโทษประหารชีวิตเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้

การสังหารหมู่ที่กวางจู (Gwangju Massacre)

การสังหารหมู่ที่กวางจู (Gwangju Massacre) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่กวางจู” (Gwangju Democratization Movement) ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 18 - 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิต 165 คน ในช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนได้ลุกขึ้นต่อต้านเผด็จการทหารชุน ดูวาน และเข้าครอบครองเมือง ในช่วงของการต่อต้าน ได้มีการจับอาวุธขึ้นสู้ โดยปล้นอาวุธจากสถานีตำรวจและค่ายทหาร เพื่อใช้ในการต่อต้านรัฐบาล แต่ก็ถูกการบุกเข้าบดขยี้โดยกองทัพบกฝ่ายรัฐบาลในช่วงเวลาอันสั้น


ภาพ คิม แดจุง (Kim Dae-jung) คู่ปรับทางการเมืองของนายพลชุน ดูวาน ซึ่งต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 ของประเทศเกาหลีใต้ ดำรงตำแหน่งในช่วงปี ค.ศ. 1998 ถึงปี ค.ศ. 2003 และเป็นผู้อภัยโทษประหารชีวิตของชุน ดูวาน เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รางวัลแมนเดลาแห่งตะวันออก และเป็นผู้ต่อสู้กับเผด็จการ และผู้ประกาศนโยบายแสงตะวัน (Sunshine Policy) ในความหวังเพื่อรวมเกาหลีเหนือและใต้เป็นประเทศเดียวกัน

ในช่วงที่ชุน ดูวานเป็นประธานาธิบดี เหตุการณ์นี้ถูกบิดเบือนโดยสื่อว่าเป็นกบฏที่เกิดจากฝ่ายผู้เห็นใจคอมมิวนิสต์ ในปี ค.ศ. 2002 เมื่อประเทศเกาหลีใต้ได้ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ได้มีการสร้างสุสานแห่งชาติ และจัดเป็นวันที่ระลึก โดยยึดเอาวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นหลัก ทั้งนี้ได้มีกฎหมาย “ชดเชยแก่ผู้เสียหาย การประกาศให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในการต่อสู้ครั้งนี้

ในช่วงชุน ดูวานมีอำนาจ รัฐบาลเรียกการต่อสู้นี้ว่าเป็นกบฏที่นำโดยคิม แดจุง (Kim Kae-jung) ผู้นำฝ่ายค้านและพรรคพวก ผลจากการพิจารณาคดี คิม แดจุงถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อมาโทษประหารชีวิตได้ถูกลดลงด้วยเสียงเรียกร้องจากนานาชาติ ในเหตุการณ์นี้มีคนถูกจับดำเนินคดี 1,394 คน มีคนถูกตัดสินลงโทษ 427 คน 7 คนถูกตัดสินประหารชีวิต และ 12 คนได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต

การสังหารหมู่ที่กวางจูมีผลอย่างมากต่อการเมืองและประวัติศาสตร์ในเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีชุน ดูวานได้เสียคะแนนนิยมไปอย่างมาก เพราะเขาเองก้าวเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร และการที่เขาสั่งการให้ใช้ความเด็ดขาดทางทหารเข้าจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง ในการประท้วงนี้ แม้ผู้ต่อต้านจะแพ้อย่างราบคาบในวันเดียว แต่ก็เป็นการสั่นคลอนรัฐบาลเผด็จการทหาร การเคลื่อนไหวได้เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงต่อมา ซึ่งนำไปสู่การเกิดระบอบประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ การสังหารหมู่ที่กวางจูได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของชาวเกาหลีใต้ต่อเผด็จการอำนาจนิยม และการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

ในช่วงปี ค.ศ. 2000 ในวันที่ 18 พฤษภาคม ได้เกิดรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู (Gwangju Prize for Human Rights) เพื่อเป็นเกียรติต่อผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้ลุกขึ้นสู้


ภาพ สุสาน และอนุสรสถานระลึกถึงวันที่ 18 พฤษภาคม (Memorial Tower in May 18th National Cemetery)


No comments:

Post a Comment