Sunday, December 9, 2012

บริษัทวังเซียงของจีนชนะการประมูลทรัพย์สินของบริษัทแบตเตอรี่ A123 ของอเมริกา


บริษัทวังเซียงของจีนชนะการประมูลทรัพย์สินของบริษัทแบตเตอรี่ A123 ของอเมริกา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: transportation, EVs, electric car, lithium-ion battery, A123, DOE,

ศึกษาและเรียบเรียงจากข่าว “China's Wanxiang wins auction for assets of battery maker A123.” EV News, SATURDAY, DECEMBER 8, 2012

ภาพ โลโก้ของ A123 Systems ซึ่งล้มละลายและขายทรัพย์สินไปแล้ว

บริษัทวังเซียง (Wanxiang) ของจีนเป็นผู้ชนะในการประมูลทรัพย์สินของบริษัทแบตเตอรี่ A123 ในการประมูลที่ยืดยาวจนกระทั่งเวลาตี 4 ของวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2012

บริษัท A123 เป็นผู้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐ มูลค่า USD 249.1 ล้าน และตามด้วยเงินสนับสนุนจากภาษีของรัฐมิชิแกนอีกหลายสิบล้านเหรียญ นับเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันถึงความเหมาะสมที่จะปล่อยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาประมูลในงานที่รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุนเทคโนโลยีระดับสูงนี้
แหล่งข้อมูลใกล้ชิดกล่าวว่า การซื้อทรัพย์สินของ A123 น่าจะมีมูลค่าที่ประมาณ 250 ล้านเหรียญ บริษัทวังเซียงเคยยื่นข้อเสนอซื้อบริษัทที่ดำเนินการเรื่องแบตเตอรี่ลิเธียม (Lithium-ion battery) นี้ ในราคา 465 ล้านเหรียญ แล้วต้องพับไป ก่อนที่บริษัท A123 จะประกาศล้มละลายในที่สุด ซึ่งนำไปสู่การประกาศขายทรัพย์สิน

การขายทรัพย์สินบริษัท A123 ผู้พัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ก้าวหน้านี้ นับเป็นรายที่สองต่อจากบริษัท Ener1 ของอเมริกัน ซึ่งต้องขายกิจการไปให้กับนักธุรกิจชาวรัสเซีย Boris Zingarevich ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีธุรกิจร่วมกับนายกรัฐมนตรีรัสเซีย Dmitry Medvedev

การแข่งขันด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในโลกนี้เพิ่มความเข้มข้นรุนแรง แม้บางบริษัทจะต้องล้มละลายไป เพราะหลายประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศผู้ผลิตรถยนต์ในอนาคตกำลังเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ใช้พลังงานน้ำมัน ไปสู่การรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Electric cars, EVs) เพิ่มมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีพลังงานของอเมริกา Steven Chu ในรัฐบาลโอบามาได้ประกาศว่า จะใช้เงิน 120 ล้านเหรียญ สนับสนุนเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ Argonne National Laboratory ที่ตั้งอยู่ ณ ชานเมือง Lemont ในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา

ที่สถาบันวิจัยแห่งชาติ Argonne นี้มีบุคลากร 3,200 คน มีบริเวณกว้าง 6.9 ตารางกิโลเมตร ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐ (Department of Energy) และเป็นส่วนงานวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัย University of Chicago, Jacobs Engineering, และ University of Illinois at Chicago

ความคาดหวังการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ยุคใหม่ที่มีพลังงานมากกว่าปัจจุบัน 5 เท่า และมีราคาถูกลงมาเหลือเพียง 1 ใน 5 ของปัจจุบัน มีผู้กล่าวว่ายุทธศาสตร์ของอเมริกันนี้สำคัญในทางเทคโนโลยีไม่ต่างอะไรจากโครงการ Manhattan ที่นำไปสู่การผลิตระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก


ภาพ Fisker Karma รถยนต์ไฟฟ้าลูกประสมแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ระดับพรีเมียม ที่หวังใช้ความร่วมมือกับ A123 Systems ทางด้านแบตเตอรี่ไฟฟ้า แต่บริษัท Fisker ก็สะดุดทางด้านการเงินเช่นเดียวกัน

No comments:

Post a Comment