วิถีชีวิตการทำงานแบบ Telecommuting
ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
RT @pracob: RT @Pornsuri การเดินทางไปทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่หากเป็น Telecommuting ได้บ้างคงจะดีนะ// ใช่ค่ะ คุณลุง แต่ทำไงได้มันเป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ:( - Thursday, April 07, 2011
ผมติดต่อกับ อ.พรสุรีย์เป็นระยะๆ ผ่านทางสื่อสังคมอย่าง Twitter บ้านอาจารย์พรสุรีย์อยู่ย่านเอกมัย แต่ไปทำงานทุกว้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในย่านบางนา-ตราด กม. 18อาจารย์มีความสุขกับการทำงานดี รู้สึกจะชอบอาชีพอาจารย์และการสอน แต่เคยเล่าให้ฟังว่าแต่ละวันจะใช้เวลาเดินทางไปกลับวันละ 3 ชั่วโมง
ผมเองเคยทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่แถวสามย่าน กทม.แต่ละวันต้องเดินทางไปทำงาน ใช้เวลาวันละ 2 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย แม้บ้านอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย แต่ว่ากรุงเทพฯนั้นที่ว่ารถไม่ติดไม่มี จะมีเพียงมีปัญหาการจราจรรถติดมากหรือน้อยเท่านั้น
เมื่อเกษียณอายุแล้ว ผมได้เลือกทำงานในโครงการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 4 กิโลเมตร ที่ผมต้องเดินทางไปสอนสัปดาห์เว้นสัปดาห์ หรือปีละประมาณ 22-23 ครั้ง เดินทางไปกลับครั้งละ 1,000 กิโลเมตร หรือปีละ 24,000-25,000 กิโลเมตร ผมเลือกเดินทางไปทำงานด้วยรถประจำทางปรับอากาศเป็นส่วนใหญ่ ใช้เวลาเดินทางเที่ยวละ 450 กิโลเมตร ใช้เวลาเที่ยวละ 7 ชั่วโมงโดยประมาณ ไปกลับประมาณ 1,000 กม. หรือ 14 ชั่วโมง รวมเดินทางจากบ้านถึงสถานีรถโดยสารด้วย ผมรับเงื่อนไขนี้ เพราะชอบที่จะเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน และระหว่างเดินทาง ก็มองในแง่ดีว่าได้มองเห็นทิวทัศน์สองข้างทาง ได้เห็นท้องนาสีเขียวบ้าง หรือบางฤดูแล้งก็เป็นสีน้ำตาล ได้เห็นชีวิตผู้คนสองข้างทาง ในระยะหลังได้ใช้ iPhone ซึ่งจัดเป็น Smartphone อย่างหนึ่ง ใช้เพื่อการติดต่อสื่อสาร และเพื่อทำงานในระหว่างเดินทาง
ชีวิตการทำงานของคนเมืองทั่วไปจะเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานทั้งไปและกลับ เรียกว่า Commuting คนในสหรัฐถือว่าการเดินทาง 50 ไมล์ หรือ 80 กม.ต่อวัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าไกลกว่านี้ เขาก็ต้องคิดถึงการย้ายบ้านไปใกล้ที่ทำงาน หรือไม่ก็เปลี่ยนงานเพื่อให้ได้ทำงานใกล้บ้าน
แต่ในโลกยุคใหม่ มีวิถีชีวิตการทำงานอีกแบบหนึ่ง ที่คนเราปรับรูปแบบการทำงานที่ทำให้มีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น เรียกว่า Telecommuting นั่นคือ ลดเวลาการเดินทางในแต่ละวัน ใช้เวลาที่ประหยัดได้จากการเดินทางไปกลับ แล้วนำมาใช้เพื่องานคิดสร้างสรรค์ แต่ทั้งนี้คนทำงานต้องมีวินัยในการทำงาน และรู้ว่าจะควบคุมและดูแลตนเองอย่างไร
Telecommuting = การทำงานโดยใช้การสื่อสารโทรคมนาคมช่วย นั่นคือ เมื่อใช้ระบบการสื่อสารด้วยโทรคมนาคม โทรศัพท์ โทรสาร อีเมล์ หรือ Teleconferencing และอุปกรณ์ช่วยในการทำงานต่างๆ ที่ทำให้การทำงานได้สะดวก โดยเราไม่ต้องเดินทางไปทำงาน ณ ที่นั้นๆจริง แต่ได้ผลการทำงานเหมือนกัน บางคนเรียกการทำงานแบบนี้ว่า Virtual Offices หรือสำนักงานเสมือน ใช้คอมพิวเตอร์เคลื่อนย้ายได้ เช่นแบบกระเป๋าหิ้ว แบบ Smartphone, หรือเป็นแบบ Tablet PC อย่างที่รู้จักกันในรูป iPad ของ Apple Inc. หรือ Galaxy Tab ของ Sumsung ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และราคาถูกกว่าเล็กน้อย
ผมมีเพื่อนที่เขาอยู่ในประเทศอังกฤษ แล้วเขามีสำนักงานที่อยู่ในหลายๆประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย เวียตนาม กัมพูชา เมียนมาร์ วิธีการที่เขาทำได้คือ มอบอำนาจที่ทำให้ทีมงานในแต่ละประเทศได้มีอำนาจในการดำเนินการเอง และขณะเดียวกันก็ใช้ระบบการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต เช่นการประชุมผ่านระบบ Skype สามารถพูดหรือส่งสาร เอกสาร บัญชีที่ปรากฏเป็นรูปไฟล์ แล้วเปิดดูทั้งสองฝ่ายแบบข้ามทวีปกันได้ หรือจะนำเสนอ ก็ส่งไฟล์ที่เป็น Presentation ไปยังอีกด้านหนึ่ง แล้วนำเสนอเป็นเสียงประกอบการนำเสนอ เมื่อมีการนำเสนอกันแล้ว ก็เปิดให้มีการซักถาม
ในแต่ละปี เขาก็มีการไปตรวจเยี่ยมงานในแต่ละประเทศสัก 2-3 ครั้ง โดยมีเลขานุการจัดคิวการเดินทาง และกำหนดการทำงานในแต่ละประเทศ ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยแบบพบหน้ากัน การทำงานแบบนี้ ทำให้สามารถเปิดงานบริการในแต่ละประเทศได้ โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูง และถือว่าคนทำงานในแต่ละประเทศเป็นหุ้นส่วนกัน (Partnership) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยต้องมีความไว้วางใจกันได้เป็นหลัก
อีกลักษณะหนึ่ง คือการทำงานในที่เป็นการจ้างงานตามชิ้นงาน ทำงานเสร็จตามที่ตกลงกัน ถือว่าเป็นสำคัญ ส่วนเขาจะทำงานที่ใด และอย่างไร เป็นเสรีภาพฝ่ายคนทำงานจะเลือก แต่ต้องได้งานดีตามที่คาดหวัง ตามเงื่อนไขเวลาตามที่ได้ตกลง ดังเช่น งานการโฆษณา งานออกแบบ งานสถาปัตย์ คนจ้างรู้ฝีมือคนทำงานแล้ว รู้ในความรับผิดชอบ ตลอดจนสไตล์ในการทำงาน จึงเลือกจ้างกัน ฝ่ายผู้รับทำงาน ซึ่งบางทีเรียกว่า Freelance ก็จะต้องรู้ว่าจะเรียกค่าตัวอย่างไร เรียกให้พอเหมาะ อาจจะแพงบ้าง แต่โดยรวม ฝ่ายผู้จ้างก็คิดว่ายังมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจ้างคนและทีมงานที่ไม่มีความสามารถทำงานนั้นๆได้ หรือบางทีการใช้คนทำงานภายในองค์การ ก็จะได้ผลงานแบบซ้ำๆกัน ไม่มีความคิดหรือนำเสนออะไรแปลกใหม่
งานรับจ้างรายชิ้นงานนี้ บางที่เขาทำเป็นบริษัทขนาดเล็ก ไปรับเหมางานจากบริษัทใหญ่ บริษัทใหญ่เองก็ไม่ต้องเสียค่าจ้างเงินเดือนสำหรับคนจำนวนมาก หรือต้องรับผิดชอบต่อหลายฝ่ายหลายแผนกจนเกินไป นอกจากนี้แล้ว เขายังไม่ต้องเสียค่าสวัสดิการ สถานที่ทำงาน ซึ่งก็มีค่าเช่าสถานที่แพง
บางบริษัทขนาดเล็ก เช่นทนายความ บริษัทที่ปรึกษา ไปเช่าสำนักงานขนาดเล็กมากๆ มีเพียงเป็นห้องประชุม หรือนัดพบปะขนาดเล็ก เอาไว้เป็นที่ประชุมนัดหมาย มีบริการถ่ายเอกสาร มีบริการเครื่องดื่ม ห้องน้ำ สถานที่จอดรถ เป็นสถานที่ๆนัดลูกค้ามาพบกันเป็นครั้งคราว ซึ่งเขาจะเลือกสถานที่ๆเดินทางสะดวกแก่ทุกฝ่ายเป็นหลัก และใช้งานแบบไม่ต้องมีสำนักงานตายตัว ในต่างประเทศพบบางทีไปใช้บริการร้านอาหารหรือร้านกาแฟอย่างง่ายๆ เช่น MacDonald หรือ Starbucks ทางร้านเขาก็ไม่ว่าอะไร ขอให้สั่งอาหาร เครื่องดื่ม หรือบริการของเขา และเวลามีคนมากก็ช่วยเอื้อกัน ย้ายไปทื่อื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสวนสาธารณะใกล้ๆ
บางแห่งเลือกสถานที่ทำงานที่ต้องพบปะกันเอาตามชานเมือง เพราะว่ารถไม่ติด มีที่จอดรถเหลือเฟือ ไม่เหมือนในเขตกลางใจเมืองใหญ่ และสถานที่นัดพบนี้ ที่จริงจะเป็นที่ใดก็ได้ แต่ต้องให้ความสะดวกแก่ลูกค้าเป็นหลัก ตลอดจนการต้องพาลูกค้าไปดูงานในที่ๆอาจจะอยู่ใกล้หรือไกลก็แล้วแต่ งานที่เลือกใช้ Telecommuting นี้ จึงไม่ติดยึดกับสถานที่แบบตายตัวมากนัก
Telecommuting ไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น แต่มันเป็นความจำเป็นของชีวิต ที่จะต้องยืดหยุ่นในด้านเวลาและสถานที่ทำงาน คนทำงาน จะทำที่บ้าน หรือที่ไหนๆ จะเวลาใดก็ได้ แต่แล้วต้องทำให้งานเสร็จตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนด
ผมเองเกษียณอายุแล้ว การเลือกทำงานใดๆ ก็จะเลือกทำอย่างที่เรามีความสุข และเดี๋ยวนี้ไม่สนุกแล้วที่จะต้องเดินทางไปทำงานหรือจับจ่ายของในที่รถติด ขับรถใช้ชีวิตวันละ 2-3 ชั่วโมงบนท้องถนน แบบนี้เขาเรียกว่าออกแบบชีวิตการทำงานใหม่ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น อันที่จริงแล้ว ชีวิตผมใช้ระบบ Telecommuting ค่อนข้างมากทีเดียว
Wednesday, April 6, 2011
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ดิฉันเองเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ที่ตลอดระยะเวลาที่มีการจัดการเรียนการสอนได้ใช้ Telecommuting ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มาก ทำให้ลดช่องว่างของระยะทางของนักศึกษาและอาจารย์ค่ะ แต่ทั้งนี้ สื่อเหล่านี้ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตอยู่บ้าง และมีเวลาที่จะใช้อยู่พอสมควรค่ะ ในระยะหลัง เทคโนโลยีต่างๆ ที่อาจารย์ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ กลายเป็นแหล่งรวมตัวของนักเทคโนโลยีที่เรียกว่า สังคมเครือข่าย หรือ social network ซึ่งก็คือ สังคมของชาวโลกแห่งอินเตอร์เน็ท เรียกว่าสังคมของมนุษย์ที่ติดต่อสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอินเตอร์เน็ท ทางโทรศัพท์ ทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และอื่น ๆ ที่ไร้สายทั้งหลายนั่นเองค่ะ
ReplyDeleteอาจารย์ประภาพร
ReplyDeleteขอบคุณที่เขียนแลกเปลี่ยนกันมา
วันนี้ เป็นันศุกร์ที่ผมต้องเดินทางไปสุรินทร์อีกครั้ง แต่ว่ามีอ.วิเศษ ชินวงศ์ที่เขาต้องสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่จุฬาฯ สอบเสร็จก็ติดรถเขาขับกลับไปสุรินทร์ คงเพลียเต็มที เพราะวันนี้ไม่ว่างทั้งวัน ไม่ได้งีบกลางวัน
ชีวิตการเดินทางเป็นสิ่งที่ผมชอบ แต่ที่ไม่ชอบคือการต้องเดิน่ทางซ้ำๆกันนับเป็นร้อยๆครั้ง ในเส้นทางเดิม จุดหมายปลายทางเดิม เดินทางไกลปีละ 22-25 ครั้งนับว่าไม่มาก หากเป็นการเดินทางที่แปลี่ยนแปลงสถานที่ จุดหมายปลายทาง และเป็นเพื่อสันทนาการ
แต่หากเป็นการทำงานในแต่ละวัน การมีทางเลือกในการทำงานแบบออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น Telecommuting หรือจะสอนแบบ Online หรืออื่นๆ ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี ที่เราไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากร