Sunday, November 20, 2011

ผู้ว่าสุขุมพันธุ์ - อยากให้งานสำเร็จ อย่าไปอ่อนน้อมให้มากนัก

ผู้ว่าสุขุมพันธุ์ - อยากให้งานสำเร็จ อย่าไปอ่อนน้อมให้มากนัก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การบริหารยามวิกฤติ, Crisis management, น้ำท่วม, flood, น้ำแล้ง, draughts

มีสุภาษิตชาวเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Bescheidenheit ist eine Zier, doch weiter kommt man ohne ihr.” ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า “Modesty is an adornment, but you come further without it.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ความสุภาพอ่อนน้อมและการถ่อมตัวนั้นเป็นดังเครื่องประดับ แต่เราจะทำงานได้มากยิ่งขึ้นหากเราไม่ต้องอาศัยมัน กล่าวโดยง่าย เมื่อถึงเวลาทำงานจะให้ได้งาน อย่าไปคิดถึงมารยาทหรือการยอมตามกันมากนัก หากรู้ว่ามันเป็นหน้าที่และสิ่งที่ต้องกระทำโดยหน้าที่ ก็อย่าไปเสียเวลากระทำการดังเป็นนักการทูต เพราะงานที่รออยู่เบื้องหน้า อาจต้องมีคนทำอย่างรับผิดชอบ และฉับไว ส่วนเรื่องความรู้สึกพอใจหรือไม่อย่างไร ก็ต้องรอให้ผลงานพิสูจน์ต้วเอง

Adornment = เครื่องประดับ

ภาพ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำลังตรวจงานน้ำ่ท่วม ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554

ประเด็นที่จะพูดถึงนี้จะว่าด้วยเรื่อง “ถุงทรายยักษ์” ที่อาจเป็นบทพิสูจน์สุดท้ายที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องตัดสินใจดำเนินการในช่วงการป้องกันน้ำท่วมใหญ่กทม.ปี พ.ศ. 2554

ภาพ วิธีการวาง Big bags ใช้เครื่องจักรกช่วย สามารถวางได้เร็ว เคลื่อนย้ายเข้าและออกได้เร็ว

ถุงทรายยักษ์ หรือ Big bags หรือ บิ๊กแบ็ค หรือ กระสอบทรายยักษ์ต้านน้ำท่วม เป็นถุงพลาสติกถักทอเหนียวขนาดใหญ่สามารถบรรจุทรายได้หนักถึง 2,500 กิโลกรัม มีวัตถุประสงค์ใช้เพื่อเป็นแนวป้องกันหรือชะลอน้ำท่วม หรือใช้เป็นแนวป้องกันกระสุนหรือระเบิดในสงคราม

ถุงทรายยักษ์ความจริงแล้วก็ทำหน้าที่คล้ายกับถุงพลาสติกบรรจุทรายทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่แข็งแรงกว่า และสามารถใช้เครื่องจักรกลเข้าช่วยดำเนินการได้ง่ายกว่า และใช้คนน้อยกว่า ใช้เวลาดำเนินการได้ในเวลาสั้นกว่า และเมื่อต้องการโยกย้ายปรับแนวป้องกัน ก็สามารถกระทำได้ง่ายกว่าด้วย และแน่นอนว่ามีราคาแพงกว่าด้วย

ถุงทรายยักษ์เป็นการริเริ่มของศปภ. เพื่อทำหน้าที่บรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถุงทรายยักษ์เป็นของใหม่ที่เราต้องเรียนรู้วิธีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในน้ำท่วมใหญ่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เรียกย่อๆว่า ศปภ.(โทร.1111 กด 5, E-mail: help@floodthailand.net) เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ จัดตั้งโดยรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยหวังให้มีหน้าที่ประสานการ สั่งการ เพื่อทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ

แต่กระนั้น เพราะความที่เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น จึงมีปัญหาด้านการวางแผน จัดวางตำแหน่ง คนและหน้าที่ มีปัญหาด้านการสื่อสาร และสั่งการผิดพลาดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งตามลักษณะการบริหารวิกฤติ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ต้องมีการควบคุมให้ทุกอย่างสามารถดำเนินไปได้ด้วยดีที่สุด

ในกรณีที่น้ำท่วมจุดสำคัญและเกือบสุดท้ายจะมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญคือการรักษากรุงเทพฯอันเป็นศูนย์กลางของธุรกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะจำนวนคนในกทม.ส่วนในกว่า 6 ล้านคน นับเป็นเรื่องยุ่งยากและอันตรายหากต้องมีการอพยพโยกย้ายกันในวงที่กว้างขวางมากจนเกินกว่าที่จะควบคุมได้ การทำให้กรุงเทพฯปลอดภัยจากน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด จึงเป็นยุทธศาสตร์ของกทม.และรวมถึงรัฐบาลด้วย

แต่การใช้ถุงทรายยักษ์นี้ มีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ คนที่อยู่หน้าถุงทรายที่ถูกกักน้ำทำให้น้ำท่วมเพิ่มขึ้น

ดังนั้นแนวทางของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นระบบบริหารเมืองที่มีผู้ว่าราชการกทม.ที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง การย่อหย่อนในหน้าที่ย่อมหมายถึงการไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในสมัยต่อไป ดังนั้นผู้ว่าราชการกทม.ทุกคน เริ่มตั้งแต่ยุคพลตรีจำลอง ศรีเมือง จนถึงยุคปัจจุบัน หน้าที่หลักคือต้องรับใช้ประชาชนกรุงเทพมหานครเป็นอันดับแรก และขณะเดียวกัน ก็ต้องสื่อสารและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางและเพื่อนบ้านจังหวัดใกล้เคียงไปด้วยพร้อมๆกัน เพราะมีหลายงานเกี่ยวข้องกับกทม.ที่ไม่ได้ขึ้นกับระบบบริหารเมือง (City administration) ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ น้ำประปา ไฟฟ้า การทางหลวง ทางด่วน การชลประทานนอกขอบกรุงเทพมหานคร ฯลฯ

ความขัดแย้งระหว่างกรุงเทพมหานครกับฝ่ายรัฐบาลมีขึ้นเป็นระยะๆ แต่ท้ายสุดมักจะต้องมีข้อยุติออกมา เพราะมันไม่สามารถดำรงอยู่อย่างขัดแย้งกันอย่างตลอดเวลาได้ เพราะจริงๆกทม.มีอำนาจมาจากการเลือกตั้งของคนกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองมากกว่าเพียงคะแนนเสียงหรือจำนวนคน และในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดดชอบต่อความผาสุกของคนทั้งประเทศ

ถุงทรายยักษ์เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกับมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำท่วมอื่นๆ แต่ที่สำคัญคือต้องทำงานอย่างมีพลภาพ (Dynamic) ไม่ใช้ตายตัว รัฐไม่สามารถวางถุงทรายยักษ์แล้วก็ปล่อยตายไปเป็นเดือนๆ ต้องมีแผนงานที่จะไม่ให้ความทุกข์ยากเกิดขึ้นกับคนเหนือแนวถุงทรายยักษ์ ดังเช่น ใช้กั้นในแนวที่สามารถเสริมระบบระบายน้ำให้ดีขึ้น ดังเช่นใช้ในแนวคลอง ทำให้มีน้ำไหลไปตามคูคลอง สู่ระบบสูบหรือระบายน้ำได้ดีขึ้น ใช้เป็นแนวป้องกัน แล้วปรับเป็นแนวเหมือนฝายน้ำล้น สามารถคุมปริมาณการสูบน้ำของเครื่องได้ และปรับย้ายแนวถุงทรายยักษ์ให้ขยายกว้างขึ้น เพิ่มจำนวนคนที่ได้รับการปกป้องมากขึ้น พื้นที่แห้งพ้นขีดน้ำท่วมเพิ่มขึ้น และเมื่อภัยน้ำท่วมได้หมดไปแล้ว ก็ต้องรีบนำถุงทรายยักษ์ออกไปโดยเร็วที่สุด ปล่อยให้ระบบระบายน้ำได้ทำงานไปตามปกติของมัน

ในระบบทั้งหมดในราชการไทยที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม กรุงเทพมหานครมีกลไกการจัดการที่ดีที่สุด เมื่อเทียบจังหวัดใกล้เคียงที่บริหารโดยผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งที่มีการโยกย้ายกันบ่อยและสับสนด้วยระบบการเมืองที่ไม่นิ่ง ส่วนระบบงานราชการอื่นๆ ก็ยังบริหารอย่างยึดติดระเบียบและทำงานกิจวัตร (Routine) หรือที่เลวร้าย คือเอาตัวรอดแบบราชการ ไม่ได้มีการไกที่จะเร่งการทำงานตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชน การรวบหน่วยงานไว้ที่ศปภ. หากไม่ได้บริหารงานโดยผู้รู้ ทำงานอย่างใช้งานเป็นตัวตั้ง และใช้อำนาจอย่างเข้มแข็ง ปัญหาก็จะไปเพิ่มให้กระบวนการแก้ปัญหาโดยรวมยุ่งยากและสับสอนขึ้นไปอีก

ทั้งหมดนี้ ผู้ว่ากทม.ในฐานะหน่วยงานใหญ่สุด แข็งแกร่งที่สุด ควรทำงานเชิงรุกและประสานกับชุมชนนอกเขตกทม. อย่างเข้าใจร่วมกัน กล้าตัดสินใจในประเด็นหลักๆ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องกระทำอย่างใช้อำนาจตามกฎหมาย และขณะเดียวกัน ต้องสื่อสาร เจรจากับประชาชน และประสานงานกับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ บางครั้งอาจมีความขัดแย้ง แต่ก็ต้องมีข้อยุติในท้ายที่สุด การทำงานอย่างกทม.นั้น ต้องการการนำและทำงานอย่างเน้นงานเป็นตัวตั้งในสภาวะวิกฤติ ดังสุภาษิตเยอรมันที่ว่า ความสุภาพอ่อนน้อมและการถ่อมตัวนั้นเป็นดังเครื่องประดับ แต่เราจะทำงานได้มากยิ่งขึ้นหากเราไม่ต้องอาศัยมัน

No comments:

Post a Comment