Wednesday, August 21, 2013

พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสู้ในสภา และสู้ในทุกวิถีทางตามกฎหมาย


พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสู้ในสภา และสู้ในทุกวิถีทางตามกฎหมาย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, ธรรมาภิบาล, good governance, government, ประชาธิปไตย, สังคมอารยะ, civil society, พรรคประชาธิปัตย์, Democrat Party, parliamentary system


ภาพ ที่ดูไม่สวยงามในรัฐสภาไทย


ภาพ การนำกำลังตำรวจเข้าล้อมประธานสภาฯ ยิ่งทำให้ภาพสภาฯไทย เหมือนเป็นสภาเผด็จการ

ใน Facebook มีผู้ตั้งคำถามต่อบทบาทพรรคประชาธิปัตย์ ในการต่อสู้เรื่อง “กฎหมายนิรโทษกรรม” ที่อาจมีการซ่อนเงื่อนช่วยเหลือปล่อยคนผิดในคดีอาชญากรรม คดีคอรัปชั่น โดยเฉพาะการช่วยพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้หนีคดีอาญาที่ได้มีการตัดสินคดีความไปแล้ว

ภาพ และคำถาม “ปชป อยู่ในสภาแล้วต้องสู้กันแบบนี้ มาสู้กันนอกสภาจะดีกว่ามั้ย
Thai Hrd shared astvpolitics's photo. Via Facebook, วันที่ 20 สิงหาคม 2556

ภาพบรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. ระหว่างเกิดความวุ่นวายหลังจากที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ให้ตำรวจสภา เข้ามานำตัว ส.ส.ออกจากที่ประชุม หลังไม่พอใจการลงมติที่ระบุว่าแปรญัตติเป็นการขัดต่อหลักการ จนเป็นเหตุให้มีการปะทะกันระหว่าง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และตำรวจขึ้น

คำถามอย่างนี้มีคนจำนวนหนึ่งที่สงสัยแนวทางการต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่า การต่อสู้กับเผด็จการทางรัฐสภาของฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย เป็นการต่อสู้ที่จะสูญเปล่า มีแต่จะแพ้ และเท่ากับไปตอกย้ำ ให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลในการทำอะไรได้ตามใจ เพียงมีเสียงข้างมากในรัฐสภาหรือไม่?

 ซึ่งก็เป็นการตั้งคำถามของคนจำนวนหนึ่งที่ผมเองก็ให้ความเคารพในความคิดนี้ แต่ผมก็มีความคิดและหลักยึดอย่างหนึ่ง ที่แตกต่างกันออกไป แม้โดยหลักการเห็นด้วยกับการต่อต้านระบอบทักษิณ และการเล่นการเมืองแบบ “ประชานิยม” (Populism politics) และการใช้วิธีการเผด็จการทางรัฐสภา
ที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้แบบล้มระบบรัฐสภา เพราะ ...

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย มีหน้าที่ต้องต่อสู้ในระบบรัฐสภา และควรสู้ในทุกวิถีทางในระบอบรัฐสภา ฐานเสียงส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นพวกไม่นิยมต่อสู้นอกกรอบประชาธิปไตย

พรรคประชาธิปัตย์ ควรอภิปรายในทุกประเด็นที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง โดยใช้หลักการข้อเท็จจริง และเหตุผล บันทึกทั้งด้วยภาพ และถอดความ เก็บไว้เป็นหลักฐานว่าได้พูดแล้ว เตือนแล้ว

พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเหลืออด จะประท้วง โดยการเดินออกจากห้องประชุม (Walk out) ไม่ร่วมสังฆกรรม ไม่ให้ความชอบธรรมในสิ่งที่ไม่ถูกต้องในบางประเด็นที่เป็นหลักการ ก็ทำได้

พรรคประชาธิปัตย์ จะเปิดเจรจากับฝ่ายรัฐบาลอย่างเปิดเผยก็ทำได้ ทั้งในและนอกสภา การนิรโทษกรรม และสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ (Reconciliation) นั้นเป็นหนทางทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่นำบ้านเมืองให้กลับสู่ความเป็นปกติ แต่นั่นต้องไม่ไปทำลายหลักนิติรัฐและประเพณีการปกครองอันดี

พรรคประชาธิปัตย์ ต้องใช้สื่อทุกด้านให้เป็นประโยชน์ สื่อทีวีเสรี สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และสื่อออนไลน์ Social media ดัง Twitter และ Facebook สื่อกระแสหลักแม้จะเป็นของรัฐ และถูกครอบงำโดยฝ่ายมีอำนาจ แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองไม่เป็นปกติมากยิ่งขึ้น คนจะยิ่งหันมาดูมาฟังสื่อทางเลือกที่ไม่สามารถปิดกั้นได้แล้วในปัจจุบัน

พรรคประชาธิปัตย์ มีความชอบธรรมที่จะสู้ด้วยการเปิดอภิปรายนอกสภา ร่วมกับกลุ่มอื่นๆรณรงค์ต่อต้านระบอบทักษิณ “ในฐานะบุคคล” โดยไม่ผิดกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย

พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสู้ในทุกการเลือกตั้งท้องถิ่น (Local politics) หากคนมีอำนาจเงิน มีอิทธิพล และมีฐานเสียงมากที่สุด พรรคจะสรรหามาสู้ไม่ได้ แต่คนที่ดี คนมีศักยภาพ และที่สำคัญ คือคนที่ใจสู้พร้อมเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงก็ยังมีอยู่ จะเล่นการเมืองแล้วเล่นแบบน้ำเน่าเหมือนเขา มันจะมีประโยชน์อันใด

แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่พึงกระทำแน่ๆ ก็คือ ...

การอิงกับทหาร เพื่อการทำรัฐประหาร โค่นล้มระบอบทักษิณด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ

การสู้ด้วยการร่วมกับประชาชน ต่อสู้ในแบบใช้กำลังอาวุธ เหมือนที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลอัสซาดของประเทศซีเรีย (Syria) กระทำ และกลุ่มมุสลิมภราดรภาพ (Muslim Brotherhood) ในประเทศอียิปต์ เพราะนั่นหมายถึงการนำประเทศเข้าสู่ความเป็นสงครามกลางเมือง (Civil war) ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็น ประเทศไทยยังมีวิธีการต่อสู้ในหลักการสันติภาพ และตามวิถีทางประชาธิปไตยอื่นๆอยู่อีกมาก

การก้าวสู้ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในที่สุด ก้าวสู่ความเป็นสังคมอารยะของประเทศไทยนั้น ยังอีกยาวไกล แต่เราก็กำลังเดินไปตามเส้นทางนั้น และไม่มีหนทางลัดบนเส้นทางนี้




No comments:

Post a Comment