เกียรติของมหาวิทยาลัย คือการรับใช้แผ่นดิน
Keywords: ชีววิทยา, biology,
inbreeding, การผสมพันธุ์แบบสายเลือดชิด,crossbreeding, การผสมพันธุ์แบบข้ามสายเลือด, การบริหาร, Management,
administration, governance, การอุดมศึกษา, Higher
Education, การบริหารทรัพยากรมนุษย์, Human
Resources Management, HRD, การพัฒนาคณาจารย์, staff
development, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Chulalongkorn
University - CU
ภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
เมื่อผมเป็นนิสิตใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รุ่นพี่จะประชุมเชียร์และสอนเพลงของมหาวิทยาลัยทั้งหลายให้น้องๆจำได้ร้องได้จนขึ้นใจ
เพลงที่ทุกคนต้องร้องได้ คือ “มหาจุฬาลงกรณ์” ที่ขึ้นต้นด้วย “น้ำใจน้องพี่สีชมพู
...”
เพลงนี้มีข้อดีที่ปลูกฝังในนิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่า
ได้ตระหนักถึงเกียรติของมหาวิทยาลัยที่ใช้ชื่อตามพระนามของรัชกาลที่ 5 มหาราชของราชวงศ์จักรี ในช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
เมื่อมีการปฏิวัตินักศึกษาโค่นล้มเผด็จการทหาร คำขวัญของกลุ่มอนุรักษ์ใหม่แต่มีใจปฏิรูปสังคม
จะใช้คำขวัญว่า “เกียรติของจุฬาฯ คือการรับใช้แผ่นดิน” และพระนามของรัชกาลที่ 5
นั้น คือให้ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงยกเลิกระบบทาสในสังคมไทย
ในยุคของผมคิดอย่างง่ายๆแม้จะคับแคบว่า
การได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น นับว่าเป็นโชคดี เพราะในยุคคนวัย “ทารกสะพรั่ง”
(Babyboomers) ซึ่งยังไม่มีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คนได้เรียนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้นมีจำกัด
มีเพียงไม่เกินร้อยละ 5 ที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
เนื้อร้องช่วงท้ายของเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ คือ “นิสิตพร้อมหน้า
สัญญาประคอง ความดีทุกอย่างต่างปอง ผยองพระเกียรติเกริกไกร” ในช่วงหลัง
14 ตุลาคม 2516 กระแสปฏิวัติสังคมใกล้การนำไปสู่การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์และเผด็จการเพื่อชนชั้นกรรมาชีพอย่างมาก
ประเทศเพื่อนบ้านด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือได้กลายเป็นคอมมิวนิสต์หมดแล้ว
ส่วนพม่าได้กลายเป็นสังคมนิยมแบบปิดประเทศไปก่อนหน้านี้แล้ว
เมื่อผมโอนย้ายจากมหาวิทยาลัยรามคำแห่งมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โลกทัศน์แบบสนุกสนานเฮฮาได้เปลี่ยนไป เพราะได้ใช้ชีวิตเยี่ยงผู้ใหญ่นอกจุฬาฯมากว่า
10 ปี ได้ไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา 2
แห่ง ได้ทำงานแบบไม่เลือกเพื่อหาเลี้ยงชีพและเรียนหนัสือ และเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว
ได้ทำงานต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง อันเป็นมหาวิทยาลัยเปิดมีคนเรียนหลายแสนคน
มีวัฒนธรรมองค์การที่แตกต่างออกไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ที่ดี
ผมจึงไม่ใช่เป็นอาจารย์ประเภทลูกหม้อ (Inbreeding)
ของของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียทีเดียว แต่เป็นผลิตผลแบบลูกประสม (Hybrid)
และในระหว่างศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ก็ได้ศึกษาเรื่อง “การอุดมศึกษาสำหรับมวลชน”
(Higher education for the mass) ติดตามนวตกรรมของมหาวิทยาลัยเปิดในประเทศอังกฤษ
(The Open University, UK) และระบบวิทยาลัยชุมชน (Community
colleges) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ผมได้เข้าทำงานในภาควิชาอุดมศึกษา (Higher
Education Department, CU) คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ได้กำหนดแนวคิดส่วนตัวว่า หากอยู่จุฬาฯแบบไม่สนใจสภาพการอุดมศึกษาในสังคมไทยเสียเลย
เราคงเป็นคนคับแคบมาก ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา นอกจากทำงานตามภาระหน้าที่ในมหาวิทยาลัยแล้ว
ผมจึงได้ตัวออกไปบรรยาย ร่วมทีมบรรยายให้กับสถาบันอุดมศึกษาหลายๆแห่ง
ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
ในระหว่างนี้ผมเองก็เริ่มตระหนักว่า
ในจุดแข็งหลายๆประการที่จุฬาฯ มี แต่ก็มีจุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่ง คือ
จุฬาฯถูกครอบงำด้วยสภาพ Inbreeding มากยิ่งขึ้น
ที่น่าเป็นห่วง คือประชาคมของมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่รู้ตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้
สภามหาวิทยาลัย และบรรดาผู้บริหารระดับสูง ต้องหยิบยกเรื่อง Inbreeding และผลกระทบต่อกิจการของมหาวิทยาลัย
เพื่อนำมาศึกษาและหาทางปฏิรูปอย่างจริงจัง
เพลงมหาจุฬาลงกรณ์
คำร้อง : ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
และนายสุภร ผลชีวิน
ทำนอง :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เรียบเรียงเสียงประสาน : น.ต. ปิยะพันธ์
สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
มหาจุฬาลงกรณ์
น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์
ขอทูนขอเทิดพระนามไท พระคุณแนบไว้นิรันดร
ขอองค์พระเอื้ออาทร หลั่งพรคุ้มครอง
นิสิตพร้อมหน้า สัญญาประคอง
ความดีทุกอย่างต่างปอง ผยองพระเกียรติเกริกไกร
ขอตราพระเกี้ยวยั้งยืนยง นิสิตประสงค์เป็นธงชัย
ถาวรยศอยู่คู่ไทย เชิดชัย ชโย
No comments:
Post a Comment