Friday, May 24, 2013

การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)


การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: สุขภาพ อนามัย การแพทย์ การแพทย์แม่นยำ, precision medicine, การเกษตรแม่นยำ, precision agriculture, cancer, DNA test, diabetes, high blood pressure, obesity, 


ภาพที่เห็น คือ ผู้ป่วยที่รับการรักษาโรคที่เกี่ยวกับมะเร็ง (Cancer) ที่ต้องเดินทางมารับการวินิจฉัยและรักษาพยาบาล ณ ศูนย์การแพทย์ในส่วนกลางของประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในประเทศ

ผู้ป่วยที่อยู่ไกล เมื่อมาแต่ละครั้ง ต้องเดินทางมาด้วยเครื่องบินบ้าง รถไฟบ้าง ยานพาหนะส่วนตัวบ้าง และต้องหาที่พักในกรุงเทพฯ ต้องมีญาติมาคอยดูแล หากผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอ ซึ่งต้องนับรวมเข้าไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาล เพราะแพทย์และเครื่องมือยังมีจำกัด และมีอยู่เพียงในส่วนกลางเท่านั้น

การรักษาพยาบาลโรคมะเร็งในปัจจุบันมีประสิทธิผลมากขึ้น ด้วยการวิจัยทางการแพทย์ มีข้อมูลมากมายที่เข้าสู่ระบบ และการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมืออันเกิดจากการวิทยาศาสตร์การแพทย์ยุคใหม่ซึ่งก้าวหน้าไปมากแล้ว ซึ่งในไม่นานมานี้ การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการสมัยใหม่ กับการใช้ยาผีบอก หรือการไม่รักษาอะไรเลย เกือบจะไม่ต่างกัน อัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่ในปัจจุบัน การแพทย์สมัยใหม่ได้เปลี่ยนไปมาก

การแพทย์แม่นยำกับ ICT

การแพทย์ยุคใหม่ ก็ต้องการข้อมูลสมัยใหม่ และวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลยุคใหม่

การแพทย์ในยุคปัจจุบัน เข้าสู่ยุค “การแพทย์แม่นยำ” (Precision Medicine) แพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญ สามารถใช้ข้อมูลจากผลการวิเคราะห์ ตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหาร ประวัติคนไข้ ฯลฯ แล้วจึงวิเคราะห์ผลออกมา ซึ่งนำไปสู่การใช้ยาที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ในปริมาณและช่วงเวลาที่ต้องกระทำอย่างแม่นยำ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ยุคใหม่ ต้องใช้ Laptop เรียกข้อมูลคนไข้จากฐานข้อมูลออนไลน์ แพทย์ที่ขาดทักษะทางด้านเทคโนโลยีและระบบสื่อสารยุคใหม่ (Information & Communication Technologies – ICT) เกือบจะทำงานไม่ได้เลย

แต่ขณะเดียวกัน เมื่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีทักษะใหม่ในการสื่อสารด้วย ICT ก็ทำให้แพทย์ที่อยู่ห่างไกล เป็นแพทย์ทั่วไป (General practitioners) หรือเป็นแพทย์ที่ยังไม่เชี่ยวชาญพอ ก็สามารถใช้บริการผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางในประเทศ หรือจากประเทศอื่นๆได้ด้วย การขยายโอกาสการให้บริการผู้ป่วย อย่างน้อยในขั้นการวินิจฉัยเบื้องต้น ก็ทำได้มากขึ้น โดยไม่จำกัดด้วยเวลาและสถานที่

การคัดกรอง

อีกด้านหนึ่งของข้อจำกัดด้านการแพทย์แม่นยำ คือ มันยังมีค่าใช้จ่ายสูง เหมาะสำหรับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ หากจะต้องให้บริการที่มีต้นทุนสูงสำหรับทุกคน ก็ย่อมทำไม่ได้มาก และไม่ทั่วถึง จึงต้องมีการคัดกรอง ให้คนที่ควรได้รับบริการ รับแล้วได้ผล ให้ได้รับบริการนั้นๆ สวนคนอื่นๆ ที่เหมาะแก่การรักษาพยาบาล หรือการป้องกันโรค ก็ต้องจัดกลุ่มคัดแยกกันให้เหมาะสม

ยกตัวอย่าง การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างที่ทำกันละเอียดทั่วไปในประเทศไทย มีราคาคนละ 5,000-12,000 บาท/ครั้ง หากตรวจปีละครั้งในวัยคนและประวัติที่มีความเสี่ยง เช่น 35 ปีขึ้นไป มีประวัติพ่อแม่ที่มีความป่วยไข้นั้นๆมาก่อน ก็นับว่าพอยอมรับได้

สำหรับการตรวจทางพันธุกรรม (DNA) ต้องใช้วิธีการหาข้อมูล DNA แล้วไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่ได้มีการศึกษามาแล้วเป็นแสนๆราย ดังที่ดารานักแสดงหญิง Angelina Jolie เข้ารับการตรวจวินิจฉัย อันนำไปสู่การผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกทั้งสองข้าง (Double mastectomy) ค่าตรวจ DNA ของเธอนั้นในปัจจุบันอยู่ที่ครั้งละ US$5000 หรือ 150,000 บาท


ภาพ ดารานักแสดงหญิง Angelina Jolie

สำหรับสตรีปกติ การตรวจด้วยการคลำเต้านมเอง หรือการรับการตรวจเอกซเรย์และการคลำหาลักษณะผิดปกติในเต้านมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปีละครั้ง ก็นับว่าเพียงพอในขั้นเบื้องต้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า


ภาพ การดูแลตรวจสุขภาพด้วยตนเอง หรือคนในครอบครัว สามารถทำได้อย่างง่ายๆ ด้วยการตรวจวัดความดัน การชั่งน้ำหนัก การตรวจหาน้ำตาลในเลือดเอง ซึ่งแม่นยำ และทำได้บ่อยครั้ง

No comments:

Post a Comment