ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
Pracob@sb4af.org
มีสุภาษิตชาวไอริชหนึ่งกล่าวว่า “Mura gcuirfidh tú san earrach ní bhainfidh tú san fhómhar.” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “If you do not sow in the spring, you will not reap in the autumn.” แปลเป็นไทยได้ว่า “หากท่านไม่หว่านพืชในฤดูใบไม้ผลิ ท่านก็ไม่มีอะไรจะเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง”
ภาพ ฤดูหนาวที่หนาว (Winter) มีหิมถปกคลุมอยู่ท้่วไป
ในยุโรปซึ่งเป็นบริเวณที่มีอากาศแบบเขตอบอุ่น หรือหนาว เขามี 4 ฤดู แต่ละฤดูยาวประมาณ 3 เดือน กล่าวคือ ฤดูหนาว (Winter) ซึ่งอากาศจะหนาวจัด มีหิมะและน้ำแข็งปกคลุม ทำการเพาะปลูกไม่ได้ หากเป็นเขตเหนือขึ้นไปมากๆ อากาศหนาวจัดในฤดูหนาวก็จะยาวนาน แต่หากอยู่ยุโรปตอนใต้นั้น อากาศก็จะอบอุ่นได้เร็วกว่า มีช่วงเวลาการเพาะปลูกยาวนานกว่า
ภาพ ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) อากาศสบาย ทุกอย่างสวยสด
แต่แล้วก็จะเป็นฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นมา มีน้ำจากน้ำแข็งและหิมะละลาย มีฝนตกลงมา ช่วงฤดูใบไม้ผลินี้แหละ ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก อากาศจะเริ่มอบอุ่นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นเป็นฤดูร้อน (Summer) อากาศจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในฤดูร้อนนี้ ในหลายๆที่ไม่เหมือนกับในประเทศไทย คือ อากาศร้อน ไม่มีน้ำหรือความชื้นในอากาศเพียงพอความชื้นในอากาศลดลง อากาศจะเริ่มร้อนไปจนร้อนที่สุด ร้อนใกล้เคียงกับในประเทศไทย บางแห่งร้อนชื้นหากอยู่ใกล้ทะเล แต่บางแห่งจะเป็นร้อนแบบแห้ง เพราะอยู่ไกลทะเล
และหลังจากนั้นจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) อากาศจะเริ่มเย็นขึ้นไปเรื่อยๆ ใบไม้จะเริ่มร่างหล่นมากขึ้นเรื่อยๆ หากสังเกตในธรรมชาติ จะพบสัตว์เล็กพวกกระรอกเที่ยวเก็บพวกอาหาร พวก Nuts ทั้งหลายสะสมไว้เป็นอาหารในฤดูหนาว ในช่วงนี้อากาศจะหนาวจนอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศา อากาศจะไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก แล้วภูมิอากาศก็จะเข้าสู่ฤดูหนาวอีกครั้ง
“หากท่านไม่หว่านพืชในฤดูใบไม้ผลิ ท่านก็ไม่มีอะไรจะเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง” สุภาษิตนี้มีไว้เตือนใจสำหรับคนจะทำอะไรต้องคิดเตรียมการ และต้องให้เวลากับสิ่งต่างๆที่ต้องใช้ช่วงเวลาของมัน การจะเพาะปลูก ก็ต้องเริ่มตั้งแต่เตรียมดิน ไถ และหว่าน
ช่วงเวลาเพาะปลูกของพืชพวกข้าวนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน เขาจะเริ่มเพาะปลูกกันเมื่ออากาศไม่หนาวเย็นแล้ว เมื่อถึงเวลามีฝน หรือหิมะละลาย ดินมีความชุ่มชื้น ก็จะเป็นช่วงของการเพาะปลูก หากใครยังขี้เกียจชักช้าอยู่ หากหว่านพืชไม่ทัน ก็จะไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เพราะช่วงนั้นพื้นดินจะเริ่มแห้งแล้ง หากปลูกพืชเอาไว้ตามฤดูกาล พืชนั้นก็จะออกรวง และข้าวก็จะมีเมล็ดที่สมบูรณ์เหมาะที่จะเก็บเกี่ยวได้ทันตามฤดูกาล แต่หากช้าเกินไป ไม่มีน้ำพอใช้ในการให้ความชุ่มชื้นแก่พืช ผลเสียหายก็จะตามมา
สุภาษิตนี้ไม่ได้มีความหมายเพื่อสอนเฉพาะชาวนาหรือเกษตรกร แต่สอนให้คนต้องรู้จักวางแผน และขยันหมั่นเพียร เมื่อถึงเวลาจะต้องทำอะไรแล้ว ก็ต้องทำมันให้สอดคล้องกับกาลเวลา อย่าขี้เกียจ ปล่อยให้เวลาผ่านไปจนช้าเกินกาล ก็จะเกิดความเสียหาย
เป็นนักเรียนนักศึกษา เมื่อต้นเทอม เขาเริ่มให้โจทย์ให้การบ้านที่เราจะต้องขยันหมั่นเพียรศึกษาไปตามช่วงเวลาที่เขากำหนด ไม่ปล่อยเวลาในเสียเปล่า แต่บางคนนั้นระหว่างที่เพื่อนๆที่เขารับผิดชอบเรียนหนังสือกัน ตัวเองได้แต่เที่ยวเตร่ ไม่รู้จักจัดการเวลา และหวังว่าจะกลับมาศึกษาได้ทัน แต่แล้วก็ผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยๆ จนถึงเวลาสอบก็ไม่ได้มีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบทัน ถึงเวลาต้องส่งงานภาคนิพนธ์ ก็ไม่สามารถส่งงานได้ หรือไม่ก็มีงานส่งอย่างลวกๆ ขอไปที ดังนี้ก็จะไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียน ไม่ต่างอะไรจากชาวนาที่ขี้เกียจ ไม่ได้ทำการเพาะปลูกให้ตกต้องตามฤดูกาล
No comments:
Post a Comment