ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
Keywords: cw092, flood, น้ำท่วม, water management, การจัดการน้ำ, reservoir, แก้มลิง, คณะกรรมการน้ำ, การอนุรักษ์ป่า, การเกษตรที่ลุ่ม. นิคมอุตสาหกรรม
ความนำ
ในประเทศไทย เรามีศัพท์ที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ (Water Management) อยู่หลายคำ ที่มักจะก่อให้เกิดความสับสน เช่น คลองชลประทาน คลองระบายน้ำ ทางน้ำหลาก (Floodway) หรือทุ่งน้ำหลาก (Flood fields) ซึ่งแต่ละคำมีความหมายและวัตถุประสงค์ที่ใช้แตกต่างกัน ผู้ศึกษาจึงขอนำมาเป็นประเด็นเพื่อการอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกัน
ความหมายของคำว่า ทางน้ำหลาก (Floodway) ในภาษาอังกฤษเขียนติดกัน แสดงถึงการเป็นคำที่ใช้กันจนคุ้น ส่วนอีกคำหนึ่ง คือ Flood fields อาจมีความหมายที่แตกต่างกัน ก่อนอื่นจึงขอกล่าวถึงทางน้ำหลาก ที่มีตัวอย่างในประเทศแคนาดา คือ “ทางน้ำหลากแม่น้ำแดง”
ทางน้ำหลากแม่น้ำแดง (The Red River Floodway) เป็นทางน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อควบคุมทางน้ำในแคนาดาตะวันตก ที่ได้เริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1969 มีความยาว 49 กิโลเมตร เป็นช่องทางน้ำซึ่งเมื่อมีฤดูน้ำท่วม จะทำให้น้ำไหลอ้อมเมือง Winnipeg, ในรัฐ Manitoba ไปทางตะวันออก แล้วไหลกลับสู่แม่น้ำแดงในบริเวณใต้เขื่อนที่ Lockport
ทางน้ำหลากนี้สามารถรองรับน้ำได้ 2550 ต่อวินาที เป็นการสร้างเพื่อตอบสนองต่ออุทกภัยครั้งใหญ่ในบริเวณแม่น้ำแดงในปี ค.ศ. 1950 (1950 Red River flood)
ทางน้ำหลากนี้มีชื่อเล่นเรียกว่า “Duff's Ditch” โดยฝ่ายต่อต้านการสร้าง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยที่นายกรัฐมนตรี Duff Roblin จากพรรคอนุรักษ์ก้าวหน้า (Progressive Conservative) ได้ริเริ่มขึ้น โครงการนี้สำเร็จได้ก่อนเวลาและใช้งบประมาณน้อยกว่าที่กำหนด ในช่วงเวลา 37 ปี จนถึงปี ค.ศ. 2006 ทางน้ำหลากนี้ได้ใช้เกิดประโยชน์ 20 ครั้ง สามารถลดค่าใช้จ่ายความสูญเสียจากอุทกภัยได้คิดเป็นมูลค่า $10,000 ล้าน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 300,000 ล้านบาท
ภาพ แผนที่ทางน้ำหลากของแม่น้ำแดง (The Red River Floodway)
ภาพ ทางน้ำหลากแม่น้ำแดงที่ถ่ายทางอากาศ ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งทั่วไป เมื่อยังไม่มีน้ำหลาก
เมือง Winnipeg เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของรัฐ Manitoba ในประเทศแคนาดา (Canada) มีประชากร 633,451 คน มีความหนาแน่นที่ 1,365 คน/ตร.กม. เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตแม่น้ำสองสายหลักมาบรรจบ คือ แม่น้ำแดง (Red River) และแม่น้ำแอสซินิบอยน์ (Assiniboine River) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในท้องที่ว่า “ส้อม” หรือ The Forks
No comments:
Post a Comment