Friday, February 1, 2013

นักการเมืองผู้หลบหนีการต้องโทษ (Fugitives) เขาจะใช้ชีวิตกันอย่างไร?


นักการเมืองผู้หลบหนีการต้องโทษ (Fugitives) เขาจะใช้ชีวิตกันอย่างไร?

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: กฎหมาย, กฎหมายอาญา, กฎหมายแพ่ง, fugitive, runaway, สมชาย คุณปลื้ม, วัฒนา อัศวเหม, และทักษิณ ชินวัตร

ความหมาย

สมชาย คุณปลื้ม, รักเกียรติ สุขธนะ, วัฒนา อัศวเหม, และพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร มีสถานะทางกฎหมายเหมือนกัน คือเป็นผู้หลบหนีการควบคุม หนีโทษตามการตัดสินของศาล เรียกว่าเป็นพวก Fugitive หรือ runaway ในภาษาอังกฤษ

Fugitive หรือ Runaway คือบุคคลที่หลบหนีการควบคุมตัว (Custody) ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมเยี่ยงทาส (Private slavery) การจับกุมของรัฐบาล (Government arrest) การติดตามตัวเพื่อสอบปากคำ (Non-government questioning), หรือความรุนแรงจากศาลเตี้ย (Vigilante violence) เหล่านี้ เขาเรียกว่าเป็น Fugitive

การหลบหนีกระบวนการยุติธรรม บุคคลนั้นอาจถูกขึ้นศาลด้วยถูกลงโทษกระทำผิด หรือถูกกล่าวหา หรือหลบเลี่ยงกฎหมาย โดยหลบหนีไปอยู่ประเทศอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมในประเทศของตนเอง
และด้วยการที่กระทำผิดในประเทศหนึ่ง แล้วหลบหนีไปอยู่ในประเทศอื่น จึงมีองค์การตำรวจสากล (Interpol) ซึ่งมีหน้าที่ติดตามผู้หลบหนีแบบข้ามพรมแดนได้ ในยุโรปมี Europol หรือตำรวจของสหภาพยุโรปที่มีหน้าที่ติดตามผู้หลบหนีในยุโรป ด้วยมีความร่วมมือในการค้นหา ในสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐต่างๆมาร่วมกันกว่า 50 รัฐ ก็มีหน่วยงานกลาง คือ U.S. Marshals Service ที่มีหน้าที่ติดตามคนร้ายที่หลบหนีแบบข้ามรัฐได้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นรัฐไหนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งนี้เป็นการมีอำนาจ ที่นอกจากจะมีหน่วยงานสอบสวนกลาง Federal Bureau of Investigation หรือ FBI ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว

ในทางกระบวนการศาล ผู้หลบหนีจะเสียสิทธิในการอุทธรณ์ หรือคำตัดสินที่มีเกี่ยวกับตน เพราะการหลบหนีถือเป็นการหมิ่นอำนาจศาล เมื่อเร็วๆนี้ ผู้หนีโทษข้อหาข่มขืน Andrew Luster ผู้หลบหนีการจับกุมเป็นเวลาถึง 6 ปี ได้ยืนขอสิทธิการต่อสู้คดี แต่ได้รับการปฏิเสธจากศาล ด้วยเหตุที่เขาได้หลบหนีไปนานถึง 6 ปี และการพิจารณาคดีได้กระทำไปแล้ว โดยไม่มีจำเลยเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณา (Convict in Absentia) การหลบหนีไม่ยอมรับกระบวนการศาล ถือว่าหมิ่นศาล ทำให้ไม่มีสิทธิรับการลดหย่อนโทษ จะต่างจากคนที่เข้าสู่กระบวนการศาลตามปกติ ที่มีสิทธิรับการพิจารณาลดหย่อนโทษ

กรณีนักการเมืองที่หลบหนีโทษตามคำสั่งศาล

ในนิยาย ผู้หลบหนีโทษไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป และในบางเรื่อง เขาเป็นพระเอก แต่ในเรื่องจริงในประเทศไทย การหลบหนีโทษตามการตัดสินของศาล คือการหมิ่นอำนาจศาล และจะไม่ได้รับความปราณีจากศาล

1.  สมชาย คุณปลื้ม กับโทษจำคุก 30 ปี 4 เดือน


ภาพ นายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ

นายสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ (30 กันยายน พ.ศ. 2480 – ) เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ชาวจังหวัดชลบุรี ผู้กว้างขวางในภาคตะวันออก และเคยเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุขที่มีผลงานมากมายจนทำให้ชลบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังและให้การสนับสนุนนักการเมืองจากภาคตะวันออกหลายคน

นายสมชายถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 4 เดือน และยึดทรัพย์ในคดีทุจริตซื้อที่ดินเขาไม้แก้ว และจำคุก 25 ปี ในคดีจ้างวานฆ่า นายประยูร สิทธิโชติ หรือ กำนันยูร แต่ไม่มารับฟังการตัดสินคดีของศาล แล้วหลบหนีคดี
เป็นเวลากว่า 7 ปี ที่นายสมชาย คุณปลื้ม หรือ "กำนันเป๊าะ" หลบหนีคำพิพากษาถูกจำคุก 30 ปี 4 เดือน จากคดีจ้างวานฆ่าผู้อื่น และคดีทุจริตซื้อที่ดินทิ้งขยะเมืองพัทยา

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556 นายสมชาย คุณปลื้มได้ถูกตำรวจจับที่กรุงเทพมหานคร หลังจากหลบเข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

2.  นายวัฒนา อัศวเหม - คดีทุจริตที่ดินคลองด่าน


ภาพ นายวัฒนา อัศวเหม

นายวัฒนา อัศวเหม เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สมุทรปราการ 10 สมัย (พ.ศ. 2518, 2519, 2522, 2526, 2529, 2531, 2535/1, 2535/2, 2538, 2539) มีคนสนิทไว้ใจที่สุดคือ นายมั่น พัธโนทัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2519) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2531, 2533, 2540) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2535)
นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคการเมืองหลายพรรค เช่น รองหัวหน้าพรรคชาติไทย หัวหน้าพรรคราษฎร ที่ปรึกษาพรรคมหาชน ประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน

นายวัฒนา อัศวเหม ยังมีธุรกิจส่วนตัวอีกหลายด้าน เช่น บริษัท ม้าทองชิปบิลเดอร์ จำกัด ร้านอาหารบ้านแก้วเรือนขวัญ บริษัท เจริญมั่นคง จำกัด ฯลฯ

กรณีทุจริตที่ดินคลองด่าน - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ในคดีที่นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย และประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นจำเลย ในกรณีสืบเนื่องจากนายวัฒนาใช้อำนาจข่มขู่ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ และที่เทขยะมูลฝอยซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลย 10 ปี และให้ริบพระผงสุพรรณเลี่ยมทองของกลาง พร้อมกับออกหมายจับเพื่อติดตามตัวจำเลย มารับโทษ ต่อมานายวัฒนา ได้ยื่นขออุทธรณ์คดีดังกล่าว แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา

นายวัฒนาหลบหนีออกจากประเทศไทยเมื่อปี 2551 ภายหลังจากถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ในคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งนับตั้งแต่ที่เขาหลบหนีออกนอกประเทศ มีรายงานว่าเขาปรากฏตัวในประเทศกัมพูชา ฮ่องกง นิวซีแลนด์ และจีน

ไม่นานมานี้ (2555) เป็นข่าวว่านายวัฒนาได้ใช้เงินส่วนตัวกว่า 200 ล้านสร้างวัดไทยในประเทศจีน โดยให้ชื่อวัดว่า "วัดเหมอัศววาราม"  ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดไป๋หม่าซือ (Baima Si) ซึ่งเป็นวัดจีนเก่าในเมืองลั่วหยาง ประเทศจีน โดยใช้เวลาก่อสร้างวัดประมาณ 2 ปี – บางกอกโพสต์

3.  กรณีนายรักเกียรติ สุขธนะ


ภาพ นายรักเกียรติ สุขธนะ ขณะถูกจับกุม

นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตนักการเมืองระดับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผู้หลบหนี (Fugitive) โดยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา จนกระทั่งมีผู้พบเห็นนายรักเกียรติออกกำลังกายในสวนสาธารณะย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จึงถูกตำรวจจับกุมตัวมารับโทษตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547

ภายหลังที่เข้ารับโทษที่เรือนจำคลองเปรม นายรักเกียรติ ได้รับการลดโทษเหลือ 9 ปี 2 เดือน และ 7 ปี 6 เดือน ตามลำดับ

นายรักเกียรติได้รับโทษจำคุกนานกว่า 5 ปี เหลือโทษจำคุกจริงอีก 2 ปี 6 เดือน หรือประมาณ 1 ใน 3 จึงเป็นคุณสมบัติตามเกณฑ์การขอพักการลงโทษ คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษฯ จึงอนุมัติให้พักการลงโทษและได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังเรือนจำกลางคลองเปรมเพื่อให้ปล่อยตัว นายรักเกียรติออกจากเรือนจำตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จากจุดสูงสุดเป็นเสนาบดี ลงสู่ต่ำสุด หนีโทษศาล ถูกจับได้และถูกจำคุก และกลับสู่สามัญ เข้าบวชเรียนในพุทธศาสนา


ภาพ นายรักเกียรติ เมื่อพ้นโทษ แล้วบวชเป็นพระ

นายรักเกียรติได้หันหน้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ จำพรรษาและปฏิบัติธรรมอยู่ ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมวังพญานาค วัดใหม่สุขธนะศรีนคราราม บ้านวังชัย ต.บลเวียงคำ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เพื่อเทศนาและให้ข้อเตือนใจนักการเมืองทั้งหลาย

ข้อเตือนใจจากปรากฏในหนังสือพิมพ์แนวหน้า - พระอาจารย์รักเกียรติ ได้เปิดเผยถึงเรื่องราวต่างๆ ในวงการการเมืองไทย ที่มาที่ไปของการทุจริต รวมทั้งข้อแนะนำ ข้อเตือนใจ ฝากไปถึงสังคม ในฐานะผู้ที่เคยใช้ชีวิตอย่างประมาท จนพลาดพลั้ง ตกลงสู่จุดต่ำสุดของชีวิต แต่ในที่สุดก็ค้นพบว่าธรรมะสามารถเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นสุขได้

4.  พตท. ทักษิณ ชินวัตร กับกรณีที่ดินรัชดา

พันตำรวจโท ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย


ภาพ พตท. ทักษิณ ชินวัตร

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เคยเดินทางกลับประเทศไทยครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 หลังพรรคพลังประชาชนที่เขาสนับสนุน ชนะการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร

แต่หลังจากเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 พันตำรวจโท ทักษิณไม่ได้เดินทางกลับไทย เพื่อฟังคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และขอลี้ภัยในสหราชอาณาจักรแต่ถูกปฏิเสธ พันตำรวจโท ทักษิณจึงต้องเดินทางจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง

หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม ศาลคดีการเมืองตัดสินจำคุกเขาเป็นเวลา 2 ปี จากคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก พันตำรวจโท ทักษิณเป็นผู้สนับสนุน และถูกมองว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนเงินทุน อยู่เบื้องหลังกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลขณะนั้น เพิกถอนหนังสือเดินทางของพันตำรวจโท ทักษิณ โดยอ้างว่ามีบทบาทในกลุ่ม นปช.ระหว่างเหตุการณ์ไม่สงบช่วงสงกรานต์

ศาลคดีการเมืองวินิจฉัยให้ทรัพย์ของพันตำรวจโท ทักษิณ และคนใกล้ชิด มูลค่าราว 46,000 ล้านบาท จากที่ คตส.อายัดไว้ 76,000 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โทษที่พันตำรวจโท ทักษิณ จะต้องถูกจับกุมและเข้ารับโทษทันที่ 2 ปี คือโทษจากกรณีทุจริตที่ดินรัชดา ซึ่งถือว่าการพิจารณาโทษได้สิ้นสุดแล้ว

No comments:

Post a Comment