Friday, May 15, 2015

สนับสนุนให้ผู้สูงอายุขี่จักรยาน ประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น

สนับสนุนให้ผู้สูงอายุขี่จักรยาน ประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น

ประกอบ คุปรัตน์ 
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การขนส่ง, transportation, การเดินทาง, commuting, สิ่งแวดล้อม, environment, ecology, energy, รถจักรยาน, bicycles, bikes, เมืองเป็นมิตรกับจักรยาน, Bicycle-Friendly Cities, เกียวโต, ประเทศญี่ปุ่น, Kyoto, Japan, โตเกียว, Tokyo, ผู้สูงอายุ, senior citizen, silver generation

ศึกษาจาก “JAPAN'S CYCLING SENIORS” Byron Kidd ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 5.7 ล้านครั้ง


ภาพ สุภาพสตรีสูงวัยที่ยังสาว ขี่จักรยานไปจับจ่าย

คนญี่ปุ่นสูงวัยกำลังใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาใช้เป็นยานพาหนะหลักในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้ประโยชน์หลายด้านที่ประมาณค่าไม่ได้

ประโยชน์ทางด้านสุขภาพ (PHYSICAL HEALTH BENEFITS)

การขี่จักรยานทุกวัน ขี่ไปจ่ายตลาด ไปเยี่ยมเพื่อนฝูง ไปที่สถานีรถไฟ รถโดยสาร เพื่อจะเดินทางไปที่อื่นๆต่อไป คนญี่ปุ่นสูงวัยกำลังเพิ่มปีที่มีคุณค่าให้กับชีวิตของตนเอง เป็นการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องฝืนเหมือนต้องเข้าโรงยิมเพื่อออกกำลังกาย การขี่จักรยานเป็นผลดีต่อสุขภาพ สร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ลดไขมัน เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆดีขึ้น และป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน

โดยรวม เมื่อผู้สูงวัยขี่จักรยาน เขาจะได้เพิ่มความแข็งแรง การทรงตัวและความคล่องแคล่ว ซึ่งทำให้ลดโอกาสล้มและกระดูกแตกหรือหัก การขี่จักรยานเป็นการรักษาระดับสุขภาพ ระดับของความดันโลหิต การลดการกระแทกอย่างดีไม่เหมือนการออกกำลังกายบางอย่าง เช่นการวิ่ง หรือการยกน้ำหนัก ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผู้มีอาการจากโรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis)

จากการวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ พบว่าการขี่จักรยานออกกำลังกายทำให้ท่านหนุ่มสาวขึ้น นักวิจัยที่  King’s College London และที่มหาวิทยาลัย Birmingham ประเทศสหราชอาณาจักรได้ศึกษากลุ่มประชากรวัยเกิน 55 ปีขึ้นไป พบว่าระดับการทำงานของร่างกายจะอยู่ในระดับอายุน้อยกว่าคนในวัยเดียวกันมาก

ประโยชน์ทางสุขภาพจิต (MENTAL HEALTH BENEFITS)

ผู้สูงอายุที่ขี่จักรยานจะได้ประโยชน์อย่างมากด้านสุขภาพจิต การขี่จักรยานทำให้ลดความหดหู่ (Depression) ลดความเครียด (Stress & Anxiety) ไม่ใช่เพียงเพราะการได้ออกกำลังกายเป็นการคลายเครียด ไม่เชื่อลองได้ขี่จักรยานยามเช้าหรือเย็น ในช่วงอากาศร้อน แล้วใบหน้าเราได้ปะทะกับสายลมเย็นๆ โดยไม่ต้องนั่งในห้องปรับอากาศ มันเป็นความรู้สึกที่ดี สดชื่นอย่างบอกไม่ถูก

ศาสตราจารย์ Art Kramer แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (Beckman Institute for Advanced Science and Technology at the University of Illinois) ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาสรุปว่าการเดินและการออกกำลังกายสม่ำเสมอในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี จะช่วยทำให้ความจำและทักษะการแก้ปัญหาดีขึ้นร้อยละ 15 ถึง 20 การออกกำลังกายด้วยการเดินหรือขี่จักรยานวันละ 45 นาทีในแต่ละวัน จะช่วยสมองด้านความคิด (Cognitive function) ทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ และเฉพาะผู้สูงอายุ การได้ขี่จักรยานหรือออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยต่อต้านการสูญเสียความทรงจำ


ภาพ จักรยานสามล้อญี่ปุ่น ผลิตโดยบริษัท Bridgestone เหมาะสำหรับผู้สูงวัย ได้ประโยชน์ในหลายระดับ


ภาพ จักรยานสามล้อที่บรรทุกของที่จับจ่ายได้ทั้งตะกร้าด้านหน้า และด้านหลัง


ภาพ จักรยานแบบแม่้าน ที่ญี่ปุ่นเรียก mama bicycle ติดทั้งตะกร้าด้านหน้า และที่ใส่ของด้านหลัง หรือจะให้มีเด็กนั่งซ้อนได้


ภาพ จักรยานแบบชายและหญิงใช้ได้ แต่มีการออกแบบให้มีน้ำหนักเบากว่าจักรยานแม่บ้านทั่วไป


ภาพ จักรยานไฟฟ้าแบบแม่บ้านใช้ได้ และเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการเดินทางไกลสักหน่อย เช่นระยะ 10-15 กิโลเมตร ต้องใช้แรงจากไฟฟ้าช่วยเสริมการถีบ

ประโยชน์ในทางสังคม (SOCIAL BENEFITS)

สาวยาคูลท์ (Yakult girls)

นอกจากประโยชน์ทางด้านสุขภาพจิต คนสูงอายุที่ขี่จักรยานจะได้ประโยชน์ทางด้านสังคม คนสูงอายุที่ขี่จักรยานจะไม่อยู่ติดกับบ้าน จะพึ่งพาให้คนต้องดูแลน้อยกว่าผู้สูงอายุที่ต้องมีคนคอยดูแล คนสูงอายุที่ขี่จักรยานได้ จะไปที่ไหนๆก็ได้ที่อยากจะไป

ในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวมีประชากรเป็นสิบล้านคน แต่ก็มีชุมชนเพื่อนบ้านกระจายอยู่ทั่วไป ที่ หากคนสูงอายุต้องการอะไร ก็สามารถเดินไปซื้อหา หรือขี่จักรยานไป การขี่จักรยานได้จึงเป็นการทำให้ชีวิตเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพา นับเป็นพลังทางบวกเป็นผลประโยชน์ทางด้านจิตใจที่ไม่ควรมองข้าม

การหลุดพ้นจากการต้องอยู่แต่ในบ้านอย่างเงียบเหงา การได้ออกไปเที่ยวไกลๆด้วยจักรยาน นับเป็นประโยชน์ที่ได้มีปะทะสังสรรค์ทางสังคม ซึ่งมิฉะนั้นก็จะไม่มีโอกาส กิจกรรมทางสังคมนี้ทำให้คนสูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี


ภาพ Yakult ladies - สาวยาคุลท์กับงานช่วยเหลือสังคม

ในประเทศญี่ปุ่นมีสตรีจำนวนกว่า 41,000 คนที่ทำงานให้กับบริษัท Yakult เครื่องดื่มสุขภาพที่เรียกว่า Pro biotic drinks ในแต่ละวัน “สาวยาคุลท์” (Yakult ladies) นี้ ทำหน้าที่บริการสำคัญให้กับชุมชน ดังเช่นการติดตามเฝ้าดูแลผู้สูงอายุที่เป็นลูกค้าเป็นประจำ โดยไม่ได้รับเงินเดือนอะไรเป็นพิเศษ รัฐบาลก็ไม่ได้จ่ายอะไรให้ สาวยาคุลท์จะขี่จักรยานไปในทุกซอกมุมของชุมชน รู้รายละเอียดของสุขภาพลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุ สามารถให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน งานเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจหลักของบริษัท ไม่ได้รับเงินพิเศษ

ลองคิดโอกาสในอีกแง่หนึ่ง คนสูงอายะที่มีฐานะดำรงตนอยู่ได้ หรือพอมีเงินเหลือ ได้ใช้เวลาว่างขี่จักรยานออกไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อนผู้ใหญ่ ผู้ที่สูงวัยยิ่งกว่า ที่ขาดคนดูแลหรือติดต่อ ผู้อาสาสมัครสามารถให้คำแนะนำด้านสุขภาพ การช่วยตรวจวัดน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต การได้พูดคุย และเมื่อพบปัญหาก็รายงานหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพผู้สูงวัย ดังนี้ก็เป็นประโยชน์ เพราะในสังคมญี่ปุ่นที่มีผู้สูงอายุอยู่เป็นอันมาก บางทีมีผู้สูงอายุเจ็บป่วยและเสียชีวิตไป โดยไม่มีใครรับรู้ เพราะลูกหลานก็ไปทำงานในที่ๆห่างไกลออกไป

สุกินามิชมรมซ่อมจักรยาน (Suginami Green Cycle initiative)

ในประเทศญี่ปุ่นมีชมรมผู้สูงอายุร่วมกันทำกิจกรรมหนึ่งที่เรียกว่า Suginami Green Cycle initiative” ที่ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนมารวมตัวกันเป็นประจำ เพื่อซ่อมจักรยานที่ไปเก็บมาจากที่ต่างๆรอบๆเมือง เพื่อนำมาขายต่อในราคาถูก ผู้สูงอายุเหล่านี้ จะทำงานอาสานี้อย่างจริงจังในแบบญี่ปุ่น ทั้งนี้อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อโอกาสในการสร้างมิตรภาพที่ยืนยาวของคนในชุมชนที่ได้ร่วมกันทำงาน

สนับสนุนผู้สูงอายุให้ขี่จักรยาน (SUPPORTING ELDERLY CYCLISTS)

ผู้สูงอายุมีความต่างกันหลายระดับ ทั้งทางอายุและสมรรถนะทางร่างกาย แต่การขี่จักรยานกระทำได้ในผู้สูงวัยทุกระดับ ทั้งนี้ต้องอาศัยการออกแบบจักรยานให้สอดคล้องกับถนน ความลาดชัน ระดับความสามารถในการทรงตัว บานคนแข็งแรงแต่เสียศูนย์ในการทรงตัว หรือมีความไวในการตอบสนอง (Reflexion หรือ Coordination) ลดลง ก็สามารถเปลี่ยนจากจักรยานสองล้อ (Bicycle) เป็นจักรยานสามล้อ (Tricycle) หรือบางคนอยู่ในที่ๆเป็นเนินเขา ถนนมีขึ้นมีลง หรือต้องการเดินทางไกลสักหน่อย ก็ใช้จักรยานแบบไฟฟ้าลูกประสม (Padelec) ที่มีระบบพลังไฟฟ้าไว้เสริมเมื่อมีการขี่ขึ้นเขา หรือต้องการเดินทางไกลสัก 10-15 กิโลเมตร เป็นต้น


ภาพ จักรยานไฟฟ้า (Electric bicycle, e-bikes) แบบมีระดับการใช้พลังไฟฟ้ากับพลังคนถีบ ตั้งแต่ใช้พลังไฟฟ้าทั้งหมด; พลังไฟฟ้า + พลังคนถีบ; และพลังคนถีบอย่างเดียว


ภาพ ผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นที่จะมีมากยิ่งขึ้น และเป็นปัญหาด้านค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ







No comments:

Post a Comment