ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.
Keywords: power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ, courtier, courtiership, อำมาตย์, ข้าราชสำนัก
ความนำ
Play the Perfect Courtier
แสดงบทความเป็นข้าราชสำนักที่สมบูรณ์
การจะเป็นผู้นำต้องรู้จักเยินยอคน ต้องมีท่าทีที่นอบน้อม ทำให้ผู้ใหญ่สบายใจและพอใจ เหมือนดังข้าราชสำนักที่ทำงานกับกษัตริย์ในสมัยก่อน ที่ต้องทำให้กษัตริย์พอใจในผลงาน สบายใจที่จะมีเราอยู่ใกล้ๆ ทำให้มีเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันที่ไม่รู้สึกอึดอัดที่จะทำงานร่วมด้วย และประพฤติปฏิบัติที่ลูกน้องของเรา ที่เขาอบอุ่นใจ ทำตัวเป็นฝ่ายโฆษณาตัวเราให้กับคนทั่วไปได้รับรู้เป็นอย่างดี
ความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน
วัฒนธรรมของคนเอเชียคือการแสดงความเคารพ และการอ่อนน้อมถ่อมตน นักเรียนหญิงในประเทศญี่ปุ่น ถูกสอนให้ต้องรู้จักโค้งคำนับ นักเรียนไทยได้รับการสอนให้รู้จักไหว้ครูอาจารย์และผู้ใหญ่
ในสังคมแบบเอเชีย การแสดงตนเป็นคนมีอำนาจ หรือที่เรียกว่า “กร่าง” ไม่ใช่เป็นความฉลาด แต่เป็นการไปสร้างศัตรู หรือมีคนเขม่นโดยไม่จำเป็น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทำต้นเป็นคนอ่อนน้อม มีมารยาทในสังคม กลับจะได้รับความชื่นชมมากกว่า
การมีมารยาทแบบข้าราชสำนัก (Courtiership)
Courtiership = การมีมารยาทแบบข้าราชสำนัก, Courtier เป็นคำศัพท์ที่มาจากภาษาฝรั่งเศส
การฝึกตนเองให้เป็นคนมีมารยาทสังคมแบบผู้ดีแบบข้าราชสำนัก (Courtiership) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการมีอำนาจ และมีความคล่องตัวในการประพฤติตนในสังคม เขาสามารถแสดงออกเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เขาเยินยอ การยอมตามเจ้านาย การมีอำนาจเหนือคนอื่นๆได้อย่างสง่างาม และทำให้ตนเองก้าวหน้าไปในระบบองค์การนั้นๆดังข้าราชสำนักในสมัยก่อน
ในสมัยก่อน การเป็นข้าราชสำนักที่ทำตนผิดพลาด อาจหมายถึงการมีโทษประหารชีวิตก็เคยมีให้เห็น ดังนั้น การจะมีบทบาทหน้าที่ในราชสำนัก เป็นดังอำมาตย์ (Aristocrats) ก็ต้องรู้จักประพฤติปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม และทำได้อย่างไม่มีผิดพลาด
มีหลักอย่างน้อย 15 ข้อที่สามารถเป็นแนวทางที่จะเข้าใจการมีบทบาทดังข้าราชสำนักในสมัยก่อน ในยุคปัจจุบัน เมื่อพูดถึงวิถีปฏิบัติดังในราชสำนักโบราณ ดูรู้สึกจะเป็นเรื่องล้าสมัย เป็นเรื่องย้อนยุค แต่ก็ขอให้ลองทำความเข้าใจ แล้วมาวิเคราะห์วิจารณ์กันดู
1. Avoid Ostentation
หลีกเลี่ยงการโอ้อวด
Ostentation = เป็นคำนาม – การแสดง, การอวด, การโอ้อวด
อย่าพูดในสิ่งดีๆที่ตนมีมากเกินไป เพราะมันจะไปสร้างความสนใจและเป็นข้อสงสัย ให้ระวังเมื่อพูดถึงความสำเร็จของตนเอง ควรพูดถึงตนเองให้น้อย ความอ่อนน้อมถ่อมตนนับเป็นคุณสมบัติที่ดีอย่างยิ่ง แทนที่จะพูดถึงความสำเร็จ ให้ผลของงาน การกระทำจะเป็นสิ่งที่พูดแทนเราได้อย่างมีน้ำหนักยิ่งกว่า
การกระทำอย่างพอประมาณไม่มากไม่น้อย และการแสดงออกอย่างโดยอ้อม เช่นการชมคนทำงานที่อยู่เบื้องหลังของเราอย่างภาคภูมิใจ การชมผลสำเร็จของลูกน้อง นั่นก็เป็นการคุยเกี่ยวกับตัวเองเป็นอย่างดีโดยอ้อม และอาจมีผลดีเสียยิ่งกว่าคุยว่าตนเองเป็นคนทำมันสำเร็จตามลำพัง
2. Practice Nonchalance
การฝึกลักษณะการเมินเฉย
Nonchalance = ความเพิกเฉย, ความเมินเฉย
ทำทุกอย่างให้ดูเหมือนเรื่องไม่ยาก ทำให้เป็นธรรมชาติ
ยกตัวอย่าง การจัดนิทรรศการอย่างที่เรียกว่า Events ก่อนจัดงานก็เป็นที่รับรู้กันว่าต้องมีการเตรียมงานกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การออกแบบงาน การมีทีมงานที่จะต้องมาทำงานนิทรรศการกันหลายคณะ ต้องมีการประสานงานกัน และมักจะเป็นการทำงานที่ต้องเร่ง เพื่อให้ได้ภาพของงานที่สมบูรณ์ และเร่งทำกันจนถึงวันหรือเวลาสุดท้าย แต่แล้ว เมื่อเปิดงาน ทุกอย่างต้องดูเรียบร้อย ไม่ใช่ทุกคนหมดแรงสลบไสล สิ่งที่ทำได้คือต้องมีการแบ่งงานกัน และคนที่มีหน้าที่ต้องนำเสนอตนเองในช่วงของงาน ก็ต้องมีภาพลักษณ์ที่สดใส ไม่ใช่แสดงความหมดแรง ขอบตาเขียวคล้ำเพราะอดหลับอดนอน สิ่งเหล่านี้จะกระทำได้ ก็ด้วยมีวิธีการจัดแบ่งหน้าที่ การติดตามงานกันอย่างเป็นระยะ และมีทีมงานที่รู้งานกันดีว่าใครทำอะไร คนที่รับผิดชอบแต่ละเรื่องสามารถมั่นใจในทีมงานว่าจะทำทุกอย่างออกมาได้อย่างดี สวยงาม
3. Be Frugal with Flattery
การเยินยออย่างพอประมาณ
Frugal = คุณศัพท์, ประหยัด, ออม, กระเหม็ดกระแหม่, ตระหนี่, ตังเม
การเยินยอที่มากเกินไปกลับเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร อะไรคือการชมหรือแสดงความชื่นชมอย่างพอเหมาะ ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป
คนที่อยู่เหนือท่านไปมักจะต้องการคำเยินยอ แต่ต้องระวัง ต้องไม่ทำมันจนกระทั่งสิ่งดีๆนั้นเสียคุณค่าไป และต้องระวังว่าการเยินยอเกินจริงมากไป บ่อยครั้งเกินไป จะทำให้คนอื่นๆสงสัยในความไม่จริงใจ
4. Arrange to be Noticed
ทำตัวให้เป็นที่สังเกต
คำพูดที่แย้งกันเอง คือทำตนให้มีลักษณะสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ก็ทำตัวให้เป็นที่สังเกต
การทำงานในระบบราชการ การเมือง ในองค์การขนาดใหญ่ หรือในราชสำนัก ท่านไม่สามารถคุยโตเกี่ยวกับตนเอง ทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ และกระทำตัวให้เป็นที่สังเกตอย่างไม่เกินเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้เหมาะสม การทำร่างกายให้แข็งแรงดูดี และหาทางที่จะนำเสนอตนเอง สร้างสไตล์และลักษณะเฉพาะตัวของเราให้เป็นที่น่าสนใจ แต่ละคนต้องมีการสร้างภาพลักษณ์ของตนเองอย่างพอเหมาะ
สมมติท่านเป็นสถาปนิกที่มีหน้าที่ออกแบบอาคารสถานที่ ท่านคงต้องแต่งตัวอย่างแสดงถึงความเป็นคนมีศิลปะ ให้ความสำคัญในรายละเอียดต่างๆของตัวท่านเอง น่าสนใจ ไม่ใช่เป็นศิลปินที่แต่งตัวอย่างไม่มีรสนิยม แล้วจะไปคาดหว้งให้คนเชื่อมือในการออกแบบงานก่อสร้างที่ต้องมีรสนิยมด้านศิลปะ
หากท่านจะเป็นผู้ประกอบการที่จะต้องไปนำเสนอธนาคารเพื่อขอกู้เงินมาลงทุนในกิจการขนาดเล็กของท่านเอง ธนาคารคงคาดหวังว่าท่านเป็นคนที่ทันสมัย แต่ขณะเดียวกันเขาก็คาดว่าท่านเป็นคนใช้เงินเป็น ไม่ใช้จ่ายอะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินตัว ไมว่าจะเป็นด้านการแต่งกาย การใช้ยานพาหนะ ซึ่งต้องมีความเหมาะสม เวลาพูดจาก็ต้องแสดงความเป็นคนมีวิสัยทัศน์ มีเหตุมีผล มีความสามารถในการวิเคราะห์ รู้เรื่องการเงิน กำไรหรือขาดทุน และแสดงความมุ่งมั่นให้เห็นว่า ท่านจะสามารถนำพางานและโครงการที่นำเสนอนั้นไปสู่ความสำเร็จ แม้จะต้องประสบกับปัญหาอุปสรรคบางประการ
การแต่งกาย การนำเสนอตนเอง การพูดจา การแสดงความคิดความอ่านที่เกี่ยวกับงานและความรับผิดชอบ เหล่านี้มีผลต่อการทำให้คนรู้จักตัวเรา
5. Alter Your Style and Language According to the Person You Are dealing With
ปรับสไตล์และภาษาให้สอดคล้องกับบุคคลที่เราเจรจาด้วย
เมื่อใดที่ต้องพูดคุยกับคนหลายๆระดับ ท่านต้องปรับสไตล์ให้เหมาะสมกับแต่ละคน และแต่ละกลุ่มคน ยกตัวอย่าง เมื่อต้องพูดกับครูคนหนึ่ง ท่านต้องแสดงความสุภาพ แต่เมื่อต้องพูดกับเพื่อน ท่านก็สามารถพูดคุยกับเขาได้อย่างเป็นธรรมดา แสดงความใกล้ชิดสนิทสนมอย่างที่เคยเป็นมา เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นคนเสแสร้ง แต่เป็นศิลปะในการแสดงออก และเป็นศิลปะที่ต้องเรียนรู้
นักพูดนักเจรจาความที่ดี ต้องใช้เวลาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับคนที่เราต้องติดต่อด้วย ต้องเข้าใจให้ได้ว่าเขาคือใคร เขาต้องการอะไร และอย่างไร ในยุคสมัยใหม่ เรามีระบบฐานข้อมูลที่จะสามารถบันทึกเกี่ยวกับลักษณะคนที่เราจะเกี่ยวข้องด้วย หากไม่รู้ก็สามารถให้ทีมงานไปศึกษาเพิ่มเติมมาให้ได้มากที่สุด อย่าต้องอยู่ในสถานะที่เจรจาความกับคนโดยที่เราไม่รู้จักเขา แต่ฝ่ายเขารู้จักเรา ทั้งในลักษณะตื้นลึกหนาบาง เราจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
6. Never Be the Bearer of Bad News
อย่าทำตนเป็นคนแบกรับข่าวร้าย
ท่านต้องทำทุกอย่างในอำนาจที่แน่ใจได้ว่า ท่านไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับข่าวร้าย หรือสิ่งไม่ดีงามที่ทำให้เสียชื่อเสียง ในทุกหน่วยงานและราชสำนัก และในองค์การ มักมีคนที่เขาได้รับบทบาทเป็นนักประหาร หรือ “มือขวาน” (Hatchet man) ทำหน้าที่ไปจัดการคนอื่นๆที่เป็นศัตรู คนเหล่านี้จริงๆก็ต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์ต่อเจ้านายหรือนายจ้าง ในองค์การ คนเหล่านี้อาจไม่ใช่มือสังหารที่ไปฆ่าคน แต่มีไว้เพื่อจัดการกับคนอื่นๆ จัดการเพื่อให้พ้นทาง เช่น การรับคำสั่งให้สอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัย เพื่อการย้าย การปลดออก การให้รับโทษที่รุนแรง เพื่อให้ได้เป็นไปตามประสงค์ของเจ้านาย ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของความเหี้ยมโหด
ท่านต้องหลีกเลี่ยงที่จะไม่ไปรับบทบาทของ “คนส่งข่าวร้าย” ในลักษณะดังกล่าว เพราะภาพลักษณ์มันจะติดตัวไปตลอด เหมือนภาพยนตร์สมัยก่อน เมื่อคนคุ้นบทเป็นตัวร้ายแล้ว ก็จะติดภาพลักษณ์นั้นไปตลอด จะไปแสดงบทพระเอกได้ลำบาก
7. Never Affect Friendliness and Intimacy with Your Master
อย่าแสดงความเป็นเพื่อนและใกล้ชิดกับเจ้านายจนเกินควร
เจ้านายของท่านไม่ได้ต้องการเพื่อน แต่ต้องการผู้ใต้บังคับบัญชา ท่านต้องให้มั่นใจได้ว่ามีระยะห่างระหว่างท่านกับเจ้านายที่พอเหมาะ และต้องรักษาความเป็นมืออาชีพไว้ ไม่ก้าวล่วง
บางครั้ง เจ้านายกับเราอาจเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันมา เป็นเพื่อนร่วมงานในลักษณะที่เป็นเพื่อนซี้กันมาก่อน เรียกว่าเป็น Buddy แต่เมื่อเกี่ยวกับงาน ก็ต้องแยกให้ออกว่า เขาเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่เผลอตัวไปแสดงความสนิทสนมที่เกินควรให้คนอื่นๆเห็น
8. Never Criticize Those Above You Directly
อย่าวิจารณ์เจ้านายตนโดยตรง
แม้การรับคำวิพากษ์จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่มีใครอยากรับคำวิพากษ์โดยตรง หรือเปิดใจรับคำปรึกษาอย่างง่ายๆ ท่านจึงต้องให้คำวิพากษ์ได้ในแบบไม่ตรงๆ และต้องกระทำอย่างสุภาพ ไม่ให้มีการเสียหน้า หรือเสียความรู้สึก
ทักษะในการให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (Feedback) ต่อเจ้านายจึงต้องเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และกระทำอย่างมีความเข้าใจในความรู้สึกของคน โดยทั่วไป การให้ข้อมูลสะท้อนกลับต่อเจ้านายนั้นจำเป็นสำหรับหน่วยงานที่ต้องมีการแข่งขัน แต่การจะนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ต้องมีการเลือกเวลาและสถานที่ๆเหมาะสม เขาเรียกว่า “ต้องรู้จักกาลเทศะ” การนำเสนอเรื่องสำคัญบางอย่างต้องอยู่ในกลุ่มภายในขนาดเล็กที่สุด และยิ่งเป็นเรื่องสำคัญก็ต้องให้อยู่ในที่ลับ ไม่ทำให้ข้อมูลบางอย่างหลุดรั่ว หรือในบางที พาเจ้านายไปให้รับทราบข้อมูลจากคนที่เขามีปัญหาต้องการให้เจ้านายเราทราบโดยตรง เพราะของบางอย่างเราบอกเองอาจไม่มั่นใจว่าเราได้พูดจริงหรือไม่ ต้องให้ไปรับทราบข้อมูลเองโดยตรงได้จะเป็นทางเลือกที่ดี
9. Be Frugal in Asking Those Above You for Favors
อย่าร้องขออภิสิทธิคนที่เหนือตนจนเกินควร
คนทุกคนรวมทั้งตัวเราด้วยที่ต้องการรางวัลจากการทำงาน ท่านเองก็ต้องการสิ่งตอบแทนจากเจ้านาย เช่นการได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือลาภ ยศ สรรเสริญโดยทั่วๆไป แต่ท่านต้องเรียนรู้ศิลปะในการสื่อสารที่ทำให้เจ้านายได้เข้าใจความต้องการของท่าน มันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่จะสื่อสาร ท่านควรจะทำอย่างไร ควรกระทำตัวอย่างไร ให้เจ้านายมอบสิ่งที่ต้องการให้ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ไปกดดัน หรือบีบคั้นให้เจ้านายเกิดความรู้สึกไม่ดีได้ในภายหลัง
มองในมุมกลับกัน หากเราเป็นเจ้านาย และเป็นเจ้านายที่ดี ต้องหาทางให้ทราบและเข้าใจในความต้องการของลูกน้องว่าเขาต้องการอะไร รางวัลบางอย่างนึกว่าเขาอยากได้ แต่ปรากฏว่าเขาไมได้ต้องการ แต่นึกไม่ถึงว่าเขาอาจต้องการอย่างอื่นๆ ที่บางทีก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เพียงคนเป็นเจ้านายไม่ทราบ
10. Never Joke About Appearances or Taste
อย่าแสดงหรือพูดตลกเกี่ยวกับการแต่งกายและรสนิยม
ความมีอารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ดี แต่จะทำอย่างไรไม่ให้การแสดงอารมณ์ขันนั้นไปกระทบคนอื่นๆ หรือสร้างความอับอาย
Bob Hope เป็นตัวอย่างของนักแสดงตลกที่ไม่กระทบต่อคนอื่นๆ ต้องถือว่าเป็นพรสวรรค์ส่วนตัว
การมีอารมณ์ขันเป็นเรื่องจำเป็น แต่อย่าไปตลกแบบกระแนะกระแหนคนอื่น การปฏิบัติตนเยี่ยงผู้ดีแบบข้าราชสำนักจึงต้องหลีกเลี่ยงการตลกแบบวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีสถานะสูงกว่าท่านเรื่องรูปลักษณ์ เช่นอ้วนผอม ดำขาว สูงเตี้ย ฯลฯ บางครั้งการแสดงซึ่งความมีอารมณ์ขัน (Humor) นั้นเป็นเรื่องที่แยกออกจากตลก (Joke, or comedy) คนทำงานบริหารต้องมีศิลปะอารมณ์ขันที่ผ่อนคลาย ทำให้คนยิ้มออก ลดการเอาเป็นเอาตายลง
ในการดำเนินการประชุมที่เริ่มเครียด แต่มีคนที่สอดแทรกบรรยากาศที่ทำให้คนผ่อนคลาย แล้วกลับมาสู่ความสนใจ เพื่อดำเนินการต่อในบรรยากาศที่ไม่หวังเอาแพ้เอาชนะกันนั้น นับเป็นศิลปะของการจัดประชุมที่จำเป็น
11. Do Not Be the Court Cynic
อย่าทำตนเป็นคนชอบถากถาง
แสดงความชื่นชมคนอื่นๆในผลงานดีๆที่เขาได้ทำ มากกว่าจะไปวิพากษ์วิจารณ์เขา ท่านมีทางที่จะแสดงผลงานที่ดีของตนเองอย่างดูแล้วไม่น่าเกลียด และต้องดูว่าทำอย่างไรที่จะไม่กลายเป็นคนขี้คุย พูดจากระทบกระแทกแดกดัน
Cynic = ถากถาง, ดูถูก, เหยียดหยาม
การแดกดันต่อกัน กระทำได้ในหลายรูปแบบ เช่นแดกดันด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ ความมั่งมียากจน แดกดันดูถูกในด้านด้วยสติปัญญาและการศึกษา การจบการศึกษามาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงต่างกัน ยามเมื่อเรียนก็เป็นคนมีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน เป็นคนเรียนเก่งที่ต่างกัน การแดกดัน ดูถูกเหยียดหยามในด้านความสำเร็จในการงาน ความก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คนเกลียดและชิงชังกันได้
คนทุกคนต้องการได้รับเกียรติ และการเคารพในศักดิศรีของเขา คนที่รู้จักวางตน ไม่ไปกระทบกระแทกเขา ไม่ตอกย้ำให้เห็นในจุดอ่อนและปมด้อยของเขา แต่กลับเป็นคนที่แสดงความเคารพในความเป็นคนของเขา ย่อมจะได้ประโยชน์จากสัมพันธภาพที่จะมี
12. Be Self-observant
ดูแลตนเองระมัดระวังภาพที่ปรากฏออกไป
ท่านต้องเป็นคนเหมือนส่องกระจกดูตัวเองตลอดเวลาว่าภาพของท่านจะปรากฏต่อคนอื่นๆอย่างไร ดูว่าท่านได้พยายามจะเอาใจคนมากไปหรือไม่ ดูว่าท่านพยายามเกินจำเป็นที่จะเรียกร้องความสนใจหรือไม่ ท่านต้องตระหนักในตนเอง และระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาด
หากท่านเป็นนักบริหารที่ต้องพูดในที่สาธารณะบ่อยๆ ก็ลองให้คนอัดเทปเสียง หรือถ้ายวิดิโอ แล้วท่านลองนำมาเปิดฟังหรือดูด้วยตนเองเป็นครั้งคราว เพื่อที่ท่านเองจะได้ใช้เป็นดังกระจกเงาส่องตนเอง เพื่อการปรับปรุงในการนำเสนอครั้งต่อๆไป
13. Master Your Emotions
ควบคุมอารมณ์ของท่าน
เหมือนกับการเป็นนักแสดง ท่านต้องเรียนรู้ที่จะหัวเราะหรือร้องไห้ด้วยตัวเอง ต้องรู้ว่าจะซ่อนความรู้สึกโกรธ อึดอัดใจ หรือแสดงว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือต้องแสดงความยินดี ถึงแม้ว่ามันอาจไม่ใช่ความรู้สึกแท้จริง แต่ท่านก็ต้องทำมันแม้จะทำมันอย่างซื่อสัตย์ แต่หากภาพที่ออกมาเป็นลักษณะยะโสแบบจริงใจ แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับท่าน
14. Fit The Spirit of the Times
การแสดงความระลึกถึงสิ่งดีๆในอดีต
การแสดงความชื่นชมในสิ่งดีๆในอดึตนับเป็นเสน่ห์ โดยอาจเลือกในยุคประมาณสัก 20 ปีย้อนหลัง แต่ก็ต้องไม่แสดงความคิดอย่างนี้มากเกินไป แต่การเป็นคนที่มีความจำระลึกถึงอดีตและกาลเวลาที่ดีๆที่ผ่านมานับเป็นสิ่งที่ดี
คนทำงานบริหาร คนเป็นผู้นำยิ่งระดับสูงขึ้นไปมักเป็นคนที่ผ่านวัยหนุ่มสาวไปพอประมาณ และบางครั้งอยู่ในสถานะที่ต้องสรวมหน้ากากทางสังคม ไม่ได้เปิดเผยตัวตนทางอารมณ์ ไม่ได้ผ่อนคลาย บางครั้งเมื่อมีอะไรมาทำให้หวลกลับไประลึกถึง สิ่งเก่าๆที่สวยงาม นึกถึงแล้วมีความสุข สิ่งเหล่านี้ เป็นเหมือนเครื่องประโลมใจที่ดี มันอาจเป็นเพลงประทับใจในสมัยเดิม อาหารในแบบที่เคยกิน ขนม หรือเครื่องดิ่มที่เคยชอบในสมัยก่อนๆ ได้ไปร่วมงานรุ่นของพรรคพวก นักเรียนนักศึกษาร่วมรุ่น ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องย้อมใจ ระลึกถึงความหลัง (Nostalgia) ที่ทุกคนเมื่อได้ย้อนยุคไปเป็นครั้งคราวแล้วมีความสุข
สิ่งเหล่านี้เลือกทำให้พอเหมาะพอดี ย่อมจะเป็นประโยชน์
15. Be Source of Pleasure
ทำตัวให้เป็นที่รื่นรมย์
สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ คือการทำตนให้มีเสน่ห์และทำตนให้เป็นคนรื่นรมย์ที่จะอยู่ใกล้ด้วย เหมือนแสงไฟที่มีแมลงเข้ามาตอมในยามค่ำคืน ท่านต้องทำตนเป็นคนสนุกสนุกสนาน ทำตนเหมือนเป็นคนที่ขาดไม่ได้เหมือนกับอาหารและเครื่องดื่มดีๆ
เป็นแหล่งของความสนุกสนาน
คนที่จะรู้วิธีการดำรงอยู่ได้ในราชสำนัก คือคนที่สามารถแสดงออกทั้งด้วยสายตา สีหน้า ซ่อนเร้นสิ่งไม่ดีในราชสำนัก ยิ้มให้ศัตรู ควบคุมสิ่งที่มารบกวน แสร้งแสดงความรู้สึก ปิดบังความรู้สึกในใจ พูดและแสดงออกในสิ่งที่ไม่ใช่อารมณ์แท้จริงของเขาเอง
Jean de La Bruyere, 1645-1696
Courtiership is a delicate game, play the perfect Courtier.
การทำงานในราชสำนักเป็นเกมที่เปราะบาง ต้องเล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบในราชสำนัก
สรุป
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ผู้เขียนจะเห็นด้วยทั้งหมด โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานทำงานในมหาวิทยาลัย และระบบวิชาการที่เขาให้คุณค่าของการกล้าพูดกล้าแสดงออกตามหลักวิชาการ แต่นั่นเป็นวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่คนที่ทำงานเป็นผู้นำในสังคม เป็นนักบริหาร นักการทูต นักธุรกิจ เหล่านี้ ความสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะทำแล้วช่วยเสริมให้เราบรรลุในจุดหมายปลายทางเป็นหลัก (Ends) ส่วนวิธีการ (Means) ที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จนั้นเป็นตัวกำหนด
No comments:
Post a Comment