Thursday, July 14, 2016

รำลึกถึงพี่อ้วน จากบุญเกียรติ คุปรัตน์

รำลึกถึงพี่อ้วน จากบุญเกียรติ คุปรัตน์


ภาพ บุญเกียรติ คุปรัตน์ (ชายในชุดดำนั่งแถวหน้า) น้องชายนิกร คุปรัตน์ ผู้ประพันธ์ ภาพถ่ายที่วัดอุท้ยธาราม พระราม 9 กทม. งานสวดอภิธรรมงานศพของนิกร คุปรัตน์ วันที่ 2 อังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

พี่อ้วน (พี่นิกร คุปรัตน์) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน 2483 วันเดียวกันกับวันที่ คุณพ่อกฤษณ์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์เวชกรรมแผนปัจจุบันมาก่อนหน้านั้น เปิดคลินิก “รัตนเวช” เป็นที่รับรักษาคนป่วยไข้ที่ตึกแถวหน้าตลาดประตูน้ำ ถนนราชปรารภเป็นวันแรก และก็เป็นคลินิกแรกในย่านประตูน้ำเมื่อ 76 ปีที่แล้วด้วย  พี่อ้วนจึงผูกพันกับการรักษาและกับยามาตั้งแต่วันแรกเกิด

พี่อ้วนเรียนหนังสือเก่งมาแต่เด็ก คุณพ่อจึงคาดหวังว่าพี่อ้วนจะเรียนแพทย์มาสืบต่ออาชีพแพทย์จากท่านได้อย่างดี เมื่อพี่อ้วนเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว ช่วงที่ว่างจากการเรียนแล้ว คุณพ่อจึงมักให้พี่อ้วนช่วยงานในคลินิกเพื่อเป็นการปูพื้นไว้บ้าง แต่อยู่มาวันหนึ่งขณะที่พี่อ้วนช่วยงานคุณพ่ออยู่ มีผู้ชายคนหนึ่งตกลงไปในคลองแสนแสบใกล้คลินิก ถูกใบพัดเรือฟันร่างกาย มีแผลเหวะหวะถูกหามร่องแร่งมาที่คลินิก “รัตนเวช” พี่อ้วนเห็นคนไข้คนนี้แล้วเป็นลมหมดแรงเลย คราวนั้นจึงไม่ได้มีส่วนช่วยงานคุณพ่อ แต่คุณพ่อก็สามารถจัดการงานใหญ่ เย็บแผลเป็นร้อยเข็ม ได้เสร็จเรียบร้อยด้วยมือท่านเองคนเดียว  คุณพ่อคุณแม่ดีใจเมื่อพี่อ้วนสอบเข้าเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์สมัยนั้น ซึ่งตึกเรียนตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันจึงเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พี่อ้วนมีพรสวรรค์ทางดนตรี แต่ไม่ชอบเรียนโน้ตให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ชอบเล่นโดยอ่านโน้ต เล่นดนตรีจากความจำตามแบบฉบับนักดนตรีไทยทั่วไป  เป็นมือแอ็กคอเดียนประจำวงดนตรีโรงเรียนวัฒนศิลป์ ถนนราชปรารภ ตั้งแต่อายุ 14 ปี  คุณพ่อก็สนับสนุนโดยซื้อเปียโนใช้แล้วหนึ่งหลังมาให้พี่อ้วนฝึกซ้อมเองที่บ้าน สมัยนั้นครอบครัวเรายังอาศัยอยู่ตึกแถวสองคูหา ทรัพย์สินของศาสนสมบัติ ถนราชดำริ แต่ช่วงที่พี่อ้วนเป็นหนุ่มเรียนมหาวิทยาลัย ครอบครัวเราพักอยู่ที่บ้านถนนเพลินจิต เปียโนถูกทิ้งจนฝุ่นจับ
ตอนปี 2508 บ้านเราที่เพลินจิตถูกเวนคืนที่ดินด้านหลังเพื่อใช้ก่อสร้างทางด่วนขั้นแรกของประเทศไทย ดินแดง-คลองเตย จากเนื้อที่ดิน 530 ตารางวา เหลือเพียง 250 ตารางวา

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ช่วงเวลาเดียวกัน สำนักงานศาสนสมบัติก็แจ้งคุณพ่อเลิกให้เช่าตึกแถวที่ท่านใช้เปิดคลินิค ครอบครัวเราต้องนำบ้านที่เพลินจิตให้ฝรั่งเช่า เปียโนก็ถูกขายด้วย สมาชิกทั้งลูกทั้งหลานรวม 14 ชีวิต ย้ายมาอยู่ตึกแถวสองคูหาที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ราคาตึกพร้อมที่ดินไม่แพง เรามีกำลังซื้อได้สองคูหาอยู่กันได้ไม่อึดอัด ถนนเพชรบุรีคัดใหม่ช่วงเวลานั้นสิ้นสุดแค่จุดตัดกับถนนเอกมัย เมื่อย้ายร้านมาใหม่ๆ ห้องแถวย่านนี้เหมือนชุมชนกึ่งชนบท ตกเย็นก็ไม่ค่อยมีรถวิ่งไปมาแล้ว ตึกแถวสองคูหามีชั้นล่างเป็นร้านขายยา ชั้นสองและสามเป็นที่พักอาศัย

ช่วงที่เปลี่ยนสภาพที่อยู่อาศัย พี่อ้วนที่เรียนมาทางเภสัชกรรม ได้ลาออกจากงานองค์การอ้อยและน้ำตาล และกลับมาทำงานให้ที่บ้าน กิจการร้านขายยาเติบโตรองรับชุมชนที่เริ่มขยายออกชานเมือง ร้านขายยารัตนเวช ได้เปลี่ยนชีวิตในครอบครัวให้เป็นชาวห้องแถวอีกครั้ง แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความยากลำบากทางการเงินและวิถีชีวิตแก่ครอบครัวมากนัก ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่อายุมากขึ้น และปล่อยงานให้กับพี่อ้วน ครอบครัวต้องพยายามอยู่ให้ได้โดยรายได้จากกิจการ ไม่ใช่ขายสมบัติกิน แต่ความเติบโตนั้นเป็นเรื่องการศึกษาของบรรดาน้องๆ ซึ่งสามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทุกคน ซึ่งนับเป็นความภูมิใจของครอบครัว

พวกน้องๆที่ 4 คนได้เรียนจนจบการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยกันทุกคน ภาพของพี่น้องทั้ง 5 คนในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรยังคงติดที่ฝาร้านตลอดมา

ในปัจจุบัน แม้ชุมชนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ย่านนี้จะเปลี่ยนเป็นเส้นทางรถผ่าน กิจการของร้านขายยารัตนเวชผ่านทั้งยุคเงียบเหงาสู่คึกคักในช่วงการเติบโตของย่านชานเมือง สู่ยุคที่มีการจราจรติดขัด ถนนเพชรบุรีถูกบังคับให้เป็นเส้นทางรถผ่าน แต่ไม่ใช่ถนนการค้า ถนนมีเกาะกลาง ผู้คนไม่สามารถจอดรถข้างถนนเพื่อซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ

สภาพปัจจุบันย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่เปลี่ยนไป รถติดแทบทั้งวัน มีเกาะกลางถนน และห้ามจอดบนถนนทั้งสายตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่ได้เสียชีวิตแล้ว น้องๆจบการศึกษาและแยกไปมีครอบครัวและพักอาศัย ณ ที่อื่นๆ

ไม่ว่ากิจการจะดีหรือไม่ดี แต่พี่อ้วนก็ยังคงทำงานเป็นเภสัชกรร้านขายยาที่ร้านรัตนเวช ณ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อพี่อรนุช คุปรัตน์ ภรรยาได้จากไป พี่อ้วนเลือกที่จะอยู่คนเดียว แม้มีบ้านพักที่ได้สร้างขึ้นที่คลองจั่น แต่พี่อ้วนก็เลือกที่จะพักอยู่ในห้องเล็กๆชั้น 3 ที่ร้านรัตนเวชเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องด้วยคงไม่อยากลำบากในการเดินทางมาทำงานในแต่ละวัน พี่อ้วนไม่มีเด็กรับใช้ ไม่มีคนขับรถ ยังคงทำงานเป็นเภสัชกรตามหลักวิชาชีพ ตราบจนเสียชีวิตเมื่อวัย 76 ปี

พี่อ้วนเป็นเภสัชกรรุ่นแรกๆที่อยู่ประจำร้านขายยา ตื่นจากชั้นสามลงมานั่งขายยา เพื่อนแก้เหงาคือ  “อีเล็กโทนยามาฮ่า”    เล่นเองฟังเองเป็นประจำ ใครอยากให้เล่นเพลงอะไรต้องฮัมทำนองให้ฟังก่อน นักดนตรีคนนี้ความจำเป็นเลิศ เล่นได้ทุกเพลง อีเล็กโทนมีวันหมดอายุ พี่อ้วนก็เลยตัดสินใจซื้อเปียโนมาตรฐานสูง ผลิตจากประเทศจีน เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้เล่นเปียโนหลังนี้ไปตราบนานเท่านาน วันนี้ใช้งานเปียโนมาเกือบ 10 ปีแล้วยังดูสวยเหมือนใหม่ เพราะเจ้าของดูแลเล่นเอยู่ทุกคืน ต่อนี้เปียโนจะต้องอยู่กับความเหงา คนรุ่นหลังเล่นไม่เป็นแล้ว

ช่วงชีวิตที่พี่อ้วนภาคภูมิใจ คือการที่ได้ใช้เวลากว่า 10 ปี ร่วมกับเพื่อนร่วมวิชาชีพระดมทุนจัดตั้งและร่วมบริหารงานบริษัทชุมชนเภสัชกรรมจำกัด มหาชน ผลิตยาคุณภาพสูงจำหน่วยแก่เภสัชกรสมาชิกผู้ถือหุ้น วันนี้ บริษัทที่พี่อ้วนรักมีทรัพย์สินหลายร้อยล้านบาทแล้ว หวังว่าพี่ๆน้องๆเภสัชฯของพี่อ้วนคงจะขยายภาพที่เป็นความภาคภูมิใจของพี่อ้วนช่วงนี้มาเล่าสู่กันฟัง

ด้วยอานิสงค์ผลบุญที่ได้อยู่ดูแลสุขทุกข์คุณพ่อคุณแม่เองมากับมือโดยตลอด กอร์ปทั้งคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งพี่อ้วน ล้วนก็ประกอบแต่สัมมาอาชีพ ช่วยกันสร้างรากฐานให้ครอบครัวของเรามั่นคงสมบูรณ์ จึงเป็นผลให้ทั้งสามท่านมีชีวิตที่เป็นสุขทั้งกายทั้งใจ  จากโลกนี้ไปตามอายุขัยอย่างง่ายๆ  ได้ทำหน้าที่ของตนสำเร็จครบถ้วน  ไม่มีห่วงกังวลใดค้างไว้ให้ใครต่อไปอีก พี่น้องลูกหลานภาคภูมิในแบบอย่างการดำรงชีวิตของพี่อ้วน


บุญเกียรติ  ( เปี๊ยก )  คุปรัตน์
14 กรกฎาคม 2559

No comments:

Post a Comment