การลอกงานวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา: ปัญหาและทางเลือก
Keywords: การศึกษา, education, เยอรมัน, เยอรมนี, German, Germany, ประเทศไทย, Thailand,
มหาวิทยาลัย, university, อุดมศึกษา, higher
education, tertiary education, การลอกเลียนงานวิชาการ, plagiarism,
วิทยานิพนธ์, dissertation, thesis
ความนำ
ในระยะหลังเราจะได้ยินเรื่องการลอกเลียนงานวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา
การทุจริตที่หวังจะให้ได้ปริญญาบัตรกันอย่างกว้างขวางทั่วไป
โดยไม่สนใจหลักจริยธรรมทางวิชาการ ในขณะเดียวกัน การเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา (Graduate
education) ก็ได้มีการเปิดให้บริการจัดการเรียนการสอนกันอย่างกว้างขวาง
ทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก
ปัญหาการทุจริตด้านการลอกเลียนงานทางการศึกษา
ก็ยิ่งแพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วเป็นเงาตามตัว แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ
งานวิชาการที่ได้มีการทุจริตกันนี้ จะยังคงอยู่บนหิ้งรอการตรวจสอบได้อยู่ตลอดเวลา
คนที่ได้ทำผิดก็อย่าหวังว่าจะได้นอนตาหลับ
เพราะวันดีคืนดีก็จะมีเรื่องผลุดขึ้นมาให้สร้างความเสื่อมเสีย
และดับอนาคตของคนผู้นั้นไปอย่างน่าเสียดาย
ความหมายของ
Plagiarism
plagiarism = การขโมยความคิด, การคัดลอกผลงาน
จาก Wikipedia –
Plagiarism เป็นการถือเอางานของผู้อื่น การฉกฉวย
และการนำเอางานพิมพ์เผยแพร่ของผู้ประพันธ์อื่น ในภาษา ความคิด
และการแสดงออกของคนอื่นๆ ไปใช้โดยไม่มีการอ้างอิง โดยถือหรือแสดงออกว่างานที่ได้นำเสนอนั้นเป็นความคิดริเริ่ม
หรือสร้างสรรค์ของตนเอง (Original work) ความคิดในเรื่องการจะจัดการกับงานลอกเลียนนี้ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน
ในความคิดยุคใหม่ Plagiarism เป็นการผิดศีลธรรม (Immoral)
ส่วนความคิดในเรื่องงานที่ต้องเป็นงานริเริ่ม มีความใหม่ (Originality)
เป็นอุดมคติ (Ideal) ที่เกิดขึ้นในยุโรปในยุคศตวรรษที่
18 ในยุคที่เรียกว่า “การเคลื่อนไหวแบบโรแมนติก (Romantic
movement)
Plagiarism ถือเป็นความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic dishonesty)
และในสาขาสื่อสารมวลชน
การลอกเลียนงานกันถือเป็นการผิดจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชน (Journalistic ethics)
ซึ่งมีสิทธิถูกขับออกจากวงการวิชาชีพนั้นๆ
แต่ในขณะเดียวกัน Plagiarism ยังไม่จัดอยู่ในฐานะเป็นอาชญากรรม แต่ในวงวิชาการและอุตสาหกรรม
นับเป็นความผิดจรรยาบรรณอย่างรุนแรง
และกรณีของการลอกเลียนนี้ทำให้ถูกฟ้องร้องด้านสิทธิบัตรทางปัญญา (Copyright
infringement) ได้
กรณีการลอกเลียนงานในเยอรมนี
รัฐมนตรีศึกษาธิการเยอรมนีถูกริบปริญญาเอกฐานลอกงานวิทยานิพนธ์
ข่าว “German education minister loses
Ph.D. over plagiarized thesis.” โดย Ben Brumfield, CNN,
February 6, 2013 -- Updated 1038 GMT (1838 HKT)
CNN – งานวิทยานิพนธ์ของรัฐมนตรีท่านนี้ทำเกี่ยวกับว่าเราจัดจิตสำนึกของเราอย่างไร
แต่ปรากฏว่า ท่านกลับไปลอกงานเสียเอง
จนกระทั่งมหาวิทยาลัยเขาต้องถอดท่านออกจากผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก
มหาวิทยาลัยในเยอรมนีได้ถอดถอนปริญญาบัตรระดับดุษฎีบัณฑิตของรัฐมนตรีศึกษาธิการ
Annette Schavan ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการของเยอรมนีที่มาจากพรรคอนุรักษนิยมที่นำโดย
Angela Merkel ซึ่งนับเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต่างต้องอับอายกับเรื่องนี้
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหม Karl-Theodor
zu Guttenberg ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องสละตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม
ค.ศ. 2011 หลังจากพบว่าผลงานของเขามีหลายส่วนที่ไปลอกและซ้ำซ้อนกับแหล่งอื่นๆ
ภาพ Annette Schavan รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการของเยอรมนี
รัฐมมนตรีหญิง Schavan
ได้วิจารณ์มหาวิทยาลัย Guttenberg ที่ออกมาให้ข่าวเรื่องนี้กับสื่อมวลชนเยอรมัน
ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 2012 มีบลอก (Blog) ในอินเตอร์เน็ตชื่อ "schavanplag" ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบงานวิทยานิพนธ์ ได้เปรียบเทียบงานของ Schavan
ในปี ค.ศ. 1980 ได้พบว่ามีงานที่ซ้ำกับคนอื่นๆ
ที่มีลักษณะซ้ำแบบ “คำต่อคำ” บลอกตรวจสอบงานนี้ได้กล่าวโทษว่า Schavan ไม่ได้ใช้หลักการอ้างอิง ทำให้เหมือนไปนำงานของคนอื่นมาเสนอ
ดังเป็นงานของตนเอง
Schavan ผู้ซึ่งศึกษาเรื่องการศึกษา ปรัชญา
และศาสนวิทยาด้านแคธอลิค ได้รับดุษฎีนิพนธ์ด้วยคะแนนเกียรตินิยมระดับสูงสุด
และเธอเองก็ได้มีอาชีพทางด้านการศึกษาในศาสนาคริสต์นิกายแคธอลิค
เธอได้ปฏิเสธว่าเธอได้ทำผิด
และจะฟ้องมหาวิทยาลัย University of Dusseldorf
ที่ถอดถอนปริญญาบัตรของเธอ ทนายของเธอกล่าว
เธอได้ต่อสู้กับบลอคตรวจงานลอกเลียนทางวิชาการนี้มาหลายเดือน
และไม่มีทีท่าว่าเธอจะก้าวลงจากตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการ
คณะกรรมการของภาควิชาที่ได้ให้ปริญญาบัตรแก่เธอกล่าวว่า
มีงานที่เธอยืมข้อความจากที่อื่นๆเป็นอันมากในวิทยานิพนธ์เรื่อง “People
and Conscience -- studies on the foundations, necessity and challenges in
forming a conscience in our time."
คณะกรรมการพบว่า “รัฐมนตรี Schavan ได้กล่าวอ้างความสำเร็จของเธอว่าเป็นงานที่เธอได้ทำขึ้น แต่ในข้อเท็จจริง
เธอไม่ได้เป็นคนผลิตมันขึ้นมาเอง”
กรณีประธานาธิบดีฮังการี
ประธานาธิบดีปาล ชมิทท์ (Pál Schmitt) ของฮังการี ประกาศลาออก (2 เม.ย. ค.ศ. 2010) หลังจากเจอข้อหาลอกวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก หลังจากเจอแรงกดดันจากหลายฝ่ายให้พิจารณาตนเอง
ภาพ ประธานาธิบดีปาล ชมิทท์ (Pál Schmitt)
ประธานาธิบดีปาล
ชมิทท์ (Pál Schmitt) เข้ารับตำแหน่งวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 2010 และต้องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 2
เมษายน ค.ศ. 2012 ด้วยข้อครหาการลอกเลียนงานวิทยานิพนธ์
ประธานาธิบดี ชมิทท์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งต่อรัฐสภา
หลังจากได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2010
เนื่องจากถูกกดดันอย่างหนัก จากการกล่าวหาว่ากระทำการโจรกรรมทางวิชาการ
หรือคัดลอกผลงานคนอื่นมาใช้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เมื่อปี 1992 โดยไม่มีการอ้างอิงแต่อย่างใด แต่นายชมิทท์ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด
นายชมิตต์กล่าวต่อรัฐสภาว่า
ปัญหาส่วนตัวของเขากลายเป็นสิ่งที่แบ่งประเทศที่รักของเขาออกเป็นสอง
แทนที่จะทำให้เกิดความสามัคคี นี่จึงเป็นหน้าที่ของเขาที่จะยุติการทำหน้าที่
และลาออกจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบให้อนุมัติการลาออกอย่างเป็นทางการ
ล่าสุด มหาวิทยาลัยเซมเมลไวส์ (Semmelweis University)
ในกรุงบูดาเปสต์ (Budapest, Hungary) ประกาศว่าจะถอนปริญญาระดับดุษฎีบัณฑิตของนายชมิทท์
เนื่องจากผลการสอบสวนตามข้อกล่าวหาเรื่องการโจรกรรมทางวิชาการของเขาเป็นความจริง
ซึ่งเนื้อหาจำนวนกว่า 200 หน้า จาก 215
หน้า ในวิทยานิพนธ์ของเขา มีการเนื้อหาบางส่วนคล้ายกับงานเขียนของผู้อื่น
ทำให้นายชมิทท์ต้องยอมลาออกในที่สุด
นายชมิทท์ ซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาฟันดาบ 2 เหรียญทองโอลิมปิก มีบทบาทสำคัญในการผลักดันวาระต่างๆของนายกรัฐมนตรีวิคเตอร์
ออร์บาน รวมถึงการลงนามในนโยบายการปฏิรูปที่ก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง อาทิ
กฎหมายภาษีย้อนหลัง
มหาวิทยาลัยเซมเมลไวซ์ (Semmelweis University) กล่าวว่า
ข้อมูลในวิทยานิพนธ์เรื่อง "An analysis of the program of Modern
Olympic Games" หรือ
"การวิเคราะห์โปรแกรมการแข่งขันโอลิมปิกยุคใหม่" กว่า 200 หน้า จากจำนวน 215 หน้า
มีความคล้ายคลึง"บางส่วน"กับงานวิทยานิพนธ์ชิ้นอื่น โดยพบว่าเนื้อหา 180 หน้า
มีการแปลจากวิทยานิพนธ์ของนักวิจัยชาวฮังกาเรียน ที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส
แบบ"คำต่อคำ" โดยอีก 16 หน้าเป็นการลอกมาจากผู้จัดทำอีกรายหนึ่ง และกล่าวตำหนิมหาวิทยาลัย
ที่ขาดความรอบคอบในการพิจารณาว่าเนื้อหาอาจลอกมาจากที่ใด
หรือเตือนเรื่องดังกล่าวให้นายชมิทท์ทราบ
โดยรายงานการสอบสวนจำนวน 1,157 หน้า ซึ่งไม่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะ พบว่ามหาวิทยาลัยพลศึกษา มีความผิด
ในฐานะที่ขาดการตรวจสอบงานชิ้นอื่นที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันในตอนนั้น
ที่ทำให้นายชมิทท์เชื่อว่าผลงานของตนเหมาะสมถูกต้องแล้ว
ปัจจุบัน
ประเทศฮังการีได้มีประธานาธิบดีใหม่แล้ว
กรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรณีการลอกเลียนงานวิชาการของนิสิตระดับดุษฎีบัณฑิต
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกลางปี พ.ศ. 2555
“มติสภาฯจุฬาฯถอนปริญญาเอก"ศุภชัย"ลอกวิทยานิพนธ์”
วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2555 เวลา 18:42 น.
สภาจุฬาฯ มีมติเพิกถอนปริญญา “ศุภชัย หล่อโลหการ” ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
หลังจับได้ลอกวิทยานิพนธ์ ถือเป็นการเพิกถอนรายแรกของมหาวิทยาลัย
ภาพ ศุภชัย หล่อโลหการ
ภายหลังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับแจ้งกรณีการตรวจพบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของนายศุภชัย หล่อโลหการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.)
มีการลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นนั้น
วันนี้ (21 มิ.ย. พ.ศ. 2555) ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล
อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมด้วย ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณ ในฐานะอุปนายกสภาจุฬาฯ
แถลงหลังการประชุมสภาจุฬาฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีจุฬาฯ รับแจ้งว่า
วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยได้ลอกเลียนผลงานทางวิชาการและนำไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาและได้รับอนุมัติปริญญาโดยสภามหาวิทยาลัยในการประชุมเดือนพ.ค.
2551 นั้น
ภายหลังรับทราบข้อมูลแล้วทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนโดยการสืบหาข้อเท็จจริง
และพบว่าวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ได้คัดลอกผลงานตามเอกสาร
งานวิจัยหรือบทความอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
ซึ่งการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดมมิชอบ
ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงให้ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวได้มีโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานฝ่ายตนต่อคณะกรรมการบริหารคณะที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ
การสำเร็จการศึกษา ที่จะทำให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิได้รับปริญญา
"เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและจากการให้ข้อเท็จจริง
และพยานหลักฐานของผู้เสนอวิทยานิพนธ์แล้วเห็นว่า
วิทยานิพนธ์มิได้เป็นไปตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2542
ทั้งการกระทำดังกล่าวยังเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทางวิชาการ
อันทำให้ผู้เสนอวิทยานิพนธ์ขาดคุณสมบัติข้อที่เป็นผู้มีความประพฤติดีตามระเบียบดังกล่าวด้วย
ดังนั้นสภาจุฬาฯ จึงมีมติให้เพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัย
ซึ่งอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้บุคคลนั้น
ตามข้อเสนอและมติของคณะกรรมการบัณฑิตวิทยาลัยและคณะกรรมการบริหารคณะ
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. (2555) แต่ไม่มีผลย้อนหลัง"
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว
การลอกเลียนในศตวรรษที่
21
ในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร นักเรียนมักนำหน้าครู
คนหนุ่มสาว หรือแม้แต่เด็กจะนำหน้าคนสูงอายุและมากประสบการณ์ เพราะวิธีการคิดในแบบของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใหม่นั้น
เขาไม่ต้องติดยึดกับระบบเดิม
คนที่มาริเริ่มบุกเบิกในเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใหม่
จึงเป็นคนที่ไม่ใช้เส้นทางวิชาการ หรือวิทยาการแบบผูกติดกับมหาวิทยาลัย ดังเช่น
บิล เกตส์ (Bill Gates) มหาเศรษฐีของโลก ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft
หรือสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้งบริษัท
Apple ล้วนเป็นคนไม่ได้เลือกเส้นทางการศึกษาตามปกติ
แต่ก้าวเข้าสู่วงการอย่างใหม่สด และรวดเร็ว
ในยุคที่มีข้อมูลนำเสนอในระบบออนไลน์มากและกว้างขวาง
พร้อมทั้งมีระบบค้นหาข้อมูลด้วยระบบ Search Engine ยิ่งทำให้คนๆหนึ่ง
สามารถไปคว้างานในที่อื่นๆที่อาจอยู่ไกลคนละมุมโลกมาใช้ประโยชน์
ได้งานวิชาการและความคิดที่แปลกและใหม่สำหรับสถาบันของตนได้อย่างง่ายๆภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
ส่วนงานที่นำมานั้น อาจเป็นตั้งแต่นำมาบางส่วน นำมาบางส่วนจากหลายๆแหล่ง
แล้วมาเขียนใหม่ หรือลอกบทความกันอย่างทั้งเรื่อง เกือบทั้งเล่ม ดังนี้ก็มีให้เห็น
ในศตวรรษที่ 21 ครูตามศิษย์ไม่ทัน
และพ่อแม่ตามลูกไม่ทันมาแล้วสักระยะหนึ่ง
กฎเกณฑ์ต่างๆที่ครูหรือพ่อแม่ตั้งเอากับเด็กๆ หรือผู้เรียน ถูกนำไปศึกษา
แล้วหาทางเอาความฉลาดแบบเล่ห์เหลี่ยมชนะคนรุ่นก่อนๆได้อย่างง่ายๆ งานจากที่หนึ่ง
ถูกนำไปใช้และเสนอในอีกที่หนึ่ง โดยมีการปรับเปลี่ยนไม่มาก ที่เป็นเช่นนี้
เพราะคนรุ่นก่อนไม่สนใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่มีทัศนคติที่จะใช้
แต่ในวันนี้ ค.ศ. 2013 ครูต้องตามศิษย์ให้ทัน
พ่อแม่ต้องตามลูกให้ได้และให้ทันกาล และเมื่อวิวัฒนาการของ ICT ได้มาถึงจุดหนึ่ง มี Search Engine ได้ มีการลอกเลียนงานวิชาการกันอย่างง่ายๆ
ก็มีคนประดิษฐ์ระบบตามจับการทุจริตนี้ได้
โดยการมีซอฟต์แวร์ที่เข้าไปค้นหาและตรวจหางานที่ลอกเลียนคนอื่นๆ
แม้การติดตามตรวจสอบนี้จะกระทำหลังจากงานได้เผยแพร่เข้าสู่ระบบออนไลน์แล้วสักระยะเวลาหนึ่ง
งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกถูกบังคับให้ต้องส่งเป็น
Digital files นอกเหนือจากเป็นสิ่งพิมพ์ (Printed
materials) การตรวจสอบก็ทำได้อย่างง่ายๆ
โดยเลือกสุ่มตัวอย่างแล้วตรวจสอบ หรือเจาะจงงานที่ต้องสงสัยว่าจะมีการลอกเลียน
แล้วตรวจสอบอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง
ด้วยข้อเท็จจริง การจะจับผิดคนลอกเลียนงานวิชาการและความคิดใหม่ๆ
เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและทรัพยากร
และเมื่อต้องเลือกดำเนินการอย่างสุ่มตัวอย่างทำ หรือเจาะจงเฉพาะกรณี
เขาก็จะใช้วิธีการลงโทษสถานหนัก เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เรียกว่า
“เชือดไก่ให้ลิงดู” คือ เมื่อคนที่ทำผิดอาจมีมากและคลุมเครือ
แต่คนที่ถูกจับได้อย่างชัดแจ้ง ก็จะถูกลงโทษหนักที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อไม่ให้คนอื่นๆเอาไปเป็นเยี่ยงอย่าง
ข้อแนะนำสำหรับผู้เรียน
ถือหลัก “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”
ข้อแนะนำสำหรับผู้เรียน งานวิชาการมีหลายระดับ (1)
งานวิชาการที่ต้องเขียนสำหรับแต่ละวิชาที่เรียน ผู้เรียนมักเรียกกันว่า
Paper ซึ่งเป็นการนำเสนองานของผู้เรียนระดับตั้งแต่ 3
หน้า จนถึง 15-20 หน้า ก็มีความคาดหวังระดับหนึ่ง
เป็นการฝึกสร้างฐานการเรียนรู้ (2) การมีงานวิชาการที่เขาเรียกว่า
Master thesis หรือ Master project เป็นงานที่มีความสำคัญระดับเป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษาในระดับปริญญาโท
และ (3) งานวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก หรือดุษฎีบัณฑิต
เรียกว่า doctoral dissertation
งานในระดับที่ 1 ที่มักเรียกกันว่า
Paper คนจะเรียนเพื่อให้จบการศึกษาระดับปริญญาโท
อาจต้องทำงานเขียนด้วยตนเองประมาณ 20-30 ชิ้น ในหลักสูตร 36
หน่วยกิต งานในระดับนี้ หากคิดง่ายๆ
อาจารย์ผู้สอนเองที่สอนชั้นเรียนละ 20-30 คน
ก็ยากที่จะตรวจผลงานได้อย่างละเอียด งานในกลุ่มนี้มักจะมีการลอกเลียนกันมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อผู้เรียนอ่านเกมส์ผู้สอนออกว่า
ไม่ได้อ่านงานของผู้เรียนอย่างจริงจัง
งานในระดับที่ 2 หรืองานปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาโท
งานในระดับนี้มักจะยังไม่มีการคาดหวังให้ต้องเสนอให้มีผู้อ่านจากภายนอก (External
readers)
แต่งานนั้นก็ยังต้องผลิตและนำไปจัดเก็บในห้องสมุดให้คนได้ค้นคว้าต่อไปได้
งานระดับนี้มักจะมีการลอกเลียนกัน และที่มีการจ้างทำวิทยานิพนธ์กัน
ก็จะเป็นในระดับนี้ รวมถึงรับชี้แนะวิธีการนำเสนอการสอบวิทยานิพนธ์
งานลอกเลียนวิชาการในสองลักษณะแรกนี้
เพราะความที่มีการเปิดสอนกันมากเท่าใด
ไม่เคร่งครัดในการควบคุมกระบวนการเรียนการสอนเท่าใด
ก็จะมีคนทำการลอกเลียนทางวิชาการมากตามไปด้วย
และนั่นคือหายนะของวงการศึกษาในระยะยาว
งานในระดับที่ 3 วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต
จัดเป็นยอดปิรามิดทางการศึกษา คนที่จะเรียนจนถึงระดับนี้มีน้อยคน
ฝ่ายสถาบันการศึกษามีโอกาสในการตรวจสอบคุณภาพได้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น
และในสภาบันการศึกษาส่วนภูมิภาค การเปิดสอนระดับดุษฎีบัณฑิตนี้
เขาต้องการใช้เพื่อพัฒนาคณาจารย์ของเขาด้วย
ทางที่ดีสำหรับผู้เรียน
ใครจะเรียนจนถึงระดับนี้แล้ว ต้องไม่คิดที่จะปล่อยให้มีการลอกเลียนงานวิชาการ
ต้องกล้าและมีความพยายามพอที่จะทำให้งานวิชาการที่นำเสนอนั้นมีความใหม่สด มีการริเริ่มสิ่งใหม่
(Originality) ให้เป็นไปตามความคาดหวังของโลกวิชาการ
งานที่จะถูกตรวจสอบก่อนเลย คือในระดับที่ 3
นี้
เพราะเป็นงานที่จะต้องมีผู้อ่านที่เป็นนักวิชาการจากภายนอกสถาบัน มี Peer
reviews และต่อไปอาจถูกคาดหวังให้ต้องเป็นงานเขียนที่มีแปลหรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษ
หรือภาษาต่างประเทศ ที่โลกวิชาการนั้นๆยอมรับ
สำหรับผู้เรียน คิดง่ายๆ เราทำผิดในวันนี้ เราอาจได้ปริญญาไปภายใน
1 ปี แต่ผลงานที่เราทำขึ้น
จะยังอยู่ในระบบรอให้คนมาตรวจสอบได้ตลอดเวลา แม้เราจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังมีคนนำขึ้นมาศึกษาและตรวจสอบได้
ดังนั้นผู้เรียนต้องพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้อง
ยึดหลักไม่ต้องไปโกงตามคนอื่นๆเขา ยอมเหนื่อยในวันนี้
แล้วจะสามารอยู่ได้อย่างสบายใจ นอนตาหลับ ไม่ใช่ต้องกังวลกับสิ่งที่ได้เขียนเอาไว้
แล้วอาจมีคนมาตรวจสอบได้ตลอดเวลา และเรื่องนี้เมื่อเกิดปัญหา อาจารย์ที่ปรึกษา
หรือใครๆก็ช่วยไม่ได้ เพราะงานวิทยานิพนธ์ถือเป็นงานหลักของผู้เรียน
ดังนั้น จึงควรสร้างความสามารถด้านความคิดริเริ่มให้เกิดกับตนเอง
ทำงานที่ดีที่มีความแปลกใหม่ ก็จะเป็นโอกาสใหม่ ต้องใช้จินตนาการ (Creativity)
มากกว่าความขยันแบบทำซ้ำ
ผู้เรียนต้องทำใจ
กล้าเผชิญกับความท้าทายทางวิชาการนี้ มั่นใจในตนเอง
หรือไม่ก็ไม่ต้องมาเรียนอย่างคาดหวังผิดๆ ประเภท “เรียนครบ จ่ายครบ จบแน่”
ซึ่งเป็นไปไม่ได้
ข้อแนะนำสำหรับครูอาจารย์
ครูอาจารย์ผู้สอนมีส่วนทำให้การลอกเลียนทางวิชาการลดลง
หากผู้สอนเองก็ต้องลงมือปรับเปลี่ยนวิธีสอน และการคาดหวังทางวิชาการใหม่
การฝึกผู้เรียนให้ทำงานเองได้อย่างเป็นระบบ (Systematic
research) ในสมัยหนึ่ง
อาจารย์ผู้สอนงานวิจัยจะให้งานให้ผู้เรียนต้องไปอ่านหนังสือมา แล้วย่อความใส่ลงไปใน
Card ขนาดเท่าครึ่งหน้า A4 และสอนให้ผู้เรียนต้องหัดย่อความสำคัญ
แล้วบันทึกลงไปในคาร์ดได้ ซึ่งก็ต้องฝึกหัดอ่านอย่างจับใจความ
ไม่ใช่ไปคัดสำเนามาตลอด แต่ไม่เคยอ่านงานอย่างจริงจัง
ลดการให้งานผู้เรียนที่จะมากเกินไป ทำให้มีโอกาสลอกเลียนกันให้เหลือน้อยลง
ข้อสำคัญผู้สอนต้องหัดให้งานชนิดที่ผู้เรียนไปลอกเลียนงาน หรือไปทำสำเนางานอื่นๆ (Copy
and paste) แล้วมาตัดแปะเสนอเป็นงานบทความแก่ครูอาจารย์ผู้สอน
การให้ผู้เรียนต้องมานำเสนองานในชั้นเรียน
โดยต้องแสดงความคิดเห็นจากงานที่กได้ไปศึกษามา การต้องแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
ผู้เรียนก็ต้องไปอ่านมาอย่างเข้าใจ
การให้เวลาแก่ผู้เรียน ฟังข้อเสนอ อ่านข้อเสนอ
แล้วตั้งคำถาม การฝึกอ่านแล้วต้องวิเคราะห์ว่า
งานนั้นมีประเด็นใดที่ยังมีคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ หรือได้คำตอบแล้ว
แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้
การใช้เสนองานผ่านระบบเครือข่าย
งานทุกชิ้นไม่ต้องใหญ่ แต่ต้องเป็นงานที่คิดเอง เขียนเอง
และเมื่อมีการใช้งานของคนอื่นๆ ก็ต้องมีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง
แสดงความเคารพงานของคนอื่นๆเขา
ใน Social Media ดัง Facebook
เป็นเครื่องมือฝึกการสื่อสารที่ดี หากรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
ใน Facebook เขามีให้เลือก
Share หรือแบ่งปัน เรานำงานของคนอื่นๆมาเสนอต่อ
แล้วสอดแทรกความคิดเห็นของเราเพิ่มเติม หรือเราเอาความเห็นของคนอื่นๆเขามาคิด
ไตร่ตรอง หรือตรวจสอบ เราก็สามารถใช้ commend เพื่อแสดงทัศนะของเราที่เห็นเพิ่มเติม
หรือแม้เห็นต่าง ก็สามารถแสดงออกได้
เริ่มในเรื่องเล็กๆให้ถูกต้อง
ดีกว่าให้ทำผิดใหญ่ๆ ดังนั้น
จึงต้องช่วยกันฝึกให้มีการนำเสนอกันตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ตามหลักสุภาษิตว่า
“จะกินช้างทั้งตัว ก็ต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ”
ครูอาจารย์ผู้สอนต้องมีเทคนิค
อย่าปล่อยให้ผู้เรียนเสนองานมาแบบเน้นปริมาณ โดยเฉพาะเมื่อจะเสนอกรอบการดำเนินการ (Proposal)
ให้เริ่มจากกระดาษเพียง 2-3 หน้าก่อนว่าคิดจะทำอะไร
อธิบายให้ได้ด้วยภาษาอย่างง่ายๆ ก่อนที่จะไปศึกษาในระดับกว้างขวาง
ส่วนครูอาจารย์ก็ต้องมีประสบการณ์เพียงพอ เพื่อตรวจสอบความริเริ่ม
ความใหม่ที่ต่อยอดจากวิชาการที่ได้เคยคิดกันมา ต้องรู้ว่าสุดชายแดนของโลกวิชาการ (Academic
frontier) ของโลกการเรียนรู้นั้นไปถึงจุดไหนแล้ว
มีอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีคนทำ
และน่าสนใจและมีประโยชน์ต่อสาธารณะควรค่าแก่การทำ
No comments:
Post a Comment