Friday, May 24, 2013

การสังหารหมู่ “ซอง” (Zong massacre)


การสังหารหมู่ “ซอง” (Zong massacre)



ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: การเมือง, politics, การปกครอง, government, สิทธิมนุษยชน, human rights, ประวัติศาสตร์, history, สหรัฐอเมริกา, USA, อังกฤษ, United Kingdom, UK, England


ภาพ เรือขนทาส (The Slave Ship) โดย J. M. W. Turner สะท้อนภาพการสังหารหมู่ทาส ใน “การสังหารหมู่ซอง”

การสังหารหมู่ซอง (Zong massacre) เป็นการสังหารหมู่ทาสชาวอัฟริกันประมาณ 142 คน ที่ถูกขนมากับเรือขนทาสชื่อ “ซอง” (Slave ship Zong) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1781

เรือขนทาสชื่อซอง มีเจ้าของเป็นบริษัทค้าทาสในเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool, England) ซึ่งได้ทำประกันความเสี่ยงการค้าทาสเอาไว้ เมื่อเรือเดินทางผิดเส้นทาง ทำให้มีน้ำจืดไม่พอใช้ ลูกเรือก็จับทาสโยนลงทะเล แล้วเจ้าของเรือก็ไปเรียกประกันความเสียหายคืนจากบริษัทผู้ประกัน เมื่อผู้ให้ประกันปฏิเสธการจ่าย จึงมีเรื่องนำขึ้นสู่ศาล ศาลพิจารณาว่าในสถานการณ์ไม่ปกติ การสังหารทาสถือว่าเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และผู้ให้ประกันต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เดินเรือสำหรับทาสที่ตายไป

จากข่าวของการสังหารหมู่ทาส ได้สร้างประเด็นให้กับฝ่ายต่อสู้เพื่อการเลิกทาส แกรนวิลล์ ชาร์ป (Granville Sharp) ได้พยายามนำลูกเรือที่มีส่วนสังหารทาสขึ้นสู่การพิจารณาของศาล แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่การสังหารหมู่นี้เป็นแรงกระตุ้นให้ฝ่ายต่อต้านการค้าทาส (Abolitionist movement) ได้มีอำนาจเพิ่มขึ้นในการต่อสู้การค้าทาสที่เกิดขึ้นในโลกใหม่อย่างอเมริกา

ความเป็นมาของการค้าทาสข้ามแอตแลนติก

อังกฤษ (Britain) ในสมัยก่อนมีบทบาทสำคัญในการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยเฉพาะในช่วงหลังปี ค.ศ. 1600 การค้าทาส (Slavery) เป็นสิ่งถูกกฎหมายในอาณานิคมทั้ง 13 แห่งในอเมริกาและแคนาดา ผลประโยชน์ของการค้าทาสและการเกษตรในอินดิสตะวันตก (West Indies) มีมูลค่าประมาณร้อยละ 5 ของเศรษฐกิจของอังกฤษ อันเป็นในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยในยุคดังกล่าวไม่มีการค้าทาสในประเทศอังกฤษ และไม่มีกฎหมายอังกฤษยอมรับการค้าทาส แต่ในดินแดนอาณานิคมกลับมีการค้าทาสกันอย่างกว้างขวาง ในปี ค.ศ. 1785 นักประพันธ์อังกฤษชื่อ William Cowper เขียนว่า “หากเราไม่มีการค้าทาสที่บ้าน แล้วทำไมจึงปล่อยให้มีกาค้าทาสนอกประเทศ”

ในปี ค.ศ. 1807 หลังการรณรงค์โดยฝ่ายต่อต้านการค้าทาส รัฐสภาอังกฤษได้ออกเสียงให้การค้าทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมายในทุกที่ที่มีจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งได้ตราออกมาเป็นกฎหมายชื่อ Slave Trade Act 1807

หลังจากนั้น อังกฤษได้ถือบทบาทในการต่อต้านการค้าทาส และได้มีการขจัดการค้าทาสออกจากจักรภพอังกฤษ (British Empire) มีตรากฎหมาย Slavery Abolition Act 1833 ในช่วงปี ค.ศ. 1808 ถึง 1860 กองเรือในอัฟริกาตะวันตกได้เข้ายืดเรือขนทาสมากกว่า 1,600 ลำ และปล่อยทาสอัฟริกันกว่า 150,000 คน

ในอีกด้านหนึ่ง อังกฤษได้ประกาศการค้าทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอัฟริกา ดังกษัตริย์แห่ง Lagos ต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งไปในปี ค.ศ. 1851 ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการลงนามความร่วมมือกับผู้ปกครองกว่า 50 คนในการเลิกการค้าทาส ในปี ค.ศ. 1839 ได้มีข้อตกลงให้เกิดองค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เรียก Anti-Slavery International เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษโดย Joseph Sturge ซึ่งรณรงค์ให้มีการเลิกค้าทาสในประเทศอื่นๆทั่วโลก


ภาพ การโยนทาสลงจากเรือ ให้ไปตายในทะเล ใน Zong Massacre 



ภาพ ทาสคือชาวอัฟริกา ที่ถูกจับตัวมา แล้วขนข้ามทวีป เพื่อมาเป็นแรงงานในไร่ขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกา ทั้งตอนเหนือและใต้

No comments:

Post a Comment