ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.
Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ
Know Who You’re Dealing with – Do Not Offend the Wrong Person
ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไรกับใคร อย่าไปให้ร้ายผิดคน
ในโลกนี้มีคนที่มีความคิดแตกต่างกันมากมาย การชมคนผิดคน ก็เป็นภัย การด่าว่าคนบางคนผิดที่ผิดทางก็เป็นอันตราย การพูดการจาไม่ว่าที่ใดๆ พึงระวัง
การขาดข้อมูลมักจะนำไปสู่การสรุปอย่างรีบด่วน ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจในทางเลือกที่เราจะต้องเสียใจในภายหลัง การประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไปในบางกรณีอาจนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาด
การจะพูดอะไร อย่าคิดว่าคนอื่นๆ จะตอบสนองต่อเราเหมือนอย่างที่เราคิด หากเรายังไม่รู้ว่าในสังคมนั้นๆ เขาคิดกันอย่างไร การที่เราจะเข้าไปในที่ๆ มีความแตกต่างจากเรา ต่างทางด้านวัฒนธรรม เขามีค่านิยม หรืออาจมีความขัดแย้งอยู่ในสังคมนั้นๆ แล้ว หากเราไม่ระวังตัว มันก็อาจเป็นดังไปพบกับ “หมาป่าที่ซ่อนมาในชุดขนแกะ” ผลร้ายจะกลับมาถึงเราได้โดยง่าย
ภาพ Charles Maurice de Talleyrand นักการฑูตฝรั่งเศสที่มีความสามารถ
นักการทูตของฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นนักการทูตที่มีทักษะมากที่สุดคนหนึ่ง เขาสามารถรับใช้ได้ทั้งฝ่ายกษัตริย์ และเมื่อฝ่ายปฏิวัติมีอำนาจ ก็ต้องใช้บริการของเขา
หลักของนักการฑูตคือ ไม่พูดอะไรที่ไม่จำเป็น และเมื่อพูด ก็ต้องสื่อความได้อย่างที่ต้องการตามการมอบหมาย และบรรลุวัตถุประสงค์ โดยไม่สร้างความขัดแย้งและเข้าใจผิดให้เกิดขึ้น การพูดเป็นเรื่องของศิลปะ ซึ่งต้องเข้าใจในเรื่องของกาละ และเทศะ
ภาพ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษโดยบุคลิกภาพที่เป็นคนเงียบขรึม ไม่พูดมาก แต่จะมีทักษะการฟัง และการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ แม้ไม่เร็ว แต่จะรอบคอบ
ภาพ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนักการทูต นายกรัฐมนตรี ผู้มีทักษะในการทูต และการสื่อสารกับคนได้หลายกลุ่มหลายเหล่า
หลักง่ายๆที่อยากจะสรุปในผู้อ่านได้นำไปศึกษาต่อ คือ
การแสดงความสามารถเป็นคนฟัง ง่ายกว่าและปลอดภัยกว่าเป็นคนพูด โดยเฉพาะการพูดในช่วงที่เป็นหน้าสิ่วหน้าขวาน และเรายังไม่อยู่ในฐานะที่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยทั่วไป เมื่อเราเป็นนักบริหาร เป็นหัวหน้าคน เรามักจะมีพื้นฐานความสามารถเป็นที่ยอมรับมาส่วนหนึ่งแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรีบตอบอะไรโดยที่เรายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ดังนั้นก็ควรใช้เวลาในช่วงเริ่มต้น โดยฟังให้มากที่สุด ตั้งคำถาม เพื่อให้ได้ข้อมูล ความเห็นอย่างกว้างขวาง และทางเลือกที่ชัดเจน
การสร้างความสามารถในการสังเกต จดจำ และบันทึก เพื่อให้เข้าใจสภาวะแวดล้อม เวลา สถานที่ และประเด็นต่างๆนั้น เป็นส่วนสำคัญของการสร้างทักษะในการพูด ดังคำกล่าวที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ให้หลิ่วตาตาม” หากจะต้องไปพูดในที่ใดๆ ก็ต้องรู้ว่าไปพูดอะไรให้ใครฟัง การได้พูดในลักษณะแสดงความรู้จักบุคคลสำคัญในที่นั้นๆ การสร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองในช่วงเริ่มพูดหรือบรรยาย ถือว่าเป็นปฐมบทที่จำเป็น ฝรั่งเรียกว่าละลายน้ำแข็ง (Breaking the ice) การจะพูดให้ได้ดีตามวัตถุประสงค์ เราจำเป็นต้องมีการวิจัย ศึกษา หาข้อมูลด้วยการสังเกต จดจำ และบันทึก เพื่อนำมาเขียนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระที่รอบคอบ ส่วนทักษะการนำเสนอเป็นส่วนที่ฝึกได้ง่ายกว่า
ทำตนเองให้มีความรู้กว้างขวางในหลายๆด้าน เพราะเมื่อจะพูดคุยกัน คนมักอยากจะพูดคุยกับคนที่มีความรู้ และรู้เรื่องที่น่าสนใจ แต่ขณะเดียวกัน ไม่ไปก้าวล่วงพูดในเรื่องที่อ่อนไหวในสังคมนั้นๆ ดังในประเทศไทย ฝรั่งเขาพูดให้พรรคพวกเขาฟังกันว่า เมื่อจะพูดเรื่องอะไรก็พูดได้ แต่อย่าไปพูดเรื่อง “สีเสื้อ” ซึ่งหมายถึงเรื่องการเมืองในประเทศไทยที่แบ่งออกเป็นขั้ว ผมเคยรู้จักตัวแทนจากรัฐบาลฝรั่งเศสที่มาทำงานด้านการศึกษาและวัฒนธรรมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปรากฏว่าเมื่อพูดคุยกันนั้น เขาแสดงความรู้และความสนใจในศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเสียยิ่งกว่าเรา ซึ่งความรู้ความเข้าใจเหล่านี้เป็นฐานในการสร้างความสัมพันธ์กับทางฝ่ายเราอย่างดี
การมีความรู้ในเรื่องอาหารการกิน เครื่องดื่ม และเรื่องที่จะใช้เพื่อให้สันทนาการแก่ผู้คน เป็นตัวอย่างของเรื่องที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เป็นเรื่องที่เริ่มต้นสนทนากันได้ง่ายๆ สบายๆ ก่อนที่จะไปพูดเรื่องสำคัญต่อไป ในขณะที่พูดเรื่องเบาๆ สบายๆ เราจะเริ่มจับลักษณะของคนที่เราพูดคุยด้วยได้ ข้าราชการผู้ใหญ่จีนที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศ มักจะได้รับการฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหาร เมื่อเขาจะเลี้ยงต้อนรับเรา อาหารแต่ละอย่างที่สั่ง จะมีการเลือกสรรอย่างดี เพื่อสร้างความประทับใจ เรื่องที่จะพูดคุยกันเริ่มง่ายที่สุด ก็คือเริ่มจากอาหารแต่ละจานที่มีประวัติความเป็นมา นอกจากนี้คือการใช้ความเป็นเจ้าภาพดูแลว่าเรารับประทานอาหารของเขาได้อย่างเพลิดเพลิน หากบางจานที่อาจอร่อย แต่กินยาก ดังเช่นพวกปลานึ่งหรือทอด เขาจะช่วยแยกก้างปลาอย่างชำนาญและตักใส่จานหรือถ้วยให้เรา อย่างนี้ฝรั่งเขาเรียกว่า Table manner นับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
การชมคนผิดคน ผิดที่ ก็เป็นอันตราย ดังเช่นไปชมคน หรือแสดงความชื่นชอบคนที่เขาเกลียด นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราอาจถูกเกลียดตามไปด้วย แม้สิ่งที่เราแสดงความคิดเห็นไปนั้น เป็นไปอย่างบริสุทธิใจก็ตาม การชมคนผิดที่ เช่นไปชมบุคคลในพรรคการเมืองตรงกันข้าม ให้กับบุคคลในพรรคคู่แข่งฟัง เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรพูดในที่ๆเราต้องการเจรจากันในเรื่องอื่นๆที่ก็ไม่เกี่ยวกับการเมือง
การตำหนิ วิจารณ์คนผิดที่ ก็เป็นอันตราย และไม่เป็นผลดี โดยทั่วไป อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการมักจะถือลักษณะพูดและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และเขามักไม่สนใจว่าจะมีคนชอบหรือคนเกลียด เพราะวิชาชีพเขาทำให้มีลักษณะดังนั้น แต่สำหรับนักการเมือง นักธุรกิจ การไปวิจารณ์คนผิดที่เป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดผลดี บางทีสุภาษิตโบราณเขาเรียกว่า “จุดไต้ตำตอ”
ยกตัวอย่าง การฟังคนพูดในที่ประชุม แต่เวลาเราพักแล้วเข้าไปในห้องน้ำ นึกว่าจะไม่มีใครอยู่ด้วย แต่ปรากฏว่ามีคนในห้องส้วมที่เขาได้ยินเราวิจารณ์ แล้วบังเอิญที่เขาเป็นพรรคพวกของคนที่เราไปวิจารณ์ ดังนี้ก็เรียกว่าเสียเรื่องโดยไม่จำเป็น
อย่าทำตนเป็นคนสอดรู้สอดเห็น เรื่องที่เขาเรียกว่าไป “เม้าท์” กัน คือการพูดนินทากัน หากเราทำตนเป็นคนชอบไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น คนก็จะสงสัยว่าเมื่อลับตาเขา เราก็คงจะไปวิพากษ์วิจารณ์หรือนินทาเขาให้คนอื่นๆฟังเช่นกัน อีกมุมหนึ่ง คนที่วิจารณ์คนอื่นๆจนเป็นนิสัย โดยที่ตัวเองไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ดังนี้จะแสดงความเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย และเราเองเป็นคนไร้สาระ คนที่ต้องการทำกิจกรรมกับเรา เขาก็ไม่อยากร่วมด้วย
แสร้งทำตนเป็นคนไม่รู้เรื่องในบางเรื่อง ยังดีกว่าทำตนเป็นคนรู้เรื่องในสิ่งที่เป็นอันตราย การที่เราแสร้งไม่รู้ในบางเรื่อง ไม่ได้ทำให้เราเสียหาย เพราะบางครั้งการที่คนเข้าใจผิดและประเมินเราต่ำ ก็ไม่เสียหาย โดยเฉพาะคนที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม ในทางกลับกัน การไม่รู้แล้วมีอัตตะมาก พยายามแสดงตนว่ารู้เรื่อง ดังนี้กลับเป็นผลร้ายเสียมากกว่า บางทีเราก็ต้องเห็นใจนักการเมือง นักธุรกิจที่ต้องตอบคำถามเกือบจะในทุกเรื่อง ทางที่ดีที่จะทำได้ คือ ตอบว่ายังไม่ได้รับข้อมูล ยังรอสรุปเรื่องที่ยังส่งมาไม่ถึง หรือในบางทีทำความตกลงกับกลุ่มผู้สื่อข่าวว่าจะไม่ตอบในเรื่องที่ยังไม่มีข้อมูล หรือเป็นบางเรื่องที่ถือว่าก้าวล่วง จะไม่มีการตอบ ซึ่งยังจะดีกว่าตอบแล้วถูกนำไปขยายผล ทำให้เกิดความเสียหายต่อเราและการงานได้
อย่าไปเป็นเครื่องมือของการส่งต่อข้อความ การได้รับข้อความ ภาพ คลิปเสียง หรือวิดิโอคลิปที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเสื่อมเสียชื่อเสียง แล้วเราส่งต่อไปยังคนอื่นๆ ในระบบ E-mail เขาเรียกว่า Forwarding หากเป็นเรื่องที่ทำให้บุคคล หน่วยงาน หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งเสียหาย เราก็มีส่วนผิดกฎหมาย เรามีความผิดไม่ต่างจากต้นแหล่งของข้อมูลนั้นๆ เพราะเท่ากับเราเป็นคนร่วมเผยแพร่ข้อความ หรือสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น รับรู้แล้ว แต่เป็นเรื่องอะไรเสียหายต่อบุคคลอื่นๆ อาจเป็นเรื่องไม่จริง บิดเบือน และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็เงียบเสีย ปล่อยให้มันเป็นคลื่นกระทบฝั่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยกเว้นว่าเรื่องนั้นๆจะมีผลต่อการทำงาน หรือการตัดสินใจของเรา กลุ่มคน หรือองค์การที่เราเกี่ยวข้อง ซึ่งต้องเป็นเรื่องนำมาเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจ
ระวังการพูดข้อความใด แล้วคนเขาเอาไปพูดต่อ เรียกว่า Quote แต่เป็นการอ้างอย่างผิดๆ ผิดกรอบเวลาและสถานที่ แต่เป็นแบบเสริมแต่งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของเขา แต่เอาเราเป็นเครื่องมือ อ้างอิงเรา เป็นการพูดแบบบิดเบือน ทำให้เราเป็นที่เข้าใจผิดและเกลียดชัง การที่ยิ่งพูดมาก แม้จะพูดในสิ่งที่ดีๆ แต่ก็จะมีช่องให้คนนำไปพูดเป็นร้ายต่อเราได้ การพูดต่างจากการเขียน เพราะการเขียนนั้น เราสามารถใช้เวลาในการเรียบเรียงได้อย่างประณีต ในกรณีที่เราเป็นผู้ใหญ่ มีคนช่วยงาน เรายังสามารถหาคนมาช่วยอ่าน ตรวจสอบ แล้วให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม แต่การพูดแบบสดๆหรือการให้สัมภาษณ์นั้น ต้องระวังที่จะรอบคอบในการตอบ ตอบสั้น แต่ให้ตรงประเด็น ชัดเจน ไม่สามารถนำไปบิดเบือนได้ หากตอบแล้วกำกวม ทำให้ตีความผิด อย่างนี้ก็เลี่ยงที่ไม่ตอบเสียจะดีกว่า แม้จะดูน่าเบื่อสำหรับคนที่เขาอยากได้ข่าว
No comments:
Post a Comment