Wednesday, May 23, 2012

29 มกราคม ค.ศ. 1861 แคนซัสได้กลายเป็นรัฐที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา

29 มกราคม ค.ศ. 1861 แคนซัสได้กลายเป็นรัฐที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org

Keywords: ประวัติศาสตร์, เศรษฐกิจ, สหรัฐอเมริกา, Kansas, แคนซัส

วันนี้ในอดีต 29 มกราคม ค.ศ. 1861 แคนซัส (Kansas State) ได้กลายเป็นรัฐที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา
Kansas becomes 34th state - January 29th 1861

แคนซัส (Kansas) เป็นรัฐหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ชื่อตามแม่น้ำชื่อ Kansas River ที่ไหลผ่านรัฐ และชื่อนี้ก็เป็นชื่อชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ชนผ่าดังกล่าว (natively kką:ze) มักหมายถึง “คนแห่งลม” (People of the wind) หรือคนแห่งลมใต้ (People of the southe wind) ซึ่งแต่เดิมคำอาจไม่ได้มีความหมายดังกล่าว ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวในปัจจุบัน จะเรียกว่า Kansans

ภาพ แผ่นที่รัฐแคนซัส (Kansas) เป็นสีแดง อยู่กลางประเทศสหรัฐอเมริกา

ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง เกี่ยวกับการจะมีหรือไม่มีระบบทาสในสหรัฐอเมริกาจนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง (Civil War) รัฐนี้เป็นรัฐที่มีการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายไม่ต้องการให้มีทาส ซึ่งเป็นรัฐทางเหนือ และฝ่ายทางใต้ที่ต้องการให้คงมีแรงงานทาสในระบบการเกษตรต่อไป จนทำให้รัฐนี้ได้ชื่อว่า “รัฐนองเลือด” (Bleeding Kansas) และในที่สุดแคนซัสก็ได้เข้าร่วมกับรัฐทางเหนือ (The Union) และกลายเป็นรัฐเสรี หลังสงครามกลางเมือง ผู้คนได้ไหลเข้าสู่รัฐทางตอนกลางของประเทศนี้อย่างมากและรวดเร็ว ผืนดินกลายเป็นเขตการเกษตร มีผลผลิตข้าวสาลี (Wheat), ข้าวฟ่าง (Sorghum) และดอกทานตะวัน (Sunflowers)

รัฐแคนซัสมีเมืองหลวงชื่อ โทปีก้า (Topeka) เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ Wichita เขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ Kansas City ที่เป็นบริเวณคล่อมอยู่ระหว่าง 2 รัฐ คือรัฐแคนซัสและรัฐมิสซูริ (Missouri state) โดยขนาดพื้นที่แล้วรัฐนี้จัดเป็นรัฐใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 213,096 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นคล้ายพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา และการทำการเกษตรในบริเวณดังกล่าวใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ โดยบริเวณดังกล่าวกลายเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารทั้งหลาย เป็นบริเวณที่ไม่มีโอกาสน้ำท่วมขังมากนัก แต่มีโอกาสประสบลมพายุทอร์นาโด (Tornado) บ่อยครั้ง คนพื้นบ้านบริเวณดังกล่าวไม่นิยมปลูกบ้านให้สูงขึ้นไปหลายชั้น แต่มักจะต้องมีห้องใต้ดิน เพื่อเตรียมไว้หนีภัยจากพายุ

เป็นบริเวณที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการเดินทางไปชายฝั่งตะวันตกหรือตะวันออก ผู้เขียนเคยใช้ชีวิตรวมแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปีในบริเวณรัฐแคนซัสและโอคลาโอมาที่อยู่ตอนใต้ลงไป นับเป็นจุดที่ตั้งพอเหมาะสำหรับคนเอเซียไปพักอาศัยและทำมาหากิน คือ แม้จะหนาวบ้าง แต่ไม่หนาวเท่าทางตอนเหนือขึ้นไป และเวลาร้อน ก็ไม่ร้อนนานนัก แม้ว่าจะร้อนไม่น้อยกว่าในประเทศไทย แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ

แคนซัสจัดมีประชากร 2.87 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 33 ของประเทศ มีความหนาแน่นของประชากรประมาณ 13.5 คน/ตรกม. ซึ่งจัดว่าเป็นเขตประชากรเบาบาง เป็นรัฐการเกษตร ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ $50,177 หรือประมาณอันดับที่ 25 ของประเทศ

ด้วยความที่เป็นรัฐการเกษตร ซึ่งราคาพืชผลการเกษตรในปัจจุบัน ดังข้าวโพดนั้นผูกพันกับราคาพลังงานของโลก รัฐอย่างแคนซัส เขาจะเรียกว่า Corn Belt คือเขตที่มีการปลูกข้าวโพด หรือข้าวสาลี เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ คุณภาพของประชากรในรัฐจึงจะดีกว่ารัฐที่เป็นเขตอุตสาหกรรมที่อาศัยเหล็กเป็นฐานการผลิต ที่การอาชีพอุตสาหกรรมได้ไหลออกไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่าไปมากแล้ว
แต่ด้วยเหตุที่เป็นรัฐการเกษตร ประชากรไม่หนาแน่น ค่าครองชีพจึงไม่สูง ค่าที่พักไม่แพง แต่มีการจัดการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานมาดี จนถึงในระดับมหาวิทยาลัย รัฐลักษณะดังกล่าวจึงมีคุณภาพชีวิตที่ดี และจะยิ่งดียิ่งขึ้นเมือเทียบกับรัฐอุตสาหกรรมดั่งเดิม

No comments:

Post a Comment