Monday, November 19, 2012

อาจารย์ 360 องศา


อาจารย์ 360 องศา


ภาพ ประกอบ คุปรัตน์ ถ่ายภาพร่วมกับนิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ในหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: บันทึกการศึกษา, education diary, บัณฑิตศึกษา, graduate education, การอุดมศึกษา, higher education

ผมเป็นอาจารย์ที่สนใจในหลายๆสิ่งรอบตัวในขณะนี้ จึงอยากเรียกตัวเองว่า “อาจารย์ 360 องศา”
ตื่นเช้าขึ้นมา หลังออกกำลังกายที่ Fitness Center ใกล้ๆบ้านแล้ว ได้รับประทานอาหารเช้าเบาๆแล้ว ก็นั่งหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เข้าไปมีกิจกรรมใน Facebook และ Twitter หรือไม่ก็ดูทีวี ติดตามข่าว CNN ทั้งนี้เพื่อเตรียมตัวเองให้ไม่ตกข่าวสารบ้านเมือง และสรรพสิ่งที่ได้เกิดขึ้นรอบโลก

ผมมีอาชีพเป็นครูและผู้บริหาร เมื่อเคยสอนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในยุคเริ่มต้น สอนวิชาระดับปริญญาตรีเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว มีนักศึกษาฟังบรรยายครั้งละเป็นพันคน ต่อมาเรียนจบปริญญาขั้นสูงแล้ว กลับไปทำงานที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มผู้เรียนเป็นระดับมหาบัณฑิต ลดลงมาเหลือ 20-25 คนต่อชั้น พอเปิดสอนระดับปริญญาเอกที่จุฬาฯ เวลาดูแลวิทยานิพนธ์ เหลือต้องดูแลที่ละคน จากที่สอนระดับสูงขึ้น แต่ความรู้เฉพาะเป็นแบบรู้ลึกแต่คับแคบลงเป็นลำดับ

เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ผมผันตัวเองเป็นมีอาชีพด้านที่ปรึกษาทางการศึกษา (Consultant) มีความท้าทายตรงที่ คนที่เขาให้ทำงานนั้น เขามักจะเลือกให้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่เขาเห็นว่าเราน่าจะทำได้ ทำแต่ละเรื่องแต่ละโครงการล้วนเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ โดยใช้หลักบริหารนวตกรรม (Innovation Management) เป็นหลักในการทำงาน ซึ่งก็สนุกดี

ถึงวันนี้ในวัย 66 ปี ขอบคุณพระเจ้าที่ร่างกายยังแข็งแรง แต่ด้านจิตใจเริ่มอยากทำอะไรที่แปลกใหม่ ไม่ต้องซ้ำเดิม ทางเลือกหนึ่งคือ “เปลี่ยนบทบาทตนเองจากเป็นผู้สอนอย่างเดียว ไปสู่สอนและเรียนรู้ร่วมกันกับผู้เรียนไปด้วย” จากการสอนเพียงในชั้นเรียน ก็สอนแบบ “ห้องเรียนเปิด” (Open classroom) สอนผ่านระบบออนไลน์เสียเลย แทนที่จะมีคนรับประโยชน์เพียงกลุ่มน้อย ก็ให้มีโอกาสได้ร่วมเรียนกันไปในวงกว้าง เขียนงานมาหนึ่งชิ้น ก็ให้ได้อ่านกันไปทั่ว หลายๆคน

ผมหันมาใช้ประโยชน์จากความสนใจรอบด้านมาช่วยในการเรียนการสอน อยากจะเรียนรู้เรื่องใด ก็เข้าไปค้นคว้าโดยใช้ข้อมูลในระบบออนไลน์ศึกษาหากความรู้ เมื่อสนใจแล้ว ได้รู้แล้ว ก็นำความรู้นั้นมาเผยแพร่ เขียนเป็นข้อความ แล้วขยายเป็นบทความ (Articles) เมื่อเริ่มรู้ลึกมากพอ หากต้องการู้ลึกในบางเรื่อง ก็ไปหาตำราระดับสูงมาอ่านเป็นเฉพาะเรื่องไป

แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อสนใจรู้กว้าง ก็จะไม่รู้ลึกไปเสียทั้งหมด เหมือนแสงเทียนที่สว่างรอบทิศ แต่ก็จะสว่างไม่ได้ไกล ไม่เหมือนไฟฉาย หรือไฟหน้ารถยนต์ ที่ส่องไปเฉพาะจุด (Focusing) แต่ส่องทางได้ไกลมากๆ คนอย่างผม ณ เวลานี้ จึงเหมาะสำหรับการเป็นคนเปิดเกมส์การศึกษาต่อในระดับปริญญาขั้นสูง (Graduate Education) ให้คำปรึกษาแก่นิสิตนักศึกษาในระยะเริ่มต้นที่เขาจะทำวิทยานิพนธ์  ทำให้นิสิตนักศึกษาที่เข้าใหม่ ได้มีความรู้กว้างๆระดับหนึ่งก่อน แล้วจึงเริ่มเจาะจงศึกษาในเรื่องแคบลง และแคบที่สุดเพียงพอที่จะศึกษาเป็นหัวเรื่องวิทยานิพนธ์ (Doctoral Proposal) และทำงานวิจัยตามหัวเรื่องวิทยานิพนธ์นั้นจนจบเรื่องได้

งานอย่างที่ผมทำนี้ ในวงการแพทย์เขามีคนทำงานเป็น General Practitioners คือแพทย์ทั่วไป คอยรับคนป่วยที่เข้ามาโรงพยาบาล ตรวจสอบประวัติ สัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย ให้การวินิจฉัยและรักษาพยาบาลขั้นเบื้องต้น ให้แนวทางในการรักษาพยาบาล ในกรณีต้องรักษาต่อเนื่อง ก็ส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรับไปรักษาต่อไป ส่วนบทบาทในระยะต่อไป คือติดตามความก้าวหน้าของผู้ป่วยต่อไป เพื่อจะได้ใช้ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ และปรับปรุงประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลต่อไป

แพทย์ในลักษณะนี้ ความรู้รอบ รู้เท่าทันสิ่งต่างๆที่ได้เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ เพราะถ้าหากเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะมีแนวโน้มที่จะรักษาพยาบาลตามลักษณะโรคที่ตนเองคุ้นเคย เช่น หากเป็นแพทย์ผ่าตัด ก็จะมองเห็นความจำเป็นในการผ่าตัดมากเกินเหตุ แทนที่จะวิเคราะห์โรคอย่างเปิดกว้าง ทำความเข้าใจในปัญหาอย่างรอบด้าน แล้วจึงเสนอแนวทางในการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป
คนอย่างผมนี้จึงเหมาะที่จะเรียกว่า “อาจารย์ 360 องศา” เป็นอาจารย์ที่สนใจรู้รอบ แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

No comments:

Post a Comment