Tuesday, September 27, 2011

กฎข้อที่ 47 รู้จักที่จะชนะ และรู้จักที่จะหยุด

กฎข้อที่ 47 รู้จักที่จะชนะ และรู้จักที่จะหยุด

ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail:
Pracob@sb4af.org

ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อThe 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.

Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ

ความนำ

Do not go Past the Mark you Aimed for; In Victory, Learn when to Stop
อย่าไปไกลเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ท่ามกลางชัยชนะ ต้องเรียนรู้ที่จะหยุด

ในยามที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือยามที่อันตรายที่สุด เพราะมีความฮึกเหิมเกินเหตุขึ้น บางครั้งคนที่ชนะ จะมีความรู้สึกกร่าง และมั่นใจเกินไป สามารถผลักด้นให้ทำในสิ่งที่เกินเลยไป จนสู่จุดที่จะนำความล้มเหลวมาสู่ตนและหมู่พวก

หากเราจะศึกษาดูในอดีต ประเทศเยอรมันภายใต้ Hitler นั้น หากไม่ขยายวงรบไปทั่วยุโรป เมื่อขยายดินแดนและอิทธิพลพอระดับหนึ่งแล้วหยุด ก็อาจไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และท้ายสุดนำความหายนะมาสู่เยอรมันและจุดจบของ Hitler และ Nazi เอง

บทเรียนแรก

The Lesson First

ไม่มีอะไรที่เป็นพิษและเป็นอันตรายเท่ากับความสำเร็จ เพราะความสำเร็จนำมาซึ่งความชะล่าใจ

เมื่อมีอำนาจ ท่านต้องอาศัยเหตุผลเป็นเครื่องนำทาง ไม่ใช่ใช้อารมณ์และความรู้สึก

การปล่อยให้อารมณ์ฮึกเหิมกับชัยชนะหรือความสำเร็จมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การก้าวไปข้างหน้าด้วยความฮึกเหิมนั้นเป็นเรื่องอันตราย เมื่อท่านประสบความสำเร็จ ต้องหยุดแล้วหันกลับมาดูสภาพแวดล้อมรอบๆตัวสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะก้าวต่อไป ซึ่งต้องกระทำอย่างรอบคอบใช้เหตุผล ไม่ใช่ด้วยความฮึกเหิม

ความสำเร็จไม่สามารถผลิตซ้ำได้ในทุกๆที่ เมื่อประสบความสำเร็จ ณ ที่หนึ่งในเรื่องๆหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์นั้นอาจไม่สามารถนำไปใช้ในที่อื่นๆได้

ยกตัวอย่างทางธุรกิจ

บริษัท Walmart เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หรือ Supermall ที่ประสบความสำเร็จมากในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อจะขยายกิจการมาในเอเชีย กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

กิจการร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ไม่เติบโตในสหรัฐ จนในที่สุดกลุ่มเจ้าของใหญ่กลายเป็นญี่ปุ่น และกลับมาขยายตัวในเอเชีย ดังในญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และโดยเฉพาะในประเทศไทย

ห้างวอลมาร์ท


ภาพ ห้างสรรพสินค้า Wal-Mart ที่เปิดทั่วไปในสหรัฐอเมริกา มีลักษณะคล้าย Tesco-Lotus, Big C ในประเทศไทย

Wal-Mart Stores, Inc. (NYSE: WMT), ใช้ชื่อในทางพาณิชย์ว่า Walmart ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ส่วนก่อนหน้านั้นจะใช้คำว่า Wal-Mart เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีฐานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา (public multinational corporation) ที่มีธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่พร้อมระบบโกดังเก็บสินค้า จัดเป็นบริษัทขนาดใหญ่อันดับที่ 18 ของโลก ตามการจัดอันดับโดยนิตยสารโฟร์บส์ (Forbes Global 2000) และจัดเป็นบริษัทจ้างงานใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีคนงานทั้งสิ้นทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน

ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven

ภาพ ตราสัญญลักษณ์ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven

ภาพ ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ที่มีอยู้ทั่วโลกเกือบ 40,000 แห่ง



7-Eleven เป็นบริษัทดำเนินการร้านสะดวกซื้อ หรือเรียกว่า convenience stores โดยเป็นบรัทที่มี Seven & I Holdings Co ของญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ เป็นกิจการประเภทที่ให้สัมปทาน (franchise) แก่ผู้รับดำเนินการ (Licensor) เพื่อดำเนินการร้านสะดวกซื้อ โดยมีร้านทั่วโลกทั้งหมด 39,000 แห่ง เฉพาะในประเทศไทยจัดเป็นอันดับ 3 ของโลก มีร้าน 7-Eleven ทั้งสิ้นกว่า 6000 แห่ง โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

อย่าทำซ้ำในความสำเร็จแบบเดิมๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมันอาจไม่ได้ผลดีเหมือนเดิมเสมอไป เหมือนดังในเกมอเมริกันฟุตบอล (American Football) การจะรุกในแต่ละครั้งต้องทำให้คู่ต่อสู้ไม่รู้ว่าจะพบกับอะไรในครั้งต่อไป ว่าจะวิ่งนำพาบอล หรือจะขว้าง และจะกระทำในแบบ (Pattern) ใด สิ่งสำคัญคือจะเรียกแต่ละครั้งนั้น ต้องมีลักษณะเฉพาะ และเมื่อใดที่กระทำซ้ำๆกันบ่อยครั้ง ฝ่ายตรงข้ามก็จะจับทางถูก และการแพ้อย่างหมดรูปหลายครั้งเกิดจากฝ่ายตรงข้ามจับทางได้ว่า การเคลื่อนไหวต่อไปนั้นจะออกมาในรูปแบบใด

ให้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์ เราจะพบอาณาจักรมากมายที่กลายเป็นสิ่งปรักหักพัง และศพของผู้นำที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ว่าเมื่อใดที่เขาควรหยุด แล้วหันมาทำให้สิ่งที่ได้มานั้นตกผลึก และทำให้มันเข้มแข็งขึ้น ตัวอย่างความสำเร็จการขยายอาณาจักรของกรีกในสมัยอเลกซานเดอร์มหาราชที่ขยายไปด้วยการรับจนถึงอินเดีย แต่เมื่อพระองค์เสียชีวิตไปในวัยไม่ถึง 30 พรรษา อาณาจักรนั้นก็แตกสลายไปอย่างรวดเร็ว

การจะประสบความสำเร็จจะต้องปรับรูปแบบและจังหวะ เปลี่ยนเวที ปรับสภาพแวดล้อม และเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เหมือนกับแม่ทัพที่จะต้องศึกษาทุกการรบอย่างมียุทธศาสตร์ (Strategic) เขาจึงต้องมีตำราพิชัยสงคราม แต่ไม่ใช่ตำรากับข้าว หรือ Cook book

เป็นครั้งคราว ท่านต้องถอยออกมา แล้วมองว่าท่านกำลังยืนอยู่ ณ จุดใด

ต้องควบคุมอารมณ์ (Emotion) และหยุดบ้าง เมื่อได้ประสบความสำเร็จแล้ว ทำให้ตัวเองสงบนิ่ง ให้ตนเองมีช่องว่างที่จะได้คิดสะท้อนกลับไปว่าได้มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตและการทำงานของเราบ้าง สภาพอย่างนี้เขาเรียกว่า Life reflection เหมือนผู้นำเป็นระยะๆ จะหยุดทำงาน แล้วไปพักร้อน แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย ไปใช้ชีวิตสักระยะในแบบที่มีแต่ความว่างเปล่า เพื่อสะท้อนภาพกลับมาว่า สิ่งที่ได้ทำผ่านมานั้นเป็นเช่นไร และสิ่งที่จะก้าวเดินต่อไปนั้นจะเดินไปอย่างไร

อย่าทำตนเองให้ต้องพึ่งพาโชค ตรวจสอบบทบาทของเหตุการณ์แวดล้อมและโชค (Luck) ที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จ เพราะคำว่าโชคดีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อมีโชคดีได้ ก็จะมีโชคร้ายที่มาควบคู่กัน เหมือนกับคนเล่นการพนัน ที่เขาบอกว่า “ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย” เมื่อโชคดี ก็ไม่ประมาท และเมื่อมีโชคร้ายเข้ามา ก็ต้องทำใจได้ และพร้อมที่จะรับสิ่งร้ายๆที่จะพบ และดำรงอยู่ได้อย่างมีสติ

ท่านต้องควบคุมตนเองให้ได้ ก่อนที่ท่านจะถูกควบคุมโดยคนอื่นๆ

เกมส์อันตราย

ความสำเร็จเป็นเหมือนกลลวงที่อันตราย

ความสำเร็จทำให้ท่านรู้สึกเหมือนอยู่ยงคงกะพัน และเมื่อมีใครถาม หรือตั้งข้อสังเกต ท่านก็จะรู้สึกโกรธ และมองเห็นว่ามันเป็นการท้าทายอำนาจ

ความสำเร็จทำให้ท่านขาดความสามารถในการปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์

การที่ประสบความสำเร็จทำให้ท่านเข้าใจว่ามันเกิดจากบุคลิกภาพและความเป็นส่วนตัวของท่าน ทำให้ท่านไม่ให้ความสำคัญของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในแต่ละครั้ง และวางยุทธศาสตร์และแผนอย่างเหมาะสม

สิ่งดีๆก็ต้องมีจุดสิ้นสุด

All Good Things Must Come to an End

เมื่อประสบความสำเร็จแล้วต้องตระหนักว่า ในช่วงแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่นั้น ยิ่งต้องทำให้คิดว่าในการก้าวต่อไปนั้น ต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ที่ยิ่งต้องลึกซึ้งไปกว่าเดิม และจะหยุดอยู่ ณ ที่เดิมไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงมักจะต้องมาควบคู่กับการทำให้เป็นปึกแผ่น (Consolidation) เหมือนกับการรบขยายอาณาเขตเสร็จแล้วก็ต้องหยุดเป็นระยะๆ เพื่อปรับพื้นที่ๆได้ครอบครองนั้น ให้มีความสงบสุข ได้ให้ผู้คนได้ทำมาหากินกันอย่างปกติ และเกิดความเชื่อมั่นในฝ่ายยึดครอง และประวัติศาสตร์จะสอนว่า การรบชนะนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่าคือการรักษาชัยชนะนั้นไว้ให้ได้นานหรือตลอดไป

ยามที่เรารบ เราต้องการทหารที่มีความกล้าหาญ และเก่งทางการยุทธ แต่เมื่อบ้านเมืองสงบ เราต้องการคนเก่งอีกแบบหนึ่ง คือคนที่มีความสามารถในการพัฒนา และเป็นอันมาก คนที่เก่งในการรบนั้นจะไม่มีความสามารถในการพัฒนา เหมือนกับฝ่ายทหาร (Military) กับฝ่ายพลเรือน (Civil) ที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน

เรื่องโชคดีและโชคร้าย

Good Luck V. Bad Luck

มีคำกล่าวว่าโชคดีนั้นอันตรายเสียยิ่งกว่าโชคร้าย เพราะโชคดีนั้นทำให้ท่านไม่ได้เตรียมพร้อม แต่โชคร้ายนั้นทำให้ท่านคุ้นเคยกับสิ่งไม่ดีที่ได้เกิดขึ้น เหมือนกับวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้งนั้น วิกฤติมีความรุนแรงมาก เพราะนักธุรกิจไทยคิดถึงโอกาสเสี่ยงที่ได้เพิ่มขึ้นทุกขณะ แต่ในวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2008 ไทยกลับมีความพร้อมที่จะรับปัญหาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้มากกว่า เหมือนกับเราได้เคยรับวัคซีนป้องกันโรคมาแล้ว

โชคร้าย หรือ Bad luck นั้นเป็นดังบทเรียนที่สอนเราให้ต้องอดทน ต้องใช้จังหวะเวลา และทำให้เราต้องเตรียมตัวต่อสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น

โชค เหมือนกับกระแสน้ำ มีขึ้นและมีลง การที่เราเตรียมตัวสำหรับขาลง เตรียมตัวสำหรับสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นนั้น จะทำให้เราไม่ถึงกับพังย่อยยับ เมื่อสิ่งร้ายๆนั้นได้มาถึงจริงๆ เพราะเราจะเตรียมความพร้อม และเตรียมใจไว้แล้ว ปัญหาของโชคร้ายที่รุนแรงที่สุดประการหนึ่ง คือเราไม่ได้เตรียมตัวที่จะเผชิญกับมัน เราเผลอตั้งตัวเองอยู่ในความประมาท

จอร์จ วอชิงตัน

เมื่อเป็นผู้นำต้องรู้จักคำว่า “หยุด” และคำว่า “พอ

ภาพ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)

จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1732 และเสียชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1731 เขาเป็นนักการทหารและผู้นำการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงก่อตั้งประเทศ ในช่วงปี ค.ศ. 1775 ถึงปี ค.ศ. 1799 เขาเป็นคนนำฝ่ายปฏิวัติของอเมริกันรับกับฝ่ายอังกฤษ ในตำแหน่งผู้นำทัพสูงสุด เขานั่งเป็นประธานในการเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศในปี ค.ศ. 1787 และในฐานะผู้นำทัพสู่ชัยชนะ เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานาธิบดีของประเทศใหม่โดยไม่มีคู่แข่ง

บทเรียนสำคัญที่เขาประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ คือเขารู้จักพอ และรู้จักหยุด

เขาหยุดสงครามเมื่อได้มีการประกาศสงบศึกแล้ว และเขาหยุดที่จะเป็นศัตรูกับอังกฤษ ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร” เมื่ออังกฤษประกาศสงบศึกกับอเมริกาไปแล้ว แต่ก็มีเรื่องให้บาดหมางกันต่อมาเป็นระยะๆ แต่เขาจะเป็นฝ่ายที่ประกาศชัดเจนว่า สงครามได้สงบแล้ว และสหรัฐจะไม่เข้าสู่สงครามอีก แม้เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสอันเป็นพันธมิตรสำคัญนั้น ต้องต่อสู้กับอังกฤษที่ยุโรป ก็อยากชวนอเมริกันทำสงครามกับอังกฤษในทวีปอเมริกา แต่อเมริกาก็จะไม่เข้าข้างฝ่ายใด เขาเห็นความจำเป็นมากกว่าที่อเมริกาจะต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาประเทศใหม่

เขาหยุดที่จะคิดในกรอบระบบการปกครองแบบเดิมโดยมีกษัตริย์เป็นผู้นำ แต่ยอมรับในความเป็นสาธารณรัฐ (Republic) ของประเทศใหม่ แม้มีบางส่วนอยากให้เขาเป็นกษัตริย์คนแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศ เขามีส่วนร่วมร่าง แต่ที่สำคัญเขาใช้อำนาจเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญนั้นกำหนด แต่ไม่ก้าวเกินไปกว่านั้น

เมื่อเขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีซึ่งมีวาระละ 4 ปี เขาได้รับเลือกโดยไม่มีคู่แข่งทั้งสองสมัย เขาได้ทำหน้าที่ในช่วงอันยุ่งยากนั้นอย่างเต็มความสามารถ แต่เขาก็หยุดที่จะทำหน้าที่ประธานาธิบดีเพียงไม่เกิน 2 สมัย แม้มีหลายคนอยากให้เขาทำหน้าที่เป็นผู้นำต่อไป และการที่เขาไม่รับตำแหน่งเกิน 2 วาระนี้ ก็ได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติแก่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในระยะต่อมา ตราบจนในสมัยของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดีลาโน รูสเวลท์ (Franklin Delano Roosevelt) ที่ดำรงตำแหน่งคาบเกี่ยวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และต่อด้วยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งดำรงตำแหน่งติดต่อกันถึง 4 สมัย หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย

No comments:

Post a Comment