Tuesday, May 28, 2013

ธรรมาภิบาลกับความโปร่งใสของระบบ


ธรรมาภิบาลกับความโปร่งใสของระบบ

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, government, governance, ธรรมาภิบาล, good governance, รัฐบาล, ความโปร่งใส, transparency, สุภา ปิยจิตติ, Korn Chatikavanij, rice policies,


ภาพ โรงสีและไซโลเก็บและตากข้าว อุตสาหกรรมข้าวต้องการความชัดเจนและโปร่งใสจากรัฐบาล

ความนำ

ขอนำข้อความใน Facebook มาลงซ้ำ เพื่อจะขยายความต่อเกี่ยวกับ ธรรมาภิบาล

Korn Chatikavanij (28 พฤาภาคม พ.ศ. 2556) เขียนเกี่ยวกับการรายงานผลการดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าว ว่า ....

รองสุภาฯ -

อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนไว้ว่ามีข่าวลือว่าจะมีการย้ายรองปลัดคลังฯที่ชื่อสุภา ปิยจิตติ ออกจากตำแหน่งประธานปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว สืบเนื่องจากที่คุณสุภาได้รายงานอย่างตรงไปตรงมาว่าการจำนำข้าวขาดทุนไปแล้ว ๒๖๐,๐๐๐ ล้านบาท

วันนี้ชัดเจนแล้วว่าคุณสุภาถูกปลดจริง โดยที่รมว.อ้างว่าเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนปลัดฯ รับคำสั่งมาจากใครหรือเปล่านั้นก็ให้คิดกันเอาเอง

จริงๆผมอยากจะเล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรี คุณสุภาเคยมีสิทธิที่จะได้เป็นปลัดกระทรวง แต่ท่านได้ขอผมว่า ท่านขอยกโอกาสให้คนอื่น ส่วนตัวท่านเองขอเพียงมีโอกาสทำงานที่ถนัด ก็คือคุมกรมบัญชีกลาง ดูแลรัฐวิสาหกิจ และก็เป็นที่มาของการทำงานเป็นประธานคณะกรรมการฯที่ทำให้รัฐบาลต้องยอมรับในผลขาดทุนที่ตนเองเคยยืนยันว่าไม่มีวันเกิดขึ้น และถ้าเกิดขึ้นจริงตนจะลาออก

ส่วนท่านปลัดฯที่ลงนามย้ายคุณสุภาออกจากตำแหน่งนั้น ผมก็เห็นใจ เพราะถ้าขัดนโยบายของผู้มีอำนาจ คงมีสิทธิถูกแขวนอยู่ที่สำนักนายกฯได้อีกยาว

แต่เมื่อปกป้องดูแลคนทำงานที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ ก็ระวังจะมีแค่ตำแหน่งนะครับ แต่จะไม่มีบารมี

หลักความโปร่งใส

หลักข้อหนึ่งของธรรมาภิบาล คือการต้องมีข้อมูลต่อสาธารณะ (Availability of Information to the Public) ดังในกรณีการบริหารระบบราชการ และการบริหารองค์กรสาธารณะทั้งหลาย ซึ่งอาจมีคนเขียนโดยใช้คำว่า “ความโปร่งใส” (Transparency)

สำหรับหน่วยงานราชการ การจัดทำรายงานประจำปี (Annual report) ซึ่งถือเป็นงานหลัก ที่หน่วยงานราชการ รับผิดชอบต่อเงินของแผ่นดิน ต้องรายงานต่อฝ่ายบริหาร รัฐสภา และประชาชนเจ้าของประเทศ

หากเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร แต่ทำหน้าที่ให้กับสาธารณะ ก็จะต้องมีรายงานรายได้ (income), รายจ่าย (expenses) และทรัพย์สินที่คงมี (Ending net assets) ในกรณีที่รัฐบาลเข้าไปค้าข้าวแทนประชาชนตามนโยบายรับจำนำข้าว ซึ่งตามหลักไม่ควรทำ แต่เมื่อทำแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่รายงานกิจการเกี่ยวกับข้าว ขายข้าวไปแล้วจำนวนเท่าใด ขายไปให้กับใคร ประเทศอะไร ซึ่งควรทำเป็นรายงานสรุป ไม่ใช่ไปสั่ง Printout         หนาเป็นฟุต

เมื่อขายข้าวแล้วได้เงินมาเท่าใด ใช้เงินในการซื้อข้าว หรือในกรณีนี้คือรับจำนำข้าวไปแล้วเท่าไร มีค่าบริหารโครงการ ค่าขนส่ง ค่าจ้างรับฝากข้าว เพราะราชการไม่มียุ้งข้าวเป็นของตนเอง และต้องรายงานให้รู้ว่า มีข้าวเหลือค้างอยู่เท่าไร และต้องให้มีการรับรู้ในเรื่องเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพราะการใช้เงินไปในระดับหลายแสนล้านบาทจากภาษีที่จัดเก็บจากประชาชน ก็ต้องมีหน้าที่แจงแก่ประชาชนโดยตรง หรือผ่านทางสภาผู้แทนของประชาชน

ส่วนประชาชนเจ้าของเงิน บางส่วนอาจมีนักวิชาการ สื่อมวลชน นักวิเคราะห์อิสระ ต้องไปศึกษาในรายละเอียด หากในปีนี้ขาดทุนไป 260,000 ล้านบาท สำหรับเฉพาะการค้าข้าว แล้วสินค้าเกษตรอื่นๆเป็นอย่างไรบ้าง ได้มีการกระจายเงินสนับสนุนไปทุกภาคส่วนอย่างยุติธรรมหรือไม่ เมื่อเปรียบกับ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ฯลฯ ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกได้ มีสิทธิรับการสนับสนุนจากรัฐในแบบเดียวกัน ก็ต้องมีการนำมาศึกษาให้เห็นสภาพความเป็นไป

ฝ่ายราชการต้องปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา

ข้อมูลการค้าขายของรัฐ เปรียบไปก็เหมือนข้อมูลสุขภาพ ระดับน้ำตาลในเลือด กรดยูริค คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ในเลือด ข้อมูลที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับสถานภาพของร่างกาย คนไข้มีสิทธิรู้ ไม่ใช่เพียงหมอ ดังนั้นเมื่อคนไข้ถามหมอ หมอที่มีจรรยาบรรณก็ต้องบอก หรือต้องมีรายงานที่พิมพ์มาส่งให้คนไข้ไว้เก็บเพื่อติดตามศึกษาสุขภาพตนเองด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือสุขภาพของประเทศก็เช่นกัน ต้องตรงไปตรงมา แม่นยำ

ส่วนฝ่ายราชการที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ถือว่าเป็นเรื่องปกติและเป็นเรื่องที่ดี เขาทำตามหน้าที่อันควรของเขา รัฐบาลจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ต้องรักษาคนตรงเอาไว้ในระบบ หากเป็นองค์กรเอกชน หากฝ่ายบริหารเปลี่ยนตัวสับเปลี่ยนผู้ดูแลรับผิดชอบทางการเงินบ่อยๆ รายงานการเงินและงบประมาณอย่างตะกุกตะกัก รายงานไม่ครบถ้วน มีปิดๆซ่อนๆ คงไม่มีใครสบายใจที่จะมาทำงานเป็นคณะกรรมการบริหารองค์การนั้นๆ

ด้วยเหตุนี้ ทุกองค์กรสาธารณะ วัด องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิ ฯลฯ ล้วนต้องการให้ฝ่ายตรวจสอบทางการเงินได้รายงานตรงต่อคณะกรรมการบริหาร และหากมีปัญหาใดๆ ก็ให้รายงานต่อคณะกรรมการ โดยไม่ต้องเกรงใจฝ่ายบริหาร เขาเรียกการทำงานในหน้าที่นี้ว่า “คนเป่านกหวีด” (Whistleblower) หากมีปัญหาอะไรต้องกล้าพูดกล้าแสดงออก

คราวนี้ รัฐบาลเป็นคนสับเปลี่ยนคนเป่านกหวีดเสียเอง แล้วจะให้ประชาชนคิดอย่างไร จะไว้วางใจรัฐบาลได้หรือ


No comments:

Post a Comment