Thursday, October 13, 2011

ทางเลือกแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยสงวนทุ่งน้ำหลาก

ทางเลือกแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยสงวนทุ่งน้ำหลาก

ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: cw092, flood, water management, การจัดการน้ำ, flood, น้ำท่วม, reservoir, แก้มลิง, คณะกรรมการน้ำ, การอนุรักษ์ป่า, การเกษตรที่ลุ่ม

ภาพ เมื่อไม่มีการจัดการน้ำที่ดี ปัญหาน้ำท่วมบริเวณเมืองต่างๆ ก็จะหนักหนาขึ้นทุกที

ภาพ น้ำท่วมในชุมชนเมืองที่ไม่ได้ออกแแบบมาเพื่ออยู่กับสภาพน้ำท่วม จึงเป็นความยุ่งยากในชีวิตประจำวันของประชาชน

ภาพ หากการมีน้ำท่วมในเมือง เปลี่ยนไปให้ไปท่วมในเขตทุ่งทีเตรียมไว้ แล้วทำเมืองให้มีระบบป้องกันน้ำท่วมที่เหมาะสม ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

เรามองว่าน้ำท่วม หรือ Flood ว่าเป็นปัญหา เนื่องด้วยมีปริมาณน้ำมากเกินไปที่จะเพาะปลูก แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีปัญหาแล้งน้ำที่เกิดขึ้นทุกปี เรียกว่า “น้ำท่วม 4 เดือน น้ำแล้ง 8 เดือน” ในที่เดียวกัน เพราะที่ดินตลอดลุ่มน้ำขาดความยืดหยุ่นในการซับน้ำ ดังนั้น น้ำท่วมควบคู่กับน้ำแล้งจึงรุนแรง
แต่มีอีกวิธีการคิดทางหนึ่งคือ ต้องมองว่าน้ำท่วม คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่สมัยโบราณ เราใช้ประโยชน์จากการมีน้ำมาก ให้ได้มากที่สุด เก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ให้ได้ยาวนานในแต่ละปี เพราะจริงๆแล้ว น้ำเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แล้วปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติของน้ำ

การพัฒนาระบบระบายน้ำ

เมื่อมีน้ำท่วม นักคิดส่วนหนึ่งคิดการสร้างคลองระบายน้ำ (Canals) เพื่อระบายปริมาณน้ำมาก ให้ไปสู่ที่อื่นๆ หรือให้ไหลลงทะเลด้วยความรวดเร็วที่สุด วิธีการคิดแบบนี้ ก็คือการต้องลงทุนขุดร่องน้ำขนาดใหญ่ ที่อาจเรียกว่า Channel หรือ “แม่น้ำสายสอง” ดังกรณีมีการเสนอให้ขุดแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสาย โดยขุดคลองขนาดใหญ่ผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปทางทิศทางตะวันออก และหรือทิศตะวันตก เพื่อเร่งการระบายน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ อันเป็นเมืองสำคัญในบริเวณปากแม่น้ำ แต่ประเด็นคือต้องมีการเวนคืน (Expropriation) ที่ดินขนาดความกว้างยิ่งกว่าถนนหลายเท่า แล้วในที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นนี้ จะต้องประสบปัญหาด้านการเวนคืนอย่างมาก แล้วมีค่าใช้จ่ายด้านค่าทดแทนการเวนคืน

ทุ่งน้ำหลากกับการเก็บน้ำ

อีกทางหนึ่ง คือการคงสภาพทุ่งน้ำหลากในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหนือจากกรุงเทพฯขึ้นไป อันได้แก่ อยุธยา สิงบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ชัยนาท เหล่านี้ และทำหลายๆจุด เพื่อกระจายน้ำออกไป
บริเวณที่กำหนดให้เป็นทุ่งน้ำหลาก (Flood fields) หรือ เขตน้ำท่วมนี้ ไม่ต้องเวนคืน (Expropriation) ประชาชนยังเป็นเจ้าของที่ดิน ยังทำการเกษตร และเป็นที่พักอาศัยได้ แต่ต้องปรับให้สอดคล้องกับโอกาสน้ำท่วม ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นการทำนาปลา (Fish farms) ในทุ่งกว้าง การเพาะปลูกพืชผักที่อยู่กับผืนน้ำ เช่นพวกผักบุ้ง กระเฉด บัว กระจับ และขณะเดียวกัน ก็ใช้ประโยชน์ในการผันน้ำที่เกินความต้องการเข้าไปจัดเก็บในทุ่ง หรือพัฒนาให้เป็นที่จัดเก็บน้ำได้มาก ในแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ ฟาร์มปลา ฯลฯ เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารลุ่มน้ำ ดังลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ถึงร้อยละ 30-40 ของประเทศ การมีทุ่งที่รับน้ำเก็บน้ำได้มากเสียบางส่วน ก็ทำให้ส่วนที่เหลือสามารถจัดการน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และการอยู่อาศัยของมนุษย์ได้ดีขึ้น

การจัดการน้ำ (Water Management) ที่ทำให้บางที่รับน้ำอย่างมีแบบแผน และขณะเดียวกันส่วนที่ดินอื่นๆ ได้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากน้ำน้อยที่สุดนี้ จะต้องมีกฏหมายรองรับ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการ และสร้างความเป็นธรรมกับประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลอาจใช้วิธีการชดเชย (Compensation) ให้กับที่ดินที่ต้องกำหนดให้มีน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำมาก ดังเช่นช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม อันเป็นช่วงเวลาประมาณ 4 เดือนต่อปี ส่วนช่วงอีก 8 เดือนที่เหลืออยู่ ประชาชนในบริเวณดังกล่าวก็จะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในส่วนที่กักกันไว้ตามแอ่งน้ำ (Reservoirs) ต่างๆ ได้มาก และก่อนคนอื่นๆ

รัฐบาลและท้องถิ่นอาจร่วมกัน (Partnership) ในการสนับสนุน ส่งเสริมการอาชีพใหม่ ตลอดจนการปรับปรุงบ้านเรือน แหล่งชุมชนที่สอดคล้องกับสภาพน้ำมาก และน้ำหลากเป็นช่วงๆในแต่ละปี ดังเช่น การสร้างบ้านที่ตั้งบนเสาสูง (Stilt houses) หรือจะพัฒนาบางบ้านให้เป็น “บ้านลอยน้ำ” (Floating houses) การพัฒนาทางสัญจร และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เงินทุนในค่าใช้จ่าย ปรับปรุงบ้านเรือน ปรับเปลี่ยนการอาชีพ เหล่านี้ รัฐบาลสามารถให้การสนับสนุนได้ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น

การมีกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (Land reform laws) อีกประการหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ คือ การบังคับใช้กฏหมายในการใช้ที่ดินที่สอดคล้อง เพื่อทำให้การกำหนดการจัดการน้ำกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย

ในการนี้ ผมพยายามศึกษาว่ามีใครที่ไหนเขามีวิธีการบริหาร การจัดการด้านกฎหมาย และอื่นๆ ที่ทำให้สังคมมีความสามารถในการจัดการน้ำ (Water Management) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยบอกผมด้วยครับ จะได้ร่วมกันศึกษา

ภาพ เมือเขาฤดูฝนที่มีน้ำมาก ดังเช่นช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคมของแต่ละปี จะมีปริมาณน้ำมากและท่วมขังในหลายบริเวณ แต่หากที่ท่วมขังนั้นไม่มีบ้านเรือน และชุมชนเมือง ความเสียหายก็ไม่มีหรือมีน้อย

ภาพ หากบริเวณที่น้ำท่วมถึงมีบ้านเรือน สามารถปรับให้บ้านเรือนอยู่ในสภาพน้ำท่วมได้ เป็นบ้านบนเสาสูง หรือบ้านลอยน้ำ ปัญหาความยากลำบากในชีวิตก็ลดไป หรือไม่มี กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

ภาพ หากจัดการให้มีร่องน้ำที่เรียกว่า คลอง (Canals) หรือ ร่องน้ำ (Channel) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จัดการน้ำ ก็ยิ่งดี

ภาพ การสร้างถนนร่วมไปกับที่ดินน้ำหลาก นับเป็นสิ่งที่ฝ่ายก่อสร้างทาง (Road construction) ต้องวางแผนร่วมกับฝ่ายปฏิรูปที่ดิน (Land reform) และทำให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ภาพ ที่ดินที่น้ำท่วมถึง จะนำดินและความอุดมสมบูรณ์มาตกค้าง สร้างความอุดมในการเพาะปลูก

1 comment:

  1. ผ่านมาเจอครับ
    ผมสร้างเว็บในลักษณะนี้ครับ แต่ว่าด้วยเรื่องน้ำอย่างเดียว อนาคตก็ค่อย ๆ ว่ากันไป
    เว็บ www.GetThaiWater.net และมีเว็บบอร์ด www.GetThaiWater.net/Wpress/
    เป็นคุณูปการที่ต้งร่วมกันพัฒนา อาจจะต้องรบกวนข้อมูลและปรึกษาบ้างบางโอกาสนะครับ

    ReplyDelete