ประกอบ คุปรัตน์
Pracob Cooparat
E-mail: Pracob@sb4af.org
ศึกษาและเรียบเรียงจาก “กฎการใช้อำนาจ 48 ข้อ” The 48 Laws of Power”, 1998 โดย Robert Greene and Joost Elffers.
Keywords: Power48, Administration, การบริหาร, management, การจัดการ, power, อำนาจ
ความนำ
Preach the Need for Change, but Never Reform too much at Once
กระตุ้นให้เห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แต่อย่าเปลี่ยนแบบในชั่วคืน
เราพร่ำสอนเพื่อให้คนเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องตระหนักว่าอย่าทำการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในเวลาอันรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทำให้คนมีความเข้าใจ เปิดรับ และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเ เรียนรู้ไปกับระบบ หากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปแบบรวดเร็วเกินไป ตามไม่ทัน ก็จะเกิดผลเสีย และท้ายสุด ก็จะกลายเป็นแรงต่อต้าน และนำความล้มเหลวกลับคืนมาได้
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงต้องไม่ให้เกิดความรู้สึกของคนที่เคยทำมาเดิมว่าเขาทำไม่ดี การเปลี่ยนแปลงจึงต้องทำอย่างนุ่มนวล และประสบการต่อต้านให้น้อยที่สุด
ผลพลอยของการเปลี่ยนแปลง
คนที่พยายามเสนอการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูป มักจะกลายเป็นแพะรับบาปสำหรับความไม่พอใจที่จะเกิดขึ้น
การที่ท่านจะต้องได้รับปฏิกิริยาตอบโต (Reaction) จะทำให้ท่านหมดเวลาและกำลังลงไปอย่างมาก เพราะคนนั้นมักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่ไปกระทบวิถีชีวิตของเขา
ในโลกนี้เต็มไปด้วยความรู้สึกที่ไม่มั่นคงและรู้สึกถูกคุกคาม คนมักไม่กล้าเผชิญกับโอกาสใหม่ๆที่ดูมีทั้งความเสี่ยงและไม่แน่นอน
การเปลี่ยนแปลงอาจทำให้สิ่งต่างๆดีขึ้น น่ารื่นรมย์มากขึ้นในลักษณะที่เป็นนามธรรม แต่มันอาจก่อให้เกิดความเครียด ความไม่พอใจที่แม้เขาจะไม่ได้แสดงออกมา แต่ก็พร้อมที่จะประทุขึ้นได้ทุกเมื่อ
ข้อแนะนำ
ข้อแนะนำสำหรับผู้นำที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ที่จะต้องเตรียมความพร้อมไว้
1. อย่าประเมินความเป็นอนุรักษ์ (Conservatism) ที่ซ่อนอยู่โดยทั่วไปรอบๆตัวท่าน มันมีพลัง และมันเกาะติดยึดมั่น
2. อย่าปล่อยให้ความคิดใหม่ๆสักเรื่องหนึ่งมาทำให้ท่านเกิดเสน่หาที่ทำให้ขาดเหตุผล เพียงเพราะอยากลองของใหม่
3. ท่านไม่สามารถทำให้คนเห็นโลกอย่างที่ท่านเห็น เรื่องนี้ ต้องอ่านสุภาษิตจีนที่ว่า “แม้นอนเตียงเดียวกัน แต่ก็ฝันคนละฝัน” ซึ่งหมายความว่า แม้สามีภรรยาอยู่กินกันมา แต่ความคิดหลายๆอย่างก็ไม่เหมือนกัน แล้วคนโดยทั่วๆไปนั้น ย่อมจะยิ่งมีความแตกต่างกัน เมื่อฝันก็ต่างฝันไม่เหมือนกัน
4. ท่านไม่สามารถบิดหรือหักคนให้เปลี่ยนไปสู่อนาคตที่อาจเจ็บปวดสำหรับเขา เพราะเขาจะกบถ
5. หากการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น ก็ต้องเตรียมการณ์สำหรับปฏิกิริยาที่จะถูกตอบโต้ ซึ่งท่านต้องหาทางทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เหมือนยาขมนั้นได้ “เคลือบน้ำตาล” และทำให้คนยอมกลืนยาขมนั้นได้
ใช้ประโยชน์จากอดีต
การเปลี่ยนแปลงที่จะประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่ให้คนลืมอดีต หรือไม่เข้าใจปัจจุบัน แต่ท่านจะต้องเป็นคนศึกษาอดีต เข้าใจปัจจุบัน และมองเห็นอนาคต และต่อไปนี้คือคำแนะนำเกี่ยวกับอดีตที่จำเป็นสำหรับคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง
1. อะไรที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นเรื่องที่ท่านควรศึกษา ไม่ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ แต่การที่ได้ศึกษา จะเข้าใจถึงแนวทางในการเปลี่ยนแปลง อะไรที่เคยไม่สำเร็จ ไม่ใช่ว่าจะไม่สำเร็จและเกิดขึ้นไม่ได้
2. เมื่อสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเป็นประเพณี ทุกคนคุ้นเคยกับสิ่งนั้น แต่เมื่อมันหมดไป คนก็จะเกิดความกลัวและตระหนก และจะรีบหาสิ่งใหม่มาทดแทน
3. หากเป็นไปได้ ท่านต้องขจัดความกลัว (Fear) โดยเฉพาะความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง
4. ยืมสิ่งที่ได้เคยเกิดในอดีต ไม่ว่าจะนานมาแล้วเพียงใด หากความรู้สึกเหล่านั้นทำให้คนรู้สึกสบายใจขึ้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่
ยกตัวอย่าง การจะเปลี่ยนแปลงยานพาหนะจาการที่ใช้การเผาไหม้เชื้อเพลิง มาเป็นระบบรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้านั้น คนจะรู้สึกเบาใจขึ้นว่า แท้จริงแล้วได้มีความคิดดังกล่าวมากว่า 100 ปีแล้ว เพียงแต่ในระยะนั้นเทคโนโลยีไฟฟ้าและแบตเตอรี่ยังไม่มีความพร้อม น้ำมันในขณะนั้นราคายังถูกและมีอย่างเหลือเฟือ แต่ปัจจุบัน สภาพการได้เปลี่ยนไปแล้ว
5. เมื่อความเป็นจริงชัดเจนแล้วว่า อดีตได้ตายไปแล้ว ทำให้ท่านมีเสรีภาพที่จะตีความ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ท่านต้องการ ท่านจะต้องพยายามสานฝัน ประติดประต่อ เพื่อให้คนเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
6. อดีตเป็นพื้นฐาน แต่ท่านสามารถสอดใส่แนวคิดของท่านให้สอดคล้องกับอดีตเหล่านั้นได้
คำตอบ
หากการเปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่ความสำเร็จ ลองศึกษาข้อแนะนำต่อไปนี้ ซึ่งอาจเป็นคำตอบ
1. การก้าวไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลง เราสามารถใช้โครงสร้างบางอย่างของอดีต ทำให้คนคุ้นเคยกับสิ่งที่เขาจะก้าวต่อไป
ดูตัวอย่างของโลกเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย เขามียุทธศาสตร์ทำให้คนไม่กลัวสิ่งใหม่ การทำให้ระบบใหม่มีลักษณะ “เป็นมิตรกับผู้ใช้” (User friendly) เขาล้วนใช้ศัพท์ที่คนทั่วไปคุ้นเคยและนึกภาพออก เช่นคำว่า Office, File, Folder, E-mail, ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นคำเก่าที่มีใช้มานาน เป็นคำที่คนคุ้นเคยกับสำนักงานจะเข้าใจได้ไม่ยาก
2. ทำให้เกิดเสียงดังที่แสดงการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และขณะเดียวกัน ก็แสดงความยอมรับในหลายสิ่งที่ได้เคยมีมาในอดีต การเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว บางครั้งต้องทำให้เกิดความคึกคัก ฮึกเหิม ไม่ใช่เงียบหงอย เหมือนเตรียมตัวจะล้มเหลว
3. แสดงตนเป็นคนอนุรักษ์ และทำให้คนไม่สังเกตเห็นว่าแท้จริงท่านเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับความเก่าเลย โดยทั่วไป การที่ท่านทำตัวเหมือนกับการยืนอยู่กับคนในกระแสกลางๆ (Centrist) ทำให้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งฝ่ายอนุรักษ์ (Conservatives) ยอมรับท่านและการเปลี่ยนแปลงได้
4. ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Radical change) แต่อย่างเงียบ โดยพยายามแสดงว่าท่านได้พยายามรักษาขนบธรรมเนียมแบบเดิมไว้มากที่สุดแล้ว ทำให้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และท่านเป็นเพียงทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างมีระบบ และอย่างค่อยเป็นค่อยไป
5. การเปลี่ยนแปลงที่ท่านทำขึ้น ต้องให้ดูเป็นนวตกรรมน้อยกว่าที่มันเป็นจริง
6. หากการเปลี่ยนแปลงใดๆที่ดูล้ำหน้าไปมาก จะมีน้อยคนนักที่จะเข้าใจ และมันจะทำให้คนกังวลและจะตีความผิดอย่างช่วยอะไรไม่ได้ ซึ่งจะทำให้แรงต่อต้านมากขึ้น และจะทำให้ท่านหมดพลังที่จะเปลี่ยนแปลง
7. หากท่านอยู่ในช่วงเวลาที่อลวนและสับสน คนอาจกลัวอนาคตที่ไม่แน่นอน ท่านจะได้อำนาจมากขึ้นที่จะพูดถึงการกลับไปสู่อดีต เพื่อทำให้คนสบายใจ และได้คิดถึงประเพณีและพิธีกรรม อย่างน้อยทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าท่านยืนอยู่กับเขา เข้าใจเขาและไม่เร่งร้อน
8. ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง (Stagnation) ท่านต้องเล่นบทนำการเปลี่ยนแปลง จะปฏิรูปหรือปฏิวัติ แต่ต้องระวังไม่ให้ปรากฏในลักษณะการลุกฮือ ต้องเข้าใจว่า คนที่ทำให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จนั้น มักไม่ใช่คนที่เริ่มขึ้น ท่านจะไม่ประสบความสำเร็จในเกมที่อันตรายนี้ นอกจากท่านจะต้องชะลอการเปลี่ยนแปลงให้ช้าลง แล้วอาศัยการสร้างฐานนั้นๆจากอดีตที่คนคุ้นเคย และเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้
การเปลี่ยนแปลงในสหภาพโซเวียตและรัสเซียในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เราควรกลับไปศึกษา เพราะช่วงเวลาดังกล่าวนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนผ่านที่ใช้เวลา ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย กว่าที่รัสเซียจะกลับมามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างในปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ลองศึกษาประวัติบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว อย่าง กอร์บาชอฟ และจนถึงยุคของปูติน
กอร์บาชอฟ
ภาพ มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev)
มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev) เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1931 จัดเป็นรัฐบุรุษของสหภาพโซเวียต เขาดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตในช่วงปี ค.ศ. 1985 จนถึงปี ค.ศ. 1991 และนับเป็นผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต (USSR) ก่อนที่จะล่มสลาย
เขาเป็นคนมีวิสัยทรรศน์ เขาได้เสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงสหภาพโซเวียตไปสู่สังคมใหม่ที่มีความเป็นเสรีมากขึ้น เขาลดความตึงเครียดและสงครามเย็นกับโลกตะวันตก โดยเฉพาะความขัดแย้งและสงครามเย็นกับสหรัฐอเมริกา เขาเป็นที่ชื่นชอบในโลกตะวันตกเสรี แต่ขณะเดียวกัน เขาไม่เป็นที่ยอมรับนักในบรรดาชาวโซเวียตและรัสเซียใหม่
กอร์บาชอฟ คือคนที่นำการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงสหภาพโซเวียตจากระบบสังคมนิยมที่แข็งกระด้างและไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ และการอยู่ดีกินดี
กอร์บาชอฟ ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย ระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย แต่ก็ไม่สามารถสร้างรัสเซียใหม่ได้ในช่วงที่เขามีอำนาจ ระบบตลาดเสรียังไม่เกิดขึ้นในยุคของเขา จนกระทั่งผ่านมาสู่ยุคหลังสหภาพโซเวียต ยุคของเยลซิน และตามมาด้วยปูติน จึงได้เข้าสู่ยุคที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และกล่าวได้ว่าเป็นรัสเซียใหม่
ปูติน
ภาพ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin)
วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin) เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1952 เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของสหภาพรัสเซีย (Russian Federation) ในปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของรัสเซีย (Prime Minister of Russia) เขารักษาการณ์ประธานาธิบดีต่อจากประธานาธิบดีเยลซิน (Boris Yeltsin) ในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 และเขาได้รับเลือกตั้งด้วยตนเองและเป็นประธานาธิบดีต่อมาอีกสองสมัย คือในปี ค.ศ. 2000 และ 2004 จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2008
ปูตินได้รับเครดิตในฐานะนำความมั่นคงทางการเมืองมาสู่รัสเซีย และทำให้บ้านเมืองกลับไปสู่การอยู่ภายใต้กฎหมาย ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 9 ปี รายได้ประชาชาติได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 (PPP) และเพิ่มเป็นหกเท่า เมื่อคิดเป็น Nominal ความยากจนลดลงกว่าร้อยละ 50 รายได้ประชาชนเพิ่มจาก US$80 เป็น US$640
ชาติตะวันตกมองปูตินอย่างไม่วางใจ เพราะเขายังไม่ใช่นักประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่เขาวางระบบประชาธิปไตยในแบบที่สามารถดำรงอยู่ได้ในรัสเซีย แต่สำหรับคนรัสเซียที่เมื่อเปรียบเทียบเขากับผู้นำอย่างกอร์บาชอฟและเยลซิน ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองจากคอมมิวนิสต์ไปเป็นระบบตลาดเสรี แต่ไม่สามารถทำให้สำเร็จ และประชาชนเต็มไปด้วยความสับสน แต่ปูติน เขาเข้าใจคนรัสเซียที่คุ้นกับระบบโซเวียต และขณะเดียวกัน เขาเปลี่ยนแปลงรัสเซียในส่วนที่จำเป็นและส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจปากท้องของคนรัสเซีย
No comments:
Post a Comment