Friday, May 17, 2013

ฟรังซัว โอลอง กับการนำฝรั่งเศสในยุคที่ยังมืดมน


ฟรังซัว โอลอง กับการนำฝรั่งเศสในยุคที่ยังมืดมน

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: เศรษฐกิจ, economics, การเมือง, politics, สังคมนิยม, socialism, สังคมนิยมประชาธิปไตย, Democratic Socialism, ฝรั่งเศส, France,


ภาพ ฟร็องซัว เฌราร์ ฌอร์ฌ นีกอลา ออล็องด์  (François Gérard Georges Nicolas Hollande)

ฟร็องซัว เฌราร์ ฌอร์ฌ นีกอลา ออล็องด์  (François Gérard Georges Nicolas Hollande) หรือเรียกสั้นๆว่า ฟร็องซัว ออล็องด์ หรือง่ายๆว่า ฟรังซัว โอลอง เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1954 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 24 ของประเทศฝรั่งเศส และเป็นคนปัจจุบัน และเท่ากับได้รับตำแหน่งเจ้าชายร่วมแห่งอันดอร์รา (Co-Prince of Andorra) เขาได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 51.90

เขาเป็นผู้แทนราษฎรจากเขตเลือกตั้งที่ 1 ของจังหวัดกอแรซในช่วงปี ค.ศ. 1988 – 1993 และ ค.ศ. 1997 ถึงปัจจุบัน เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมในช่วงปี ค.ศ. 1997 – 2008 เป็นประธานสภาเทศบาลกอแรซ (President of the General Council of Corrèze) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 รวมถึงเป็นนายกเทศมนตรีเมืองตูล (Mayor of Tulle ในช่วงปี ค.ศ. 2001  – 2008 อีกด้วย – (Wikipedia, 2013)
เขาได้เป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศส เมื่อชนะการเลือกตั้ง อดีตประธานาธิบดี นิโคลา ซาโคซี (Nicolas Sarkozy) ในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 และนับเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสยุคที่ 5 (French Fifth Republic) คนที่สองจากพรรคสังคมนิยม (Socialist Party) หลังจากคนแรก คือ ฟรังซัว มิตเตรอง (François Mitterrand)

นโปเลียน โบนาปาร์ด กล่าวว่า “กองทัพเดินด้วยท้อง” หรือกล่าวได้ว่า หากจะรบชนะ เศรษฐกิจของประเทศก็ต้องดีพอที่จะสนับสนุนด้วย

นโยบายเศรษฐกิจ

นโยบายของโอลองคือนโยบายของพรรคสังคมนิยม

นโยบายเศรษฐกิจของโอลองมีกว้างขวางหลายเรื่อง รวมถึงการสนับสนุนให้มีหน่วยประเมินความน่าเชื่อถือของยุโรปเอง (European credit rating agency) การแบ่งแยกระหว่างธนาคารให้กู้ และการลงทุนออกจากกัน การลดการพึ่งพาพลังไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ (Nuclear power in France) จากร้อยละ 75 เป็น ร้อยละ 50 รวมภาษีรายได้ (Income tax) กับการให้การสนับสนุนสังคม (General Social Contribution - CSG) ทำให้มีการจัดเก็บเงินจากรายได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 45 จากรายได้เกิน 150,000 ยูโร ทั้งนี้ เพื่อจัดเก็บเงินรายได้รัฐเพิ่มอีก €29,000 ล้าน โอลองได้ส่งสัญญาณว่าเขาจะเก็บภาษีรายได้เพิ่มเป็นร้อยละ 75 สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้เกิน €1,000,000 เพื่อใช้เงินในการพัฒนาเขตชานเมืองที่ทรุดโทรม และทำให้การขาดดุลลดลงเหลือ 0% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ภายในปี ค.ศ. 2017

โอลองประกาศว่า เขาจะปฏิรูปการศึกษา โดยจะเพิ่มการจ้างครูอีก 60,000 ตำแหน่ง อนุญาตให้มีการฝึกอบรมที่ต้องมีการประเมินผล (Means-tested training) และสัญญาที่ให้เกิดประโยชน์ร่วม ที่ทำให้ลูกจ้างและช่างฝีมือได้เป็นผู้ปกครองและครูของคนหนุ่มสาวที่เพิ่งได้เข้าสู่การทำงาน และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 150,000 รวมการสัญญาจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและกลาง (SMEs) โดยจะสร้างธนาคารรัฐบาลเน้นการให้กู้แก่ SMEs และลดภาษีวิสาหกิจ (corporate tax) เหลือร้อยละ 30 สำหรับกิจการขนาดกลาง และร้อยละ 15 สำหรับกิจการขนาดเล็ก

โอลองเสนอแผนที่จะสร้างบ้านของรัฐ 500,000 แห่งต่อปี รวมถึงการสร้างบ้านสังคม (Social houses) ซึ่งเป็นบ้านที่ได้รับการอุดหนุนสำหรับผู้มีปัญหาการเงินและฐานะยากจนอีก150,000 แห่ง โดยเก็บเงินรายได้จากการฝาก (A passbook) ทำให้รัฐบาลส่วนภูมิภาคและรัฐบาลท้องถิ่นมีที่ดินเพิ่มภายใน 5 ปี อันเป็นไปตามแนวทางของพรรคสังคมนิยม โอลองประกาศจะปรับอายุเกษียณอายุลงมาเหลือ 60 ปีดังเดิม ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ได้ทำงานมาแล้วกว่า 41 ปี หลังจากที่นิโคลา ซาโคซีได้ผลักดันให้เพิ่มอายุเกษียณเป็น 62 ปีและอาจสูงขึ้นไปกว่านี้

ความนิยม

ฟรังซัว โอลอง นับเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่มีคะแนนนิยมตกต่ำอย่างรวดเร็วที่สุดใน 1 ปี นับเป็นช่วง 1 ปีที่อยู่อย่างอันตราย (Living dangerously) ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเขาไม่ทำอะไร แต่เพราะกิจกรรมที่เขาทำหรือว่าจะทำนั้นได้เป็นร้ายกลับมายังเขา คือมีคนต่อต้าน และไม่ยอมรับ

ดังนโยบายจัดเก็บภาษีรายได้เพิ่มสำหรับผู้มั่งคั่งมีรายได้เกิน 1 ล้านยูโรต่อปี เป็นร้อยละ 75 ได้รับการตัดสินจากศาลสูงว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่โอลองสัญญาทั้งหลายนั้น ต้องการเงิน และเงินเหล่านี้ก็หวังจะมาจากภาษีที่แรงมากๆของเขา

หลายนักวิจารณ์การเมืองทางฝั่งตะวันตกมองว่า ปัญหาการชงักทางเศรษฐกิจนั้น เพราะเขาไม่มีประสบการณ์บริหารจริงมาก่อน บ้างว่า นโยบายสังคมนิยมนั้นย้อนยุค ในขณะที่ระบบทุนนิยมตลาดเสรีกำลังเข้าครอง การที่ส่งเสริมสวัสดิการสังคมอย่างมากมาย ทำให้ประเทศยิ่งขาดความสามารถในการยืนอยู่บนขาของตัวเอง คนคุ้นเคยกับการใช้จ่าย โดยไม่ใส่ใจต่อความสามารถและสิ่งที่ตนเองต้องทำเพื่อตอบแทนแก่สังคม

นักวิเคราะห์การเงินของเยอรมันวิจารณ์แนวทางเศรษฐกิจของโอลองว่าเป็นเหมือน “สมาคมนิยมเรือสำราญ” เป็นนโยบายที่ไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงในตลาดที่ต้องแข่งขัน และทุกประเทศต้องรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต้องหันมามีวินัยทางการเงิน

จากการที่โอลองเคยได้รับฉายาว่า Mr Normal หรือ “คนสามัญ” แต่ช่วง 1 ปีของการเข้ารับตำแหน่ง สื่อตั้งชื่อเขาว่า “Mr Weak” หรือ “ชายผู้อ่อนแอ” ซึ่งอาจเป็นฉายาที่เกินความเป็นจริง เพราะไม่ใช่ว่าเขาจะไม่ทำอะไร แต่สิ่งที่เขาทำนั้นกลับไปสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม ยิ่งกว่ายุคของนิโคลา ซาโคซี แต่อย่างไรก็ตาม การจะประเมินความสามารถของประธานาธิบดีที่จะมีอายุการทำงานต่อไปอีก 4 ปี ก็นับว่าเร็วเกินไป

ในยุโรป เยอรมันและฝรั่งเศส (Franco-German) คือพลังสำคัญของเศรษฐกิจใหม่ ในขณะที่อังกฤษยืนออกมาห่างๆ แต่แนวทางเศรษฐกิจของเยอรมัน ซึ่งอนุรักษ์ และเน้นทุนนิยมตลาดเสรี คนเยอรมันก็เป็นพวกมีวินัย ทำงานหนัก กับฝรั่งเศสในยุคของโอลอง ที่หันกลับไปใช้วิถีทางสังคมนิยม เน้นการสร้างงาน แต่ไม่ได้เน้นประสิทธิภาพการทำงาน มีโครงการรัฐสวัสดิการ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะหาเงินมาจากไหน จะดึงดูดคนมาลงทุนสร้างงานอย่างไร

ฝรั่งเศสและเยอรมันดูเหมือนจะเดินกันไปคนละทาง เมื่อใดที่ผู้นำของสองประเทศพูดกันไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถร่วมกันนำ และผลักดันให้เศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปกลับคืนมาสู่สภาพปกติได้ เศรษฐกิจยุโรปก็จะทรุด หรือหยุดชะลักต่อไป

สังคมนิยมและรัฐสวัสดิการไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียก็มีแนวทางเศรษฐกิจในรูปสังคมนิยมประชาธิปไตย มีอัตราภาษีก้าวหน้าที่สูงมาก แต่ก็มีระบบการศึกษา การดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนแบบถ้วนหน้า แต่ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นนอร์เวย์ (Norway) 4.9 ล้านคน, เดนมาร์ก (Denmark) 5.9 ล้านคน, สวีเดน (Sweden) 9.6 ล้านคน และประเทศเหล่านี้ก็มีทรัพยากรธรรมชาติที่เพียงพอ ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในกลุ่มที่สูงที่สุดในโลก แต่ก็เน้นเศรษฐกิจประเทศในลักษณะเป็นอิสระ และต้องพึ่งตนเองมาตลอด

No comments:

Post a Comment