Tuesday, February 5, 2013

ระวังโพลการเมือง (Poll) จะทำให้มหาวิทยาลัยพัง


ระวังโพลการเมือง (Poll) จะทำให้มหาวิทยาลัยพัง

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: politics, การเมือง, การสำรวจความคิดเห็น, opinion poll, public poll, การสุ่มตัวอย่าง, sampling, สวนดุสิตโพล, Suan Dusit Poll, Gallup Poll,

สำนักข่าวอิศรา

รับไม่ได้ผลโพล มานิจ สุขสมจิตรทิ้งเก้าอี้นายกสภา มรภ.สวนดุสิต

วันอังคารที่ 05 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 14:34 น. เขียนโดย ณัฏฐพัชร์ ทัศนรุ่งเรือง หมวด isranews, ข่าว, thaireform.in.th, ในกระแส, สื่อสารมวลชน

ความนำ

สื่อมวลชนอาวุโส มานิจ สุขสมจิตรชี้ 2 สาเหตุประกาศลาออกจากนายกสภา มรภ.สวนดุสิต บอกรับไม่ได้กับผลโพลเอาใจนักการเมือง และการรับจ้างจัด 108 เวที แก้รัฐธรรมนูญ 2550 

ข่าว มานิจ สุขสมจิตร นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตลาออก ไม่สามารถทนหรือยอมรับการทำโพลการเมืองที่ความเอนเอียง และไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักวิชา

ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องโพลนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องรอบคอบที่จะให้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเข้าไปทำโพลทางการเมือง มันอาจทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสีย และพังไปตามโพลไปด้วยในที่สุด

ประเด็นแรก คือความน่าเป็นห่วงเรื่องความโปร่งใสของการทำโพล ว่าไปรับผลประโยชน์ หรือการสนับสนุนจากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองมาหรือไม่ ซึ่งถ้าไปรับการสนับสนุนจากนักการเมืองที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมาโดยตรง ก็เท่ากับว่านักวิชาการที่เข้าไปทำโพลนั้น ได้ขายวิญญาณของนักวิชาการไปแล้ว

ประเด็นที่สอง คือเรื่องหลักวิชา สงสัยว่า คณะผู้จัดทำโพลได้ใช้หลักวิชาการอย่างจริงจัง ตั้งแต่การตั้งคำถามว่ามีความเอนเอียงหรือไม่ การสุ่มตัวอย่างของผู้ให้ข้อมูลได้ใช้หลักวิชาการอย่างไร สถานที่ๆทำการสำรวจมีผลต่อลักษณะกลุ่มประชากร และความคิดเห็นของคนหรือไม่?  ฯลฯ เท่าที่ติดตามดูแล้ว น่าเป็นห่วงในด้านหลักวิชาการ

ได้ไม่เท่าเสีย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยจัดทำโพลสำรวจทัศนคติทางการเมืองในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นโพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองในระยะแรกๆ แต่ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง และส่งแรงเสียดทานต่อมหาวิทยาลัยโดยรวม จนก็ต้องเลิกไปในที่สุด และไม่มีหน่วยงานไหนของมหาวิทยาลัยได้หันกลับมาทำโพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองอีกเลย

ในสหรัฐอเมริกาปี ค.ศ. 1936 นับเป็นช่วงแรกของการทำโพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมือง
หนังสือพิมพ์ Literary Digest ได้จัดทำโพลที่มีผู้ให้ความเห็นมากถึง 2.3 ล้านคน นับเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มากทีเดียว หนังสือพิมพ์นี้แถลงว่า Alf Landon ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน มีคะแนนนิยมมากกว่า Franklin D. Roosevelt อย่างมากทีเดียว แต่กลุ่มตัวอย่างของหนังสือพิมพ์นี้เป็นพวกมีฐานะ ซึ่งกลุ่มผู้อ่าน เป็นฐานของพรรครีพับลิกันอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ Literary Digest ไม่ใส่ใจในเรื่องนี้ ในช่วง 1 สัปดาห์ George Gallup กับทีมจัดทำโพลอีกกลุ่มหนึ่ง ได้ใช้กลุ่มตัวอย่างที่เล็กกว่ามาก แต่ตั้งอยู่บนฐานที่มีหลักวิทยาศาสตร์มากกว่า ได้เลือกสุ่มกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆได้ดีกว่า เขาทำนายว่า Roosevelt จะชนะอย่างถล่มทลาย ซึ่งผลดังที่เราทราบ Gallup ทำนายได้ถูกต้อง F. D. Roosevelt เป็นฝ่ายชนะอย่างถล่มทลาย และมิเพียงเท่านั้น เขาได้เป็นประธานาธิบดีต่อมาติดต่อกัน รวม 4 สมัย นับเป็นประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ 1 ใน 4 คนของอเมริกา

ทำโพลผิดพลาด อาจหมายถึงเสื่อมสลาย

หลังจากผลของโพล Literary Digest ได้สูญเสียความนิยมและหายไปจากวงการธุรกิจในที่สุด และต้องเลิกกิจการไปในปี ค.ศ. 1938 ส่วน Gallup ก็สามารถสถาปนาตนเองเป็นผู้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองที่คนเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ จากวันนั้นจนถึงวันนี้

จอร์จ ฮอเรซ แกลลัป (George Horace Gallup) เกิดเมื่อวันที่ 18  พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1984 เป็นผู้บุกเบิกด้านเทคนิคการสุ่มตัวอย่างและการคิดค้นเรื่องการสำรวจประชามติที่เรียกว่า Gallup poll และนับเป็นวิธีการทางสถิติ (Statistical method) ในการสุ่มตัวอย่าง (Survey sampling) สำหรับวัดความคิดเห็นสาธารณะ (Public opinion) ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง


จอร์จ ฮอเรซ แกลลัป (George Horace Gallup)

อัฟ แลนดอน (Alfred Mossman Landon) เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1887 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1987 เป็นนักการเมืองชาวอเมริกันสังกัดพรรครีพับลิกัน (Republican) ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการรัฐคนที่ 26 ของรัฐแคนซัสในช่วงปี ค.ศ. 1933 ถึง ปี ค.ศ. 1937 เขาเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในฐานะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แล้วประสบความพ่ายแพ้อย่างถล่มทลายแก่ Franklin D. Roosevelt ในปี ค.ศ. 1936


ภาพ สื่อสิ่งพิมพ์ Literary Digest ที่หลังจากทำนายผู้ชนะการเลือกตั้งเป็ประธานาธิบดีสหรัผิดพลาดอย่างรุนแรง หนังสือพิมพ์ก็สูญเสียความน่าเชือถือ จนในที่สุดต้องปิดตัวเองไปในปี ค.ศ. 1938


ภาพ จอร์จ แกลลัป (George Gallup) ผู้ได้รับความเชื่อถือด้านการสำรวจทัศนคติ ปัจจุบัน Gallup ได้กลายเป็นสถาบันการสำรวจความคิดเห็นที่ได้รับความเชื้อถืออย่างมาก


ภาพ ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ผู้ชนะการเลืิอกตั้ง เป็นประธานาธิบดี และเขาได้ประสบความสำเร็จในตำแหน่งนี้มากที่สุด ในฐานะผู้กอบกู้เศรษฐกิจของสหรัฐจากยุคที่เลวร้ายที่สุดได้ นำประเทศผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง กำชัยชนะเหนือเยอรมันนาซีได้

มหาวิทยาลัยต้องคิดให้ดี

ย้อนกลับมายังการจัดทำโพลทางการเมืองของมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศไทย 

หากหน่วยงานของแต่ละมหาวิทยาลัยยังทำโพลทางการเมืองอยู่ ก็ต้องแจงความโปร่งใสแก่สภาของมหาวิทยาลัยของตน และแก่สังคมไทยว่า เงินค่าใช้จ่ายในการทำโพลนั้นมาจากที่ไหน ใครเป็นคนให้การสนับสนุน เพราะมหาวิทยาลัยเองนั้น ไม่น่าจะมีเงินที่จะสนับสนุนการจัดทำโพลได้อย่างสม่ำเสมอ แล้วฝ่ายบริหารการจัดทำโพลนั้น ไปได้เงินสนับสนุนมาจากที่ใดบ้าง และฝ่ายสนับสนุนนั้น เขามีเบื้องหลังกันมาอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ น่าจะต้องมีการติดตามและสอบสวนหาข้อเท็จจริง ก่อนที่กิจกรรมทำโพลทางการเมืองในประเทศไทยจะเละเทะกันมากไปกว่านี้

No comments:

Post a Comment