Wednesday, May 6, 2015

ปัญหา Inbreeding ในแวดวงการอุดมศึกษาไทย

ปัญหา Inbreeding ในแวดวงการอุดมศึกษาไทย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: ชีววิทยา, biology, inbreeding, การผสมพันธุ์แบบสายเลือดชิด, crossbreeding, การผสมพันธุ์แบบข้ามสายเลือด, การบริหาร, Management, การอุดมศึกษา, Higher Education, การบริหารทรัพยากรมนุษย์, Human Resources Management, HRD, การพัฒนาคณาจารย์, staff development

จากข้อสังเกตของผม สภาพแวดล้อมอุดมศึกษาไทย คือ พึ่งการผลิตคณาจารย์จากภายในประเทศอย่างมาก อาจารย์ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศมีน้อยมากในยุคหลังๆ ส่วนในการเรียนการสอน ก็ไม่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปรับประสบการณ์ในต่างประเทศ ไม่ได้พัฒนาทักษะในการสื่อสารในภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาไทยมากนัก

ด้านหนึ่งคือความชะล่าใจ หรือ Complacency ซึ่งมีการพูดกันมากว่า 30 ปีแล้ว ในสถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่และชั้นนำของประเทศไทย คือความไม่ตระหนักว่าเรากำลังเป็นรอง เรากำลังมีวิกฤติ เพราะคณาจารย์ส่วนใหญ่มักจะเปรียบเทียบสถานะของตนเองกับสถาบันการศึกษาอื่นๆในประเทศกันเอง และกับสถาบันที่มีสถานะที่อ่อนแอกว่า แทนที่จะมองไปที่สถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค หรือในโลกที่เขามีความเข้มแข็งกว่า ซึ่งจากข้อสังเกตุเราเริ่มอ่อนด้อยกว่าเขาอย่างเห็นได้ชัด

อีกด้านหนึ่งเป็นปัญหาการปิดกั้นทางอุดมศึกษา (Closed system) ที่มุ่งส่งเสริมศิษย์เก่า และศิษย์เก่ามาสอนศิษย์ใหม่ในรุ่นต่อๆไป ซึ่งปัญหานี้ในวงการอุดมศึกษาไทย มีผู้สังเกตว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหา 
Inbreeding ที่น่าเป็นห่วงคือเรายังไม่รู้ตัวเอง
Inbreeding = การผสมสัตว์จากสายโลหิดเดียว

Inbreeding เป็นผลิตผลของการจับคู่และผสมพันธุ์ของสัตว์ที่มีสายเลือดชิดกัน ซึ่งต่างจากการผสมแบบข้ามสายพันธุ์ (Outcrossing) คำว่า Inbreeding นี้ได้มีการนำมาใช้กับมนุษย์ ที่เมื่อมีการผสมพันธ์กันในสายเลือดชิดกัน เช่นพี่กับน้องหรือญาติใกล้ชิด แล้วทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม


ภาพ ในการเลี้ยงปลานิล นักวิชการเกษตรเขาจะไปหาพันธุ์ปลานิลที่มีคุณลักษณะที่ดี เพื่อเป็นพ่อพันธุ์ สำหรับการผสมกับปลาตัวเมียที่มีอยู่เดิม และที่มีคุณลักษณะที่ดีอยู่แล้ว

Inbreeding ทำให้เกิด Homozygosity อ่านว่า โฮโอไซกอสซิติ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เมื่อผสมกันในสายเลือดชิดกัน ทำให้ลักษณะที่เป็นด้อยจะสมทบความด้อยกันมากขึ้น ทำให้เกิดความเสื่อมในทางชีววิทยาของหมู่ประชากร ทำให้อ่อนแอที่จะดำรงอยู่และสืบพันธุ์ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปรากฏการณ์เช่นนี้ในทางการเกษตร คนเลี้ยงปลาในบ่อ แล้วปล่อยให้มีการผสมพันธุ์กันแบบตามมีตามเกิดในบ่อที่เป็นน้ำปิด ผลก็คือพันธุ์ของปลาที่เลี้ยงไว้นั้นก็มีคุณภาพที่เสื่อมลง ตัวเล็กลง ไม่แข็งแรง เจ็บป่วย และตายได้ง่าย

ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ต่างๆ ที่มีการสมรสกันในเครือญาติใกล้ชิดด้วยกัน ด้วยมองว่าเชื้อสายกษัตริย์ไม่คู่ควรที่แต่งงานกับคนสามัญ ในแบบที่เขาเรียกว่า “เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน” การแต่งงานในเชื้อพระวงศ์ด้วยกัน ถือเป็นการส่งเสริมความมั่งคั่งในราชวงศ์สายใกล้ชิด ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด และในที่สุดก็เกิดปัญหาโรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรมดังที่พบในประวัติศาสตร์ของยุโรปและเอเชีย

ในองค์การสถาบันการศึกษา ในแวดวงการบริหารอุดมศึกษา ก็เช่นเดียวกัน เขาจึงระวังกันเรื่องการขยายวงวิชาการแบบปิดกั้นกันอยู่แต่ในสถาบันเดียว ดังกรณีที่สถาบันการศึกษานั้นๆรับแต่ศิษย์เก่าเข้ามาเป็นอาจารย์ ไม่ยอมรับคนที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ หรือจากสถาบันต่างประเทศ ผลก็จะคล้ายกับการผสมพันธุ์สัตว์แบบสายเดี่ยว คือสายพันทางวิชาการจะมีแต่ความคับแคบ ไม่มีคนเห็นต่าง หรือเห็นต่างกันน้อย ทำให้ขาดความริเริ่มทางวิชาการใหม่ๆ ไม่เกิดความงอกงามทางวิชาการ

ด้วยความตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เขาจึงจำกัดจำนวนคนมาเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษานั้นๆ ไม่ให้มีสัดส่วนที่จบจากสถาบันเดิมมากเกินไปนัก ดังในสหรัฐอเมริกา คำว่าลูกหม้อ หรือศิษย์เก่าที่กลับมาทำงานที่สถาบันเดิมนั้น จึงไม่ใช่ความหมายที่ดีนัก เช่นเดียวกันกับคนทำงานเป็นผู้บริหารสถาบันระดับอุดมศึกษา ดังในประเทศสหรัฐอเมริกา สถิติ 3 ใน 4 ของผู้บริหารระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษา การสรรหา การคัดเลือก และการแต่งตั้งมักมาจากบุคคลภายนอก เพราะเขาต้องการคนที่มีความคิดใหม่ๆเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของวิกฤติและการต้องเปลี่ยนแปลง


No comments:

Post a Comment