Saturday, December 22, 2012

ความล้มเหลว คือครูของความสำเร็จ

ความล้มเหลว คือครูของความสำเร็จ
ประเทศไทยต้องกล้าลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา
(R&D)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: การวิจัย, การวิจัยและพัฒนา, R&D, research and development, Inter-disciplinary, การบิน, aviation, Hughes H-4 Hercules, Spruce Goose, flying boat, Howard Hughes

ความล้มเหลว คือครูของความสำเร็จ


ภาพ เครื่องบินขนาดยักษ์ Hughes H-4 Hercules ที่รู้จักกันในนาม  Spruce Goose หรือห่านยักษ์บินได้ หรือ "Flying boat" หรือ "เรือที่บินได้" มีชื่อในสัญญา NX37602 เป็นเครื่องบินต้นแบบเพื่อการขนส่งทางอากาศ ออกแบบโดยบริษัท Hughes Aircraft company เครื่องบินออกบินในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 เครื่องบินนี้บินได้เพียงระยะสั้นๆ หลังการทดสอบครั้งแรกแล้ว ไม่ได้บินอีกเลย

ความกว้างของปี (Wingspan): 98 เมตร
ความยาว (Length): 67 เมตร
บินครั้งแรก (First flight): 2 พฤศิจิกายน ค.ศ. 1947
ปลดระวาง (Retired): 5 เมษายน ค.ศ. 1976
ระยะการบิน (Range): 4,800 กิโลเมตร (หวังว่าจะบินได้)
ผู้ผลิต (Manufacturer): Hughes Aircraft Company
ผู้ออกแบบ อำนวยการผลิต: Howard Hughes มหาเศรษฐี เจ้าของกิจการ


การวิจัยและพัฒนา ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Research and Development หรือ R&D เป็นคำที่ใช้ในธุรกิจสำหรับกลุ่มของกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์โดยเฉพาะ กิจกรรมที่จัดอยู่ในพวก R&D นี้มี 2 รูปแบบ แบบหนึ่ง คือ มีไว้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New products) ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เป็นการทำงานพื้นฐานของกลุ่ม R&D เพื่อการค้นพบและสร้างสรรค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นฐานของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และบริการใหม่

ทั้งสองรูปแบบนี้ต่างจากกิจกรรมของบริษัทเป็นอันมากที่มุ่งไปที่ทำกำไรเฉพาะหน้าให้สูงสุดในช่วงเวลา อันสั้น แต่ให้ความสำคัญน้อยต่อความไม่แน่นอนของการให้ผลตอบแทนของเทคโนโลยีใหม่นั้น (Return on investment - ROI) ในรูปแบบแรก กลุ่ม R&D จะประกอบด้วยวิศวกรของบริษัทเป็นหลัก แต่ในแบบที่สอง คนทำงานจะประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนั้นๆ (Industrial scientists) กิจกรรม R&D จะดำเนินการโดยบริษัท มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน หรือรัฐบาล และในบางกรณี คือความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย หรือหลายๆฝ่าย

ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเขากำเนิดประเทศในทวีปใหม่ เขาไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีจากโลกเก่าดังในยุโรปได้เพียงด้านเดียว เพราะสภาพภูมิประเทศที่ห่างไกลกัน และเพราะความเป็นปรปักษ์ และการเป็นคุ่แข่งขันกันในทางการพาณิชย์ เขาจึงต้องส่งเสริมให้คนของเขา สถานศึกษา มหาวิทยาลัย และบริษัทต่างๆ ต้องมุ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ออกมา และมีกลไกระบบรางวัลของสังคม ทั้งทางกฎหมายสิทธิบัตรทางปัญญา (Intellectual property) ซึ่งมีมาตั้งแต่เริ่มมีประเทศ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่ การต่อเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ด้วยไม้และแล่นด้วยพลังลม เครื่องจักรไอน้ำ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ

กิจกรรมวิจัยและพัฒนาบางอย่าง รัฐบาลกลางมองเห็นประโยชน์ แล้วให้เงินทุนบริษัทไปพัฒนา โดยวิธีให้เอกชนเสนอแผนงาน หรือรัฐบาลเขียนกรอบแผนงานให้ (Term of References – TOR) แล้วรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนในการทำงานให้กับหน่วยงานผู้ได้รับรางวัลก็มี สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยนำไปดำเนินการก็มี แต่ผลที่ได้ รัฐบาลจะเป็นฝ่ายนำไปใช้ประโยชน์ต่อ หรืออาจเผยแพร่ต่อทั้งอุตสาหกรรมนั้นๆให้ได้รับรู้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเพิ่มความได้เปรียบของกิจการนั้นๆของประเทศ ยกตัวอย่าง กิจกรรมด้านอาวุธ การบิน การอวกาศ เครือข่ายการสื่อสาร ดังอินเตอร์เน็ตทั้งใช้สายและไร้สาย เทคโนโลยีชีวภาพ ดังกรณี Stem Cells ที่จะมีประโยชน์ทั้งทางแพทย์ และอุตสาหกรรมเกษตร

ในประเทศไทยเรานี้ หากจะต้องก้าวหน้าเกินความเป็นประเทศที่มีแรงงานราคาถูก ก็ต้องคิดประดิษฐ์บางอย่างให้ได้เอง โดยไม่หวังเพียงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แล้วให้เขานำเข้าเทคโนโลยีเข้ามาพร้อมด้วย เพราะเราจะไม่ได้เทคโนโลยีนั้นๆเป็นของเรา

เทคโนโลยีอย่างง่าย ดัง ….

พันธุ์พืช และสัตว์ - ที่ต้องการเน้นคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งต้องใช้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และการใช้สหวิทยาการ (Inter-disciplinary) บางสาขาเข้าร่วม ดังเช่น การพัฒนาพันธุ์ ข้าว ยางพารา ปาล์ม ผลไม้ พวกพันธุ์สัตว์ วัวเนื้อ วัวนม หมู่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ปลา ฯลฯ

ยานพหานะทางเลือก - ที่ทำให้ไทยเรามีความพร้อมก้าวสู่ยุคน้ำมันมีราคาแพง และหายากขึ้นเป็นลำดับ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนายานพาหนะขนาดเล็ก ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ซึ่งจัดอยู่ในพวกจักรยานไฟฟ้า (e-Bikes) หรือสกูตเตอร์ไฟฟ้า (e-Scooters) มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (e-Motorbikes)

การไม่ยอมคิด หรือลงทุนให้กับวิทยาการใหม่ๆเลยนั้น แท้จริงจะเป็นต้นทุนมหาศาลสำหรับไทยในการจะแข่งขันกับชาวโลก เพราะในอีกด้านหนึ่ง คนระดับล่างของไทยเอง ก็ต้องการสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เราจะไม่ได้มาอย่างง่ายๆ หากเราไม่หาทางเพิ่มผลผลิต เพิ่มขีดความสามารถของกำลังคน ด้วยวิธีการใหม่ๆ และด้วยวิทยาการใหม่ๆ

2 comments:

  1. ดีใจที่มีแนวคิดดีๆ อย่างนี้ เรามีต้นทุนนักวิจัยราคาถูกคือนักวิจัยเก่งแต่ไม่มีพื้นที่ลงเพราะไม่อยู่ในมหาวิทยาลัยหรือจบการศึกษาต่ำ อย่างน้อยผมเห็นเพื่อนสองคน ที่รอวันแก่ตายไปเฉยๆ ใช้ความรู้ความสามารถที่มีไม่ค่อยคุ้มเลย การวิจัยในระบบผมก็มองไม่ค่อยเห็นทางที่จะได้นำไปใช้ ในขณะที่ใช้งบประมาณมหาศาล ขอเป็นกำลังใจในการทำงานพัฒนาประเทศครับ

    ReplyDelete
    Replies
    1. เมื่อผมจะไปสุรินทร์ในต้นเดือนมกราคม 2556 อยากนัดเจอกับเพื่อนๆอาจารย์ เพื่อคิดหาทางทำงานอย่างสนุกๆ ได้ใช้ปัญญา และเกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น

      ขอปรึกษาอ.สุริยาด้วยครับ

      Delete