Tuesday, July 19, 2011

การเลือกมีบ้านและที่พักอาศัย

การเลือกมีบ้านและที่พักอาศัย

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
Pracob@sb4af.org

สุภาษิตในภาษาไอริชหนึ่งกล่าวว่า “Is fearr bothán biamhar ná caisleán gortach.” ซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนเอาไว้ว่า “A cabin with plenty of food is better than a hungry castle.”

ในภาษาไทยแปลตามความหมายได้ว่า “ในบ้านที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ดีกว่าในปราสาทที่มีแต่ความหิวโหย”

หากจะหาบ้านอยู่เพื่อเป็นที่พักอาศัย ก็ต้องหาในสิ่งที่พอเหมาะกับตัวเรา เหมาะแก่ความสามารถในการจ่าย หากต้องมีรายจ่ายด้านที่พัก จนทำให้ไม่มีเงินไว้ใช้ในการอื่นๆ หรือเพื่อลงทุนทำกิจการใดๆ บ้านก็จะเป็นเหมือนดังคำที่ว่า เป็นปราสาทที่หิวโหย

บ้านเป็นสิ่งที่มีต้นทุน มีราคาค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเช่า บ้านที่ต้องผ่อนส่ง หรือเป็นบ้านที่ต้องซื้อขาย

สำหรับบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย หากเป็นในชนบท ตามไร่นา บ้านอาจไม่เป็นปัญหาด้านค่าใช้จ่ายมากนัก เพราะปลูกอย่างเป็นกระต๊อบพอคุ้มฟ้าคุ้มฝน ก็พออยู่ได้แล้ว แต่ในเมือคนไทยจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง และมากขึ้นเรื่อยๆต้องพักอาศัยอยู่ในเมือง บ้านพักจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านในเมืองใหญ่ หรือเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร

ในสมัย่ก่อน คนจากต่างจังหวัด จะเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯนั้น หากเลือกเป็นลูกจ้างคนงานก็ส่วนหนึ่ง แต่หากจะเลือกเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ ก็ต้องคิดถึงที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการมีทำเลในการทำการค้า

สมัยก่อนนานนับเป็นร้อยปีมาแล้ว คนไทยเชื้อสายจีนนิยมมีบ้านเป็น “ห้องแถว” ซึ่งต่อมาเขาเรียกว่าอาคารพาณิชย์ คือเป็นเรือนแถวยาว สร้างด้วยไม้ และต่อมาเป็นตีก หรือคอนกรีตมากขึ้น คนสร้างก็เลือกทำเลที่เหมาะแก่การค้าขาย แล้วสร้างเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น หรือสามชั้น แล้วแบ่งขายหรือให้เช่า สำหรับคนที่ซื้อห้องแถวไปพร้อมที่ดิน ก็สบายใจว่าได้เป็นเจ้าของสมบัติ หรือเซ้ง คือจ่ายค่าอาคาร และเสียค่าเช่าไปเป็นรายเดือน โดยได้สิทธิในการเช่าไปในช่วงเวลาหนึ่งตามสัญญา อาจเป็น 20 – 30 ปี ประเด็นสำคัญคือต้องให้ได้ทำเลการค้าขายที่ดี มีโอกาสเติบโตเป็นชุมชนที่มีอนาคต

การมีบ้านที่เป็นห้องแถวนี้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการทำมาหากิน นอกจากเลือกเป็นที่พักอาศัยแล้ว เขาต้องเลือกเพื่อการทำกิจการ อาจใช้บ้านทำเป็นร้านอาหาร ร้านขายของ หรือให้บริการต่างๆ และความที่เป็นทำเลที่อยู่ในชุมชน ก็มักจะมีน้ำประปา ไฟฟ้า มีรถประจำทางผ่าน มีโรงเรียนใกล้ๆ และบริการอื่นๆสะดวกแก่ผู้พักอาศัย ห้องแถวแบบนี้มีขนาดจำกัด ไม่มีบริเวณสวนปลูกต้นไม้ดอกไม้ แต่มีที่พักอาศัยที่สะดวกพอสมควร

ในระยะต่อมา ที่ดินมีราคาแพงขึ้น ต้องก่อสร้างอาคารพาณิชย์ที่สูงขึ้นไป มีเป็น 3 ชั้น หรือ 4 ชั้น เมื่อใช้ในการทำการค้า เขาจะจัดหน้าร้านชั้นล่างไว้อย่างสวยงาม พื้นที่เพื่อดึงดูดลูกค้า หากเป็นร้านอาหาร ก็ต้องมีพื้นที่สำหรับผู้มารับประทานอาหาร หากลูกค้ามากขึ้น ก็ขยับขยายไปยังชั้นที่สอง ส่วนการทำอาชีพขายสินค้า ชั้นสองก็มีไว้เพื่อสำรองสินค้าเพื่อขาย เป็นโกดังเล็กๆ ส่วนชั้นบนสุดจะจัดเป็นที่พักอาศัย คนที่เคยอยู่ห้องแถวมาก่อน จะรู้ว่าบางที่ไม่มีการแบ่งห้องกันนอน เพราะต้องนอนเรียงกันเป็นตับ เพียงแต่ว่ามีมุ้งหรือมุ้งลวดกันยุง มีพัดลมช่วยผลัดเปลี่ยนอากาศไม่ให้ร้อนเกินไป

ในการทำการค้าในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองช่วง 30 ปีแรกนั้น ไม่มีใครคำนึงถึงเรื่องที่จอดรถมากนัก ส่วนใหญ่ก็อาศัยที่จอดรถริมถนน จนมาในระยะประมาณสามสิบปีหลัง มีคนใช้รถยนต์กันมากขึ้นเรื่อยๆ ห้องแถวแบบไม่มีที่จอดรถส่วนกลางที่เพียงพอนี้ก็จะประสบปัญหา ไม่เหมาะแก่การทำธุรกิจ ขายได้เฉพาะกับลูกค้าที่อยู่ในระแวกนั้น หรือไม่ก็ได้ลูกค้าที่เดินทางโดยรถโดยสารผ่านมาแล้วแวะซื้อ

ในปัจจุบัน การเลือกสถานที่เพื่อทำการค้า และสถานที่เพื่อการพักอาศัยนั้นมักจะแยกจากกันมากขึ้น เพราะทำเลทำการค้าและที่พักอาศัยมักจะไม่เหมือนกันเสียแล้ว ทำเลที่ทำการค้าบางแห่ง เขาไม่อนุญาตให้คนเข้าไปพักอาศัย ดังเช่นตามศูนย์การค้าต่างๆ พอหมดเวลาทำการ เขาก็ต้องปิดศูนย์การค้านั้นๆ ส่วนคนทำงาน ทำการค้า ก็ต้องกลับไปพักที่บ้านของตน ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน หรือห่างออกไปแล้วแต่โอกาส

มาในปัจจุบัน การพักอาศัยอย่างในบริเวณกรุงเทพมหานคร บ้านก็เป็นปัญหาสำหรับคนจะสร้างเนื้อสร้างตัว แต่บ้านเพื่อการพักอาศัยมีได้หลายแบบ มีค่าใช้จ่าย มีเหตุผลในการเลือกพักอาศัยที่แตกต่างกัน

บ้านแบบ Townhouse เป็นบ้านที่มีลักษณะคล้ายห้องแถวในแบบเดิม มีฝาบ้านทั้งสองด้านที่ใช้ร่วมกับเพื่อนบ้าน ประหยัดค่าก่อสร้าง เลือกสร้างในทำเลที่สงบ ลึกเข้าไปในซอย หรือไกลศูนย์กลางธุรกิจของเมืองสักหน่อย ราคาไม่สูงนัก มีที่จอดรถได้ ไม่ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างมากนัก ราคาบ้านจึงไม่สูงจนเกินไป ส่วนใหญ่สร้างอยู่ชานเมืองระดับปานกลาง หรือไกลออกไป

บ้านแบบเดี่ยว (House) มีบริเวณ อย่างที่เขาเรียกว่าบ้านมีรั้ว ในปัจจุบัน พื้นที่ของบ้านจะอยู่ที่ 40-60 ตารางวาก็นับว่ามากพอแล้ว และเมื่อใช้พื้นที่มากพอสมควร คนจัดสร้างเขาจึงต้องได้ที่ดินมาในราคาไม่สูงนัก เพื่อเมื่อทำขาย ก็จะได้ขายได้ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านที่อยู่ชานเมืองออกไป หากจะให้มีประสิทธิภาพในการก่อสร้าง ผู้พัฒนาและขาย เขาก็จะจัดทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร ทำให้ต้นทุนในการสร้างต่อหน่วยลดลง ในด้านการขายก็มีกระบวนการตลาดที่ทำให้ขายได้รวดเร็ว ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปสร้างทิ้งค้างไว้

บ้านแบบอาคารชุด หรือเรียกว่า “คอนโดมีเนียม” (Condominium) ซึ่งเป็นอาคารที่มีความสูงระดับกลาง (Low rise buildings) เช่นสูงไม่เกิน 8 ชั้น หรือสูงมาก (High rise buildings) อาจเป็นหลายสิบชั้น ที่ดินอยู่ในทำเลดี สะดวกในการเดินทาง อยู่ใกล้ชุมชนเมือง มีที่จอดรถแต่จำนวนจำกัด และด้วยความที่สร้างสูงขึ้นไปมีหลายชั้น ทำให้สร้างได้หลายๆหน่วย ราคาซื้อขายจึงอยู่ในเกณฑ์รับได้สำหรับคนฐานะปานกลาง นักวิชาชีพมีรายได้สูงพอ ก็สามารถซื้อหาได้

สำหรับคนต้องการที่พักอาศัย ก็ต้องเลือกซื้อหา หรือเช่าบ้านอย่างเหมาะสม

บางคนไม่เลือกซื้อบ้าน เพราะเขามีบ้านมีที่ดินอยู่ในต่างจังหวัดแล้ว บ้านในเมืองเป็นที่ๆเขาเข้ามาทำงาน แล้วยังอาจต้องโยกย้ายไปตามงานที่อาจไม่แน่นอน หรือในหน่วยงานของเขามีสวัสดิการค่าเช่าบ้านให้ และเมื่อเกษียณอายุแล้ว เขาอาจเลือกกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัด อยู่กับญาติพื่น้อง ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่ำกว่า ซึ่งการมีหรือการสร้างบ้านในต่างจังหวัดมีราคาไม่แพงนัก ขึ้นอยู่กับลักษณะชุมชนว่าเป็นชุมชนอย่างไร คนในลักษณะนี้จะเลือกเช่าบ้าน

ลองดูตัวอย่างคนเลือกซื้อบ้านที่ผ่านมา บางคนตัดสินใจซื้อบ้าน โดยยอมผ่อนส่งบ้านที่ดูดีหรูหน่อย และหวังว่าระยะยาว จะได้มีสมบัติติดตัวเป็นของตนเอง แต่ว่าบ้านอาจอยู่ชานเมือง ไกลที่ทำงานออกไป ระยะแรกๆ การเดินทางยังไม่เป็นปัญหา รถยังไม่ติดหนักหนาสาหัส ขับรถ 30 นาทีก็ถึงที่ทำงาน แต่ต่อมา มีคนใช้รถมากขึ้น รถก็ติดหนักขึ้น คนบ้านไกล จะเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ก็ต้องรีบตื่นแต่เช้า บางคนต้องใช้เวลาในการเดินทางไปกลับวันละ 3-4 ชั่วโมง นับเป็นทารุณกรรมสำหรับชีวิตมาก

เมื่อจะขับรถมาทำงาน นอกจากจะต้องมีรถยนต์คันละเกือบเป็นล้านบาท ก็ต้องคิดถึงค่าน้ำมันที่แพงขึ้นไปเรื่อยๆอีก ปัญหาที่ตามมาอีก คือหาที่จอดรถยาก ที่ทำงานบางแห่งไม่มีที่จอดรถสำหรับคนทำงานในเมือง เพราะหากมีที่จอดรถ เขาต้องเอาไว้บริการลูกค้าก่อน คนทำงานส่วนหนึ่งจึงใช้วิธีการโดยสารมากับรถโดยสารร่วมขนาดเล็กที่เขาเรียกว่า Microbus รับคนวิ่งจากหมู่บ้านชานเมืองเข้ามาส่งในเมือง คันหนึ่งจุคนได้ 10-14 คน คิดค่าโดยสารแบ่งกันพอรับได้ ก็นับว่าเป็นทางเลือกอีกแบบหนึ่ง

มีบางคนคิดอีกแบบหนึ่ง คือเลือกที่พักอาศัยในเมืองใกล้ที่ทำงาน คือหาบ้านในเมือง หรือบ้านที่มีระบบขนส่งมวลชนสะดวก ซึ่งอาจจะเป็นรถไฟฟ้าบนทางยกระดับ หรือเป็นรถใต้ดินก็ตามแต่ บ้านในแบบดังกล่าวอาจเป็นคอนโดมิเนียม หรือเป็นอพาร์ทเมนท์ ที่สร้างเป็นอาคารสูงหลายชั้น ราคาก็อาจจะแพงกว่าบ้านเดี่ยวนอกเมืองหน่อย แต่ว่าได้ความสะดวกในเรื่องการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอย และมีชีวิตแบบในเมือง ส่วนที่พักนั้น มีตั้งแต่เป็นห้องนอนเดี่ยว เรียกว่าแบบ Studio มีพื้นที่ 28-36 ตารางเมตร อยู่กันได้สองคนสามีภรรยา หรือมีลูกยังเล็กๆ ก็พอได้ บางครอบครัวตัดการมีรถยนต์เป็นยานพาหนะส่วนตัวไปเลย หากคนรู้จักเลือกสถานที่พอเหมาะ ก็จะได้บ้านพักในเมืองแบบคอนโดมีเนียมหรืออพาร์ทเมนต์ที่มีราคาซื้อหรือเช่าที่ไม่แพงนัก แล้วใช้ระบบขนส่งมวลชน นั่งรถประจำทาง รถไฟฟ้า หรือรถแทกซี่แล้วแต่จะสะดวก หากต้องการความสะดวกสบายขึ้นมาอีกหน่อย ก็เลือกขนาดอาคารชุดขนาด 50-80 ตารางเมตร มีสองห้องนอน มีลูก 1-2 คน ก็พอจะอยู่กันได้อย่างสบายๆ จนลูกๆโต อยากได้บรรยากาศกว้างขวาง ก็ไปเดินตามศูนย์การค้า หรือตามสวนสาธารณะ หรือไม่ก็เลิอกเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดเป็นครั้งคราว

ในต่างประเทศ ดังในเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ค ปารีส ลอนดอน โตเกียว การมีที่พักในเมืองส่วนใหญ่ก็จะเป็นในลักษณะหลังนี้ และอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ไกลออกไป ก็ต้องมีระบบขนส่งมวลชนรองรับ

เมื่อพูดมาถึงจุดนี้แล้ว ท่านผู้อ่านที่คิดจะเลือกมีบ้าน ก็จะได้มีแนวคิดในการเลือกมีบ้านที่พักอาศัย และตามสุภาษิตที่ว่า “ในบ้านที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ดีกว่าในปราสาทที่มีแต่ความหิวโหย” นั่นคือ เลือกบ้านที่ทำให้เราอยู่ได้อย่างมีความสุข โดยไม่เป็นภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนปัญหาการเดินทางจนเกินไปนัก บ้านที่ดีที่เราจะเลือก ต้องให้สอดคล้องกับลักษณะสถานที่ทำงานของเรา เหมาะแก่การที่จะเลี้ยงลูกให้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ต้องคิดสร้างบ้านหรือมีบ้านที่ใหญ่โตจนเกินไป ให้มีบ้านที่พอเหมาะ แล้วเรารู้สึกสบายๆ

No comments:

Post a Comment