Saturday, May 4, 2013

ความขัดแย้งในเชิงสาระ หรือว่าเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก

ความขัดแย้งในเชิงสาระ หรือว่าเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: pracob.cooparat@gmail.com

ศึกษาและเรียบเรียงจาก Wikipedia, the free encyclopedia

Keywords: ความขัดแย้ง, การบริหาร, การจัดการ, การจัดการความขัดแย้ง, conflict management,

ความนำ

ในการจัดการกับความขัดแย้ง (Conflict Management) สิ่งหนึ่งที่เราต้องมี คือสามารถวิเคราะห์ให้ได้ว่า ความขัดแย้งนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร ในความขัดแย้งสามารถจำแนกโดยใช้กรอบหลายๆอย่าง แต่ส่วนหนึ่งคือ การวิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งนั้นเป็นความขัดแย้งในเชิงสาระ (Substantive conflict) หรือว่าเป็นความขัดแย้งในเชิงความรู้สึกและอารมณ์ (Affective conflict)

Substantive conflict = ความขัดแย้งในเชิงสาระ
Affective conflict = ความขัดแย้งในเชิงความรู้สึกและอารมณ์

หากเปรียบได้ว่า ความขัดแย้งมีทั้งเป็นสิ่งที่ดี และสิ่งที่ไม่ดี ความขัดแย้งในเชิงสาระ (Substantive conflict) จัดเป็นความขัดแย้งที่ดีได้ แม้เป็นความขัดแย้งที่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากมีความเข้าใจ แล้วหาทางออกร่วมกันได้ ความขัดแย้งอาจกลายเป็นการมีทางออกที่สร้างสรรค์ และนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาในระยะต่อๆไป

ความขัดแย้งเชิงสาระ อาจเป็นเรื่องของทัศนะ (Viewpoints), ความคิด (Ideas), และความคิดเห็น (Opinions) ซึ่งคนต่างคน ต่างกลุ่มก็มีความแตกต่างกันได้ (Jehn, 1995; Rahim, 2002) แต่ความแตกต่างเหล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์ หรือการมีทรัพยากรที่จำกัด แต่ก็มีทางที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

ความขัดแย้งในเชิงความรู้สึกและอารมณ์ (Affective conflict) เป็นความขัดแย้งในเชิงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หรือความไปกันไม่ได้ (Incompatibilities) ที่ไม่เกี่ยวกับความสำเร็จหรือการทำงานของกลุ่ม (Behfar, Peterson, Mannix, & Trochim, 2008; Amason, 1996; Guetzhow & Gyr, 1954; Jehn, 1992; Pinkley, 1990; Priem & Price, 1991)

ความขัดแย้งอาจะเป็นเรื่องของความรู้สึกและอารมณ์ เช่น

ผมไม่ชอบผู้แทนฯคนนี้เลยนะ หน้าเขาเหมือนตัวโกง ดูไม่น่าไว้วางใจเลย

เธอก็ดูดีนะ แต่ว่าเป็นผู้หญิงนะ ฉันไม่เคยเห็นผู้หญิงที่ไหนที่จะบริหารได้เป็นเรื่องเป็นราว เดี๋ยวเจอปัญหาหนักๆเข้า ก็จะทนไม่ไหว องค์การเราไม่มีใครที่ดีกว่านี้อีกแล้วหรือ

ผมไม่ชอบเขาเลยนะ ท่าทางเขาเป็นคนยโส เขามาอยู่ตั้งนานแล้ว ยังไม่เคยลงมาพบปะพูดคุยกับพวกเราเลย

ความขัดแย้งอาจเป็นเรื่องเล็กๆภายในครอบครัว แม้แต่เรื่องของการเลือกใช้ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุณหภูมิในห้องนอน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เหล่านี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกัน ที่ขยายวงกว้างไกลไปได้ หากไม่หาทางจัดการกับความขัดแย้ง หรือความเห็นต่างเหล่านั้น

ความขัดแย้งในระดับของเชื้อชาติ ชนชาติ ที่อาจนำไปสู่การยกระดับความรุนแรง จนถึง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic cleansing) ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศบอสเนีย (Bosnia) และที่อาจเกิดและขยายวงในประเทศพม่า (Myanmar) ระหว่างชนส่วนใหญ่ กับชาวโรฮิงญ่า (Rohingya) ในบริเวณชายแดนพม่ากับประเทศบังคลาเทศ (Bangladesh)


ภาพ ความขัดแย้งของชมเผ่าพม่ากับชาวโรฮิงญา ที่นำไปสู่การต่อสู้ทำร้ายกัน


ภาพ การลี้ภัยของชาวโรฮิงญ่าไปยังประเทศอื่นๆ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตไปในทะเล

ความขัดแย้งอาจเป็นเรื่องใหญ่ๆ ระดับชาติ หรือระหว่างชาติ ซึ่งประสมกันระหว่างความรู้สึกเกลียดชังและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ประกอบกับผลประโยชน์ของกลุ่มตน ชาติของตน ทำให้นำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายวง ดังในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2


ภาพ สงครามโลกครั้งที่สอง ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสงคราม

ความขัดแย้งทางอารมณ์และความรู้สึก แม้เล็กๆน้อยๆ แต่ไม่มีการจัดการดูแล ท้ายสุดก็นำไปสู่ความแตกหักไปในที่สุด ครอบครัวที่เป็นหนุ่มสาวแต่งงานกัน แล้วมีความแตกต่างที่ไม่เข้าใจกัน ไม่ได้สื่อสารกัน หรือสื่อสารกันด้วยอารมณ์เชิงลบ ท้ายสุดนำมาซึ่งความห่างเหินกัน และต้องเลิกลากัน

ความขัดแย้งในเชิงสาระ (Substantive conflict)

ความขัดแย้งในเชิงสาระ และการแก้ไข

หลักของการจัดการกับความขัดแย้ง ก็คือต้องทำความเข้าใจในส่วนที่เป็น ค่านิยม ทัศนะ และความคิดเห็น ตลอดจนผลประโยชน์ร่วมกัน และสิ่งเหล่านี้คือส่วนที่ทำให้มีแรงจูงใจในการต้องหาทางออกร่วมกัน แล้วจึงไปหาประเด็นที่ยังแตกต่างกัน และจะแก้ปัญหาส่วนที่ต่างกันอย่างไร

กรณีตัวอย่างครอบครัว

กรณีตัวอย่างในคู่สมรสและครอบครัว

ฝ่ายชายเป็นคนไม่มีระเบียบ ใช้ของแล้วไม่เก็บเข้าที่เข้าทาง แต่ฝ่ายหญิงเป็นคนเจ้าระเบียบ ทุกอย่างต้องจัดให้เป็นระเบียบอย่างที่ต้องการ หรือฝ่ายชายเป็นคนเจ้าระเบียบ ชอบทำอาหาร ทำงานบ้าน ฝ่ายหญิงเป็นหญิงรุ่นใหม่ ทำงานบ้านไม่เป็น ไม่มีความเป็นแม่บ้านแม่เรือน เรื่องเหล่านี้ รวมถึงเรื่องการแต่งกาย รสนิยม ฯลฯ ล้วนทำให้คนขัดแย้งกันได้

แต่ความสำเร็จในการคงอยู่ของสถาบันครอบครัวที่สำคัญกว่า คือเรื่องของการช่วยกันดูแลสถานะทางเศรษฐกิจ ศักดิ์ศรีและความเป็นที่ยอมรับในสังคม สัมพันธภาพโดยรวมที่มีต่อกัน การรักษาและเคารพสิทธิเสรีภาพของแต่ละฝ่าย และการมีความรับผิดชอบร่วมกันในการมีและดูแลบุตรธิดา ทายาทผู้สืบสกุล ให้ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพอย่างมีความสุขในชีวิต และการมีหลักประกันในการดำรงอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตร่วมกัน จนวาระสุดท้าย

จากการศึกษา พบว่าความขัดแย้งในเนื้อหาสาระ มีความสัมพันธ์กับผลการทำงาน โดยร้อยละ 20 ของการศึกษา พบว่าความขัดแย้งในเชิงสาระมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อผลการทำงาน (Task performance)

กรณีเขตการพัฒนาอุตสาหกรรม

ตัวอย่างเช่น ในชุมชนจังหวัดแห่งหนึ่งในประเทศไทย –


ภาพ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่่มีผลต่อมลพิษทางอากาศ แต่ขณะเดียวกัน จังหวัดก็ต้องการการลงทุน และการสร้างงาน

ฝ่ายธุรกิจผู้มาลงทุน มีความขัดแย้งเห็นต่างกับชุมชนในเรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่ ว่าจะเป็น เพื่อการอุตสาหกรรม การพาณิชย์ เขตเมือง เขตที่พักอาศัย ฝ่ายอุตสาหกรรมอยากนำอุตสาหกรรมหนักมาลงในพื้นที่ แล้วให้มีกฎเกณฑ์ควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เพราะมีผลต่อต้นทุน

แต่ฝ่ายชุมชนอยากได้การลงทุน แต่ไม่ต้องการอุตสาหกรรมสกปรก หรือสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ดังมลพิษทางอากาศ (Air pollutions) แต่พอใจในการมีคนมาลงทุนในชุมชน พอใจเรื่องการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน

สิ่งสำคัญคือชุมชน อุตสาหกรรม และรัฐบาล ต้องมานั่งคุยกัน วางกฎเกณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม การทำให้เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้ มีต้นทุนการดำเนินการที่ยอมรับได้

ทางภาครัฐ ก็ต้องมีการกำหนดเขตต่างๆ อย่างสอดคล้องกัน ไม่ปะปนกัน

ในกรณีอุตสาหกรรมที่มาลงทุน เมื่อมีส่วนสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายการสร้างคาร์บอนในอากาศ ที่เป็นไปตามสภาพที่เป็นจริง ฝ่ายรัฐบาลต้องปรามการสร้างมลพิษของอุตสาหกรรม ใครสร้างสิ่งแวดล้อมเป็นพิษมาก ก็ต้องจ่ายค่าทำความเสียหาย และอะไรที่เป็นพิษมากจนไม่ควรให้มีในชุมชนเลย ก็ต้องทำให้ชัดว่า อะไรที่ไม่สามารถยอมรับได้

ความสัมพันธ์ต่อกัน

แต่ความขัดแย้งในเนื้อหาสาระ กับความขัดแย้งในเชิงอารมณ์และความรู้สึกมีผลต่อกัน (De Drue and Weingart, 2003) มีความสัมพันธ์ต่อกัน

ยกตัวอย่าง หากปล่อยให้ความขัดแย้งเชิงอารมณ์ความรู้สึกขยายตัว ท้ายสุดก็มีผลกระทบกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงเนื้อหาสาระ แล้วกลายเป็นความขัดแย้งขยายวง หรือนำไปสู่ความล้มเหลวขององค์การ สังคม หรือประเทศได้








No comments:

Post a Comment